1747 1561 1135 1617 1854 1007 1466 1894 1443 1575 1456 1070 1211 1750 1072 1999 1047 1148 1089 1913 1514 1316 1012 1096 1143 1866 1756 1302 1590 1498 1272 1482 1057 1502 1395 1090 1334 1891 1616 1803 1658 1359 1604 1381 1714 1856 1376 1305 1969 1581 1221 1273 1077 1903 1149 1454 1373 1221 1474 1171 1481 1174 1365 1291 1286 1697 1543 1063 1132 1315 1671 1090 1581 1022 1914 1243 1221 1252 1897 1920 1414 1690 1586 1578 1719 1000 1661 1434 1402 1297 1649 1710 1957 1456 1504 1035 1992 1877 1478 คุมเข้ม ธเนตร แถลงข่าว-ฝากขัง ตั้งข้อหา 116 ยังไม่ชัดว่าจากโพสต์เรื่องอะไร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คุมเข้ม ธเนตร แถลงข่าว-ฝากขัง ตั้งข้อหา 116 ยังไม่ชัดว่าจากโพสต์เรื่องอะไร

18 ธันวาคม 2558 กองปราบจัดแถลงข่าวการจับกุมตัว "ธเนตร" ตั้งข้อหายุงยงปลุกปั่นมาตรา 116 ก่อนศาลทหารให้ประกันหลักทรัพย์ 100,000 บาท บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุธเนตรใช้เฟซบุ๊กมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลและกองทัพ
 
383
 
ธเนตร เป็นนักกิจกรรมที่ร่วมเดินทางกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ไปตรวจสอบการทุจริตโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ในวันที่ 7 ธันวาคม 2558 และถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวธเนตรที่โรงพยาบาลสิรินธร ขณะที่กำลังรักษาตัวจากอาการลำไส้ใหญ่อักเสบและไส้เลื่อนบริเวณถุงอัณฑะ และนำตัวธเนตรไปคุมขังโดยไม่เปิดเผยสถานที่เป็นเวลา 6 วัน ภายใต้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558
 
เช้าวันที่ 18 ธันวาคม 2558 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ควบคุมตัวธเนตรมาที่กองบังคับการปราบปรามเพื่อตั้งข้อหาและแถลงข่าว ธเนตรทำมือไขว้กันบนอกเป็นสัญลักษณ์แทนนกพิราบต่อหน้าผู้สื่อข่าว แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้เอามือลงก่อนถูกนำตัวเข้าไปสอบสวนในอาคาร
 
ก่อนการแถลงข่าว มีการเปลี่ยนสถานที่แถลงข่าวถึงสามครั้ง ครั้งแรกผู้สื่อข่าวตั้งกล้องที่บริเวณโถงภายในอาคารกองปราบ แต่เจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าให้ย้ายเข้าไปในห้องประชุม โดย สิรวิชญ์ เพื่อนนักกิจกรรม ได้เดินตามผู้สื่อข่าวเข้ามาในห้องด้วย แต่เจ้าหน้าที่เชิญให้สิรวิชญ์ออกไปจากห้องแถลงข่าวภายหลังสิรวิชญ์ต่อรองขออยู่ข้างใน หลังจากนั้นครู่ใหญ่ จึงมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้งผู้สื่อข่าวอีกครั้งว่า ให้ย้ายออกไปด้านนอกตามเดิม เมื่อผู้สื่อข่าวออกมาบริเวณโถงด้านนอกอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ขอให้ผู้สื่อข่าวทุกคนออกไปนอกอาคารพร้อมกับมีกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งยืนประจำการบริเวณทางเข้าอาคารกองปราบฯ
 
ประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่เดินมาแจ้งผู้สื่อข่าวว่าจะมีการแถลงข่าวในห้องประชุม พร้อมกับกำชับว่า ผู้ที่ไม่ใช่สื่อมวลชนห้ามเข้าไปในห้องแถลงข่าว ทำให้สิรวิชญ์และเพื่อนที่มาให้กำลังใจไม่สามารถเข้าไปในห้องแถลงข่าวได้
 
แพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจแถลงกับสื่อมวลชนว่า จากการตรวจร่างกายพบว่าธเนตรปกติดี ไม่มีร่องรอยถูกซ้อมทรมาน และมีสติสัมปชัญญะดี สามารถให้การได้ แต่ก็มีอาการอัณฑะอักเสบซึ่งดีขึ้นแล้ว เพราะได้รับยาและได้รับการดูแลจากแพทย์ทหาร
 
ในส่วนของคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่า ธเนตรเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารที่ 64/2558 มีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พฤติการณ์แห่งความผิดคือ โพสต์เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล กองทัพ และบุคคลสำคัญ เคยมีประวัติเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาฐานปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) ยังไม่มีการแจ้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ซึ่งเมื่อสอบสวนที่กองปราบเสร็จ จะนำตัวไปขอฝากที่ศาลทหารต่อไป
สำหรับบรรยากาศที่ศาลทหารกรุงเทพ มีการกั้นรั้วเหล็กและมีเจ้าหน้าที่ทหารเดินตรวจอยู่รอบๆ ก่อนที่ธเนตรจะมาถึงศาลทหาร เจ้าหน้าที่ได้เดินตรวจบุคคลที่อยู่ในพื้นที่และอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปในอาคารศาล แต่บุคคลอื่นห้ามเข้า โดยให้เหตุผลว่า "เป็นการควบคุมให้พื้นที่ดังกล่าวมีแต่สื่อ เพราะไม่ต้องการให้มวลชนหรือกลุ่มนักศึกษาเข้ามาวุ่นวายในพื้นที่"
 
ต่อมาในเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปราม พร้อม พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ควบคุมตัว ธเนตร มาขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ในเวลาประมาณ 15.00 น. สิรวิชญ์พร้อมกับพ่อของธเนตรเดินทางมาที่ศาลทหาร แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ จึงเกิดการเจรจากัน เพราะพ่อของธเนตรเดินทางมาจากจังหวัดอุทัยธานีเพื่อมาขอพบลูกชาย ทหารจึงอนุญาตให้พ่อของธเนตรเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ส่วนคนอื่นให้รออยู่ด้านนอก
 
ในห้องพิจารณาคดี พนักงานสอบสวนขออนุญาตฝากขัง โดยในคำร้องระบุเพียงว่า ผู้ต้องหาโพสต์เผยแพร่ภาพ ข้อความ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นด้วยตนเอง และแชร์จากเฟซบุ๊กของผู้อื่นแล้วแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เป็นเหตุให้รัฐบาลและกองทัพได้รับความเสียหาย พล.ตรี วิจารณ์ จดแตง จึงเป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี แต่ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นโพสต์ใดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้าง
 
ด้านทนายของธเนตรยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ นอกจากนั้นผู้ต้องหายังมีอาการป่วย และต้องเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังธเนตรเป็นเวลา 12 วัน โดยระบุว่า "มีเหตุให้เห็นชอบตามคำร้องของพนักงานสอบสวน"
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่า เมื่อสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของธเนตร ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 และไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพ "ผังอุทยานราชภักดิ์" แต่เป็นการดำเนินคดีตามมาตรา 116 เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทนายยังเปิดเผยด้วยว่า ในชั้นสอบสวน ธเนตรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร มีบรรยากาศกดดันให้ธเนตรต้องให้การไปโดยที่ไม่มีทนายอยู่ร่วมด้วย
 
หลังศาลทหารอนุญาตให้ฝากขัง ทนายจึงยื่นขอประกันตัวธเนตรด้วยเงินสด 400,000 บาท ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวธเนตร ด้วยวงเงิน 100,000 บาท ธเนตรจะถูกปล่อยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงค่ำ และจะต้องผ่านกระบวนการตรวจร่างกายตามระเบียบของทางราชทัณฑ์
 
สำหรับรายละเอียดของคดีนี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/698