1771 1046 1297 1244 1883 1869 1972 1015 1486 1430 1327 1284 1809 1418 1361 1512 1773 1738 1362 1269 1384 1947 1875 1155 1022 1670 1616 1258 1191 1096 1522 1684 1166 1365 1402 1773 1772 1142 1682 1007 1884 1053 1631 1924 1990 1374 1629 1807 1479 1323 1807 1668 1816 1224 1108 1202 1910 1492 1569 1363 1435 1069 1796 1859 1047 1157 1278 1432 1636 1591 1890 1736 1049 1339 1642 1175 1440 1140 1120 1511 1181 1022 1493 1554 1111 1872 1939 1800 1834 1605 1841 1553 1024 1516 1692 1313 1694 1334 1790 ดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายปกป้องศาลจากการวิจารณ์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายปกป้องศาลจากการวิจารณ์

 

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ขัดแย้ง สถาบันศาลก็ยังคงต้องทำหน้าที่ตีความกฎหมาย พิจารณาและตัดสินคดีต่อไป แต่หลายครั้งเมื่อผู้มีอำนาจทางการเมืองออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายในทางที่กดขี่ผู้ที่เห็นต่าง สถาบันศาลจึงถูกดึงให้เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ปรับใช้กฎหมายเหล่านั้น และหลายครั้งที่ฝักฝ่ายการเมืองอ้างอิงความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง 

เมื่อสถาบันศาลกลายมาเป็นผู้เล่นตัวหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมือง ผู้ที่เสียเปรียบทางการเมืองจึงมักถูกลากให้ยืนตรงข้ามกับสถาบันศาลไปด้วย และเมื่อเกิดความรู้สึกไม่พอใจ เกิดการตั้งคำถามขึ้นในสังคมต่อการทำหน้าที่บางครั้งของสถาบันศาล ความผิดฐาน "ดูหมิ่นศาล" และความผิดฐาน "ละเมิดอำนาจศาล" จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อปิดกั้นการเคลื่อนไหว การวิพากษ์วิจารณ์ และการว่าร้ายโจมตีการทำงานของศาล จากฝั่งของผู้ที่ถูกกดขี่ทางการเมือง

 

1825

 
อะไร คือ ความผิดฐาน “ดูหมิ่นศาล” กับ “ละเมิดอำนาจศาล”
 
ความผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือ ละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดที่มีองค์ประกอบคล้ายกันแต่ปัจจุบันถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายสองฉบับต่างกัน ความผิดฐานดูหมิ่นศาล อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และ ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอยู่ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และ 31 โดยบทบัญญัตินี้ทำหน้าที่คุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีของศาลแต่ละแห่ง ให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย
 
วัตถุประสงค์ของกฎหมายทั้งสองมาตรา ก็เพื่อจะคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี ให้การดำเนินคดีของศาลไม่ถูกรบกวน มีความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนให้ความเคารพและปฏิบัติตาม คุ้มครองการทำหน้าที่ของบุคคลต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ศาล ฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย รวมถึงพยาน ให้รู้สึกปลอดภัย คุ้มครองไม่ให้ผู้พิพากษาต้องถูกว่าร้าย หรือข่มขู่ หรือทำร้าย จนกระทบกับการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ
 
สำหรับเนื้อหา ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
 
ขณะที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความ...หรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ... ”
 
โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 ได้ระบุฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลว่า
          “ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
          (1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
          (2) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 156/1 แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
          (3) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
          (4) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 54
          (5) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277”
 
และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 กำหนดบทลงโทษไว้ว่า 
          "ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
          (ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
          (ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
          การไล่ออกจากบริเวณศาลนั้นให้กระทำได้ชั่วระยะเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาหรือภายในระยะเวลาใด ๆ ก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร เมื่อจำเป็นจะเรียกให้ตำรวจช่วยจัดการก็ได้
ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้นให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท"
 
จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองฉบับ พบว่า การดูหมิ่นศาล และการละเมิดอำนาจศาลมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน คือ การดูหมิ่นศาลในประมวลกฎหมายอาญา การกระทำจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ การดูหมิ่นนั้นเป็นการดูหมิ่นศาลหรือตัวผู้พิพากษา อันเนื่องมาจากการพิจารณาหรือพิพากษาคดี เช่น การกล่าวหาว่า ผู้พิพากษาไปกินข้าวกับโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี การดูหมิ่นว่า ศาลไม่ยึดหลักกฎหมายในการพิพากษา เป็นต้น แต่หากเป็นการดูหมิ่นกันในทางส่วนตัวในประเด็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาหรือพิพากษาคดี แม้คนถูกดูหมิ่นจะมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลได้
 
นอกจากการพูดจาหรือแสดงออกว่า ดูหมิ่นโดยตรงแล้ว การกระทำอย่างอื่นที่เป็นไปเพื่อขัดขวางการพิจารณาคดีหรือการพิพากษาคดีของศาล ก็เป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลได้ เช่น การส่งเสียงเอะอะเอ็ดตะโร เป็นต้น
 
ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีการกระทำที่จะเข้าองค์ประกอบความผิดได้หลายประการกว่า รวมทั้งการ แสดงหลักฐานเท็จเพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล (การแสดงหลักฐานเท็จในกรณีอื่นจะเป็นความผิดฐานอื่น) การจงใจเลี่ยงไม่รับเอกสารที่ส่งจากศาล การตรวจสำนวนหรือคัดสำเนาเอกสารโดยไม่ได้รับอนุญาต การไม่มาศาลตามหมายเรียก ฯลฯ ส่วนการแสดงออกที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กฎหมายไม่ได้เขียนองค์ประกอบเอาไว้อย่างชัดเจนว่า การแสดงออกแบบใด การวิพากษ์วิจารณ์ศาลและการทำงานของผู้พิพากษาในขอบเขตเท่าใด จึงจะเป็นความผิด กฎหมายเพียงเขียนว่า การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อาจจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้
 
ตารางสรุปการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิด
ดูหมิ่นศาล (ป.อาญา) ละเมิดอำนาจศาล (ป.วิ.แพ่ง)
1. ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการ
พิจารณาคดีหรือพิพากษาคดี 
 
2.ขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล 
1. ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล
2. ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
3. แสดงข้อเท็จจริง/เสนอพยานหลักฐาน
ที่เป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้น
ค่าธรรมเนียมศาล
4. หลีกเลี่ยงไม่รับเอกสารของศาล
5.ตรวจสำนวน/คัดสำเนาเอกสารโดยไม่ได้รับอนุญาต
6. ขัดขืนไม่มาศาลตามหมายเรียก
 
 
ดูหมิ่นศาล บทลงโทษรุนแรงกว่า ละเมิดอำนาจศาล
 
เมื่อพิจารณาบทลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานดูหมิ่นศาล ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ระบุโทษความผิดฐานหมิ่นศาล ระวางโทษจำคุก 1-7 ปี หรือปรับ 2,000-14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ขณะที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ระบุโทษหากบุคคลใดละเมิดอำนาจศาลใดให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษ คือ ไล่ออกจากบริเวณศาลช่วงเวลาที่ศาลนั่งพิจารณา หรือ ลงโทษให้ผู้กระทำผิดจำคุกได้ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ในส่วนของบทลงโทษจะสังเกตเห็นว่า ความผิดฐานดูหมิ่นศาลมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ อีกทั้งโทษฐานละเมิดอำนาจศาลยังเปิดช่องให้ ศาลสามารถตักเตือน ให้โอกาส แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรืออาจจะเพียงแค่ไล่ออกจากบริเวณศาล โดยไม่ต้องวางโทษให้เสียค่าปรับหรือจำคุก
 
ตารางสรุปอัตราโทษ
บทลงโทษ ดูหมิ่นศาล (ป.อาญา) ละเมิดอำนาจศาล (ป.วิ.แพ่ง)
จำคุก 1-7 ปี ไม่เกิน 6 เดือน
ปรับ  2,000-14,000 บาท ไม่เกิน 500 บาท
ทั้งจำทั้งปรับ / /
ไล่ออกจากบริเวณศาล x /
 
 
ศาลเห็นเองตัดสินได้เลย อำนาจพิเศษของกฎหมายละเมิดอำนาจศาล
 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ซึ่งกำหนดโทษฐานละเมิดอำนาจศาล เขียนเอาไว้ว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง....” การเขียนลักษณะนี้เป็นการให้อำนาจเต็มที่กับศาล เมื่อมีการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นต่อหน้าศาล และศาลเห็นเอง ศาลก็จะสั่งลงโทษได้เลยทันที โดยไม่ต้องมีการไต่สวน การให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอีก
 
ลักษณะเช่นนี้เป็นอำนาจพิเศษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลฐานเดียวเท่านั้น ความผิดที่มีโทษจำคุกฐานอื่นไม่ว่าตามกฎหมายใด การจะเอาผิดและสั่งลงโทษบุคคลใดได้ ต้องมีกระบวนการพิจารณาคดี เริ่มตั้งแต่มีผู้เสียหายเป็นผู้กล่าวหา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง มีการสอบปากคำในชั้นตำรวจ มีการกลั่นกรองและสั่งฟ้องโดยพนักงานอัยการ และเมื่อถึงชั้นศาลก็ต้องมีการไต่สวน สืบพยาน โดยตลอดกระบวนการต้องทำต่อหน้าจำเลย และจำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จำเลยมีสิทธิมีทนายความ มีสิทธินำเสนอพยานหลักฐานของตัวเองเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำความผิด หรือพิสูจน์เหตุลดโทษหรือเหตุยกเว้นโทษได้เต็มที่ สำหรับความผิดฐานดูหมิ่นศาล ถ้าจะมีการตัดสินเอาผิดผู้ใด ก็ต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีตามหลักการนี้
 
แต่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีกระบวนการอันพิเศษให้อำนาจไว้ เนื่องจากความผิดนี้เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ได้เขียนไว้เป็นความผิดฐานหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการพิจารณาและพิพากษาคดีให้เป็นไปโดยความสงบเรียบร้อย และเนื่องจากองค์ประกอบความผิดเป็นการกระทำต่อศาล อยู่ในความรับรู้ของศาลเอง กฎหมายจึงให้อำนาจศาลเป็นผู้สั่งลงโทษได้ทันทีเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา แต่ในทางปฏิบัติหากการกระทำใดไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าผู้พิพากษาโดยตรง ผู้พิพากษาอาจเรียกผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาไต่สวนไปเพียงฝ่ายเดียวจนได้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลพอใจก็สามารตัดสินลงโทษได้เลย
 
โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2547 รับรองหลักการนี้ไว้ชัดเจนว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล เมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องแจ้งข้อหาหรือส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารที่นำเสนอจริงหรือไม่ ก็สามารถสั่งลงโทษได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป
 
และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2559 การไต่สวนหาความจริงของศาลในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า มีผู้ละเมิดอำนาจศาล มิใช่การดำเนินคดีอาญาทั่วไป มิอาจนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ในกรณีที่เป็นการดำเนินกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ ทั้งบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นบทบัญญัติพิเศษ จึงไม่มีเหตุต้องสอบถามผู้ถูกกล่าวหาเรื่องการมีทนายความ และกรณีมิใช่การสืบพยาน เป็นเพียงการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงหาจำต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาสาบานตนก่อนไม่
 
 
ดูแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกา ฐานดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาล
 
ลองดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจที่วางแนวทางการตีความ และวางอัตราโทษของ ความผิดฐานดูหมิ่นศาลและฐานละเมิดอำนาจศาล ตามตาราง
 
คำพิพากษาของศาลฎีกา การกระทำที่เป็นความผิดฐาน “ดูหมิ่น/ขัดขวางศาล” 
การกระทำ
บทลงโทษ
ฎีกาที่ 1456/2506 ทนายความ พูดกับผู้อื่นว่า " ไม่นึกเลยว่าสำนวนนี้จะมาตกอยู่แก่คนๆ นี้" โดยคำว่า “แก่คนๆนี้” ในที่นี้ คือ ผู้พิพากษา
พิพากษาให้ จำคุก 2 เดือน เนื่องจากรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 1 เดือน 
ฎีกาที่ 1124/2507 ร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า ผู้พิพากษาไปทานข้าวกับโจทก์หลังอ่านคำพิพากษา
พิพากษาให้ จำคุก 2 ปี
คำพิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คดี 'สหรัถ' โพสต์เฟซบุ๊กทำนองว่า “ศาลรับใช้นายทุน”   พิพากษาให้ รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี
 
คำพิพากษาของศาลฎีกา การกระทำที่เป็นความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” 
การกระทำ บทลงโทษ
ฎีกาที่ 5714/2559 นำพวงหรีด ป้ายข้อความวางหน้าศาลแพ่ง และตะโกนว่า อยุติธรรม คดีสุดสงวน จำคุก 2 เดือน เนื่องจากรับสารภาพ ลดเหลือ 1 เดือน
ฎีกาที่ 1821/2557 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า การตัดสินคดีของศาลถูกครอบงำจากอิทธิพลของทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี 
พิพากษาให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท รอลงอาญา 3 ปี
ฎีกาที่ 8005/2551 ยื่นคำแถลงคัดค้าน ระบุว่าศาลปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่สุจริต เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้ จำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท
โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี 
ฎีกาที่ 1447/2551 ไม่ให้ผู้อื่นมาเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก ปรับ 500 บาท
ฎีกาที่ 5100/2543 พกพาอาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงดังกล่าวเข้าไปใน บริเวณที่ทำการศาล พิพากษาให้ จำคุก 2 เดือน
ฎีกาที่ 5615/2543 นำเมทแอมเฟตามีนเข้าไปที่หน้าห้องควบคุมผู้ต้องขัง พิพากษาให้ จำคุก 2 เดือน
ฎีกาที่ 5462/2539 เรียกเงินจากผู้กล่าวหาโดยอ้างว่าจะเอาไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษา จำคุก 3 เดือน
 
เมื่อลองพิจารณาจากแนวทางของคำพิพากษาศาลฎีกา พบว่า คำพิพากษาศาลฎีกาฐานดูหมิ่นศาล ที่พิพากษาว่าเป็นความผิด จำนวนมากเกิดจากการกระทำที่มาจากการพูดหรือเขียนข้อความให้ศาลเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ขณะที่คำพิพากษาศาลฎีกาฐานละเมิดอำนาจศาล จำนวนมากจะเป็นการกระทำอื่นๆ ตามที่กำหนดฐานความผิดไว้กว้างๆ เช่น ก่อเหตุวุ่นวาย ขัดคำสั่งศาล ฯลฯ ดังตัวอย่างจากตาราง
 
แต่ไม่ได้หมายความว่า การพูดจาหรือเขียนข้อความในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล จะไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย เพราะเท่าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพเก็บบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก พบคดีตัวอย่างที่น่าสนใจหลายคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็น หรือการระบายความรู้สึกที่อัดอั้นตันใจจากความเป็นไปของกระบวนการยุติธรรม และถูกลงโทษทั้งฐานดูหมิ่นศาล และฐานละเมิดอำนาจศาล ตัวอย่างเช่น
           
สุดสงวน ถูกกล่าวหาว่า เมื่อปี 2557 ได้นำกลุ่มมวลชนกว่าร้อยคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลแพ่ง ในคดีเพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมตัวกันหน้าอาคารศาลแพ่ง วางพวงหรีดและชูป้ายข้อความ ศาลฎีกาพิพากษาว่า กรณีดังกล่าวเป็นควาผิดฐานการละเมิดอำนาจศาล  ให้จำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยศาลเห็นว่า สุดสงวน เป็นถึงอาจารย์ด้านกฎหมายนำประชาชนมากดดันดุลยพินิจของศาลถือเป็นบ่อนทำลายสถาบันศาลด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของศาลให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ นำไปสู่ความวุ่นวาย ไม่เคารพกติกาของกฎหมาย พฤติการณ์ของสุดสงวนสะท้อนถึงความเหิมเกริมไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมาย
 
ณัฐพล ถูกกล่าวหาว่า ฉีดพ่นสเปรย์สีดำเป็นตัวอักษรเอในวงกลมรวมสองจุดบนป้ายศาลอาญา สัญลักษณ์ดังกล่าว คล้ายสัญลักษณ์ที่มีความหมายเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐ ศาลอาญา พิพากษาว่า การพ่นสีสเปรย์บริเวณป้ายศาลอาญา เข้าข่ายเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในเขตศาล และเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาล ให้ลงโทษจำคุกณัฐพลเป็นเวลาหนึ่งเดือน แต่ณัฐพลสำนึกผิด จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
 
กัณฐัศจ์ ถูกอัยการศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาฟ้องร้องว่า ไม่มาพบศาลตามกำหนดพิจารณา และโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในลักษณะว่า ศาลขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความยุติธรรมในการพิจารณาดี ซึ่งเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาล และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดให้ รอกำหนดโทษไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลย
 
 
 
 
 
ชนิดบทความ: