- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ความยุติธรรมโดยทหารของสหรัฐอเมริกา: กระบวนการพิเศษย้อนหลังสำหรับผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย
ศาลทหารทั้ง 3 ประเภทกำลังถูกใช้อยู่ในคดีที่จำเลยเป็นทหาร รวมถึงคดีของเชลซี แมนนิ่ง และเบิร์กดาลห์ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน รัฐสภาของสหรัฐฯ ได้ให้อำนาจคณะกรรมาธิการทหารในการไต่สวนผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้าย ทั้งในคดีที่เกิดขึ้นก่อนการออกกฎหมาย โดยปราศจากหลักกระบวนการอันควรตามกฎหมาย
ที่มาภาพ jeff_golden
ที่มาของกระบวนการยุติธรรมโดยทหารของสหรัฐฯ ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ประมวลกฎหมายยุติธรรมทหาร (Uniform Code of Justice - UCMJ) ประมวลกฎหมายนี้เป็นเสมือนประมวลกฎหมายทางอาญาสำหรับกองทัพอเมริกา โดยประมวลกฎหมายนี้ได้บัญญัติถึงความผิดทั่วไป ซึ่งสามารถถูกลงโทษภายใต้กฎหมายของพลเรือน เช่น การข่มขืน การฆาตกรรม และก็ยังบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ทหารโดยเฉพาะ เช่น การหนีทหาร การไม่เคารพต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง ให้เป็นอาชญากรรม เพื่อเป็นการสร้างระเบียบและวินัยให้แก่เจ้าพนักงาน
บุคคลผู้อยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายนี้ได้แก่ สมาชิกกองทัพซึ่งยังคงปฏิบัติงานอยู่ สมาชิกกองกำลังสำรองทั้งที่ปฏิบัติหรือหมดหน้าที่แล้ว นักเรียนนายทหาร นักเรียนนายเรืออากาศ นักเรียนทหารเรือ และสมาชิกของสมาคมกองเรือสำรองกับสมาชิกของกองนาวิกโยธินสำรอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งเกษียณอายุราชการจากกองทัพแล้วแต่ยังได้รับการพยาบาลจากกองทัพและองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานให้กับกองทัพ ก็อยู่ภายใต้การบังคับใช้ประมวลกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน ประมวลกฎหมายยุติธรรมทางทหารนี้ยังสามารถบังคับใช้กับบุคคลเหล่านี้ได้ในทุกสถานที่ ไม่ว่าภายในและภายนอกอาณาเขตของสหรัฐฯ (กล่าวคือมีเขตอำนาจศาลครอบคลุมทั่วโลก)
ศาลทหาร ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางตามวาระทางการเมือง
ผู้ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายยุติธรรมทางทหาร และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ จะถูกไต่สวนในศาลทหาร ตามคู่มือของศาลทหาร (Manual for the Court Martial) เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งระบุกระบวนการของศาลทหารทั้งหมด โดยศาลทหารมิใช่ศาลถาวร และจะถูกเรียกตัวมาด้วยเหตุตามความจำเป็น รัฐสภาแห่งสหรัฐฯ ได้แต่งตั้งคณะผู้มีอำนาจในการเรียกตัว (ผู้บัญชาการหรือเจ้าหน้าที่) เป็นผู้มีอำนาจในการออกระเบียบจัดตั้งศาลทหารประเภทต่างๆ ขึ้น ตามแต่ข้อกล่าวหาในแต่คดี
ศาลทหารชั้นต้นมี 3 ประเภท คือ ศาลทหารแบบรวบรัด (Summary Court-Martial) ศาลทหารพิเศษ (Special Court-Martial) และศาลทหารทั่วไป (General Court-Martial) ศาลทหารแบบรวบรัดทำหน้าที่สอบสวนการกระทำผิดที่โทษไม่หนัก ในศาลนี้ ประกอบด้วยนายทหารพระธรรมนูญ 1 นาย มีเพียงทนายที่เป็นพลเรือนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนของผู้ต้องหาได้ ศาลทหารแบบรวบรัดสามารถสั่งลงโทษได้ด้วยการกักขังไม่เกิน 1 เดือน การหักเงินเดือนจำนวน 2 ใน 3 เป็นเวลา 1 เดือน และการลดเงินเดือนถึงขั้นต่ำที่สุด ในการนี้ ศาลแบบรวบรัดจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาในการดำเนินการพิจารณาคดีด้วย
ส่วนศาลทหารพิเศษประกอบด้วยสมาชิกศาล (ลูกขุน) อย่างน้อย 3 คน หรือตุลาการทหาร 1 นายพร้อมกับสมาชิกศาลอย่างน้อย 3 คน หรือผู้ต้องหาสามารถยื่นคำร้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือเพื่อขอตุลาการทหารเพียง 1 คนและตุลาการทำการอนุมัติได้ ศาลทหารพิเศษสามารถตัดสินโทษได้โดยการกักขังไม่เกิน 12 เดือน การหักเงินเดือนไม่เกิน 12 เดือน การปลดเนื่องจากความประพฤติเสื่อมเสีย หรือการลดเงินเดือนถึงขั้นต่ำสุด
ศาลทหารทั่วไปเป็นศาลทหารขั้นต้นที่มีอำนาจมากที่สุดในศาลทหารชั้นต้นทั้งหมด ก่อนที่ข้อกล่าวหาจะถูกส่งไปยังศาลทหารทั่วไป การสอบสวนและการไต่สวนมูลฟ้องจะต้องมีขึ้นก่อน ศาลประกอบด้วยตุลาการทหาร 1 นายและสมาชิกศาลอย่างน้อย 5 คน ทนายตัวแทนผู้ต้องหาสามารถเป็นได้ทั้งทหารหรือพลเรือน ศาลทั่วไปสามารถตัดสินด้วยบทลงโทษใดๆ ตามที่ประมวลกฎหมายยุติธรรมทหารอนุญาต รวมถึงโทษประหารชีวิตด้วย
ที่มาข้อมูล เว็บ innocentworrior ปีงบประมาณ 2011
ตัวอย่างคดีที่มีชื่อในศาลทหารคือคดีของโบว์ เบิร์กดาห์ล และคดีของเชลซี แมนนิ่ง
สิบเอกเบิร์กดาห์ลถูกตั้งข้อหาว่า หนีทหารและความประพฤติไม่สมควรต่อหน้าศัตรู และการพิจารณาคดีจะเกิดขึ้นในศาลทหารทั่วไป ความโด่งดังของคดีมาจากการที่เบิร์กดาห์ลจงใจหนีจากฐานทัพในอัฟกานิสถานในปี 2009 และถูกจับโดยกลุ่มตาลีบันจนกระทั่งถูกปล่อยตัวใน 5 ปีต่อมา หลังจากการทำงานของโอบามาที่ตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษตาลีบัน 5 คนกับอิสรภาพของเบิร์กดาห์ล การพิจารณาคดีของเขาจะเริ่มในวันที่ 15 พฤษภาคม 2017 ข้อโต้เถียงของคดีนี้อยู่ที่ข้อตกลงการแลกนักโทษ และการที่เรื่องนี้ถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ คดีของเชลซี แมนนิ่ง ผู้เผยเอกสารลับทางราชการสหรัฐฯ กว่า 700,000 ฉบับแก่วิกิลีกส์ หนึ่งในเอกสารที่ถูกเปิดเผยนั้นเป็นวีดิโอซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยการที่ลูกเรือเหล่านั้นส่งเสียงหัวเราะระหว่างปฏิบัติการทางอากาศในแบกแดด อันเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากในเดือนกรกฎาคม 2007 เอกสารชิ้นอื่นๆ ยังชี้ให้เห็นถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของกองทัพอเมริกัน เช่น การฆ่าพลเรือนที่ไม่ได้ติดอาวุธในอัฟกานิสถาน และความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในการสอบสวนรายงานกว่าร้อยฉบับเรื่องการข่มเหง การทรมาน การข่มขืน และการฆาตกรรม
ในปี 2013 แมนนิ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนรัฐบัญญัติการจารกรรม (Espionage Act) ด้วยการคัดลอกและการเผยแพร่เอกสารลับทางราชการ เธอถูกตัดสินด้วยโทษจำคุก 35 ปี มีการโต้เถียงเกี่ยวกับคำตัดสินของคดี ภาคประชาสังคม เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล คัดค้านคำวินิจฉัยนี้และเรียกร้องให้ปล่อยตัวแมนนิ่ง และร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่อเมริกันสอบสวนประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแทนประเด็นการเผยแพร่เอกสาร ในที่สุด คำตัดสินของแมนนิ่งได้รับการลดโทษในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา และเธอจะได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤษภาคม 2017
เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลทหารในสหรัฐฯ ไม่ได้ถูกยกมาเป็นข้อถกเถียงโดยตัวของศาลทหารเอง ในทางกลับกัน ประเด็นของแต่ละคดีในศาลทหารได้เป็นต้นเหตุของข้อถกเถียง อย่างไรก็ดี คณะตุลาการของทหารที่กลายข้อถกเถียง คือ คณะกรรมาธิการทหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งเพื่อไต่สวน ‘ผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย’ ภายหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ข้อกังวลที่มีขึ้น คือ หลักกระบวนการอันควรตามกฎหมายที่มีอย่างจำกัด และความสามารถของคณะกรรมาธิการในการดำเนินการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มาภาพ USDAgov
คณะกรรมาธิการทหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งเพื่อไต่สวนศัตรูภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน
ในสหรัฐอเมริกา คำศัพท์ว่า คณะกรรมาธิการทหาร (Militray Commission) ปรากฏอยู่บนเอกสารลายลักษณ์อักษรในช่วงสงครามกลางเมือง (ปี 1861 – 1865) คณะกรรมาธิการทหารเกิดขึ้นเพื่อจัดการกับดินแดนขนาดใหญ่ซึ่งถูกศัตรูครอบครองและบทบัญญัติว่าด้วยระเบียบวินัยกองทัพ (Article of War) ที่ยังไม่เพียงพอในเวลานั้น โดยในแรกเริ่ม คณะกรรมาธิการทหารถูกออกแบบเพื่อดำเนินคดีกับพลรบที่ทำผิดกฎหมาย และในระหว่างสงครามกลางเมือง คณะกรรมาธิการกว่า 2,000 คนถูกตั้งขึ้น คณะกรรมาธิการทหารยังถูกใช้อย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แทบไม่ถูกตั้งขึ้นอีกเลย จนกระทั่งเหตุการณ์ 11 กันยายน
หลังจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ลงมติผ่านกฎหมายให้อำนาจการใช้กองกำลังทางทหาร (Authorization for the Use of Military Force - AUMF) เพื่อตอบโต้กับเหตุการณ์ดังกล่าว กฎหมายนี้มอบอำนาจให้ประธานาธิบดีสามารถใช้ ‘กำลังตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อต่อต้านชาติ องค์กร หรือบุคคล’ ซึ่งจัดหาทรัพยากรและแหล่งพักพิงให้แก่ผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ด้วยการใช้อำนาจนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศสงครามกับทั้งตัวแสดงที่เป็นรัฐและมิใช่รัฐเพื่อกวาดล้างการก่อการร้ายให้หมดสิ้นไป
คณะกรรมาธิการทหารเป็นการปฏิบัติงานทางกฎหมายอย่างหนึ่ง ในความพยายามตัดทอนการก่อการร้าย ภายใต้ร่างกฎหมายการให้อำนาจการใช้กองกำลังทางทหาร ประธานาธิบดีได้ลงนามคำสั่งให้การพิจารณาคดีสำหรับศัตรูผู้ต้องสงสัยเป็นการจัดการของคณะกรรมาธิการทหาร คณะกรรมาธิการได้จำกัดการเข้าถึงสิทธิตามกระบวนกันอันควรอย่างมีนัยสำคัญ และหลักฐานจากการบังคับและการทรมานเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ คณะกรรมาธิการทหารโดยคำสั่งของบุชดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน กระทั่งศาลฎีกาตัดสินในปี 2006 ว่า คณะกรรมาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยการทำงานของบุชนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการอนุมัติจากรัฐสภา และคำสั่งนี้ยังขัดต่อประมวลกฎหมายยุติธรรมทหารและอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ด้วย
ภายหลังคำสั่งของบุชสิ้นผลไป รัฐสภาได้ลงมติผ่านรัฐบัญญัติคณะกรรมาธิการทหารปี 2006 (Military Commission Act of 2006) ฉบับแก้ไข เพื่อเป็นการตอบรับกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2007 คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีที่ 13425 ได้สถาปนาคณะตุลาการนี้ขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้มีอำนาจในการตั้งคณะกรรมาธิการทหาร ในปี 2009 ประธานาธิบดีโอบามาเข้าดำรงตำแหน่งและระงับคณะกรรมาธิการเป็นระยะเวลาชั่วคราวในช่วงสัปดาห์แรกของการดำรงตำแหน่ง เขาพยายามย้ายนักโทษกวนตานาโมที่เหลืออยู่ไปยังศาลรัฐบาลกลาง แต่ท้ายที่สุด โอบามาก็เลิกแผนการนี้และกลับไปใช้คณะกรรมาธิการทหารต่อในปีเดียวกัน รัฐบัญญัติคณะกรรมาธิการทหารปี 2009 เป็นฉบับที่ดีขึ้นจากฉบับ 2006 ด้วยการเพิ่มหลักกระบวนการอันควรของผู้ต้องหา รวมทั้งเพิ่มเรื่องการอำนาจศาลในการสั่งให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังโดยมิชอบ (Habeas Corpus)
คู่มือของคณะกรรมาธิการทหาร ได้วางระเบียบกระบวนการไว้ว่า องค์ประกอบของคณะกรรมาธิการทหารประกอบด้วย ตุลาการทหาร 1 นาย และสมาชิกศาล (ลูกขุน) อย่างน้อย 5 คน แต่หากเป็นคดีที่มีโทษประหารชีวิต ศาลจำเป็นต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 12 คน สมาชิกที่ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในกองทัพมีคุณสมบัติเหมาะสมในการเป็นสมาชิกของศาล บุคคลซึ่งถูกพิจารณาคดีในศาลได้คือศัตรูต่างชาติ บุคคลผู้เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนศัตรูของสหรัฐอเมริกาหรือการร่วมมือของศัตรูนั้น หรือเป็นสมาชิกของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ความผิดที่อยู่ในอำนาจลงโทษของคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย การฆ่า การทำร้ายพลเรือน การจับตัวประกัน การสมคบคิด การใช้อาวุธพิษ และความอื่นๆ ตามที่กฎหมายเกี่ยวกับสงครามกำหนด
ถึงแม้ว่ารัฐบัญญัติคณะกรรมาธิการทหารฉบับแก้ไขจะห้ามการรับฟังพยานหลักฐานอันมาจากการบังคับหรือทรมาน แต่หลักกระบวนการอันควรตามกฎหมายก็ยังคงขาดหายอยู่ หนึ่งในประเด็นพิเศษในรัฐบัญญัตินี้ คือ อำนาจย้อนหลังของรัฐบัญญัติเอง กรรมาธิการทหารมีเขตอำนาจศาลที่จะไต่สวนการกระทำความผิดอันมีโทษใดๆ ตามที่รัฐบัญญัติระบุไว้ ที่เกิดขึ้นทั้งในเวลาก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ หรือหลังเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน โดยทั่วไป รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาห้ามกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของรัฐบัญญัตินี้จึงยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่
คณะกรรมาธิการทหารสามารถกำหนดเขตอำนาจศาลของตัวเองได้อีกด้วย และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการทหารคือคุณสมบัติของทนายฝ่ายจำเลย ผู้ต้องหาสามารถว่าจ้างทนายที่ถือสัญชาติอเมริกันหรือผู้ที่เป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตของสหรัฐฯ เท่านั้น สิทธิระหว่างทนายและลูกความไม่ถูกกล่าวถึงไว้ การไต่สวนมูลฟ้องไม่มีในกระบวนการของคณะกรรมาธิการทหาร พยานบอกเล่าสามารถเป็นพยานที่รับฟังได้เมื่อมีเหตุสมควรและตุลาการเห็นว่าคำพูดนั้นน่าเชื่อถือ
ตั้งแต่คุกกวนตานาโมเปิดในปี 2002 มีชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่า 779 คนถูกกักขัง ณ ที่แห่งนั้น ข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน 2016 ระบุว่ามีนักโทษแค่ 30 คนถูกดำเนินคดี ในจำนวนนั้น เพียง 8 คนถูกตัดสินว่า มีความผิด ส่วนอีก 7 คดี ในจำนวนนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
ชนิดบทความ: