1956 1313 1207 1938 1650 1563 1790 1051 1054 1350 1496 1243 1184 1248 1001 1148 1320 1211 1383 1558 1784 1568 1390 1463 1361 1570 1604 1649 1866 1721 1078 1825 1330 1927 1184 1747 1605 1543 1934 1440 1820 1151 1824 1211 1697 1556 1801 1174 1416 1844 1586 1569 1905 1185 1117 1132 1636 1359 1083 1147 1503 1557 1083 1434 1832 1100 1868 1608 1781 1610 1419 1834 1025 1514 1764 1891 1364 1570 1178 1948 1281 1427 1717 1922 1829 1395 1272 1303 1421 1407 1477 1452 1745 1288 1025 1933 1284 1456 1394 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ: กรุงเทพฯสีฟ้า นำร่องท่องเที่ยว จัดชุมนุมได้ ถ้าไม่ใช่แออัด หรือก่อความไม่สงบ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ: กรุงเทพฯสีฟ้า นำร่องท่องเที่ยว จัดชุมนุมได้ ถ้าไม่ใช่แออัด หรือก่อความไม่สงบ

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 มีการจัดชุมนุมสาธารณะอย่างน้อย 10 ครั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แทบทุกครั้งตำรวจและฝ่ายความมั่นคงยังพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อห้ามไม่ให้มีการชุมนุม โดยอ้างว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และนำไปสู่ปฏิบัติการปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
 
อย่างไรก็ดี ตามคำสั่ง ศบค. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 กำหนดให้ กรุงเทพมหานคร เป็น "พื้นที่นำร่องทางการท่องเที่ยว" หรือ พื้นที่สีฟ้า ดังนั้น มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ฉบับที่ 37 ถึง 42 จึงไม่ได้ห้ามการจัดชุมนุมอย่างเด็ดขาด แต่มีข้อห้ามไม่ให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกันใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และไม่ได้ใช้จำนวนผู้เข้าร่วมเป็นเกณฑ์ว่าจะจัดได้หรือไม่ได้
 
2265
 
กรุงเทพฯ จัดชุมนุมได้ ถ้าไม่ใช่ที่แออัด หรือ เพื่อก่อความไม่สงบ
 
ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ที่ 18/2564  โดยกำหนดให้ กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 
 
ต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามประกาศใช้ข้อกำหนด ฉบับที่ 37 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรวมกลุ่มไว้ในข้อ 2 ดังนี้
 
ข้อ ๒ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์  ดังนี้  
 
(๑) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนร่วมกันมากกว่าห้าสิบคน
(๒) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนร่วมกันมากกว่าสองร้อยคน
(๓) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนร่วมกันมากกว่าห้าร้อยคน
(๔) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนร่วมกันมากกว่าหนึ่งพันคน
(๕) พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
 
ทั้งนี้ ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) พิจารณามาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อการเข้าระงับยับยั้ง การตรวจสอบ การยุติการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประชาชนอื่นทั่วไป โดยให้เร่งรัดการปฏิบัติตามีหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็ว
 
นอกจากนี้ ในข้อที่ 8 ของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37 ยังกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณการสำหรับพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวไว้ด้วย ดังนี้
 
ข้อ ๘ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สำหรับพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อการเปิดสถานที่กิจการและกิจกรรมสำหรับพื้นที่สถานการณ์ที่จำแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง และตามมาตรการและข้อปฏิบัติต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๖) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
 
ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๔ แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน   พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๖) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม   พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่กำหนดจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่ม โดยกำหนดให้การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวสามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทำงราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
 
กล่าวคือ ตามข้อ 8 ของข้อกำหนด ฉบับที่ 37 ได้ยกเลิกเรื่องการห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คน ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว หรือ หมายความว่า ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมได้โดยไม่จำกัดด้านจำนวนคนอีกต่อไป
 
ต่อมา แม้มีการประกาศใช้ข้อกำหนด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับใหม่ อีกอย่างน้อย 5 ฉบับ ก็ยังคงให้ขยายหลักเกณฑ์ของพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวของข้อกำหนดฉบับที่ 37 ต่อไป อย่างล่าสุด คือ ข้อกำหนด ฉบับที่ 42 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 ได้ระบุในข้อ 2 ว่า ให้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคตามข้อกำหนด ฉบับที่ 37 ให้ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป
 
"ศาลยกฟ้อง-อัยการไม่ฟ้อง" คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าไม่ใช่ที่แออัด หรือ ก่อความไม่สงบ
 
หลังจากมีการดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือแกนนำการชุมนุมมาหลายคดี พบว่า บางคดีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และศาลก็มีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจาก อัยการและศาลเห็นว่า การกระทำหรือการชุมนุมของผู้ที่ถูกดำเนินคดีไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
ยกตัวอย่างเช่น คดี #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยระบุว่า ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้มีการพูดกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมในทำนองและลักษณะที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปกระทำละเมิดต่อกฎหมาย หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด หรือปลุกระดมประชาชนทั่วไป หรือมีถ้อยคำจาบจ้วงหรือหมิ่นสถาบันแต่อย่างใด 
 
ประกอบกับผู้กล่าวหา ที่ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมตลอดระยะเวลาที่ชุมนุม ก็ไม่ยืนยันว่าในวันชุมนุม ผู้ต้องหาทั้งสามได้กระทำการใดหรือกล่าวถ้อยคำใดมีลักษณะเป็นการยุยงผู้ร่วมชุมนุม ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด จึงเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสามได้การกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
 
นอกจากนี้ อัยการยังเห็นว่า ในส่วนความผิดฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด อันมีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค พนักงานอัยการเห็นว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ตำแหน่งรักษาการณ์นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ได้ตรวจดูภาพถ่ายการชุมนุมในวันดังกล่าว ยืนยันว่าบริเวณลานกิจกรรมท่าน้ำนนทบุรี เป็นสถานที่โล่ง โปร่ง ไม่มีสิ่งบดบัง อากาศถ่ายเทได้ตลอดเวลา มิได้เป็นสถานที่แออัด อันจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค
 
หรืออย่างคดี #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะศาลเห็นว่าการชุมนุม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งนั้น เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจึงเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการคุ้มครอง
 
ส่วนในประเด็นของการชุมนุมที่มีการมั่วสุมเกินกว่า 5 คน ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63  ศาลแขวงดุสิตได้วินิจฉัยว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “มั่วสุม” หมายถึง การชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี “ส่วนการที่มีบุคคลมารวมตัวกันกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น เป็นการเรียกร้องโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ “การมั่วสุม” ประกอบกับอัยการโจทก์นำสืบไม่ได้ว่ามี “การมั่วสุม” อย่างไร
 
ชวนดูคำสั่งไม่ฟ้องคดี หรือยกฟ้องคดีในข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/1011
 
กล่าวโดยสรุป จากทั้งสองคดีข้างต้น จะเห็นว่า การชุมนุม หรือ การรวมกลุ่มกัน ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ยังเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นความผิดตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกทั้ง การชุมนุมในสถานที่โล่ง โปร่ง ไม่มีสิ่งบดบัง อากาศถ่ายเทได้ตลอดเวลา ย่อมไม่มีความผิดฐานรวมกลุ่มหรือชุมนุมในสถานที่แออัด ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่อย่างใด
 
ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้กำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุม
 
ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 42 ที่ยังคงใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37 กำหนดให้ ในพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 
 
จากข้อความข้างต้น จะเห็นว่า ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ห้ามการรวมกลุ่มหรือการชุมนุมอย่างเด็ดขาด แต่ห้ามมีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือ มั่วสุม ในสถานที่แออัด หรือ เป็นการกระทำในลักษณะยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่ทว่า ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกือบทุกรูปแบบ โดยรูปแบบหนึ่งของการขัดขวาง คือ การกำหนดพื้นที่ที่ห้ามชุมนุม แม้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการแสดงออกก็ตาม
 
ยกตัวอย่างเช่น #ม็อบ26มกรา65 ที่ผู้ต้องหาคดีกิจกรรมราษฎร์ธรรมนูญและประชาชนร่วมกันเดินขบวนจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเพื่อไปรายงานตัวตามหมายเรียกของสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับตั้งรั้วเหล็กกีดขวางด้านหน้าสถานีตำรวจและทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ด้านข้างของสถานีตำรวจได้ จนสุดท้ายประชาชนต้องรวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจซึ่งเป็นพื้นถนนและทำให้การจราจรบริเวณดังกล่าวติดขัด
 
หรืออย่าง #ม็อบ1กุมภา65 : #บุกตามหาประยุทธ์ ภาคี #saveบางกลอย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move ประกาศทำกิจกรรม #บุกตามหาประยุทธ์ เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในหนังสือที่เรียกร้องให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระแก้ไขปัญหาพื้นที่บางกลอย แต่ระหว่างทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการวางตู้คอนเทนเนอร์บนสะพานชมัยมรุเชฐเพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยังบริเวณหน้าทำเทียบรัฐบาลและมีการตั้งรั้วลวดหนามก่อนถึงตู้คอนเทนเนอร์อีกด้วย
 
จากทั้งสองกรณีข้างต้น จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงพยายามกำหนดพื้นที่ที่ห้ามชุมนุม อาทิ สถานที่ราชการ หรือ ทำเนียบรัฐบาล ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เป้าหมายในการชุมนุม ทั้งๆ ที่  ไม่มีข้อใดในข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37 ถึง 42 ที่ให้ตำรวจกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุม อีกทั้ง ตามความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 37 ข้อที่ 22 ยังระบุด้วยว่า ผู้ร่วมการชุมนุมต้องได้รับอนุญาตที่จะทำการชุมนุมในสถานที่ที่อยู่ในระยะของการ "มองเห็นและได้ยิน" ของกลุ่มเป้าหมายของการชุมนุม