- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ฐานข้อมูลคดี

ชื่อคดี
ผู้ต้องหา
สิรภพ
สถานะคดี
คำอธิบายสถานะคดี ภาษาไทย
ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด
สถานะผู้ต้องหา
อื่นๆ(แม้คดีนี้ศาลจะให้รอการลงโทษจำคุก แต่สิรภพยังคงถูกคุมขังเพราะไม่ได้ประกันตัวในคดี 112)
ข้อหา / คำสั่ง
ประกาศ/คำสั่งคณะปฏิวัติ, ฝ่าฝืนประกาศคสช. 41/2557
เนื้อหาคดีโดยย่อ
สิรภพใช้นามปากกา Rungsila เขียนบทความและกวีเกี่ยวกับการเมืองเผยแพร่บนเว็บไซต์และเฟซบุ๊กส่วนตัว ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 44 เรียกบุคคลรายงานตัวเพิ่มเติมโดยบุคคลที่มีรายชื่อในคำสั่งฉบับนี้ส่วนหนึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลังเข้ารายงานตัว
แม้จะมีชื่อในคำสั่งรายงานตัว แต่สิรภพไม่เข้ารายงานตัวตามกำหนดในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ต่อมาในวันที่ 25 มิถุนายน 2557 สิรภพถูกกลุ่มบุคคลพร้อมอาวุธดักจับระหว่างที่รถของเขากำลังจะเข้าตัวเมืองกาฬสินธุ์
สิรภพถูกคุมขังด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึกหนึ่งคืนก่อนถูกส่งมาควบคุมตัวต่อที่กองปราบจนครบเจ็ดวัน จึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. วันที่ 2 กรกฎาคม 2557 สิรภพได้รับการประกันตัวในคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว แต่ในเย็นวันเดียวกันเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็อายัดตัวเขาไปดำเนินคดีมาตรา 112 หลังจากนั้นสิรภพก็ไม่ได้เคยได้ประกันตัวอีกเลย
การสืบพยานคดีนี้เริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2557 จนถึงเดือนสิงหาคม 2559 มีพยานเบิกความรวมห้าปาก เป็นพยานโจทก์สี่ปาก พยานจำเลยหนึ่งปากคือตัวจำเลย แม้พยานคดีนี้จะมีไม่มากแต่ระบบการนัดสืบพยานของศาลทหารที่ไม่มีการนัดต่อเนื่อง แต่ละนัดเว้นหนึ่งถึงสองเดือนแล้วแต่กรณี รวมทั้งมีกรณีที่พยานโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งล่วงหน้าทำให้มีการเลื่อนนัดถึงสามครั้ง ทำให้การสืบพยานคดีนี้ใช้เวลานาน
ในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ศาลทหารนัดสืบพยานจำเลยปากที่สองแต่จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ ศาลจึงยกเลิกการสืบพยานและนัดสิรภพฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ทั้งนี้ก่อนการนัดฟังคำพิพากษา จำเลยยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลแต่ถูกศาลตีกลับและสั่งให้แก้คำแถลงปิดคดีบางจุด โดยจุดที่ศาลให้แก้เป็นส่วนที่พูดถึงการยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารในฐานะรัฎฐาธิปัตย์
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ศาลทหารพิพากษาว่าสิรภพมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวเพราะเห็นว่าสิรภพทราบถึงคำสั่งดังกล่าวแต่ไม่ปฏิบัติตาม ส่วนที่สิรภพสู้ว่าการไม่เข้ารายงานตัวเป็นการทำอารยขัดขืนนั้น ศาลเห็นว่าในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.เข้าควบคุมอำนาจสำเร็จแล้ว ประกาศคำสั่งจึงมีสถานะเป็นกฎหมาย การที่จำเลยไม่เข้ารายงานตัว แม้จะอ้างว่าเป็นการทำอารยะขัดขืนก็ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย พิพากษาจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ปรับ 18,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกแปดเดือนปรับ 12,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษเอาไว้กำหนดสองปี
เนื่องจากเหตุแห่งคดีนี้เกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งศาลทหารมีการพิจารณาเพียงชั้นเดียว คดีจึงเป็นที่สิ้นสุด สำหรับตัวสิรภพ แม้ศาลจะให้รอการลงโทษจำคุกคดีนี้แต่เนื่องจากเขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสู้คดี สิรภพจึงไม่ได้รับการปล่อยตัว
ภูมิหลังผู้ต้องหา
อายุ 52 ปี เป็นนักกิจกรรมเสื้อแดงที่เน้นทำการณรงค์ผ่านอินเทอร์เน็ตผ่าน โดยใช้นามแฝง “รุ่งศิลา”หรือ “Rungsira” ก่อนถูกจับกุมประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างอยู่ในจังหวัดสงขลา
-
รูปแบบการจำกัดเสรีภาพ
การดำเนินคดี, การคุกคามโดยตำรวจ/ทหาร, มีหมายเรียก
-
ประเภทสื่อ
อื่นๆ
-
จังหวัด
กรุงเทพมหานคร
-
ศาล
ศาลทหารกรุงเทพ
-
หมายเลขคดีดำ
เลขคดีดำคือเลขที่ศาลออกเมื่อประทับรับฟ้องคดี
ชั้นศาล: ศาลทหารกรุงเทพ Bangkok Mlitary Court No: 40 ก./2557 วันที่: 2014-08-15
ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 หลังการประกาศยึดอำนานของคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรียกให้บุคคลไปรายงานตัว ซึ่งในคำสั่งนั้นมีชื่อของสิรภพ อยู่ด้วย แต่สิรภพไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด
ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2557 จึงถูกออกหมายจับ และถูกจับกุมโดนเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557
สิรภพถูกควบคุมตัวโดยทหารขณะกำลังเดินทางผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ไปยังจังหวัดอุดรธานี โดยขณะเดินทางด้วยรถตู้อยู่บนถนนกำลังจะเข้าเมืองกาฬสินธุ์มีรถฟอร์จูนเนอร์ปาดหน้าและมีทหารไม่แต่งเครื่องแบบอย่างน้อย 5 พร้อมอาวุธครบมือลงมาจากรถ และมีทหารจากรถอีกคันจอดประกบอยู่ด้านหลังพร้อมอาวุธครบมือเข้าล้อมรถ
ทหารบังคับให้ทุกคนหมอบลงบนพื้นที่เปียกด้วยฝน ต่อมาจึงควบคุมตัวคนขับรถ และสิรภพ ไปที่หน่วยราชการในจังหวัดกาฬสินธุ์หนึ่งคืน หลังจากนั้นจึงนำไปคุมตัวที่ค่ายสีหราชเดโชชัย จังหวัดขอนแก่น 1 วัน ก่อนจะส่งตัวมาควบคุมต่อที่กรุงเทพฯ จนครบ 7 วัน
1 กรกฎาคม 2557
ที่กองบังคับการปราบปราม สิรภพถูกตั้งข้อกล่าวหาเนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 41/2557 และควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของกองปราบปราม
2 กรกฎาคม 2557
สิรภพถูกควบคุมตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวและถูกปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น อย่างไรก็ตามหลังการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อายัดตัวเขาไปสอบสวนต่อในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่กองบังคับการ ปอท. และถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อเตรียมส่งตัวไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลอาญารัชดาในวันถัดไป
ทั้งนี้การอายัดตัวสิรภพต่อของเจ้าหน้าที่ ปอท.เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 มีผู้เข้าแจ้งความกรณีที่เขาโพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว และเคยเขียนกลอนลงเว็บบอร์ดประชาไท
3 กรกฎาคม 2557
สิรภพถูกส่งตัวไปขออำนาจศาลอาญาฯ ฝากขัง โดยมีญาติและทนายทำเรื่องขอประกันตัว แต่เอกสารไม่ครบสิรภพจึงถูกควบคุมตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
9 กันยายน 2557
6 กรกฎาคม 2558
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ต่อจากนัดที่แล้ว ครั้งนี้เป็นการถามค้านจากฝ่ายทนายจำเลย
พยานตอบคำถามทนายจำเลยที่ถามว่า ก่อนรัฐประหาร ปี 57 มีการชุมนุมของกลุ่มการเมืองหลากหลายกลุ่มหรือไม่ พยานตอบว่า ทราบว่ามีการชุมนุมทางการเมืองเรื่อยมาจนถึงปี 2557 แต่ไม่ทราบว่ามีกลุ่มการเมืองใดเสนอให้ทำการรัฐประหารหรือไม่
พยานทราบภายหลังการรัฐประหารว่ารัฐสภายุติการปฏิบัติหน้าที่ และทราบว่าหากประมุขของรัฐไม่ทำการรับรองการกระทำของคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารก็จะกลายเป็นกบฏ ทั้งนี้ พยานไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และยืนยันว่าจำเลยมีสิทธิแสดงออก แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
คำถามต่อมา หลังรัฐประหารมีกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมหรือไม่ และตอบทนายจำเลยว่า พยานจะไม่จับกุมตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สำหรับคำสั่ง คสช. พยานเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ถูกต้อง
ทนายจำเลยถามอีกว่า หลังรัฐประหาร ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พยานตอบว่า หลังรัฐประหารประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า หลังรัฐประหาร ตนได้ติดตามข่าวสารและพบว่ามีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
พ.อ.บุรินทร์ ระบุว่า มีการจับกุมผู้ที่ทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ยอมรับว่าบุคคลที่ถูกจับนั้นไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านการรัฐประหาร ทั้งนี้ พยานยืนยันว่า การกระทำของตนคือการทำตามกฎหมาย
และไม่ขอตอบคำถามทนายจำเลยที่ถามว่า ในการจับกุมจะดูที่เจตนาของบุคคลที่มุ่งมั่นจะก่อความไม่สงบ เช่น เป็นแกนนำ
พยานแถลงว่า พยานไม่ได้เป็นผู้จับกุมตัวจำเลย เป็นเพียงผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเท่านั้น และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จับและกักตัวจำเลยถูกต้องตามกฎอัยการศึก และควบคุมไว้ที่กองปราบ โดยให้ญาติมาพบได้
อีกทั้งไม่ทราบว่ามีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นหลังการรัฐประหาร และเมื่อทนายจำเลยถามว่าภายหลังการยึดอำนาจ ประชาชนควรจะเชื่อฟังรัฐบาลหรือคณะรัฐประหาร พยานตอบว่า คณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 22 พฤษภาคมแล้ว
ภายหลังทนายจำเลยถามค้านเสร็จ อัยการศาลทหารลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า คำสั่ง คสช. ถือเป็นกฎหมาย ผู้ออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ถืออำนาจ 3 ฝ่าย หลังสืบพยานปากนี้เสร็จ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 7 กันยายน 2558
7 กันยายน 2558
จากเฟซบุ๊กศูนยท์ทนายความฯ ที่ศาลทหารกรุงเทพ ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลแจ้งอานนท์ นำภา ทนายความจำเลย ให้ทราบถึงการนำเอาคำเบิกความ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลไปเผยแพร่ในระบบอินเตอร์เน็ต เป็นช่องทางให้ผู้อื่นมาแสดงความคิดเห็นที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ ซึ่งศาลไม่สบายใจต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่นในโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับคำเบิกความของ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ และโพสต์ที่เกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตในการพิจารณาของศาล บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของทนายอานนท์ นำภา
ทนายอานนท์ รับทราบและชี้แจงว่า คดีนี้มีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย การนำเอาข้อความหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาไปเผยแพร่ย่อมสามารถกระทำได้ อย่างไรก็ดี ทนายความจำเลยจะใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เพื่อให้ได้สัดส่วนของการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และจะพิจารณาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และจะพิจารณาปิดกั้นข้อความการแสดงความคิดเห็นที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ทนายความจำเลย ยังขอเรียนต่อศาลว่า ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของคดีทางการเมือง มีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารถึงความคืบหน้าและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และให้ประชาชนทราบถึงกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งทนายความทราบถึงความละเอียดอ่อนของกระบวนการพิจารณาในศาลทหาร และให้คำมั่นว่าจะใช้ความระมัดระวัง สื่อสารภายในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและรักษาหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพต่อไป
ทั้งนี้ ทนายอานนท์ นำภา เคยถูกศาลเรียกพบ เพื่อแสดงความไม่สบายใจต่อการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ในลักษณะคล้ายกันนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ที่ศาลทหารกรุงเทพ และศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย
ส่วนการสืบพยานโจทก์ในวันนี้ พยานติดราชการ ศาลจึงเลื่อนนัดไปวันที่ 4 พ.ย. 58
26 มกราคม 2559
-ดูรายละเอียดคดีมาตรา 112 ของสิรภพได้ คลิกที่นี่ http://freedom.ilaw.or.th/case/ุ622
- 112 The Series สิรภพ :บทกวีที่ถูกตามล่า