- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ฐานข้อมูลคดี
Stared

ชื่อคดี
ผู้ต้องหา
จตุภัทร์
สถานะคดี
คำอธิบายสถานะคดี ภาษาไทย
ชั้นศาลอุทธรณ์
สถานะผู้ต้องหา
ยกฟ้อง
ข้อหา / คำสั่ง
พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61, อื่นๆ (ฝ่าฝืน ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25)
ผู้ต้องหา | สถานะผู้ต้องหา |
---|---|
วศิน | ยกฟ้อง |
เนื้อหาคดีโดยย่อ
จตุภัทร์ หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นักศึกษาหนุ่มวัย 25 ปี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวศิน ในวัย 20 ปี นักศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมธรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถูกจับกุมและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกเอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดแห่งหนึ่ง ในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 วันเดียวก่อนการลงประชามติ
หลังถูกฝากขัง จตุภัทร์ไม่ขอประกาศตัวและประกาศอดข้าวประท้วงระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำ เป็นเวลา 12 วัน ก่อนได้ประกันตัวในเวลาต่อมา
ในชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่า การแจกเอกสารรณรงค์เป็นสิทธิเสรีภาพ สามารถทำได้ ศาลพิพากษายกฟ้องโดยยืนยันว่า การแจกเอกสารรณรงค์เช่นนี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ลงโทษปรับจตุภัทร์ 500 บาท ฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวน
ภูมิหลังผู้ต้องหา
พนักงานอัยการศาลจังหวัดภูเขียว
ข้อกล่าวหา
ก่อความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ, อื่นๆ (ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ)
-
รูปแบบการจำกัดเสรีภาพ
การดำเนินคดี
-
ประเภทสื่อ
อื่นๆ
-
จังหวัด
ชัยภูมิ
-
ศาล
ศาลจังหวัดภูเขียว
-
หมายเลขคดีดำ
เลขคดีดำคือเลขที่ศาลออกเมื่อประทับรับฟ้องคดี
ชั้นศาล: ศาลจังหวัดภูเขียว Phukiao Provincial Court No: 1370/2559 วันที่: 2016-08-19
จตุภัทร์ และวศิน ถูกกล่าวหาว่าทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมาตรา 61 วรรค 2 หลังเดินแจกเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ให้พ่อค้าแม่ค้าบริเวณตลาดสดภูเขียว โดยเอกสารที่ทั้งสองทำการแจกจ่าย ได้แก่ ความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 1 เล่ม, เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 128 ชุด และเอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์จำนวน 16 เล่ม
มารดาของ จตุภัทร์ ยื่นหนังสือขอให้ส่งตัวจตุภัทร์เขารับการรักษาที่โรงพยาบาลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ หลังเข้าเยี่ยมแล้วพบว่า จตุภัทร์มีอาการอ่อนเพลียมาก มีไข้สูง เจ็บปวดตามตัว และคืนที่ผ่านมามีอาการหนาวสั่น และหมดสติไป ขณะเรือนจำอำเภอภูเขียว จ่ายเพียงยาพาราเซตามอล ด้านไผ่ยังยืนยันไม่ยื่นประกันตัว หลังอดอาหารมาแล้ว 8 วัน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า หลังการเข้าเยี่ยม ทนายความของศูนย์ทนายความเดินทางไปศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลเบิกตัวจตุภัทร์มาที่ศาลในวันครบกำหนดฝากขัง วันที่ 19 สิงหาคม 2559 หากทางพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องให้ฝากขังจตุภัทร์ต่อเป็นครั้งที่สองและให้ศาลงดการใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากต้องการคัดค้านการฝากขังครั้งที่สองและทนายความขอถามค้านพนักงานสอบสวนถึงเหตุจำเป็นในการฝากขัง
จำเลยไม่ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายตามฟ้องของอัยการ อีกทั้งการฟ้องคดีไม่ได้ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อรัฐ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านการประชามติไปแล้ว แต่จะกระทบต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง: พ.ต.อ.อร่าม ประจิตร ตำรวจผู้จับกุม
ที่ศาลจังหวัดภูเขียว โจทก์นำพยานปากแรกเข้าเบิกความ คือ พ.ต.อ.อร่าม ประจิตร อายุ 62 ปี ข้าราชการบำนาญ ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรภูเขียว เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยเป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 โดยพยานชี้ตัวจำเลยที่ 2 ถูกต้อง
พยานเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 เวลาสายก่อนเที่ยง พยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ สภ.ภูเขียว ได้รับแจ้งข่าวว่า มีคนมาแจกใบปลิวชวนให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในเขตเทศบาลภูเขียว พยานจึงได้ประสานฝ่ายปกครองอำเภอภูเขียว และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ชัยภูมิ พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสืบหาข่าว
พยานเบิกความต่อว่า ต่อมา เวลา 16.45 น. ได้รับแจ้งว่า มีผู้มาแจกใบปลิว จึงขับรถของทางราชการออกไปตรวจสอบ พบจำเลยที่ 2 กำลังแจกใบปลิวบริเวณเยื้องร้าน ป.ทองคำ ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ติดวัดนครบาล ถ.ราษฎร์บำรุง ตำบลผักปัง จึงเข้าตรวจค้นและควบคุมตัว จากการตรวจค้นพบเอกสารเป็นเอกสาร “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” มีจำนวนหลายแผ่น ซึ่งจำเลยที่ 2 ถืออยู่ในมือ โดยไม่มีเอกสารอื่นอีก จึงควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ไปที่ สภ.ภูเขียว
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความต่ออีกว่า เมื่อควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ไปถึง สภ.ภูเขียวในเวลาประมาณ 17.00 น. ได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารจากเจ้าหน้าที่อีกชุดว่า พบจำเลยที่ 1 แจกใบปลิวมีข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนในตลาดเทศบาลภูเขียว เยื้อง สภ.ภูเขียว และต่อมา ตำรวจและฝ่ายปกครองควบคุมตัวจำเลยที่ 1 มาส่งที่ สภ.ภูเขียว เมื่อพยานสอบถามชุดจับกุม ได้ระบุว่า เห็นจำเลยที่ 1 แจกเอกสาร ได้แก่ 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ, แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ และความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ (ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลย 2, 3, 4) จำนวนหลายแผ่น
พยานผู้จับกุมจำเลยที่ 2 ยังระบุอีกว่า จากการสอบถาม จำเลยที่ 2 แจ้งว่า ได้รับเอกสารจากจำเลยที่ 1 เพื่อมาแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลภูเขียว
โจทก์ถามพยานว่า เอกสาร 7 เหตุผลฯ มีข้อความอะไรบ้าง พยานตอบไม่ได้ โจทก์จึงเอาเอกสารให้ดูแล้วถามว่าใช่ข้อความตามนี้หรือไม่ ทนายจำเลยที่ 1 ได้แถลงค้านว่า หากโจทก์ให้พยานดูเอกสารแล้วเบิกความต่อศาลก็จะไม่เป็นธรรมต่อจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ยืนยันให้พยานดูเอกสารเพื่ออธิบายความ ศาลอนุญาต โดยบันทึกว่า พยานจำข้อความในเอกสารไม่ได้ หลังจากพยานดูเอกสารแล้วเบิกความว่า สรุปความได้ว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โหวตโนไม่รับกับอนาคตที่เลือกไม่ได้
โจทก์ถามต่อว่า เอกสารแถลงการณ์นิติราษฎร์มีเนื้อหาอะไร หน้าสุดท้ายที่สรุปมีข้อความว่าอะไร พยานดูเอกสารแล้วตอบว่า มีข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
โจทก์เอาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลย 4 ให้พยานดูแล้วถามว่า เป็นเอกสารอะไร พยานตอบว่า ความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ โจทก์ถามต่อว่า เมื่อพิจารณาเอกสารที่ยึดได้ทั้ง 3 ฉบับแล้วสรุปความได้ว่าอย่างไร พยานตอบว่า เป็นการให้ความเห็นว่า ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความต่อว่า หลังจากพิจารณาเอกสารแล้วจึงได้แจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยการเผยแพร่ข้อความ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โจทก์ถามว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอะไร พยานตอบว่า เท่าที่จำได้เป็น พ.ร.บ.เกี่ยวกับการลงประชามติ โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม โดยพยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน
ทนายถามต่อไปว่า จากนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยระบุว่า ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และ คสช. ได้แต่งคณะบุคคลขึ้นมาเป็นคณะกรรมการร่างฯ โดยมีมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน พยานทราบหรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า ทราบ และเห็นด้วยว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญ ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างฯ แต่การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แต่งตั้งโดย คสช. โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลหรือไม่ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่นั้น พยานไม่ขอออกความเห็น
พยานเบิกความต่อว่า ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. คล้ายกับในรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ ให้มีการเลือกตั้งเหมือนเดิม แต่พยานไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะกำหนดวิธีการเลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกทั้งแบบแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ โดยมีบัตรเลือกตั้งให้กา 2 ใบ เหมือนเดิมตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดหรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบด้วยว่า สาเหตุที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้กำหนดวิธีการเลือกตั้งไว้ 2 แบบ ก็เพราะไม่ต้องการให้คะแนนเสียงของประชาชนผิดเพี้ยนไป
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 อีกว่า ไม่ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมควบคุมนักการเมืองมากขึ้น เมื่อทนายนำมาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้พยานดู พยานจึงรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนั้นจริง แต่หากมีคนห่วงกังวลควรแสดงความเห็นให้ กรธ.รับฟัง ไม่ควรแสดงความเห็นกันเอง
พยานโจทก์ปากนี้เบิกความต่อไปว่า พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดสิทธิในการเรียนฟรี 12 ปี ตั้งแต่ ป.1 - ม.6 แต่ไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดใหม่ ในมาตรา 54 ให้เรียนฟรี 12 ปี เหมือนเดิม แต่เริ่มตั้งแต่อนุบาล โดยจะครอบคลุมไปถึงแค่ ม.3 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเช่นที่ว่านี้พยานเห็นว่า ไม่น่าห่วง แต่ควรรับฟังไว้
พยานผู้จับกุมจำเลยตอบคำถามค้านต่อว่า ไม่ทราบว่าตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ส.ว. มีที่มาอย่างไร และไม่ทราบด้วยว่าตามหลักการประชาธิปไตย ที่ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ว. ก็เพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน ส่วน ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งควรมีสิทธิเลือกนายกฯ หรือไม่นั้น พยานไม่ขอตอบ พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้กำหนดให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ได้ มีแต่ ส.ส.เท่านั้นที่โหวตเลือกนายกฯ เมื่อได้ดูมาตรา 269 แล้วพยานรับว่า ส.ว.ชุดแรกมีที่มาจากการการแต่งตั้งของ คสช. รวมทั้งกำหนดล็อคให้ทหาร ได้แก่ ผู้บัญชาทั้งสามเหล่าทัพ, ผบ.สส., ปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.ตร. รวม 6 ตำแหน่ง ได้เป็น ส.ว.
อดีต ผกก.สภ.ภูเขียวเบิกความต่อว่า ได้ไปออกเสียงลงประชามติ โดยในบัตรออกเสียงมีคำถามพ่วงระบุว่า ใน 5 ปีแรก ส.ว. มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งแปลว่า ส.ว. ชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งจะเลือกนายกฯ ได้ 2 สมัย คนที่ห่วงกังวลในประเด็นนี้ พยานเห็นว่า ควรไปแสดงความเห็นกับ กกต. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง
ทนายถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ต่อไปว่า ทราบหรือไม่ว่าคณะนิติราษฎร์ เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานตอบว่า ไม่เคยได้ยิน เมื่อดูแล้วเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” ข้อ 1.1 แสดงความกังวลต่อเรื่องการจำกัดสิทธิ สอดคล้องกับเอกสาร “7 เหตุผลฯ”
พยานไม่ขอตอบหรือออกความเห็นเมื่อทนายความถามเกี่ยวกับข้อ 1.2 ของเอกสาร “แถลงการณ์ฯ” ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ตามมาตรา 279 รับรองการกระทำของ คสช. โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ เท่ากับ คสช. อยู่เหนือกฎหมาย ขัดกับหลักการประชาธิปไตย
พยานยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ถูกตั้งชื่อว่า รัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ในความเป็นจริงการปราบโกงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ส่วนการตรวจสอบนักการเมืองที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะใช้มาตรฐานเดียวกับการตรวจสอบประธานศาลฎีกาและประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานไม่ทราบ
พยานยอมรับว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2550 นักการเมืองสามารถกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างอิสระตามความต้องการของประชาชน พยานทราบด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 162 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องกำหนดนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางไว้ โดยไม่ได้ผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชน เมื่อถามว่า กรณีเช่นนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
ทนายถามเกี่ยวกับเนื้อหาในเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” ต่อไปในข้อ 4.4 ว่า คำว่า “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” มีความหมายกว้าง ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นราย ๆ หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ แต่รับว่าถ้อยคำดังกล่าวปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 160(4) ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยพยานทราบว่า ไม่เคยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านต่อไปเกี่ยวกับเอกสารท้ายฟ้องฉบับที่ 4 “ความเห็นแย้ง คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นของกลางอีกชิ้นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งคำอธิบายของ กรธ. ที่ได้อธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้ระบุข้อห่วงกังวล หรือข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญตามที่ทนายได้ถามมาแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวว่า ความเห็นที่แย้งกับ กรธ. ในเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพ เป็นความเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งควรไปแสดงในเวที กกต. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง
พยานเบิกความรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติรับรองคำสั่ง คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม ม.44 ที่ละเมิดสิทธิของประชาชน เช่น ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมือง ลัดขั้นตอนอีไอเอ ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จะไม่สามารถโต้แย้ง ฟ้องศาลได้ ตามมาตรา 279 ของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ในประเด็นรัฐธรรมนูญคุ้มครองทั้งชีวิต และหน้าที่ของประชาชน พยานโจทก์ปากนี้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า เนื้อหาของ “ความเห็นแย้งฯ” ต่อประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงความเห็นไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่ีงควรไปแสดงความเห็นกับ กกต. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง
พยานไม่ทราบว่า ที่มาของ ส.ว. ตามร่างรัฐธรรมนูญจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หากมีคนกังวลว่า ที่มาของ ส.ว.จะไม่ครอบคลุมตัวแทนทุกกลุ่มในสังคมอย่างทั่วถึง ก็ควรไปแสดงความเห็นต่อ กกต.
ทนายจำเลยที่ 1 ให้อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว ดูเอกสาร “ความเห็นแย้งฯ” ซึ่งด้านซ้ายเป็นคำอธิบายของ กรธ. แล้วถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติจะปราบโกงได้ตามที่ กรธ. อธิบายไว้หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญจะเข้มแข็งฉับไวขึ้นหรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า ไม่ทราบ
ทนายถามค้านพยานต่อไปว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ประชาชนจะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่า จะได้ใครเป็นนายกฯ เนื่องจากนายกฯ จะมาจากคนนอกที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ก็ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ส่วนจะมีการกำหนดเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไรบ้างนั้น พยานไม่ทราบ
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความรับว่า ก่อนการออกเสียงประชามติ เจ้าหน้าที่ได้รับการกำชับจากผู้บังคับบัญชาให้เฝ้าระวังไม่ให้มีการเคลื่อนไหวแสดงออก หรือเผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ
อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว เบิกความอีกว่า นายอำเภอภูเขียวไปร่วมจับกุมจำเลยที่ 2 พร้อมกับพยาน แต่จำไม่ได้ว่า ประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอภูเขียว ได้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่ และในการจับกุมจำเลยที่ 2 ได้มีการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้
พ.ต.อ.อร่าม ไม่ขอตอบว่า ไปออกเสียงลงประชามติอย่างไร และเห็นด้วยหรือไม่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญควรจะผ่าน เมื่อทนายจำเลยที่ 1 ถามอีกว่า ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านการลงประชามติกับไม่ผ่าน แบบไหนดีกว่ากัน นายตำรวจนอกราชการตอบว่า ไม่ผ่านดีกว่า อย่างไรก็ตาม พยานไม่เชื่อเนื้อหาในเอกสารที่ยึดได้จากจำเลยทั้ง 3 ชิ้น
พยานเบิกความตอบทนายต่อไปว่า เหตุที่เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งสำคัญและเป็นรากฐานประชาธิปไตย เพราะถือหลักว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายที่สำคัญของประเทศ และการที่ประชาชนจะตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน การออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ถือว่า เป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญของประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญจะเป็นกติกาของบ้านเมืองตลอดไปจนกว่าจะมีการรัฐประหารครั้งใหม่ (ศาลบันทึกว่า จนกว่าจะมีการแก้ไขใหม่)
เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 พยานเบิกความว่า มีโอกาสได้อ่านเป็นบางส่วน เนื่องจากเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหายาว เยอะ และเป็นภาษากฎหมายที่คนทั่วไปต้องใช้เวลาทำความเข้าใจหรือสอบถามผู้รู้ พยานได้รับเอกสารดังกล่าว เพราะมีการส่งไปที่บ้าน นอกจากพยานแล้ว ตำรวจคนอื่นใน สภ.ภูเขียวก็ได้รับทุกคน พยานยังได้รับฉบับย่อ ซึ่งก็คือ คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดทำโดย กรธ. นอกจากนี้ พยานยังได้รับข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเข้าร่วมเวทีของ กกต. ที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ส่วนที่ กรธ. จัด พยานไม่ได้เข้าร่วม
ทนายจำเลยที่ 2 ถาม พ.ต.อ.อร่าม ว่า เวทีของ กกต.ที่พยานเข้าร่วม มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือไม่ อดีตนายตำรวจตอบว่า ผู้จัดเวทีแจ้งว่า จะมีเวทีในระดับอำเภอที่จะเปิดให้ประชาชนมาร่วมรับฟังและแสดงความเห็น โดยเวทีดังกล่าวจัดขึ้นหลังจากมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญไปให้กับประชาชน
ทนายจำเลยที่ 2 ถาม พ.ต.อ.อร่าม อีกว่า การที่คนเหล่านี้แถลงผ่านสื่อมวลชน ย่อมมีคนรับรู้ในวงกว้างใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ติดตามข่าว ส่วนการประกาศจุดยืนว่าจะออกเสียงลงประชามติอย่างไร จะผิดกฎหมายหรือไม่ พยานเห็นว่า ถ้าเป็นการบอกความเห็นของตัวเอง โดยไม่ได้ชี้นำคนอื่นให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ถือว่าเป็นความผิด
14 กุมภาพันธ์ 2561
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง: ประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอภูเขียวผู้จับกุม
เริ่มสืบพยานเวลาประมาณ 10.00 น. ประเสริฐ เบิกความว่า อายุ 48 ปี เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยเป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 2 และร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 พยานชี้ตัวจตุภัทร์ และวศิน ที่นั่งอยู่ในห้องได้ถูกต้อง พยานรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอภูเขียว ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน
พยานเบิกความอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำบัญชีของกลางที่ตรวจยึด อัยการโจทก์ยังนำภาพถ่ายของกลาง และภาพถ่ายจำเลยทั้งสองในวันเกิดเหตุ ให้พยานรับรอง พยานดูแล้วรับว่า ใช่ อัยการถามพยานว่า เอกสารที่ยึดได้มีข้อความอย่างไร พยานตอบว่า โหวตโนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการชี้นำประชาชน
พยานตอบทนายจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า ทราบว่าการลงประชามติในปี 2559 มีที่มาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 จากนั้นแต่งตั้ง สนช. ขึ้นทำหน้าที่แทน ส.ส. และ ส.ว. แต่การฉีกรัฐธรรมนูญ และล้มรัฐสภาจะเป็นความผิดฐานเป็นกบฎในราชอาณาจักรหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายถามว่า เหตุที่พยานไม่ตอบเพราะเกรงจะกระทบหน้าที่การงานหรือเพราะพยานมีความรู้ไม่พอ พยานตอบว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคล
ทนายจำเลยที่ 1 ถามในประเด็นต่อไปว่า พยานทราบหรือไม่ว่า คสช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยมีมาตราสำคัญคือ มาตรา 44 ให้ คสช. มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่ทำแล้วไม่มีความผิด พยานตอบว่า ทราบ แต่การที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยดังกล่าวเรียกว่าเผด็จการหรือไม่ สมควรให้ลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปลัดอำเภอภูเขียวไม่ขอตอบ ทนายถามว่า ที่พยานเรียนปริญญาตรีและโท มีการสอนถึงความแตกต่างระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยหรือไม่ ทำให้พยานแยกสองสิ่งนี้ได้หรือไม่ ปลัดฯ ก็ไม่ขอตอบเช่นเดิม ส่วนมาตรา 44 จะขัดกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ เพราะไม่ได้เป็นผู้ใช้ ม.44
พยานโจทก์ปากนี้ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ด้วยการไม่ขอตอบอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ใช่หรือไม่ เมื่อทนายนำโปสเตอร์ “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ให้ดู แล้วถามถึงกราฟฟิกรูปทหารคายพานรัฐธรรมนูญว่า พยานเข้าใจไปเองว่าเป็นรูปยักษ์ใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายจำเลยที่ 1 ถามอีกว่า พยานกลัวคำว่า vote no ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ เมื่อทนายชี้ให้ดูคำดังกล่าวในโปสเตอร์ “7 เหตุผลฯ” ประเสริฐตอบว่า ไม่กลัว
พยานผู้ร่วมจับกุมจำเลยยังคงไม่ขอตอบ เมื่อทนายจำเลยที่ 1 ถามต่ออีกหลายคำถามในประเด็นที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559
เกี่ยวกับเอกสารของกลางที่โจทก์นำมาฟ้องฉบับสุดท้ายคือ “ความเห็นแย้ง คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” ปลัดอำเภอภูเขียว ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่าไม่ได้เปิดดูรายละเอียดเช่นกัน อีกทั้งเมื่อเห็นเอกสารดังกล่าวก็ไม่ได้รู้สึกกลัว หรือรู้สึกถูกข่มขู่
โปสเตอร์ “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” มีข้อความด้านล่างว่า “ประชาธิปไตยใหม่” พยานเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า เห็นแล้วเข้าใจว่าเอกสารดังกล่าวจัดทำโดยกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ส่วนข้อความ “vote no ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” จะแสดงถึงจุดยืนของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ แต่พยานเห็นแล้วทราบว่า กลุ่มประชาธิปไตยใหม่มีเจตนาจะรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านพยานโจทก์อีกว่า ใบปลิว “7 เหตุผลฯ” ไม่ได้ปรากฏข้อความเชิญชวนให้ประชาชนไม่ไปรับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่า มีข้อความว่า “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” แต่ไม่มีข้อความเชิญชวนเรียกร้องต่อประชาชน ในหน้าหลังของโปสเตอร์ก็เป็นเพียงเหตุผลที่ชี้แจงเท่านั้น
ปลัดอำเภอภูเขียวเบิกความด้วยว่า นอกจากร่างรัฐธรรมนูญ พยานยังได้รับเอกสารชี้แจงของ กรธ. และ กกต. ซึ่งส่งมาที่อำเภอเพื่อให้เผยแพร่ให้ประชาชน ซึ่ีงพยานได้อ่านเอกสารเหล่านั้นด้วย แต่พยานไม่ขอตอบว่าได้อ่าน “คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” หรือไม่
ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านประเสริฐในประเด็นการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในช่วงการลงประชามติว่า ประชาชนโดยทั่วไปมีสิทธิแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชมหรือไม่ และบุคคลจะประกาศจุดยืนของตนเองว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ปิดกั้นสิทธิของคนอื่นได้หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
15 กุมภาพันธ์ 2561
ศาลเริ่มสืบพยาน 10.15 น. พยานวันนี้คือ พ.ต.ต.เดชพล อายุ 48 ปี ขณะเกิดเหตุอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดปทุมธานี
ทั้งนี้มีการแจกเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ประเด็นคำถามเพิ่มเติมให้กับส่วนราชการในจังหวัดชัยภูมิทุกแห่ง โดยทั้งหมดนั้นเป็นการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ผ่านทางศูนย์ศึกษาประชาธิปไตย (ศ.ส.ป.ช.ต.) ส่วนใครจะไปใช้สิทธิอย่างไรนั้น เป็นสิทธิแต่ะคน
พยานตอบคำถามอัยการว่า เอกสารหมาย จ.7 ที่จำเลยแจก เป็นเรื่อง 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 เป็นความเห็นแย้งกับรัฐธรรมนูญและไม่ใช่เอกสารของ กกต. พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน
และเนื้อหาที่แจกให้ประชาชนเป็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญและวิธีการร่างฯ รวมถึงขั้นตอนร่างฯ กกต.เป็นคนกำหนดเนื้อหา ส่วนกิจกรรมทั้งหกนั้น รด.จิตอาสา รด.ที่ว่า คือ เด็กมัธยม การอบรมนักเรียน คือ เพื่อให้ไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง ส่วนการอมรมที่โรงแรมนั้น ทางโรงแรมเป็นผู้บันทึกเสียงเอง ไม่มีการถอดเทป
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญนั้น ที่เห็นเป็นเล่มที่ กกต. ทำเผยแพร่ เมื่อทนายถามว่า ในร่างนี้เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างไร พยานตอบว่า ใช้ได้ ส่วนเรื่องหน้าที่ของรัฐอ่านแล้ว ส่วนตัวคิดว่าใช้ได้เหมือนกัน หัวข้อที่เขียนว่าการได้รับการคุ้มครองจนแก่เฒ่า ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเป็นมาตรฐาน ส่วนที่มา ส.ส./ ส.ว. เป็นวิธีการใหม่ ยังเปรียบเทียบไม่ได้ เรื่องการปฏิรูปเขียนเป็นเค้าโครง ไม่ได้เอาบทมาตรามาใส่
ทนายถามว่า พยานไปลงประชามติ อย่างไร พยานตอบว่าไปลงประชามติ ให้ผ่าน นอกจากนี้พยานยังตอบคำถามทนายอีกว่า บุคคลสามารถเห็นแย้งได้กับร่างรัฐธรรมนูญฯ 2559 ข้อแตกต่างระหว่างปี 2550 กับ ปี 2559 คือปี 2559 ให้เลือกทั้งคนทั้งพรรคไปด้วย พยานเห็นว่าเป็นวิธีการใหม่ ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ และหลักการเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีจะขัดหรือแย้งกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่นั้น แล้วแต่มุมมอง
พยานเบิกความว่า ทราบว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะผ่านไปแล้ว อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงอยู่ และทราบว่ามาตรา 44 ยังใช้อยู่ทุกวันนี้ และมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตย ส่วนจะเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่นั้น แล้วแต่มุมมอง พยานทราบอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 มีมาตรา 5 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องที่ประเทศหาทางออกไม่ได้ และมีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้ทำงานด้วยความอิสระน้อยลง และให้องค์กรอิสระควบคุมนักการเมือง พยานทราบว่ามีกลุ่มคนที่กังวลเรื่องสิทธิเรียนฟรีที่หดหายไปในร่างรัฐธรรมนูญฯ
พยานเบิกความรับว่า ในห้าปีแรกสมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ และที่เหลือรวม 250 คน มาจากการแต่งตั้ง และมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ได้ 2 สมัย ส่วนจะขัดหรือแย้งกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่นั้น แล้วแต่มุมมอง
นอกจากนี้พยานยังเบิกความว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกล่าวหาคดีนี้ รู้จักจำเลยที่ 1 ว่า เป็นที่รู้จักในนาม “ไผ่ ดาวดิน” และการที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองเป็นเรื่องที่ดี
พยานเบิกความว่า กระบวนการประชามติ จัดทำเฉพาะการหยั่งเสียงมติเรื่องใหญ่ๆ ที่กระทบกับคนในประเทศ กระบวนการนั้นต้องได้รับการรับรู้จากผู้ที่จะออกเสียง ทุกฝ่ายควรได้เผยแพร่ความคิดเห็นเท่าๆ กัน พยานตอบคำถามอีกว่า ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญเพียงบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงาน ส่วนเอกสารที่ กกต. แจกนั้นเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนทราบว่าลงประชามติอย่างไร อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ เป็นเรื่องกระบวนการขั้นตอน ที่กระตุ้นให้คนมาออกเสียง พยานยอมรับว่า กิจกรรมของ กกต. ไม่ได้ทำเพื่อเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำอยู่แล้ว
การทำกิจกรรม ทั้ง 6 กิจกรรมในจังหวัดชัยภูมิ ก็เป็นการรณรงค์ให้คนไปออกเสียงประชามติ ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเลย พยานตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านว่า ทราบว่าในระหว่างการทำประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นั้น กกต. ได้จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับทุกครัวเรือน โดยจัดส่งตามทะเบียนบ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง
ทนายจำเลยถามว่า การแถลงข่าวของพลเอกประยุทธ์ มีผลต่อการโหวต Yes รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานตอบว่า แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล มีสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่ก็ได้ ทนายจำเลยถามต่อว่า การแสดงความเห็นของพลเอกประยุทธ์ ดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่า เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
16 กุมภาพันธ์ 2561
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่: กำนัน ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผู้ร่วมจับกุม
พยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นกำนัน ตำบลผักฝัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นตั้งแต่ปี 2552 เพิ่งเกษียนไป ความเกี่ยวข้องในคดีนี้ เป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้ง 2 คน รู้จักกับพ่อของจำเลยมาก่อน พยานจำได้ว่า คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 โดยได้รับแจ้งจากปลัดอำเภอว่า ให้ไปพบที่ สภ.ภูเขียวด่วน เพราะว่าได้รับแจ้งจากคนในเขตเทศบาลอีกทีว่า มีคนคัดค้านการลงประชามติ และมีการบอกว่าจำเลยทั้งสองได้แจกใบปลิวให้กับชาวบ้าน จึงเข้าร่วมตรวจสอบว่า เอกสารนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร จึงได้รู้ว่าเป็นเอกสารคัดค้านการลงประชามติ จากนั้นจึงร่วมกับผู้กำกับสภ.ภูเขียวไปออกตรวจพื้นที่ต่อที่ตลาดสดเทศบาลตำบลภูเขียว แล้วเจอ “ไผ่ ดาวดิน” กับแผ่นพับที่แจก
ตอบทนายถามค้าน
ทนายถามอีกว่า ก่อนหน้านี้ เคยไปบ้านของจำเลยที่หนึ่ง เพื่อถามข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องชูป้ายรัฐประหารหรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ ไม่ทราบ ไม่ขอตอบ และไม่ขอตอบว่า ตนเองเห็นด้วยกับความคิดเรื่องนี้ของลูกบ้านหรือไม่
ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน
ตอบโจทก์ถามติง
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า: สุขสันต์ ผาจันทร์ กองอาสารักษาดินแดน ผู้ร่วมจับกุมจำเลย
พยานรับว่ารู้จัก “ไผ่ ดาวดิน” แต่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ส่วนจำเลยอีกคนนั้นไม่รู้จักมาก่อน อีกทั้งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
21 กุมภาพันธ์ 2561
พยานจำเลยปากที่ 1 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลย
ศาลเริ่มเริ่มพิจารณาคดีเวลาประมาณ 10.15 น. ท่ามกลางผู้สังเกตการณ์คดีและผู้สนใจเข้าฟังประมาณ 20 คน
จตุภัทร์เริ่มเบิกความว่า อายุ 26 ปี จบการศึกษาแล้ว ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ ขณะเกิดเหตุในปี 2559 เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จำเลยที่ 1 เบิกความต่อว่า กลุ่มดาวดินวิตกกังวลว่า การเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่ประกาศปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง และขัดขวางการเลือกตั้งในปี 2557 จะนำไปสู่การรัฐประหาร จึงออกแถลงการณ์คัดค้านการเคลื่อนไหวของ กปปส. โดยวิเคราะห์ว่า จะนำไปสู่การรัฐประหาร นอกจากนี้ จากการที่ กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นโดยไม่สงบ และให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ กลุ่มดาวดินเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ถูกต้อง จึงไปฟ้องศาลปกครองว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จตุภัทร์เบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า หลังการเข้ายึดอำนาจ คสช. ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รวมทั้งออกประกาศ คำสั่งต่างๆ ห้ามการเคลื่อนไหว และชุมนุมทางการเมือง จากนั้น ยุบสภา ปลดคณะรัฐมนตรี แล้วแต่งตั้ง สนช. ขึ้นทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ และเข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศเอง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวของ คสช. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานเป็นกบฏในราชอาณาจักร ตัวเขาร่วมกับบุคคลอื่นเคยไปฟ้องศาลอาญาที่กรุงเทพฯ แต่ศาลไม่รับฟ้อง ในฐานะนักเรียนกฎหมาย เขาเห็นว่า การทำรัฐประหารเป็นการตบหน้านักกฎหมาย กลุ่มดาวดินจึงเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทนายจำเลยถามว่า ทำอะไรบ้างในการคัดค้านรัฐประหาร จตุภัทร์ตอบว่า เช่น ไปที่ห้างเซ็นทรัล ขอนแก่น แยกกันไปอยู่คนละชั้น แล้วตะโกนถามกันว่า ทำไมมีทหารเต็มบ้านเต็มเมือง เป็นกิจกรรมที่ต้องการกระตุ้นให้คนตั้งคำถามกับการที่มีทหารเข้าควบคุมสถานที่ต่างๆ ในขอนแก่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินมีเยอะมาก และที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุดคือ การไปชู 3 นิ้ว ต่อหน้า พลเอกประยุทธ์ ขณะมาตรวจราชการที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งใส่เสื้อที่ติดสติ๊กเกอร์ว่า ไม่-เอา รัฐ-ประ-หาร ทั้งนี้ การชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่พวกเขานำมาจากหนังเรื่อง The Hunger Games หมายถึง สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ การทำกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ทหารโกรธเคืองอย่างมาก และควบคุมตัวเขากับเพื่อน รวม 5 คน ไปปรับทัศนคติที่ค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น
จตุภัทร์เบิกความต่อไปว่า ในวันครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร กลุ่มดาวดินออกมาทำกิจกรรมเพื่อบอกว่า ใน 1 ปี เกิดปัญหาและผลกระทบกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง เช่น เดิมชาวบ้านใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญต่อสู้ได้ แต่หลังรัฐประหารก็ทำไม่ได้เลย มีการชูป้ายและพูดถึงเหตุผลที่คัดค้านรัฐประหาร 7 ประการ เช่น ทหารร่วมมือกับนายทุนสร้างเขื่อน ทำเหมือง ขุดเจาะปิโตรเลียม ทหารไล่ยึดที่ดิน ทหารบังคับให้ มข.ออกนอกระบบ ใช้ ม.44 ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากร่างโดยเผด็จการ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น การทำกิจกรรมครั้งนี้เขาถูกทหารและตำรวจควบคุมตัวโดยใช้ ม.44 ถูกดำเนินคดีขัดคำสั่ง คสช. ต้องขึ้นศาลทหาร
ไผ่ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ถามในรายละเอียดของผลกระทบจากการรัฐประหารที่มีต่อชาวบ้านว่า ทหารจะไปควบคุมการทำกิจกรรมของชาวบ้านในชุมชนโดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 หรือในกรณีที่ดิน ช่วงที่มีรัฐธรรมนูญ 2550 การต่อสู้ระหว่างรัฐกับชุมชน ชาวบ้านสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญคัดค้านจนกระทั่งมีข้อเสนอเรื่องโฉนดชุมนุมและออกข้อบัญญัติชุมชนเพื่อปกป้องทรัพยากรได้ แต่เมื่อมีรัฐประหาร คสช. สามารถไล่รื้อชาวบ้านออกจากที่ดินได้เลย นอกจากนี้ ในการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ซึ่งต้องจัดทำ EIA ที่มีขั้นตอนมากมาย ทำให้โครงการขนาดใหญ่ทำได้ยาก แต่ คสช. ก็ลดขั้นตอนการทำ EIA โดยกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ทำให้โครงการขนาดใหญ่ทำได้ง่ายและเร็วขึ้น รวมทั้ง ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยใช้ ม.44 ซึ่งในรัฐบาลปกติทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านคัดค้าน และมีขั้นตอนให้ชาวบ้านใช้สิทธิโต้แย้ง แต่ช่วงรัฐบาล คสช. ซึ่งใช้ ม.44 สามารถประกาศได้เลยโดยชาวบ้านไม่สามารถคัดค้านได้ เนื่องจากถ้าชาวบ้านออกมาคัดค้านเกิน 5 คน ก็จะขัดประกาศ คสช.ที่ 7/2557 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ถ้าชาวบ้านไม่เชื่อ ทหารก็มีอำนาจนำตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร หรือบุกเข้าค้นบ้าน เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวได้ เคยมีกรณีที่ชาวบ้านไปกินข้าวด้วยกัน ทหารเห็นมีรองเท้าถอดอยู่หน้าบ้านเกิน 5 คู่ ก็เข้าค้นบ้าน
อย่างไรก็ตาม จตุภัทร์ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติ 2559 รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในนาม กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเวทีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เชิญ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรังสิมันต์ โรม จากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ มาเป็นวิทยากรและแสดงความเห็น ใช้ชื่องานว่า “รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ซึ่งก็ถูกทหารเข้ายึดเวที เก็บเก้าอี้ เครื่องเสียง และหลังจากงาน ก็ถูกดำเนินคดี ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ต้องขึ้นศาลทหาร แต่ไม่มีการดำเนินคดีข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งก็ยืนยันว่า ในการจัดเวทีดังกล่าว ตนใช้สิทธิตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557, มาตรา 7 พ.ร.บ.ประชามติฯ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น
ทนายจำเลยถามว่า NDM มีการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่อื่นๆ อย่างไรอีกบ้าง จตุภัทร์ตอบว่า มีการแจกเอกสารที่ราชบุรีและสมุทรปราการ แต่ก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งที่ราชบุรี พยานทราบว่า ศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน อย่างไรก็ตาม การที่รัฐแจ้งความจับคนที่เผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในหลายพื้นที่ ได้สร้างบรรยากาศที่คนคิดต่างมีความผิด ทำให้คนกลัว ไม่สามารถพูดคุยแสดงความเห็นกันได้ ทั้งที่เนื้อหาของเอกสารดังกล่าวก็เอามาจากร่างรัฐธรรมนูญ และการศึกษาทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นหน้าที่ของประชาชน เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน
เกี่ยวกับเอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นของกลางในคดี จตุภัทร์เบิกความว่า จัดทำขึ้นโดย NDM คำว่า “Vote No” หมายถึง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีแนวคิดว่า ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก ซึ่งเป็นจุดยืนของ NDM เนื้อหาในเอกสารแสดงเหตุผล 7 ข้อ ที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยสรุปมาจากร่างรัฐธรรมนูญ 2559 นั่นเอง
โดยเหตุผลข้อแรกที่ระบุว่า “เลือกคนที่ชอบ แต่ได้พรรคที่เกลียด” เป็นการกล่าวถึงวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เขียนไว้แตกต่างไปจากเดิม เดิมมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตและเลือกพรรค ทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือกทั้งคนและพรรคที่ชอบ แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกบุคคล หรือนโยบายพรรคได้ วิธีการดังกล่าวนี้ ไม่ใช่วิธีใหม่ และไม่ใช่วิธีการที่ดี แต่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้สิทธิเลือกทั้ง ส.ส. ที่ดี และพรรคที่มีนโยบายเป็นประโยชน์ ซึ่งวิธีการเดิมเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยมากกว่า ทำให้ผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องต่อสู้ด้วยนโยบาย และ ส.ส. ต้องทำตัวให้เป็นที่ชื่นชอบ วิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. นั้นปรากฏตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 83, 87, 90 และ 91
จตุภัทร์เบิกความอธิบายเหตุผลข้อที่ 3 ในเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะผ่านการลงประชามติ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแล้ว ม.44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ คสช. ยังสามารถใช้อำนาจตาม ม.44 รวมทั้งประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็ยังใช้บังคับอยู่ ปรากฏตามมาตรา 265 และเหตุผลข้อที่ 4 กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 7 กำหนดให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 บัญญัติไว้ในมาตรา 5 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระวินิจฉัยกรณีดังกล่าว
ไผ่อธิบายต่อว่า ในเหตุผลข้อที่ 5 กล่าวถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังรับรองสิทธิเสรีภาพเท่าที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ การบัญญัติเช่นนี้ทำให้เจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลตีความจำกัดสิทธิประชาชนได้มากขึ้น เช่น กลุ่มดาวดินไปชู 3 นิ้ว หรือชูป้ายข้อความคัดค้านรัฐประหาร และแสดงเหตุผลในการคัดค้านรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ก็แปลความว่า การกระทำและป้ายข้อความเหล่านั้นเป็นภัยต่อความมั่นคง นอกจากนี้ ในเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ยังยกตัวอย่างเรื่องสิทธิในการเรียนฟรี 12 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 54 กำหนดให้เรียนฟรี 12 ปี เหมือนกัน แต่แก้ไขให้เริ่มตั้งแต่อนุบาล จึงเรียนฟรีได้ถึงแค่ ม.3 ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่เรียนฟรีได้ถึง ม.6 รัฐธรรมนูญที่ดีควรเพิ่มสิทธิให้กับประชาชน ไม่ใช่ลด เพื่อเป็นการพัฒนากฎหมาย
เอกสาร “7 เหตุผลฯ” ยังระบุว่า มาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมควบคุมตุลาการและนักการเมือง ซึ่งจตุภัทร์เบิกความว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของนักการเมือง ไม่ใช่การถ่วงดุลระหว่างกัน
ทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ถามพยานจำเลยปากนี้
เกี่ยวกับเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” จตุภัทร์ตอบโจทก์ถามค้านรับว่า ในแผ่นแรกด้านหลัง ซึ่งเป็นคำนำมีข้อความระบุว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงได้นำข้อความคิดของคณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร มาจัดทำเป็นคู่มือฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างไร” และในย่อหน้าสุดท้ายเขียนว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอแสดงจุดยืนว่า ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง แม้ในวันนี้ประชาชนจะยังไม่สามารถเลือกตัวแทนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญเองได้ แต่ประชาชนก็ยังมีช่องทางในการกำหนดอนาคตของตนเองโดยการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำพาประเทศและประชาชนไปสู่ความเสียหายมากกว่าที่จะเป็นความเจริญรุ่งเรืองแล้ว ก็ควรที่จะลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเสีย”
อัยการถามค้านถึงเอกสาร “ความเห็นแย้งฯ” จตุภัทร์เบิกความตอบว่า เป็นความเห็นแย้งกับคำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ซึ่งย่อหน้าสุดท้ายมีข้อความว่า “รัฐอาจกล่าวว่าคู่มือฉบับนี้ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แต่เราก็จะขอยืนยันในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน” จริง ซึ่งอาจกล่าวว่า ทุกครั้งที่เราใช้เสรีภาพในการแสดงออก รัฐก็กล่าวหาว่าผิดกฎหมาย
ทนายจำเลยที่ 2 แถลงต่อศาลว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องการจัดทำเอกสารจึงไม่ประสงค์จะสืบจำเลยที่ 2 เป็นพยาน
27 กุมภาพันธ์ 2561
พยานจำเลยปากที่ 2 ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธีระเริ่มเบิกความต่อทนายจำเลยที่ 2 ว่า จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กลุ่มนิติราษฎร์แสดงความไม่เห็นด้วยตั้งแต่กระบวนการได้มาของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากรัฐประหาร 2557
นอกจากนี้สำหรับสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.แม้จะให้สรรหาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ท้ายที่สุดแล้ว ส.ว. ต้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นคนคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย ดังนั้นจึงถือว่า ส.ว. มาจากการคัดเลือกของ คสช. ซึ่งจะง่ายในการสืบทอดอำนาจ
ธีระย้ำว่า จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ก็เพียงพอที่คณะนิติราษฎร์จะมีความเห็นว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559
หลังจากคณะนิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ประเด็นดังกล่าวไปแล้ว ก็มีหลายกลุ่มที่มาขออนุญาตนำหลักการและเหตุผลไปตีพิมพ์และเผยแพร่
ตอบโจทก์ถามค้าน
โจทก์ถามว่า
ตอบทนายถามติง
พยานจำเลยปากที่ 3 ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
ส่วนการออกเสียงประชามติของประเทศไทยนั้น กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2492 แต่ไม่เคยได้ใช้จนกระทั่ง การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และเกี่ยวกับคดีนี้ ส่วนที่มีปัญหา คือ การร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 นับเป็นการออกเสียงประชามติครั้งที่ 2
ส่วนการออกเสียงประชามติปี 2559 มีข้อจำกัดมาก เช่น การออกสื่อต่างๆ และทางด้านกฎหมายก็มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ
ด้านที่มาของ ส.ว. ทั้งหมด 250 คน เป็นไปโดยตำแหน่ง 6 คน คือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม และอีก 194 คน คสช. แต่งตั้ง สรุปแล้วทั้ง 250 คน ในส.ว.ชุดแรก ในเวลา 5 ปี ต้องมาจากการแต่งตั้งของ คสช.
ชำนาญเบิกความต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กำหนดให้อำนาจของ คสช. หมดไป
และในร่างรัฐธรรมนูญ 2559
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน ย่อมทำได้ ในเมื่อรัฐบาลสามารถรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญได้ก็เป็นลักษณะในทางกลับกันว่า ประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ย่อมรณรงค์ให้ไม่รับได้
ทั้งนี้เอกสารที่จำเลยแจก ไม่มีข้อความที่ก้าวร้าว ปลุกระดม หรือข่มขู่ แต่อย่างใด เป็นการรณรงค์ให้ความรู้และให้ความเห็นกับประชาชนว่า ฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่าง มีเหตุผลดังนี้ และบุคคลใดที่ไม่เห็นด้วยกับเอกสารดังกล่าวย่อมโต้แย้งได้ นอกจากนี้บุคคลผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปย่อมมีวิจารณญาณที่จะอ่านเอกสารเพื่อตรวจสอบและไม่ถูกชักจูงได้เพียงเอกสารที่จำเลยแจก
ตอบโจทก์ถามค้าน
การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวและกากบาทได้ครั้งเดียว อาจจะเป็นไปได้ที่ได้ทั้งพรรคที่ชอบและคนที่ชอบ แต่ถือว่าเป็นไปได้น้อยมาก
ส่วนเอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ และ 7 เหตุผลประกอบไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีข้อความบางส่วนเขียนว่า “โหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” นั้น ใช่ตามที่โจทก์ให้ดู และเบิกความต่อไปว่า เมื่อประชาชนได้รับเอกสารดังกล่าวก็สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นเอกสารไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และถ้าประชาชนดังกล่าวเห็นด้วยกับเหตุผลที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะไปโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
อัยการถามย้ำอีกว่า ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องเพราะวินิจฉัยว่า ไม่มีข้อความเกี่ยวกับกับว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่า ไม่ใช่ เนื่องจากศาลวินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวไม่สามารถไปโน้มน้าวประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งเป็นวิญญูชนทั่วไปได้เลยต่างหาก
พยานจำเลยปากที่ 4 โคทม อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้ง
โคทมเริ่มเบิกความตอบคำถามทนายว่า รับราชการตำแหน่งอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2512 กระทั่งปี 2540 ได้รับโปรดเกล้าเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2544 มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม
โคทมตอบคำถามว่า คำว่าประชามติหมายถึง การจัดให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติในกิจการสำคัญของประเทศ โดยหลักสากลแล้ว การลงประชามติ ประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ประชาชนยังมีสิทธิแสดงออกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการลงประชามติ และรัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนแสดงออกอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก็รับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในมาตรา 4 และมาตรา 5
รัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ปี 2492,2511,2517,2534 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2539 กำหนดไว้ว่า ให้ออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยมีมาตราที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบเกี่ยวกับกิจการนั้นแสดงความคิดเห็นได้โดยเท่าเทียม
ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็กำหนดไว้คล้ายคลึงกัน ในมาตรา 165 ว่า การออกเสียงประชามตินั้น รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ ให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบพร้อมกิจการนั้นมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียม
โคทมอธิบายต่อว่า ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มีการลงประชามติโดยใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญปี 2541 ว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ และพระราชบัญญัติประชามติ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลักๆ คือ กำหนดห้ามมิให้ซื้อสิทธิขายเสียงและก่อความวุ่นวายในการลงประชามติ นอกจากนี้ยังจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จำนวนประมาณ 3 ล้านเล่ม แจกจ่ายทั่วประเทศ
สำหรับบรรยากาศการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ประชาชนมีความตื่นตัวน้อย ส่วนตัวเห็นว่า รัฐบาลมอบให้หน่วยงานในท้องที่เป็นผู้อธิบายให้กับประชาชน ซึ่งเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีมากมาย
ทั้งคนที่อธิบายและคนที่รับการอธิบายไม่มีความเข้าใจในรายละเอียดหรือเข้าถึงข้อมูลได้เพียงพอ จึงทำให้ประชาชนตื่นตัวน้อย
นอกจากนี้การทำความเข้าใจกับ พ.ร.บ.ประชามติฯ ปี 2559 ว่า การรณรงค์ทำได้แค่ไหนเพียงใดนั้น มีความเข้าใจที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะมาตรา 7 ที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ฝ่ายปฏิบัติ กลับยึดมาตรา 61(2) ในกฎหมายดังกล่าวจำกัดสิทธิของประชาชน
ส่วนตัวโคทมเห็นว่า ตามมาตรา 7 ที่วางหลักไว้ว่าประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถือว่าผูกพันต่อรัฐ ซึ่งรัฐบาลต้องให้หลักประกันในเรื่องดังกล่าว และพึงสนับสนุนให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติ โดยรู้เท่าทันและเข้าถึงข้อมูล
ทั้งนี้ตามมาตรา 61(1) ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ กำหนดไว้ว่าเพื่อให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต้องไม่วุ่นวาย และเพื่อขยายความของคำว่าวุ่นวาย จึงมีเขียนไว้ในวรรคสอง แต่การขยายความดังที่กล่าวมา ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือเริ่มต้นจากเสรีภาพก่อน ซึ่งหากไม่มีความวุ่นวาย ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะนำความในวรรคสอง ของมาตรา 61 มาใช้
โคทมยังอธิบายว่า ความผิดตามมาตรา 61 นั้น ต้องประกอบด้วย องค์ประกอบดังนี้ 1.เผยแพร่ข้อมูลให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง 2.กระทำโดยรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปลงประชามติออกเสียงทางใดทางหนึ่ง
โคทมเบิกความเพิ่มเติมว่า ในความเห็นของเขา คำว่าปลุกระดม ขออ้างอิงคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีความหมายว่า เร้าใจ ยุยง ให้ประชาชนลุกฮือขึ้น
ทั้งนี้การให้เหตุผลหรือแสดงความคิดเห็น เช่น แจกเอกสาร โดยไม่มีพฤติการณ์อื่นที่ปลุกเร้าหรือยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น โคทมเห็นว่า ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61
ตอบโจทก์ถามค้าน
โคทมตอบคำถามอัยการว่า จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนปริญญาโทและปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายหรือนิติศาสตร์
ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ การแสดงความคิดเห็นต้องกระทำโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ว่าบุคคลใดจะแสดงออกเพื่อชักจูงให้บุคคลอื่นรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตนก็เห็นด้วย เนื่องจากเป็นไปตามหลักเสรีภาพว่าบุคคลย่อมแสดงออกไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้ โดยเสมอภาคกัน
สรุปแล้วความผิดตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ต้องมี 2 อย่าง คือ 1.บิดเบือนข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ข่มขู่หรือปลุกระดม 2. มุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านคำพิพากษา วันที่ 29 มีนาคม 2561
สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น