1042 1988 1088 1344 1577 1466 1251 1525 1920 1213 1272 1130 1926 1803 1928 1921 1005 1257 1134 1712 1106 1702 1032 1292 1336 1610 1994 1810 1671 1003 1736 1569 1832 1835 1428 1677 1724 1892 1606 1709 1691 1550 1059 1603 1971 1329 1531 1447 1724 1328 1829 1686 1383 1308 1762 1931 1336 1137 1839 1126 1347 1515 1353 1240 1244 1228 1573 1625 1492 1946 1951 1707 1355 1683 1585 1003 1264 1810 1481 1694 1619 1799 1836 1148 1357 1582 1969 1595 1132 1518 1085 1649 1040 1967 1509 1247 1583 1319 1470 รู้ไว้ใช่ว่า รวมกฎหมายสำหรับ ‘แฟลชม็อบ’ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รู้ไว้ใช่ว่า รวมกฎหมายสำหรับ ‘แฟลชม็อบ’

 

กลางปี 2563 สถานการณ์การเมืองกลับมาร้อนแรงอีกหน เกิด ‘แฟลชม็อบ’ เพื่อขับไล่รัฐบาลขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด19 ที่ทรงตัวมากขึ้น กระนั้น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังคงอยู่ พร้อมกับข้อกำหนดในรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตามแต่ (ใจ?) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนด
 
ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมจำเป็นต้องศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกรอบที่มีอยู่ และจะได้เท่าทันเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างอิงกฎหมายสั่งห้ามการชุมนุมหรือใช้ต่อรองกับผู้ชุมนุม 
 
นับถึงช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 การชุมนุมไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หรือ พ.ร.บ.ชุมนุม แล้ว แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายอื่นๆ อีกมากมาย สรุปได้ดังนี้
 
 
1482
 
 
 
1.พ.ร.บ.ชุมนุมใช้ไม่ได้ เงื่อนไขอื่นก็ไม่ใช้ตามไปด้วย
 
พ.ร.บ.ชุมนุม เป็นกฎหมายหลักที่ให้ตำรวจมีอำนาจเข้ามาแทรกแซงและควบคุมการชุมนุมมาตลอด 5 ปี อย่างไรก็ตาม มาตรา 3 กำหนดข้อยกเว้นไว้แล้วว่า การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ได้รับการยกเว้นไม่ให้นำพ.ร.บ.ชุมนุมมาใช้
 
ดังนั้น เงื่อนไขต่างๆ ที่พ.ร.บ.ชุมนุมกำหนดไว้จะไม่สามารถนำมาใช้ในช่วงนี้ด้วย เช่น
 
  • การต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ต่อตำรวจในท้องที่
  • การไม่ชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง
  • การไม่ชุมนุมในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หรือศาล
  • การไม่ชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการ
ฯลฯ
 
หากตำรวจหยิบยกเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ชุมนุมขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อเป็นข้อจำกัดในการใช้เสรีภาพการชุมนุมระหว่างที่ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินถือเป็นการกล่าวอ้างที่ผิด และเงื่อนไขที่ตำรวจจะสั่งห้ามการชุมนุม รวมทั้งการขออนุญาตศาลเพื่อใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก็ไม่มีอยู่ด้วย
 
 
 
2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินห้ามชุมนุมเฉพาะยุยงให้เกิดความไม่สงบ หรือเสี่ยงแพร่เชื้อ
 
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีข้อห้ามการรวมตัวกันอย่างกว้างขวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้อกำหนดของพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ห้ามรวมตัวกันจำนวนกี่คนและไม่ได้มีข้อกำหนดที่ห้ามชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
 
มาตรา 9 ของกฎหมายนี้ระบุว่า ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจออกข้อกําหนดได้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิดก็มีการออกข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างกว้างๆ อีกเช่นกัน คือ
 
ข้อ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานกรณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด
 
นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ซึ่งกำหนดห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค
 
การฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นเป็นความผิดมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
สรุปได้ว่า การใช้เสรีภาพการชุมนุมภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของพ.ร.บ.ชุมนุมอีกต่อไป แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขกว้างๆ ที่ห้ามการชุมนุมที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หากเป็นการชุมนุมที่ไม่เข้าลักษณะเช่นนี้ก็ย่อมอยู่ภายใต้กรอบเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 
 
 
 
3. กฎหมายเล็กน้อยยังใช้อยู่ พร้อมโทษปรับ 
 
ในสถานการณ์ที่การเมืองมีความอ่อนไหว การรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาลมีความจำเป็นเพื่อไม่ให้ถูกสังคมตั้งคำถามถึงการปิดกั้นเสรีภาพและมาตรการที่รุนแรงเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องป้องปรามหรือไม่ให้การจัดกิจกรรมเกิดขึ้นได้โดยสะดวก การเลือกนำกฎหมายที่มีฐานความผิดกว้างขวางแต่มีโทษปรับเล็กน้อยขึ้นมาใช้ตั้งข้อหาดูจะเป็นทางที่รัฐเลือก เช่น
 
เช่น กิจกรรมของสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่ชวนกันไปผูกโบว์ขาวตามสถานที่ราชการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ตำรวจออกหมายเรียกให้ไปชำระค่าปรับ 2,000 บาท ตามพ.ร.บ.ความสะอาด 
 
เช่น กิจกรรมของเครือข่าย People Go Network ที่เดินทางจากสถานีรถไฟไต้ดินลาดพร้าวไป สน.วังทองหลาง เพื่อให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยใช้เครื่องขยายเสียงติดบนรถยนต์กระบะด้วย หลังเสร็จกิจกรรมแล้วตำรวจออกหมายเรียกเจ้าของรถกระบะให้ไปจ่ายค่าปรับ 200 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
  • พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กฎหมายนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ใช้ควบคุมการชุมนุม แต่โดยตัวบทแล้วถูกตีความนำมาใช้กับการชุมนุมได้บ่อยครั้ง คือ มีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
          o   มาตรา 108  ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร 
          o   มาตรา 109  ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
          o   มาตรา 114  ห้ามมิให้ผู้ใดวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร* แต่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร*จะอนุญาตได้ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
 
โดยทุกฐานความผิดที่กล่าวมานี้มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
 
 
4.ตำรวจถ่ายรูปผู้ชุมนุมได้ ขอตรวจบัตรได้ แต่ถ่ายรูปบัตรไม่ได้
 
พฤติกรรมของตำรวจที่เราเริ่มพบเห็นบ่อยขึ้นคือ การถ่ายรูปผู้เข้าร่วมการชุมนุมและพฤติกรรมของแต่ละคนเพื่อเก็บเป็นประวัติไว้ แม้ว่าภาพถ่ายจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของภาพเท่านั้น แต่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ยังไม่เริ่มใช้บังคับอย่างเต็มที่ก็ได้เขียนยกเว้นไว้แล้วว่า กฎหมายนี้ไม่ใช้กับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นการถ่ายภาพ เก็บภาพ และเอาภาพของประชาชนไปใช้จึงไม่ต้องขอความยินยอมก่อน และไม่ได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 
 
สำหรับเรื่องบัตรประชาชน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.บัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งมาตรา 5 กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 7 ปี บริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปี บริบูรณ์ และมีชื่ออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรประชาชน มาตรา 17 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดที่อายุ 15 ปีขึ้นไปที่เป็นผู้ถือบัตร ถ้าไม่สามารถแสดงบัตร เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
 
ผู้ที่ถือบัตรประชาชนมีหน้าที่ต้องพกบัตรประชาชนติดไว้กับตัว และแสดงบัตรประจำตัวกับเจ้าพนักงานตรวจบัตร เมื่อถูกขอตรวจ ซึ่งเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตรวจบัตรตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป 
 
ฉะนั้น หากถูกขอตรวจบัตรประชาชน เราสามารถขอดูบัตรประจำตัวตำรวจว่า เป็นตำรวจจริงหรือไม่ และมียศระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือไม่ โดยเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบ
 
อย่างไรก็ดี กฎหมายให้อำนาจตำรวจในการตรวจการพกบัตร เพื่อให้ประชาชนแสดงบัตรประชาชนว่าพกมากับตัวหรือไม่เท่านั้น แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจตำรวจถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือขอยึดบัตรประชาชนไว้กับตัวของตำรวจได้เลย เนื่องจากบัตรประชาชนถือว่าเป็นทรัพย์สินของเจ้าของบัตร และข้อมูลบนบัตรก็เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัตรแต่เพียงผู้เดียว 
 
 
5. ความผิดตามกฎหมายอาญาปกติ ยังใช้อยู่
 
เมื่อผู้ชุมนุมมารวมตัวกันแล้ว ถ้าหากมีการแสดงออกในที่ชุมนุม เช่น การถือป้าย การปราศรัย หรือการแสดงออกรูปแบบใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่กำหนดว่าประชาชนจะทำอะไรได้หรือทำไม่ได้
 
สำหรับฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่อาจนำมาใช้ตีกรอบการแสดงออก ได้แก่
 
  • ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112  มีโทษจำคุก 3-15 ปี
  • ความผิดฐานสร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
  • ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ตามมาตรา 136 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หรือการหมิ่นประมาทผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยทั่วไป ตามาตรา 328 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
ความผิดฐานดูหมิ่น ทั้งดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา ตามมาตรา 393 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นอกจากนี้ยังมีความผิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่โดยเจตนารมณ์แล้วต้องการเอาผิดกับองค์กรที่ผิดกฎหมาย องค์กรอาชญากรรม หรือการรวมตัวของกลุ่มแก๊งที่ก่อความเดือดร้อนให้กับสังคมโดยรวม แต่บางกรณีก็กลับถูกเอามาใช้เพื่อดำเนินคดีกับการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น ได้แก่ 
 
  • ความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215, 216 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งความผิดฐานนี้มักถูกใช้กับการจัดการชุมนุมสาธารณะ
  • ความผิดฐานอั้งยี่ ตามมาตรา 209 มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท 
 
 
สำหรับผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่เพียงแค่ไปเพื่อร่วมแสดงออกเท่านั้น แม้จะมีกฎหมายหลายมาตราที่อาจนำมาใช้ดำเนินคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพได้ แต่เท่าที่ไอลอว์ติดตามพบว่า ศาลยุติธรรมมีแนวโน้มที่จะตีความกฎหมายในทางที่เป็นประโยชน์กับจำเลยที่เพียงแค่ไปร่วมการแสดงออกเท่านั้น แต่หากผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีพฤติกรรมที่ ‘ล้ำเส้น’ สิทธิของบุคคลอื่น เช่น ทำร้ายร่างกายผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นก็อาจถูกดำเนินคดีและถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานนั้นๆ ได้