1710 1907 1007 1977 1993 1305 1366 1349 1398 1762 1124 1058 1341 1141 1469 1226 1404 1950 1562 1102 1898 1716 1288 1966 1582 1042 1126 1053 1549 1993 1172 1197 1351 1988 1072 1467 1498 1234 1249 1472 1927 1538 1616 1522 1787 1183 1734 1534 1527 1998 1613 1570 1649 1897 1002 1729 1884 1984 1859 1665 1020 1603 1229 1839 1660 1356 1302 1382 1730 1848 1647 1662 1845 1030 1151 1348 1544 1926 1088 1530 1601 1020 1813 1853 1681 1274 1277 1859 1582 1825 1584 1905 1123 1902 1594 1960 1318 1097 1381 คดี112 ภายใต้ "สี่ปี คสช." สถานการณ์ตั้งแต่ตึงเครียดสูงสุด และผ่อนคลายอย่างไม่น่าเชื่อ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คดี112 ภายใต้ "สี่ปี คสช." สถานการณ์ตั้งแต่ตึงเครียดสูงสุด และผ่อนคลายอย่างไม่น่าเชื่อ

ตลอดระยะเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ในอำนาจ การบังคับใช้และดำเนินคดีบุคคลด้วยข้อหา "หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ" ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นหนึ่งในประเด็นสาธารณชนสนใจ แม้ว่า ปรากฎการณ์เช่นนี้ที่จริงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปี 2550 แล้ว แต่หลังการยึดอำนาจของ คสช. ในปี 2557 กฎหมายนี้ถูกใช้งานเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะเดียวกันทหารก็เข้ามามีบทบาทในการดำเนินคดี ทั้งการเรียก จับกุม สอบสวน ตรวจค้น กล่าวหา ไปจนถึงการขึ้นไปอยู่บนยอดสุดของกระบวนการยุติธรรมด้วยการใช้ศาลทหาร ซึ่งให้ผลเป็นการลงโทษจำคุกที่หนัก การพิจารณาคดีทีช้า และการไม่ให้สิทธิประกันตัว
 
หลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า ในปี 2559 สถานการณ์ตึงเครียดถึงขีดสุด เมื่อมีคนแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกในลักษณะที่ประชาชนทั่วไปรู้สึกไม่สบายใจ มาตรา 112 จึงยิ่งถูกตีความขยายกว้างออกเพื่อดำเนินคดีกับการแสดงความคิดเห็นทุกรูปแบบ และยังเกิดปรากฏการณ์ของกระบวนการนอกกฎหมายที่ประชาชนใช้กำลังทำร้ายร่างกาย หรือรวมตัวกันไปกดดันที่บ้านพักหรือครอบครัวของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย 
 
อย่างไรก็ตามสถานการณ์คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ตึงเครียดขึ้นมาตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจก็เริ่มคลายตัวลงนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เข้าสู่ช่วงปี 2561 มีปรากฏการณ์การสั่งไม่ฟ้องคดี และการพิพากษายกฟ้องจำเลยที่รับสารภาพ ขณะที่ในเชิงภาพรวม เมื่อเข้าปี 2561 การปรับเปลี่ยนที่สำคัญ คือ มีแนวปฏิบัติให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสำนวนและสั่งคดีเพื่อให้เกิดความรัดกุมยิ่งขึ้น  เท่าที่ไอลอว์มีข้อมูลนับจากเดือนตุลาคม 2560 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ก็ยังไม่มีข้อมูลผู้ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นอีก
 

"The Green Justice Industry" คดีมาตรา 112 กับระบบยุติธรรมทหารครบวงจร

สถานการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมช่วงปี 2552 และ 2553 ส่งผลให้มีคนออมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างกว้างขวาง การแสดงออกทางการเมืองบางครั้งอาจมีการพูดหรือแสดงออกในลักษณะที่ทำให้คนเข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ ทั้งบนโลกอินเทอร์เน็ตและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เช่น ตามเวทีชุมนุมทางการเมือง ทำให้มีประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ที่พบเห็นการแสดงออกเหล่านั้นไปร้องทุกข์กล่าวโทษ จนมีคดีความส่วนหนึ่งคั่งค้างอยู่กับพนักงานสอบสวนหรืออัยการ  
 
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หนึ่งในความพยายามแรกๆ ที่ คสช. ทำ ได้แก่ การเร่งรัดให้คดีที่คั่งค้างเหล่านั้นเข้าสู่ชั้นศาล นอกจากนี้การนำตัวผู้ต้องหาคดี 112มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการพิจารณณาคดีตามขั้นตอนปกติก็ดูจะล่าช้าไม่ทันใจ คสช. จึงใช้อำนาจพิเศษตามกฎอัยการศึก ให้ทหารเข้ามามีบทบาทในดำเนินคดีเหล่านี้ 
 
การใช้อำนาจพิเศษของทหาร ในช่วงต้นเห็นได้จาก การออกคำสั่ง คสช. เรียกบุคคลที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมารายงานตัว และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนแบบลับๆ ในค่ายทหาร มีผู้ถูกเรียกรายงานตัวกว่า 400 คน โดย คำสั่ง คสช. ที่เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวอย่างน้อยสามฉบับ เป็นความพยายามในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมาตรา 112  ได้แก่ ฉบับที่ 5/2557 ซึ่งมีชื่อของนักวิชาการคณะนิติราษฎรบางส่วนที่เคยเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขมาตรา 112  นักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับคนเสื้อแดงและอดีตนักโทษคดี 112 ที่พ้นโทษมาไม่นานรวมอยู่ด้วย ต่อมาก็มีการออกคำสั่งฉบับที่ 6/2557 เรียกประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวที่มักแสดงความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 บนโลกออกไลน์เข้ารายงานตัว หลังจากนั้น ก็มีการออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรียกบุคคลรวม 28 คนเข้ารายงานตัวซึ่งในจำนวนนี้มีอย่างน้อยสามคนที่ถูกทหารนำตัวมาร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหามาตรา 112 ต่อทันที  

833

ศาลทหารขั้นตอนสุดท้ายของระบบยุติธรรมทหารเหนือพลเรือนในยุคคสช.
 
การเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังไว้เจ็ดวัน เดิมที คสช. อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ทำให้อำนาจเช่นนี้ยังอยู่กับทหาร ตลอดเวลาที่ คสช. อยู่ในอำนาจ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกและเปลี่ยนรูปแบบการใช้ไปทีละนิดเพื่อให้ภาพลักษณ์ของทหารดูไม่รุนแรง
 
นอกจากการออกคำสั่งเรียกคนมารายงานตัวก่อนเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลแล้ว ทหารยังเข้ามาทำงานร่วมกับตำรวจใช้อำนาจเป็นชุดจับกุมผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ส่วนหนึ่งด้วย เช่น กรณีของ "ธเนศ" กรณีของธานัทหรือ "ทอมดัีนดี" กรณีของสิรภพ และกรณีของชญาภา และอีกหลายกรณีที่หากใช้อำนาจตามปกติของตำรวจก็สามารถทำงานได้แต่ทหารกลับเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่กรณีของบัณฑิตแม้การจับกุมตัวจะทำโดยตำรวจตาม แต่ก็มีการใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธเพื่อไปตรวจค้นที่ห้องเช่าของเขา  
 
834
 
ขณะเดียวกันผู้ต้องหาคดีบางคน แม้จะถูกจับกุมโดยตำรวจตามกระบวนการปกติ แต่เมื่อจับได้แล้วก็ถูกส่งไปเข้าค่ายทหารเพื่อสอบถามและ "ปรับทัศนคติ" เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกทหารจับกุมตัว เช่น กรณีของฐนกร หรือกรณีของบุรินทร์ที่มีทหารมาเอาตัวไปจากสถานีตำรวจระหว่างที่เขาอยู่ที่นั่น ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า การกระทำตามข้อกล่าวหาของผู้ที่ถูกจับกุมในยุค คสช. ส่วนหนึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน คสช. ยึดอำนาจแล้ว เช่น กรณีของธานัทหรือทอมดันดีที่เคยปราศรัยไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2553 กรณีของเครือข่าย "บรรพต" ที่รายการวิเคราะห์การเมืองถูกอัพโหลดเข้าสู่อินเทอร์เน็ตตั้งแต่ช่วงปี 2553 เรื่อยมา เป็นต้น
 
ทหารไม่เพียงเข้ามามีส่วนร่วมกับคดีมาตรา 112 เพื่อทำหน้าที่ของตำรวจเท่านั้น แต่ทหารยังคงทำหน้าที่แทนศาลด้วย เพราะมีการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้ว่า ผู้ต้องหาจะเป็นพลเรือนที่ไม่ใช่ทหาร ก็ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีด้วย โดยประกาศฉบับนี้มีผลให้ผู้ที่ทำความผิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 - วันที่ 12 กันยายน 2559 (วันที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 55/2559 มายุติผลในส่วนของคดีที่เกิดขึ้นใหม่) ถูกพิจารณาพิพากษาโดยศาลทหาร เท่าที่ไอลอว์มีข้อมูล ในบรรดาผู้ต้องหาอย่างน้อย 94 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดี 112 ในยุค คสช. มี 57 คนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร มีหกคนที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง มี 20 คนที่คดียังอยู่ในชั้นพิจารณา มี 29 คนที่ศาลมีคนพิพากษาแล้ว โดยในจำนวนนี้มีเพียงสองคนที่ศาลทหารรอลงอาญาโทษจำคุกให้ ส่วนอีกสองคนไม่มีข้อมูลว่าสถานะคดีในปัจจุบันเป็นอย่างไร ยังไม่มีข้อมูลว่า คดีไหนศาลทหารสั่งยกฟ้องเลย 
  
คดี 112 ที่พิจารณาในศาลทหาร หากจำเลยให้การรับสารภาพศาลมักจะพิพากษาคดีในวันเดียวกันทำให้คดียุติอย่างรวดเร็ว แต่หากจำเลยต่อสู้คดี กระบวนการพิจารณาก็มักจะใช้เวลานาน เช่น คดีของสิรภพซึ่งศาลนัดสอบคำให้การตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 แต่จนถึงขณะนี้เพิ่งสืบพยานโจทก์ได้เพียงสองปาก หรือคดีของธารา ที่ใช้เวลาไปกว่าสองปี มีการเลื่อนนัดสืบพยานสามครั้งจำเลยจึงตัดสินใจเลิกสู้คดี เพราะต้องการให้คดียุติโดยเร็ว 
 
การกำหนดโทษจำเลยคดีมาตรา 112 ของศาลทหารเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะศาลทหารมักวางโทษต่อการกระทำหนึ่งครั้งของจำเลยคดีนี้สูงกว่าอัตราโทษโดยเฉลี่ยที่ศาลพลเรือนกำหนดให้ต่อการกระทำหนึ่งครั้ง จนทำให้มีคดีของวิชัยที่ถูกพิพากษาจำคุกสูงสุดเป็นเวลาเจ็ดสิบปีจากการโพสต์ข้อความรวมสิบข้อความ (ข้อความละเจ็ดปี) หรือคดีของพงษ์ศักดิ์ ศาลทหารพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 60 ปี จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวมหกข้อความ (ข้อความละสิบปี)   
 
ในช่วงเวลาที่อำนาจทหารเป็นใหญ่นั้น เท่าที่ทรา มีการตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 รายใหม่ ในปี 2557 อย่างน้อย 24 คน ในปี 2558 อย่างน้อย 37 คน 
 
 

ผู้ลี้ภัยคดี 112 ยังไม่มีการส่งกลับแต่มีพัฒนาการที่น่าจับตาในกัมพูชา

 
การที่ คสช. ออกคำสั่งเรียกคนที่เคยเคลื่อนไหวประเด็น มาตรา 112 รวมทั้งคนที่เคยถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ให้เข้ารายงานตัวจำนวนมาก สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในช่วงปี 2557 หลายคนไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง จึงเกิดปรากฎการณ์ผู้ลี้ภัยทางความคิดขึ้น ผู้ลี้ภัยแต่ละคนอาจมีเหตุผลในการเดินทางออกนอกประเทศที่แตกต่างกันไป บ้างออกไปเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัยในชีวิตและอิสรภาพ บ้างออกไปเพราะไม่ยอมรับคำสั่งเรียกของ คสช.
 
ไม่มีข้อมูลหรือสถิติที่ยืนยันได้แน่นอนว่า การยึดอำนาจของ คสช. ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปแล้วกี่คนและเขาเหล่านั้นเป็นใคร ไปอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ก็พอจะมีบุคคลสาธารณะส่วนหนึ่งที่สังคมไทยรับรู้ชื่อเสียงเรียงนามของพวกเขาอยู่บ้าง เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตนักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีชื่ออยู่ในคำสั่งฉบับที่ 5/2557 ซึ่งตัดสินใจไม่เข้ารายงานตัว ลบบัญชีเฟซบุ๊ก ก่อนจะกลับมา โพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 หรือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้สอนหนังสืออยู่ที่ต่างประเทศ แต่ก็กลับเข้ามาร่วมจัดรายการโทรทัศน์ในประเทศอยู่เป็นระยะ รวมถึงจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรก ซึ่งลี้ภัยไปแล้วได้รับสัญชาติฝรั่งเศสในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2560 

835
 
นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหลายคน เช่น เอกภพ หรือ "ตั้ง อาชีวะ", ศรัณย์ หรือ "อั้ม เนโกะ", ชนกนันท์ หรือ "การ์ตูน" หรือนักเขียนอย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร หรือนักข่าวอย่าง จอม เพ็ชรประดับ ก็เป็นกลุ่มคนที่เปิดตัวต่อสาธารณะว่า ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยด้วยเหตุผลทางการเมือง
 
ฝั่ง คสช. ก็เคลื่อนไหวประเด็นของผู้ลี้ภัยอยู่เป็นระยะ เช่น ในเดือนตุลาคม 2559 มีการเปิดเผยโดยสื่อท้องถิ่นของกัมพูชาว่า ทางการไทยประสานขอให้ทางการกัมพูชาส่งตัวผู้กระทำผิดคดี 112 กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย คล้อยหลังจากนั้นเพียงหนึ่งเดือนพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นก็ให้สัมภาษณ์ว่า ทางการไทยยังคงไม่ละความพยายามที่จะติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ก็ต้องทำไปตามกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่ในช่วงต้นปี 2560 ฝ่ายกรรมาธิการการต่างประเทศของ สนช. ก็พยายามเคลื่อนไหวประสานกับทางกรรมาธิการการต่างประเทศของสปป.ลาว เรื่องการส่งตัวผู้กระทำความผิดในคดี 112 กลับมารับโทษในไทยเช่นกัน 
 
840
 
โปสการ์ดชุด ไกลบ้าน งานศิลปะที่พยายามสื่อสารเรื่องราวของผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในต่างแดน ผ่านภาพวาดภูเขาของประเทศต่างๆที่มีผู้ลี้ภัยชาวไทยอยู่  
 
ล่าสุดในเดือนเมษายน 2561 ก็มีกระแสข่าวว่า รมว.กระทรวงป้องกันประเทศของลาวเปิดเผยว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับทางการไทยในการติดตามผู้ลี้ภัยที่อาจมีพฤติการณ์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ หรือก่อให้เกิดความเสียหายกับไทย แม้ว่า จนถึงปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานว่ามีการส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับไทยในฐานะ "ผู้ร้ายข้ามแดน" อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีข่าวว่า อิทธิพล หรือ "ดีเจซุนโฮ" หายตัวไปขณะอยู่ใน สปป.ลาว และวุฒิพงษ์ หรือ "โกตี๋" ก็มีบุคคลคล้ายทหารเข้าควบคุมตัว และหายตัวไปจากที่พักในประเทศกัมพูชา
 
หลายปีที่ผ่านมา การไม่ส่งตัวผู้ต้องหาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านไม่มีกฎหมายเช่นเดียวกับ "มาตรา112" ของไทย ในทางกฎหมายระหว่างประเทศจึงทำไม่ได้ แต่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์  2561 สภาผู้แทนกัมพูชาผ่านร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา กำหนดโทษจำคุกและปรับต่อบุคคลที่แสดงออกในลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กัมพูชา  การประกาศใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในกัมพูชาอาจส่งผลให้การขอตัวผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทยจากกัมพูชาทำได้ง่ายขึ้นในอนาคตเพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมายกัมพูชาแล้ว ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งให้ความเห็นกับทางประชาไทว่า แม้เป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลกัมพูชามากกว่าพวกเขา แต่ก็น่ากังวลว่าในอนาคตเขาก็อาจถูกส่งตัวกลับได้เช่นกัน  
 

ปรากฎการณ์ความโกรธแค้น ช่วงเหตุการณ์สวรรคต และคดี 'ไผ่ ดาวดิน' พายุใหญ่ก่อนสถานการณ์คลายตัว

 
คืนวันที่ 13 ตุลาคม 2559 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยยุติการออกอากาศรายการปกติและฉายประกาศสำนักพระราชวังด้วยภาพกราฟฟิกสีขาวดำ จากนั้นก็มีการประกาศการเสด็จสววรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าอย่างเป็นทางการ นับจากนั้นบรรยากาศในประเทศก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้า และมีการประกาศให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์เป็นเวลาหนึ่งปี ส่วนประชาชนทั่วไปให้ไว้ทุกข์ตามความเหมาะสม 
 
ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความโศกเศร้าในช่วงประมาณสองสามสัปดาห์แรกก็มีปรากฎการณ์อื่นเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย เมื่อมีผู้ใช้สื่อออนไลน์จำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่คนทั่วไปรู้สึกไม่สบายใจ หรือรู้สึกว่า ไม่เหมาะสมกับบรรยากาศสังคมในขณะนั้น พวกเขาเห็นว่า น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ตามมาตรา 112 สถานการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อกลุ่มคนที่ไม่พอใจในหลายท้องที่ ไม่ได้เพียงไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีตามปกติเท่านั้น หากแต่มีการใช้มาตรการลงทัณฑ์ทางสังคมอื่นๆ เข้ามาด้วย เช่น 
 


836

ในช่วงค่ำวันที่ื 14 ตุลาคม 2559 มีกลุ่มประชาชนราวหนึ่งพันคนไปรวมตัวกันที่ร้านขายน้ำเต้าหู้แห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตหลังมีผู้พบเห็นว่าบุตรชายของเจ้าของร้านโพสต์ข้อความที่น่าจะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวมทั้งมีป้ายแสดงความไม่พอใจไปติดที่หน้าร้านดังกล่าวด้วย การชุมนุมที่หน้าร้านน้ำเต้าหู้ดำเนินกินเวลาเกือบสามชั่วโมงตั้งแต่ประมาณห้าทุุ่มครึ่งจนถึงตีสองครึ่งจึงยุติลงเมื่ออดีตแกนนำ กปปส. เจรจากับผู้ชุมนุมว่า จะเป็นตัวแทนไปร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลดังกล่าว 
 
ต่อมาในช่วงค่ำวันที่ 15 ตุลาคม  มีกลุ่มประชาชนไปรวมตัวกันที่ร้านขายโรตีชาชักแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงาหลังมีผู้พบเห็นและยืนยันว่า ทหารเรือที่เป็นลูกชายของเจ้าของร้า่นโพสต์ข้อความในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ การปิดล้อมดำเนินไปอย่างตึงเครียด จนกระทั่งปลัดจังหวัดเข้ามาเจรจากับกลุ่มประชาชนว่า จะสอบสวนและนำผลมาแจ้งภายใน 15 วัน ผู้มาปิดล้อมจึงยอมสลายตัวกลับ 
 
เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุด ได้แก่กรณีที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 18 ตุลาคม 2559 มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่ "เค" เด็กหนุ่มในชุดเสื้อสีม่วงถูกกลุ่มประชาชนนำตัวมาที่สถานีตำรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดี โดย "เค" ถูกกลุ่มประชาชนที่พาตัวมาบางส่วนทำร้ายร่างกายอยู่เป็นระยะ ในเวลาต่อมา "เค" ถูกฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดชลบุรี เขาให้การปฏิเสธ ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล  

837

ภาพเหตุการณ์ขณะประชาชนที่จังหวัดภูเก็ตล้อมบ้านพักของลูกชายร้านน้ำเต้าหู้เพราะเชื่อว่าเขาโพสต์ข้อความเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯช่วงดึกวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ที่มา ประชาไท
 
สำหรับคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นหลังการเสด็จสวรรคตและเป็นที่รับรู้ของสาธารณะชนมากที่สุดน่าจะเป็นคดีของจตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" นักกิจกรรมทางสังคมที่ถูกกล่าวหาว่า แชร์บทความพระราชประวิติรัชกาลที่สิบของเว็บไซต์บีบีซีไทยบนเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ก่อนที่จตุภัทร์จะมาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เขาเคยร่วมกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารจนถูกดำเนินคดีอย่างน้อยสี่คดีและเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ติดตามการเมืองอยู่แล้ว แม้สังคมจะให้ความสนใจการดำเนินคดีนี้ แต่การยื่นขอประกันตัวอย่างน้อยแปดครั้งก็ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด ขณะที่การสืบพยานคดีของเขาซึ่งเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดเพราะนอกจากการสั่งพิจารณาคดีลับแล้วยังมีการให้ทหารมาสังเกตการณ์ด้วย สุดท้ายศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งให้จำคุกจตุภัทร์ เป็นเวลาสองปีหกเดือน   
 
838
 
จตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาห้าปีก่อนได้รับการลดโทษเหลือสองปีหกเดือนในคดีมาตรา 112 จากกรณีแชร์บทความจากเว็บไซต์บีบีซีไทย
 
ในช่วงบรรยากาศแห่งความโศกเศร้า มีข่าวความไม่พอใจของประชานเกิดขึ้นจำนวนมากและมีข่าวจับกุมผู้ต้องหาตามมาไม่น้อย แต่ไอลอว์ยืนยันข้อมูลที่เกิดขึ้นได้ไม่หมด เท่าที่ทราบ มีการตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 รายใหม่ ในปี 2559 อย่างน้อย 15 คน ในปี 2560 อย่างน้อย 18 คน 
 

ปี 2561 ถึงต้นเดือนพฤษภาคมยังไม่มีคดีใหม่กับสถานการณ์ที่ผ่อนคลายขึ้น?


เท่าที่ไอลอว์ติดตามบันทึกข้อมูล ตั้งแต่ขึ้นปี 2561 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ยังไม่มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 รายใหม่ ขณะที่คดีมาตรา 112 บางส่วนก็มีแนวโน้มผ่อนคลายลง เช่น คดีที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกกล่าวหาว่า อภิปรายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวรเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อัยการศาลทหารกรุงเทพก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี, คดีของธานัทหรือ "ทอม ดันดี" คดีที่สี่ซึ่งเขาถูกกล่าวหาว่า กล่าวปราศรัยในลักษณะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่จังหวัดลำพูน คดีนี้ธานัทให้การรับสารภาพต่อศาลแต่ศาลอาญาก็มีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่า ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องยังไม่สามารถทำให้ปรากฎได้ว่า การปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย
 
839

สุลักษณ์ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดี 112 จากการตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งอัยการทหารมีความเห็นสั่งไม้ฟ้องคดีในเดือนมกราคม 2561
 
สำหรับความเคลื่อนไหวอื่นๆที่น่าสนใจและอาจจะแสดงให้เห็นถึงความคลายตัวของการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่ ผู้ต้องหาห้าคนที่ถูกจับกุมด้วยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และถูกกล่าวหาว่า แชร์สเตตัสเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังครบกำหนดฝากขัง 84 วันแล้ว ในวันที่ 4 มกราคม 2561 ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาว่านูรฮายาตี หญิงผู้พิการทางสายตาที่ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ลิงก์บทความของใจ อึ๊งภากรณ์ บนเฟซบุ๊กส่วนตัวมีความผิดและลงโทษจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีหกเดือน (ลดจากสามปีเพราะจำเลยรับสารภาพ) แต่ในวันที่ 23 มกราคม 2561 ศาลก็ให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ 
 
ขณะเดียวกันในทางนโยบายก็มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้น คือ การออกหนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุด กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งคดีมาตรา 112 เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุมในการพิจารณาสำนวนคดี โดยอัยการที่เป็นผู้รับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนโดยไม่ต้องทำความเห็นต่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดทันที และให้ถือแนวปฏิบัตินี้สำหรับคดีในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า การเปลี่ยนโครงสร้างการสั่งคดีครั้งนี้จะส่งผลให้การกลั่นกรองสำนวนคดีในชั้นอัยการรัดกุมและเคร่งครัดในการตีความมากขึ้นหรือไม่ 
 
 
ประเภทรายงาน: