1735 1071 1469 1903 1963 1992 1426 1254 1053 1859 1884 1035 1609 1255 1049 1262 1431 1994 1350 1464 1070 1372 1317 1821 1111 1646 1734 1860 1684 1951 1742 1518 1546 1073 1408 1208 1993 1976 1206 1680 1475 1312 1007 1552 1286 1424 1716 1201 1454 1157 1812 1340 1946 1114 1112 1470 1121 1797 1955 1819 1852 1269 1185 1829 1746 1500 1352 1363 1157 1450 1273 1858 1703 1522 1002 1899 1584 1422 1640 1408 1237 1944 1750 1888 1785 1176 1258 1452 1688 1618 1315 1545 1685 1668 1217 1710 1985 1043 1962 Military Rule: ศาลทหาร เราทำตามกฎหมายอย่างเดียว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Military Rule: ศาลทหาร เราทำตามกฎหมายอย่างเดียว

นานเหลือเกินที่เราไม่ได้ยินสังคมพูดถึงศาลทหาร อาจเป็นเพราะความรู้สึกไกลตัว หรือไม่ก็เชื่อว่าการยกเลิกศาลทหารตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ถือเป็นจุดสิ้นสุดการใช้อำนาจของศาลทหารแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง ยังมีพลเรือนอีกจำนวนมากต้องขึ้นศาลทหารและคงใช้ระบบยุติธรรมลายพรางตัดสินชีวิตอยู่ 
 
หลังรัฐประหาร ศาลทหารถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมสถานการณ์และใช้จัดการฝ่ายต่อต้านรัฐบาล คสช. มาโดยตลอด แต่น้อยครั้งเหลือเกินที่เราจะได้ฟังเรื่องราวจากปากผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าแท้จริงแล้วศาลทหารมีโครงสร้างและการทำงานแบบไหน ทำไมถึงการเลือกใช้ศาลทหารเพื่อพิจารณาคดีพลเรือน ถึงแม้การเข้าถึงแหล่งข้อมูลส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ท้ายที่สุดเราก็ได้ พลตรีธานินทร์ ทุนทุสวัสดิ์ ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าคณะฝ่ายศาลทหารสูงสุด เป็นผู้ตอบคำถามที่ประชาชนยังคลางแคลงใจต่อการใช้ศาลทหารกับพลเรือน
 
Q: กรมพระธรรมนูญมีบทบาทอย่างไรในกองทัพ
 
A: กรมพระธรรมนูญเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมก็ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ดังนั้น กรมพระธรรมนูญเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ส่วนนี้จะมีพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมรองรับอยู่แล้ว
 
กรมพระธรรมนูญเป็นกรมที่มุ่งไปใน 2 ภาคงานด้วยกัน คือ ดูแลงานในทางกฎหมาย การให้ความเห็นทางกฎหมาย การวินิจฉัยทางกฎหมาย การร่างกฎหมาย การเสนอกฎหมาย ซึ่งเหมือนกับส่วนงานข้าราชการพลเรือนทั่วไป แต่งานอีกภาคหนึ่งที่กรมพระธรรมนูญดูแลรับผิดชอบอยู่คือ งานกระบวนการยุติธรรมทหาร โดยงานส่วนนี้ถูกแยกออกมาจากกระบวนการยุติธรรมฝ่ายพลเรือน
 
ถ้าพูดกันตามตรง กรมพระธรรมนูญเป็นหัวหน้าเหล่าสายวิทยาการทางด้านเหล่าทหารพระธรรมนูญทั้งหมด ที่ท่านเห็นทหารไปร่วมฟังการสอบสวนในคดีที่ทหารกระทำความผิด คนเหล่านี้ผลิตมาจากกรมพระธรรมนูญทั้งหมด แล้วก็แจกจ่ายไปอยู่หน่วยงานต่างๆ สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามความก้าวหน้า ตามวิถีทางการรับราชการ
 
Q: การเข้ามาเป็นทหารพระธรรมนูญต้องทำอย่างไร
 
A: แล้วแต่เหล่าทัพว่าเขาจะเปิดรับสมัครเองไหม ขึ้นอยู่กับงบประมาณและกำลังพลของแต่ละเหล่าทัพว่า ถ้ากองทัพบกเขามีเขาก็เปิดสอบเอง แต่ว่าในทางปฏิบัติอย่างกองทัพบกจะรับสมัครสอบ เขาจะฝากให้ทางกรมพระธรรมนูญช่วยดำเนินการคัดเลือกการบรรจุ และเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเสมอ 
 
Q: แล้วทหารที่จะมาเป็นตุลาการศาลทหารกับอัยการทหารล่ะ
 
A: สำหรับตุลาการศาลทหาร แม้พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทบอกว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีชั้นยศไม่ต่ำกว่าร้อยเอก เรือเอก หรือเรืออากาศเอก แต่ในอัตรากำลังบรรจุ คนที่จะขึ้นมาเป็นตุลาการได้จะต้องมียศไม่ต่ำกว่าพันโทซึ่งอาวุโสมากแล้ว แล้วคนพวกนี้ต้องผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตในราชการทหารมาตั้งแต่เป็นว่าที่ร้อยตรี โดยจะถูกส่งไปเป็นทหารพระธรรมนูญ เรียนรู้จารีตประเพณี ระบบวิธีคิด ระบบการปกครอง การบังคับบัญชาของทหาร จนกระทั่งเขามีอาวุโส ก่อนจะกลับมาบรรจุเป็นตุลาการพระธรรมนูญ แต่การจะเข้าบรรจุได้หรือไม่ได้นั้น พวกเขาจะต้องผ่านหลักสูตรอย่างเข้มข้นมาก่อนแล้ว
 
Q: หลักสูตรที่ว่าคือ?
 
A: กรมพระธรรมนูญมีโรงเรียนเหล่าพระธรรมนูญ ตั้งแต่เข้าสอบบรรจุมาเป็นนายทหารพระธรรมนูญ เขาจะต้องเรียนหลักสูตรแรกที่สุดก็คือ นายทหารสัญญาบัตรชั้นต้น หลักสูตรนี้ใช้เวลาเรียน 6 เดือน เป็นหลักสูตรที่เรียนนานที่สุด คนเหล่านี้เมื่อสอบได้แล้ว จะยังไม่ถูกส่งไปอยู่ตามหน่วย ลำพังมีความรู้เพียงแค่นิติศาสตร์บัณฑิตหรือความรู้กฎหมายสายพลเรือนอย่างเดียวมันไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ ต้องเอาเขามาเรียนรู้กฎหมายของฝ่ายทหารที่มีอยู่เยอะมาก พร้อมกับเรียนรู้มารยาท จารีตประเพณีของทหาร พอกลับไปอยู่ที่หน่วย สักพักหนึ่งก็ต้องกลับมาเรียนหนังสือใหม่ตอนยศพันตรี พันโท เรียนหลักสูตรทหารสัญญาบัตรชั้นสูง เพื่อนำเอาความรู้และประสบการณ์ชีวิตของเขามาแชร์กับครูบาอาจารย์ เพื่อนร่วมงาน พร้อมๆ กับี่เขาจะต้องทำเอกสารวิจัยซึ่งถือว่าเป็น “ยาขม” ก็น้องๆ วิทยานิพนธ์ ซึ่ง 2 หลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรบังคับตามแนวทางรับราชการ ถ้าใครไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถจะเลื่อนขั้นตามความก้าวหน้าทางวิชาชีพได้ โดยหลักสูตรจะเน้นหนักไปที่นักกฎหมายทหารทั่วๆ ไป
 
นอกจาก 2 หลักสูตรนี้ ก็มีอีกหลักสูตรเรียกว่าหลักสูตรอาชีวะ โดยหลักสูตรพวกนี้จะไม่เรียนทางทฤษฎีแล้ว แต่จะเรียนแบบบูรณาการให้คุณไปใช้ในชีวิตจริงได้ หลักสูตรละประมาณ 4 เดือนครึ่ง อย่างหลักสูตรตุลาการพระธรรมนูญ ต้องเรียนเรื่องการเขียนคำพิจารณาคดี เรียนเรื่องการเขียนคำพิพากษา การออกนั่งพิจารณา การดำเนินกระบวนพิจารณา หรือคนที่จะเป็นอัยการทหารก็ต้องผ่านหลักสูตรอัยการทหาร แล้วก็สอบ ซึ่งการสอบของเขาจะไม่ใช่แบบเนติบัณฑิต ไม่มาเรียนแล้วว่าไอ้ปัญหาตุ๊กตาคืออะไร ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะวินิจฉัยอย่างไร แล้วก็เขียนข้อสอบแบบอัตนัย 
 
เขาเรียนของจริง เช้าเข้าห้องเรียน เช่นวันนี้จะเรียนเรื่องการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน เช้าก็จะบรรยายเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ บ่ายก็ทำเวิร์คช็อป ถ้าเป็นอัยการทหารก็เรียนเรื่องการนำสืบว่าจะตั้งคำถามอย่างไรในการนำสืบ ส่วนตุลาการพระธรรมนูญจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างไร 
 
Q: หลักสูตรเข้มข้นขนาดนี้ ปัจจุบันมีอัยการทหารทั้งหมดกี่นาย มีตุลาการศาลทหารทั้งหมดกี่นาย
 
A: ตามอัตราที่มีอยู่ มีไม่เยอะหรอกครับ จำนวนคดีมีมากกว่าจำนวนคนที่มีอยู่ อย่างอัยการทหารก็จะมีอัตรากำลังอยู่ 134 คน ที่สังกัดศาลทหารกรุงเทพ 38 คน และสังกัดมณฑลทหารบกอีก 96 คน แต่บรรจุไม่เต็ม ส่วนตุลาการพระธรรมนูญจะมีอยู่ทั้งหมด 70 คน บรรจุเต็มอัตรา โดยตุลาการพระธรรมนูญจะสังกัดส่วนกลางทั้งหมด เวลามีคดีก็จะส่งคนจากส่วนกลางลงไปพิจารณาคดี เพื่อความเป็นอิสระไม่ให้อำนาจฝ่ายอื่นมากแทรกแซง 
 
Q: ที่บอกว่าจำนวนคดีเยอะ ผู้พิพากษาน้อย เคยโดนร้องเรียนเรื่องความล้าช้าบ้างไหม
 
A: มันหลายปัจจัย หนึ่งปริมาณคนเราน้อยแต่คดีเรามาก ก่อนมีคดีตามประกาศ คสช. เข้ามา ปริมาณคดีที่อยู่ในการพิจารณาของเราก็อยู่ในระดับสูงสุดอยู่แล้ว พอคดีพลเรือนเข้ามา แต่อัตรากำลังมันไม่เพิ่มก็ต้องเกิดความล่าช้าตามโครงสร้าง สองคือความล่าช้าในส่วนระบบ ก็ต้องยอมรับ คือของเราแตกต่างจากศาลพลเรือนที่ใช้ระบบสืบพยานแบบต่อเนื่อง แต่ว่าเวลาเรานัด เราจะนัดเป็นจังหวะ เรียกว่า “นัดแบบฟันหลอ”
 
ต้องเข้าใจก่อนว่า ตุลาการของเราส่งไปจากส่วนกลาง ใครพิจารณาคดีไหนก็ต้องรับผิดชอบคดีนั้น แล้วเขาไม่ได้รับผิดชอบอยู่คดีเดียว ภาษาเราเรียกว่า “ตุลาการเดินสาย” เพราะฉะนั้นการพิจารณาคดีในระบบอย่างต่อเนื่องจึงเกิดขึ้นค่อนข้างยาก แต่ก็พยายามจะทำให้ได้เร็วที่สุดนะ คือเราจะนัดวันแบบล็อคเลย 
 
พอคดีเข้ามาเราพิจารณาได้เลย ถ้าคดีเข้ามาแบบไม่ต้องมีการสืบพยานคดีก็จบได้เลย หรือแม้แต่จำเลยรับสารภาพแต่สืบประกอบคำรับสารภาพก็จะจบได้เร็ว แต่คดีที่มันยืดเยื้อออกไปมักจะเป็นคดีที่มีการต่อสู้คดี แล้วต่างฝ่ายต่างก็หยิบพยานหลักฐานขึ้นมา  
 
ปกติฝ่ายโจทก์จะไม่ค่อยมีปัญหา คือฝ่ายอัยการทหารเข้าประจำอยู่ที่นั่น ปัญหาคือทนายจำเลย อย่างที่ผมบอกความล่าช้ามันไม่ได้เกิดจากตุลาการแต่เพียงอย่างเดียว เวลากำหนดวันนัด ทนายความก็จะบอกไม่ได้ติดคดีนู่นคดีนี้ แล้วศาลทำอะไรได้
 
Q: แล้วที่ผ่านมามีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร เช่น เพิ่มอัตรากำลัง?
 
A: ต้องเข้าใจก่อนว่ากรมพระธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหม ไม่ได้เหมือนศาลสถิตยุติธรรม ศาลปกครอง การจะเพิ่มอัตรากำลัง อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้อยู่ที่กรมพระธรรมนูญแต่อยู่กระทรวงกลาโหม แต่เราก็ไม่ได้นิ่งดูดายเราก็พยายามส่งเรื่องขึ้นไป
 
Q: เวลามีคนวิจารณ์หรือต่างชาติกดดันล่ะ มีผลอย่างไรต่อการตัดสินใจไหม
 
A: ถ้าถามผมนะ เขาวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์ซึ่งดี สิ่งต่างๆ ที่เขาพูดมาเราฟัง เราไม่เคยถือตัวว่าเราถูกเสมอ เพราะบริบทที่เราใช้กับพลเรือนที่อยู่ในมุ้งของทหาร มันเป็นเรื่องที่ไม่ลงตัว แต่ส่วนหนึ่งก็เข้าใจผิดแล้วก็ไปพูดในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็มี และศาลทหารก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องตอบโต้ แต่เวลามีเวทีเราก็ไปชี้แจงเช่น กรรมการสิทธิมนุษยชน ผมก็ไปชี้แจง หรือเสียงจากสื่อ ถ้าผู้บังคับบัญชาเปิดไฟเขียวเราก็จะไปชี้แจง
 
Q: การใช้ศาลทหารที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์บ้านเมืองนี้ดีขึ้นไหม
 
A: จริงๆ ท่านถามผมไม่ได้เลยนะ ท่านต้องถามคนที่ดูแลเรื่องความมั่นคง ศาลทหารเป็นกระบวนการยุติธรรม การที่ศาลทหารเข้ามามีบทบาทในช่วงเวลาแบบนี้แล้วทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ เราไม่สามารถพูดได้ เราดูแลเฉพาะกระบวนการยุติธรรม เราตอบไม่ได้จริงๆ ว่าสถานการณ์ดีหรือไม่ดี
 
Q: ถ้าอย่างนั้น เจตนาในการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารคืออะไร
 
A: เรื่องเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารมีมานานมากแล้ว เฉพาะกรณีการรัฐประหารจะมีบทบัญญัติในธรรมนูญศาลทหารว่า ถ้าผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกต้องการให้คดีใดขึ้นสู่ศาลทหารก็สามารถทำได้ แล้วในบทบัญญัติก็ให้อำนาจกับผู้ประกาศกฎอัยการศึกที่จะให้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่เป็นศาลทหาร หรือเรียกได้ว่าผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาศาลทหาร 
 
พอมาในยุค คสช. อาจจะเป็นครั้งแรกที่เอาพลเรือนขึ้นศาลทหารจริงๆ เว้นแต่พวกคดีคอมมิวนิสต์ที่ไม่เอาพลเรือนขึ้นศาลยุติธรรมที่ทำหน้าที่แทนศาลทหาร แต่พลเรือนขึ้นศาลยุติธรรมที่ทำหน้าที่เป็นศาลทหาร กับพลเรือนที่ขึ้นมาสู่ศาลทหารแท้ๆ ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพียงแต่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมท่านก็จะมีระบบวิธีคิดแบบพลเรือน คือตุลาการศาลทหารเราไม่สามารถแยก 2 มาตรฐานได้ เราเคยปฏิบัติกับทหารอย่างไร เราก็ปฏิบัติตามนั้น อย่างคดีอาวุธปืน ศาลทหารก็จะรู้ว่าทหารกับอาวุธปืนอยู่คู่กัน มีความผิดพลาดได้ โทษก็จะไม่หนัก แต่ถ้าเป็นความผิดฐานสวมเครื่องแบบโดยไม่มีสิทธิ ทหารเนี่ยถ้าใส่ชุดทหารโดยไม่มีสิทธิจะโทษหนัก เพราะเรารู้ว่าเกียรติของเครื่องแบบสูงส่งแค่ไหน หรืออย่างคดียาเสพติดโทษก็จะหนัก ทหารติดยาเสพติดไม่ได้ ซึ่งศาลพลเรือนจะมีวิธีคิดอีกแบบที่แตกต่างกัน แต่ถึงที่สุดเราจะยึดแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่แตกแถวมาก
 
Q: มีคนอ้างว่าคดีในศาลทหารยกเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อสู้ได้ยาก คิดอย่างไร
 
A: เอายังงี้ก่อน ศาลท่านทำตามกฎหมายใช่ไหมครับ ประกาศ คสช. คือกฎหมายใช่ไหมครับ ออกด้วยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ถ้าประกาศ คสช. บัญญัติไว้อย่างไรแล้ว เราทำตามกฎหมายอย่างเดียว ถ้าผู้ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวแล้วไม่ไปก็เท่ากับขัดคำสั่ง กระบวนการก็จะผ่านมาตั้งแต่พนักงานสอบสวน ความเห็นของอัยการว่าสั่งฟ้องไม่สั่งฟ้อง แล้วก็มาที่เรา ส่วนเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องบอกให้ชัดว่า มันละเมิดตรงไหน เรื่องไหน ถ้าบอกว่าตรงไหนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนศาลก็จะไปดูข้อกฎหมายว่ามันอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นศาลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ศาลทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเดียว
 
Q: แต่การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน?
 
A: การชุมนุมทางการเมืองถ้าอยู่ในกรอบสามารถทำได้ เช่น สงบปราศจากอาวุธ พอหลังรัฐประหารมีประกาศ คสช. ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ถ้าเกินก็มีความผิด แล้ววันนี้ ถ้าทำผิดขึ้นศาลไหน ศาลยุติธรรม ทำไมท่านไม่ไปบอกว่าศาลยุติธรรมละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนบ้างล่ะ เขาทำตามกฎหมาย ต่อให้เป็นศาลยุติธรรมก็เลี่ยงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเดียว 
 
ในเมื่อรัฏฐาธิปัตย์ออกกฎหมายมา ศาลมีหน้าที่ทำตามกฎหมายอย่างเดียว ศาลทหารหรือศาลยุติธรรมจะไปบอกว่าท่านหัวหน้า คสช. ตรงนี้มันละเมิดสิทธิมนุษยชนนะ ก็ทำไม่ได้ มันไม่ใช่อำนาจหน้าที่ แล้วละเมิดหรือไม่ละเมิดก็ไม่ทราบด้วย อาจจะละเมิดหรือไม่ละเมิดก็ไม่ทราบ เพียงแต่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น
 
ถ้ากฎหมายที่ออกมามันมีอะไรที่ไม่ดี แก้กฎหมายครับ แก้แล้วศาลจะทำตามกฎหมาย
 
Q: บางคดีการกระทำเล็กน้อยมาก แต่กลับต้องถูกฟ้องข้อหาภัยความมั่นคง อย่างคดี 8 แอดมินโพสต์เฟซบุ๊กล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ ศาลทหารพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร
 
A: จากข้อเท็จจริงที่ท่านพูด ผมไม่รู้เลยนะ แต่ศาลดูพยานหลักฐานอย่างเดียว ถ้าพนักงานสอบสวนเขาทำมาเป็นคดี 116  (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ)  แล้วอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานที่รวบรวมมามันเข้าองค์ประกอบความผิด ถ้าคิดว่าไม่ผิด ท่านก็เอาพยานหลักฐานมาต่อสู้กับเรา ถ้าพยานหลักฐานที่จำเลยนำมาเชื่อถือได้ ศาลก็ยกฟ้อง
 
Q: แต่การที่ต้องไปต่อสู้คดี ท้ายที่สุดมันก่อให้เกิดบรรยากาศของความกลัว คนไม่กล้าแสดงออก
 
A: ศาลทหารไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดความกลัว กระบวนการมันผ่านขึ้นมากี่กระบวนการกว่าจะมาถึงศาลทหาร เมื่อมีคำฟ้องแล้วมันเข้าองค์ประกอบความผิดศาลต้องพิจารณา เพราะฉะนั้นศาลทหารไม่ใช่กลไกที่ทำให้เกิดความแตกแยกหรืออะไร ไม่ใช่เลย เราทำตามกฎหมายอย่างเดียว 
 
Q: ในเมื่อศาลทหารก็ยกเลิกแล้ว ทำไมถึงไม่โอนคดีที่ค้างอยู่ไปศาลพลเรือน
 
A: ผมพูดมากๆ ก็ไม่ดี เพราะผมอยู่ในตำแหน่งราชการท่านคงต้องไปถามหัวหน้า คสช. ท่านเป็นผู้ถือกฎหมายอยู่ ผมเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเดียว ถ้าผมไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พวกผมก็โดนฟ้อง ม.157 (ความผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ) กันหมด ถ้าท่านเห็นว่าเป็นปัญหา ท่านต้องไปแก้ที่จุดเริ่มต้น
 
ชนิดบทความ: