1914 1219 1925 1889 1671 1984 1394 1938 1599 1271 1418 1539 1071 1160 1563 1250 1762 1644 1085 1211 1656 1395 1701 1568 1489 1489 1942 1588 1417 1918 1631 1455 1637 1078 1631 1478 1485 1338 1204 1486 1746 1601 1003 1701 1937 1399 1786 1960 1955 1144 1328 1873 1494 1999 1117 1393 1461 1551 1183 1884 1871 1687 1138 1078 1685 1678 1845 1825 1763 1038 1309 1744 1426 1233 1546 1729 1401 1072 1062 1633 1374 1759 1862 1558 1407 1504 1027 1486 1542 1061 1838 1504 1206 1779 1728 1014 1722 1320 1357 สำรวจกฎหมายไทย-ระหว่างประเทศ ทหารลักพาตัวแอดมินเพจไป 8 วัน ผิดกฎหมายอะไรบ้าง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สำรวจกฎหมายไทย-ระหว่างประเทศ ทหารลักพาตัวแอดมินเพจไป 8 วัน ผิดกฎหมายอะไรบ้าง

 
จากข่าวร้อนในช่วงหลายวันที่ผ่านมา กรณีทหารและตำรวจกว่า 30 นายบุกเข้าจับกุมตัว สราวุธ บำรุงกิตติคุณ ผู้ดูแลเพจ“เปิดประเด็น” ไปจากบ้านพักในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2559 จนกระทั่งปล่อยตัวในวันที่ 16 มีนาคม 2559 โดยให้ญาติมารับจากค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. ทั้งการจับกุมและควบคุมตัวรวมแปดวัน เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้ปฏิบัติฝ่าฝืนทั้งกฎหมายของไทยที่ใช้บังคับอยู่ ฝ่าฝืนประกาศที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอง และฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ
 
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ขณะเข้าควบคุมตัวที่บ้านพัก เมื่อ 9 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเข้าจับกุม ไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัวที่จะพาสราวุธไป ไม่ได้แสดงหมายจับ และระหว่างการควบคุมตัวญาติไม่สามารถติดต่อกับสราวุธได้ รวมถึงได้รับการปฏิเสธที่จะทราบชะตากรรมของสราวุธระหว่างถูกควบคุมตัว
 
เมื่อสราวุธถูกปล่อยตัว ทหารได้คืนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์มือถือที่ยึดไปตรวจสอบ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาว่าสราวุธกระทำความผิดข้อหาใด
 
สราวุธ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า  เขายินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจอุปกรณ์ทุกอย่างเพราะเชื่อว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด เขาทราบว่าถูกควบคุมตัวที่ มทบ. 11 และยืนยันว่า ได้รับการดูแลและปฏิบัติอย่างดี แต่สิ่งที่กระทบความรู้สึกคือ เขาไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองว่าจะถูกควบคุมตัวนานแค่ไหน และกำลังถูกตรวจสอบเรื่องอะไร สำหรับข้อตกลงก่อนปล่อยตัวนั้น เขาระบุว่า ต้องยุติการทำเพจ
 
 
สถานการณ์ปัจจุบันกฎหมายไทยที่คุ้มครองสิทธิมีไม่มาก แต่กฎหมายระหว่างประเทศยังทำงานได้
 
กรณีของสราวุธ ไม่ใช่กรณีแรกหรือกรณีเดียวที่เกิดขึ้นภายใต้ยุครัฐบาลคสช. ทั้งระหว่างที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและระหว่างที่บังคับใช้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แทนกฎอัยการศึก คนจำนวนมากถูกปฏิบัติในลักษณะคล้ายกันกับสราวุธ คือ ถูกทหารและตำรวจบุกไปจับกุมที่บ้านพัก ถูกยึดเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปตรวจสอบ ถูกลักพาตัวไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาและสถานที่ควบคุมตัว ถูกควบคุมตัวเพื่อการสอบสวนในสถานที่ปิดลับโดยไม่ให้ญาติและทนายความเข้าเยี่ยม และในการปล่อยตัวต้องลงชื่อในข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
 
กรณีที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันไม่มีรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่รับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานเอาไว้ มีเพียงมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เขียนรับรองไว้ว่า สิทธิเสรีภาพบรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว  ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งก็ยังเป็นการคุ้มครองที่คลุมเครือ  
 
นอกจากนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐยังปฏิบัติการโดยอ้างอิงอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่เพิ่มอำนาจให้กับทหารเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ฯ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน และความผิดตามประกาศ/คำสั่ง ของ คสช. ด้วย
 
ดังนั้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนภายใต้ยุคของรัฐบาล คสช.  จึงต้องพิจารณาลงรายละเอียดของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในกรณีปกติ  เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ประกอบกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามเข้าผูกพันด้วย 
 
 
UDHR - ICCPR หลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
 
กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีอยู่มากมาย ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศจะมีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม ก็ต่อเมื่อประเทศไทยได้ลงนามเข้าไปเป็นรัฐภาคีของกฎหมายนั้นๆ แล้ว แต่กฎหมายระหว่างประเทศแต่ละฉบับก็จะมีสถานะและสภาพการบังคับใช้แตกต่างกันออกไป ที่น่าสนใจมีดังนี้
 
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ Universal Declaration of Human Rights (UDHR) เป็นเอกสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรก ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรอง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ซึ่งร่างขึ้นเนื่องจากหลังเหตุการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงและโหดร้ายทารุณต่อมนุษยชาติ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ต้องการให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก จึงจัดตั้งองค์กรสหประชาชาติขึ้น และผลักดันให้องค์การสหประชาชาติเร่งกำหนดแนวทางคุ้มครองสิทธิมนุษชนขึ้นมา
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษชนแห่งสหประชาชาติวางหลักการที่สำคัญ รับรองสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ จำนวน 30 ข้อ แต่ไม่มีพันธะผูกพันในแง่ของกฏหมายระหว่างประเทศ และไม่มีกลไกการบังคับใช้หากมีประเทศใดฝ่าฝืน 
 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2519 (ค.ศ.1976) โดยประเทศไทยลงนามเข้าเป็นภาคี ตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2539 ICCPR ถูกร่างขึ้นเนื่องจากหลักการใน UDHR เป็นเพียงหลักการกว้างๆ ที่ยังไม่มีกลไกการบังคับใช้ได้จริง จึงต้องร่างกติกาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดรายละเอียดของสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองให้ชัดเจนขึ้น โดยอ้างอิงมาจากหลักการของ UDHR และกำหนดกลไกการบังคับใช้หากรัฐใดฝ่าฝืนกติกาด้วย
 
ICCPR กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยมีที่มาจากการลงคะแนนเลือกบุคคลที่รัฐภาคีเสนอชื่อเข้ามา และประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีของ ICCPR จะต้องเสนอรายงานต่อคณะกรรมการว่าได้ปฏิบัติอย่างไรบ้างตามกติกาฉบับนี้ และคณะกรรมการจะส่งความเห็นกลับไปยังประเทศนั้นๆ หากเห็นว่ากติกาข้อใดไม่ถูกนำไปปฏิบัติเท่าที่ควร
 
นอกจากนี้ ถ้าประเทศที่เป็นภาคีของ ICCPR เห็นว่าประเทศอื่นฝ่าฝืนกติกาของ ICCPR ก็มีสิทธิแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังประเทศนั้นๆ เพื่อให้แก้ไขได้ หากระหว่างสองประเทศหาข้อยุติไม่ได้ก็จะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการทำรายงานความเห็น หากยังไม่มีข้อยุติก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการประนีประนอมเฉพาะกิจขึ้นมาหาข้อยุติด้วยกันอีก
 
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ASEAN Human Rights declaration (AHRD) จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights (AICHR) โดยผู้นำของประเทศอาเซียนทั้งสิบลงนามรับรองร่วมกันระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 
 
ภายใต้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในอันเป็นหลักการใหญ่ของชาติอาเซียน ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จึงถือเป็นเอกสารทางการเมืองที่ไม่มีข้อผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แม้ในระดับอาเซียนจะมีคณะกรรมการ AICHR อยู่แต่คณะกรรมการนี้ก็ไม่มีอำนาจบังคับใช้หลักปฏิญญาโดยตรง คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่เพียงการส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนฉบับต่างๆ จัดการศึกษา ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นๆ เฉพาะเมื่อได้รับการร้องขอ เท่านั้น 
 
 
424
 
 
วิเคราะห์การกระทำกรณีสราวุธ กับกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
 
จากพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในกรณีของสราวุธ พอจะแบ่งประเด็นเพื่อวิเคราะห์การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ได้เป็น 4 ประเด็น สำหรับการวิเคราะห์ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คือ การเข้าจับกุมตัว การควบคุมตัว การตรวจค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก 
 
ประเด็นแรก การเข้าจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจที่บ้านพักซึ่งเป็นสถานที่รโหฐาน โดยไม่แสดงหมายจับจากศาล ไม่ระบุเหตุผลในการจับกุม ไม่เปิดเผยสถานที่ที่จะพาตัวไป โดยไม่ใช่การจับกุมขณะที่ผู้ถูกจับกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้า เข้าลักษณะที่เป็นการจับกุมบุคคล "ตามอำเภอใจ" อาจขัดกับหลักกฎหมายหลายประการ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
 
1. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 4. 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 4. (2) ระบุว่า เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจจับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป ซึ่งหมายถึงทหารจะจับกุมตัวใครได้ก็ต่อเมื่อพบเห็นขณะกำลังกระทำความผิดเท่านั้น แต่หากเป็นกรณีสงสัยว่ากระทำความผิดอื่น จะเข้าจับกุมทันทีไม่ได้ ต้องดำเนินการขอหมายจับจากศาลก่อน แต่กรณีการจับกุมสราวุธไม่ใช่การจับกุมจากการกระทำความผิดซึ่งหน้า และไม่มีหมายจับจากศาล
 
2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78, 81, 83 
ป.วิ.อาญา มาตรา 78 ระบุว่า การจับกุมบุคคลตามขั้นตอนปกตินั้นต้องมีหมายจับจากศาล ยกเว้นเป็นความผิดซึ่งหน้า หรือเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน มาตรา 81 ระบุว่า การจับบุคคลในบ้านพัก หรือในสถานที่ของเอกชนก็ต้องมีหมายค้นจากศาลเพื่อที่จะเข้าไปในสถานที่นั้นๆ ประกอบด้วย แต่ในกรณีของสราวุธ ไม่ปรากฏว่ามีความผิดซึ่งหน้า ไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ ไม่ปรากฏว่ามีหมายจับและหมายค้นจากศาล 
 
นอกจากนี้ ป.วิ.อาญา มาตรา 83 ยังกำหนดว่า ในการจับนั้น เจ้าพนักงานต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับว่าเขาต้องถูกจับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ และถ้าผู้ถูกจับต้องการแจ้งให้ญาติหรือผู้ที่ไว้วางใจทราบก็สามารถดำเนินการได้ แต่กรณีการจับกุมสราวุธไม่ปรากฎว่าขณะเข้าจับกุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนและแจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับทราบอย่างครบถ้วนตามมาตรา 83  
 
3. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 3. 
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล และข้อ 9 ซึ่งระบุว่า บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้
 
4. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ข้อ 9.
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ข้อ 9. ระบุว่า 
   1. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
   2. ในขณะจับกุม บุคคลที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน
 
5. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ข้อ 12.
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ระบุว่า ข้อ 12. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยส่วนบุคคล บุคคลใดจะถูกจับกุม ค้น กักขัง ลักพาตัว หรือถูกพรากอิสรภาพในรูปแบบอื่นใดโดยอำเภอใจมิได้
 
 
ประเด็นที่สอง การควบคุมตัวสราวุธเป็นเวลา 8 วันเพื่อสอบสวน โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาอันเป็นเหตุที่ทำให้ถูกควบคุมตัวอย่างชัดเจน และไม่แจ้งว่าจะต้องถูกควบคุมตัวนานเท่าใด ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวให้ญาติรับรู้ ไม่อนุญาตให้ติดต่อญาติและทนายความ เข้าลักษณะที่เป็นการคุมขังบุคคล "ตามอำเภอใจ" อาจขัดกับหลักกฎหมายหลายประการ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
 
1. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6. 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6. ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน 
 
กรณีของสราวุธ แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าใช้อำนาจการควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6. เพื่อควบคุมตัวไว้สอบสวนได้ ไม่เกินเจ็ดวัน แต่เมื่อสราวุธถูกปล่อยตัวเมื่อล่วงเข้าวันที่แปด การควบคุมตัวจึงไม่เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6.
 
2. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 9.
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)  ระบุว่า ข้อ 9. บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือ เนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้
 
3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ข้อ 14 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่า ข้อ 14. 
   3. ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค
         (ก) สิทธิที่จะได้รับแจ้งโดยพลันซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหา ในภาษาซึ่งบุคคลนั้นเข้าใจได้
         (ข) สิทธิที่จะมีเวลา และได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อต่อสู้คดี และติดต่อกับทนายความที่ตนเลือกได้
 
4. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ข้อ 12. 
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD)  ระบุว่า ข้อ 12. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยส่วนบุคคล บุคคลใดจะถูกจับกุม ค้น กักขัง ลักพาตัว หรือถูกพรากอิสรภาพในรูปแบบอื่นใดโดยอำเภอใจมิได้
 
5. อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย หรือ International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED) ข้อ 1, 2
อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (CED) ระบุว่า ข้อ 1. บุคคลจะถูกกระทำให้หายสาบสูญโดยถูกบังคับไม่ได้ โดยไม่มีข้อยกเว้นแม้ในพฤติการณ์พิเศษ สภาวะสงคราม หรือภาวะฉุกเฉินอื่นใด สภาพคุกคามที่จะ โดยอนุสัญญานี้ข้อ 2. กำหนดนิยามว่า “การหายสาบสูญโดยถูกบังคับ” หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย 
 
กรณีการควบคุมตัวสราวุธมีลักษณะปกปิดสถานที่ควบคุมตัวและชะตากรรมของคนที่ถูกควบคุมตัว และยังมีพฤติการณ์ที่รัฐออกมาปฏิเสธการควบคุมตัว โดยเมื่อ 12 มีนาคม 2559 พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน และไม่ทราบว่า สราวุธถูกทหารเชิญตัวไปจริงหรือไม่ และถูกเชิญตัวด้วยเหตุผลใด ดังนั้น กรณีการควบคุมตัวสราวุธจึงเป็นการจับกุมและควบคุมตัวที่เข้าข่ายการบังคับให้สูญหาย ซึ่งขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย
 
6. ชุดหลักการว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนภายใต้การควบคุมตัวและการคุมขังทุกรูปแบบ หรือ  The Body of Principles for the Protection of All Persons under any Form of Detention or Imprisonment, 1988 หลักการที่ 12, 16 
ชุดหลักการว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนภายใต้การควบคุมตัวและการคุมขังทุกรูปแบบ ไม่ใช่สนธิสัญญาที่ไทยต้องลงนามเข้าเป็นภาคีแต่เป็นมาตรฐานสากลที่ผ่านการลงคะแนนรับรองโดยเสียงข้างมากของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติให้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังทุกรูปแบบ ซึ่งระบุว่า หลักการที่ 12 
   1. จะต้องมีการบันทึกอย่างดีในส่วนต่อไปนี้ 
          ก. เหตุผลในการจับกุม
          ข. เวลาจับกุม การนำตัวผู้ถูกจับไปสถานที่ควบคุมตัว การปรากฏตัวครั้งแรกต่อเจ้าหน้าที่ศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่น
          ค. รายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
          ง. ข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับสถานที่ควบคุมตัว
   2. บันทึกเหล่านี้จะต้องมีการให้ข้อมูลกับผู้ถูกควบคุมตัว และทนายความ ตามที่กฎหมายกำหนด

หลักการที่ 16 ระบุว่า ทันทีหลังการจับกุมและระหว่างการนำตัวจากสถานที่คุมขังหนึ่งไปยังอีกแห่ง ผู้ถูกควบคุมตัวจะมีสิทธิในการแจ้งด้วยตัวเอง หรือให้เจ้าหน้าที่แจ้งคนในครอบครัวหรือผู้อื่นที่ประสงค์ เกี่ยวกับการจับกุม, ควบคุมตัว, การส่งตัว และสถานที่ที่ถูกควบคุมตัว
 
7. หลักการว่าด้วยการป้องกันและการสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพในการวิสามัญฆาตกรรม การลงโทษประหารชีวิตโดยปราศจากเหตุอันควรและรวบรัดตัดตอน  หรือ The Principles on the Effective Prevention and Investigation of Extra-legal, Arbitrary and Summary Executions, 1989 ข้อ 6. 
หลักการว่าด้วยการป้องกันและการสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพในการวิสามัญฆาตกรรม การลงโทษประหารชีวิตโดยปราศจากเหตุอันควรและรวบรัดตัดตอน ไม่ใช่สนธิสัญญาที่ไทยต้องลงนามเข้าเป็นภาคีแต่เป็นมาตรฐานสากลที่ผ่านการลงคะแนนรับรองโดยเสียงข้างมากของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติให้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการลงโทษประหารชีวิตโดยไม่มีเหตุสมควรซึ่งระบุว่า ข้อ 6. รัฐบาลจะประกันว่าผู้ที่ถูกลิดรอนเสรีภาพนั้นถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่ทางการประกาศไว้อย่างเป็นทางการ และข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัว ชะตากรรม รวมทั้งการส่งตัวที่ถูกต้องแม่นยำ จะถูกจัดทำขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ญาติ ทนายความและคนที่ไว้วางใจสามารถเข้าถึงได้
 
 
ประเด็นที่สาม การยึดโทรศัพท์มือถือ และเครื่องคอมพิวเตอร์ของสราวุธไปเพื่อตรวจสอบการใช้งานและการสื่อสาร โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายใด 
ข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น หรือข้อมูลที่ระบุประวัติว่าเคยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ หรืออินเทอร์เน็ตอย่างไร และเมื่อไรบ้าง เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เป็นพื้นที่ความเป็นส่วนตัวที่รัฐไม่อาจเข้ามาแทรกแซงหรือล่วงรู้ได้โดยไม่มีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจไว้ แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือ ความเป็นส่วนตัว แต่การที่เจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ของสราวุธไปตรวจสอบ ก็เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของสราวุธ ซึ่งอาจขัดกับหลักกฎหมายหลายประการ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
 
1. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 18, 19 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีหลักการในมาตรา 18 ว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลส่งมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด ยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิด
 
โดยขั้นตอนการใช้อำนาจที่กล่าวมานี้ มาตรา 19 กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดมอบให้เจ้าของคอมพิวเตอร์ที่จะยึดไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วต้องส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 48 ชั่วโมง
 
ในเมื่อกฎหมายพิเศษอย่าง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไม่ได้ให้อำนาจใดๆ เป็นพิเศษแก่เจ้าพนักงานในการตรวจค้นคอมพิวเตอร์ หรือตรวจค้นข้อมูลการสื่อสารของประชาชนได้ ดังนั้น การตรวจค้นข้อมูลเหล่านี้จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 และ 19 ซึ่งกำหนดว่า การยึดเครื่องคอมพิวเตอร์และการตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ข้างในคอมพิวเตอร์ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน และในขั้นตอนการตรวจค้นต้องทำบันทึกมอบไว้ให้กับเจ้าของคอมพิวเตอร์ และยังต้องรายงานผลการตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อศาลด้วย แต่ในกรณีของสราวุธไม่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้เลย
 
2. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 12. 
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ระบุว่า ข้อ 12 บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจ ในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น
 
3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17. 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่า ข้อ 17 บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ และจะถูกลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงหรือลบหลู่เช่นว่านั้น
 
4. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ข้อ 21. 
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ระบุว่า ข้อ 21. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นอิสระจากการแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร ซึ่งรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือการดูหมิ่นเกียรติและชื่อเสียงของบุคคลนั้น บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากการแทรกแซงหรือการดูหมิ่นดังกล่าว
 
 
ประเด็นที่สี่ การที่สราวุธ ถูกจับกุมเนื่องมาจากเขาทำเพจเฟซบุ๊กชื่อ "เปิดประเด็น" ที่นำเสนอข้อมูลเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยสราวุธต้องทำข้อตกลงร่วมกับเจ้าหน้าที่ก่อนปล่อยตัวว่า เขาต้องยุติการทำเพจ เท่ากับว่าการจับกุมและควบคุมตัวสราวุธเป็นไปเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบัน แม้ปัจจุบันมีเพียงมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เขียนรับรองเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างคลุมเครือ โดยยังไม่มีรัฐธรรมนูญที่จะรับรองคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างชัดเจน แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 ก็รับรองสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย การกระทำเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ จึงอาจขัดกับหลักกฎหมายหลายประการ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ 
 
1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 19. 
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ระบุว่า ข้อ 19. ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและ ข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน
 
2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่า ข้อ 19 
   1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
   2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน 
แม้ว่าข้อย่อย 3. จะระบุว่า 3. การใช้สิทธิของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย อาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง โดยข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ (ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น (ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน แต่กรณีของสราวุธเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยอ้างว่าการแสดงความคิดเห็นของสราวุธขัดต่อกฎหมายฉบับใด ที่คุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่นหรือความมั่นคงของชาติ
 
3. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ข้อ 23. 
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AHRD) ระบุว่า ข้อ 23. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพที่จะมีข้อคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และมีสิทธิในการแสวงหา ได้รับและส่งข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นทางวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือผ่านสื่ออื่นใดตามทางเลือกของบุคคลนั้น
 
4. อนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องและสนับสนุนความหลากหลายทางการแสดงออกทางวัฒนธรรม หรือ Convention on the Protection and Promotion of the Diversity of Cultural Expressions 2005 มาตรา 2
อนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องและสนับสนุนความหลากหลายทางการแสดงออกทางวัฒนธรรม ระบุว่า มาตรา 2  ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะได้รับการคุ้มครองและปกป้อง หากสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเสรีภาพในการแสดงออก ข้อมูลและการสื่อสารและศักยภาพของบุคคลในการเลือกสื่อสารทางวัฒนธรรมนั้นต่างได้รับการประกัน ห้ามอ้างอนุสัญญานี้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพฯ ดังที่ระบุไว้ใน UDHR หรือรับประกันไว้โดยกฎหมายระหว่างประเทศหรือ อ้างเพื่อจำกัดเสรีภาพนี้ในตัวเอง
 
อนุสัญญาฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ UNESCO ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้ ขณะที่อย่างน้อย 141 ประเทศได้ลงนามเข้าร่วมแล้ว ซึ่งพอจะถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล 
 
 
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กฎหมายที่ควรจะเป็นหลักในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ และยังมีกฎหมายพิเศษอย่าง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยก็ไม่มีอำนาจที่จะทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด เจ้าหน้าที่รัฐยังคงต้องดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย 
 
นอกจากต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกรอบของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่ง คสช. ประกาศขึ้นใช้เองแล้ว ก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเจ้าหน้าที่รัฐไทยก็ยังคงต้องเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับกันในระดับสากลอีกด้วย 
 
 
 
ชนิดบทความ: