- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
"ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล" ตีความกว้างไกลให้อะไรๆ ก็เป็นละเมิดอำนาจศาลได้
ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ขัดแย้ง สถาบันศาลก็ยังคงต้องทำหน้าที่ตีความกฎหมาย พิจารณาและตัดสินคดีต่อไป แต่หลายครั้งเมื่อผู้มีอำนาจทางการเมืองออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายไปในทางที่กดขี่ผู้เห็นต่าง สถาบันศาลจึงถูกดึงให้เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ปรับใช้กฎหมายเหล่านั้น และเมื่อเกิดความรู้สึกไม่พอใจ เกิดการตั้งคำถามขึ้นในสังคมต่อการทำหน้าที่บางครั้งของสถาบันศาล ความผิดฐาน "ละเมิดอำนาจศาล" จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อปิดกั้นการเคลื่อนไหว การวิพากษ์วิจารณ์ และการว่าร้ายโจมตีการทำงานของศาล จากฝั่งของผู้ที่ถูกกดขี่ทางการเมือง
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเขียนอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 โดย มาตรา 31 กำหนดว่า
"มาตรา 31 ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
(1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
(2) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 156/1 แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
(3) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
(4) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 54
(5) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277"
ตามที่มาตรา 31(1) ได้ระบุว่า ผู้ใด "ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล" เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น องค์ประกอบส่วนนี้เป็นส่วนที่เปิดช่องให้ตีความได้กว้างที่สุด และในทางปฏิบัติก็ถูกนำมาใช้อ้างอิงดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลกับการกระทำที่หลากหลายอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อพิจารณาตามมาตรา 31(1) จะพบว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดจะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1. ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล อันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีทุกองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
1.1 ข้อกำหนดของศาล
1.2 ข้อกำหนดนั้นต้องออกมาเพื่อรักษาความเรียบร้อย
1.3 มีผู้จงใจฝ่าฝืนข้อกำหนดนั้น
2. ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีทุกองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
2.1 มีผู้ประพฤติตนไม่เรียบร้อย
2.2 การประพฤตินั้นเกิดขึ้นในบริเวณศาล
"ประพฤติตนไม่เรียบร้อย" ถูกตีความกว้างขวาง
การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อรักษาความเรียบร้อย หรือการประพฤติตนไม่เรียบร้อย อาจทำให้นึกถึงการแต่งกายที่เหมาะสมเมื่อไปศาล การไม่พูดคุยไม่ส่งเสียงดังระหว่างการพิจารณาคดี รวมถึงการรักษากริยาที่สุภาพอื่นๆ ด้วย ซึ่งศาลเคยตีความเรื่องความผิดจากการประพฤติตนไม่เรียบร้อยไว้บ้าง เช่น การใช้รองเท้าตีกันบริเวณศาล (ฎีกาที่ 256/2496) เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใช้ไม้ไผ่ตีผู้ต้องขัง (ฎีกาที่ 2977/2540)
แต่องค์ประกอบความผิดเรื่องการประพฤติตนไม่เรียบร้อย ก็เคยถูกศาลตีความอย่างกว้างขวางให้ครอบคลุมถึงการกระทำแทบทุกอย่างอันไม่เหมาะไม่ควร หรือการกระทำที่อาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีให้เป็นธรรม ทั้งที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องกริยามารยาทที่ "เรียบร้อย" เลยก็ตาม ตัวอย่างเช่น การพกปืนเข้ามาในบริเวณศาล (ฎีกาที่ 5100/2543) การเรียกเงินเพื่อวิ่งเต้นคดี (ฎีกาที่ 5801/2550) การสับเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย (ฎีกาที่ 7920/2544) การปลอมลายมือชื่อในเอกสารที่ยื่นต่อศาล (ฎีกาที่ 1159/2526) การพูดข่มขู่จะทำอันตรายพยาน (ฎีกาที่ 1715/2548) เป็นต้น
นอกจากนี้คำว่า การประพฤติตนไม่เรียบร้อย ยังเคยถูกตีความกว้างไปครอบคลุมถึงการเขียนคำร้องหรือคำคู่ความ ไม่เห็นด้วยกับศาลหรือผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีโดยแสดงออกถึงความไม่เคารพด้วย ทั้งที่การเขียนตัวหนังสือก็ไม่เกี่ยวข้องกับกริยามารยาทที่ไม่เรียบร้อยอีกเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การเขียนคำร้องซึ่งมีข้อความเสียดสีศาล (ฎีกาที่ 1130/2533) การเขียนฎีกาลักษณะก้าวร้าวดูหมิ่นศาล (ฎีกาที่ 1116/2535)
แนวทางตีความขอบเขตของ "บริเวณศาล" ยังสับสน
เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดที่มีโทษปรับและจำคุก ซึ่งเป็นโทษทางอาญา ดังนั้นหากยึดหลักการของกฎหมายอาญาก็ต้องตีความอย่างเคร่งครัด และตีความให้แคบตามตัวบทกฎหมายเท่านั้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนแล้ว การประพฤติตนไม่เรียบร้อยที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ จึงต้องเกิดขึ้นในบริเวณศาลเท่านั้น หากเกิดขึ้นนอกบริเวณศาล เช่น นอกรั้วของศาล ย่อมไม่เป็นความผิด
แต่เมื่อศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาหลายๆ ฉบับกลับพบว่า แนวโน้มการตีความกฎหมายละเมิดอำนาจศาล ไม่ได้ใช้หลักการตีความอย่างเคร่งครัดตามที่ควรจะเป็น แต่กลับมีการตีความขยายคำว่า "บริเวณศาล" ให้กว้างออกไป เพื่อจะเอาผิดและลงโทษผู้ที่ทำสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ตัวอย่างเช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ 635/2559 ข้อความที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงในเฟซบุ๊กกล่าวหาว่า ศาลดำเนินคดีไม่เป็นธรรม และไปถ่ายรูปในบริเวณศาลนำมาลงประกอบข้อความเท็จว่าศาลเรียกเงิน และมีข้อความข่มขู่ศาลว่าจะยิงทำร้าย ขอให้ผู้พิพากษาระวังตัว อันเป็นข้อความที่ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาล และเป็นการรายงานกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่ถูกต้อง แม้ผู้ถูกกล่าวหาลงข้อความในเฟซบุ๊กโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน แต่เมื่อข้อความส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายรูปบุคคลในบริเวณศาล ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
คำพิพากษาฎีกาที่ 7920/2544 แม้การเปลี่ยนผู้ต้องหาในคดีนี้จะกระทำในชั้นสอบสวนก่อนกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นเหตุขัดขวางมิให้การดำเนินคดีในศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรมและถูกต้อง เพราะทำให้มีการดำเนินคดีอาญาในศาลต่อบุคคลผู้บริสุทธิ์โดยผู้กระทำความผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษ การที่ผู้ถูกกล่าวหาจัดให้มีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในศาล อันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ศาลย่อมมีอำนาจสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องทำการไต่สวนข้อเท็จจริง
คำพิพากษาฎีกาที่ 7-8/2543 แม้การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาจะกระทำในชั้นสอบสวน แต่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจดีอยู่แล้วว่า ในที่สุดก็จะต้องมีการดำเนินคดีในศาลเป็นการต่อเนื่องไป การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยมิชอบย่อมเป็นเหตุให้ผู้กระทำผิดที่แท้จริงไม่ถูกลงโทษ ทำให้กระบวนพิจารณาในศาลไม่อาจดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมได้ ต้องถือว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
*** การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาหมายถึง การนำบุคคลที่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหามาดำเนินคดีแทนผู้ต้องหาตัวจริง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้เงินว่าจ้างคนมาถูกดำเนินคดีและรับโทษแทนหรือการใช้อำนาจทางใดทางหนึ่งบังคับให้บุคคลอื่นมาถูกดำเนินคดีแทน
คำพิพากษาฎีกาที่ 5462/2539 แม้การอ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษาจะกระทำนอกบริเวณศาล แต่การอ้างเช่นว่านั้นก็เพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาล ผลที่เกิดขึ้นจึงมุ่งหมายให้มีผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล คดีนี้ยังมีการทวงถามเงินดังกล่าวในบริเวณศาลอันเป็นการกระทำต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกเงินจากผู้กล่าวหาด้วย จึงเป็นการละเมิดอำนาจศาล
คำพิพากษาฎีกาที่ 5801/2550 ผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าจะติดต่อวิ่งเต้นคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ให้และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เบื้องบน 200,000 บาท ตกลงและนัดให้ไปรับมอบเงินที่บ้านของผู้กล่าวหา เมื่อรับเงินดังกล่าวไปแล้ว ผลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้กล่าวหาจึงทวงเงินคืนหลายครั้ง เคยมาติดตามทวงคืนในบริเวณศาล 3 ครั้ง แม้การเรียกเงินค่าวิ่งเต้นคดีจะมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล แต่ได้มีการติดต่อทวงถามคืนเงินในบริเวณศาลและมีการมอบเงินคืนที่บริเวณโรงรถของศาล กระบวนการเรียกร้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นคดีและการคืนเงินถือเป็นส่วนหนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการละเมิดอำนาจศาล
จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 5 คดี ข้างต้น จะเห็นความพยายามของศาลที่สร้างคำอธิบายเพื่อขยายความคำว่า "ในบริเวณศาล" ให้กว้างออกไปกินความถึงการกระทำที่เกิดขึ้นภายนอกศาลแต่มุ่งให้เกิดผลกระทบมาถึงการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลด้วย เช่น การเรียกสินบนเพื่อวิ่งคดี หรือการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา ไม่ว่าจะทำที่ใดก็เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้
แต่อย่างไรก็ดี หลักการตีความกฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้กว้างออกไปเช่นนี้ ยังไม่ได้รับการยอมรับและยังไม่ถือว่าเป็นหลักการตีความที่แน่นอนตายตัวเสมอไป เพราะวิธีการตีความโดยกว้างก็ถูกศาลฎีกาในบางคดี "กลับหลัก" อยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน และตีความคำว่า "ในบริเวณศาล" ให้แคบลงมา หมายถึง เพียงในรั้วที่ทำการของศาลเท่านั้น โดยพิจารณาสถานที่ที่การกระทำเกิดขึ้นเท่านั้นไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบว่าอาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินคดีของศาลด้วย ดังตัวอย่างเช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ 12413/2547 ผู้ถูกกล่าวหาเรียกและรับเงินจำนวน 120,000 บาท โดยอ้างว่าจะนำไปใช้วิ่งเต้นล้มคดีกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษา แต่การเรียกและรับเงินกระทำที่บ้านของผู้ร้องเรียนและที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอยู่ห่างไกลจากศาลชั้นต้นมาก ไม่มีผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้กระบวนพิจารณาของศาลดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ผู้ถูกกล่าวหามาศาลกับผู้ร้องเรียนทุกนัดเป็นเพราะมีหน้าที่ในฐานะผู้รับมอบฉันทะจากนายประกัน การพูดกับผู้ร้องเรียนว่าไม่ต้องกลัวถึงอย่างไรก็ไม่ติดคุกสามารถวิ่งเต้นได้อยู่แล้วนั้น ก็เป็นแต่เพียงการปลอบใจผู้ร้องเรียนให้คลายวิตกกังวลเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเกี่ยวโยงกับการเรียกการรับเงินที่เกิดขึ้นนอกบริเวณศาล แม้การหลอกลวงเรียกรับเงินว่าจะนำไปวิ่งเต้นล้มคดีกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษาจะเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาร้ายแรง กระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของสถาบันในกระบวนการยุติธรรม สมควรที่จะลงโทษให้หลาบจำมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป แต่เมื่อการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นนอกบริเวณศาล กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
คำพิพากษาฎีกาที่ 3227/2542 ผู้ถูกกล่าวหาเรียกและรับเงินเพื่อนำไปวิ่งเต้นพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจ โดยไม่ปรากฏว่าจะนำเงินไปให้ผู้พิพากษา แม้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดผลแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาศาล อันเกิดผลเสียหายแก่คู่ความและประชาชน สมควรอย่างยิ่งที่จะลงโทษให้หลาบจำ แต่เมื่อการกระทำไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลแล้วจะอาศัยผลจากการกระทำที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายแก่รูปคดีมาชี้ขาดว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4498/2546 (ประชุมใหญ่) แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นการปลอมเอกสารสำเนาคำสั่งศาลที่ตั้งผู้จัดการมรดก แต่ไม่ปรากฏว่าการปลอมสำเนาเกิดขึ้นในบริเวณศาล แม้การกระทำจะมุ่งหมายเพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่แท้จริงอันเกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นการกระทำที่มิได้เคารพเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองที่สมควรอย่างยิ่งจะลงโทษให้หลาบจำ และมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป แต่ก็ยังไม่อาจนำลำพังความมุ่งหมายของผลดังกล่าวมาถือเป็นข้อชี้ขาดว่า ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4102/2549 ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีว่ามีพฤติการณ์ละเลยต่อหน้าที่ และด้อยประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดี ฟังความโจทก์ข้างเดียว ตัดสินคดีผิดพลาดไม่ยุติธรรมและลงโทษผิดหลักมนุษยชาติ กระทำให้ผู้อื่นเสียหายมากนั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งขณะนั้นมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยไม่ปรากฏว่าได้ร้องเรียนไปยังศาลชั้นต้น หรือได้ทำหนังสือร้องเรียนขึ้นในบริเวณศาลชั้นต้น แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการก้าวร้าวและดูหมิ่นเสียดสีผู้พิพากษาอย่างร้ายแรงโดยปราศจากความเคารพยำเกรง ทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรมและทำให้ผู้พิพากษาคนดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนซึ่งสมควรลงโทษให้หลาบจำมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล จึงไม่อาจลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้
จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 4 คดี ที่กล่าวมา จะเห็นว่า ศาลใช้วิธีตีความอย่าแคบ เฉพาะการกระทำที่เกิดในบริเวณศาลเท่านั้นจึงจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ หากการกระทำเกิดขึ้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกรับเงินเพื่อวิ่งเต้นคดี ปลอมคำสั่งศาล เขียนเรื่องร้องเรียน แม้จะมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินคดีในศาล ก็ยังไม่อาจตีความให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ โดยมีข้อสังเกตว่า ทุกคดีที่ศาลฎีกาไม่เอาผิดจำเลย ศาลก็ยังต้องบรรยายโดยละเอียดถึงความเลวร้ายของการกระทำเอาไว้อย่างชัดเจนด้วย เพื่อตอกย้ำว่า ศาลเห็นแล้วว่าการกระทำเหล่านั้นควรจะเป็นความผิด เพียงแต่ศาลไม่มีอำนาจสั่งลงโทษในความผิดฐานนี้ได้
พอจะเห็นได้ว่า แนวทางคำพิพากษาของศาลฎีกาในช่วงเวลา 20 ปีหลังมานี้ ก็ยังมีลักษณะ "กลับไปกลับมา" เกี่ยวกับการตีความเรื่องขอบเขตของคำว่า "ในบริเวณศาล" ว่าจะรวมถึงการกระทำนอกรั้วศาลที่ส่งผลต่อการดำเนินคดีในศาลด้วยหรือไม่ แม้เป็นคดีที่มีลักษณะการกระทำความผิดใกล้เคียงกัน คำพิพากษาศาลฎีกาก็ยังออกมาแตกต่างกันไปตามการตีความของผู้พิพากษาแต่ละองค์คณะได้ จึงต้องถือว่า หลักการตีความแคบหรือกว้างในเรื่องนี้ "ยังไม่นิ่ง" และยังอาจพัฒนาต่อไปได้อีกเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ทั้งหมดในอนาคต
ชนิดบทความ: