1424 1328 1027 1669 1310 1053 1313 1485 1499 1242 1851 1301 1175 1413 1098 1758 1771 1741 1515 1430 1933 1708 1143 1733 1784 1969 1130 1859 1328 1343 1109 1950 1187 1680 1099 1527 1594 1277 1428 1380 1986 1847 1617 1421 1977 1373 1865 1967 1012 1754 1756 1144 1516 1087 1432 1156 1816 1534 1708 1378 1719 1770 1073 1636 1382 1198 1671 1488 1765 1131 1043 1615 1290 1291 1104 1682 1419 1407 1188 1579 1434 1709 1120 1292 1773 1081 1711 1676 1846 1999 1636 1774 1131 1548 1225 1889 1904 1765 1795 “กล่าวโทษ ม.112 ข้ามจังหวัด” ภาพสะท้อนปัญหาความผิดอาญาแผ่นดิน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

“กล่าวโทษ ม.112 ข้ามจังหวัด” ภาพสะท้อนปัญหาความผิดอาญาแผ่นดิน

 

ในช่วงปี 2563-2565 เกิดปรากฏการณ์การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (Lèse-majesté) เป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยคดีส่วนใหญ่มาจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ทั้งโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงทางการเมืองและคนที่ไม่ได้เป็นที่รู้จัก เพียงแค่ระบายความรู้สึกในพื้นที่การแสดงออกของตัวเอง
 
ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของมาตรา 112 คือเป็นกฎหมายที่ “ใครฟ้องก็ได้” หรืออธิบายในทางกฎหมายได้ว่า มาตรา 112 บัญญัติอยู่ในหมวด “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เสียหายตัดสินใจริเริ่มคดีเอง แต่ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นการกระทำและสงสัยว่า เป็นการกระทำความผิดก็สามารถเอาพฤติการณ์ไปแจ้งต่อตำรวจเพื่อให้ตำรวจสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีได้เลย โดยตำรวจยังคงมีดุลพินิจที่จะตัดสินใจดำเนินคดีนั้นหรือไม่ก็ได้ ปัจจัยเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คดีมาตรา 112 เกิดขึ้นจำนวนมาก และเกิดขึ้นได้ง่าย ในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
 
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 217 คน อย่างน้อย 236 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกิดจาก “ประชาชน” เป็นผู้ไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน มากถึงอย่างน้อย 108 คดี  
 
ปัญหาที่ต่อเนื่องจากการริเริ่มคดีโดย “ใครก็ได้” คือ คดีจำนวนไม่น้อยริเริ่มขึ้นในสถานีตำรวจที่ผู้กล่าวหาสะดวก แต่เป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ต้องหามีภาระต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีในศาล ณ จังหวัดที่ได้มีการไปกล่าวโทษไว้ ตัวอย่างเช่น
 
 
คดีที่ริเริ่มในจังหวัดห่างไกล สร้างภาระให้ผู้ต้องหา
 
“บุญลือ” (นามสมมติ) อายุ 24 ปีอาศัยอยู่ในจังหวัดสุโขทัย ต้องเดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียกในคดี มาตรา 112 จากจากคอมเมนต์เรื่องลักษณะที่ดีของกษัตริย์ และเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊ก ที่สภ.ทุ่งคาโงก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 คดีนี้มีนางสาวกัลฐิตา ชวนชม ซึ่งทำงานอยู่ที่จังหวัดพังงาเป็นผู้กล่าวหา โดยก่อนการแจ้งความทั้งสองคนเคยโต้เถียงกันบนเฟซบุ๊ก ทำให้นางสาวกัลฐิตาตัดสินใจไปแจ้งความ
 
“ธิดา” (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในจังหวัดเชียงใหม่ ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเผยแพร่คลิปวิดีโอใน TikTok ลิปซิงค์เพลงที่เป็นกระแสนิยมเล่นกันในช่วงเดือนสิงหาคม  2564 ที่สภ.เมืองกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 คดีนี้มีนายชุมพล ศรีวิชัยปัก เป็นผู้กล่าวโทษ  
 
“อาร์ม” (นามสมมติ) หนุ่มวัย 20 ปี ที่อาศัยอยู่ในเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหามาตรา 112 จากการทำคลิปวิดีโอใน Tiktok มีกล่าวคำว่า “รอ9 รอ10” ที่สภ.เมืองกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 คดีนี้มีนายพุทธ พุทธัสสะ ชาวจังหวัดกำแพงเพชรเป็นผู้กล่าวโทษ 
 
“พอล” (นามสมมติ) หนุ่มวัย 30 ปี ชาวจังหวัดลพบุรี ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊กจำนวน 3 ข้อความ ที่สภ.ขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 คดีนี้มีนายฤทธิชัย คชฤทธิ์ เป็นผู้กล่าวโทษ ซึ่งเป็นคนที่อยู่อาศัยในจังหวัดกำแพงเพชร โดยกล่าวหาเขาไว้ตั้งแต่ต้นปี 2564 
 
 
 
2335
 
 
คดีที่ริเริ่มโดย “นักแจ้งความ” หน้าซ้ำๆ 
 
จากตัวอย่างคดีที่มี “ใครก็ได้” ไปกล่าวโทษผู้ต้องหาในพื้นที่จังหวัดห่างไกลจากตัวผู้ถูกกล่าวหา ในหลายคดีพบว่า ผู้ที่กล่าวโทษเป็นบุคคลเดิมที่กล่าวโทษให้ดำเนินคดีหลายคน หลายคดี ดังนี้ 
 
พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน แห่งสุไหงโกลก
 
“กัลยา” (นามสมมติ) อายุ 27 ปี อาศัยอยู่ที่ จ.นนทบุรี ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดี มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการคอมเม้นต์ในเฟซบุ๊กพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สภ.สุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 โดยคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 
 
ชัยชนะ ประชาชนวัย 32 ปี อยู่อาศัยในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ถูกตำรวจเข้าจับกุมที่บ้านพักตามหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาส ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ และนำตัวไปยังสภ.สุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 15 กันยายน 2564 โดยคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 
 
"วารี" (นามสมมติ) พนักงานรับจ้างอิสระ อายุ 23 ปี ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ต้องเดินทางไปไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการนำภาพข้อความจากทวิตเตอร์เกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจและนำมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่สภ.สุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 โดยคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 
 
ภัคภิญญา บรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดี มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์และเขียนข้อความประกอบบนเฟซบุ๊ก จำนวน 6 โพสต์ ที่สภ.สุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
 
อุดม ประชาชนวัย 33 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับหมายเรียกจาก สภ.สุไหงโก-ลก ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกษัตริย์ 7 ข้อความ โดยอุดมได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวเพียงลำพังเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ในคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 
 
ธนพัฒน์ หรือ ปูน ทะลุฟ้า นักกิจกรรมทางการเมืองที่อาศัยและทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องเดินทางไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียกในคดี มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564  ก่อนหน้านั้นธนพัฒน์ไม่ทราบว่าตนเองถูกออกหมายเรียกในคดีนี้มาก่อน จนเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้นำผู้ถูกออกหมายเรียกในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก จึงได้ทราบจากพนักงานสอบสวนว่ามีการออกหมายเรียกธนพัฒน์ไปแล้ว 2 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถส่งหมายถึงมือผู้ต้องหาได้ และเตรียมจะไปขอศาลออกหมายจับ เช่นเคยในคดีนี้ ในคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 
 
ตำรวจที่สภ.สุไหง-โกลก แจ้งกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้มาแจ้งความกล่าวโทษบุคคลอื่นในข้อหาตาม มาตรา 112 ต่อประชาชนอย่างน้อย 20 ราย ที่สถานีตำรวจแห่งนี้
 
อุราพร และศิวพันธุ์ แห่งสมุทรปราการ
 
“นคร” (นามสมมติ) อายุ 28 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และช่างรับจ้างแต่งหน้า ที่อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงราย ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Thai Athoist เพจคนไม่เชื่อพระเจ้า V2” เกี่ยวกับรัชกาลที่ 1 ที่สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 โดยคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 
 
พิพัทธ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี ชาวจังหวัดพิษณุโลก ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ภาพ 1 ภาพลงกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” ที่สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 โดยคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ อุราพร สุนทรพจน์ คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 
 
ภัทร (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโพสข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”  ที่สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 โดยคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ อุราพร สุนทรพจน์ คนธรรมดาคนหนึ่งที่พบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 
 
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ สภ.บางแก้ว มีอย่างน้อย 15 คดีแล้ว ซึ่งเกิดจากการไปกล่าวโทษของประชาชนสองราย คือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล และ อุราพร สุนทรพจน์ โดยทั้งหมดเป็นการไปแจ้งความไว้ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2563 ผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายเคยได้รับหมายเรียกพยานมาก่อนแล้ว ก่อนตำรวจจะเริ่มมีการดำเนินคดีในปี 2564 
 

2337

 
 
 
กฎหมายมีทางออกเพื่อลดภาระผู้ต้องหา หากตำรวจจริงใจ
 
การ “กล่าวโทษ” คือ การที่ “ใครก็ได้" ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีบุคคลได้กระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนริเริ่มของการดำเนินคดีเพื่อให้ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการต่อไป หากเห็นว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง และมีพยานหลักฐานมากเพียงพอที่จะกล่าวหาผู้ใดได้ ก็จะทำสำนวนส่งให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี ประชาชนที่ไปกล่าวโทษจึงมีบทบาทจริงๆ เป็นผู้ “ริเริ่ม” ให้คดีเกิดขึ้น ในเอกสารสำนวนคดีจะเรียกว่า “ผู้กล่าวหา" แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนที่เข้ากล่าวโทษเป็น “ผู้ฟ้องคดี” ด้วยตัวเอง 
 
ในการริเริ่ม “กล่าวโทษ” โดย “ใครก็ได้” เช่นนี้อาจจะเริ่มขึ้นที่สถานที่แห่งใดก็ได้ที่ผู้กล่าวโทษสะดวกเดินไปหาตำรวจ แต่หากตำรวจที่รับแจ้งเรื่องไม่มีอำนาจในการดำเนินคดี ก็อาจจะไม่รับแจ้งเรื่องได้และให้ผู้กล่าวโทษไปแจ้งเรื่องต่อตำรวจที่มีอำนาจให้ถูกต้อง หากตำรวจที่รับแจ้งเรื่องเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่มีเขตอำนาจดำเนินคดีนั้นๆ ได้ ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องรับเรื่องไว้ดำเนินการต่อ
 
และเมื่อตำรวจในท้องที่ใดเป็นผู้ดำเนินคดีสืบสวน สอบสวน แสวงหาพยานหลักฐาน และทำสำนวนแล้ว ก็จะเป็นผู้ส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ และศาลในท้องที่นั้น ทำให้การดำเนินคดีตลอดทั้งคดี รวมทั้งหากศาลตัดสินให้จำเลยต้องรับโทษจำคุก ก็ต้องกระทำขึ้นภายในเขตพื้นที่นั้นๆ ทั้งกระบวนการ 
 
โดยหลักเขตอำนาจสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 18 กำหนดว่า ตำรวจที่จะมีอำนาจดำเนินคดีต้องเป็นตำรวจในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งซึ่ง
 
1) มูลเหตุของคดีเกิดขึ้น
2) ผู้ต้องหามีที่อยู่ 
3) ผู้ต้องหาถูกจับ
หากเป็นตำรวจในท้องที่ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีตามข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อ ก็ไม่มีอำนาจดำเนินคดีได้ แม้จะมีผู้มาแจ้งเรื่องกล่าวโทษก็ไม่อาจดำเนินคดีให้ได้
 
ตัวอย่างเช่น หากนาย A อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ไปเป็นลูกจ้างร้านค้าแห่งหนึ่งที่จังหวัดนนทบุรีและได้ทำการขโมยของนายจ้างในขณะที่นายจ้างไม่อยู่โดยหลบหนีและถูกจับที่จังหวัดนครปฐมในภายหลัง หากนายจ้างทราบเรื่องแต่ขณะนั้นอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ นายจ้างจะไปแจ้งความกล่าวโทษกับตำรวจที่จังหวัดนครสวรรค์ไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่สถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น ไม่ใช่ที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับ  
 
หรืออย่างในกรณีคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัย หากนาย B  กล่าวปราศรัยในพื้นที่กรุงเทพมหาครอันจะเข้าข่ายผิดมาตรา 112 โดยมีที่อยู่ในจังหวัดนนทบุรี และถูกจับที่จังหวัดนครปฐม ปรากฎว่ามีนายแดงที่ฟังปราศรัยในพื้นที่นั้น โทรไปเล่าให้นายดำที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ฟังว่านาย B ปราศรัยผิดมาตรา 112 นายดำจีงไปแจ้งเรื่องกล่าวโทษกับตำรวจที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่นนี้ ตำรวจต้องไม่รับเรื่องเนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้ดำเนินคดีได้ รวมถึงไม่อาจเอาตัวนาย B ไปดำเนินคดีที่เชียงใหม่ได้ด้วย 
 
การกำหนดไว้ในมาตรา 18 เช่นนี้ โดยกำหนดให้ตำรวจในท้องที่ซึ่งผู้ต้องหามีที่อยู่มีอำนาจดำเนินคดีด้วย ก็เพื่อความสะดวกของผู้ต้องหาหรือไม่ให้เป็นภาระในการเดินทางกับผู้ต้องหาและญาติมากจนเกินไป แต่หลักการนี้ก็ยังมีช่องโหว่มากในกรณีที่การกระทำที่เป็นมูลเหตุของคดีนั้นๆ เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ หรือเกิดขึ้นในพื้นที่สื่อมวลชน เพราะผู้ที่พบเห็นข้อความไม่ว่าพบเห็นที่ใด ก็จะถือว่าพื้นที่ที่พบเห็นเป็นพื้นที่ที่มูลเหตุของคดีเกิดขึ้นได้ และเมื่อไปกล่าวโทษต่อตำรวจในพื้นที่ที่พบเห็นข้อความ ตำรวจเจ้าของพื้นที่ที่คดีเกิดขึ้นก็มีหน้าที่ต้องรับเรื่องไว้ดำเนินการต่อ โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่า มีเหตุความจำเป็นใดที่ผู้กล่าวโทษต้องริเริ่มคดีในพื้นที่นั้นๆ ช่องโหว่นี้เปิดให้คดีมาตรา 112 โดยเฉพาะที่เกิดจากการโพสข้อความบนโลกออนไลน์สามารถนำมาใช้กลั่นแกล้งดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้ผู้ต้องหาพบกับความยากลำบากได้ง่าย
 
อย่างไรก็ดี ปัญหาการกล่าวโทษคดีมาตรา 112 ในพื้นที่ห่างไกลเช่นนี้ยังพอมีทางแก้ไขได้ หากองค์กรของตำรวจ มีความ “จริงใจ” ที่จะแก้ไขปัญหานี้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 18 วรรคสาม กำหนดไว้ว่า
 
“ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 21 ความผิดอาญาได้เกิดในเขตอำนาจพนักงานสอบสวนคนใด โดยปกติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนั้นๆ เพื่อดำเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวกจึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ”
 
ดังนั้น สำหรับคดีที่ชัดเจนว่า เป็นการจงใจกล่าวโทษในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากเพื่อให้ผู้ต้องหามีภาระเพิ่มขึ้นในการเดินทางไปต่อสู้คดี และอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้ต้องหาเกินความจำเป็น ตำรวจในพื้นที่ที่รับแจ้งความก็อาจใช้ดุลพินิจตามมาตรา 18 โดยอ้างเหตุ “เพื่อความสะดวก“ หรือ “มีเหตุจำเป็น” และประสานงานให้ตำรวจในท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินคดีต่อได้ โดยตำรวจในท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่ก็ต้องยินดีรับคดีไปดำเนินการแทน
 
จากข้อมูลการดำเนินคดีมาตรา 112 ในพื้นที่ห่างไกลจากที่อยู่ของผู้ต้องหา คดีส่วนใหญ่มีการส่งหมายเรียกให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวอย่างถูกต้องตามขั้นตอน หมายความว่า ตำรวจที่รับแจ้งเรื่องจากผู้กล่าวโทษจะต้องสืบสวนจนทราบตัวผู้ต้องสงสัยและที่อยู่ของผู้ต้องสงสัยแล้ว หากตำรวจเห็นแล้วว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่ห่างไกลและไม่สะดวกในการเดินทาง ก็อาจใช้อำนาจมาตรา 18 วรรคสามเพื่อสั่งให้ดำเนินคดีนี้ในท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่ได้ โดยเริ่มขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนในท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่ เพื่อจะได้ขึ้นศาลและดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ ในพื้นที่ที่ไม่เป็นภาระแก่ผู้ต้องหาเกินไป
 
ในทางปฏิบัติหากตำรวจนายเดียวต้องการแก้ปัญหานี้เพื่อความสะดวกของผู้ต้องหา อาจจะแก้ไขไม่ได้ เพราะต้องอาศัยความยินยอมและความร่วมมือจากตำรวจในท้องที่อื่นด้วย แต่หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความ “จริงใจ” ที่จะแก้ไขปัญหา และทำเป็นนโยบายให้ดำเนินคดีในข้อหาที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองเช่นนี้ในพื้นที่ที่ผู้ต้องหาสะดวก ก็สามารถทำได้ และจะเป็นประโยชน์ช่วยลดบรรยากาศความตึงเครียดของการใช้มาตรา 112 ลงได้มาก