1508 1793 1939 1464 1892 1646 1646 1249 1036 1124 1506 1989 1836 1257 1630 1137 1805 1227 1250 1665 1502 1413 1130 1791 1237 1655 1053 1743 1283 1612 1604 1051 1679 1151 1971 1071 1128 1620 1147 1426 1325 1128 1725 1267 1870 1923 1628 1882 1253 1235 1851 1695 1791 1236 1725 1323 1743 1428 1321 1477 1574 1665 1373 1508 1580 1850 1049 1408 1860 1779 1307 1635 1552 1519 1758 1064 1395 1534 1276 1395 1786 1285 1791 1675 1338 1234 1555 1696 1932 1981 1209 1021 1775 1373 1598 1906 1013 1218 1885 คดีมาตรา 112 ในบริบทของโลกที่สื่อสารผ่านเทคโนโลยี | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คดีมาตรา 112 ในบริบทของโลกที่สื่อสารผ่านเทคโนโลยี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ช่วยเพิ่มอำนาจการสื่อสารหรือการแสดงความเห็นให้กับคนธรรมดาโดยไม่ต้องง้อสื่อกระแสหลัก แต่ในขณะเดียวกัน มันก็นำมาซึ่งความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีด้วย การแสดงความเห็นในประเด็นอ่อนไหว เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเปลี่ยนจากการพูดคุยระหว่างคนรู้จักในพื้นที่ส่วนตัวมาเป็นการพูดคุยในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีผู้เห็นต่างอยู่ด้วย เช่น บนเฟซบุ๊ก ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกผู้เห็นต่างนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
นอกจากนี้เมื่อโทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาให้ทำได้มากกว่าใช้โทร แต่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถบันทึกภาพและเสียงได้ ก็ทำให้ผู้ที่แสดงความเห็นในประเด็นอ่อนไหวต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเคยมีกรณี ทั้งที่เจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์มือถือมาตรวจสอบประวัติการสนทนาส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งกรณีที่ผู้โดยสารใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกเสียงบทสนทนาระหว่างเธอคนขับแท็กซี่ที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกันมาใช้เป็นหลักฐานในการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี 112 เกิดขึ้นมาแล้ว
 
287
 
จากการเก็บข้อมูลคดี 112 ตั้งแต่การรัฐประหารปี 57 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 มีผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 47 คน (ไม่รวมคดี112ที่เกิดจากการแอบอ้างสถาบันฯ) ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 37 คน ที่ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีในความผิดที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ด้วยลักษณะความผิดที่หลากหลาย เช่น การโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก การเผยแพร่บทความหรือบทกวีบนเว็บไซต์ การทำคลิปเสียงเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ส่งต่อหรือแชร์เนื้อหา
 
ขณะเดียวกัน มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 3 คน คือ ทอมดันดี ภรณ์ทิพย์ และ ปติวัฒน์ ที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเป็นการกระทำออฟไลน์ไม่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต แต่ข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดี และมีอีก 1 ราย คือยุทธศักดิ์ที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเป็นการกระทำออฟไลน์แต่มีการใช้เทคโนโลยีได้แก่ฟังก์ชันการอัดเสียงบนโทรศัพท์มือถือบันทึกหลักฐาน มีเพียง 6 ราย คือ โอภาส สมัคร ชาญวิทย์ ประจักษ์ชัย บัณฑิต และ จ่าประสิทธิ์ เท่านั้น ที่การกระทำและการหาหลักฐานดำเนินคดีไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ต อย่างมีนัยยะสำคัญ
 
คดี 112 ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ และคดี 112 ที่เกิดขึ้นในโลกออฟไลน์ แต่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง มีบางประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่ผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกรวมทั้งผู้ใช้เทคโนโลยีทั่วๆไป น่าจะได้รับรู้ เพื่อระมัดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ทั้งที่อาจไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด
 
"อย่าวางมือถือไว้ไกลตัว" บทเรียนจากคดีอำพล: อากงเอสเอ็มเอส
 
คดี 112 ของ อำพล หรือ “อากงเอสเอ็มเอส” เป็น คดีแรกๆ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อำพลถูกกล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความสั้น 4 ข้อความไปยังโทรศัพท์ของสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของอดีตนายกอภิสิทธิ์ เขาถูกตัดสินว่าทำความผิดตามมาตรา 112 รวม 4 กรรม และถูกลงโทษจำคุก 20 ปี อากงเสียชีวิตหลังรับโทษจำคุกได้ 6 เดือนด้วยโรคมะเร็ง
 
ศาลให้เหตุผลในคำพิพากษาคดีของอำพลตอนหนึ่งว่า แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความจากโทรศัพท์ของตนไปยังหมายเลขของสมเกียรติ แต่ก็เป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบได้เนื่องจากจำเลยย่อมต้องปกปิดการกระทำของตน จึงต้องอาศัยพยานแวดล้อม (ข้อมูลที่ระบุตำแหน่งว่าข้อความถูกส่งจากเสาสัญญาณใกล้บ้านจำเลย รวมทั้งหมายเลขอีมี่ที่ตรงกับโทรศัพท์ของจำเลยและจำเลยรับว่าใช้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวคนเดียว) มาพิจารณาประกอบ ซึ่งศาลเห็นว่าพยานแวดล้อมมีน้ำหนักพอรับฟังได้ว่าจำเลยทำผิดจริง
 
288
อำพลหรืออากงเอสเอ็มเอส (ประชาชาติธุรกิจ)
 
คดีนี้ ศาลได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า การกระทำผ่านเทคโนโลยียากที่จะหาประจักษ์พยานมายืนยันตัวผู้กระทำผิด ว่าเห็นจำเลยเป็นคนกดปุ่มส่งข้อความจริงๆ ศาลจึงให้น้ำหนักกับพยานแวดล้อม เช่น เครื่องที่ใช้ส่งข้อความ บริเวณที่ใช้ส่งข้อความ ซึ่งก็มีความน่ากังวลว่า หากมีคนอื่นที่อาจจะมีความขัดแย้งกันมาก่อนแอบใช้โทรศัพท์ของผู้ถูกกล่าวหาส่งข้อความ ก็เป็นไปได้ที่เขาอาจจะถูกพิพากษาว่ามีความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ัถูกกล่าวหาคนนั้น มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเคยแสดงแนวคิดทางการเมืองของตนต่อสาธารณะ    
 
"มีภาพ/ข้อความหมิ่นฯ ในเครื่อง อาจผิดฐานพยายามหมิ่นฯ" บทเรียนจากคดีกิตติธน: เคนจิ
 
กิตติธน ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือที่รู้จักกันบนโลกไซเบอร์ว่า "เคนจิ" ถูกจับกุมและดำเนินคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความตอบกระทู้ในเว็บไซด์อินเทอร์เน็ตทูฟรีดอม (internet to freedom) กิตติธนให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาว่า มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ด้วยการโพสต์ข้อความ 2 กรรม ให้ลงโทษกรรมและ 5 ปี รวม 10 ปี นอกจากนี้ ในคอมพิวเตอร์ของจำเลยก็มีภาพและข้อความซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อยู่ด้วย แต่ยังไม่ได้โพสเผยแพร่ออกไปเนื่องจากจำเลยถูกจับกุมและถูกยึดคอมพิวเตอร์ก่อนมีโอกาสลงมือ การกระทำของจำเลยเข้าข่ายเป็นการ "พยายามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ" ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน
 
289
 
กิตติธน หรือ เคนจิ ผู้ถูกลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและ "พยายาม" หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ
 
คดีนี้มีความน่าสนใจ เพราะเท่าที่มีการเก็บข้อมูล คดีของกิตติธนน่าจะเป็นคดีแรก ที่ศาลลงโทษบุคคลด้วยความผิดฐาน "พยายามหมิ่นฯ" ซึ่งในทางกฎหมายอาจเป็นที่ถกเถียงได้ว่า ด้วยหลักฐานเท่านี้ถือว่าเข้าข่าย “พยายาม” กระทำความผิดแล้วหรือยัง (ดูบทวิเคราะห์ อัยการ-ศาล สร้างนิยามใหม่ ความผิดฐาน “พยายามหมิ่นกษัตริย์ฯ”) สำหรับบุคคลทั่วไป คำพิพากษาคดีของกิตติธน อาจสร้างความน่ากังวลว่า หากผู้ใดมีข้อมูลใดๆ ที่ผิดกฎหมาย เช่น รูปภาพ หนังสือ หรือบทความ อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะได้มาโดยเจตนาหรือไม่(เช่นมีคนส่งต่อกันมาทางอีเมลหรือไลน์) ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษในฐาน “พยายาม” ได้
 
เฟซบุ๊คเราแต่ใครไม่รู้เข้ามาพิมพ์: บทเรียนจากคดีจารุวรรณ 
 
จารุวรรณสาวโรงงานชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ กลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคือเมื่อมีผู้ไปพบว่าเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อและรูปของเธอโพสข้อความและภาพที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มีสื่อบางสำนักลงข่าวของเธอพร้อมทั้งเปิดเผยที่อยู่จนญาติของจารุวรรณรู้สึกไม่สบายใจ 
 
290
 
จารุวรรณ ขณะมารอรับอานนท์ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จารุวรรณและผู้ต้องหาอีก 2 คนได้รับการปล่อยต่อเพราะอัยการยังไม่มีคำสั่งภายใน 84 วัน
 
เมื่อทราบข่าว จารุวรรณก็รีบให้ญาติติดต่อพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งว่า เฟซบุ๊กของเธอถูกบุคคลอื่นเข้าถึง เพราะรหัสที่ใช้เป็นเบอร์โทรศัพท์ของเธอ และเธอเองก็มีปัญหากับเพื่อนของแฟนที่ชื่อชาติชาย ซึ่งมาแอบชอบเธอแต่เธอไม่สนใจ จึงสงสัยอาจเป็นผู้เข้าไปใช้เฟซบุ๊กของเธอโพสต์ข้อความเพื่อกลั่นแกล้ง จากการซัดทอด ชาติชายจึงถูกจับกุม ขณะที่อานนท์แฟนของจารุวรรณก็ถูกควบคุมตัวด้วย ตามมาตรา 112 เช่นเดียวกับจารุวรรณ
 
หลังถูกควบคุมตัวในเรือนจำได้ 85 วัน จารุวรรณ ชาติชาย และอานนท์ ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากเมื่อครบกำหนดการฝากขัง 84 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดที่มีอำนาจควบคุมตัวได้ อัยการทหารยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี 
 
คดีของจารุวรรณและพวกอีกสองคนสร้างความน่ากังวลใจอย่างน้อย 2 ประการสำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊ก ประการแรกเกี่ยวกับการตั้งรหัสผ่าน ผู้ใช้เฟซบุ๊กหรืออินเทอร์เน็ตหลายคนที่อาจจะไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และมักตั้งรหัสผ่านเฟซบุ๊กหรือบัญชีออนไลน์อื่นง่ายๆ เพื่อให้สะดวกแก่การจำ เช่น ใช้วันเกิดหรือเบอร์โทรศัพท์ และประการที่ 2 ภายใต้สถานการณ์ที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯเป็๋นประเด็นอ่อนไหวที่เจ้าหน้าที่มักจะ "จับก่อนถามทีหลัง" รวมทั้งศาลก็มีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้ฝากขังและไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว หากผู้ใช้เฟซบุ๊กคนใดถูกกลั่นแกล้ง ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกจับและนำตัวไปฝากขังทั้งที่หลักฐานอาจจะอ่อน หากโชคดีก็อาจจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อครบ 84 วัน เพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องภายในเวลาที่กำหนด แต่หากโชคร้าย อัยการสั่งฟ้อง ก็อาจจะถูกคุมขังจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา   
 
ไม่มีความเป็นส่วนตัว ในการสื่อสารแบบ "ส่วนตัว" บนโลกออนไลน์
 
การซุบซิบนินทา หรือการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่สาม น่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์ รวมทั้งในสังคมไทย หากไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง การซุบซิบนินทาถึงบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112 ก็จะเป็นเรื่องที่พูดแล้วผ่านเลยไป ยากที่จะรื้อฟื้นมาร้องทุกข์ดำเนินคดีกัน เพราะผู้ที่สนทนากันต้องสามารถไว้วางใจกันได้ในระดับหนึ่ง เว้นแต่มีบุคคลภายนอกมาแอบได้ยิน หรือผู้ร่วมสนทนาเกิดผิดใจกันแล้วนำไปร้องทุกข์ ซึ่งคงจะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก 
 
แต่เมื่อการสนทนาในลักษณะดังกล่าวถูกกระทำผ่านเทคโนโลยี การสื่อสารของคนสองคนหรือคนในกลุ่ม ที่แม้จะทำเป็นการส่วนตัวและ ไม่มีเจตนาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ก็จะไม่มีความปลอดภัยและไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป เพราะเมื่อใช้เทคโนโลยีในการส่งผ่านข้อมูล อย่างน้อยๆ ข้อมูลเหล่านั้นจะต้องถูกบันทึกไว้ใน 1)อุปกรณ์ของผู้ส่ง 2)อุปกรณ์ของผู้รับ 3)ที่เก็บข้อมูลของผู้ให้บริการ และข้อมูลยังต้องเดินทางผ่านตัวกลางที่หลากหลาย ซึ่งรัฐและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีโอกาสไม่น้อยที่จะเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารแบบส่วนตัวได้
 
ที่ผ่านมามีคดี 112 อย่างน้อย 2 คดี ได้แก่คดีของ ณัฐ และ "ธเนศ" ที่จำเลย ถูกกล่าวหาว่าทำความผิด ด้วยการส่งอีเมล ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ไปหา เอมิลิโอ เอสเตบัน ที่เป็นผู้ดูแลบล็อก สต็อป เลสมาเจส  (Stop Lese Majeste) กรณีของ"ธเนศ" สิ่งที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คือการส่งลิ้งค์ของเว็บไซด์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายตามมาตรา 112 ไปหนึ่งลิงค์ แต่ไม่ได้เป็นผู้เขียนข้อความที่ผิดกฎหมายขึ้นด้วยตนเอง    
 
นอกจากการดำเนินคดีจากการเข้าถึงการสื่อสารด้วยอีเมลแล้ว กล่องข้อความส่วนตัว (chat boxหรือ messenger) ก็ช่องอีกช่องทางสื่อสาร ที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าถึง และนำมาใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีบุคคล ที่ผ่านมามีคดี112ของ ชโย ที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า จำเลยส่งภาพและข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไปถึงบุคคลอื่นผ่านระบบchat box 
 
การสื่อสารแบบส่วนตัวผ่านไลน์ (Line)ได้รับความนิยมมากอีก และดูจะมีความปลอดภัยเพราะบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ยากที่ฝ่ายความมั่นคงจะเข้าถึงข้อมูล แต่เมื่อฝ่ายความมั่นคงใช้วิธีจับกุมและยึดอุปกรณ์สื่อสาร และ "ขอ" ให้ผู้ถูกควบคุมตัวบอกรหัสการเข้าถึง การสื่อสารแบบเป็นส่วนตัวผ่านไลน์จึงอาจไม่ใช่การสื่อสารที่ปลอดภัยเสมอไป 
 
ณัฐฏธิดา หรือแหวน พยาบาลอาสา ประจักษ์พยานคนสำคัญในคดีสลายการชุมนุมปี 53 ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 หลังเจ้าหน้าที่ตรวจตรวจดูบทสนทนาในกลุ่มไลน์ของกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุปาระเบิดศาลอาญาซึ่งมีแหวนอยู่ในนั้นด้วย และพบว่ามีข้อความที่อาจเข้าข่ายความผิด ด้านทนายวิญญัติ จากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) เปิดเผยว่า ข้อความที่ถูกนำมากล่าวหา เขียนโดยบุคคลที่สาม ซึ่งแหวนจับภาพหน้าจอมาเพื่อตอบกลับผู้เขียนว่าทำไมจึงเขียนเช่นนั้น แต่เจ้าหน้าที่กลับนำภาพดังกล่าวมาใช้ดำเนินคดีแหวน 
 
การใช้เทคโนโลยีบันทึกหลักฐาน หรือใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดี 112
 
มีคดี112 จำนวนหนึ่งที่การกระทำตามข้อกล่าวหา โดยตัวของมันเองไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีการใช้เทคโนโลยีเลย เช่น การพูด หรือ การแสดงละคร แต่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้บันทึกหลักฐาน หรือใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี เช่น คดีของ ยุทธศักดิ์ คนขับแท็กซี่ คดีของปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ (คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า) และธคดีของธานัท หรือ “ทอม ดันดี”
 
เมื่อโทรศัพท์ทำได้มากกว่าโทรเข้าโทรออก - คลิปบทสนทนาที่อัดด้วยมือถือถูกใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีคนขับแท็กซี่
 
ยุทธศักดิ์เป็นคนขับแท็กซี่ซึ่งสนใจการเมืองอยู่บ้าง แต่ไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเนื่องจากต้องประกอบอาชีพ ยุทธศักดิ์ก็เหมือนกับเพื่อนร่วมอาชีพของเขาที่มักจะสนทนากับผู้โดยสารที่ว่าจ้าง ในช่วงเวลาปกติ บทสนทนาคงไม่พ้นเรื่องดินฟ้าอากาศหรือสภาพการจราจร แต่ในช่วงเดือนมกราคม 2557 ที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความตึงเครียด และมีการชุมนุมของกลุ่มกปปส บทสนทนาจึงอยู่ที่เรื่องของการเมือง 
 
 
291
 
เมื่อโทรศัพท์มือถือสามารถใช้อัดเสียและถ่ายภาพได้ บนสนทนาส่วนตัวก็อาจไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป
 
เมื่อวันหนึ่ง ยุทธศักดิ์เจอคู่สนทนาที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ผู้โดยสารแอบใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกเสียงสนทนาของตนเองกับยุทธศักดิ์ไว้ และนำไปใช้เป็นหลักฐานร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ยุทธศักดิ์ถูกจับกุมดำเนินคดีหลังการรัฐประหารและถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน คดีของยุทธศักดิ์น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้บทสนทนาระหว่างคนสองคนในพื้นที่ส่วนตัวอย่างในรถ ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป
 
คลิปบนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี: คนดูยิ่งเยอะ ความเสี่ยงยิ่งมาก
 
ตั้งแต่ปี 2548 สถานการณ์ทางการเมืองไทยเริ่มทวีความร้อนแรง มีการจัดชุมนุมใหญ่ หรือจัดสัมนาประเด็นทางการเมืองบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จัดในกรุงเทพ เทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้ผู้จัดเริ่มถ่ายทอดสดกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางเคเบิลทีวี ต่อมาก็มีการถ่ายทอดผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาที่จัดงานรับชมได้ ขณะเดียวกันก็มีการบันทึกวิดีโองานต่างๆอัพโหลดขึ้นบนเว็บไซด์ยูทูปหรือเว็บฝากไฟล์อื่นๆ ทำให้คนรับชมย้อนหลังได้ด้วย
 
การอัพโหลดคลิปการปราศรัยระหว่างการชุมนุมทางการเมือง หรือกิจกรรมเสวนาต่างๆ ลงบนอินเทอร์เน็ต ทางหนึ่งทำให้ผู้สนใจประเด็นเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับคนที่แสดงความเห็นด้วย เพราะคลิปเหล่านี้อาจถูกใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้
   
งานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเดือนตุลาคม ปี 2556 มีการถ่ายทอด และมีการอัพโหลดวิดีโอกิจกรรมต่างๆ ในงานขึ้นบนยูทูปด้วย ต่อมามีคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า เนื้อหา ละครเวที “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงาน เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จึงมีการดาวน์โหลดคลิปละครเวทีดังกล่าวลงแผ่นซีดีและนัดหมายกลุ่มคนที่เห็นด้วยให้ให้แผ่นซีดีเป็นหลักฐานไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจต่างๆ พร้อมกัน ซึ่งปรากฎว่ามีการไปร้องทุกข์ต่อ สถานีตำรวจ 13 แห่ง ภายหลังการรัฐประหารมีการจับกุมและดำเนินคดีกับภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานละครเวที
 
292
 
ภาพลายเส้นแสดงบรรยากาศการอ่านคำพิพากษาคดีเจ้าสาวหมาป่า คดีที่เกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มคนนำคลิปวิดีโอไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจพร้อมกัน 13 สภานี
 
นอกจากกรณีของกรณีของละครเวทีเจ้าสาวหมาป่าแล้ว คดีของธานัท หรือ ทอม ดันดี ก็มีการใช้คลิปที่อยู่บนโลกออนไลน์มาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีด้วยเช่นกัน 
 
ทอม ดันดี เป็นนักแสดงและนักกิจกรรมเสื้อแดงคนสำคัญ ก่อนการรัฐประหาร ทอมมักปรากฎตัวและขึ้นปราศรัยบนเวทีย่อยของคนเสื้อแดง หลายครั้ง การปราศรัยถูกบันทึกและอัพโหลดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต หลังการรัฐประหารทอมถูกเรียกรายงานตัว และถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เพราะคลิปการปราศรัยของเขา 2 คลิปเข้าข่ายผิดกฎหมาย คดีของทอมเทคโนโลยีมีนัยยะสำคัญ เพราะทำให้ทอมต้องขึ้นศาลทหาร การปราศรัยของเขาเกิดก่อนการประกาศเขตอำนาจศาลทหารเหนือคดี112 ของพลเรือน แต่เนื่องจากคลิปของเขาถูกพบและยังเข้าถึงได้หลังมีประกาศดังกล่าว อัยการทหารจึงถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่องและอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่า ธานัทรับรู้หรือยินยอมให้มีการนำคลิปดังกล่าวขึ้นบนอินเทอร์เน็ตหรือไม่       
 
บทส่งท้าย: เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต เป็นทั้งเครื่องขยายเสียงและเครื่องเก็บเสียง
 
ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ต และ สมาร์ทโฟน กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนจำนวนไม่น้อย จากการสำรวจ "การมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2557" ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ  พบว่า ในจำนวนประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปประมาณ 62.3 ล้านคน มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 23.8 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ต 21.7 ล้านคน และใช้โทรศัพท์มือถือ 48.1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่แสดงความคิดเห็นต่างๆ ผ่านอุปกรณ์สื่อสารหรืออินเทอร์เน็ต ในทางหนึ่ง อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย เป็นเสมือนกระบอกเสียงที่ช่วยส่งความคิดของผู้ใช้ไปพื้นที่สู่สาธารณะโดยไม่ต้องง้อสื่อกระแสหลัก 
 
แต่จากการที่ศาลวางบรรทัดฐานไว้ว่า จะให้น้ำหนักกับพยานแวดล้อมในคดี112 ที่มีเทคโนโลยีเกี่ยวข้อง ทำให้จำเลยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ยากขึ้น ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่เลือกจำกัดอิสระภาพผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 โดยไม่ได้พิจารณาถึงความหนักแน่นของหลักฐานมากนัก ก็อาจเพิ่มแรงจูงใจให้คนใช้มาตรา 112 มากลั่นแกล้งกันผ่านเทคโนโลยี เพราะผู้ถูกกล่าวหาจะพิสูจน์ตัวเองได้ยาก หรือแม้จะทำได้แต่ก็ต้องสูญเสียอิสระภาพไปพักใหญ่ ขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงทางเทคนิคที่การสื่อสารผ่านเทคโนโลยี อาจมี "แขกไม่ได้รับเชิญ" อยู่กลางทาง ก็อาจทำให้เรื่องที่เคยซุบซิบนินทาแล้วผ่านไป ถูกส่งต่อและบันทึกไว้อย่างเป็นระบบเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้

Thumbnail จาก The Tech Journal