1655 1809 1153 1878 1458 1749 1329 1555 1207 1621 1683 1754 1752 1290 1386 1728 1648 1893 1386 1928 1644 1905 1571 1821 1376 1053 1303 1744 1221 1871 1417 1649 1135 1866 1311 1365 1470 1928 1730 1820 1189 1164 1679 1548 1942 1508 1017 1424 1698 1673 1082 1965 1307 1594 1640 1143 1285 1322 1216 1865 1288 1517 1528 1457 1230 1235 1167 1865 1092 1512 1872 1562 1964 1120 1753 1336 1357 1346 1794 1111 1934 1337 1547 1576 1660 1371 1744 1688 1817 1886 1794 1610 1075 1036 1759 1894 1495 1793 1432 สมบัติ ทองย้อย : อดีตการ์ดคนเสื้อแดงและจำเลยคดี 112 กับความทรงจำที่ยังคุกรุ่น | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สมบัติ ทองย้อย : อดีตการ์ดคนเสื้อแดงและจำเลยคดี 112 กับความทรงจำที่ยังคุกรุ่น

23 ตุลาคม 2563 วันปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจที่ลานพระบรมรูปทรงม้าท่ามกลางพสกนิกรที่เฝ้ารับเสด็จ มี "ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์" ที่เคยชูพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่เก้าระหว่างการชุมนุมของผู้ชุมนุมราษฎรที่บริเวณใกล้ห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 รวมอยู่ด้วย ระหว่างที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินผ่านฐิติวัฒน์ สมเด็จพระราชินีทรงจำได้ว่าฐิติวัฒน์เคยไปชูพระบรมฉายาลักษณ์ท่ามกลางผู้ประท้วง จึงทรงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งพระองค์ได้ตรัสกับฐิติวัฒน์ว่า "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ" ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินต่อไป 
 
ในเวลาต่อมาข้อความ "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" ได้ถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำไปโพสต์กันอย่างกว้างขวาง รวมถึง "สมบัติ ทองย้อย" หรือ "พี่หนุ่ม" อดีตการ์ดคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนที่ชอบเล่นเฟซบุ๊ก เมื่อเขาเห็นประโยคดังกล่าวถูกใช้กันอย่างแพร่หลายก็นำไปโพสต์บ้างโดยที่ครั้งแรกก็ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าโพสต์ดังกล่าวกลายเป็นไวรัลได้อย่างไร 
 
การโพสต์ข้อความของสมบัติครั้งนั้นกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยผู้ที่นำข้อความของเขาไปให้เจ้าหน้าที่ดูและให้ดำเนินคดีเป็นประชาชนทั่วไปที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. วันหนึ่งหลังการสืบพยานคดีมาตรา 112 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้สมบัติเคยกล่าวในทำนองยอมรับชะตากรรมแต่ก็แฝงด้วยน้ำเสียงตัดพ้อว่าการที่เขาถูกดำเนินคดีครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะภาพลักษณ์ของเขา เพราะถ้าไปสำรวจบนเฟซบุ๊ก ข้อความกล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ ถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตน่าจะหลายพันหรืออาจจะถึงหลายหมื่นคนนำไปโพสต์และบางคนอาจเขียนข้อความประกอบในลักษณะที่ "ตรงไปตรงมา" หรือ "ดุดัน" กว่าเขา แต่เพราะเขาถูกมองว่าเป็นคนที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทั้งในฐานะการ์ดคนเสื้อแดงและการ์ดผู้ชุมนุมราษฎร เขาจึงตกเป็นเป้าของการสอดส่องและถูกดำเนินคดีในที่สุด
 
2331
 
 
"พี่หนุ่ม" ในมุมที่น้อยคนจะรู้จัก
 
"พี่หนุ่มเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่โรงบาลราชวิถี ครอบครัวพี่อยู่กรุงเทพเรื่อยมาจนพี่อายุประมาณ 21 ปี ถึงได้ย้ายไปอยู่ที่สมุทรปราการ บ้านที่ย้ายไปอยู่ก็คือบ้านที่พี่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้" สมบัติซึ่งตลอดการสัมภาษณ์มักแทนตัวเองว่าพี่หนุ่มเริ่มเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กของเขา แม้ภาพลักษณ์ภายนอกของเขาจะดูดุดันเพราะไว้หนวดไว้เคราและมักปรากตัวใน "ชุดแทคติ คอล" คล้ายทหาร แต่ตลอดบทสนทนาสมบัติหรือ "พี่หนุ่ม" จะพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบและสุภาพต่างจากบุคลิกภายนอกของเขา
 
"พ่อกับแม่พี่เรียนไม่สูง เขาเลยให้คำแนะนำเรื่องการเรียนกับพี่ไม่ได้ ช่วงที่เป็นเด็กพี่หนุ่มก็อาศัยเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ตอนนั้นบ้านอยู่แถวๆ โรงเรียนอำนวยศิลป์ก็เลยไปเรียนที่นั่นจนจบ ม.3 หลังจากนั้นพ่อก็บอกให้ไปเรียนอาชีวะก็เลยไปเรียนด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่เซนต์จอห์น แต่เรียนถึงแค่ ปวช. ปีสามก็ออกมาหางานทำ ก็ต้องยอมรับว่าสมัยหนุ่มๆ พี่ก็เกเรอยู่เหมือนกัน"
 
แม้ครอบครัวของสมบัติจะไม่ใช่คนใหญ่คนโต แต่เนื่องจากพ่อของเขาเป็นคนขับรถของผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง จึงได้ฝากฝังเขาเข้าทำงานจนสุดท้ายเขาได้ทำงานในฐานะช่างสำรวจของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง
 
"พ่อฝากฝังพี่หนุ่มกับผู้ใหญ่ในกรมจนได้ทำงานเป็นช่างสำรวจคอยถือไม้วัดระดับเวลาทำถนน พี่ทำที่หน่วยราชการนั้นจนได้บรรจุเป็นข้าราชการแต่ทำได้ประมาณสิบปีก็เบื่อ เลยลาออกจากราชการมาทำงานเป็นผู้จัดการปั๊มน้ำมันแต่ทำได้สองปีก็เบื่อ เลยไปสมัครงานเป็นคนล้างถังน้ำมัน ต้องสวมชุดป้องกันกับถังออกซิเจนลงไปในถังน้ำมันเลย แต่พี่หนุ่มก็ทำงานเป็นคนล้างถังได้ไม่นานก็เบื่ออีก สุดท้ายเลยตัดสินใจออกมาทำงานในบริษัทขายเครื่องกรองน้ำจนปีกกล้าขาแข็งเลยลาออกมาทำธุรกิจของตัวเอง ขายเครื่องกรองน้ำแบบครบวงจรตั้งแต่ขาย ติดตั้ง แล้วก็บริการหลังการขาย"
 
"ที่พี่เบื่องานส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะตัวเนื้อหางาน แต่อีกส่วนปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเพราะพี่หนุ่มเบื่อการเป็นลูกไล่ลูกจ้างคนอื่น พี่หนุ่มอยากเป็นนายตัวเอง"
 
"สำหรับเรื่องครอบครัวพี่มีภรรยากับลูกสาวอีกคน แฟนพี่ทำงานประจำเป็นผู้ช่วยพยาบาลส่วนลูกกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ พี่หนุ่มเองก็เหมือนกับพ่อที่ไม่ได้มีความรู้มากเลยให้คำแนะนำเรื่องเรียนกับลูกไม่ได้ ลูกเขาจัดการตัวเอง ไปสมัครเรียนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่มหิดล ตอนเขาเอาเอกสารมาให้พี่หนุ่มยังตกใจว่า อ้าวนี่ลูกกูติดมหิดลเหรอ อยู่เลย"  
 
กระโจนสู่แวดวงการเมือง
 
"เรื่องการเมือง ช่วงก่อนปี 48, 49 พี่หนุ่มก็สนใจอยู่บ้างนะ แต่ก็ติดตามข่าวเฉยๆ ไม่ได้ไปชุมนุมอะไรกับเขา เรื่องอดีตนายกฯ ทักษิณพี่หนุ่มก็รู้สึกว่าสมัยที่เป็นนายกฯ คุณทักษิณเขาบริหารดี ซื้อง่ายขายคล่อง แต่พี่หนุ่มเองก็ยังไม่ทันได้เลือกเขาเป็นนายกหรอกนะ ทีนี้พอมีช่วงที่พันธมิตร (กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) เริ่มชุมนุมประมาณปี 48 - 49 พี่หนุ่มก็ไปที่เขาชุมนุมด้วย ไม่ได้ไปชุมนุมกับเขานะ แค่ไปดู อยากรู้ว่าเขาทำอะไรยังไงกัน ไปถึงพี่หนุ่มก็ไม่ได้ฟังแกนนำเขาปราศรัยหรอกแต่ไปเดินเก็บบรรยากาศในม็อบแบบรวมๆ"
 
"ทีนี้มีวันหนึ่งที่สถานีวิทยุชุมชนของคุณชินวัตร หาบุญพาด ที่อยู่แถวถนนวิภาวดีถูกกลุ่มพันธมิตรบุกยึด ก็มีการประกาศระดมกำลังกันไปปกป้องสถานี ตอนนั้นพี่หนุ่มรู้สึกว่ามันไม่ได้แล้ว ต้องช่วยกัน เลยตัดสินใจออกไปช่วยป้องกันสถานี  นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่พี่หนุ่มออกไปม็อบกับเขา แต่ตอนนั้นมันก็ยังไม่ได้มีคนเสื้อแดงนะ บางคนก็ยังใส่เสื้อสีเหลืองอยู่เลย"
 
"ทีนี้มาถึงช่วงปี 52 พวกคุณณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) คุณวีระ (มุสิกพงศ์) คุณจตุพร (พรหมพันธุ์) แล้วก็คุณจักรภพ (เพ็ญแข) เริ่มจัดชุมนุมที่สนามหลวง พี่ก็เลยไปร่วมชุมนุมกับเขาบ้าง มีอยู่วันหนึ่งพี่ไปยืนอยู่แถวหลังเวทีแล้วก็คุยกับหัวหน้าการ์ดว่า ถ้าพี่อยากจะมาช่วยงานการ์ดบ้างต้องทำยังไง" 
 
"คนที่เป็นหัวหน้าการ์ดตอนนั้นเขาคงเข้าใจว่าพี่เป็นพวกสายข่าวที่ทางรัฐส่งมาคอยหาข่าวแล้วก็ดูแลความปลอดภัยของแกนนำ เพราะพี่แต่งตัวคล้ายๆ กับทหาร เขาก็บอกให้พี่เข้ามาเลย ไม่ต้องมาทำฟอร์ม แล้วก็ไม่ได้ขอดูบัตรประจำตัวด้วย ตั้งแต่นั้นพี่ก็เลยได้เข้ามาทำหน้าที่หลังเวที พอหลังๆ พี่ก็ได้รับหน้าที่ให้ดูแลความปลอดภัยของแกนนำบางส่วน แล้วพี่ก็เป็นการ์ดเรื่อยมาจนกระทั่งมีการชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาลขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) พี่ก็ไปอยู่ช่วยเขาที่นั่นด้วย"
 
"ตอนที่พี่มาสมัครเป็นการ์ด พี่ไม่ได้คิดเรื่องอามิสสินจ้างอะไรเลย พี่แค่อยากช่วยอะไรในส่วนที่พี่พอจะช่วยได้"
 
สมบัติร่ายยาวถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของชีวิตเขาว่ากลายมาเป็นการ์ดของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงได้อย่างไร
 
"ถามว่ามีประสบการณ์เฉียดตายหรือเรื่องอะไรที่มันเสี่ยงๆ รึเปล่า ปี 52 ก็มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่พี่จำจนวันนี้ พี่จำวันที่ไม่ได้ รู้แค่ว่าวันนั้นเป็นวันก่อนที่รัฐบาลจะใช้กำลังสลายการชุมนุมน่าจะในเดือนเมษายน ตอนนั้นพวกเราชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ปรากฎว่าแถวถนนยมราช ชุมชนบ้านครัว แล้วก็แถวกิ่งเพชรน่าจะถูกปิดล้อมโดยกลุ่มคนในพื้นที่ที่มีความเห็นต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดง" 
 
"วันนั้นพี่อยู่แถวแยกยมราชก็ได้ยินเสียงปัง ปัง เป็นระยะ ระหว่างที่พี่หลบกระสุนอยู่ใกล้ๆ ป้อมตำรวจพี่ยังวิ่งเข้าไปหาตำรวจที่ป้อมแล้วบอกกับเขาว่า ขอผมซักแม็กได้ไหม คือตอนนั้นพี่รู้สึกโกรธ แล้วก็คับแค้น เหมือนกับเราถูกเขาทำอยู่ฝ่ายเดียว ตำรวจคนนั้นก็บอกพี่หนุ่มว่าเขาให้ (ปืน) พี่หนุ่มไม่ได้หรอก ขืนเอาให้แล้วพี่หนุ่มเอาไปยิงพอกองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจเขาจะซวยเอา"
 
"ตอนนั้นพวกเราเหมือนอยู่กลางวงล้อม พี่หนุ่มไม่รู้จะออกไปยังไงก็พอดีมีน้องคนหนึ่งเขาขี่มอเตอร์ไซค์จะหาทางออกจากพื้นที่ พี่หนุ่มเลยขอเขาติดรถออกมาด้วย น้องเขาก็ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ทีนี้พอจะออกไปถนนเพชรบุรีเพื่อขึ้นสะพานไปทางราชเทวีเราก็รู้ว่ามีคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามถือปืนผาหน้าไม้รออยู่แถวกิ่งเพชรที่เป็นทางออกไปถนนเพชรบุรี ถ้าขี่รถทื่อๆ เข้าไปเราสองคนมีหวังไม่รอด"
 
"โชคยังดีที่น้องคนขี่มอเตอร์ไซค์เขามีไหวพริบ เขาบอกให้พี่เก็บของที่ทำให้ระบุตัวได้ว่าพี่เป็นการ์ดคนเสื้อแดงยัดลงเป้เขาแล้วหยิบมือตบ (สัญลักษณ์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ที่เขามีติดในกระเป๋าออกมาถือ คนที่ปิดถนนเหมือนตั้งด่านดักพวกเราอยู่ก็เลยปล่อยให้เราวิ่งผ่านไป พอขึ้นสะพานข้ามแยกราชเทวีเท่านั้น พี่หนุ่มกับน้องคนนั้นต่างคนต่างถอนหายใจด้วยความโล่งอก นี่ถ้าไม่ได้ไหวพริบของเขา พี่หนุ่มเองคงไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้ ถึงวันนี้พี่หนุ่มยังอยากเจอน้องคนนั้นอีกสักครั้ง อยากจะขอบคุณเขา"
 
คอกวัว ราชประสงค์ ความทรงจำ เลือดเนื้อ น้ำตา
 
หากปี 2552 เป็นปีที่สมบัติผ่านประสบการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานมาอย่างฉิวเฉียด ปี 2553 น่าจะเป็นปีที่เขาได้เผชิญหน้ากับวินาทีแห่งความเป็นความตายอย่างแท้จริง เพราะเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงทั้งที่แยกคอกวัวและราชประสงค์ ซึ่งระหว่างการสลายการชุมนุม สมบัติได้พบเห็นความตายของคนเสื้อแดงและเสธ.แดงในระยะประชิด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เขายังสะเทือนใจอยู่จนถึงทุกวันนี้
 
"การชุมนุมในปี 53 พี่หนุ่มอยู่ในพื้นที่การชุมนุมเกือบตลอด หลักๆ คือพี่จะมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของแกนนำหรือไม่อย่างงั้นพี่ก็จะดูแลพื้นที่ตรงสะพานข้ามคลองแสนแสบประตูน้ำ คือถ้าจำกันได้การชุมนุมที่ราชประสงค์มันกินพื้นที่กว้าง การทำงานของการ์ดก็เลยจะมีการแบ่งพื้นที่กันเพื่อให้เป็นระบบ"
 
"การชุมนุมปี 53 มันเป็นการชุมนุมยืดเยื้อ พี่เองอยู่ในที่ชุมนุมเกือบตลอด ถ้าเป็นช่วงที่มีเหตุปะทะหรือสถานการณ์มีความตึงเครียดพี่หนุ่มก็จะไม่ได้กลับบ้านเลย แต่ถ้าเป็นช่วงเหตุการณ์ปกติพี่ก็อาจจะแว็บกลับไปนอนที่บ้านบ้าง แต่ไปแป็ปเดียวก็กลับมาอีก แฟนพี่กับลูกพี่เขาก็เป็นห่วง แต่ก็พูดอะไรมากไม่ได้เพราะยังไงพี่ก็จะออกมาอีก แฟนพี่พูดกับพี่ได้อย่างเดียวว่าดูแลตัวเองดีๆ นะ บางทีที่พี่กลับไปนอนที่บ้านเขาก็จะแอบเปิดประตูมาดูว่าโอเคพี่กลับมาแล้ว นอนอยู่ปลอดภัยดี"
 
"ช่วงเดือนเมษาปี 53 น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจมากที่สุด พี่จำวันที่ไม่ได้ รู้แต่เป็นวันที่รัฐบาลสลายการชุมนุมที่แยกคอกวัว ช่วงนั้นการชุมนุมของนปช. จะมีอยู่สองพื้นที่หลักๆ ที่หนึ่งคือราชดำเนิน อีกที่คือแยกราชประสงค์ วันนั้นพี่หนุ่มอยู่ที่เวทีราชประสงค์ แกนนำที่นั่นก็ติดตามสถานการณ์ที่แยกคอกวัวอย่างใกล้ชิด พอดูเหมือนว่าแกนนำที่เวทีราชดำเนินคือพี่ขวัญชัย (ไพรพนา) น่าจะเอาไม่อยู่ พี่เต้น (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) ก็เลยประกาศขอกำลังไปช่วยเวทีที่แยกคอกวัว พี่กับทีมพยาบาลส่วนหนึ่งเลยไปราชดำเนินกันบางส่วนขับรถไป บางส่วนขี่มอเตอร์ไซค์ไป" 
 
"พอไปถึงราชดำเนิน ทุกอย่างโกลาหลไปหมด ยิ่งเข้าใกล้พื้นที่เสียงก็เริ่มดังขึ้นจากแปะๆ เป็นปังๆๆ พี่เข้าไปในพื้นที่ตอนที่ผู้ชุมนุมบางส่วนแตกกระเจิงหนีกระสุนกันออกมา พอไปถึงพี่ก็ขึ้นไปตั้งหลักบนตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ไม่ถึงห้านาทีก็มีเสียงบึ้ม พี่หนุ่มได้แต่คิด เหี้ยนี่แม่งสงครามชัดๆ"
 
"พี่หนุ่มไปถึงราชดำเนินได้ไม่นานก็เห็นคนหิ้วพี่วสันต์ (ภู่ทอง) ออกมา สภาพของพี่วสันต์คือกระโหลกเปิดจนสามารถมองเข้าไปด้านในได้ พี่จ้องมองพี่วสันต์แบบไม่กระพริบ ไม่ได้จ้องด้วยความกลัวแต่จ้องไปพร้อมๆ กับตั้งสติ พอเขาวางร่างพี่วสันต์ลงพี่ก็เอามีดสนามอันเล็กๆ ที่พี่มักจะพกติดตัวไปตัดบัตรนปช. ที่พี่แกห้อยติดตัวมาเก็บไว้ เพราะตอนนั้นพี่กลัวว่าเจ้าหน้าที่อาจจะมาชิงศพไป เลยต้องตัดบัตรของพี่เขาเก็บไว้เป็นหลักฐาน คือต้องเข้าใจว่ายุคนั้นโทรศัพท์มือถือมันยังไม่ได้ทันสมัยหรือมีกล้องดีๆ แบบยุคนี้"
 
"ระหว่างที่มีการสลายการชุมนุมคุณร่มเกล้า (พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม) นายทหารที่เป็นคนคุมกำลังเสียชีวิต และมีเหตุระเบิด M79 ลง ทหารที่อยู่ตรงนั้นเลยถอนกำลังออกไป สถานการณ์ที่เวทีราชดำเนินเลยเริ่มคลี่คลาย ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมก็เริ่มทยอยขนศพผู้เสียชีวิตกับอาวุธที่ทหารใช้สลายการชุมนุมขึ้นมาบนเวที จำได้ว่าเขาขนทั้งศพทั้งอาวุธขึ้นมาจนต้องบอกกันว่าพอแล้วเพราะกลัวเวทีจะรับน้ำหนักไม่ไหว" 
 
"ศพของพี่วสันต์ก็อยู่บนเวทีด้วย หลังเหตุการณ์สงบได้พักหนึ่งภรรยาของพี่วสันต์ก็ขึ้นมาตามหาสามีบนเวที พอแกเห็นศพแกก็ร้องไห้เลย ระหว่างนั้นพี่ก็เดินไปหาแกแล้วก็ยัดบัตรนปช. ของพี่วสันต์ไปในมือของภรรยาแก พี่เขาก็กอดกับพี่หนุ่มแล้วก็ร้องไห้ พี่หนุ่มเองก็ร้องแล้วก็ได้แต่บอกแกไปว่าพี่วสันต์แกเป็นวีรชนไปแล้ว" 
 
เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ขณะที่พบกับภรรยาของวสันต์ ภู่ทอง สมบัติเองก็เงียบไปและขอพักการสนทนาไปครู่หนึ่ง  
 
"พอถึงช่วงเดือนพฤษภารัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็เตรียมใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมขั้นสุดท้าย วันที่เขาสลายใหญ่พี่ไม่ได้อยู่ที่แยกราชประสงค์ละแต่ไปอยู่แถวดินแดง พี่เลยไม่ได้เห็นเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายที่แยกราชประสงค์ แต่วันที่เสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) ถูกยิงพี่หนุ่มอยู่ในพื้นที่เลย จริงๆ พี่ก็ไม่เห็นตอนพี่แดงแกถูกยิงหรอก มาเห็นเอาตอนมีคนเอาพี่แดงมาใส่รถกระบะเพื่อพาไปส่งโรงพยาบาล พี่แดงถูกเอาตัวขึ้นท้ายกระบะ เขาเอาหลังแกไปพิงกับกระจกหลังแคปรถแล้วเอาปลายเท้าชี้มาทางท้ายรถ" 
 
"ตอนนั้นเหตุการณ์ชุลมุนมาก พี่หนุ่มขี่มอเตอร์ไซค์ตามรถกระบะที่จะพาพี่แดงไปโรงพยาบาล ระหว่างที่ขี่รถตาของพี่ก็จ้องอยู่ที่พี่แดง ตอนนั้นเหมือนเลือดน่าจะไหลลงมาคั่งแล้วเพราะตาพี่แดงเขียวคล้ำเลย พี่ขับรถตามได้สักพักก็เห็นท่าไม่ดีเพราะบนถนนมีมวลชนอยู่เยอะมาก รถกระบะเลยวิ่งได้ไม่เร็ว พี่เลยตัดสินใจขับแซงขึ้นมา ปากก็ตะโกน 'หลบไป! หลบไป!'  พี่แดงถูกยิง จนสุดท้ายรถก็วิ่งได้เร็วขึ้น พี่แดงถูกพาตัวไปโรงพยาบาลแต่พี่หนุ่มไม่ได้ตามไป พอรถมาถึงแยกราชประสงค์พี่ก็หยุดรถแล้วก็รีบขึ้นไปบอกกับพวกแกนนำที่ตอนนั้นก็พอจะได้ข้อมูลเรื่องพี่แดงถูกยิงมาบ้าง แต่ก็อย่างว่าสถานการณ์แบบนั้นมีทั้งข่าวจริงทั้งข่าวลวง พอรู้เรื่องเขาก็คุยกันปรับแผนเตรียมรับสถานการณ์แต่สุดท้ายวันนั้นก็ยังไม่มีสลาย"
 
"มองย้อนกลับมาความรู้สึกของพี่หนุ่มเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อปี 53 คือเสียใจ พี่หนุ่มได้แต่ถามตัวเองในใจว่าเราขอแค่ยุบสภาทำไมต้องยิงกัน เราขอแค่ยุบสภาทำไมต้องเอาอาวุธสงครามมาใช้กับพวกเรา ถ้าจะมีคนใช้อาวุธนั่นเป็นเรื่องของตำรวจต้องไปหาตัวคนที่ใช้อาวุธ แต่คนอื่นๆ ที่เขามีแค่มือเปล่าไปชุมนุม 80 - 90% ทำไมต้องทำร้ายพวกเขา พี่หนุ่มว่าทำแบบนี้มันเกินไป"
 
แขกรับเชิญยุค คสช.
 
แม้หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 สมบัติจะไม่ได้ถูกดำเนินคดีเหมือนคนเสื้อแดงที่ไปร่วมการชุมนุมบางส่วน แต่ในฐานะการ์ดของผู้ชุมนุมที่มักถูกมองโดยฝ่ายรัฐว่าเป็นพวก "ฮาร์ดคอร์" หรือพวกชอบใช้ความรุนแรง สมบัติน่าจะถูกรัฐทำโปรไฟล์และขึ้นบัญชีเป็นคนที่ต้องจับตาไว้แล้ว ช่วงแรกหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สมบัติไม่ได้ถูก คสช.เรียกตัวเข้าค่ายทหาร 
 
แต่ในเดือนพฤษภาคม 2559 สมบัติถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกค้นบ้านในวันเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจบุกไปบ้านของอดีตนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการอย่างวรชัย เหมะ และ ประชา ประสพดี ครั้งนั้นเขาถูกยึดข้าวของทั้งวิทยุสื่อสาร ปืนบีบีกัน รวมทั้งถูกดำเนินคดีในความผิดฐานครอบครองยุทธภัณฑ์ ได้แก่ วิทยุสื่อสารที่สามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ของทางราชการได้ และนับจากครั้งนั้นสมบัติก็กลายเป็นบุคคลในวอทช์ลิสต์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
 
"ตอนที่รัฐบาลมียุทธการปราบผู้มีอิทธิพลที่ปากน้ำพี่หนุ่มก็โดนไปด้วย วันนั้นพี่หนุ่มนอนอยู่ที่บ้าน อยู่ๆ ก็มีเสียงเคาะประตู ปังๆ แล้วก็เสียงตะโกนสมบัติๆ พอเปิดประตูก็โอ้โหเขียวพรึ่บทหารพร้อมอาวุธ ปิดหัวซอยท้ายซอย พอเปิดประตูทหารก็ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมอะไร บอกให้พี่เอาโทรศัพท์ให้เขาแล้วก็ค้นบ้าน เอาปืนบีบีกัน วิทยุสื่อสาร แล้วก็เอาตัวพี่ไปดำเนินคดีครอบครองยุทธภัณฑ์กะว่าจะเล่นพี่หนักๆ สุดท้ายพี่หนุ่มก็โดนแค่เรื่องครอบครองวิทยุสื่อสารที่เขาตีเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์เพราะมันฟังคลื่นของทางราชการได้ แล้วก็ถูกตัดสินจำคุกแต่ได้รอลงอาญา ส่วนของอื่นๆ เขาคืนมาหมดรวมถึงปืนบีบีกันแล้วก็ซีดีคนเสื้อแดง พี่หนุ่มยังโดนเพื่อนๆ แซวเลยว่าเป็นผู้มีอิทธิพลบีบีกัน"
 
"หลังจากครั้งนั้นพี่ก็ถูกเจ้าหน้าที่มาติดตามเป็นระยะเรียกว่ามาจนทั้งพี่ทั้งที่บ้านชินไปแล้ว ตอนที่มีการบุกวัดธรรมกายพี่กำลังกลับจากเมืองชล (จังหวัดชลบุรี) พอได้ข่าวว่าเขาระดมกำลังกันไปช่วยพี่ก็เปลี่ยนเส้นทางจากเดิมที่จะขับรถกลับบ้านเป็นไปที่วัดแทน พอไปถึงวัดสถานการณ์ยังปกติพี่หนุ่มก็เลยหาที่นั่งเล่นโทรศัพท์ นั่งได้พักเดียวก็มีทหารคนหนึ่งมาตะเบ๊ะ บอกว่าลูกน้องรายงานเขามาว่าพี่หนุ่มเข้าพื้นที่แล้วเลยมาดู" 
 
"ทีนี้พอถึงวันถัดมาพี่ก็ถูกตามตัวไปที่ สภ.ปากน้ำตั้งแต่ช่วงกลางวัน ตอนแรกตำรวจก็บอกว่าจะไม่เอาตัวพี่หนุ่มไว้ แต่ก็พยายามถ่วงเวลาคุยโน่นคุยนี่กับพี่หนุ่มจนถึงเย็น เสร็จแล้วก็ให้พี่หนุ่มแก้ผ้าตรวจร่างกาย ก็เลยรู้ว่าวันนี้คงไม่พ้นต้องนอนกับเจ้าหน้าที่แน่ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตำรวจคนหนึ่งบอกกับพี่หนุ่มว่าเพื่อความสบายใจนายของเขาขอให้พาพี่ไปนอนพักที่สถานตากอากาศบางปู (จังหวัดสมุทรปราการ) สักคืนหนึ่ง แล้วพี่หนุ่มก็ถูกพาตัวขึ้นรถฮัมวีทหารไปที่บางปู พอไปถึงที่พักเขาก็ให้พี่โทรคุยกับที่บ้านว่าไม่ต้องเป็นห่วง พอถึงเวลานอนคนที่เฝ้าพี่ยังบอกกับพี่ว่าเขาขอนอนเฝ้าพี่ที่หน้าห้อง พี่ก็ได้แต่บอกเขาว่าไม่ต้องเฝ้าหน้าห้องหรอก พี่ไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว แต่เขาก็ยืนยันพี่ก็เลยบอกงั้นก็ตามสบาย "
 
"พี่หนุ่มมาถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมครั้งแรกช่วงที่คนอยากเลือกตั้งออกมาชุมนุม พี่เองก็มาชุมนุมในฐานะมวลชนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหมือนหน้าพี่หนุ่มมันถูกปะยี่ห้อไว้แล้วว่าเป็นการ์ด สุดท้ายก็เลยถูกดำเนินคดีทั้งจากการชุมนุมที่ราชดำเนินแล้วก็ที่หน้ากองทัพบก ส่วนที่หน้ายูเอ็นพี่หนุ่มไม่ได้ไปเพราะวันที่เขานัดชุมนุมมีเจ้าหน้าที่มาที่บ้านพี่บอกวันนี้ขอกินกาแฟกับพี่วันหนึ่งแล้วเขาก็อยู่ที่บ้านพี่จนเย็นพี่เลยไม่ได้ออกไปชุมนุม"
 
ต้องเอาประยุทธ์ออกให้ได้ก่อน แก้ไขเรื่องอื่นๆ ถึงพอเป็นไปได้
 
ช่วงปี 2563 - 2564 การเมืองบนท้องถนนกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง การยุบพรรคอนาคตใหม่ในช่วงต้นปี 2563 ทำให้คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งตัดสินใจออกมาชุมนุมบนท้องถนน เริ่มจากการชุมนุมตามมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อกลุ่มและข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ขบวนการเคลื่อนไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ค่อยๆ เรียนรู้ร่วมกันจนนำไปสู่การฟอร์มขบวนขนาดใหญ่ ที่มีข้อเรียกร้องชัดเจนในนาม "ราษฎร" สมบัติเองยังคงออกไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎรในฐานะมวลชนคนหนึ่ง แต่ด้วยยี่ห้อ "การ์ดคนเสื้อแดง" ที่ติดอยู่กับตัว สุดท้ายสมบัติก็ได้เข้ามาช่วยงานรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมราษฎรอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งเมื่อเห็นว่าขบวนเริ่มจัดการอะไรเข้าที่เข้าทาง สมบัติก็ค่อยๆ ลดบทบาทตัวเองและถอยออกมา และก็เป็นช่วงนี้นี่เองที่สมบัติมาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก 
 
"ช่วงที่น้องๆ ราษฎรออกมาชุมนุม พี่หนุ่มก็ออกมาชุมนุมกับเขาด้วย มาในฐานะมวลชนคนหนึ่ง แต่อย่างว่า พี่หนุ่มถูกมองว่าเป็นการ์ดไปแล้วประกอบกับพี่หนุ่มชอบแต่งตัวคล้ายๆ ทหารจนคนเข้าใจว่าเป็นการ์ด มีอยู่ทีหนึ่งพี่หนุ่มไปชุมนุมในฐานะมวลชนคนหนึ่ง แล้วก็ไปเดินหาของกินในม็อบ ยังไม่วายถูกคนตำหนิว่าเป็นการ์ดทำไมไม่ทำหน้าที่ มาเดินหาของกิน สุดท้ายพี่หนุ่มก็เลยได้เข้ามาช่วยงานน้องๆ เขาอยู่ระยะหนึ่ง แต่พอเห็นพวกน้องๆ เขาทำกันเองได้พี่หนุ่มก็ค่อยๆ ถอยออกมา แล้วพอมาช่วงหลังพี่หนุ่มไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวก็เลยไม่ค่อยได้ออกไปชุมนุม"
 
"ต้องบอกก่อนว่าพี่เคารพการต่อสู้ของน้องๆ ทุกคนนะ เพียงแต่ว่าแนวทางหลายๆ อย่างอาจไม่ตรงกัน อย่างเรื่องสามข้อเรียกร้อง พี่หนุ่มคิดว่าก่อนจะไปเรื่องรัฐธรรมนูญหรือปฏิรูปสถาบันฯ ได้ กุญแจดอกแรกคือต้องเอาประยุทธ์ออกไปก่อน ถ้าแค่ประยุทธ์ยังเอาออกไปไม่ได้ เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องปฏิรูปสถาบันนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะประยุทธ์กุมส.ว. กุมเสียงสนับสนุนในสภาบางส่วนอยู่" 
 
"ต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญๆ สุดท้ายมันก็ต้องไปเปลี่ยนกันในสภา การชุมนุมบนท้องถนนเป็นการต่อสู้ทางหนึ่งก็จริง แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็ต้องไปตัดสิน ไปจบกันในสภา อย่างเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ถ้าจะทำจริงๆ มันก็ต้องมีการปรับแก้กฎหมาย ถ้าประยุทธ์ยังอยู่แล้วฝั่งเขายังกุมเสียงข้างมากไว้แบบนี้ยังไงก็ยากจะสำเร็จ แต่ถ้าเราเอาประยุทธ์ออกไปได้ ข้อสองข้อสามมันก็ยังพอเป็นไปได้อยู่บ้าง ที่จะบอกคือพี่หนุ่มไม่ได้ต่อต้านข้อเสนอของน้องๆ คนรุ่นใหม่ พี่หนุ่มแค่คิดว่ามันอาจจะยังไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนที่เราจะต้องชูในตอนนี้"
 
"อีกเรื่องที่พี่หนุ่มไม่เห็นด้วยคือ แนวทางการเคลื่อนไหวในช่วงหลังๆ ที่เปิดหน้าแลก ซึ่งพี่หนุ่มมองว่าเป็นแนวทางการต่อสู้ที่ยากจะนำไปสู่ความสำเร็จ และที่ผ่านมารัฐก็ฉลาดขึ้น ใช้วิธีจับ ตั้งข้อหา ทำให้เราต้องจ่ายเงินประกันทุกครั้งที่มีการชุมนุม อย่างพี่หนุ่มเองถ้าออกไปยังไงก็โดน ถ้าพี่ออกไปร่วมชุมนุมสักห้าครั้ง ต่อให้แค่ไปยืนเก้ๆ กังๆ ก็คงไม่พ้นโดนคดีทั้งห้าครั้ง เอาแค่ประกันคดีละ 20,000 รวมกันก็เป็นแสนแล้ว พี่เลยตัดสินใจเลิกไปชุมนุม แต่ไม่ใช่ว่าพี่จะทิ้งขบวนนะ พี่แค่คิดว่าพี่อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวในวันนี้ แต่ถ้าในอนาคตมีการเคลื่อนไหวแล้วทางขบวนมีการปรับแนวทางพี่ก็พร้อมที่จะออกมาร่วมชุมนุมอีก"
 
เพราะเป็นคนที่รัฐจับตา แม้โพสต์ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ก็โดน ม.112
 
"สำหรับคดี 112 ตอนที่พี่หนุ่มได้หมาย พี่ไม่ได้ตกใจอะไรหรอก พี่แค่งงว่าเฮ้ยกูโดนได้ไง เพราะข้อความของพี่มันไม่ได้มีอะไรเลย ถ้าไปเทียบกับบางคนที่โพสต์ข้อความแบบตรงๆ ใช้คำหยาบ หรือระบุชื่ออย่างโจ่งแจ้งกลับไม่ถูกดำเนินคดี ส่วนพี่เองไปเห็นเขาเล่นกันเป็นไวรัลทั้งๆ ที่ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าเป็นคำพูดของใคร ก็เอามาโพสต์บ้าง กลายเป็นซวยไป คงเป็นเพราะสถานะของพี่ที่มีคนรู้จักและถูกจับตาทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันข้าม"   
 
"พูดเรื่องมาตรา 112 ตัวพี่หนุ่มเองไม่ได้อะไรกับมันมาก ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นต้องมีพี่ก็โอเค แต่มันต้องไม่ใช่แบบนี้ ต้องให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นคนดำเนินคดี ไม่ใช่ใครอยากแกล้งใครก็เอาไปใช้กันแบบนี้" 
 
"สำหรับเรื่องผลกระทบ พี่หนุ่นยังโชคดีที่ได้ประกันตัว หลักๆ ก็เลยเป็นเรื่องเสียเวลา มีอยู่เหมือนกันที่ลูกค้าที่มีแนวคิดทางการเมืองไปคนละทาง พอรู้ข่าวเขาก็เลิกใช้บริการพี่หนุ่ม พอโทรไปถามว่าครบรอบเปลี่ยนไส้กรองน้ำแล้วจะให้เข้าไปไหม เขาก็บอกเลิกใช้ไปแล้ว แต่มีไม่เยอะหรอก ที่พี่หนุ่มแปลกใจคือมีลูกค้าบางคนที่พี่หนุ่มเคยเข้าใจว่าเขาอยู่ฝั่งตรงข้ามบอกกับพี่ว่า "คุณสมบัติ เป็นกำลังใจให้นะ" ก็มีเหมือนกัน"
 
"ถ้าสุดท้ายศาลจะสั่งลงโทษจำคุกพี่หนุ่มก็คงต้องยอมรับไป อย่างว่าเป็นนักรบมันก็มีแผล ได้แต่หวังว่าศาลจะยังมีเมตตาบ้าง จะรอลงอาญา ตั้งเงื่อนไขอะไรก็ว่ากันไป ถ้าการโพสต์ข้อความแค่นี้จะถึงขั้นเอาไปติดคุกกันก็คงต้องตั้งคำถามว่าโทษมันรุนแรงเกินไปไหม"
 
 
 
 
ชนิดบทความ: