- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ฐานข้อมูลคดี

ชื่อคดี
ผู้ต้องหา
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ, ภัควดี วีระภาสพงษ์, นลธวัช มะชัย, ชัยพงษ์ สำเนียง และ ธีรมล บัวงาม
สถานะคดี
คำอธิบายสถานะคดี ภาษาไทย
ศาลไม่รับฟ้อง
สถานะผู้ต้องหา
ยกฟ้อง
ข้อหา / คำสั่ง
ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557
เนื้อหาคดีโดยย่อ
18 กรกฎาคม 2560 มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เชียงใหม่ จำนวนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
พวกเขาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” และถ่ายภาพ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าราย ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก โดยทั้งห้าคนให้การฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
คดีนี้ต่อสู้กันในชั้นศาลที่ศาลแขวงเชียงใหม่ ฝ่ายจำเลยต้องการนำสืบถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ระหว่างการสืบพยานฝ่ายโจทก์มีคำสั่งหัวหน้า คสช. 22/2561 ให้ยกเลิก คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ศาลจึงให้ยกเลิกการสืบพยานที่นัดไว้ และอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากฐานความผิดถูกยกเลิกแล้ว
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ
นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม
ข้อกล่าวหา
อื่นๆ (ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558)
-
รูปแบบการจำกัดเสรีภาพ
การดำเนินคดี
-
ประเภทสื่อ
อื่นๆ
-
จังหวัด
เชียงใหม่
-
ศาล
ศาลแขวงเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 นักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนหนึ่งเดินทางไปชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” บริเวณห้องประชุมสัมมนาและด้านหน้าห้องประชุม ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
หมายเรียกยังระบุถึง ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ต้องหาที่ 1 ทั้งนี้หมายเรียกดังกล่าวระบุว่า ผู้ต้องหาว่ามีจำนวนทั้งหมดรวม 5 คน
พบว่านอกจากดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และธีรมล บัวงาม แล้ว เจ้าหน้าที่ยังออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 3 ราย ได้แก่ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเดียวกันเมื่อช่วงกรกฎาคม 2560
21 สิงหาคม 2560
1 กันยายน 2560
ลักษณะการจัดงาน เป็นงานประชุมที่มีนักวิชาการมาเสนอบทความทางวิชาการ ที่มีลักษณะเป็นงานปิด กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมงานจะต้องสมัครลงทะเบียนล่วงหน้า และชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ตามอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้จัดกำหนด
ผู้ต้องหาที่ 1 เห็นว่าข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นข้อความบอกเล่าปกติทั่วไป ไม่ได้มีเนื้อหาที่ส่อไปในทางการเมืองหรือมีความหมายเป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมือง ประกอบกับผู้ต้องหาที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดงานซึ่งได้ให้คำสัญญาต่อผู้เข้าร่วมงานว่า เวทีวิชาการจะต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและไม่ควรมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมจะชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าใจ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารไม่มาพบ จึงไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับข้อความดังกล่าวอีก
การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อเจตนารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่ได้กระทำในพื้นที่เปิด ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง จึงไม่ใช่การชุมนุม และไม่ได้ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นและเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการโดยสงบและสุจริต ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ไม่ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาล ยุยง ปลุกปั่น หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมือง ไม่มีบุคคลใดนำข้อความหรือภาพของผู้ต้องหาทั้งห้ากับข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ไปเผยแพร่ขยายผลเพื่อให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบแต่อย่างใด
คำให้การระบุต่อว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า เป็นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ที่ถือเป็นภารกิจของนักวิชาการหรือนักศึกษาในสังคมไทยที่ต้องยืนยันถึงความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการไว้ตามมาตรา 34 และรับรองเสรีภาพในการชุมนุม ไว้ในมาตรา 44
ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลได้ยืนยันมาโดยตลอดว่ารัฐบาลจะเคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามหลักการของสหประชาชาติ การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า จึงเป็นไปโดยชอบธรรมและได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และไม่เป็นความผิดอาญา
หากกิจกรรมเช่นนี้ ถูกตีความว่าเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย ก็ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางวิชาการจำนวนมากอันมีวัตถุประสงค์เพื่อความงอกงามทางปัญญาและเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่อาจดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน กรณีย่อมไม่มีกฎหมายที่ชอบธรรมใดประสงค์ให้เกิดผลเลวร้ายเช่นนี้ขึ้น
นอกจากนี้ หากประชาชนทั่วไปจะเข้าไปใช้ศูนย์ประชุมนานาชาติจะต้องขออนุญาตผู้ครอบครอง ไม่ใช่สถานที่ที่ประชาชนจะเข้าไปใช้โดยพลการได้โดยชอบธรรม และไม่ใช่สถานที่ที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ สถานที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่สาธารณะ ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าจึงไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะตามคำนิยาม และไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่อย่างใด
สำหรับพยานนักวิชาการทั้ง 5 คน ได้แก่ 1.ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. ดร.จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 3. ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 4. ศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 5. รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้หลังจากเข้ายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว พนักงานสอบสวนได้นัดหมายผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ให้เข้าพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 11 กันยายน 2560 เวลา 10.00 น.
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ระบุว่าเคยเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษามาแล้วหลายครั้ง ทั้งยังเคยเข้าร่วมนำเสนองานวิชาการในการประชุมมาโดยตลอด ทำให้ทราบถึงความเป็นมาของงานและลักษณะของงานประชุม อีกทั้ง ในการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2539 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ยังเคยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ร่วมจัดการประชุมครั้งนั้นด้วย
อานันท์ระบุว่างานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2524 ด้วยความร่วมมือกันของนักวิชาการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งต้องการให้มีการจัดสัมมนาร่วมกันขึ้นมา มุ่งหมายให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีมองและวิธีศึกษาสังคมไทย ในการจัดงานประชุมช่วงแรกๆ จะเน้นไปที่มิติเรื่องวัฒนธรรมและวรรณกรรม โดยการประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีทั้งนักวิชาการไทย นักวิชาการอินเดีย นักวิชาการจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายประเทศเข้าร่วม ทั้งยังมีนักวิชาการไทอาหม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทอาศัยอยู่ในรัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย เข้าร่วมด้วย
งานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษามีลักษณะเป็นการจัดงานสัมมนาวิชาการขนาดใหญ่ มีนักวิชาการมาร่วมนำเสนอผลงานในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสังคมไทย จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี ต่อหนึ่งครั้ง โดยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพไปมาระหว่างมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
เนื่องจากงานประชุมมีผู้เข้าร่วมไม่ใช่เพียงคนไทย แต่เป็นนักวิชาการและผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศทั่วโลก การกระทำดังกล่าวของกลุ่มบุคคลที่เข้ามาโดยไม่ได้รับเชิญ อานันท์เห็นว่ามีลักษณะเป็นการแทรกแซงงานประชุม เป็นการละเมิดสิทธิของผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ ที่ต้องเสียค่าลงทะเบียนเข้าร่วม และยังเป็นการละเมิดสิทธิของการนำเสนองานทางวิชาการ การกระทำดังกล่าวได้ทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศซึ่งมีการแทรกแซงเข้ามาในงานประชุม
อานันท์ระบุว่าเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานประชุมทางวิชาการ เนื่องจากนักวิชาการและนักศึกษาควรได้คิดอย่างอิสระเสรี โดยเฉพาะภายใต้สังคมโลกาภิวัตน์ ที่ประเทศไทยต้องอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในโลก ไม่สามารถอยู่โดยลำพังได้ งานวิชาการจึงจำเป็นต้องมีอิสระ เพราะนานาชาติต้องการจะแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดกับประเทศของเราอย่างมีอิสระ โดยเฉพาะความรู้และความเป็นไปของสังคมไทย
อีกทั้งการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการจะทำให้เราเข้าใจตัวเราเองดีขึ้น ว่าเรามีปัญหาใด หรือเราได้ก้าวหน้าไปถึงไหน การเปิดกว้างให้นักวิชาการนานาชาติและนักวิชาการไทยได้พูดถึงสังคมไทยอย่างที่เป็นจริงจึงมีความสำคัญ
คำให้การโดยสรุป ผศ.ดร.จันทจิรา เห็นว่าว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ได้ให้การรับรองเสรีภาพชองบุคคลในการแสดงความคิดเห็นไว้อย่างชัดแจ้ง ทั้งโดยบัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ และโดยปริยาย ตามพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามผูกพันแล้ว โดยเฉพาะตามข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UDHR) และข้อ 19 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองและคุ้มครองนี้ ย่อมมีผลบังคับผูกพันสถาบันของรัฐโดยตรงทุกองค์กร ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่สำคัญๆ ในระดับที่เป็นสากลตามหลักสิทธิมนุษยชนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยพิจารณานำเอาหลักการในพันธกรณีระหว่างประเทศมาพิจารณาประกอบกับตัวบทรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีโดยตรง ดังปรากฏในคำวินิจฉัยที่ 12/2555 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2555
25 มกราคม 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องทั้งหมดได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลตามนัดหมาย หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13.30 น. โดยระบุว่าหลังจากนี้ทางอัยการแขวงจะสรุปสำนวนทำความเห็นเสนอให้อัยการภาค 5 พิจารณาก่อนจะมีคำสั่งว่าจะมีคำสั่งฟ้องต่อผู้ต้องหาทั้งหมดหรือไม่ต่อไป
26 กุมภาพันธ์ 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 3 ผู้ต้องหาในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมไทยศึกษา ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการตามนัดหมาย ส่วนอีก 2 ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากติดภารกิจ หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2561 เวลา 13.30 น. นับเป็นการเลื่อนฟังคำสั่งของอัยการแขวงครั้งที่ 7 ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนให้อัยการแขวงพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่
26 มีนาคม 2561
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 4 ผู้ต้องหาในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมไทยศึกษา ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการตามนัดหมาย ส่วนอีก 1 ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากติดภารกิจ หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคม 2561 เวลา 9.00 น. เพื่อฟังผลการพิจารณาเรื่องการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุด
30 มีนาคม 2561