1274 1622 1421 1200 1132 1270 1889 1666 1800 1244 1734 1363 1488 1413 1024 1364 1076 1807 1158 1395 1488 1258 1183 1038 1258 1721 1721 1253 1241 1566 1860 1564 1916 1433 1378 1364 1494 1242 1547 1660 1563 1798 1466 1492 1716 1973 1988 1512 1909 1978 1774 1152 1965 1945 1676 1316 1986 1522 1163 1158 1071 1456 1667 1963 1913 1862 1282 1954 1410 1757 1503 1324 1186 1940 1861 1229 1228 1992 1653 1471 1895 1252 1348 1422 1104 1843 1251 1095 1013 1787 1133 1807 1702 1258 1752 1921 1062 1823 1378 ต้องชัดเจนและคุ้มครองสิทธิ ดูบทเรียนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนากฎหมาย 'ละเมิดอำนาจศาล' | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ต้องชัดเจนและคุ้มครองสิทธิ ดูบทเรียนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนากฎหมาย 'ละเมิดอำนาจศาล'

ในช่วงเวลาประมาณสิบปีที่ผ่านมา สถาบันศาลเข้ามามีบทบทในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะในการเมืองไทยมากขึ้น เพราะท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง การใช้สิทธิทางศาลถือเป็นวิธีการหนึ่งที่คู่ขัดแย้งทางการเมืองเลือกเดินเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม เช่น การฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในความผิดฐานกบฎต่อศาลอาญา โดยคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การฟ้องศาลแพ่งให้เพิกถอนการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร รวมทั้งยังมีกรณีที่บุคคลจำนวนมากแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติแล้วถูกดำเนินคดีในศาล 
 
ฝ่ายรัฐเองก็อ้างอิงคำสั่งของศาลหลายๆ ครั้งเพื่อบังคับใช้กฎหมาย ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจรัฐก็หวังให้ศาลเป็นเครื่องมือช่วยถ่วงดุลอำนาจ สถาบันศาลจึงถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม คำตัดสินและคำสั่งของศาลย่อมมีบางฝ่ายได้ประโยชน์ขณะที่บางฝ่ายเสียประโยชน์ การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและการทำงานของศาลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความผิดฐาน "ละเมิดอำนาจศาล" จึงเป็นประเด็นตามมา
 
ที่ผ่านมามีอย่างน้อยสองกรณีที่ผู้ไม่พอใจคำสั่งศาลประท้วงหรือแสดงออก จนถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน "ละเมิดอำนาจศาล" ได้แก่ กรณีของสุดสงวนหรือ "อาจารย์ตุ้ม" อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดชุมนุมวางพวงหรีดที่ศาลแพ่ง หลังศาลมีคำสั่งห้ามรัฐบาลยิ่งลักษณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มกปปส. จนถูกพิพากษาจำคุกหนึ่งเดือนโดยไม่รอลงอาญา และกรณีนักกิจกรรมเจ็ดคน ที่ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นเรียกไปไต่สวนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจากการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ประท้วงกรณีที่ศาลไม่ให้ประกัน 'ไผ่ดาวดิน' 
 
การใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนของขอบเขตว่า การกระทำใดบ้างจะเป็นความผิด จนสร้างบรรยากาศที่เป็นภัยต่อเสรีภาพการแสดงออก และการถกเถียงแลกเปลี่ยนในสังคม ตัวกฎหมายเองมีปัญหาที่ให้ผู้พิพากษาที่ถูกวิจารณ์หรือถูกละเมิดนั้น มีอำนาจตัดสินคนที่ถูกกล่าวหาเองโดยตรง และให้อำนาจผู้พิพากษาเต็มที่สั่งลงโทษได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนโดยตำรวจ อัยการ เหมือนความผิดอื่น
 
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสามผู้ทำงานวิจัยเรื่อง "หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล" จะช่วยคลี่คลายปัญหาของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในไทย และมองแบบอย่างที่ดีในต่างประเทศเพื่อหาทางพัฒนาบ้านเราต่อไป 
 
663

ผศ.ดร.เอื้อารีย์ อึ้งจะนิล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

กฎหมายละเมิดศาลไทยความคลุมเครือและไม่คุ้มครองสิทธิ มรดกจากบริบทปี 2477

 
ผศ.เอื้ออารีย์ ระบุว่า ใจกลางปัญหากฎหมายละเมิดอำนาจศาลของไทย คือ การขาดความชัดเจนและขาดมิติการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดี อาจเป็นเพราะบริบทของสังคมในปี 2477 อันเป็นปีที่เริ่มใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาล ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นมองกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในมิติของการคุ้มครองศาลว่า ศาลควรมีอำนาจพิเศษเพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทำได้กระชับรวดเร็ว 
 
กฎหมายละเมิดอำนาจศาลแม้จะมีโทษทางอาญาคือโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนรวมอยู่ด้วย ถูกนำไปใส่ไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการนำคดีเข้าสู่กระบวนการตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความล่าช้าในการระงับเหตุและอำนวยความยุติธรรม 
 
ผศ.เอื้ออารีย์ เล่าว่า ในปี 2528 คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นในเรื่องเสร็จที่ 444/2528 ว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ใช่ความผิดทางอาญา ผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงไม่ได้รับการคุ้มครองหรือ ไม่ได้รับสิทธิตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เช่น สิทธิได้รับแจ้งข้อกล่าวหา สิทธิที่จะไม่ให้การใดๆ สิทธิที่จะมีทนายความร่วมในการสอบสวน ฯลฯ แต่ผู้ต้องหายังอาจต้องรับโทษจำคุกหรือปรับซึ่งเป็นโทษทางอาญา 
 
นอกจากนี้การที่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ใช่ความผิดทางอาญา ยังมีผลให้ผู้ถูกพิจารณาคดีต้องถูกดำเนินคดี และต้องรับโทษซ้ำซ้อนหลายครั้งจากการกระทำครั้งเดียวด้วย 
 
ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีบุคคลปาระเบิดใส่ศาลอาญาในปี 2558 ผู้ถูกกล่าวหาสองคนถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาห้าเดือนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และการกระทำเดียวกันยังเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองวัตถุระเบิดและข้อหาอื่นๆ ตามมาอีก เท่ากับว่าทั้งสองจะถูกลงโทษสองครั้งจากการกระทำเพียงครั้งเดียว (กรณีตัวอย่างยกโดยiLaw)
 

ตัวอย่างดีๆยังมีในโลก ข้อค้นพบจากการศึกษากฎหมายละเมิดอำนาจศาลจากต่างประเทศ

 
เพื่อหาแนวทางปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลให้ดีขึ้น ผ.ศ.เอื้ออารีย์และคณะผู้วิจัยได้สำรวจกฎหมายละเมิดอำนาจศาลจากประเทศตัวอย่างห้าประเทศ ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา อินเดีย ผรั่งเศสและเยอรมัน พบว่าจุดร่วมของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในห้าประเทศตัวอย่าง คือ มีความพยายามที่จะประกันสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล
 
เช่น ในกรณีของอินเดีย ผู้ที่ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลมีสิทธิร้องขอให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษา จากตัวผู้พิพากษาในคดีที่ถูกละเมิดให้เป็นผู้พิพากษาชุดอื่น ในกรณีของอังกฤษแม้จะไม่ได้ระบุเรื่องสิทธิในการเปลี่ยนผู้พิพากษา แต่อย่างน้อยในห้องพิจารณาก็มีลูกขุนที่ช่วยกลั่นกลองว่าผู้พิพากษาที่เป็นคู่พิพาทเองสั่งลงโทษหนักไปหรือไม่ ในกรณีของฝรั่งเศสมีกำหนดไว้ในกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจนว่า ผู้พิพากษามีอำนาจตักเตือนหรือไล่บุคคลออกจากห้องพิจารณาคดีเท่านั้น หากประสงค์จะลงโทษหนักกว่านี้ต้องส่งเรื่องให้อัยการไปเริ่มกระบวนการคดีอาญาเป็นคดีใหม่ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้ถูกดำเนินคดีอาญา 
 
ในส่วนของการประกันเสรีภาพในการแสดงออก กรณีของสหรัฐอเมริกา หากคดีถึงที่สุดแล้วการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาหรือประเด็นในกระบวนการต่างๆ สามารถทำได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ก็มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทม์ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากการวิจารณ์คำตัดสินของผู้พิพากษาว่า ลำพังการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อหากมีเพียงแนวโน้มที่จะเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมยังไม่ถือว่ามีเหตุอันสมควรที่จะลงโทษ เพราะต้องคำนึงถึงเสรีภาพของสื่อ การเผยแพร่ข้อความที่จะเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาลต้องแสดงให้เห็นถึงภยันตรายในลักษณะที่ชัดแจ้งและใกล้จะถึงต่อการบริหารความยุติธรรมของศาล หากเป็นเพียงคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่มีภยันตราย การที่ผู้พิพากษาไปถือว่าคำพูดดังกล่าวว่ามีอิทธิพลกลับจะแสดงว่าผู้พิพากษาเป็นผู้ขาดความหนักแน่นเสียเอง ขณะที่อังกฤษก็มีการยกเลิกกฎหมายที่กำหนดโทษการให้ข้อมูลหรือการวิพากษ์วิจารณ์ศาลไปในปี 2013
 
ในส่วนของปัญหาเรื่องการลงโทษซ้ำ ในกรณีของเยอรมัน หากมีการลงโทษจำคุกในความผิดละเมิดอำนาจศาลไปแล้ว และยังถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นๆ อีก จะต้องนำวันที่ถูกจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไปหักออกจากวันที่จะต้องรับโทษจำคุกในคดีอาญาอื่น ในส่วนของอังกฤษและอินเดียหากการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดในข้อหาอื่นด้วย จะตัดเหลือการลงโทษในข้อหาอื่นเท่านั้น     
 
 

ทางออกของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลไทย ขั้นแรกต้องชัดเจนก่อน

 
ผศ.เอื้ออารีย์ เสนอสองแนวทางที่เห็นจากการศึกษาว่า ต้องมีการทำกฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้ชัดเจน โมเดลแรกอาจใช้แนวทางของฝรั่งเศส คือ ให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้จัดทำกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการกำหนดว่าการกระทำอะไรบ้างที่เป็นความผิด โดยข้อจำกัดของการแก้ไขในกฎหมายลักษณะนี้คือน่าจะต้องใช้เวลานาน วิธีที่สอง คือ การให้ศาลประกาศข้อกำหนดให้ชัดเจนผ่านทางเว็บไซต์ แผ่นป้ายในบริเวณศาล หรือทำเอกสารแจกผู้มาติดต่อศาลว่าการกระทำลักษณะใดบ้างที่เข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งวิธีนี้น่าจะทำได้อย่างรวดเร็ว 
 
ไอลอว์ ตั้งข้อสังเกตถึงวิธีนี้ไปว่า การให้ศาลประกาศข้อกำหนดอาจตอบโจทก์เฉพาะกรณีความชัดเจนของกฎหมาย แต่อาจมีปัญหาในแง่ของเสรีภาพการแสดงออกเพราะการที่ศาลทั้งเป็นผู้กำหนดข้อห้ามและบทลงโทษและเป็นผู้บังคับโทษเอง อาจให้อำนาจมีศาลกำหนดข้อห้ามที่เป็นการจำกัดการแสดงออกโดยไม่มีการตรวจสอบหรือโต้แย้ง ต่อประเด็นปัญหานี้ ผศ.เอื้ออารีย์มองว่า ขั้นแรกต้องมีการประกาศทำกฎให้ชัดเจนก่อนหลังจากนั้นการถกเถียงเรื่องความเหมาะสมหรือการแก้ไขกฎจะตามมา แต่หากกระทั่งการประกาศกฎให้ชัดเจนยังไม่มี การแก้ปัญหาอื่นๆก็คงยากจะทำได้
 
ผศ.เอื้ออารีย์ยังยกตัวอย่างด้วยว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของศาลปกครอง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจที่จะนำมาเป็นแบบอย่าง เพราะมีการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่ชัดเจน คือ ให้ศาลองค์คณะที่มีข้อพิพาทมีอำนาจตักเตือนหรือไล่ออกจากบริเวณศาลเท่านั้น หากจะมีการลงโทษจำคุกหรือปรับต้องให้องค์คณะอื่นเป็นผู้พิจารณาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังมีการประกันเสรีภาพการแสดงออกในระดับหนึ่งนั่นคือการวิจารณ์การพิจารณาหรือพิพากษาในเชิงวิชาการไม่ถือเป็นความผิด และกำหนดโทษจำคุกเพียงไม่เกินหนึ่งเดือนส่วนโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  
 
แต่เนื่องจากงานวิจัย "หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล" ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ข้อเสนอของ ผศ.เอื้ออารีย์ในวันนี้ จึงเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย เมื่องานวิจัยฉบับนี้เสร็จสิ้นเสร็จแล้วก็จะมีข้้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมอีกชุดหนึ่ง ที่จะนำเสนอต่อไป
ชนิดบทความ: