1756 1923 1885 1992 1464 1696 1385 1275 1444 1517 1180 1140 1410 1377 1410 1232 1094 1814 1324 1712 1129 1249 1441 1112 1659 1326 1795 1375 1834 1857 1981 1409 1244 1055 1027 1356 1174 1671 1130 1501 1413 1628 1295 1412 1756 1372 1359 1813 1003 1171 1634 1187 1133 1424 1642 1052 1753 1262 1683 1176 1944 1175 1329 1907 1855 1364 1606 1297 1411 1002 1646 1107 1735 1446 1044 1857 1170 1291 1019 1834 1275 1362 1750 1620 1380 1213 1678 1424 1690 1831 1492 1722 1720 1163 1210 1612 1195 1366 1633 ตำรวจนครสวรรค์ตามติด "โอ้ต" นักกิจกรรมในพื้นที่หวั่นแสดงออกช่วง "มีเสด็จ" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ตำรวจนครสวรรค์ตามติด "โอ้ต" นักกิจกรรมในพื้นที่หวั่นแสดงออกช่วง "มีเสด็จ"

'โอ้ต' นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และนักกิจกรรมสหพันธ์นักเรียนนครสวรรค์ ให้ข้อมูลว่าในช่วงวันที่ 5 - 7 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจที่จังหวัดนครสวรรค์ เขาถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ทั้งโทรศัพท์หา ไปถ่ายภาพเขาที่หน้าโรงเรียน รวมถึงถ่ายคลิปวิดีโอระหว่างที่เขาเดินทางกลับบ้านเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา
 
"โอ้ต" ระบุด้วยว่าก่อนหน้าการติดตามอย่างใกล้ชิดข้างต้น เจ้าหน้าที่เคยแวะมาที่บ้านของเขาเป็นระยะมาก่อนแล้ว ในช่วงที่มีนักกิจกรรมประกาศจัดกิจกรรมในพื้นที่ หรือมีกรณีที่พระบรมวงศานุวงศ์มีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์หรือจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ "โอ้ต" ระบุด้วยว่าในขณะที่นักกิจกรรมบางส่วนเลือกที่จะเพิกเฉยต่อการติดตามของเจ้าหน้าที่ แต่ "โอ้ต" กลับเลือกใช้วิธีเข้าหาและพูดคุยเพื่อหวังทำความเข้าใจรวมทั้งหาโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับเจ้าหน้าที่แทน 
 
"โอ้ต" เชื่อว่าการใช้วิธีนี้ทำให้ตำรวจคนที่ติดตามตัวเขา เข้าหาเขาในลักษณะละมุนละม่อน ไม่มีท่าทีข่มขู่คูกคาม โดยเฉพาะการติดตามตัวในครั้งหลังๆ แต่ไม่ว่าท่าทีของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจะเป็นอย่างไร "โอ้ต" ก็เห็นว่าการติดตามตัวนักกิจกรรมยังถือเป็นการคุกคามประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้มีอำนาจบอกว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
 
2267
 
+++ภาพรวมการเคลื่อนไหวในนครสวรรค์+++
 
"โอ้ต" เล่าว่าที่จังหวัดนครสวรรค์มีกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมทางสังคมหรือการเมืองอยู่จำนวนหนึ่ง กลุ่มที่เขาทำกิจกรรมด้วยคือ "สหพันธ์นักเรียนนครสวรรค์" ซึ่งสมาชิกของกลุ่มจะต้องเป็นคนที่ยังเป็นนักเรียนเท่านั้น หากจบการศึกษาระดับมัธยมแล้วก็จะต้องออกจากกลุ่มไป นอกจากกลุ่มของเขาก็มีแนวร่วมนิสิตนครสวรรค์เพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมของคนที่เรียนอยู่ระดับอุดมศึกษา มีกลุ่มกิจกรรมของนักเรียนอาชีวะ และกลุ่มกิจกรรมอิสระอื่นๆ 
 
สำหรับ "โอ้ต" เขาเพิ่งมาเริ่มเคลื่อนไหวร่วมกับสหพันธ์ฯ ในเดือนสิงหาคม 2564 ครั้งแรกที่เขาเข้ามาทำกิจกรรมตัวเขาเองก็ไม่ได้เป็นคนที่สนใจการเมืองมากนัก แต่เข้ามาร่วมกิจกรรมเพราะเพื่อนชวนมา "โอ้ต" ยอมรับด้วยว่าตัวเขาเองเคยเป็นคนที่มีแนวความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมเสียด้วยซ้ำ แต่หลังเริ่มเข้ามาทำกิจกรรมกับสหพันธ์ฯ เขาก็เริ่มหาข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ มากขึ้นจนเริ่มเปลี่ยนแนวความคิดทางการเมือง
 
"โอ้ต" ระบุว่าโดยส่วนใหญ่กิจกรรมของสหพันธ์ฯ จะให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นสิทธิของนักเรียนในโรงเรียน และประเด็นทางสังคมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครสวรรค์ อย่างช่วงเดือนกันยายน 2564 ทางกลุ่มก็เคลื่อนไหวคัดค้านกรณีที่มีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดรูปหนึ่งถูกกล่าวหาว่าอาจกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อสามเณรในวัด สำหรับการเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองร่วมกับการเคลื่อนไหวของขบวนราษฎรส่วนกลาง "โอ้ต" ระบุว่าทางสหพันธ์ฯ ก็เคลื่อนไหวบ้าง แต่มักเป็นการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ ในจังหวัดโดยเฉพาะแนวร่วมนิสิตนครสวรรค์ฯ
 
"โอ้ต" ระบุด้วยว่า ในภาพรวม การเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ยังพอทำได้อยู่บ้าง แม้ตำรวจจะไม่เห็นด้วยและในบางครั้งก็มักร้องขอให้เลื่อนการทำกิจกรรมออกไป ไม่ให้ทำในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่ที่กรุงเทพ แต่สุดท้ายก็ยังพอทำกิจกรรมได้บ้าง จะมีก็เพียงการเคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทางเจ้าหน้าที่ดูจะกังวลเป็นพิเศษ 
 
+++ถูกเก็บโปรไฟล์ ก่อนตำรวจมาบ้านครั้งแรก+++
 
"โอ้ต" เริ่มทำกิจกรรมกับสหพันธ์ฯ ในเดือนสิงหาคม 2564 ต่อมาในเดือนกันยายน 2564 กลุ่มกิจกรรมในนครสวรรค์รวมทั้งสหพันธ์ฯ ร่วมกันจัดกิจกรรม บีบแตรไล่หมา 2 ซึ่งถือเป็นคาร์ม็อบครั้งที่สองที่จัดขึ้นในพื้นที่ ช่วงที่นักกิจกรรมในพื้นที่ไปแจ้งจัดกิจกรรมที่สถานีตำรวจ "โอ้ต" เดินทางไปที่สถานีตำรวจด้วย ครั้งนั้นมีนักกิจกรรมรุ่นพี่ที่เป็นนักศึกษาสองคนลงชื่อในเอกสารแจ้งจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ แต่ตำรวจกลับขอชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ของ "โอ้ต" รวมทั้งนักกิจกรรมที่อยู่ที่สถานีตำรวจด้วย ตำรวจยังขอบัตรประชาชนของ โอ้ต" ไปด้วยแม้ว่าเขาจะไม่ได้ลงชื่อในเอกสารแจ้งจัดกิจกรรมคาร์ม็อบก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะนำไปเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งจัดกิจกรรม จากนั้นเมื่อถึงวันจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ โอ้ตก็ถูกตำรวจถ่ายภาพ โดยลักษณะการถ่ายภาพไม่ใช่การถ่ายภาพขณะที่เขากำลังทำกิจกรรม แต่เป็นการถ่ายโดยเจ้าหน้าที่สะกิดตัวเขา เมื่อเขาหันหน้ามาก็ถ่ายภาพใบหน้าของเขาในระยะประชิด
 
หลังถูกเจ้าหน้าที่ขอข้อมูลส่วนตัวและถ่ายภาพไปในเดือนกันยายน 2564 ต่อมาในเดือนตุลาคม "โอ้ต" เริ่มถูกตำรวจติดตามที่บ้านเป็นครั้งแรก ในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 มีกลุ่มกิจกรรมกลุ่มหนึ่งโพสต์ภาพและข้อความว่าจะมีกลุ่มทะลุแก๊สมาร่วมกิจกรรมที่จังหวัดนครสวรรค์ วันต่อมาก็มีตำรวจสองนายมาที่บ้านของ "โอ้ต" เนื่องจากบ้านของเขาประกอบธุรกิจค้าขาย เจ้าหน้าที่จึงสามารถเดินเข้ามาในพื้นที่บ้านได้เลยเหมือนกับลูกค้าที่จะมาติดต่อซื้อของ ในวันนั้น "โอ้ต" อยู่ที่บ้านแต่เขาไม่ได้พบกับเจ้าหน้าที่เพราะยังนอนอยู่ในห้อง เขามาทราบเรื่องทั้งหมดจากปู่กับย่า ซึ่งขายของอยู่ที่หน้าร้านและเป็นคนพูดคุยกับเจ้าหน้าที่
 
ย่าของ "โอ้ต" เล่าให้เขาฟังในภายหลังว่า ตำรวจที่มาอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ ได้รับคำสั่งจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้มาติดตามตัวเขาในฐานะบุคคลเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่ยังได้ถามปู่กับย่าของ "โอ้ต" เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของเขาด้วยว่า เขามักจะออกจากบ้านเวลาไหน ไปรับประทานอาหารที่ร้านไหน และจะอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจต้นสังกัดของตำรวจทั้งสองนายช่วงไหนบ้าง ตำรวจยังพูดกับปู่กับย่าให้มาบอกเขาด้วยว่า จะเคลื่อนไหวจะทำอะไรก็อย่าให้พาดพิงสถาบัน ไม่อยากให้ "โอ้ต" ติดคุก เจ้าหน้าที่ที่มาที่บ้านยังถ่ายภาพปู่กับย่าเขารวมทั้งถ่ายภาพบ้านของเขาไปด้วย ปู่กับย่าของ "โอ้ต" รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับการมาของเจ้าหน้าที่อยู่บ้าง แต่ "โอ้ต" ก็พยายามทำความเข้าใจกับปู่กับย่าของเขาว่า เขาแค่ถูกติดตามไม่ได้ถูกจับกุมและเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด 
 
หลังจากนั้นในวันที่ 1 พศจิกายน 2564 มีตำรวจโทรศัพท์ไปหายายของ "โอ้ต" ที่อาศัยอยู่ต่างอำเภอ ว่า "โอ้ต" เป็นบุคคลเฝ้าระวังของ กอ.รมน. ยายจึงโทรศัพท์ไปหาพ่อกับแม่ของ "โอ้ต" ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีจนทำให้ "โอ้ต" ถูกพ่อกับแม่ตำหนิ ครั้งนี้ "โอ้ต" แสดงความไม่สบายใจว่าเจ้าหน้าที่ใช้ยุทธวิธีกดดันคุกคามเขาผ่านทางยายของเขาซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมกับเขา ทั้งไม่ได้เป็นคนดูแลเขาด้วยเพราะอยู่กันคนละอำเภอ "โอ้ต" คาดว่าตำรวจน่าจะเอาเลขบัตรประชาชนของเขาไปขยายผลหาว่าเขามีญาติใกล้ชิดคนใดที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์บ้างแล้วโทรหาเพื่อทำการคุกคามเขา
 
+++กดดันหนักช่วงมีเสด็จ+++ 
 
ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564 "โอ้ต" ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวอีกครั้ง เพราะในวันที่ 30 ธันวาคม กรมสมเด็จพระเทพฯ มีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปที่จังหวัดพิษณุโลกเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันที่ 25 ธันวาคม "โอ้ต" ได้รับการติดต่อจากตำรวจที่เคยมาติดตามตัวเขาที่บ้านว่าอยากขอพบ โอ้ตจึงไปพบกับตำรวจในวันที่ 26 ธันวาคม ที่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน เมื่อถึงวันนัดหมายเขาไปพบกับตำรวจคนดังกล่าวและยืนคุยกันเป็นเวลาประมาณ 5 นาที ตำรวจที่มาติดตามเขาระบุว่า ในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 กรมสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรที่จังหวัดพิษณุโลก ทางผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้เขามาติดตาม "โอ้ต" ในฐานะบุคคลเฝ้าระวัง เพราะเกรงว่า "โอ้ต" จะไปทำกิจกรรมระหว่างการเสด็จ ตำรวจที่มาติดตาม "โอ้ต" ขอถ่ายภาพเขาระหว่างที่พบกันหลังจากนั้นในวันที่ 30 ธันวาคม ซึ่งกรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรที่จังหวัดพิษณุโลก "โอ้ต" ต้องมาพบตำรวจคนเดิมอีกครั้ง ที่ร้านสะดวกซื้อแห่งเดิมและตำรวจก็ถ่ายภาพเขาเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา
 
จากนั้นในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งกรมสมเด็จพระเทพฯ มีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำรวจคนเดิมก็โทรศัพท์มาขอให้ "โอ้ต" ถ่ายภาพตัวเองส่งไปให้เพื่อยืนยันว่าเขาไม่ได้เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ "โอ้ต" ระบุว่าเหตุที่เขาถูกติดตามแม้ว่ากรมสมเด็จพระเทพฯ จะไม่ได้เสด็จมาที่จังหวัดนครสวรรค์แต่ไปที่เชียงใหม่ น่าจะเป็นเพราะมีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์กลุ่มหนึ่งที่เผยแพร่เนื้อหาบนโลกออนไลน์ว่าเขากำลังไปที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับการรับปริญญา เจ้าหน้าที่จึงน่าจะกังวลว่าเขาอาจเดินทางไปทำกิจกรรมที่เชียงใหม่ด้วย
 
จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งกรมสมเด็จพระเทพฯ มีกำหนดเสด็จไปประกอบพระราชกรณียกิจที่จังหวัดนครสวรรค์ "โอ้ต" ถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่อีกครั้งแต่ครั้งนี้น่าจะหนักหน่วงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาเพราะครั้งนี้เป็นการเสด็จมาประกอบพระราชกรณียกิจในพื้นที่โดยตรง
 
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 สองวันก่อนวันเสด็จพระราชดำเนิน ตำรวจผู้ติดตาม "โอ้ต" คนเดิมโทรศัพท์แจ้งเขาว่ากรมสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จพระราชดำเนินมาที่จังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ในวันที่ 5 และ 6 กุมภาพันธ์ ตำรวจยังไม่ได้มาหาโอ้ตโดยตรงเพียงแต่ขอให้เขาถ่ายภาพส่งไปให้ แต่ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันเสด็จฯ ตำรวจคนดังกล่าวมาติดตาม "โอ้ต" ด้วยตัวเองทั้งวัน 
 
ครั้งแรกเวลาประมาณ 7.00 น. ตำรวจผู้ติดตาม "โอ้ต" มาพบเขาระหว่างทางไปโรงเรียนและขอถ่ายภาพเขาโดยครั้งนั้นตำรวจคนดังกล่าวมาคนเดียว จากนั้นเวลาประมาณ 12.20 น. ซึ่งเป็นเวลาพักกลางวัน ตำรวจคนดังกล่าวมากับตำรวจอีกคนหนึ่งและขอถ่ายภาพเขาที่โรงเรียน "โอ้ต" ต้องเดินมาที่ประตูรั้วโรงเรียนเพื่อให้ตำรวจถ่ายภาพโดยครั้งนี้ตำรวจคนดังกล่าวต้องเข้าไปอยู่ในภาพถ่ายด้วย ส่วนคนที่ถ่ายภาพเป็นตำรวจอีกคนหนึ่งซึ่งปกติไม่ได้มาติดตาม "โอ้ต" ครั้งสุดท้ายในช่วงเวลาประมาณ 13.45 น. ซึ่งเป็นเวลาเลิกเรียน ตำรวจผู้ติดตาม "โอ้ต" บอกให้เขาขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านตามปกติส่วนตัวเขากับเจ้าหน้าที่อีกคนจะขับรถยนต์ตามและถ่ายคลิปวิดีโอการเดินทางส่งผู้บังคับบัญชา เมื่อใกล้ถึงบ้านตำรวจยังขอเขาถ่ายภาพนิ่งของเขาอีกครั้งพร้อมขอความร่วมมือจากเขาว่า ขอให้ "โอ้ต" งดออกจากบ้านในช่วงเย็นหรือหากจะต้องไปข้างนอกก็ขอให้งดใช้เส้นทางหลักซึ่งกรมสมเด็จพระเทพฯอาจเสด็จผ่าน 
 
+++คุยกับตำรวจเพราะอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็น+++ 
 
"โอ้ต" เล่าว่าวิธีการรับมือกับเจ้าหน้าที่ของเขาค่อนข้างแตกต่างจากนักกิจกรรมที่เขารู้จักคนอื่นๆ ที่มักใช้วิธีหลีกเลี่ยงไม่พูดคุย แต่ตัว "โอ้ต" บอกกับปู่และย่าของเขาตั้งแต่หลังตำรวจมาบ้านครั้งแรกว่าหากตำรวจมาถามหาเขาและขอเบอร์โทรศัพท์ก็ให้ปู่กับย่าให้ไปเลย หรือแม้ตำรวจจะไม่ขอเบอร์เขาก็ขอให้ปู่หรือย่าให้เบอร์โทรเขาไปเลย ทางหนึ่ง "โอ้ต" อยากพูดคุยกับตำรวจโดยตรงเพื่อที่ตำรวจจะไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายกับครอบครัวของเขา ในอีกทางหนึ่ง "โอ้ต" มองว่าการพูดคุยน่าจะเป็นโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้วิธีคิดของตำรวจรวมถึงได้มีโอกาสทำความรู้จักพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย 
 
การที่เขาเลือกใช้วิธีการนี้ก็ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าหาเขาด้วยท่าทีละมุนละม่อมขึ้น แทนที่จะมาหาที่บ้านก็เพียงแต่ขอให้เขาถ่ายภาพส่งไปเฉยๆ ยกเว้นครั้งที่กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาที่จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งตำรวจต้องมาติดตามเขาด้วยตัวเอง "โอ้ต" ระบุด้วยว่า เขาเคยได้ยินเพื่อนที่อยู่จังหวัดอื่นซึ่งไม่ได้พูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่คนที่ได้รับมอบหมายให้มาติดตามเล่าว่าเคยถูกตำรวจเข้ามาหาถึงในโรงเรียน ต่างจากกรณีของเขาที่ตำรวจไม่ได้เข้ามาถึงในโรงเรียน ได้แต่ขอให้เขาออกมาที่รั้วโรงเรียนเพื่อถ่ายภาพส่งนาย 
 
จากการได้สัมผัสและรู้จัก "โอ้ต" เชื่อว่านายตำรวจที่มาติดตามคำเองก็ไม่ได้อยากที่จะมาติดตามเขาแต่ต้องทำไปตามหน้าที่เท่านั้น และเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ไม่สามารถตอบ "โอ้ต" ได้ว่าที่มาหาเขาอาศัยอำนาจตามข้อกฎหมายใด แม้ว่าในระดับปฏิบัติตำรวจที่มาติดตาม "โอ้ต" จะปฏิบัติกับเขาโดยไม่มีท่าทีคุกคาม แต่ "โอ้ต" ก็เห็นว่าหากสังคมไทยอ้างตัวว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย การที่ตำรวจมาติดตามประชาชนคนหนึ่งทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
 

 

ชนิดบทความ: