1546 1449 1612 1797 1896 1053 1949 1898 1163 1568 1654 1448 1471 1227 1864 1169 1334 1763 1164 1555 1583 1337 1464 1216 1318 1520 1022 1155 1140 1521 1828 1414 1309 1108 1737 1532 1272 1852 1105 1362 1853 1394 1852 1369 1932 1996 1581 1922 1587 1362 1694 1644 1765 1701 1563 1292 1947 1290 1236 1789 1550 1928 1193 1020 1880 1104 1278 1538 1242 1912 1302 1221 1891 1045 1171 1294 1618 1853 1071 1592 1256 1523 1444 1577 1300 1492 1693 1851 1224 1710 1732 1117 1226 1161 1844 1247 1450 1635 1831 แขวนพริกเกลือแขวนกระเทียมรั้วทำเนียบฯประท้วงนายกฯ: ปัญหานิยามของ “การชุมนุมสาธารณะ” แบบไทยๆ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

แขวนพริกเกลือแขวนกระเทียมรั้วทำเนียบฯประท้วงนายกฯ: ปัญหานิยามของ “การชุมนุมสาธารณะ” แบบไทยๆ

 

อ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป
อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
จากกรณีที่นักกิจกรรมสองคน คือ พริษฐ์​ หรือ เพนกวิน และ ธนวัฒน์ หรือ บอลทำกิจกรรมแขวนพริกกระเทียมขับไล่ นายกฯประยุทธิ์หน้าทำเนียบรัฐบาล ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ปรับ คนละ 2,000 บาท ฐานไม่แจ้งการชุมนุมฯ ล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด ผู้เขียนเห็นว่าคดีแขวนพริกเกลือแขวนกระเทียมนี้มีปัญหาที่น่าคิดเกี่ยวกับการตีความนิยามของการชุมนุมสาธารณะภายใต้กฎหมายไทยที่น่าสนใจ จึงขอเชิญผู้อ่านร่วมพิจารณานิยามของ “การชุมนุมสาธารณะ” แบบไทยๆ ด้วยกันครับ
 
ในระดับนานาชาติ คณะผู้เชี่ยวชาญเสรีภาพในการชุมนุมแห่งสภายุโรป ได้นิยาม “การชุมนุม” (assembly)  คือ การชุมนุมของปัจเจกชนกลุ่มหนึ่งที่จงใจรวมตัวกันในที่สาธารณะเป็นระยะเวลาชั่วคราวเพื่อที่แสดงความคิดเห็นสู่สาธารณชน โดยหลักเสรีภาพในการชุมนุมตามหลักสากลจะคุ้มครองการชุมนุมโดยสันติทุกประเภท ทั้งการชุมนุมที่มีและไม่มีการเคลื่อนขบวน ทั้งการชุมนุมในสถานที่สาธารณะและสถานที่เอกชน ทั้งการชุมนุมกลางแจ้งและการชุมนุมในร่ม โดยการชุมนุมนั้นจะต้องประกอบด้วยคนอย่างน้อยจำนวนสองคน (กระนั้นการประท้วงของผู้ประท้วงเพียงคนเดียวก็เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งสมควรได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับปัจเจกชนที่เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะ) ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ คณะผู้เชี่ยวชาญฯเห็นว่า กฎหมายภายในของแต่ละประเทศควรนิยามรูปแบบการชุมนุมให้กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้เนื่องจากรูปแบบการชุมนุมนั้นมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ และก็เป็นหน้าที่ของศาลในประเทศเสรีประชาธิปไตยที่จะได้ตีความคุ้มครองรูปแบบการชุมนุมโดยสันติประเภทใหม่ๆ 
 
ภายใต้กฎหมายไทย พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้ให้นิยาม “การชุมนุมสาธารณะ” ไว้ว่า
 
“การชุมนุมของบุคคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่”
 
เช่นนี้จะเห็นได้ว่า นิยามของ “การชุมนุมสาธารณะ” ตามกฎหมายไทยไม่ได้มีกำหนดขั้นต่ำไว้ว่า ต้องประกอบด้วยกี่คน เพียงแต่กำหนดว่าต้องเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะและบุคคลอื่น(ที่ไม่ใช่ผู้จัด)สามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้
 
ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคดีแขวนพริกแขวนกระเทียมขับไล่ นายกฯประยุทธ์ อาจเทียบเคียงได้กับคดี Tatár and Fábar v Hungary ( ECtHR App nos 26005/08 and 26160/08, 12 June 2012) ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปวางหลักเรื่อง “การแสดงศิลปกรรมทางการเมือง (political performance)” ไว้
 
ในคดี Tatár and Fábar v Hungary ผู้ประท้วงสองคนนำเสื้อผ้าที่สกปรกจำนวนหนึ่งแขวนไว้กับเชือกแล้วผูกรอบรั้วของรัฐสภากรุงบูดาเปสต์เป็นระยะเวลา 13 นาที ในระหว่าง 13 นาทีนั้นผู้ประท้วงได้ตอบข้อซักถามสื่อมวลชน เมื่อครบเวลาทั้งคู่หยุดก็เก็บอุปกรณ์จากรั้วรัฐสภา ในวันเดียวกันนั้นก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กิจกรรมนี้เป็นการแสดงเพื่อให้คนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาความสกปรกโสโครกในการเมืองฮังการี กิจกรรมนี้ไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ เขาเชิญแค่นักข่าวมาทำข่าวและไม่มีการเชิญผู้ชุมนุมอื่นมาเข้าร่วม ต่อมาตำรวจนครบาลบูดาเปสต์ปรับผู้ร้องทั้งสองฐานไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงินราว 250 ยูโร ต่อคน ศาลกรุงบูดาเปสต์ตัดสินว่ากิจกรรมของทั้งคู่เป็นการชุมนุม (organized event) ตามความหมายของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ 
 
ต่อมาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่า กิจกรรมของผู้ร้องเป็นศิลปกรรมการแสดงซึ่งจัดอยู่ในรูปแบบหนึ่งของการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผู้จัดกิจกรรมมิได้มีเจตนาในการจัดการชุมนุมสาธารณะ ไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจว่า เป็นการชุมนุมหากแต่แสดงอย่างชัดแจ้งกับสื่อว่าต่อการที่จะสื่อสารผ่านสื่อเป็นระยะเวลา 13 นาที แม้ว่าการแสดงจะประกอบไปด้วยคนมากกว่าสองคนขึ้นไป แต่ศาลตีความว่า การแสดงบางอย่างนั้นไม่เป็นการชุมนุมสาธารณะ กรณีนี้จึงไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ ดังนั้นศาลจึงพิจารณาคดีนี้ในกรอบของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแทน 
 
หันกลับมาพิจารณาคดีของเพนกวินและบอล คำพิพากษาศาลแขวงดุสิต คดีหมายเลขดำที่ 370/2562 จำเลยทั้งสองคนได้โพสเชิญชวนประชาชนทั่วให้เข้าร่วมกิจกรรมแขวนพริกเกลือกระเทียมไล่ “บิ๊กตู่” ที่รั้วทำเนียบรัฐบาล และอ่านจดหมายเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยถ้อยคำว่า “มึงมาไล่ดูซิ ไล่ซิ ไล่ให้ได้ซิ” ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อถึงกำหนดกลับมีเพียงจำเลยสองคนและผู้สื่อข่าวอีกจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาแจ้งว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้แจ้งล่วงหน้าก่อนไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จำเลยทั้งสองจึงยกเลิกกิจกรรมที่จะจัดขึ้นที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล แล้วนำผู้สื่อข่าวเดินหนีไปจัดกิจกรรมที่ประตู 3 แทน จำเลยทั้งสองอ้างว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมล้านนาที่ใช้พริกแห้ง เกลือและกระเทียมขับไล่สิ่งชั่วร้าย แต่ศาลเห็นว่า ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้นเนื่องจากจำเลยเพียงแค่แขวนอุปกรณ์ที่เตรียมมาไม่ได้ประกอบพิธีกรรมใดอย่างชัดเจน ศาลแขวงดุสิตลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท และริบของกลาง 
 
คดีนี้มีข้อน่าสังเกตว่าศาลแขวงมิได้อธิบายว่า ทำไมกิจกรรมของจำเลยจึงเป็นการชุมนุมสาธารณะ ศาลเพียงแต่ให้เหตุผลว่า ข้ออ้างที่ว่ากิจกรรมนั้นเป็นพิธีกรรมของล้านนานั้นฟังไม่ขึ้นเพราะไม่มีการประกอบพิธีกรรม และการย้ายสถานที่ชุมนุมจากประตู 3 ไป ประตู 4 พร้อมมีการแจกใบปลิวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้สื่อข่าวเป็นการกระทำตามเจตนาเดิมทำให้การชุมนุมนั้นไม่ขาดตอน นอกจากนั้นศาลก็มิได้พิจารณาว่า การชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมโดยพลัน (spontaneous assemblies) หรือไม่ เพราะเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาท้าทาย และที่สำคัญศาลก็มิได้พิจารณาว่า การชุมนุมนี้เป็น “การชุมนุม” ในความหมายสากลหรือไม่ เนื่องจากมีเพียงทั้งจำเลยทั้งสองและสื่อเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของทั้งคู่อาจจัดว่าเป็น “การแสดงศิลปกรรมทางการเมือง” อย่างเช่นในคดี Tatár and Fábar ก็ได้
 
 
1470
 
 
อนึ่งผู้เขียนต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า การกระทำของเพนกวินและบอลมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคดี Tatár and Fábar กล่าวคือ ผู้ประท้วงชาวเมืองบูดาเปสต์มิได้ทำการประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมในกิจกรรมของตน พวกเขาเชิญแค่สื่อมวลชนมาทำข่าวเท่านั้น ในขณะที่สองจำเลยในคดีแขวนพริกมีพฤติการณ์เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ผ่านโซเชียลมิเดีย อย่างไรก็ดีเมื่อตำรวจได้เข้าแทรกแซงโดยอ้างว่า ไม่ได้แจ้งความประสงค์ชุมนุมล่วงหน้าตามกฎหมาย ทั้งสองจึงประกาศยกเลิกกิจกรรมที่ประตู 4 แล้วไปดำเนินการแขวนพริกแขวนเกลือที่ประตู 3 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประกบติดอยู่ตลอดเวลาและเมื่อแขวนเสร็จจำเลยทั้งสองก็ถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่สน.ดุสิตทันที
 
ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาว่า ที่ทั้งสองได้โฆษณาเชิญชวนผ่านเฟสบุ๊กกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้น เป็นการกระทำเดียวกันหรือไม่ และจำเลยทั้งสองเจตนาให้การแขวนพริกหน้าประตู 4 เป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยแค่เปลี่ยนจุดทำกิจกรรมเพราะแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและผู้ที่ผ่านไปมาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ แต่ในขณะเดียวกันศาลอุทธรณ์ (คดีหมายเลขดำ ที่ 156/2563) ก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่า ระหว่างที่ย้ายไปทำกิจกรรมที่ประตู 3 ไม่มีบุคคลใดร่วมเดินขบวนหรือทำกิจกรรม มีเพียงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและผู้สื่อข่าวติดตามมา 
 
ประเด็นข้อต่อสู้ที่เพนกวินและบอลอ้างว่าไม่มีประชาชนมาร่วมกิจกรรมนั้น ผู้เขียนเห็นว่าข้ออ้างนี้มีน้ำหนักมาก เพราะหากข้อเท็จจริงปรากฎแล้วว่า ตำรวจได้เข้าแทรกแซงกิจกรรมและมีการกดดันให้ยกเลิก ส่งผลให้มีการย้ายที่ชุมนุมจริง ข้อเท็จจริงที่ควรจะปรากฎต่อมา คือ ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมควรจะได้ปรากฎตัวในสถานที่ใหม่และดำเนินการชุมนุมในลักษณะเดียวกันกับที่ได้ตั้งใจไว้เดิม ไม่ใช่ปรากฏแต่แกนนำการชุมนุมกับสื่อมวลชนโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมไว้ 
 
ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามหลักสากลรัฐมีหน้าที่พิสูจน์ว่าผู้ชุมนุมได้กระทำความผิด ดังนั้นภาระการพิสูจน์ในข้อนี้รัฐมีหน้าที่จะต้องแสดงหลักฐานให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปยังสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ การชุมนุมของเพนกวินและบอลจึงจะเป็น “การชุมนุมสาธารณะ” ผู้เขียนเห็นว่า เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ใช้วินิจฉัยประเด็นนี้ไม่สู้จะมีน้ำหนักนัก หากดูจากภาพข่าวที่ปรากฏตามสื่อ ผู้เขียนกลับเห็นว่าการแขวนพริกแขวนเกลือนั้นเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ไม่ต่างกับการประท้วงโดยการแขวนผ้าสกปรกที่รั้วรัฐสภากรุงบูดาเปสต์ในคดี Tatár and Fábar v Hungary ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว
 
ผู้เขียนประสงค์จะย้ำว่า ตามหลักสากลนั้นกฎหมายภายในควรมีข้อสันนิฐานว่า ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้ (The presumption in favour of holding assemblies) และรัฐมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและปกป้องการชุมนุมโดยสันติ (The state’s positive obligation to facilitate and protect peaceful assembly) เจตนารมณ์ของกฎหมายการชุมนุมที่กำหนดให้มีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า (notification) เป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเตรียมตัวอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุมโดยสงบนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ใช้กระบวนการแจ้งการชุมนุมสาธารณะเป็นเครื่องมือในการห้ามการชุมนุม นอกจากนั้นเมื่อมีการจำกัดหรือเข้าแทรกแซงการใช้เสรีภาพในการชุมนุม
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะต้องอธิบายให้ได้ว่า มีการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมายเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนอย่างไร (the principle of proportionality) การที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตีความนิยามของการชุมนุมสาธารณะ (ที่ต้องแจ้งล่วงหน้า) ได้โดยอิสระโดยปราศจากการตรวจสอบจากศาลจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายแบบไทยๆ เช่นนี้เราก็คงจะต้องทนกับการใช้กฎหมายแบบ “สนับสนุนไม่ต้องแจ้ง แต่ถ้าค้านถึงจะแจ้งก็ชุมนุมไม่ได้”  ต่อไป