1397 1654 1392 1691 1026 1537 1881 1193 1941 1901 1870 1945 1119 1657 1455 1451 1867 1082 1391 1773 1508 1831 1766 1644 1074 1119 1417 1056 1426 1813 1400 1734 1369 1526 1590 1177 1609 1487 1033 1081 1674 1052 1265 1628 1823 1574 1706 1490 1124 1834 1315 1813 1020 1299 1430 1161 1582 1196 1324 1538 1265 1369 1419 1045 1875 1258 1891 1114 1371 1965 1795 1907 1340 1222 1927 1811 1873 1163 1039 1835 1087 1104 1165 1889 1632 1339 1979 1803 1347 1983 1786 1466 1973 1950 1838 1926 1879 1903 1248 Stand Together ครั้งที่สี่: พร้อมเดินหน้านิรโทษกรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Stand Together ครั้งที่สี่: พร้อมเดินหน้านิรโทษกรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน

3046
 
วันที่ 26 ธันวาคม 2567 เวลา 14.00 น. iLaw จัดงาน Stand Together ครั้งที่สี่ ณ อาคาร ALL RISE รัชดา-ลาดพร้าว ชวนฟัง พูดคุย และส่งกำลังใจให้กับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ในเดือนแรกของปี 2567 ที่คดีการเมืองยังคงไม่มีท่าทีจะหยุดลง และมีนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 มากถึงสิบคดี แม้จะมีรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งมาได้สักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม
 
ในการจัดกิจกรรมวันนี้ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้แจ้งให้ประชาชนเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์ไปสู่การนิรโทษกรรมประชาชนที่จะเกิดขึ้น และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเปิดให้ประชาชนช่วยกันลงชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนด้วย 
 
ภัสราวลี: คำปราศรัยล่องหนที่สื่อสารตรงถึงพระมหากษัตริย์
 
3047
 
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 มกราคม 2567 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 กล่าวว่า คำปราศรัยในวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่สี่แยกราษฎ์ประสงค์ นั้นเป็น "คำปราศรัยล่องหน" ที่ถูกทำให้หายไปหมดแล้ว เพราะหลายสื่อหลายช่อง เช่น สำนักข่าว Voice TV ได้ลบคลิปการปราศัรยดังกล่าวไปแล้ว โดยในการชุมนุมครั้งนั้นผู้มีส่วนร่วมหลายคนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่ภัสราวลีถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพียงคนเดียว 
 
ภัสราวลียืนยันว่า การปราศรัยครั้งนั้นมีความสุภาพ นอบน้อม และจริงใจในการนำเสนอปัญหาทางสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สถาบันกษัตริย์มองเห็นถึงความสำคัญว่าทำไมประชาชนต้องออกมาชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะเชื่อว่าประชาชนสามารถสื่อสารข้อเรียกร้องไปยังพระมหากษัตริย์โดยตรงได้ (สามารถอ่านสรุปคดีนี้ได้ที่: https://tlhr2014.com/archives/28109)
 
“มายด์ยังจำคำปราศรัยของวันนั้นได้ไม่ลืม.. สิ่งที่สื่อสารในวันนั้นไม่ได้สื่อสารถึงพระมหากษัตริย์อย่างเดียว แต่สื่อสารถึงคนสามกลุ่ม สื่อสารถึงประชาชนว่า ให้เห็นว่าตอนนี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร รักได้แต่ต้องรักให้ถูกทาง ถึงกลุ่มอนุรักษ์นิยมว่าเห็นเหมือนกันใช่ไหมว่ามีปัญหา ถ้ายิ่งดึงดันกันต่อไปความล่มสลายคงมาในไม่ช้า และสุดท้ายถึงองค์พระมหากษัตริย์… เป็นคำถามเป็นข้อเสนอแนะที่เราพยายามพูดกับพระองค์ท่านโดยตรงว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ อยากให้ท่านเองก็ได้รับรู้ถึงข้อกังวลตรงนี้ด้วย”
 
ภัสราวลีกล่าวว่า ถึงแม้เนื้อหาในวันดังกล่าวจะพูดบนพื้นฐานความเป็นจริง มีการอ้างอิงบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ และประกาศที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะทั้งสิ้น อีกทั้งยังไม่มีคำหยาบคาย แต่ก็ยังทำให้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ถูกแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษโดยกลุ่ม “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน” หรือ ศปปส. แต่ก็ไม่ได้โกรธที่พวกเขาพยายามดำเนินคดี เพราะคิดว่าพวกเขายังไม่คุ้นชินนักกับความแตกต่างหลากหลายในสังคมเพียงเท่านั้น 
 
การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทำให้เสียเวลาในชีวิตเยอะมากรวมทั้งยังทำให้คนรอบตัวเริ่มเว้นระยะห่างมากขึ้น สิ่งนี้ส่งผลกระทบไปสู่ครอบครัวของเธอด้วย ตัวอย่างสำคัญคือกรณีที่เพื่อนฝูงของแม่ภัสราวลีเริ่มนำครอบครัวของเธอไปนินทาลับหลังจนสภาพจิตใจของครอบครัวย่ำแย่ นอกจากนี้ยังต้องรับมือจากการถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปถึงที่พักอาศัย โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปพูดคุยกับพ่อที่เป็นผู้พิการภัสราวลีให้ได้แม้จะรู้ว่าไม่มีใครอยู่ที่บ้านประหนึ่งจงใจ
 
“การโดนมาตรา 112 ทำให้เราถูกตีตราจากสังคมว่าเราเป็นคนล้มเจ้า… กำแพงวาทกรรมแบบนี้ทำให้สิ่งที่เราอยากสื่อสารจริงๆ ถูกกั้นกำแพงจากฝ่ายตรงข้าม” มายด์เล่า
 
ลลิตา: รับสารภาพด้วยเงื่อนไขชีวิตของตัวเอง
 
3048
 
ลลิตา มีสุข ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 มกราคม 2567 จากกรณีแชร์ Tiktok วิจารณ์การใช้ภาษีของประชาชน เล่าภูมิหลังของเธอว่า เป็นคนที่ใช้ชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาตั้งแต่เด็กจนทำให้ได้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างสองแห่ง แม้คนในกรุงเทพฯ จะรู้สึกว่าหลายสิ่งในเมืองมีปัญหาแต่ก็ยังห่างไกลจากความเหลื่อมล้ำที่เธอพบเจอมาจากต่างจังหวัด ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ทำให้ลลิตาพยายามสื่อสารมาตลอดตั้งแต่ยังเรียนอยู่มัธยมศึกษา โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งระหว่างชุมนุมเสื้อสีในกรุงเทพฯ
 
ขณะนั้นโรงเรียนของลลิตายังเปิดพื้นที่ให้ทหารได้เข้าไปประจำการเพื่อสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการสลายการชุมนุม “ทุกวัน” ด้วยกระสุนและแก๊ซน้ำตาส่งผลกระทบต่อมุมมองทางการเมืองของของลลิตาเป็นอย่างมาก เธอจึงแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เสมอมาจนกระทั่งปี 2564 ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองหลังยุคชุมนุมเสื้อสี
 
ต่อมาลลิตาพูดถึงต้นเหตุการถูกคดีครั้งนี้ว่า มาจากการทำคลิปวิจารณ์ตอบโต้ออกนโยบายของพรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านประชานิยมในโครงการประชารัฐ โดยในคลิปดังกล่าวมีการใช้คำราชาศัพท์ทั้งสิ้นหนึ่งคำจึงถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีมาตรา 112 แม้ว่าเนื้อหาคลิปจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใดก็ตาม เรื่องนี้ลลิตามองว่าเป็นความพยายาม “บิด” ให้การกระทำของเธอผิดตามมาตราดังกล่าวให้ได้ ซึ่งยิ่งสะท้อนปัญหาของการบังคับใช้มาตรา 112  (สามารถอ่านสรุปคดีนี้ได้ที่: https://database.tlhr2014.com/public/case/1846/lawsuit/625/)
 
เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงรับสารภาพในคดีนี้ ลลิตากล่าวว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน การรับสารภาพในคดีมาตรา 112 ไม่ได้เป็นการยอมรับว่ากระทำสิ่งผิดแต่เป็นสภาวะจำยอมที่ต้องทำ อย่างลลิตามองว่าคุณแม่ของเธอกำลังจะหายจากการป่วยอยู่แล้ว หากเธอต้องสู้คดีไปจนสุดทางกระทั่งเข้าเรือนจำนั้นจะเป็นผลเสียมากกว่าดี อีกทั้งการอยู่นอกเรือนจำยังทำให้สามารถส่งเสียงเรียกร้องและต่อสู้ทางการเมืองต่อไปได้เรื่อยๆ อีกด้วย
 
ถึงแม้จะถูกดำเนินคดีแล้วแต่ลลิตาก็ยังจะทำงานสื่อสารในประเด็นทางการเมืองต่อไปเท่าที่ทำได้ เธอเชื่อว่าจะยิ่งน่าเชื่อถือขึ้นเมื่อเธอกลายเป็นผู้ประสบภัยโดยตรง และหากสามารถพูดคุยชี้แจงกับคนได้มากขึ้นก็เชื่อว่าจะสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ในสักวันหนึ่ง 
 
อุกฤษฏ์: สองคดี หกข้อความ กำลังรอโอกาสจากศาลอุทธรณ์
 
3049
 
อุกฤษฏ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ ก้อง ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 30 มกราคม 2567 จากกรณีแชร์ข่าวชุมนุมประท้วงสถาบันกษัตริย์ในประเทศเยอรมนี กล่าวว่าเขาเริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจังในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะเขามองว่าสังคมที่มีปัญหาผู้นำประเทศก็ควรที่จะใส่ใจแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น ต่อมาจึงเริ่มชุมนุมกับกลุ่ม “ลุกพ่อขุนฯ โค่นล้มเผด็จการ” และกลุ่ม “ทะลุราม” ตามลำดับ เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และการมีรัฐสวัสดิการ
 
ต่อมาอุกฤษฏ์เล่าถึงคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยผ่านเพจเฟสบุ๊กส่วนตัว “John New World” ซึ่งทำให้เขาถูกตำรวจเข้าจับกุมที่ในที่พัก พยายามกดดันให้เขารับสารภาพโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย โชคดีที่ต่อมาเขาได้พบกับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคนที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้องจึงได้บังเอิญพบกับทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น
 
ต่อมาอุกฤษฏ์ยังถูกเจ้าหน้าที่จาก สน.บางแก้วเข้าอาญัติตัวด้วยข้อหาแชร์โพสต์จากเพจ John New World ในข้อหามาตรา 112 อีกหนึ่งคดี และยังถูกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. แจ้งข้อหาเพิ่มในคดีแรกจากสามกรรมเป็นห้ากรรม แม้ว่าข้อกล่าวหาที่เพิ่มเข้ามานั้นอุกฤษฏ์จะไม่ได้มองว่าจะสามารถเข้าข่ายมาตรา 112 ได้ก็ตาม ทำให้เขามีคดีมาตรา 112 สองคดี โดยคดีแรกศาลอาญาตัดสินลงโทษจำคุกห้าปี 30 เดือน ขณะที่คดีที่สองศาลจังหวัดสมุทรปราการตัดสินลงโทษจำคุกสามปี (สามารถอ่านสรุปคดีได้ที่: https://database.tlhr2014.com/public/case/1809/lawsuit/593/) และคดีสองนี้เองที่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กำลังจะมา
 
อุกฤษฏ์พูดคล้ายกับสิ่งที่ลลิตากล่าวก่อนหน้า คือ การถูกคดีมาตรา 112 ทำให้เขาไม่สามารถวางแผนชีวิตในอนาคตได้ โดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่ไม่อยากจะรับพนักงานผู้มีคดีมาตรา 112 ติดตัวจนเขามีปัญหาด้านการเงินในระดับหนึ่ง นอกจากนี้คดีมาตรา 112 ยังทำให้เขามีปัญหาด้านการเรียน เพราะในช่วงของการต่อสู้คดีครั้งแรกเขาสูญเสียเวลาเรียนไปทั้งสิ้นเกือบหนึ่งเทอมจากการไม่ได้ประกันตัวและต้องอยู่ในเรือนจำ จนทำให้หลังประกันตัวต้องไปสอบแต่ละวิชาใหม่