1718 1950 1225 1327 1323 1937 1844 1526 1575 1860 1479 1038 1747 1063 1818 1015 1689 1597 1020 1250 1397 1081 1697 1790 1843 1866 1454 1583 1367 1933 1514 1721 1913 1117 1241 1276 1555 1880 1965 1523 1320 1128 1292 1975 1358 1846 1855 1075 1884 1700 1560 1765 1332 1367 1314 1104 1279 1408 1945 1232 1289 1175 1644 1911 1443 1653 1586 1119 1061 1215 1377 1008 1552 1228 1799 1801 1538 1232 1226 1709 1754 1673 1779 1258 1279 1215 1793 1313 1640 1842 1002 1528 1618 1722 1904 1514 1793 1998 1980 ม.136 เอาผิดการ "ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน" ไม่เอาผิดการ "วิจารณ์รัฐบาล" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ม.136 เอาผิดการ "ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน" ไม่เอาผิดการ "วิจารณ์รัฐบาล"

 

หลังจากที่ที่สังคมไทยตกอยู่ในภาวะสับสนเกี่ยวกับนโยบายการให้เงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ในสถานการณ์ #โควิด19 และชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวเตือนผู้ที่จะโพสข้อความใดๆ ลงในโซเชียล ว่า ขอให้คิดให้หนักก่อนโพส หากข้อความดังกล่าวเป็นเท็จและได้เงินเยียวยามาจากการให้ข้อมูลเท็จ หรือแม้แต่การดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยคำหยาบคายต่างๆ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 3 ข้อหาหนัก ใครรู้ตัวทำผิดสามารถใช้บริการปุ่มยกเลิกการลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้
 
โดยชาญกฤช ยังกล่าวว่า การตั้งใจกรอกข้อมูลหลอกลวงรัฐ เพื่อหวังลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาลเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกง มาตรา 341 มีโทษขั้นสูงจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 มีโทษขั้นสูงจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่โพสหมิ่นรัฐบาลมีความผิดตาม มาตรา 136 มีโทษขั้นสูงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแม้ว่าผู้โพสจะลบข้อความไปแล้ว แต่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สามารถดึงข้อมูลที่ลบไปแล้วกลับมาได้ 
 
จากกรณีที่ชาญกฤชออกมาข่มขู่ประชาชนเช่นนี้ มีส่วนที่ถูกต้องอยู่บ้าง กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 เอาผิดฐาน "แจ้งความเท็จ" จริง โดยการแจ้งความเท็จที่จะเป็นความผิดจะต้องมีลักษณะที่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ถ้าเป็นการโกหกธรรมดาไม่ทำให้ใครเสียหายไม่เป็นความผิด กรณีการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิเงินเยียวยาครั้งนี้ หากผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตัวเองไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเยียวยาแต่ตั้งใจกรอกข้อความเท็จลงในระบบ ทำให้ระบบทำงานตรวจสอบได้ช้า และทำให้ผู้มีสิทธิตัวจริงไม่ได้รับเงิน หรือได้รับเงินช้า ก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 137 ได้
 
อย่างไรก็ดี การที่ชาญกฤชกล่าวว่า ผู้ที่โพสหมิ่นรัฐบาลมีความผิดตาม มาตรา 136 ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน นั้น ยังไม่เป็นความจริงเสียทั้งหมด
 
 
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 บัญญัติไว้ ดังนี้
 
"ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
 
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 ได้ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยสามประการประกอบกัน คือ
 
1. ดูหมิ่น
2. เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่
 
 
1381
 
<< องค์ประกอบข้อที่ 1 ดูหมิ่น >>
ไม่ได้มีกฎหมายใดให้คำนิยามคำว่า "ดูหมิ่น" ไว้ชัดเจน แต่มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกามากมายที่ตีความความหมายของการดูหมิ่นเอาไว้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551 อธิบายว่า "ดูหมิ่น" หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่
 
ตัวอย่าง ถ้อยคำที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาว่า เป็นการดูหมิ่น เช่น เฮงซวย ตอแหล อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย ไอ้หน้าโง่ ฯลฯ ซึ่งเห็นได้ว่า ถ้อยคำที่จะเข้าข่ายการ "ดูหมิ่น" นั้นจะมีลักษณะหยาบคาย เหยียดหยาม มุ่งโจมตีด้วยบุคคล ทำให้ได้รับความเจ็บใจ ทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรี หรือเป็นการลดทอนคุณค่า ลดทอนสถานะของบุคคลที่ถูกกล่าวหานั้นๆ หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต โดยไม่ได้มุ่งลดทอนศักดิ์ศรีของตัวบุคคลย่อมไม่ใช่การดูหมิ่น
 
<< องค์ประกอบข้อที่ 2 เจ้าพนักงาน >>
ก่อนหน้าปี 2558 คำว่า "เจ้าพนักงาน" ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็มีแนวทางการตีความของศาลฎีกาที่ยึดถือกันมายาวนาน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2524 ที่กล่าวไว้ว่า เจ้าพนักงานย่อมหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย กล่าวคือในการแต่งตั้งนั้นมีกฎหมายระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้นั้น
 
แต่ต่อมาข้อถกเถียงเรื่องคำนิยามของคำนี้ก็หมดไป เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในปี 2558 กำหนดนิยามไว้ในมาตรา 1(16) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาของศาล ดังนี้ "เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่"
 
จากคำนิยามนี้ จึงจำกัดว่า บุคคลที่จะเป็นเจ้าพนักงานและได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 136 ต้องได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ "ราชการ" ซึ่งคณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล หรือ ส.ส. เป็นฝ่ายการเมืองเมื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ออกนโยบาย จึงไม่ได้ทำหน้าที่ของราชการเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองของมาตรา 136
 
อย่างไรก็ดี หากรัฐมนตรีทำงาน หรือปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะเช่นเดียวกับหน้าที่ของข้าราชการทั่วไป เช่น การแสวงหาข้อเท็จจริง การไปร่วมประชุม ก็อาจอยู่ในขอบข่ายที่ได้รับความคุ้มครอง โดยพิจารณาจากการกระทำ หรืออำนาจหน้าที่ที่ใช้อันเป็นเหตุให้ถูกดูหมิ่นเป็นหลัก
 
<< องค์ประกอบข้อที่ 3 ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ >>
การดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 จะต้องเป็นการดูหมิ่นที่เกี่ยวกับการทำงานด้วย เช่น ดูหมิ่นตำรวจที่ตั้งด่านตรวจ ดูหมิ่นครูที่สอนหนังสือ ดูหมิ่นหมอที่รักษาคนไข้ แต่ถ้าหากเป็นการดูหมิ่นในเรื่องอื่น หรือประเด็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานตามหน้าที่ ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 136 เช่น การกล่าวถึงตำรวจในประเด็นว่า มีชู้ การกล่าวถึงครูว่า มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการกล่าวถึงหมอว่า เอาเวลาทำงานไปเที่ยวสนามกอล์ฟ
 
อย่างไรก็ดีการดูหมิ่นในเรื่องส่วนตัวแม้ไม่ผิดตามมาตรา 136 ก็อาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า เช่นเดียวกับการดูหมิ่นคนทั่วไปได้ ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 393 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 จะต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งสามข้อที่กล่าวมา หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่เป็นความผิดทันที
 
ดังนั้น
หากเป็นการ "วิพากษ์วิจารณ์" รัฐบาล แต่ไม่ได้มุ่งใช้ถ้อยคำหยาบคายให้เกิดความเจ็บใจ ลดทอนศักดิ์ศรี ลดทอนคุณค่า ก็ไม่ใช่การ "ดูหมิ่น" ก็ขาดองค์ประกอบข้อที่ 1
หากเป็นการมุ่งโจมตีที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจออกนโยบาย ก็ไม่ใช่การโจมตี "เจ้าพนักงาน" ก็ขาดองค์ประกอบข้อที่ 2
หากเป็นการวิจารณ์ในพฤติกรรมส่วนตัวหรือเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ก็ขาดองค์ประกอบข้อที่ 3
 
มาตรา 136 ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อคุ้มครองเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้สามารถทำงานได้โดยราบรื่นไม่ให้ถูกคุกคาม กดดัน หรือขัดขวาง จนทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แต่มาตรา 136 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ใช่ความผิดฐาน "หมิ่นรัฐบาล" ตามที่ชาญกฤษกล่าวไว้
 
โดยมาตรา 136 สมัยก่อ นมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หลังการรัฐประหาร 2519 มาตรานี้ถูกแก้ไขเพิ่มโทษ พร้อมกับการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูหมิ่นครั้งใหญ่ เช่น ความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามมาตรา 198 จนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ก่อนที่ในปี 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทั้งฉบับ ให้เพิ่มโทษปรับขึ้น 10 เท่า เมื่อถึงปีปี 2563 มาตรา 136 จึงมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
 
 
 
ชนิดบทความ: