1909 1119 1101 1813 1085 1646 1029 1142 1027 1999 1375 1148 1952 1905 1227 1855 1376 1925 1386 1506 1555 1204 1760 1777 1529 1314 1990 1588 1207 1422 1997 1571 1250 1850 1231 1107 1507 1371 1658 1053 1923 1091 1829 1855 1172 1471 1552 1542 1537 1439 1747 1555 1859 1521 1072 1704 1941 1909 1475 1806 1038 1817 1318 1394 1750 1623 1380 1751 1103 1755 1846 1171 1254 1556 1843 1376 1639 1473 1552 1813 1700 1799 1614 1317 1822 1894 1531 1453 1145 1514 1371 1870 1083 1968 1209 1939 1217 1988 1287 สองปีคดีระเบิดราชประสงค์: สืบพยานได้ปากเดียว จาก 447 ปาก คำสารภาพยังถูกกังขาเมื่อจำเลยสื่อสารภาษาไม่ได้ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สองปีคดีระเบิดราชประสงค์: สืบพยานได้ปากเดียว จาก 447 ปาก คำสารภาพยังถูกกังขาเมื่อจำเลยสื่อสารภาษาไม่ได้


คงจดจำกันได้ดีถึงเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อปี 17 สิงหาคม 2558 หรือบางคนเรียกว่า "เหตุระเบิดราชประสงค์" ตามชื่อสี่แยกที่ศาลพระพรหมตั้งอยู่ โดยหลังเกิดเหตุหลายฝ่ายมีการวิเคราะห์แรงจูงใจของการก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศหรือปัญหาชายแดนใต้ อีกแนวคิดหนึ่งที่ถูกเสนอขึ้น คือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศอันเกิดจากความไม่พอใจที่ทางการไทยส่งกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์กลับประเทศจีน ทั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวอยู่ในสถานะคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลจีน

 

726 สภาพความเสียหายของศาลพระพรหมเอราวัณหลังระเบิด

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ผู้จัดการ

 

ข้อวิเคราะห์ท้ายสุดดูจะมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมสองผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุระเบิดคือ อาเดม คาราดัก (บิลาล มูฮัมหมัด) และยูซูฟู เมียไรลี ผู้ต้องสงสัยทั้งสองคนเป็นชาวอุยกูร์ เพียงไม่นานหลังจากที่ทั้งสองถูกจับกุมคุมขังที่เรือนจำพิเศษภายในค่าย มทบ.11 ตามอำนาจของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ก็ปรากฏข่าวจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่ของไทยว่า ทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน


จำเลยทั้งสองในคดีนี้มีสัญชาติจีน ชาติพันธุ์อุยกูร์ อาเดมเดินทางมาจากอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน เขามีญาติส่วนหนึ่งเดินทางไปตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศตุรกี อาเดมถูกดำเนินคดีภายใต้ข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับกรณีระเบิดและเดินทางเข้าเมืองผิดกฎหมายรวม 10 ข้อหา ส่วนยูซูฟูเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายและประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายโทรศัพท์ เขาถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับระเบิดร่วมกับอาเดมรวม 9 ข้อหา

 

เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับอาวุธ เข้าข่ายตามประกาศคสช.ฉบับที่ 50/2557 ที่ระบุให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ทำให้คดีนี้ต้องพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ


เรื่องราวการจับกุมจำเลยทั้งสองคน เป็นพื้นที่ข่าวใหญ่โตอยู่ไม่นาน ก่อนที่จะเงียบหายไป และกลับมาเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อาเดมและยูซุฟูกลับคำให้การเป็นไม่รับสารภาพตามคำฟ้อง และอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อล่ามภาษาอังกฤษ-อุยกูร์ ที่คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือจำเลยทั้งสองถูกจับกุมในคดียาเสพติด ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากต้องหาล่ามภาษาอังกฤษ-อุยกูร์คนใหม่ โดยศาลทหารกรุงเทพได้ทำหนังสือขอล่ามไปยังสถานทูตจีนประจำประเทศไทย  ต่อมาเมื่อสถานทูตจีนได้จัดหาล่ามให้ได้แล้ว ศาลทหารกรุงเทพได้นัดหมายสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ในครั้งนี้เองที่ไอลอว์ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการพิจารณาคดี

 

สืบพยานต้องรอล่ามแปลสามภาษา สถานทูตจีนตามติดใกล้ชิด
วันแรกที่ไอลอว์ได้เริ่มสังเกตการณ์คือ วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองเดินทางจากเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี หรือเรือนจำมทบ.11 มาถึงศาลทหารกรุงเทพ ก่อนจะขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี ภาพที่เห็น คือ อาเดม ชายร่างเล็ก ผิวขาวซีดถูกสวมกุญแจมือและตีตรวนที่ข้อเท้าทั้งสองข้างเดินค้อมหลังเข้ามานั่งในห้องพิจารณาคดี เขาดูผอมลงจากภาพถ่ายที่เคยเห็นผ่านหน้าสื่อครั้งสุดท้าย ยูซุฟูเองก็เช่นกันถูกตีตรวนและใส่กุญแจมือ รูปร่างไม่อ้วนไม่ผอมลงกว่าเดิมนัก ระหว่างที่รอการพิจารณาคดีจะเริ่มนั้น ทนายชูชาติ กันภัย ทนายความของทั้งสองมีโอกาสพูดคุยคุยกับยูซุฟูสักพักหนึ่งด้วยภาษาอังกฤษ

727 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวอาเดมและยูซุฟูมาที่ศาลทหารกรุงเทพ

การพูดคุยเป็นการสอบถามสารทุกข์สุขดิบและความต้องการเพิ่มเติมว่า ต้องการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ยูซูฟูไม่ได้เรียกร้องอะไรไปมากกว่า คัตตอนบัดหนึ่งกล่อง โดยตลอดระยะเวลาพูดคุยยูซูฟูมีสีหน้าค่อนข้างผ่อนคลาย ขณะที่อาเดมมีท่าทางเคร่งเครียด นั่งขมวดคิ้วมองทั้งสองพูดคุยกัน แต่ไม่ได้โต้ตอบหรือเอ่ยคำใดออกมา


ต่อมาเจ้าหน้าที่จากสถานทูตจีนจำนวนประมาณ 5 คนพร้อมด้วยล่ามภาษาอังกฤษ-อุยกูร์คนใหม่ได้มาถึงศาล  ขณะที่อัยการศาลทหาร, พ.ต.ท.สมเกียรติ พลอยทับทิม พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี พยานโจทก์ปากที่หนึ่งและล่ามภาษาไทย-อังกฤษก็เริ่มทยอยเดินทางมานั่งรอในห้องพิจารณาคดี วันนั้นมีผู้มาสังเกตการณ์คดีค่อนข้างมากพอสมควร โดยนอกจากไอลอว์ ได้แก่ เจ้าหน้าที่จากสถานทูตจีน เจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรี นักข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์และวอยซ์ ทีวี


เมื่อเริ่มการสืบพยาน พยานให้การต่อศาลเป็นภาษาไทย จากนั้นล่ามคนที่หนึ่งจะเริ่มแปลคำบอกเล่าของพยานจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และล่ามคนที่สองจึงจะแปลความทั้งหมดจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาอุยกูร์ให้แก่จำเลยทั้งสองคน ระหว่างการแปลทั้งสองจังหวะ กระบวนการก็จะยังไม่เดินต่อเพื่อรอให้ล่ามแปลเสร็จก่อน


กระบวนการสืบพยานค่อนข้างขลุกขลักเนื่องจากในการเบิกความแต่ละครั้งมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก เช่น ชื่อสกุลและตำแหน่งของผู้ที่พยานอ้างถึง บางครั้งล่ามภาษาไทย-อังกฤษจะต้องถามข้อมูลต่อศาลอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ และแปลให้ล่ามภาษาอังกฤษ-อุยกูร์ฟัง ซึ่งก็ใช้ระยะเวลาพอสมควร ทำให้สืบพยานไปไม่ได้มากเท่าไหร่นัก ระหว่างการแปลข้อความในกระบวนการพิจารณาสังเกตเห็นว่า ยูซุฟูมีความเข้าใจในภาษาอังกฤษค่อนข้างดี หลายครั้งที่ฟังล่ามภาษาไทยแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วเขาหันไปเล่าให้อาเดมฟังในทันที หรือเมื่อฟังคำแปลจากล่ามภาษาอังกฤษ-อุยกูร์แล้วไม่เข้าใจ เขาก็จะถามล่ามภาษาไทย-อังกฤษเป็นภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ส่วนอาเดมนั้น ดูคล้ายกับจะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ สังเกตจากการที่การสบสายตาและผงกศีรษะแสดงท่าทีเข้าใจหรือให้ความเห็นในตอนที่ฟังข้อความจากล่ามภาษาอังกฤษ-อุยกูร์เสร็จเท่านั้น


จากการสังเกตการณ์พบว่า เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาในช่วงเช้า หากวันใดไม่มีนัดพิจารณาต่อในช่วงบ่าย อาเดมและยูซุฟูทั้งสองจะเดินทางกลับเรือนจำทันที แต่หากมีนัดสืบพยานต่อในช่วงบ่าย ทนายความจะจัดหาอาหารมาให้ เพราะทั้งสองคนนับถือศาสนาอิสลาม จึงต้องกินเฉพาะอาหารที่จัดเตรียมมาเป็นพิเศษ ระหว่างทั้งสองคนอยู่ที่ศาลทหาร จะไม่ถูกนำตัวเข้าห้องขังใต้ถุนศาลรวมกับนักโทษคนอื่นที่ถูกพาตัวมาจากเรือนจำ แต่จะได้นั่งอยู่ในห้องเฉพาะบริเวณห้องธุรการชั้นหนึ่ง โดยจะมีผู้คุมสองคนที่มาจากเรือนจำพิเศษเฝ้าอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้แล้วในแทบทุกนัดของการพิจารณาคดีมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตจีนมาสังเกตการณ์คดีด้วย


แม้ว่าในตอนแรกที่ไอลอว์ได้เข้าไปสังเกตการณ์ศาลทหารกรุงเทพจะไม่ได้สั่งห้ามจดบันทึกคดี แต่อย่างไรก็ดีในวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ตุลาการศาลทหารกรุงเทพได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลทหารกรุงเทพเดินมาแจ้งกับผู้สังเกตการณ์ของไอลอว์เป็นการส่วนตัวว่า ศาลสั่งห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี 


คำสารภาพที่ไร้ข้อกังขา?
พยานปากแรก คือ พ.ต.ท.สมเกียรติ พลอยทับทิม พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี ผู้ทำหน้าที่สอบสวนจำเลยวันที่ 26 กันยายน 2558  แนวทางการสืบพยานปากนี้ อัยการทหารที่ทำหน้าที่เป็นโจทก์ นำสืบในเรื่องการสอบสวนในชั้นตำรวจที่พยานให้การว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา โดยระหว่างการรับสารภาพจำเลยมีตำรวจเป็นล่ามแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษให้


อย่างไรก็ตามทนายจำเลยพยายามถามค้าน เพื่อชี้ให้เห็นว่า อาเดมไม่เข้าใจข้อความที่ล่ามแปลมาเป็นภาษาอังกฤษให้ฟัง เนื่องจากเขาไม่ได้รู้ภาษาอังกฤษในระดับที่สื่อสารได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคำให้การรับสารภาพของอาเดมจึงยังมีข้อกังขา ทนายจำเลยพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยภาพวิดีโอระหว่างการทำแผนประกอบคำรับสารภาพที่หลายช่วงหลายตอนสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อล่ามพยายามบอกให้อาเดมทำท่าทางประกอบแผนฯ ด้วยภาษาอังกฤษ อาเดมจะมีท่าทีนิ่งเฉยไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอหรือแสดงสีหน้างุนงง จนกระทั่งล่ามจะต้องกล่าวซ้ำอีกครั้ง พร้อมกับใช้ภาษากายประกอบ

728 อาเดม ขณะทำแผนประกอบคำรับสารภาพเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ไทยรัฐ

ทนายจำเลยขอให้ศาลเปิดภาพวีดีโอขึ้นในห้องพิจารณา เพื่อพิสูจน์ความกดดันของอาเดม ในวีดีโอปรากฏภาพตอนหนึ่งที่อาเดมแสดงท่าทีนิ่งเฉยและไม่เข้าใจจึงไม่ทำตามคำสั่งของตำรวจ ตำรวจจึงได้เรียก “ตี๋” ชายรายหนึ่ง สวมใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ให้เข้ามา “ดู” อาเดม เมื่อชายชื่อ“ตี๋”เดินเข้ามาถึงตัวอาเดม อาเดมได้หันไปถ่มน้ำลายใส่ ระหว่างที่อาเดมดูคลิปวิดีโอดังกล่าว เขาแสดงท่าทีเคร่งเครียดและกล่าวเป็นภาษาอุยกูร์ โดยแปลผ่านล่ามทั้งสองคนแล้วได้ความว่า “ณ เวลานั้นไม่มีใครรู้หรอกว่า เขารู้สึกอย่างไร เขารู้สึกหวั่นไหวแค่ไหน พอตำรวจเรียกคนเข้ามาหาเขาจึงเข้าใจว่าจะเข้ามาทำร้าย เขาจึงต้องทำแบบนั้น”


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อาเดมแสดงความรู้สึกของเขาต่อคดีเพราะก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทนายความชูชาติ กันภัย เคยออกจดหมายข่าวว่า ขณะถูกควบคุมตัวในช่วงเดือนกันยายน 2558  อาเดมถูกซ้อมทรมาน เช่น การกรอกน้ำเย็นใส่จมูก การปิดตา และใช้สุนัขทหารมาเห่ากรรโชกใส่ในระยะประชิด ทั้งเจ้าหน้าที่ยังข่มขู่อาเดมให้รับสารภาพ มิเช่นนั้นจะส่งตัวกลับประเทศจีน ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2559 อาเดมได้แสดงความรู้สึกออกมาอีกครั้งในตอนที่เขากำลังเดินขึ้นศาลทหารกรุงเทพ เขาตะโกนออกมาด้วยเสียงแหบแห้ง เป็นภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นความว่า “ฉันไม่ใช่สัตว์ ฉันเป็นมนุษย์”
 

ความล่าช้าของการพิจารณาคดี อีก 5 ปีจะเสร็จไหม?
เป็นเวลาสองปีแล้ว ที่อาเดมและยูซุฟูถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ในค่ายทหารโดยไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนหน้านี้เมื่อทนายความพยายามเข้าเยี่ยมก็พบอุปสรรคที่มีทหารคอยคุมเข้ม จนทนายความไม่อาจพูดคุยกับผู้ต้องหาได้สะดวก จนเวลาล่วงเลยมา ทั้งสองคนก็ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษ ที่ไม่มีอะไรรับประกันการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา


กระบวนการพิจารณาคดีเดินหน้าไปอย่างล่าช้า โดยมาจนถึงวันนี้ หลังถูกพาตัวไปศาล 13 ครั้ง ศาลทหารกรุงเทพเพิ่งสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นไปหนึ่งปากเท่านั้น โดยฝ่ายอัยการทหาร ผู้เป็นโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน แสดงความจำนงต้องการสืบพยานทั้งสิ้น 447 ปาก ทนายจำเลยคาดการณ์ว่า คดีนี้อาจจะไปเสร็จสิ้นในปี 2565 หรือใช้เวลาประมาณ 7 ปี ในชั้นศาลเดียวเท่านั้น โดยจากการสังเกตการณ์คดีพบว่า เหตุแห่งการล่าช้าเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงแค่กำแพงภาษาที่ต้องแปลภาษาถึงสามภาษา หรือพยานที่มีจำนวนมาก แต่ยังเกิดจากระบบการนัดพิจารณาคดีของศาลทหารด้วย 


ตามปกติแล้วการนัดพิจารณาคดีของศาลทหารกรุงเทพใช้วิธีนัดไม่ต่อเนื่องเช่น ในคดีของ XX นัดสืบพยานในวันที่ 1กรกฎาคม และอาจทิ้งระยะไปนัดอีกครั้งในอีกหลายเดือนข้างหน้าเนื่องด้วยเวลาของศาล,โจทก์และจำเลยไม่ตรงกัน ขณะที่การสืบพยานในคดีนี้เป็นนัดล่วงหน้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม แต่ในแต่ละเดือนก็มีวันนัดไม่ต่อเนื่องมากนัก อย่างเช่น เดือนพฤษภาคม 2560 นัดพิจารณาวันที่ 11 และอีกครั้งในวันที่ 26 ก่อนจะข้ามไปเดือนมิถุนายน วันที่ 26-28 และนัดพิจารณาต่ออีกครั้งในเดือนกรกฎาคม วันที่ 18-20 กรกฎาคม 2560 ลักษณะเช่นนี้ทำให้การพิจารณาล่าช้าและขาดความต่อเนื่อง เห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากนัดสืบพยานปากแรกที่เริ่มนัดตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 และมาเสร็จสิ้นในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีการพิจารณา 6 วัน จากตลอดระยะเวลาทั้งหมด 59 วัน 

729 ยูซุฟู จำเลยที่ 2 ขณะถูกนำตัวมาที่ศาลทหารกรุงเทพ

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์วอยซ์ ทีวี

ครั้งหนึ่งระหว่างการสืบพยานทนายจำเลยได้พูดคุยกับยุซุฟูในเรื่องความล่าช้าที่เกิดขึ้น โดยกล่าวอย่างหมดคำกล่าวหรือหนทางปลอบว่า “ตอนนี้เขาโชคดีแล้วที่ได้อยู่ในเรือนจำมีข้าวกินทุกวัน โชคดีกว่าคนที่ไม่มีจะกินที่อยู่นอกเรือนจำอีกหลายคน” ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2559 ยูซูฟู หนึ่งจำเลยของคดีนี้ได้แสดงออกถึงความเป็นกังวลในการพิจารณาคดีที่มีทีท่าจะล่าช้า โดยเขาพยายามร้องขอให้นัดพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วให้เหตุผลว่า เขาถูกคุมขังทั้งที่บริสุทธิ์มาเป็นเวลานานแล้ว

 

ชีวิตในเรือนจำทหาร
ตั้งแต่ถูกจับกุมจนถึงปัจจุบัน ทั้งอาเดมและยูซูฟูยังคงถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งตั้งอยู่ภายในมทบ.11 โดยก่อนหน้านี้ทนายชูชาติยังคงเข้าไปเยี่ยมจำเลยอยู่บ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการทำให้ทนายจำเลยไม่ได้เข้าไปเยี่ยมอีก ส่วนญาติพี่น้องคนอื่นที่อยู่ในประเทศไทยก็ไม่มี ทนายความเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำว่า ทั้งสองถูกแยกขังเดี่ยวซึ่งสร้างความกดดันให้แก่จำเลยทั้งสองมากทีเดียว ภายในห้องขังค่อนข้างมืด แสงแดดสาดส่องไม่ค่อยถึงทำให้จำเลยเริ่มมีปัญหาทางสายตา


เรือนจำในค่ายทหารแห่งนี้แตกต่างจากเรือนจำทั่วไป การเข้าเยี่ยมตกอยู่ภายใต้การสอดส่องของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด ผู้ใดที่ไม่ใช่ทนายความหรือคู่สมรสก็ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ส่วนเรื่องอาหารการกิน ทนายความเล่าว่า สามารถส่งอาหารกระป๋องฮาลาลและหนังสือเข้าไปในเรือนจำได้  ขณะที่ไม่นานมานี้เจ้าหน้าที่เริ่มมีมาตรการผ่อนปรนให้ทั้งสองออกมาทำกิจกรรมด้านนอกห้องขังได้ เช่น การดูหนังทุกวันพฤหัสบดี เป็นต้น


ในเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ อาเดมและยูซุฟูสามารถปฏิบัติได้เกือบเป็นปกติเช่น การละหมาด ตามปกติแล้วเมื่อผู้ชายที่จะปฏิบัติละหมาดจำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าปกคลุมตั้งแต่สะดือจนถึงหัวเข่า ซึ่งคนมุสลิมทั่วไปเวลาละหมาดมักจะสวมใส่โสร่งหรือกางเกงยาวด้วย แต่สำหรับอาเดมและยูซุฟู โสร่งหรือเครื่องนุ่งห่มที่มีขนาดยาวเกินไปถือเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะอาจนำไปใช้ในการฆ่าตัวตาย ดังนั้นทั้งสองจึงต้องสวมใส่ชุดนักโทษละหมาดในทุกวัน ไม่แน่ว่าเป็นความโชคดีหรืออย่างไรเพราะชุดนักโทษค่อนข้างยาวพอที่จะปกปิดบริเวณที่ศาสนากำหนดได้


ขณะที่ในช่วงเดือนปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเวลาที่ชาวมุสลิมทั่วโลกเข้าสู่เดือนรอมฎอนและถือศีลอดในเดือนนั้น อาเดมและยูซุฟูก็ได้ร่วมถือศีลอดเช่นกัน ซึ่งเป็นช่วงระหว่างที่ศาลทหารกรุงเทพเว้นการพิจารณาพอดี  ตอนนั้นทนายความได้นำสิ่งจำเป็นอาทิ อาหารฮาลาลและอินทผาลัมส่งเข้าไปในเรือนจำให้แก่จำเลยด้วย และดูเหมือนว่า ทั้งสองจะกระตือรือร้นต่อเดือนรอมฎอนอยู่ไม่น้อยเพราะในช่วงแรกอาเดมและยูซุฟูไม่ได้ร้องขอสิ่งใดมากนัก แต่ในช่วงก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน อาเดมได้ร้องขออัลกุรอาน ขณะที่ยูซุฟูได้ขออัลกุรอานและหนังสือประเภทบันทึกพระวจนะของศาสดาที่แปลจากภาษาอาหรับเป็นภาษาอังกฤษ แต่เวลากระชั้นชิดเข้ามาทำให้เดือนรอมฎอนที่ผ่านมาทั้งสองได้เพียงอัลกุรอานเท่านั้น


สำหรับการพิจารณาคดีนี้ ล่าสุดศาลทหารกรุงเทพได้เริ่มสืบพยานโจทก์ปากที่สองแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะกลับมาสืบพยานปากดังกล่าวต่อในวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เวลา 8.30 น. สำหรับผู้ที่สนใจอยากติดตามการพิจารณาคดีนี้และส่งต่อเรื่องเล่าเช่นเดียวกันนี้ ก็สามารถไปร่วมสังเกตการณ์ได้ที่ศาลทหารกรุงเทพ
 

ชนิดบทความ: