1449 1158 1909 1786 1771 1204 1509 1181 1312 1347 1618 1889 1756 1371 1101 1030 1673 1191 1991 1750 1258 1186 1496 1981 1066 1617 1621 1613 1241 1371 1073 1893 1592 1329 1060 1344 1031 1085 1899 1337 1393 1648 1459 1391 1245 1041 1163 1065 1017 1337 1473 1397 1211 1032 1548 1074 1323 1956 1984 1481 1108 1547 1457 1027 1006 1553 1045 1984 1433 1366 1385 1923 1162 1490 1225 1374 1494 1606 1534 1427 1998 1018 1930 1299 1017 1343 1105 1111 1145 1414 1572 1705 1710 1018 1945 1783 1425 1985 1804 การเดินทางของผู้ต้องหา 421 คน ในเวลา 1,666 วัน ภายใต้คำสั่ง "ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

การเดินทางของผู้ต้องหา 421 คน ในเวลา 1,666 วัน ภายใต้คำสั่ง "ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป"

 

11 ธันวาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติ โดยมีสาระสำคัญ คือ การยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมหาเสียงและการเลือกตั้ง ซึ่งในบรรดาประกาศคำสั่งที่ถูกยกเลิกมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. รวมอยู่ด้วย 
 
ครั้งแรกที่การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนถูกกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญาในยุค คสช. คือ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยผลของประกาศ คสช. ฉบับที่ 2557 หลังจากนั้นในวันที่ 1 เมษายน 2558 เมื่อมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ (ยกเว้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชัยแดนภาคใต้) หัวหน้า คสช. ได้อาศัยอำนาจตาม "มาตรา 44" ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยมีข้อ 12 กำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน เช่นเดียวกับประกาศฉบับที่ 7/2557 แต่ลดอัตราโทษทั้งจำคุกและปรับลงกึ่งหนึ่ง คือ จากจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เหลือโทษจำคุกหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งมีการเปิดช่องด้วยว่าหากหัวหน้า คสช. อนุญาต ก็สามารถจัดการชุมนุมได้ 
 
เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มีเนื้อหาเหมือนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จึงต้องถือว่า ฉบับที่ออกใหม่ยกเลิกฉบับเก่าแล้ว ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย แม้จะไม่เคยมีการยกเลิกประกาศคสช.ฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการก็ตาม
 
315 วันที่ประชาชนชาวไทยตกอยู่ภายใต้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และอีก 1,351 วัน ที่อยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 รวมแล้ว 1,666 วัน มีเรื่องราวและปรากฎการณ์แวดล้อมต่างๆเกิดขึ้นมากมายซึ่งสมควรถูกนำมาทบทวนไว้ ณ ที่นี้
 
 
991
 
 
 
421 คน คือ จำนวนผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานนี้ เท่าที่ไอลอว์มีข้อมูลและยืนยันได้
 
ในปี 2557 หลัง คสช. เข้ายึดอำนาจและมีการชุมนุมต่อต้านอยู่ทั่วประเทศ มีคดีฐานชุมนุมเกินห้าคนเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 16 คดี
มี 11 คดี เช่น คดีของ ภิณโญภาพ วรภพ และ สุรสิทธิ์ ที่จำเลยให้การรับสารภาพและศาลทหารวางโทษในแนวเดียวกันคือ ลงโทษจำคุกหกเดือน ปรับ 10,000 บาท แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก สามเดือนและปรับ 5,000 บาท เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 
 
นอกจาก 11 คดีข้างต้น ยังมีหนึ่งคดีของวีรยุทธ ซึ่งเหตุเกิดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ก่อนหน้าที่ประกาศฉบับที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้พลเรือนขึ้นศาลทหารจะมีผลบังคับใช้ จำเลยจึงถูกดำเนินคดีในศาลยุติธรรมตามปกติ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 เดือน ปรับ 6,000 บาทก่อนลดโทษเหลือจำคุก 1 เดือน ปรับ 3,000 โดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 
 
เท่าที่มีข้อมูลคดีชุมนุมตั้งแต่ห้าคนที่เกิดขึ้นในปี 2557 มีเพียงคดีเดียวที่จำเลยให้การปฏิเสธ คือ คดีอภิชาติชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารและจนถึงบัดนี้ คดีนี้เป็นเพียงคดีเดียวที่มีคำพิพากษาจากศาลชั้นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์สั่งปรับอภิชาตเป็นเงิน 6,000 บาทแต่ไม่ลงโทษจำคุกโดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสงบและเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมก็ไม่มีพฤติการณ์ต่อสู้ขัดขืน
 
995 ภาพทหารจับผู้ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร 23 พ.ค. 2557 ภาพโดย สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์
 
ในปี 2558 มีคดีเกิดขึ้นอีกสองคดีที่ก่อนที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จะออกมาบังคับใช้ ได้แก่
1) คดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก จำเลยสี่คน คือ อานนท์, พันธุ์ศักดิ์, สิรวิชญ์ และวรรณเกียรติ
2) คดีพลเมืองรุกเดิน ของพันธุ์ศักดิ์ 
เนื่องจากจำเลยของทั้งสองคดีให้การปฏิเสธ คดีของพวกเขาจึงยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารจนถึงปัจจุบัน 
 
 
993 พันธุ์ศักดิ์ วันทำกิจกรรม "พลเมืองลุกเดิน"
 
 
หลังจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 เมษายน 2558 ก็มีคดีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนที่เกิดขึ้นในปี 2558 อีกรวม 8 คดี ในจำนวนนี้มีเพียงคดีเดียวที่สิ้นสุดแล้ว คือ คดีของปรีชา ผู้ถูกกล่าวหาว่า นำดอกไม้มาให้กำลังใจพันธ์ศักดิ์ จำเลยคดี "พลเมืองรุกเดิน" ปรีชาให้การรับสารภาพ ศาลทหารจึงพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท ส่วนคดีที่เหลืออีก 7 คดี มีหนึ่งคดีที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ คดีนักวิชาการ 8 คนจัดแถลงข่าวเรื่อง "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่เชียงใหม่
 
ขณะที่คดีของกลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมที่จัดการชุมนุมช่วงครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารที่กรุงเทพ และขอนแก่น และการชุมนุมในช่วงเดือน มิถุนายน 2558 มีคดีเกิดขึ้นอีกชุดใหญ่ ได้แก่
  • คดีของ 7 นักศึกษาดาวดินจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น คดีนี้มีจำเลยสองคนที่ถูกฟ้องต่อศาลทหารแล้วได้แก่จตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" และ ภานุพงษ์ หรือ "ไนท์ ดาวดิน" คดีของจตุภัทร์ศาลทหารขอนแก่นสืบพยานเสร็จแล้วแต่อยู่ระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ก่อนที่จะนัดฟังคำพิพากษา ส่วนคดีของภานุพงษ์อยู่ระหว่างการสืบพยาน ส่วนนักศึกษาอีกห้าคนยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล
  • คดีการชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพมีผู้ถุกดำเนินคดีรวม 9 คน สามคนได้แก่ ธัชพงศ์, ณัชชชา และพรชัย ถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ส่วนอีก 7 คน ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล 
  • คดี 14 นักศึกษา นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินที่กล่าวถึงข้างต้นทั้ง 7 คน และนักกิจกรรม 7 คน ที่ร่วมการชุมนุมที่หอศิลป์กรุงเทพได้ร่วมกันทำกิจกรรมชุมนุมที่กรุงเทพในานาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" จนเป็นเหตุให้พวกเขาถูกฝากขังในเรือนเป็นเวลา 12 วัน และถูกฟ้องคดีเพิ่มเติมอีกหนึ่งคดี อย่างไรก็ตามนับจากการฝากขังพวกเขาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพจนเป็นข่าวใหญ่แล้ว คดีนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีก 
     

994 กิจกรรมในเดือน มิถุนายน 2558 ในนาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่"

 

สำหรับคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 อีกหนึ่งคดี ได้แก่ คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ คดีนี้มีผู้ต้องหารวม 11 คน จำเลยหนึ่งคน คือ ธเนตรให้การรับสารภาพและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา รวมหกเดือนและให้เพิ่มโทษอีก 2 เดือน เนื่องจากธเนตรเคยต้องคำพิพากษาจำคุกในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมช่วงปี 2553 มาก่อน เนื่องจากธเนตรให้การรับสารภาพโทษจำคุกของเขาจึงลดเหลือสี่เดือน ในกรณีของธเนตรศาลมีคำพิพากษาจำคุกเขาโดยไม่รอลงอาญา และเท่าที่มีข้อมูลธเนตรเป็นคนเดียวที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกจริงๆ ในข้อหา "ชุมนุมเกินห้าคน" 
 
ปี 2559 เป็นปีที่มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกิดขึ้นในปีนี้ส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในจำนวนนี้มีข้อมูลว่ามีอย่างน้อย 142 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในหลายจังหวัด ซึ่งพฤติการณ์ของการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในต่างจังหวัดไม่ได้มีกิจกรรมมากไปกว่าการรวมตัวถ่ายภาพกับป้ายไวนิลที่มีข้อความ "ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า" น่าจะมีเพียงการเปิดศูนย์ปราบโกงที่ห้างบิ๊กซีลาดพร้าวของแกนนำกลุ่มนปช.เพียงกรณีเดียวที่จะมีการแถลงข่าวหรือมีถ้อยแถลงทางการเมือง ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีเปิดศูนย์ปราบโกงฯ มีทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งคือเข้ารับการปรับทัศนคติจากเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อให้คดีเป็นอันเลิกกันไป ส่วนคนที่ไม่เข้ารับการปรับทัศนคติก็จะถูกดำเนินคดี 
 
คดีเกี่ยวกับศูนย์ปราบโกงประชามติที่ยังคงไม่แล้วเสร็จ มีอย่างน้อยสองคดี ได้แก่ คดีของ 19 แกนนำนปช. ซึ่งอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ และคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งสำนวนยังอยู่ที่อัยการยังไม่ฟ้องต่อศาล 
 
นอกจากคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติก็ยังไม่คดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อีกสองคดีที่เกิดจากการจัดกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการออกเสียงประชามติ ได้แก่ 

 

996 ภาพตำรวจเข้ารื้อเวทีกิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ"

 

นอกจากคดีที่เกิดจากกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วปีนี้ก็มีคดีฐานชุมนุมทางการเมืองที่น่าสนใจเกิดขึ้นสองคดี ได้แก่ 
  • คดีปัดฝุ่นประชาธิปไตย ที่นักกิจกรรมนัดรวมตัวเดินเท้าจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุบางเขนไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่ เนื่องในวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พนักงานสอบสวนเพิ่งออกหมายเรียกนักกิจกรรมเจ็ดคนไปพบเพื่อฟ้องคดีในช่วงปลายปี 2561
  • คดีก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย ประชาชน 15 คน หลายคนเป็นผู้สูงอายุ ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์และวางแผนทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ต่อมาอัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีทั้งหมด
 
ในปี 2560 มีคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เกิดขึ้นเพียงคดีเดียว คือ คดี "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ซึ่งเกิดจากกรณีที่มีการติดป้ายเขียนข้อความ "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" เพื่อคัดค้านกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบมาถ่ายภาพและวิดีโอการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุม ในจ.เชียงใหม่ ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลแขวงเชียงใหม่ 
 
ในปี 2561 การตั้งข้อหาประชาชนด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมืองกลับมาถี่ขึ้นอีกครั้งเนื่องจากตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 มีการจัดกิจกรรมเริ่มจากกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" จากกรุงเทพไปขอนแก่น ที่มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี 8 คน และมีกิจกรรมให้กำลังในที่บ้านดอยเทวดา จังหวัดพะเยาซึ่งหลังเผยแพร่ภาพการเดินขบวนในหมู่บ้านออกไปก็มีผู้ถูกตั้งข้อหาอีก 11 คน ต่อมาทั้งสองคดีอัยการสั่งไม่ฟ้อง
 
ต่อมามีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ผู้เข้าร่วมถูกตั้งข้อหารวมหกครั้ง สี่ครั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและสองครั้งในต่างจังหวัด ได้แก่ ที่พัทยาและที่เชียงใหม่
 
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นรวมหกครั้งก็มีความน่าสนใจเพราะแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อหากับผู้กล่าวหาจำนวนมาก ได้แก่ 

 

998 ภาพการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2561

 

997 ภาพการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง วันที่ 22 พ.ค. 2561

 
 
คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนอกจากจะมีความน่าสนใจตรงที่มีการฟ้องผู้ชุมนุมแบบ "ปูพรม" แล้วเจ้าหน้าที่ยังใช้วิธีแยกการดำเนินคดีระหว่างคนที่เป็นแกนนำ กับคนที่เป็นผู้ร่วมการชุมนุมธรรมดาด้วย โดยผู้ที่เป็นแกนนำจะถุกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมเข้าไป ในจำนวนคดีเกี่ยวกับการเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งทั้งหมด 10 คดี บางคดีอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีไปแล้ว บางคดีก็ยังไม่มีคำสั่งเพียงแต่เลื่อนการสั่งฟ้องออกไปเรื่อยๆ รวมแล้วมีผู้ถูกตั้งข้อหาจากการเรียกร้องเลือกตั้งอย่างน้อย 142 คน หลายคนโดนซ้ำกันหลายคดี
 
แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จะถูกยกเลิกไป เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่อาจหยิบยกมาใช้จัดการกับการชุมนุมได้ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมการชุมนุมสาธาณะ 2558, ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 (ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) หรือกฎหมายเกี่ยวกับการจราจร เป็นต้น 
 
ในส่วนของคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือเริ่มกระบวนการทางกฎหมายไปแล้ว คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 ก็ระบุว่า การยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ไม่ให้กระทบกับการดำเนินคดี หรือการดำเนินการตามประกาศคำสั่งที่เกิดขึ้นก่อนมีการออกคำสั่งฉบับนี้ ในทางปฏิบัติจึงอาจตีความได้ว่าคดีที่เหตุเกิดขึ้นก่อนมีคำสั่งฉบับนี้ก็ให้ดำเนินต่อไป กรณีที่ยังไม่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดก็อาจจะยังจับกุมได้ แต่เมื่อคดีไปถึงชั้นที่ศาลมีคำพิพากษา ก็ต้องรอดูว่า ศาลจะพิพากษายกฟ้องเนื่องจากคำสั่งที่ระบุห้ามชุมนุมถูกยกเลิกแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตามจำเลยที่ร่วมการชุมนุมแล้วถูกตั้งข้อกล่าวหาอื่นเพิ่มเติม เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือความผิดฐานอื่นๆ ก็จะยังจะถูกพิพากษาลงโทษตามความผิดฐานนั้นๆ ต่อไปได้
 
และท้ายที่สุดแม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน จะถูกยกเลิกไป โดยมีผู้ที่ถูกพิพากษาจำคุกจริงๆเพียง 1 คนตลอดเวลาที่คำสั่งนี้ถูกบังคับใช้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 (และประกาศ คสช. ฉบับที่7/2557) ก็ได้ทำหน้าที่ของมัน ในฐานะเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวและสร้างภาระให้กับผู้ที่บังอาจลุกขึ้นมาชุมนุมหรือแสดงการต่อต้าน คสช. สร้างภาพลักษณ์ให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องยากและไกลตัวของประชาชน ได้อย่างครบถ้วนกระบวนความแล้ว และแม้คำสั่งฉบับนี้จะถูกยกเลิกไป คสช. กว่าบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจะกลับคืนมาสู่สังคมไทย ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกมาก