1317 1296 1546 1633 1257 1802 1141 1661 1039 1605 1520 1771 1659 1808 1850 1178 1598 1645 1079 1735 1902 1659 1730 1214 1857 1042 1754 1258 1435 1884 1970 1450 1538 1712 1373 1954 1983 1317 1933 1481 1351 1164 1337 1518 1488 1056 1465 1026 1602 1620 1184 1250 1186 1880 1098 1907 1885 1554 1494 1994 1474 1441 1556 1941 1205 1133 1134 1558 1951 1438 1798 1498 1416 1904 1125 1894 1948 1538 1802 1662 1039 1398 1177 1493 1393 1176 1275 1873 1728 1602 1674 1452 1831 1124 1468 1639 1580 1680 1993 ถนนยุติธรรมที่แสน "ขรุขระ" และ "ทอดยาว" ของผู้ต้องหาประชามติ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ถนนยุติธรรมที่แสน "ขรุขระ" และ "ทอดยาว" ของผู้ต้องหาประชามติ

ใกล้บริเวณแยกห้างสรรพสินค้าโรบินสันราชบุรี มีถนนชื่อเท่ๆ อยู่หนึ่งเส้นชื่อว่า 'ถนนยุติธรรม' ถนนเส้นนั้นจะพานักเดินทางไปยังหน่วยงานราชการด้านความยุติธรรมหลายแห่ง และหนึ่งในนั้นก็คือ 'ศาลจังหวัดราชบุรี' และแม้ผู้ที่ขับขี่อยู่บนท้องถนนจะพูดในทำนองเดียวกันว่า ‘ถนนค่อนข้างราบรื่นดี’ แต่ผู้ที่ต่อสู้อยู่ใต้บัลลังก์ศาลแห่งนี้ กลับต้องเผชิญหน้ากับความขรุขระของกระบวนการยุติธรรมอันเป็นเหตุให้ล่าช้าและยากลำบากอยู่หลายประการ
 
คงไม่ใช่ทุกคนและทุกคดี แต่อย่างน้อยก็ในคดีทางการเมือง ....
 
21 มีนาคม 2560 จำเลยทั้งห้าของ "คดีสติกเกอร์โหวตโน" เดินทางมาที่ศาลจังหวัดราชบุรี เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ที่ อ.บ้านโป่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึง 4 อันได้แก่ "แมน" ปกรณ์ อารีกุล "แชมป์" อนุชา รุ่งมรกต "บอย" อนันต์ โลเกตุ เดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้านที่ถูกตั้งข้อหาจากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยมี "อ๊อตโต้" ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท เดินทางไปร่วมทำข่าว แต่การเดินทางครั้งนั้นทำให้ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ทำผิดฐานฝ่าฝืน "พ.ร.บ.ประชามติฯ" จากการแจกสติกเกอร์โหวตโน
 
ส่วน "เหน่อ" ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเปิดศูนย์ประชามติที่บ้านโป่ง ก็กลายมาเป็นผู้ต้องหาคนที่ 5 เนื่องจากตำรวจกล่าวหาว่า เขามีส่วนรู้เห็นกับจำเลยสี่คนก่อนหน้าด้วย
แม้การทำประชามติจะผ่านไปแล้วอย่างสงบเงียบงัน โดยฝ่ายโหวตโนแพ้ไปหลายช่วงตัว คดีความของพวกเขาในฐานแจกจ่ายสติ๊กเกอร์สีน้ำเงินแผ่นกลมๆ ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป
 
การเดินทางของคดีนี้ค่อนข้างมีความขรุขระ โดยเหตุผลประการแรก เกิดขึ้นจากการที่ศาลกำชับกับจำเลยและผู้สังเกตการณ์คดี อันประกอบไปด้วยผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และประชาชนทั่วไปว่า 'ห้ามจดบันทึกคำเบิกความหรือรายละเอียดการสืบพยาน' รวมไปถึงห้ามเผยแพร่เนื้อหาของการสืบพยานโดยเด็ดขาด จนกว่าการสืบพยานจะสิ้นสุด โดยศาลอ้างว่า เป็นระเบียบของศาล
 
แต่จากการค้นหาในเอกสาร "คู่มือการติดต่อราชการศาลยุติธรรมฉบับประชาชน" ยังไม่พบระเบียบที่กำหนด "ห้ามจดบันทึกคำเบิกความหรือรายละเอียดการสืบพยาน" และพบแต่เพียงว่า “ห้ามบันทึกภาพ เสียง หรือบันทึกวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานศาลในหน้าที่ 28
 
นอกจากนี้ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 เรื่องการละเมิดอำนาจศาล ก็บัญญัติการกระทำที่จะละเมิดอำนาจศาลไว้สองกรณี ได้แก่
 
  1. กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมอื่นๆ แห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใดๆ แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผยหรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง
  2. กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาลหรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น
              ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ
              ข. เป็นรายงานหรือย่อเรื่องหรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือ
              ค. เป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินคดีของคู่ความหรือคำพยานหลักฐาน หรือนิสัยความประพฤติของคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ถึงว่าข้อความเหล่านั้นจะเป็นความจริง หรือ
              ง. เป็นการชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ
ซึ่งหมายความว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 มีข้อห้ามสำหรับ "การเผยแพร่" กับ "เจตนาที่เผยแพร่" แต่มิใช่การ "ห้ามจดบันทึก"
 
ทั้งนี้ การสั่งห้ามผู้มาสังเกตการณ์คดีจดบันทึก จึงเป็นกรณีที่ศาลใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ที่จะออกข้อกำหนดใดๆ ต่อบุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาล เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล
 
แม้ในคดีของศาลจังหวัดราชบุรี ศาลจะไม่อนุญาตโดยไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ชัดเจน แต่เหตุผลหนึ่งที่พอเข้าใจกันได้ ก็คือ ระหว่างการสืบพยานศาลเกรงว่าจะมีการจดบันทึกคำเบิกความของพยานเพื่อนำไปเตรียมพยานที่จะเข้าเบิกความต่อไปให้เบิกความได้ตรงกัน ซึ่งในข้อกังวลนี้ก็สามารถแก้ไขได้โดยการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จดบันทึกเป็นรายๆ ไป
 
การที่ไม่มีใครสามารถจดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดีได้เลยนั้น ยังเป็นปัญหาต่อการ "การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และการเรียนรู้ของสังคมในระยะยาว" เนื่องจาก บางครั้งรายละเอียดบรรยากาศระหว่างการพิจารณาคดีอาจมีอะไรที่ “มากกว่า” ในสำนวนของศาล ขึ้นอยู่กับว่าผู้สังเกตการณ์แต่ละคนค้นพบอะไรบ้างในระหว่างทาง แต่ถ้าขาดการจดบันทึก การเก็บข้อมูลอย่างถี่ถ้วน โอกาสที่สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการหาความจริงพิสูจน์ความผิดจะถูกถ่ายทอดต่อไปก็แทบจะถูกปิดกั้นไปด้วย
 
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ต้องมาช่วยสังเกตการณ์คดีได้ให้ความเห็นว่า การไม่ให้จดบันทึกเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ เพราะโดยปกติศาลต้องมีการพิจารณาโดยเปิดเผย ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเข้าฟังคดีได้ การจดบันทึกก็เป็นการนำข้อมูลในห้องพิจารณามาสู่สาธารณะ
 
“ไม่ใช่ว่าเราจะจับผิดอย่างเดียว แต่ส่วนนึงการพิจารณาที่เปิดเผยข้อมูลการพิจารณามันได้เผยแพร่จริงๆ ส่วนนึงศาลก็ได้ประโยชน์จากมันด้วย”
 
“อย่างพวกคดีที่เป็นกระแสสังคมว่าทำไมศาลตัดสินไม่ดี ในแง่นึงก็คือว่าในระหว่างการสืบพยานมันไม่มีการติดตามอย่างเป็นระบบ ข่าวมักจะเริ่มต้นจากตอนเกิดเหตุใหม่ๆ เป็นคดีดังคนสนใจเยอะ แต่พอเข้าสู่กระบวนการศาลข่าวก็เงียบหายไป มาอีกทีก็ศาลตัดสินเลย ทั้งที่เอาจริงๆ ถ้ามันมีการเผยแพร่ด้วยว่าระหว่างการสืบพยานในชั้นศาลมันมีพยานหลักฐานแค่ไหนที่ถูกเอาขึ้นมาแสดงในศาลบ้าง พยานหลักฐานมันมีน้ำหนักพอไหมที่จะเอาผิด หรือข้อกฎหมายมันก็สามารถให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้เท่านี้ถ้าพยานหลักฐานมันมีเท่านี้ แต่พอสังคมรู้แค่เหตุการณ์ตอนต้นแล้วกระโดดข้ามมาศาลพิพากษาเลย บางทีคำพิพากษาของศาลมันก็เลยไม่เมคเซนส์ในสายตาคนทั่วไป”
 
ส่วนความขรุขระประการที่สองก็คือ "ผู้พิพากษาใช้เวลาไปกับการติติงการทำงานของทนายความ" เช่น เวลาทนายความจำเลยจะนำสืบให้ศาลเห็นว่า เอกสารที่ผู้ต้องหาทั้งห้าแจกนั้นไม่เป็นความผิด ศาลก็เห็นว่า ไม่ใช่ประเด็นในคดี และขอให้ทนายความจำเลยนำสืบให้ศาลเห็นว่า มีการแจกจ่ายเอกสารตามฟ้องจริงหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นความถูกผิดของเนื้อหาให้ไปนำสืบโดยอาศัยปากคำพยานจำเลยก็พอ
 
ทั้งนี้ หากไปดู "พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2" จะพบว่า การพิจารณาองค์ประกอบความผิดของกฎหมายมีอยู่หลายส่วนด้วยกัน
 
"มาตรา 61 วรรค 2  ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย"
 
เท่ากับว่า องค์ประกอบของการกระทำความผิดตามกฎหมาย ได้แก่
 
(1)     ต้องมีพฤติกรรมหรือการทำในลักษณะ เผยแพร่ข้อมูล ภาพ ในช่องทางอื่นใด
(2)     ข้อมูลที่ทำการเผยแพร่นั้น ต้องมีลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
(3)     ผู้กระทำต้องมีเจตนาเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง
 
ดังนั้น ทนายความของจำเลยจึงไม่ยอมที่จะถามค้านพยานโจทก์โดยจำกัดอยู่เพียงประเด็นว่า มีการแจกจ่ายเอกสารตามฟ้องจริงหรือไม่ เพราะทนายความของจำเลยยังต้องการพิสูจน์ให้ศาลเห็นด้วยว่า ไม่ว่าจะมีการแจกจ่ายหรือไม่แจกจ่าย เอกสาร "สติกเกอร์โหวตโน" ที่เป็นของกลางในคดี ก็ไม่ได้มีลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ แต่อย่างใด
 
ส่วนความขรุขระประการสุดท้ายคือ "ศาลเริ่มพิจารณาคดีช้า" เนื่องจากศาลต้องใช้ห้องพิจารณาคดีเดียวกันอ่านคำพิพากษาคดีอื่นก่อนหน้าเริ่มพิจารณาคดี "คดีสติกเกอร์โหวตโน" เกือบทุกนัด ทำให้เวลานัดสืบพยานที่กำหนดว่า เริ่ม เวลา 9.00 น. ก็กลายเป็นเริ่ม 10.30 น. ถึง 10.45 น. แทน ทั้งนี้ ศาลให้เหตุผลว่า มันเป็นช่วงฤดูกาลโยกย้ายตำแหน่งของผู้พิพากษา ทำให้ผู้พิพากษาที่ดูแลคดีนี้ต้องรีบอ่านคำพิพากษาในคดีอื่นๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนถึงวันต้องเดินทาง
 
อย่างไรก็ดี คนที่แบกภาระสูงสุดจากความขรุขระที่เกิดขึ้นในคดีนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น จำเลยทั้งห้า โดยหนึ่งในผู้ต้องหา อย่าง "เหน่อ" ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ออกอาการหัวเสียที่คดีนี้จะไม่สิ้นสุดในเร็ววัน และเขาต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาลอีกหลายครั้งหลังจากนี้
 
“เดี๋ยวพฤษภาฯ ก็จะเปิดเทอมแล้วพี่ ถ้าคดีไม่เสร็จก็ต้องเสียค่าเดินทางจากแพร่มาอีก ค่าเครื่องบินไปกลับก็สี่พัน แต่ถ้านั่งรถทัวร์ก็พันกว่าแต่เสียเวลาเกือบสิบชั่วโมง เหนื่อยฉิบหาย” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้กล่าว
 
ด้าน "อ๊อตโต้" ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ก็ให้ความเห็นไว้ไม่ต่างกัน เขาโอดครวญถึงเวลาสีวันที่เสียไป เพราะแทบไม่ได้ทำงานเลยตลอดอาทิตย์ที่ต้องไปศาล และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาต้องไปเกณฑ์ทหารและกลัวว่า ถ้าคดีจะยังไม่สิ้นสุดก็จะทำให้เขามีภาระเพิ่มขึ้นมาอีก..
 
ท้ายที่สุดคดีดังกล่าวนี้ก็ดำเนินไปอย่างเงียบๆ จนบางคนอาจเผลอลืมไปว่า พวกเขาเหล่านี้ยังต้องเดินทางบนถนนยุติธรรมที่แสนขรุขระและทอดยาว
ชนิดบทความ: