1622 1178 1146 1732 1957 1845 1657 1306 1693 1347 1817 1226 1090 1755 1584 1788 1681 2000 1451 1797 1640 1329 1346 1357 1143 1890 1888 1922 1025 1298 1016 1816 1051 1524 1546 1912 1962 1481 1876 1347 1542 1979 1353 1407 1578 1990 1792 1290 1620 1347 1134 1351 1499 1404 1671 1394 1990 1642 1273 1722 1755 1445 1516 1390 1549 1302 1997 1780 1486 1871 1936 1369 1637 1268 1060 1761 1701 1362 1941 1353 1490 1173 1309 1982 1137 1953 1116 1999 1333 1663 1256 1209 1629 1174 1324 1058 1182 1301 1185 พลิกโฉมการตีความ "มาตรา 112" ยกฟ้องตลอดปี 2561 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

พลิกโฉมการตีความ "มาตรา 112" ยกฟ้องตลอดปี 2561

 

ข้อหา "หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ" ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นข้อหาหนักหน่วงที่น่ากลัวที่สุดสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประชาชนอย่างน้อย 95 คนถูกจับกุมและดำเนินคดีโดยอำนาจของทหาร บางรายต้องขึ้นศาลทหาร และเผชิญกับโทษจำคุก 10 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม ปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2550 และต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 10 ปี 
 
ปัญหาความน่ากลัวของ "มาตรา 112" ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากตัวบทกฎหมายเองที่เปิดช่องให้ตีความได้กว้าง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากบรรยากาศทางการเมืองที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดคู่ขัดแย้งทางการเมือง ยิ่งช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองสูง ตัวเลขของผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย
 
แม้กฎหมายอาญามาตรา 112 จะมุ่งเอาผิดเฉพาะกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคลสี่คน ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่เราก็เคยเห็นคำพิพากษาของศาลหลายคดีที่ลงโทษการแสดงความคิดเห็นที่ใช้ลักษณะการเปรียบเปรย ไม่เอ่ยชื่อบุคคล หรือใช้ชื่อสมมติแทน โดยศาลตีความถ้อยคำอย่างกว้างให้หมายถึงบุคคลหนึ่งในสี่ที่กฎหมายคุ้มครองได้ เช่น คดีของสมยศ คดีของยศวริชญ์ คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ฯลฯ และยังมีคดีที่ตีความกว้างจนไปตั้งข้อหากับคนที่เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง กระทั่งมีคดีที่ศาลพิพากษาให้การเอ่ยถึงรัชกาลที่ 4 ก็เป็นความผิด 
 
ในยุคสมัยที่การกล่าวถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นอ่อนไหวอย่างสูงสุด เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งผู้พิพากษาต่างก็มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดปกติ ในหลายกรณีผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หากพยายามต่อสู้คดีว่า เนื้อหาที่ได้พูดไปนั้นไม่เข้าข่ายความผิด แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชนะคดี เนื่องจากหลักการตีความกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างแคบที่สุดเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แทบจะไม่ถูกใช้กับคดีลักษณะนี้
 
 
1011
 
 
แต่อย่างไรก็ดี แนวทางการตีความกว้างขวางเพื่อเอาผิดกับจำเลยนั้นเปลี่ยนไปแบบพลิกโฉม "หน้ามือเป็นหลังมือ" ตลอดปี 2561
 
สัญญาณการพลิกโฉมการตีความเริ่มขึ้นครั้งแรกในคดีของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ถูกตั้งข้อหาจากการอภิปรายในเวทีวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยสมเด็กพระนเรศวรมหาราช หรือที่เรียกกันว่า "คดีหมิ่นพระนเรศวรฯ" ซึ่งเกือบจะกลายเป็นคดีที่ต้องตีความมาตรา 112 ให้กว้างที่สุดย้อนหลังไปถึงกษัตริย์ในสมัยอยุธยา แต่เมื่อ 17 มกราคม 2561 อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยให้เหตุผลเพียงว่า หลักฐานไม่เพียงพอ 
 
ตามด้วยคดีที่สังคมให้ความสนใจมาก คือ คดีของนูรฮายาตี หญิงตาบอดที่ถูกศาลจังหวัดยะลาพิพากษาให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 จากการแชร์บทความบนเฟซบุ๊กของเธอ เธอขึ้นศาลและรับสารภาพจึงได้รับการลดโทษให้ต้องจำคุกน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับความผิดฐานนี้ แต่หลังคดีนี้กลายเป็นข่าวดังได้ไม่นาน 23 มกราคม 2561 ทนายความเปิดเผยว่า นูรฮายาตี ได้รับการปล่อยตัวโดยทางครอบครัวได้รับโทรศัพท์จากทางเจ้าหน้าที่ศาลให้ไปรับตัวผู้ต้องขัง โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำเรื่องขอประกันตัว และไม่ทราบว่าประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์วงเงินเท่าไร แต่ต่อมาก็มีข่าวว่า เธอถูกดำเนินคดีใหม่ในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงอย่างเดียว
 
หลังจากนั้นสัญญาณการพลิกโฉมก็ชัดเจนขึ้นอีกในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดอกกแนวปฏิบัติสำหรับคดี มาตรา 112 โดยเฉพาะ ให้ทุกคดีต้องผ่านอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสำนวนและสั่งคดีเพื่อให้เกิดความรัดกุมยิ่งขึ้น 
 
 
ในปี 2561 เท่าที่มีข้อมูลว่า ศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ไปอย่างน้อย 7 คดี ซึ่งศาลพิพากษาให้ยกฟ้องทั้งหมด ได้แก่
 
 
ธานัท หรือ "ทอม ดันดี" อดีตนักร้องดังถูกคุมขังมาตั้งแต่ปี 2557 และถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 รวมสี่คดี ซึ่งสองคดีแรกศาลพิพากษาให้ลงโทษไปแล้ว รวมสองคดีต้องโทษจำคุก 10 ปี 10 เดือน สำหรับอีกคดีหนึ่งที่ถูกฟ้องจากการปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณตลาดจตุจักร ในอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เมื่อปี 2554 ธานัทให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และศาลอาญาอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ให้ยกฟ้อง โดยให้เหตุผลเพียงว่า ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องยังไม่สามารถทำให้ปรากฎได้ว่า คำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายความผิดตามฟ้องจริง 
 
 
อีกคดีหนึ่งของธานัท หรือ "ทอม ดันดี" เขาถูกกล่าวหาว่า กล่าวปราศรัยในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สวนสาธารณะอนุสรณ์สถานเขาแก่นจันทร์ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี 2553 ธานัทให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาอีกเช่นกัน และศาลจังหวัดราชบุรีอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำตามบรรยายฟ้องโจทก์ยังไม่แจ้งชัดพอที่จะรับฟังได้ว่า การปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง 
 
หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องธานัททั้งสองคดีในปีนี้ ธานัทก็ยังคงต้องรับโทษอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อตามคำพิพากษาคดี 112 อีกสองคดีที่พิพากษาไปก่อนหน้านี้  
 
 
ทนายประเวศ เป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่เคยต่อสู้คดีให้ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ก่อนมาตกเป็นจำเลยเองจากการโพสต์เฟซบุ๊ก เขาถูกฟ้องว่า โพสต์เฟซบุ๊กที่ผิดมาตรา 112 จำนวน 10 ครั้ง และผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 อีกสามครั้ง ในคดีนี้ทนายประเวศใช้วิธีพิเศษในการต่อสู้คดี เขาปฏิเสธอำนาจศาล ไม่ยอมให้การ ไม่ถามค้านพยานฝ่ายโจทก์ ไม่หาพยานจำเลยมานำสืบหักล้างเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่ลงชื่อในเอกสารใดทั้งสิ้น ขณะที่ศาลไม่ให้ประกันตัวและสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับไปฝ่ายเดียว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาให้ ประเวศมีความผิดตามอาญามาตรา 116 สามกรรมพิพากษาจำคุกกรรมละห้าเดือนรวม 15 เดือน และมีความผิดฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ พิพากษาจำคุกหนึ่งเดือน รวมจำคุก 16 เดือน ไม่ปรากฎว่า ศาลกล่าวถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ในคำพิพากษาเลย
 
 
"เค" เป็นนามสมมติของวัยรุ่นในจ.ชลบุรี ที่โพสต์ภาพเหรียญหลายชนิดและประกาศขายในราคาเดียวกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกับข่าวเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจและมีกลุ่มประชาชนบุกไปทำร้าย "เค" ถึงหอพักจนเป็นข่าวดัง ต่อมา "เค" ถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ขายเหรียญดังกล่าว ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ศาลจังหวัดชลบุรีอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 แต่ให้ลงโทษจำคุก 8 เดือนฐานนำเข้าข้อมูลเท็จตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
ศาลจังหวัดชลบุรี อธิบายเหตุผลในการยกฟ้องข้อหามาตรา 112 ด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันมีคุณประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทยนานัปการ ทรงพระปรีชาสามารถปราดเปรื่องและพระจริยวัตรเปี่ยมด้วยคุณธรรมทุกประการ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงสิริราชสมบัติเพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรม และราชสังคหวัตถุ ทรงเจริญด้วยพระเกียรติคุณบุญญาธิการ เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญทุกทิศานุทิศนับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตราบจนปัจจุบัน พระเกียรติยศของพระองค์ท่านรวมทั้งความรักเคารพเทิดทูนของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระองค์ท่านจจึงไม่แปรผันไปตามมูลค่าของเหรียญกษาปณ์ที่สูงขึ้นหรือต่ำลง
 
 
ในปี 2560 มีข่าวจับกุมกลุ่มวัยรุ่น 8 คนและผู้ใหญ่อีกหนึ่งคน รวมเป็น 9 คน ฐานเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่หลายอำเภอ ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งทั้งหมดถูกดำเนินคดีแยกเป็นอย่างน้อยสามคดีในข้อหาอั้งยี่, ซ่องโจร, วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ และข้อหามาตรา 112 จากการเผาแต่ละจุดแตกต่างกัน จำเลยแต่ละคนถูกดำเนินคดีในจำนวนไม่เท่ากัน ทั้งหมดให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาในแต่ละคดีให้จำเลยแต่ละคนต้องจำคุกไม่เท่ากัน อยู่ระหว่าง 2 ปี 6 เดือน ถึง 6 ปี 6 เดือน หลังจากนั้นจำเลยบางคนยื่นอุทธรณ์
 
18 กันยายน 2561 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า แม้จำเลยทั้งหกจะให้การรับสารภาพ แต่พิจารณาตามฟ้องโจทก์แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอันได้แก่ซุ้มประตู ไม่ปรากฏว่า มีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงให้ยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 และให้ลงโทษในความผิดฐานซ่องโจรและวางเพลิงเผาทรัพย์แทน ซึ่งศาลได้กำหนดโทษให้น้อยลงมา
 
 
สกันต์ เป็นนักโทษคดีเตรียมการวางเพลิงระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อรับโทษครบเขาถูกอายัดตัวมาดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อทันที เขาถูกฟ้องจำนวนสามกรรม จากการกล่าวถ้อยคำจำนวนสามครั้งขณะที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยมีอดีตเพื่อนนักโทษเป็นพยาน สกันต์เริ่มจากปฏิเสธว่า เขาถูกใส่ร้ายโดยนักโทษที่ไม่พอใจเนื่องจากเขาได้เป็นผู้ช่วยผู้คุม แต่ต่อมากลับคำให้การเป็นรับสารภาพ จนกระทั่ง 14 พฤศจิกายน 2561 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ข้อความที่อัยการระบุว่าจำเลยได้พูดในเรือนจำฯ จำเป็นต้องตีความและในข้อความดังกล่าวไม่ได้ระบุว่ากล่าวถึงใครอย่างชัดเจน
 
 
อานันท์ วัย 70 ปี ถูกฟ้องว่า กล่าวพาดพิงสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ตั้งแต่ปี 2555 แต่คดีค้างอยู่ในชั้นตำรวจ คดีกลับมาเดินหน้าในยุคของ คสช. ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาให้ยกฟ้องตามมาตรา 112 เพราะไม่ใช่การหมิ่นบุคคลที่กฎหมายคุ้มครอง แต่ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 326 ทั้งที่ยังมีปัญหาในทางกฎหมายว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาต้องให้ผู้เสียหายเป็นผู้ร้องทุกข์และดำเนินคดีเอง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องทั้งหมด
 
นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ศาลฎีกาพิพากษาให้ จําเลยมีความผิดตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกกรรมละ 1 ปี รวม  2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้ปรับกรรมละ 20,000 บาทรวมเป็น 40,000 บาท 
 
 
การใช้ดุลพินิจของศาลเพื่อพิจารณาว่า การกระทำตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้นเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดหรือไม่ หากไม่เข้าข่ายว่าจะต้องเป็นความผิด แม้จะเลยรับสารภาพศาลก็พิพากษายกฟ้องได้ เป็นการใช้อำนาจโดยชอบที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในคดีส่วนใหญ่ หากจำเลยรับสารภาพศาลก็มักไม่ค่อยใช้ดุลพินิจเช่นนี้มากนัก และยิ่งในคดีมาตรา 112 ที่ก่อนปี 2561 ศาลมักตีความอย่างกว้าง การที่ศาลหลายแห่งต่างใช้ดุลพินิจยกฟ้องมาตรา 112 ทั้งที่จำเลยรับสารภาพ จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจ
 
อย่างไรก็ดี ในหลายคดี เช่น คดีของทนายประเวศ คดีของ "เค" และคดีของอานันท์ เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 112 แล้วก็กลับลงโทษจำเลยในความผิดฐานอื่น ซึ่งในความผิดฐานอื่นศาลยังคงใช้วิธีตีความอย่างกว้างเพื่อลงโทษจำเลย ซึ่งบางคดีฝ่ายจำเลยก็พร้อมใช้สิทธิอุทธรณ์ และในทางหลักการกฎหมายยังเป็นข้อน่ากังขาที่ควรหยิบยกมาพูดถึงกันให้มากขึ้นต่อไป 
 
สำหรับปรากฏการณ์การตีความ "มาตรา 112" แบบพลิกโฉมที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยตลอดปี 2561 หากเป็นไปเพื่อรักษาหลักการทางกฎหมายโดยศาลและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องถือเป็นสัญญาณอันดีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย แต่หากเป็นปรากฏการณ์ที่แปรผันไปตามบรรยากาศทางการเมืองมากกว่าหลักการทางกฎหมายก็ยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่า เมื่อปี 2561 สามารถพลิกโฉมไปเช่นนี้ได้แล้วจะมีปีพ.ศ.ใดที่จะพลิกโฉมไปทางใดได้อีก