1992 1335 1818 1198 1942 1327 1286 1160 1112 1465 1960 1875 1862 1702 1803 1273 1807 1897 1773 1023 1403 1973 1671 1884 1441 1649 1450 1560 1827 1342 1380 1422 1225 1812 1414 1714 1186 1506 1818 1641 1738 1659 1812 1500 1480 1267 1458 1047 1008 1682 1695 1239 1080 1738 1135 1157 1668 1061 1035 1117 1403 1375 1073 1544 1283 1505 1620 1860 1490 1600 1977 1500 1574 1123 1122 1124 1626 1386 1924 1782 1155 1184 1030 1476 1642 1146 1834 1263 1207 1017 1627 1855 1642 1953 1171 1772 1020 1101 1000 กฎหมาย "หมิ่นประมาท" ทางอาญา เครื่องมือพื้นฐาน "ปิดปาก" การมีส่วนร่วม | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

กฎหมาย "หมิ่นประมาท" ทางอาญา เครื่องมือพื้นฐาน "ปิดปาก" การมีส่วนร่วม

 

ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้กันบ่อยครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง และมีคนแสดงความคิดเห็นแตกต่างกัน หรือมีการ "ด่ากัน" โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเอง การระบายความรู้สึกด้านลบ การใช้เหตุผลวิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันในประเด็นต่างๆ สามารถทำได้ง่ายตลอดเวลา และเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คดีความฐานหมิ่นประมาทเกิดขึ้นได้ง่าย และมีปริมาณมากขึ้นด้วย
 
เมื่อคนรับรู้ว่า ตัวเองถูกโจมตีด้วยข้อความต่างๆ และอยากใช้กฎหมายตอบโต้ ความผิดฐานหมิ่นประมาทจะถูกมองเห็นก่อนในฐานะเครื่องมือที่พื้นฐานที่สุด และสามารถหยิบใช้ได้กับแทบทุกกรณี ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายไทยมีทั้งโทษทางอาญาซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา และมีทั้งการหมิ่นประมาททางแพ่งซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิย์ การหมิ่นประมาททั้งสองประเภทมีองค์ประกอบแตกต่างกันและมีวิธีการดำเนินคดีเพื่อเอาผิดที่แตกต่างกัน ดังนี้
 
 
หมิ่นประมาททางอาญา ยังมีข้อยกเว้นการแสดงความเห็นโดยสุจริต
 
ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ใน มาตรา 326 โดยมีมาตรา 328 เป็นบทเพิ่มโทษที่ใช้กันบ่อย ดังนี้
 
             "มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" 
 
             "มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการ กระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
 
จะเห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ต้องมี "บุคคลที่สาม" เป็นผู้รับสารด้วย การด่ากันต่อหน้าเพียงสองคนยังไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท และเนื้อหาที่จะเป็นความผิดได้ต้องมีลักษณะที่จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องเป็นการพูดความเท็จ การพูดความจริงที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายก็ยังเป็นความผิดได้เช่นกัน แต่หากเป็นคำด่าลอยๆ ที่ทุกคนฟังแล้วไม่ได้ทำให้รู้สึกเกลียดชังผู้ถูกกล่าวถึงก็อาจไม่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท 
 
ถ้าหากการหมิ่นประมาททำผ่านสื่อไม่ว่า สื่อประเภทใดๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ ก็จะต้องใช้มาตรา 328 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อเป็นการ "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา" ก็จะมีโทษเพิ่มสูงขึ้น คดีหมิ่นประมาทส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะกระทำผ่านสื่ออย่างใดอย่าหนึ่ง และเมื่อมาตรา 326 ถูกหยิบมาใช้ ก็มักจะมาคู่กันกับมาตรา 328 ด้วย 
 
อย่างไรก็ดี ความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา ยังมีข้อยกเว้นอยู่มาก เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย ดังนี้
 
             "มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
             (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
             (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
             (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา
             (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
             ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท" 
 
             "มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ 
             แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่า เป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน" 
 
จะเห็นได้ว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญายังมีข้อยกเว้นความรับผิดให้สำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งข้อยกเว้นที่ยกขึ้นอ้างได้อย่างกว้างขวางและใช้คุ้มครองผู้ต้องหาได้บ่อยที่สุด คือ ข้อยกเว้นตาม มาตรา 329 (3) หากเป็นการแสดงความเห็นติชม วิพากษ์วิจารณ์ ในลักษณะที่ประชาชนทั่วไปต่างก็กระทำกันเป็นปกติวิสัย แม้ว่า อาจจะเป็นการใส่ความบุคคลอื่นให้เสียหายอยู่บ้างก็ตาม ก็ยังได้รับการยกเว้นไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งข้อยกเว้นข้อนี้เองที่ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจรัฐ หรือการวิจารณ์สิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคมได้รับความคุ้มครอง
 
นอกจากนี้ในมาตรา 330 ยังยกเว้นให้อีกชั้นหนึ่งสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ และเป็นการพูดความจริง หรือเป็นกรณีที่ผู้ที่พูดนั้นเชื่อโดยสุจริตว่า สิ่งที่พูดเป็นความจริง ถ้าหากแสดงความคิดเห็นภายในกรอบนี้แม้จะเป็นความผิดแต่ก็ไม่ต้องรับโทษ
 
การบัญญัติความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้เป็นความผิดทางอาญา และกำหนดโทษจำคุกและโทษปรับ ทำให้การดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาททางอาญาสามารถทำได้สองช่องทาง คือ ช่องทางแรก ผู้เสียหายที่เห็นว่า ตัวเองถูกหมิ่นประมาทยื่นฟ้องคดีเองต่อศาล และหาทนายความดำเนินคดีด้วยตัวเอง หรือช่องทางที่สอง คือ การแจ้งความต่อตำรวจ ให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้รวบรวมหลักฐานและดำเนินคดีให้ โดยให้พนักงานอัยการของรัฐเป็นผู้ทำสำนวนคดีและส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งไม่ว่า จะเลือกช่องทางใดเนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายต้องเป็นผู้ริเริ่มคดีด้วยตัวเอง หากผู้เสียหายไม่ประสงค์ให้ดำเนินคดี รัฐก็ริเริ่มการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทเองไม่ได้
 
 
1154
 
 
หมิ่นประมาททางแพ่ง ต้องฟ้องเอง เรียกค่าเสียหายเองได้
 
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในหมวดของการ "ละเมิด" กำหนดเรื่องการหมิ่นประมาทไว้ ดังนี้
 
            "มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขา โดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่า ข้อความนั่นไม่จริงแต่หากควรจะรู้ได้
ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่า เป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่า เพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่"
 
จะเห็นได้ว่า การหมิ่นประมาทบุคคลอื่นนอกจากจะเป็นความผิดอาญาแล้วก็ยังมีกฎหมายแพ่งกำหนดเรื่องนี้ไว้เช่นกัน การไขข่าวให้คนอื่นเสียชื่อเสียงถือเป็นการทำ "ละเมิด" ต่อผู้อื่น ใครก็ตามที่หมิ่นประมาทบุคคลอื่นก็ยังสามารถถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งได้ด้วย ลักษณะของคดีแพ่ง คือ เมื่อศาลตัดสินว่ากระทำความผิด กระทำผิดต้องจ่ายค่าเสียหายชดใช้ทดแทนให้กับผู้เสียหาย 
 
องค์ประกอบของการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางแพ่ง แตกต่างจากการหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา เพราะการจะเป็นความผิดทางแพ่งต้องพูดสิ่งที่ "ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง" เท่านั้น หากพูดสิ่งที่เป็นความจริงจะไม่สามารถเป็นความผิดได้เลย โดยหลักการของกฎหมายแพ่งหากแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงโดยที่ไม่รู้ว่าไม่จริง และการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นเพราะมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆ ด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
 
การดำเนินคดีทางแพ่ง ต่างจากการดำเนินคดีทางอาญา คือ ไม่มีตำรวจ อัยการ หรือกระบวนการของรัฐเข้ามาดำเนินคดีให้ หากผู้เสียหายต้องการได้รับการชดเชยความเสียหายก็ต้องฟ้องคดีด้วยตัวเอง หรือหาทนายความมาช่วยเหลือด้วยตัวเอง เมื่อผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีต่อศาลต้องวางเงินค่าธรรมเนียมต่อศาลด้วย และในการดำเนินคดีแพ่งจำเลยจะไม่ต้องถูกควบคุมตัว ไม่ต้องเผชิญหน้ากับโทษจำคุกที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
 
 
ตัวอย่างคดี "ปิดปาก" การแสดงความคิดเห็น ด้วยกฎหมายหมิ่นประมาท
 
ตั้งแต่ปี 2550-2560 เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์กันบนโลกออนไลน์ แล้วคนที่ถูกวิจารณ์ไม่สามารถยอมรับคำวิจารณ์ได้ก็จะนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) มาเป็นเครื่องมือหลักเพื่อดำเนินคดีตอบโต้การแสดงความคิดเห็นที่ไม่ต้องการได้ยิน ข้อหามาตรา 14(1) มีโทษสูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาท คือ จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท แต่ต่อมามีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) และประกาศใช้ในปี 2560 โดยเขียนใหม่ให้ชัดขึ้นว่า ไม่ให้ใช้กฎหมายนี้ดำเนินคดีควบคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท
 
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นเวลากว่าสองปี การดำเนินคดีต่อการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ลดลงในบางแง่มุม โดยผู้ที่ต้องการดำเนินคดีหันมาใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาเป็นหลักเพื่อตอบโต้การแสดงความคิดเห็น หลายคดีที่นำกฎหมายมาตรา 326, 328 มาเป็นเครื่องมือฟ้องคดี ก็เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการฟ้องคดีเพื่อตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ บางกรณีเป็นเพียงการฟ้องเพื่อ "รักษาหน้าตา" เท่านั้น หรือบางกรณีก็ฟ้องเพื่อต้องการ "ปิดปาก" ไม่ให้ประชาชนมีโอกาสมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และสร้างภาระทางคดีความเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นสำคัญๆ 
 
คดีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะส่วนใหญ่ เมื่อฟ้องคดีก็ไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ผู้ต้องหาถูกศาลสั่งลงโทษ แต่อาจจะนำไปสู่การเจรจากัน และถอนฟ้องภายหลัง หรือบางกรณีศาลสั่งไม่รับฟ้อง หรือหลายกรณีศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง ตัวอย่างเช่น
 
 
สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) เผยแพร่ รายการนักข่าวพลเมือง ตอน ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ เมื่อ วันที่ 1 กันยายน 2558 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการทำเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย บริษัท ทุ่งคำ เจ้าของประทานบัตรเหมืองแร่ แจ้งความดำเนินคดีกับวันเพ็ญ หรือพลอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ปรากฏเสียงอยู่ในรายการ ต่อสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี และยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ขณะเดียวกันก็ยื่นฟ้องสถานีไทยพีบีเอส นักข่าว และผู้บริหารสถานี ต่อศาลอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมามีการเจรจาและถอนฟ้องกันไป
 
 
วันที่ 11 พฤศจิกายนและ 16 ธันวาคม 2559 ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูนเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน ขอให้ระงับการดำเนินการบุกเบิกพื้นที่โครงการโรงงานน้ำตาลทราย และโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทางสาธารณะ และลำรางสาธารณะ  ต่อมาบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ผู้เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลยื่นฟ้องสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูนรวม 21 คนในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ท้ายที่สุดก่อนเริ่มการไต่สวนมูลฟ้อง บริษัทโจทก์ตัดสินใจยื่นขอถอนฟ้องเพื่อความสมานฉันท์
 
 
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้า (กอ.รมน. 4 สน.) แจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท กับพรเพ็ญ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมชาย ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอัญชนา นักกิจกรรมกลุ่มด้วยใจ จากการจัดทำ และเผยแพร่รายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานปี 2557 – 2558 ซึ่งมีข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวในค่ายทหารและเล่าเรื่องการถูกซ้อมทรมาน ต่อมามีการจัดประชุมหารือร่วมกัน และ กอ.รมน. รับปากว่าจะถอนฟ้อง
 
 
ประสิทธิ์ชัย นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว วิจารณ์โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขาถูกดำเนินคดีจากการโพสต์สองครั้ง คือ โพสต์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2559 และวันที่ 13 มกราคม 2560 โดย กฟผ. เป็นผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา 
 
 
ในปี 2559 คนงานชาวพม่า 14 คน เปิดโปงเรื่องราวการละเมิดสิทธิแรงงาน และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ขณะทำงานกับนายจ้างในฟาร์มเลี้ยงไก่ ต้องทำงานตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. โดยไม่มีวันหยุด ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกฟาร์ม และได้ค่าจ้างรายวันให้เพียงวันละ 230 บาท นายจ้าง คือ บริษัท ธรรมเกษตร ฟ้องคนงานทั้ง 14 คน ฐานหมิ่นประมาทและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน จำเลยต่อสู้คดีและศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยนอกจากคดีนี้ บริษัท ธรรมเกษตร ยังตัดสินใจดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกับบุคคลต่างๆ อีกรวมกันแล้วหลายคดี เป็นมหากาพย์ยาวนานต่อเนื่อง 
 
 
พะเยาว์, สิรวิชญ์ และพริษฐ์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกันจัดกิจกรรมต้านโกงเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องความโปร่งใสของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในการทำกิจกรรมมีการชูป้าย เช่น #หยุดโกงเลือกตั้ง #RespectMyVote และ #เห็นหัวกูบ้าง พร้อมกับการตะโกนขับไล่ กกต. อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ กกต. เปิดผลคะแนนเลือกตั้งรายหน่วย และเปิดโต๊ะให้ประชาชนร่วมลงชื่อถอดถอน กกต. ภายหลัง กกต. แจ้งความให้ดำเนินคดีและพวกเขาสามคนถูกเรียกตัวเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา 
 
 
 
 
ปัญหาการใช้หมิ่นประมาททางอาญา สร้างภาระให้จำเลยเกินจำเป็น
 
ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นหลายกรณีที่มีผู้หยิบเอาข้อหา "หมิ่นประมาททางอาญา" มาใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายตอบโต้กับการแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากได้ยิน แม้ข้อหานี้จะมีระวางโทษไม่สูงมาก และมีบทยกเว้นความรับผิดค่อนข้างกว้าง แต่ในการเอาตัวผู้ที่แสดงความคิดเห็นเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีก็มีต้นทุนสูง ส่งผลให้ผู้ที่เคลื่อนไหวในประเด็นสาธารณะต้องมีต้นทุนติดตัวสูง เป็นการสร้างภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การต่อสู้คดี และสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่ต้องการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะ อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร
 
 
1156
 
 
ข้อเสียของการใช้ข้อหาตามกฎหมายอาญา คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจและอัยการ รวมทั้งศาล จะถูก "ยืมมือ" ให้เข้ามาเป็นเครื่องมือที่ทำงานให้กับผู้เสียหาย ทั้งกระบวนการออกหมายเรียกผู้ต้องหา ออกหมายจับ การตั้งข้อหา การสอบสวน การสั่งฟ้อง และการพิจารณาคดี ล้วนเดินหน้าไปโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยที่ผู้ริเริ่มคดีเพียงแค่ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงมาแจ้งความแล้วที่เหลือก็ไม่ต้องลงทุนอะไรด้วยตัวเองอีก แต่ในทางตรงกันข้าม กระบวนการเหล่านี้ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระต้องเดินทางมารายงานตัวหลายครั้ง และต้องหาทนายความมาช่วยเหลือทางกฎหมาย พร้อมแสวงหาหลักฐานมาต่อสู้คดีด้วยตัวเอง โดยไม่มีองค์กรของรัฐช่วยเหลือ ซึ่งก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างมาก อาจเรียกได้ว่า เป็นการกลั่นแกล้งโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม หรือ Judicial Harrasment
 
นอกจากนี้ในกระบวนการทางอาญา เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ผู้ต้องหาส่วนใหญ่จะต้องยื่นประกันตัว ซึ่งในคดีหมิ่นประมาทต้องใช้หลักทรัพย์ระหว่าง 50,000-100,000 บาท หากไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาได้จะต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี และหากไม่มีทนายความ หรือไม่มีเวลาและทรัพยากรเตรียมตัวต่อสู้คดีที่เพียงพอก็อาจแพ้คดี และถูกสั่งลงโทษจำคุกหรือลงโทษปรับได้ นอกจากนี้การตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ยังส่งผลกระทบด้านชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ทางสังคมของผู้ถูกดำเนินคดีเมื่อต้องเดินทางไปขึ้นโรงพักหรือขึ้นศาลด้วย ซึ่งกลายเป็นว่า ฝ่ายผู้แสดงความคิดเห็นต้องแบกรับภาระต้นทุนที่หนักกว่าฝ่ายผู้เสียหายมาก
 
จากสภาพการณ์ในคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ที่ริเริ่มดำเนินคดีหมิ่นประมาทมักจะเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าในสังคม เช่น เป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นนายจ้าง เป็นนายทุนที่มีเงินทุนมหาศาล เป็นคนมีความรู้กฎหมายหรือมีฐานะทางสังคม ขณะที่ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ และถูกดำเนินคดีมักจะเป็นผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า เช่น นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เอ็นจีโอด้านสิทธิ หรือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการต่างๆ หลายครั้งการดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความยุติธรรมหรือลงโทษคนที่กระทำความผิด แต่เพียงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อ "ปิดปาก" การแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
และผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญา หากศาลพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อยกเว้นในมาตรา 329 ก็ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายโจทก์แพ้หรือเนื้อหาที่พูดนั้นเป็นความจริงหรือไม่ทำให้ใครเสียหายเสมอไป เพราะแม้จะเป็นความเท็จที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายแต่เมื่อเข้าข้อยกเว้นศาลก็ยังต้องยกฟ้อง หรือถ้าหากศาลพิพากษาให้ลงโทษ ก็ไม่ได้หมายความว่า เนื้อหาที่พูดนั้นเป็นเท็จเสมอไป เพราะการพูดความจริงก็ยังเป็นความผิดได้ ผลของคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทจึงไม่ได้เป็นประโยชน์กับการต่อสู้ในทางสาธารณะของฝ่ายใดเลย 
 
และการเอาผู้ที่แสดงความคิดเห็นไปลงโทษทางอาญา ด้วยการปรับหรือจำคุก ก็ไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกัน และไม่ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาแต่อย่างใด 
 
 
ทางออกที่ดีกว่าการใช้ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา คือ การชี้แจงความจริง
 
เมื่อการนำข้อหาหมิ่นประมาททางอาญามาใช้ดำเนินคดีไม่ได้แก้ปัญหาได้ตรงจุดเสมอไป ซ้ำร้ายยังสร้างภาระแก่ผู้ที่แสดงความคิดเห็น สร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อการพูดคุยกันด้วยเหตุผลในสังคม สำหรับผู้ที่รู้สึกว่า กำลังถูกผู้อื่นกล่าวหาอย่างไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมทำให้ได้รับความเสียหาย ยังมีทางเลือกอื่นที่อาจเลือกใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีทางอาญาได้ ดังนี้
 
1. ชี้แจงความจริง 
 
สำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม มีทางเลือกที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือ การชี้แจงสิ่งที่เชื่อว่า เป็นความจริง หรืออธิบายความคิดเห็นของตัวเองแลกเปลี่ยนกับผู้ที่กล่าวหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของสื่อสังคมออนไลน์ ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนสื่อสารได้อย่างเท่าเทียมกัน และเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันหรือ "คอมเม้นต์" ได้ การเลือกใช้พื้นที่ลักษณะเดียวกันสื่อสารอีกแง่มุมหนึ่งกลับไปจะทำให้ผู้รับสารมีข้อมูลและมุมมองจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปช่างน้ำหนักและเลือกเชื่อเองได้ ซึ่งแก้ปัญหาได้ถูกต้องตรงจุดกว่า และยังส่งผลดีต่อบรรยากาศการแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นสาธารณะด้วยเหตุผลและสันติวิธี
 
เว้นเสียแต่ว่า บางครั้งการกล่าวหาอาจเกิดขึ้นจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า เช่น เป็นบุคคลมีชื่อเสียงหรือได้รับความเชื่อถือทางสังคม หรือเป็นสื่อมวลชนที่มีเครื่องมือสื่อสารที่มีอิทธิพลอยู่ในมือ หากผู้เสียหายไม่มีช่องทางที่จะสามารถสื่อสารอีกแง่มุมหนึ่งไปยังผู้รับสารคนอื่นๆ ได้ทัน ก็อาจเลือกใช้มาตราการอื่นๆ ประกอบด้วยได้
 
2. รายงานต่อผู้ดูแลระบบ
 
สำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม อาจใช้วิธีการรายงานปัญหาที่พบไปยังผู้ให้บริการพื้นที่ออนไลน์ เช่น ผู้ดูแลเฟซบุ๊ก, กูเกิ้ล, ทวิตเตอร์ พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบ ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีกฎระเบียบสำหรับผู้ใช้เป็นของตัวเองแตกต่างกันไป และแน่นอนว่า การแก้ปัญหาจะไม่ได้เร็วและทันท่วงทีเสมอไป เพราะผู้ให้บริการแต่ละรายก็ต้องเคารพสิทธิของผู้ใช้บริการทุกคนในฐานะ "ลูกค้า" และต้องตัดสินใจอย่างละเอียดรอบคอบ แต่หากผู้ใช้รายใดที่ถูกรายงานบ่อยๆ ด้วยพฤติกรรมการใส่ความผู้อื่นแบบเดิมๆ ก็อาจจะถูกผู้ให้บริการตักเตือน ปิดกั้นการเข้าถึง ตั้งค่าอัลกอริทึ่มให้ผู้ใช้คนอื่นเห็นน้อย ลบเนื้อหาบางโพสต์ หรือปิดบัญชีผู้ใช้นั้นไป 
 
บางครั้งผู้ที่ส่งรายงานอาจไม่ได้รับรู้ว่า ผู้ให้บริการพื้นที่ออนไลน์ได้ดำเนินการหรือมีระบบการเก็บรวบรวมและตัดสินใจต่อปัญหาที่ได้รับรายงานจากผู้ใช้อย่างไรบ้าง เพราะเป็นหลักการที่ผู้ให้บริการจงใจไม่เปิดเผย แต่การส่งรายงานก็เป็นเรื่องที่ไม่มีต้นทุนใดๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองและทำได้ง่ายกว่าการริเริ่มฟ้องคดี
 
3. การใช้คดีหมิ่นประมาททางแพ่ง
 
หากผู้ที่ถูกกล่าวหาเห็นว่า การถูกวิจารณ์นั้นเป็นความเท็จและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างมากจริงๆ โดยต้องการใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทวงถามความยุติธรรม การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงโดยเลือกการดำเนินคดีทางแพ่งนั้น เป็นทางเลือกที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า เพราะในกระบวนการพิจารณาคดีแพ่ง จะไม่สร้างภาระให้กับจำเลยมาจนเกินไป จำเลยจะไม่ต้องขอประกันตัวและไม่เสี่ยงติดคุก การต่อสู้คดีจะเน้นที่การพิสูจน์ความจริงระหว่างทั้งสองฝ่าย หากสิ่งที่พูดไม่เป็นความจริงก็จะเป็นความผิด แต่ถ้าสิ่งที่พูดเป็นความจริงก็ไม่เป็นความผิด โดยไม่มีฝ่ายใดอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐให้ตัวเองได้เปรียบ หรือเข้ามาเป็นเครื่องมือดำเนินคดีแทน 
 
และผลสุดท้ายของคดีหากพิสูจน์ได้ว่า มีการหมิ่นประมาทให้ผู้อื่นเสียหายที่เป็นความผิดทางแพ่ง ผู้กระทำผิดก็มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นตัวเงิน หรือการประกาศโฆษณาคำพิพากษาต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นการแก้ไขเยียวยาสิทธิในชื่อเสียงเกียรติคุณให้กับผู้เสียหายได้อย่างตรงจุดมากกว่าการเอาตัวจำเลยไปเข้าเรือนจำ หากผู้เสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดีไปมากก็สามารถเรียกร้องให้ผู้ที่แพ้คดีชดใช้คืนได้ด้วยเช่นกัน