- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ฐานข้อมูลคดี
ชื่อคดี
ผู้ต้องหา
อุทัย ส.
สถานะคดี
คำอธิบายสถานะคดี ภาษาไทย
ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด
สถานะผู้ต้องหา
รอลงอาญา
ข้อหา / คำสั่ง
มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
เนื้อหาคดีโดยย่อ
อุทัย ส. ถูกกล่าวหาว่ามีใบปลิวที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระราชินีและรัชทายาทอยู่ในบริเวณที่พักอาศัย และได้แจกใบปลิวนั้นให้กับผู้อื่น
ภูมิหลังผู้ต้องหา
นายอุทัย ส. อายุ 38 ปี เรียนจบชั้นป.6 อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอธวัชบุรี มีอาชีพทำนา และรับจ้างในบริเวณหมู่บ้าน เช่น รับจ้างตัดผมหรือซ่อมจักรยานยนต์ และยังมีโรงสีขนาดเล็กรับจ้างสีข้าวในหมู่บ้าน นายอุทัยแต่งงานแล้วและมีบุตรชาย 1 คน อายุ 14 ปี
พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด
คดีนี้พนักงานสืบสวนสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา จึงส่งผ่านตำรวจภูธรร้อยเอ็ดและตำรวจภูธรภาค 4 ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ พิจารณา การประชุมครั้งแรกคณะกรรมการมีความเห็นให้สั่งฟ้อง แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม ในเรื่องความประพฤติของผู้ต้องหา และแหล่งข่าว แต่เมื่อสอบสวนเพิ่มเติมและส่งไปอีกครั้ง คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ มีคำสั่งให้ไม่ฟ้อง เสนอให้ผบ.ตร.พิจารณา หลังจากนั้นจึงเสนอสำนวนกลับมายังสถานีตำรวจภูธรจังหวัด แต่พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งให้ส่งฟ้องผู้ต้องหา
ข้อกล่าวหา
หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท
-
รูปแบบการจำกัดเสรีภาพ
การดำเนินคดี
-
ประเภทสื่อ
สื่อสิ่งพิมพ์
-
จังหวัด
ร้อยเอ็ด
-
หมายเลขคดีดำ
เลขคดีดำคือเลขที่ศาลออกเมื่อประทับรับฟ้องคดี
No: อ.1292/2555 วันที่: 2012-04-05
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 จำเลยแจกเอกสารใบปลิวที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระราชินีและรัชทายาทให้ผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน
ตำรวจทั้งจากสภ.เชียงขวัญ และสภ.ธวัชบุรี มาหาจำเลยที่บ้าน แจ้งข้อกล่าวหา และให้จำเลยรับสารภาพ
21 สิงหาคม 2555
นัดสืบพยานโจทก์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ได้รับแจ้งใบปลิว และผู้ไปแจ้งความ
29 สิงหาคม 2555
นัดสืบพยานโจทก์ ต่อด้วยสืบพยานจำเลย
24 กันยายน 2555
นัดสืบพยานจำเลย
22 พฤศจิกายน 2555
นัดฟังคำพิพากษา ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด ห้องพิจารณาคดี 14
21 สิงหาคม 2555
ณ บัลลังค์ที่ 14 ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด
เวลาประมาณ 10.00 น. นายอุทัย ส. จำเลย และทนายความมาศาล อัยการไม่มาศาล
เวลา 10.40 น. นายชัยพร ศรีโบราณ ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังค์ ยามประจำศาลเดินเข้ามาใส่กุญแจมือให้นายอุทัย
ผู้พิพากษาเริ่มต้นอ่านคำพิพากษา มีใจความดังนี้
ศาลพิเคราะห์หลักฐานทั้งโจทก์และจำเลยและข้อมูลเบื้องต้น รับฟังได้ว่าใบปลิวมีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 นายสว่าง เวียงสระ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 อำเภอเชียงขวัญ ได้รับใบปลิวดังกล่าวมาจากนางไพรวัลย์ ตามภิบาล ภริยาของนายธงชัย ตามภิบาล ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 นายสว่างนำใบปลิวดังกล่าวไปมอบให้นายวีระ วรวัฒน์ และวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 นายวีระนำใบปลิวดังกล่าวไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเชียงขวัญ พนักงานสอบสวนรับเรื่องไว้สอบสวนเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 และออกหมายเรียกผู้ต้องหา ในชั้นสอบสวนให้การปฏิเสธ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือ จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
โจทก์มีนายธงชัยเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 เวลาประมาณ 18.00 น. ได้ไปที่บ้านของจำเลยพร้อมกับนางไพรวัลย์ ภริยาของพยานเพื่อเก็บเสื้อคอกระเช้าจากภริยาของจำเลย ซึ่งนายธงชัยว่าจ้างให้ถักเสื้อรอบคอรอบแขน นายธงชัยถอยรถตู้ไปจอดที่หน้าบ้านของจำเลย ขณะนั้นจำเลยกับภริยาของจำเลยรออยู่แล้ว ภริยาของจำเลยเข้าไปในบ้านและนำเสื้อคอกระเช้ามาวาง จำเลยถามพยานว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง พยานบอกว่า ไม่ได้เสื้อไหน ภริยานายธงชัยเป็นผู้นับจำนวนเสื้อ ส่วนนายธงชัยนั่งรออยู่บนแคร่และกระท่อมซึ่งอยู่หน้าบ้านของจำเลย สักครู่หนึ่ง จำเลยถามพยานว่า เคยอ่านอันนี้ไหม แล้วส่งกระดาษขนาดเอสี่ ซึ่งวางอยู่บนแผ่นไม้ที่พาดไว้ใต้หลังคากระท่อมมาให้อ่าน นายธงชัยอ่านได้ 3-4 บรรทัด ภริยาก็ชวนกลับบ้าน นายธงชัยจึงวางกระดาษดังกล่าวลงบนแคร่และหอบเสื้อคอกระเช้าขึ้นรถตู้ ขณะที่กำลังจะขึ้นรถตู้ จำเลยบอกว่าเอาไปอ่านต่อที่บ้านก็ได้นะแล้วนำกระดาษดังกล่าวมามอบให้พยาน กระดาษที่จำเลยมอบให้นายธงชัยนั้นมีประมาณ 7-8 แผ่น พอกลับถึงบ้าน นายธงชัยไม่สนใจเอกสาร หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน ขณะที่นายธงชัยอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ ภรรยาได้โทรมาถามว่า ผู้ใหญ่บ้านถามว่าเก็บเอกสารที่ได้มาจากบ้านชาดไว้หรือไม่ มีเจ้าพนักงานตำรวจมาถามผู้ใหญ่บ้าน จึงบอกภรรยาว่ามีเอกสารที่หน้ารถตู้ ระหว่างพูดคุยโทรศัพท์นั้น ภริยาของนายธงชัยก็ได้หยิบเอกสารที่วางอยู่หน้ารถตู้ไปให้ผู้ใหญ่บ้าน
โจทก์มีนางไพรวัลย์ ภริยาของนายธงชัย และ นายสว่าง เรืองศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5
เป็นพยานเบิกความ
นายสว่างเบิกความว่าเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ขณะที่กำลังทำงานได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่กองกำลังอาสารักษาดินแดน หรือ อส. ถามว่ามีเอกสารหมิ่นเบื้องสูงอยู่ในพื้นที่หรือไม่ หลังจากนั้นอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่อส.มาถามว่า เห็นใบปลิวหมิ่นเบื้องสูงหรือไม่ นายสว่างบอกว่าไม่มี อส.บอกให้ลองถามชาวบ้านด้วย ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. นายสว่างถามชาวบ้านไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านนางไพรวัลย์ นางไพรวัลย์บอกว่าไปส่งเสื้อผ้าที่บ้านชาดที่บ้านของจำเลย ได้เอกสารกระดาษขนาดเอสี่ เมื่อนายสว่างอ่านข้อความในเอกสารแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 จึงนำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้นายวีระ วรวัฒน์ ปลัดอำเภอเชียงขวัญ
โจทก์มีนายวีระเป็นพนักงานเบิกความด้วย
ศาลเห็นว่า นายธงชัยและนางไพรวัลย์ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยหรือภริยาของจำเลยมาก่อน คำเบิกความของโจทก์สอดคล้องกันว่าจำเลยหยิบกระดาษซึ่งวางอยู่บนแผ่นไม้ที่พาดอยู่ใต้หลังคามาให้นายธงชัยอ่านและขณะที่พยานกำลังจะขึ้นรถตู้ จำเลยได้บอกให้เอาเอกสารดังกล่าวไปอ่านด้วย คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากมีความน่าเชื่อถือ และเบิกความสอดคล้องกัน
ส่วนจำเลยมีจำเลยเป็นพยานเบิกความ สรุปได้ว่า จำเลยมีภริยาชื่อนางสมพาน รับจ้างถักเสื้อมาตั้งแต่ก่อนปี 2552 โดยรับว่าจ้างถักเสื้อตัวละสามบาท แต่ละวันภริยาของพยานถักเสื้อได้วันละประมาณสิบตัว จำเลยบอกภรรยาว่าไม่คุ้มกับการที่ต้องปวดตา ให้เลิกทำ ภริยาของพยานก็ไม่เลิกและนำเสื้อมาถักทออยู่เรื่อยมา จำเลยไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มใด ในหมู่บ้านก็มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่ส่วนใหญ่ชอบเสื้อแดง
ในเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นฤดูฝน วันเกิดของหลานชายจำเลยชื่อด.ช.ขจรศักดิ์
บิดาของจำเลยนั่งอยู่ใต้ถุนบ้าน ส่วนภรรยาของจำเลยไปบ้านซึ่งจัดงานวันเกิดของด.ช.ขจรศักดิ์ จำเลยอยู่ที่โรงสี จนเวลาเย็นมีรถมาที่บ้าน จึงทราบว่าเป็นรถที่นำเสื้อมาส่ง บิดาของจำเลยบอกให้จำเลยไปสีข้าวก่อน จะไปเรียกภริยาของจำเลยมาให้ จำเลยจึงไปสีข้าว ต่อมาจนเวลา 19.00 น. ก็นำข้าวสารไปส่ง กลับมาเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.ก็ไม่พบใครจึงเข้าใจว่าไปอยู่ที่บ้านที่จัดงานวันเกิด
หลังจากนั้นหลายวัน มีเจ้าพนักงานจากสถานีตำรวจภูธรเชียงขวัญมารับตัวจำเลยไป เจ้าพนักงานตำรวจบอกว่ามีคนได้รับใบปลิวจากบ้านของจำเลยและบอกให้จำเลยรับสารภาพ จำเลยไม่รู้เรื่องจึงไม่รับสารภาพ มีคนหนึ่งทราบชื่อภายหลังว่าคือนายธงชัยมาพูดคุยกับจำเลย ก่อนหน้านั้นจำเลยและนายธงชัยไม่เคยพูดคุยกันมาก่อน นายธงชัยบอกจำเลยว่าให้รับสารภาพ เรื่องนี้ไม่มีอะไรหรอก ใบปลิวที่ได้มานั้นตอนไปกาฬสินธุ์ก็เจอ ตอนนั้นจำเลยยังไม่ได้เห็นใบปลิว เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลย ต่อมาสัก 2-3 เดือน เจ้าพนักงานตำรวจจากสภอ.ธวัชบุรีไปที่บ้าน โดยมีนายธงชัยและนางไพรวัลย์ไปด้วย และถามว่าเคยเห็นใบปลิวหมิ่นสถาบันฯ หรือไม่ เจ้าพนักงานตำรวจมาถ่ายภาพ ขณะนั้นจำเลยนั่งถักแหอยู่ ตำรวจบอกว่าจะถ่ายไปเป็นหลักฐานและจะให้ลงชื่อแต่จำเลยไม่ลงชื่อ และบอกว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ทนายความจำเลยถามตำรวจว่าในบ้านจำเลยมีเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องถ่ายเอกสารหรือไม่ พบว่าไม่มี
ต่อมาพนักงานสอบสวนโทรศัพท์มาเรียกจำเลยไปให้ปากคำในฐานะผู้ต้องหา จำเลยยืนยันความบริสุทธิ์
ในวันที่เจ้าพนักงานตำรวจบอกให้รับสารภาพ จำเลยบอกว่าจะรับสารภาพได้อย่างไร จำเลยไม่ทราบว่ากล่าวหาเรื่องอะไร หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้พบนายธงชัยอีกจนกระทั่งมาเบิกความต่อศาล จำเลยไม่รู้จักและไม่เคยพบนายสว่างมาก่อน จำเลยได้อ่านใบปลิวตามเอกสารครั้งแรกเมื่อพนักงานส่งสำนวนสอบสวนที่สำนักงานตำรวจภูธร ธวัชบุรี ไม่เข้าใจเนื้อหาว่าหมายถึงเรื่องอะไร
พนักงานสอบสวนจดปากคำนางไพรวัลย์ ลำพองชาติ เพื่อนบ้าน นายสุวรรณ สรรพคุณ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทั้งหมดให้การว่าจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสถาบัน และชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมด 67 คนลงลายมือชื่อรับรองว่าจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูง
วันที่ 26 กรกฎาคม 2552 นายธงชัยและนางไพรวัลย์ ไม่เคยไปที่บ้านของพยาน ศาลเห็นว่า ที่จำเลยเบิกความว่านายธงชัยและนางไพรวัลย์พยานโจทก์ ไปบ้านของจำเลยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ซึ่งมีการจัดงานวันเกิดของด.ช.ขจรศักดิ์นั้น มีเพียงจำเลย นางสมพาน ภริยาจำเลย และนายไล้ บิดาของจำเลยเบิกความยืนยัน โดยมิได้มีการนำเจ้าภาพงานวันเกิดหรือผู้รู้เห็นอื่นๆ มาเป็นพยานเบิกความยืนยัน และที่จำเลยอ้างว่าจำเลยทะเลาะกับภริยาหลายครั้งเรื่องที่รับเสื้อมาปักและอยากให้เลิก เหตุนั้นไม่น่าจะเป็นเหตุให้นายธงชัยหรือนางไพรวัลย์รู้สึกโกรธเคืองถึงกับปรักปรำจำเลยให้ต้องรับผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นกับองค์พระมหากษัตริย์และรัชทายาทโดยไม่มีมูลความจริง
พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ จำเลยนำเอกสารที่มีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ลักษณะเช่นเดียวกับใบปลิวซึ่งอยู่ที่หน้าบ้านของจำเลยมาให้นายธงชัยอ่านและให้นำเอกสารดังกล่าวไป จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ขณะเกิดเหตุมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนหลายกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน จำเลยย่อมได้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองจากสื่อต่างๆ ทั้งฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาล ใบปลิวของกลางนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำขึ้น คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นว่าจำเลยกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งจำเลยมีความประพฤติเรียบร้อย มีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2ปี กับให้คุมความประพฤติจำเลย และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4ครั้ง กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นควรเป็นเวลา 18 ชั่วโมงภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ยึดใบปลิวของกลาง.