- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
คดีกองทัพเรือฟ้องภูเก็ตหวาน: ตัวอย่างคดีที่อาจไม่หวานสำหรับนักข่าวและสื่อทางเลือกบนโลกออนไลน์
เมื่อเริ่มตั้งเว็บไซต์ข่าว “ภูเก็ตหวาน”
“ผมก่อตั้งเว็บไซต์ภูเก็ตหวานเพื่อเป็นสื่อทางเลือกให้ผู้คนบนเกาะภูเก็ต โดยหวังว่าข่าวสารที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้” คำเบิกความของ อลัน มอริสัน ต่อหน้าผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต และผู้สังเกตการณ์คดีทั้งไทยและเทศกว่า 20 คน
อลัน มอริสัน วัย 65 ปี เป็นนักข่าวชาวออสเตรเลียผู้มากประสบการณ์ และมีรางวัล Walkley National Awards จากประเทศออสเตรเลียการันตีความสามารถในการเป็นผู้สื่อข่าวของเขา
อลันเข้ามาไทยในปี 2545 โดยเริ่มทำงานที่ Phuket Gazette สำนักข่าวท้องถิ่นแห่งเดียวของเกาะภูเก็ตในขณะนั้น ต่อมาปี 2551 เขาก่อตั้งสำนักข่าวภูเก็ตหวาน (Phuketwan.com) เว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษแห่งแรกของเกาะภูเก็ต
อลันเล่าว่า ชื่อ “ภูเก็ตหวาน” แสดงถึงความต้องการของเขาที่อยากเห็นเมืองภูเก็ตที่ “หวานฉ่ำ” มีเสน่ห์ น่าดึงดูด และเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับทุกชีวิตบนเกาะแห่งนี้ โดยเขาเชื่อว่า การนำเสนอข่าวสารอย่างรอบด้านและหลากหลายแง่มุมจะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงได้ในที่สุด
“ภูเก็ตหวานเน้นการนำเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ เราอยากให้รัฐบาลทราบเรื่องราวเหล่านี้เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” อลัน แถลงต่อศาล เมื่อทนายถามถึงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสำนักข่าวภูเก็ตหวาน
2 ปีกับการเดินทางต่อสู้คดีของ 2 นักข่าวภูเก็ตหวาน
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนที่การสืบพยานจะเริ่มขึ้น สำนักข่าวภูเก็ตหวานนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เนื้อหาระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ทางการไทยเกี่ยวข้องในขบวนการ โดยอ้างอิงจากรายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งต่อมารายงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล Pulitzer ข้อความดังกล่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ปรากฏชื่อผู้เขียน คือ อลัน มอริสัน และ ชุติมา สีดาเสถียร
20 กรกฎาคม 2556 ภูเก็ตหวานนำเสนอข่าวที่กองทัพเรือปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรงฮิงญา
3 เดือนต่อมา กองทัพเรือมอบอำนาจให้ น.อ. พัลลภ โกมโลทก แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย บริษัทเจ้าของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน และนักข่าวของภูเก็ตหวาน 2 ราย คือ อลัน และชุติมา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ซึ่งระบุว่า “ผู้ใด .... (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าท้ังหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”
อ่านรายละเอียดคดีกองทัพเรือฟ้องภูเก็ตหวานได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/554
17 เมษายน 2557 พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทีมทนายความของอลันและชุติมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้สลากออมสินมูลค่าคนละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นทุนช่วยเหลือจากศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนอันดามัน เนื่องจากทั้งคู่ไม่เตรียมเงินประกันไปเพราะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการคดีดังกล่าว
ระหว่างคดียังคงอยู่ที่ศาลชั้นต้น นักข่าวทั้งสองยังคงทำหน้าที่รายงานข่าวและหาทางสู้คดี ชุติมาเล่าว่า เธอไปยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย รวมทั้งผู้มีอำนาจในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คำตอบที่เธอได้รับหลังประนีประนอมกับกองทัพเรือผ่านคนกลางเพื่อให้กองทัพเรือถอนฟ้องคดี คือ ภูเก็ตหวานจะต้องขอโทษเพื่อให้กองทัพเรือถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท แต่จะคงไว้แค่ข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ผู้เสียหายไม่สามารถถอนฟ้องได้
14-16 กรกฎาคม 2558 นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โดยวันแรกเป็นการสืบพยานโจทก์ ส่วนวันที่สองและวันที่สามเป็นการสืบพยานจำเลย เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันสืบพยานจำเลย อัยการไม่มาตามนัดทั้ง 2 วัน จึงไม่มีการถามค้านจากฝ่ายโจทก์
15 กรกฎาคม 2558 ชุติมา นักข่าวอาวุโสของภูเก็ตหวาน ขึ้นเบิกความในฐานะพยานต่อจากอลัน เธอยืนยันว่า เธอเป็นคนนำข้อความที่ถูกฟ้องจากรายงานของรอยเตอร์สมาอ้างอิงในบทความของเธอที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน แต่ตัวเธอไม่ใช่ผู้นำบทความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ก่อนการอ้างอิงข้อความที่ถูกฟ้อง เธอได้โทรศัพท์ตรวจสอบข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อข่าวจากหน่วยงานทั้งจากกองทัพเรือและกองบังคับการตำรวจน้ำแล้ว
ชุติมา ทำงานเป็นนักข่าวให้กับภูเก็ตหวานตั้งแต่ปี 2552 เธอเป็นผู้สื่อข่าวที่สนใจเรื่องผู้อพยพชาวโรฮิงญา และสิ่งที่ยืนยันความสนใจของเธอได้ดีคือหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่อง "บทชาติพันธุ์วรรณนาชาวโรฮิงญาในบริบทสังคม วัฒนธรรม และการเมืองไทย-เอเชีย" และบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษซึ่งล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮิงญา นอกจากนี้เธอยังมีส่วนร่วมโดยเป็นแหล่งข้อมูลให้กับสำนักข่าวรอยเตอร์สในช่วงที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อเขียนรายงานชิ้นปัญหาอีกด้วย
ภายหลังการสืบพยาน ชุติมาบอกว่า เหตุที่อ้างอิงรายงานจากรอยเตอร์สก็เพราะต้องการให้คนไทยได้รับรู้ว่าสื่อต่างชาติเขามองปัญหาเรื่องโรฮิงญาในบ้านเราอย่างไร ไม่ได้มีเจตนาจะใส่ร้ายใคร
การดำเนินคดีไม่ได้ทำให้เรากลัว มันแค่ทำให้เราทำงานยากขึ้นเท่านั้น
เมื่อถามถึงผลกระทบจากการดำเนินคดี ชุติมาเล่าว่า “ตั้งแต่ถูกดำเนินคดี ภูเก็ตหวานก็ไม่เคยหยุดนำเสนอข่าวเรื่องโรฮิงญาเลย เราไม่เคยกลัว แต่การถูกดำเนินคดีมันเพิ่มความยากลำบากให้กับการทำงานของเรามากขึ้น”
ชุติมาต้องเดินทางไปยื่นหนังสือที่กรุงเทพเพื่อเจรจาประนีประนอมอยู่หลายครั้ง นอกจากนี้ คนของกองทัพเรือภาคที่ 3 ก็เคยติดรูปของชุติมาไว้หน้ากองทัพเรือภาคที่ 3 และประกาศไม่ให้นักข่าวภูเก็ตหวานเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ ชุติมายังบอกว่า ทั้งอลันและเธอไม่เคยเซ็นเซอร์การนำเสนอข่าวเรื่องโรฮิงญาเลย
"เราไม่รู้ว่าตัวชี้วัดในการนำเสนอข่าวสารคืออะไร แค่ไหนพูดได้ แค่ไหนพูดไม่ได้ สิ่งที่บอกได้ว่าสื่อควรพูดอะไรบ้างมีเพียงอย่างเดียวคือ มาตรฐานสื่อ นั่นคือ การนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และนำเสนอข่าวสารจากทุกมุมมอง ทุกกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เราจึงยืนยันที่จะทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับชาวโรฮิงญาต่อไป"
เราสู้คดีนี้เพื่อยืนยันเสรีภาพของสื่อทางเลือก
“จริงๆ การดำเนินคดีนี้ไม่ได้กระทบกับชาวโรฮิงญาเป็นหลัก ที่กระทบมากที่สุด คือ เสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย เพราะเรื่องโรฮิงญา ต่อให้สื่อไทยไม่รายงาน แต่สำนักข่าวของต่างประเทศก็สามารถรายงานเรื่องนี้ได้ การนำเสนอข่าวโรฮิงญาในประเทศนี้ไม่ได้ มันแสดงถึงระดับเสรีภาพสื่อที่ตกต่ำอย่างมาก เราจึงสู้คดีนี้เพื่อเสรีภาพสื่อในประเทศไทย” ชุติมาอธิบายหลักการสำคัญในการต่อสู้คดีของเธอ
ชุติมาอธิบายต่อไปว่า ภูเก็ตหวานคือสื่อทางเลือกของเกาะภูเก็ต เพื่อให้ผู้คนได้บริโภคข่าวสารในแง่มุมอื่นบ้าง ดังนั้น การแจ้งความดำเนินคดีกับสำนักข่าวเล็กๆ อย่างภูเก็ตหวาน คือการทำลายขวัญและกำลังใจของสื่อทางเลือกที่อยากจะทำงานเพื่อสังคม
“การบังคับให้คนเรากินอะไรซ้ำๆ ติดต่อกันทุกวันมันเป็นไปไม่ได้หรอก” ชุติมากล่าวทิ้งท้าย
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับเสรีภาพสื่อทางเลือกบนโลกออนไลน์
16 กรกฎาคม 2558 วันสุดท้ายของการสืบพยาน น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเป็นพยานฝ่ายจำเลยในฐานะผู้ที่่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) โดยนพ.นิรันดร์ อธิบายว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ แต่กลับกลายเป็นว่ามีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาละเมิดเสรีภาพการแสดงออกของสื่อและบุคคลทั่วไป โดยนำมาใช้ดำเนินคดีคู่กับกฎหมายหมิ่นประมาทและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นอกจากนี้ทีมทนายยังเบิกอาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นพยานจำเลยในฐานะผู้เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเธอเบิกความว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) คือ การเอาผิดกับบุคคลที่ปลอมแปลงเอกสารหรือเผยแพร่เอกสารเท็จ เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้ (Phishing) ไม่ใช่การนำมาใช้คู่กับกฎหมายหมิ่นประมาท เพราะในประมวลกฎหมายอาญามีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว หากมีการแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย จะทำให้การหมิ่นประมาทในสื่ออินเทอร์เน็ตมีโทษสูงกว่าสื่อประเภทอื่นๆ อย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีคดีความที่สื่อถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) อย่างน้อย 15 คดี
อ่านบทวิเคราะห์การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ควบคู่กับข้อหาหมิ่นประมาทได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/blog/CCA1401
สำหรับคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของสำนักข่าวภูเก็ตหวานสืบพยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลจังหวัดภูเก็ตนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 1 กันยายน 2558
ชนิดบทความ: