1663 1607 1646 1948 1041 1082 1333 1653 1159 1296 1377 1109 1482 1148 1095 1561 1694 1957 1789 1734 1571 1441 1017 1272 1481 1366 1776 1204 1868 1299 1267 1721 1028 1301 1582 1647 1852 1057 1182 1045 1900 1521 1888 1932 1078 1718 1090 1307 1115 1935 1643 1851 1670 1364 1238 1515 1822 1813 1763 1464 1975 1186 1620 1183 1100 1434 1700 1238 1193 1222 1011 1569 1774 1542 1125 1376 1187 1165 1055 1543 1466 1900 1261 1536 1740 1886 1495 1585 1836 1805 1132 1062 1743 1127 1575 1954 1647 1207 1992 ถูกล่าแม่มดทำยังไง? สำรวจกฎหมายที่คุ้มครอง "เหยื่อ" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ถูกล่าแม่มดทำยังไง? สำรวจกฎหมายที่คุ้มครอง "เหยื่อ"

 

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง สงครามการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง คือ การนำภาพและข้อมูลส่วนตัวของคนที่ "เห็นต่าง" หรือมีจุดยืนทางการเมืองฝั่งตรงข้ามกันมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อเรียกร้องให้คนฝ่ายตรงข้ามเข้ามารุมประนาม สร้างแรงกดดันหรือกีดกันให้เกิดผลกระทบทางสังคม หรือที่เรียกอีกอย่างว่า การ "ล่าแม่มด" 
 
การล่าแม่มด บางครั้งก็เป็นรูปแบบของการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเปิดเผย หรือบางครั้งข้อมูลก็ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชังแก่ตัวผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง กฎหมายไทยมีบทบัญญัติบางประการที่อาจจะช่วยคุ้มครองผู้เสียหายและป้องกันภัยจากการ "ล่าแม่มด" บนโลกออนไลน์ได้ในระดับหนึ่ง
 
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 32 ได้คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และวรรคสองได้ระบุต่อไปว่าการกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลของบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นนี้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ"
 
ปรากฏการณ์ที่จะพบบ่อยในการล่าแม่มดนั้น คือ การนำข้อมูลของคนที่ถูก "ล่า" ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ที่อยู่ สถานที่ทำงานของผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกมาเผยแพร่ไว้ให้เป็นลักษณะเป้านิ่ง แล้วเรียกให้กลุ่ม "ผู้ล่า" นำข้อมูลต่างๆ มาวิจารณ์ ตลอดจนถึงนำไปใช้กดดันตัวผู้ถูกล่า เช่น เรียกร้องให้นายจ้างไล่ออกจากงาน หรือให้สถาบันการศึกษาลงโทษ ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือล้วนแต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น จึงเป็นการขัดต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 32 วรรคแรกแล้ว อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพียงกาารคุ้มครองในทางหลักการ โดยไม่ได้ระบุถึงผลของการละเมิดเอาไว้
 
 
กฎหมายแพ่ง : ฟ้องคดีฐาน "ละเมิด" เรียกค่าเสียหายได้
 
แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวถึงผลของการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวเอาไว้ แต่สามารถพิจารณาได้ตามมาตรา 420 ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายมาตราหลักของการ "ละเมิด" สิทธิของบุคคลอื่น ได้วางหลักไว้ว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"
 
ในขณะที่มาตรา 423 ก็ได้วางหลักไว้ว่า "ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะได้รู้" 
 
และ มาตรา 447 ยังได้วางหลักให้ "ผู้ใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้เสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหาย หรือทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้" 
 
มาตรา 420 เป็นกฎหมายหลักที่รับรองให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกเอาข้อมูลมาเผยแพร่สามารถฟ้องคดีเพื่อเรียกให้ผู้กระทำชดใช้ค่าเสียหายได้ ตามความเสียหายที่คิดเป็นจำนวนเงินได้จริง และถ้าหากมีการใส่ความเพิ่มเติมที่ไม่เป็นความจริงทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงด้วย ก็สามารถเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียงได้ด้วยตามหลักของมาตรา 423 และสามารถร้องขอต่อศาลให้จัดการใดๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากล่าแม่มดได้ เช่น ให้ลบข้อมูลอันทำให้ต้องเสียชื่อเสียง หรืออาจจะให้ผู้ก่อความเสียหายโพสต์ข้อความแสดงความรับผิดชอบใดๆ ประกอบกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยก็ได้ ตามมาตรา 447
 
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น "คดีแพ่ง" ที่ผู้เสียหายมีหน้าที่ต้องดำเนินคดีฟ้องร้องเอง ไม่สามารถไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ตำรวจช่วยดำเนินคดีให้ได้ ต้องหาทนายความช่วยเหลือในการดำเนินคดีเอง ซึ่งหากสุดท้ายชนะคดีศาลอาจสั่งให้อีกฝ่ายชดใช้ค่าทนายความคืนให้ตามที่ศาลเห็นสมควร และในการดำเนินคดีผู้เสียหายมี "ภาระการพิสูจน์" ให้ได้ว่า ใครเป็นผู้กระทำผิด และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร สามารถคิดเป็นค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินได้เท่าใด
 
 
ความรับผิดในทางอาญา: ถ้าทำให้เสียชื่อเสียงก็ผิดฐานหมิ่นประมาทได้
 
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งอยู่ในมาตรา 326 ที่กำหนดว่า "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"
 
และ มาตรา 328 ซึ่งกำหนดโทษให้สูงขึ้นสำหรับการหมิ่นประมาทโดยโฆษณา ที่กำหนดว่า "ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท"
 
ความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องการที่จะคุ้มครองผู้ที่เสียหายจากการทำให้เสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หากการ "ล่าแม่มด" เกิดขึ้นเพียงการเอาข้อความการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและข้อมูล รูปภาพ ของผู้แสดงความคิดเห็นมาเผยแพร่ต่อ โดยไม่ได้ใส่ความคิดเห็นหรือกล่าวร้ายเพิ่มเติม ไม่ได้ชักชวนหรือเชิญชวนให้ผู้อื่นละเมิดสิทธิของผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก็อาจยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
 
แต่หากเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคล และข้อความการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาเผยแพร่พร้อมกับใส่ความเห็นประกอบด้วย เช่น ด่าทอ หรือโจมตีคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้นๆ จนทำให้เสียหายที่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างในประเด็น หรือชักชวนหรือเชิญชวนให้ผู้อื่นละเมิดสิทธิของผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อด้วย จนถึงขนาดที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ก็อาจจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้  
 
 
 
 
1458
 
 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ : เจตนารมณ์ไม่ใช้กับเรื่องนี้
 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตราที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ คือ มาตรา 14 ซึ่งมีสองวงเล็บที่ใกล้เคียงกับประเด็นการล่าแม่มด ดังนี้
 
           "มาตรา 14  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
           (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
           ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (๑) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้"
 
ความผิดตามมาตรา 14(1) นั้นใกล้เคียงกับกรณีการ "ล่าแม่มด" มากที่สุด ซึ่งการโพสต์ข้อมูลที่จะเป็นความผิดได้ต้องเป็นการนำเข้าข้อมูลที่ "บิดเบือน" หรือ "ข้อมูลปลอม" และผู้โพสต์ต้องมีเจตนาทุจริตหรือเจตนาหลอกลวง ซึ่งเจตนารมณ์ของมาตรา 14(1) แท้จริงแล้วมีเจตนาใช้เอาผิดกับการฉ้อโกง เพื่อหวังผลประโยชน์ในทางทรัพย์สิน หรือให้ได้ผลเป็นการหลอกเอาข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต มาตรานี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้เอาผิดกับการหมิ่นประมาทหรือการโพสต์เพื่อกล่าวร้ายกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง
 
ส่วนความผิดตามมาตรา 14(2) ต้องเป็นการนำเข้า "ข้อมูลเท็จ" และสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ไม่ใช่ความผิดที่จะเกิดจากการกล่าวร้ายต่อบุคคล จึงไม่นำมาใช้ในกรณีนี้ด้วย 
 
ดังนั้น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงไม่ใช่กฎหมายที่ควรนำมาใช้เพื่อดำเนินคดีกับการ "ล่าแม่มด"
 
 
พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล : เจตนารมณ์ไม่ใช้กับเรื่องนี้
 
พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีกลไกในการป้องกันการรวบรวมข้อมูลและการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลนั้นตามความในมาตรา 27 ดังนี้
 
           "มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
           บุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลมาจากการเปิดเผยตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลในการขอรับข้อมูลส่วนบุคคล"
 
ซึ่งกฎหมายนี้ได้กำหนดโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาเอาไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน โดยให้อำนาจศาลสามารถที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนได้เป็นจำนวนสองเท่าของค่าสินไหมทดแทนตามปกติ ดังนี้
 
           "มาตรา 77  ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแกเจ้าของข้อมูล
           มาตรา 79  ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคลผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 โดยประกรที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
 
อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ไม่ได้มีเจตนารมณ์เพื่อใช้สำหรับการกระทำของบุคคลทั่วไปทุกคน แต่กฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เพื่อควบคุมผู้ที่มีอำนาจในการเก็บรักษาและใช้งานข้อมูลของผู้อื่น เช่น หน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทเอกชนที่ทำกิจการที่เกี่ยวข้อง อย่าง บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการบัตรเครดิต เป็นต้น ดังเห็นได้จากบทนิยามในมาตรา 6 ที่เขียนว่า “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
 
ดังนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกรณีล่าแม่มด ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจเก็บข้อมูลนั้นๆ เช่น นายจ้าง สถาบันการศึกษา ฯลฯ นำข้อมูลส่วนบุคคลมาเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล จึงจะสามารถดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนมาตรา 27 ได้ แต่ถ้าเป็นเพียงการโต้เถียงทางการเมืองกันบนเฟซบุ๊ก และถูก "แคปเจอร์" ภาพกับชื่อของผู้แสดงความคิดเห็นนำไปเผยแพร่ต่อเช่นนี้ ยังไม่อาจนำพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาดำเนินคดีได้
 
 
 
นโยบายของโซเชี่ยลมีเดีย : รายงานให้ลบข้อมูลได้
 
หากเกิดกรณีการล่าแม่มดขึ้นบนพื้นที่ของผู้ให้บริการรายใด ก็ยังต้องเป็นไปภายใต้กรอบนโยบายของผู้ให้บริการรายนั้นๆ ด้วย เช่น ถ้าเป็นกรณีของเฟซบุ๊ก บริษัทเฟซบุ๊กมีมาตรฐานชุมชน (Community Standard) ที่เป็นกติการ่วมกันของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทุกคน โดยการโพสต์ข้อมูลใดๆ บนเฟซบุ๊กต้องไม่ขัดต่อมาตรฐานชุมชนนี้ ซึ่งวางกติกาไว้หลายประเด็น ได้แก่ 
 
คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) โดยทางเฟซบุ๊กให้นิยามไว้ว่า เป็นการโจมตีหรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วยถ้อยคำต่างๆ บนพื้นฐานของลักษณะที่ได้รับการปกป้อง อย่าเช่น เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา รสนิยมทางเพศ ความพิการทางกาย เป็นต้น
ความรุนแรงและการยุยง (Violence and Incitement) โดยเฟซบุ๊กอธิบายว่า ต้องการจะป้องกันการก่อความรุนแรงนอกโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กจะลบถ้อยคำที่ยุยงหรืออำนวยความสะดวกให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้อย่างจริงจัง เฟซบุ๊กจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อเชื่อได้ว่า มีความเสี่ยงจะเกิดการทำร้ายร่างกายกันขึ้นได้จริง
การละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยเฟซบุ๊กอธิบายว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นคุณค่าพื้นฐานที่สำคัญของเฟซบุ๊ก ผู้ใช้จะต้องไม่โพสต์ข้อมูลส่วนบุคคลหรือความลับของคนอื่นบนเฟซบุ๊กโดยไม่ได้รับอนุญาต และเปิดให้ผู้ใช้รายงานการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวได้
 
ข้อมูลที่มีลักษณธเข้าข่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นข้อมูลที่อาจจะเข้าข่ายละเมิดมาตรฐานชุมชน เฟซบุ๊กมีโอกาสมากที่จะลบข้อมูลเหล่านี้ โดยเปิดให้ผู้ใช้ส่งรายงานเข้ามาให้เฟซบุ๊กพิจารณา ทั้งนี้การรายงานว่า ผู้ใช้อื่นมีการละเมิดมาตรฐานชุมชนสามารถที่จะกดยกเลิกการรายงานในภายหลังได้ แต่ต้องยกเลิกก่อนทางเฟซบุ๊กจะได้เริ่มตรวจสอบการรายงานนั้นแล้ว  
 
 
แต่หากเกิดกรณีที่การล่าแม่มดนั้นรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ใช้งานจนไม่อาจจะเสพสื่อเฟซบุ๊กได้อีก ทางเฟซบุ๊กยังเปิดช่องให้ผู้ใช้งานสามารถส่งคำขอลบบัญชีตนเองทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวรได้ นอกจากนี้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ใช้เสียชีวิต ด้วยหลักสิทธิส่วนบุคคลที่ทางเฟซบุ๊กได้อ้างมาโดยตลอด ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถตั้งผู้สืบทอดบัญชีผู้ใช้ได้ 
 
ในกรณีที่การล่าแม่มดเกิดขึ้นบนทวิตเตอร์ ผู้ใช้งานก็สามารถที่จะรายงานไปยังทวิตเตอร์ได้เช่นกัน โดยนโยบายของทวิตเตอร์ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อมูลส่วนบุคคลในที่นี้ไม่รวมถึงชื่อ วันเกิด อายุ สถานศึกษา สถานที่ทำงาน และภาพถ่ายหน้าจอจากการส่งข้อความคุยกัน แต่รวมถึงที่อยู่ บัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร ฯลฯ  การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่นำไปสู่ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในทางกายภาพหรือเกิดกับจิตใจของผู้อื่นเป็นเรื่องต้องห้าม โดยทวิตเตอร์จะพิจารณาจากเจตนาของผู้เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า เป็นไปเพื่อจะคุกคามหรือชักชวนให้มีการคุกคามบุคคลอื่น หรือว่าเป็นไปเพื่อจะช่วยเหลือปกป้องบุคคลอื่นในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน แต่หากข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเอามาเผยแพร่เคยปรากฏที่อื่นบนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ทวิตเตอร์ก็จะไม่ลบออก
 
หากทวิตเตอร์ตรวจพบการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลในครั้งแรกจะส่งคำเตือนไปให้ลบออก และจะล็อกบัญชีนั้นๆ เป็นการชั่วคราว แต่หากยังพบการกระทำความผิดเป็นครั้งที่สองบัญชีนั้นก็จะถูกลบแบบถาวร
 
นโยบายของทวิตเตอร์ไม่อนุญาตให้ข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง หรือปลุกปั่นให้เกิดการใช้ความรุนแรง ไม่ส่งเสริมความรุนแรง หรือการคุกคามผู้อื่นบนพื้นฐานของเรื่องเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชนชั้น รสนิยมทางเพศศาสนา อายุ ความทุพพลภาพ หรือโรคร้ายแรง เป็นต้น ต้องไม่เข้าร่วมการคุกคามหรือการยุยงให้มีการใช้ความรุนแรง รวมทั้งการขอให้คนอื่นถูกทำร้ายร่างกาย หากทวิตเตอร์ตรวจพบข้อความที่นำไปสู่ความรุนแรงจะปิดบัญชีนั้นแบบถาวร
 
หากเกิดกรณีล่าแม่มดเกิดขึ้นผู้ใช้สามารถเลือกที่จะรายงายไปยังทวิตเตอร์ได้ ดูวิธีการรายงานได้ทาง https://help.twitter.com/en/rules-and-policies/twitter-report-violation
 
 
 
 
 
ชนิดบทความ: