- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ฐานข้อมูลคดี

ชื่อคดี
ผู้ต้องหา
สราวุทธิ์
สถานะคดี
คำอธิบายสถานะคดี ภาษาไทย
ชั้นศาลชั้นต้น
สถานะผู้ต้องหา
ได้รับการประกันตัว
ข้อหา / คำสั่ง
มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ , มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
เนื้อหาคดีโดยย่อ
สราวุทธิ์ ช่างตัดแว่นในจังหวัดเชียงราย เขาถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 หลังถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะหมิ่นฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ตำรวจนัดสราวุทธิ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เขาให้การปฏิเสธ และถูกคุมขังในเรือนจำ และมาได้รับการประกันตัวหลังถูกควบคุมไปเเล้ว 38 วัน
ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ศาลทหารเชียงราย จำหน่ายคดีจากสารบบ และให้โอนคดีไปให้ศาลจังหวัดเชียงรายพิจารณาคดีต่อโดยให้สัญญาประกันเดิมมีผลต่อไป รวมระยะเวลา ตั้งแต่ตุลาคม 2559- สิงหาคม 2562 เป็น 2 ปี 10 เดือนที่สราวุทธิ์ต่อสู้คดีในศาลทหาร ศาลทหารเชียงรายสืบพยานโจทก์ไปรวมเจ้ดปากโดยระหว่างการสืบพยานโจทก์มีอย่างน้อย 3 ครั้งที่ศาลสั่งเลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล
ภูมิหลังผู้ต้องหา
เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) มณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) จังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวหา
อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี
ข้อกล่าวหา
กระทบต่อความมั่นคง, หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท
-
รูปแบบการจำกัดเสรีภาพ
การดำเนินคดี
-
ประเภทสื่อ
โซเชียลเน็ตเวิร์ค
-
จังหวัด
เชียงราย
-
ศาล
ศาลทหารเชียงราย
11 เมษายน 2560
อัยการแถลงต่อศาลว่า วันนี้พยานโจทก์ปากแรก พท.อิสระ เมาะราศรีที่จะสืบพยานต่อเนื่อง ติดราชการไม่สามารถมาศาลได้
ศาลจึงนัดสืบพยานอีกครั้ง เป็นวันที่ 13 กันยายน 2560
13 กันยายน 2560
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ท.อิสระ เมาะราษี
ประเด็นที่ 1 พยานเป็นผู้ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาถึงเหตุในคดีที่เกิดขึ้นเท่านั้น มิใช่เจ้าหน้าที่ทหารผู้ที่ทำการบันทึกภาพหน้าจอ หรือจัดทำเอกสารทางคดีเอง แต่ได้รับมาจากผู้ใต้บังคับบัญชา อีกทั้งพยานไม่ทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีสาเหตุโกรธเคืองส่วนตัวกับจำเลยหรือไม่ และยังไม่ได้อ้างตัวเจ้าหน้าที่ผู้ทำการบันทึกภาพหน้าจอและจัดทำเอกสารเข้ามาเป็นพยานในคดีแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2 หลักฐานภาพถ่ายหน้าจอที่ใช้ในการฟ้องร้องกล่าวหาจำเลยว่าได้กระทำความผิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 นั้น ไม่ปรากฏ URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งๆ ที่หลักฐานชิ้นอื่นๆ ที่เป็นภาพถ่ายหน้าจอนั้นปรากฏ URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่ด้วย อีกทั้งพยานไม่เคยสอบถามหรือตรวจสอบไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊กว่าจำเลยได้ทำการโพสต์ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
ประเด็นที่ 3 สราวุทธิ์จำเลยในคดี เป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามความเคลื่อนไหวทางโลกออนไลน์โดยตลอด ซึ่งก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยได้มีการโพสต์ข้อความทางโลกออนไลน์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและทหารมาโดยตลอด แต่ภายหลังจากเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยมีการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและทหารลดน้อยลง
เมื่อเสร็จสิ้นการถามค้าน อัยการทหารแถลงหมดพยานโจทก์ที่จะนำสืบในวันนี้ คู่ความได้นัดหมายสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2560
12 มกราคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 สุชิน อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พยานผู้เชี่ยวชาญ
สุชินเบิกความว่า จบการศึกษาชั้นสูงสุดปริญญาโท จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2550 โดยรับหน้าที่สอนวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปและภาคความผิด, วิชาวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายภาษีอากร
คดีนี้เท่าที่ทราบเหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 เวลาประมาณ 14.39 น. ที่ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีพันโทอิสระ เมาะราษี กล่าวหาสราวุทธิ์ จำเลยคดีนี้ในความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา สุชินเคยเห็นสราวุทธิ์จากภาพตอนที่พนักงานสอบสวนให้ดู ก่อนจะหันไปชี้ตัวสราวุทธิ์ว่า มีตัวตนที่ห้องพิจารณาคดีนี้
เขาเบิกความต่อว่า สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ก็เนื่องจากว่า พนักงานสอบสวนทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขอให้ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเห็นในคดีนี้
อัยการโจทก์ขออนุญาตศาลให้สุชินดูภาพที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้และขอให้อธิบายภาพ สุชินดูและเบิกความว่า ตามที่พนักงานสอบสวนได้นำรูปถ่ายที่เป็นภาพสองภาพ ภาพซ้ายเป็นภาพคนสองคน คนหนึ่งยืนหันหลังและอีกคนหนึ่งยืนทำท่าวันทยาหัตถ์และภาพขวาเป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระอิสริยยศในขณะนั้น จากภาพดังกล่าวผู้โพสต์พยายามสื่อให้บุคคลที่เห็นเข้าใจได้ว่า บุคคลด้านซ้ายมือที่ยืนหันหลังคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
การกระทำดังกล่าวเข้าลักษณะของการดูหมิ่น เหยียดหยาม เป็นการไม่เคารพต่อองค์รัชทายาท ใส่ความต่อบุคคลที่สาม ทำให้องค์รัชทายาทเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรวมถึงองค์รัชทายาทเป็นที่เคารพสักการะจึงอยู่เหนือการติชมใดๆทั้งสิ้น
อัยการโจทก์ให้สุชินดูภาพอีกครั้งและถามว่า ทราบหรือไม่ว่า บุคคลด้านซ้ายคือใคร สุชินตอบว่า ถ้าเห็นเฉพาะภาพซ้ายมือ ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปคงจะทราบว่าเป็นบุคคลใด แต่ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นใครเพราะเห็นแค่ด้านหลัง แต่ถ้าดูภาพขวามือด้วยที่เป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯฉลองพระองค์ในชุดเครื่องแบบเต็มยศ ถ้าให้ตนดูก็ทราบได้ทันทีว่าหมายถึงบุคคลทางด้านซ้ายมือ นอกจากนี้ภาพดังกล่าวยังมีข้อความประกอบโพสต์ว่า ทรงเท่ห์มากพะยะค่ะ ซึ่งทั้งหมดตนได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไปแล้ว และลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การ
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่า สุชินจบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากที่ไหน สุชินตอบว่า จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งปริญญาตรีและโท ทนายจำเลยถามว่า ตอนที่สุชินเรียนมีการสอนเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ สุชินตอบว่า สมัยเรียนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเนติบัณฑิตยสภาสอนเรื่องมาตรา 112 และพอเป็นอาจารย์ ก็สอนมาตรา 112 ให้แก่นักศึกษาเช่นกัน ทนายจำเลยถามว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 มุ่งคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์หรือบุคคล สุชินตอบว่า มุ่งคุ้มครองบุคคลตามที่ระบุในตัวบทของกฎหมาย
ทนายจำเลยถามว่า ที่สุชินเบิกความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการติชมทั้งปวงเป็นข้อความจากที่ใด สุชินตอบว่า ประโยคดังกล่าวมาจากความรู้ที่มีและเป็นการกล่าวในภาพรวม ทนายจำเลยถามต่อว่า มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการติชมทั้งปวง สุชินตอบว่า เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ระบุไว้อย่างนั้น ทนายจำเลยถามอีกครั้งว่า สรุปแล้วไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการติชมทั้งปวง สุชินตอบว่า ไม่มี
ทนายจำเลยถามว่า จากประโยคดังกล่าวสามารถกล่าวชมได้หรือไม่ สุชินตอบว่า สามารถชมได้และขยายความคำว่า ติชม มีนัยหมายถึงการพูดในทางที่ไม่ดี ทนายจำเลยถามว่า คำว่า เท่ห์ เป็นคำชมหรือไม่ สุชินตอบว่า ถ้าถ้อยคำอย่างเดียวไม่มีภาพประกอบตีความหมายถึงการกล่าวชม แต่เมื่อมีภาพประกอบแสดงถึงสิ่งที่ไม่ดี สื่อในทางที่ไม่ดีและไม่ควร
ทนายจำเลยถามว่า ถ้ามองทั้งสองภาพจะทราบหรือไม่ว่า เป็นบุคคลใด สุชินตอบว่า ดูออก ทนายจำเลยถามต่อว่า บุคคลทางด้านซ้ายดูออกหรือไม่ว่าเป็นบุคคลใด สุชินตอบว่า พอดูออกว่าเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯเนื่องจากมีพรมแดง นายทหารยืนทำท่าวันทยาหัตถ์ ประกอบกับตนเคยเห็นภาพทั้งด้านซ้ายและด้านขวามาก่อนแล้วจึงดูออก
ทนายจำเลยถามว่า ถ้าบุคคลด้านซ้ายมือที่ยืนหันหลังอยู่เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯจริงจะไม่เข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 112 ใช่หรือไม่ สุชินตอบว่า ถ้าหากเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯจริง ก็ยังเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทอยู่ ทนายจำเลยถามว่า หมิ่นประมาทในทางกฎหมายอาญาหมายถึงอะไร สุชินตอบว่า หมิ่นประมาทเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม ทำให้บุคคลที่ถูกกล่าวถึงเสียหาย โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งใช้นิยามเดียวกันกับมาตรา 112
ทนายจำเลยถามว่า ถ้าเป็นภาพจริงถือว่าเป็นการใส่ความอย่างไร สุชินตอบว่า การใส่ความจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ ต้องแยกกันระหว่างหมิ่นประมาทบุคคลตามมาตรา 326 และหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 บุคคลที่คุ้มครองต่างกัน หากก่อให้เกิดความเสื่อมเสียก็เป็นการใส่ความได้ ตามมาตรา 112 แม้เป็นความจริงก็เป็นการใส่ความ
ทนายจำเลยถามสุชินว่า ทราบหรือไม่ว่า ตามคำฟ้องอัยการฟ้องว่า ภาพด้านซ้ายเป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯในพระอิริยาบถส่วนตัว สุชินตอบว่า ไม่ทราบเพราะเพิ่งเห็นคำฟ้อง แต่ศาลบันทึกว่า ทราบ ทนายจำเลยแย้งกับศาลว่า สุชินเพิ่งทราบ แต่ศาลบอกว่า ก็คือการทราบแล้ว
ทนายจำเลยถามว่า พยานหลักฐานในคดีอาญามีกี่ประเภท สุชินตอบว่า ตนไม่ได้สอนวิชาพยานหลักฐาน แต่เอกสารภาพที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ถือเป็นพยานเอกสาร ทนายจำเลยถามต่อว่า การเกิดขึ้นของเอกสารและการได้มาซึ่งเอกสารสำคัญหรือไม่ สุชินตอบว่า ตามมาตรา 226/1 ของประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาระบุว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย
ทนายจำเลยถามว่า จากเอกสารที่เป็นภาพเฟซบุ๊กของสราวุธิ์ บริเวณด้านบนที่เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษคืออะไร สุชินตอบว่า น่าจะเป็นที่อยู่ของเว็บไซต์ หรือยูอาร์แอล(URL) โดยเขาไม่ยืนยัน URL ในเอกสารดังกล่าว แต่ทั่วไปแล้วเมื่อกดที่ URL จะไปสู่เนื้อหาในภาพดังกล่าว แต่กรณีนี้ตนไม่ขอยืนยันเนื่องจากไม่เคยกดเข้าไปใน URL ด้วยตนเอง ทนายจำเลยในสุชินดูเอกสารที่เป็นภาพหลักฐานสามแผ่นและถามว่า เอกสารสามแผ่นดังกล่าวปรากฏ URL หรือไม่ สุชินตอบว่า ตามภาพปรากฏ URL ทนายจำเลยให้สุชินดูภาพหลักฐานแผ่นที่นำมาฟ้องในคดีนี้และถามว่า ปรากฏ URL ในภาพหรือไม่ สุชินรับว่า ไม่ปรากฏ URLในภาพดังกล่าว
ทนายจำเลยหมดคำถามอัยการโจทก์ไม่ถามติง นัดสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท. ภาสกร สุขขะ พนักงานสอบสวนในคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 5 เมษายน 2561
สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ท.ภาสกร สุขขะ พนักงานสอบสวน
เอกสารบันทึกภาพหน้า่จอดังกล่าวปรากฎภาพสองภาพซ้อนกัน ภาพหนึ่งเป็นชายสวมชุดขาว อีกภาพเป็นภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และมีข้อความที่จำเลยเขียนข้อความประกอบภาพในลักษณะที่ไม่เหมาะสม
พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความต่อว่า พ.ท.อิสระแจ้งกับตัวเขาด้วยว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่าภาพดังกล่าวถูกโพสต์ไปสองถึงสามนาทีก่อนจะถูกลบออกไป แต่ก่อนจะถูกลบก็มีผู้กดถูกใจและแสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่ง
ในเวลาต่อมาเมื่อมีการตรวจค้นบ้านพักของสราวุทธิ์ ได้มีการยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ สราวุทธิ์ ไปให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบด้วย ผลการตรวจสอบก็ไม่พบภาพที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ปรากฎในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของสราวุทธิ์
สำหรับการตรวจสอบ IP Address ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความว่าพนักงานสอบสวนไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเฟซบุ๊กมีที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงอยู่นอกเขตอำนาจของทางการไทย ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน
ส่วนบนของภาพถ่ายหลักฐานที่มีที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) ปรากฎอยู่จะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.อิสระ ซึ่งต้องปกปิดตัวตนติดอยู่ด้วย จึงมีการตัดภาพในส่วนนั้นออกไป โดยคำพูดคุยส่วนนี้ พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความว่าไม่ได้บันทึกไว้ในคำให้การชั้นสอบสวน
นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 5 พ.ต.อ.พรเทพ ธนาบูรณศักดิ์
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ก่อนเริ่มการสืบพยาน ตุลาการศาลทหารได้กำชับคู่ความ มิให้เผยแพร่คำเบิกความของพยานในคดีนี้อีก โดยกล่าวถึงการเผยแพร่จะกระทบต่อการพิจารณาคดี แต่ศาลทหารมิได้มีการบันทึกประเด็นนี้ในกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด
ในนัดนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ปากที่ 5 คือ พ.ต.อ.พรเทพ ธนาบูรณศักดิ์ ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย โดยพยานเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ หลังจากพยานได้ทำการตอบคำถามของอัยการทหารแล้วเสร็จ เป็นเวลา 11.45 น. ซึ่งใกล้จะหมดเวลาทำการของศาลในช่วงเช้า ทนายจำเลยแถลงว่ามีคำถามที่ต้องถามค้านพยานอีกจำนวนมาก จึงขอเลื่อนการถามค้านออกไปในนัดหน้า อัยการทหารและพยานไม่คัดค้าน ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561
ภายหลังจากการสืบพยานแล้วเสร็จ สราวุทธิ์ จำเลยในคดี ได้แถลงต่อศาลเพื่อสอบถามว่า ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นช่วงเวลาที่เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แต่สำหรับจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยยังมีเงื่อนไขที่ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จำเลยอยากทราบว่าหากจำเลยจะลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง จำเลยจะสามารถกระทำได้หรือไม่ จะเป็นการผิดเงื่อนไขการประกันตัวหรือไม่ ศาลทหารระบุว่าศาลต้องทำการตรวจดูสำนวนและเงื่อนไขการประกันตัวของจำเลย อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน หากไม่ติดขัดใดๆ ก็น่าจะสามารถทำได้ เพราะถือว่าจำเลยยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดี
พ.ต.อ.พรเทพ ระบุว่าพ.ท.อิสสระได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนว่าผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวได้เป็นผู้พบโพสต์ดังกล่าว แต่พยานปากดังกล่าว ไม่เคยมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด
ในส่วนการตรวจสอบของกลาง 3 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และฮาร์ดดิสก์ ที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดจากบ้านของจำเลย พ.ต.ท.พรเทพเบิกความว่าได้มีการส่งไปตรวจสอบที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
ในส่วนที่อัยการทหารถามติง พ.ต.อ.พรเทพระบุว่าของกลางที่มีการส่งไปตรวจสอบกับปอท. เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องมีการตรวจสอบหาพยานหลักฐานจากเครื่องมือสื่อสารต่างๆ แต่จะเป็นเครื่องเดียวกันกับที่ใช้กระทำความผิดหรือไม่ ไม่สามารถยืนยันได้ อาจจะใช่ หรือไม่ใช่ก็ได้
ในส่วนเหตุผลที่ไม่ได้มีการเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาของพ.ท.อิสสระ เมาะราษี มาสอบปากคำ เหตุเพราะพ.ท.อิสระได้ให้ข้อมูลว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของทหาร ซึ่งต้องปกปิดตัวตน จึงไม่สามารถนำมาให้ปากคำได้
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 14 ธันวาคม 2561
14 ธันวาคม 2561
14 กุมภาพันธ์ 2562
นัดสืบพยานโจทก์
พยานโจทก์ที่เป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนไม่มาศาล เนื่องจากติดภารกิจ ศาลทหารให้เลื่อนสืบพยานไปเป็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2562
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในนัดนี้เดิมนัดหมายสืบพยานโจทก์ปากคณะพนักงานสอบสวนอีกคนหนึ่ง ซึ่งนับเป็นพยานโจทก์ปากที่ 8 ในคดี ได้แก่ พ.ต.อ.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย แต่พยานโจทก์ปากนี้ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการเร่งด่วน
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจากคำสั่งดังกล่าว มีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีไปชั่วคราวก่อน แล้วศาลจะได้นัดคู่ความมาฟังคำสั่งศาลต่อไป และให้สัญญาประกันยังคงมีผลต่อไป
9 สิงหาคม 2562
ศาลทหารเชียงราย จำหน่ายคดีจากสารบบ ให้สนง.ศาลทหารมีคำสั่งโอนไปศาลยุติธรรม สัญญาประกันให้มีผลต่อ