1756 1881 1904 1578 1981 1632 1697 1749 1184 1972 1763 1078 1956 1634 1024 1196 1064 1269 1832 1638 1007 1360 1960 1685 1647 1431 1111 1565 1444 1630 1833 1248 1904 1865 1364 1547 1771 1075 1015 1875 1417 1071 1815 1595 1835 1726 1051 1564 1491 1689 1931 1227 1142 1432 1063 1820 1613 1009 1527 1685 1830 1028 1385 1836 1020 1732 1761 1653 1261 1060 1392 1806 1771 1432 1420 1660 1528 1130 1280 1791 1491 1252 1482 1155 1991 1068 1096 1388 1690 1165 1938 1359 1513 1379 1456 1094 1693 1199 1252 วันแห่งความ “ลัก” ที่แสนยาวนาน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

วันแห่งความ “ลัก” ที่แสนยาวนาน

14 กุมภาพันธ์ คือวันที่คนมีเจ้าของหลายคน จะกันตัวเองจากภารกิจทั้งปวง เพื่อให้เวลากับคนพิเศษ แต่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 มีความแตกต่างไป เมื่อนักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคมและประชาชนจำนวนหนึ่ง เลือกมา “เดท” กับ “การเลือกตั้ง” ในกิจกรรม “เลือกตั้งที่(รัก)ลัก” ซึ่ง กลุ่ม “พลเมืองโต้กลับ” จัดขึ้นที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งที่ถูกลัก (ขโมย) ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน

ตามที่ผู้จัดตั้งใจไว้ กิจกรรมนี้จะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงคือ 4 – 6 โมงเย็น แต่ก็มีอันต้องยืดเยื้อไปถึงตี 3 เพราะมีคนถูกจับจากกิจกรรมนี้ 4 คน ถูกควบคุมตัวไปที่ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน (สน.) และถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วน จึงตัดสินใจใช้เวลาใน “ค่ำคืนแห่งความรัก ด้วยการนั่ง “ปิคนิค” ที่หน้า สน.ปทุมวัน เพื่อรอจนกว่าเพื่อนของเขาจะได้รับการปล่อยตัว

 

ใครคือ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ 

154

 

กลุ่ม พลเมืองโต้กลับ เป็นการรวมตัวของนักศึกษา อาจารย์ ญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง  นักกิจกรรมทางสังคม และประชาชนทั่วไป ที่ต้องการสลายบรรยากาศแห่งความกลัวหลังการรัฐประหาร วิธีการเคลื่อนไหวที่ทางกลุ่มเลือกใช้คือการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสลายความกลัวในสังคม ก่อนการจัดกิจกรรมในวันวาเลนไทน์  ทางกลุ่มจัดทำและเผยแพร่คลิปวิดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์งานสองชิ้น ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากโลกออนไลน์อยู่ไม่น้อย

คลิปแรก ชื่อ “วัตถุอันตราย !!! เก็บให้ห่างไกลประชาชน” เผยแพร่บนยูทูบในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 คลิปดังกล่าวเป็นการแสดงใบ้ มีชายสวมหน้ากากคนหนึ่ง ถือหีบเลือกตั้ง วิ่งไปวิ่งมาอยู่ที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ ก่อนจะถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยยึดหีบบัตรไป 

คลิปที่สอง ซึ่งเผยแพร่สามวันให้หลัง เป็นมิวสิควิดีโอที่นำเพลงลูกกรุงชื่อดังของสุนทราภรณ์อย่าง “จูบเย้ยจันทร์” มาดัดแปลงเนื้อหาใหม่เป็น “จูบเย้ยจันทร์(โอชา)” เนื้อหาของเพลงเสียดสีแนวคิด “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” และพูดถึงการขัดขวางการเลือกตั้ง สิ่งที่ดึงความสนใจและเรียกเสียงฮาจากคนดู คงจะหนีไม่พ้นพระเอกมิวสิควิดีโออย่างอานนท์ นำพา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ที่แต่งชุดทหาร พยายาม “หว่านล้อม” ไม่ให้นางเอกไปเลือกตั้ง ด้วยท่าทางและลีลากวนโอ้ย

 

เสรีภาพที่ “ปิดปรับปรุง” ในวัน “วาเลนไทน์”

ตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เฟซบุ๊กเพจ “พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen” เริ่มประกาศเชิญชวนคนมาร่วมกิจกรรม “เลือกตั้งที่(รัก)ลัก" อย่างต่อเนื่อง โดยข้อความที่ใช้เชิญชวน เขียนเหมือนชวนคนมาเที่ยวงานวันวาเลนไทน์ มากกว่ามาทำกิจกรรมทางการเมือง เช่น “ทีมกล้องแจ้งมาว่า พร้อมแล้วสำหรับเย็นนี้ค่ะ ยังไง make up หน้าสวยๆนะคะ ... งานวันนี้จะเป็นงานวาเลนไทน์ที่งดงามที่สุดของพวกเราเลยค่ะ”  หรืออีกโพสต์ “เพื่อนๆใส่เสื้อสีอะไรมางานวาเลนไทน์เย็นนี้ค้า แอดมินใส่สีชมพูค้าาาาาาา

อย่างไรก็ตาม ช่วงประมาณเที่ยงครึ่ง เฟซบุ๊กของพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรม ก็โพสต์ภาพการปิดล้อมพื้นที่หน้า หอศิลป์ ด้วยรั้วเหล็กสีเหลืองที่มีกระดาษพิมพ์ข้อความ "อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่" ปะอยู่ พร้อมเขียนบทกวีบรรยายภาพว่า

 "..อย่าหวังว่าฉันจะคุกเข่าให้

แม้จะปวดรวดร้าวเพียงใด คราวนี้คงไม่มีวัน

สิ้นกันแล้วเรา สิ้นความมัวเมา สิ้นคำบัญชา

สิ้นความรัก สิ้นเมตตา สิ้นวาสนากันที"

 

164

บริเวณลานหน้าหอศิลป์มีการล้อมรั้วและติดป้าย "อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่" โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังอยู่ด้านใน

 

นอกจากพันธ์ศักดิ์แล้ว ช่วงประมาณบ่ายสอง เฟซบุ๊กของผู้ร่วมกิจกรรมที่ไม่ขอเปิดเผยนามอีกคนหนึ่ง ก็โพสต์ภาพในลักษณะเดียวกัน พร้อมบรรยายภาพแบบติดตลกว่า "ถ้าไปรื้อเหล็กกั้นจะโดนข้อหาอะไรหว่า" ประมาณบ่าย 2 ครึ่ง ผู้ร่วมกิจกรรมคนเดิมยังโพสต์ภาพตำรวจเข้าประจำการบริเวณหน้าหอศิลป์พร้อมบรรยายภาพว่า "ตำรวจมาแล้ว@‪#‎สักพักทหารคงตามมา"

ในภาพรวม แม้จะไม่มีการส่งสัญญาณห้ามการจัดกิจกรรมจากทหารหรือตำรวจ แต่ภาพการวางรั้วที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ก็คงจะพอเป็นลางบอกเหตุได้ว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้คงไม่ราบรื่นแน่

 

เหตุเกิดที่หน้าหอศิลป์: กิจกรรม ความชุลมุน และการตับตัวผู้ร่วมกิจกรรม

เวลาประมาณสี่โมงเศษ หมอยิว หรือ นายแพทย์กิติภูมิ จุฑาสมิท แพทย์ชนบทดีเด่นปี 2552 กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นสัญญาณว่ากิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ ถึงตอนนี้ ผู้ร่วมกิจกรรม (รวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ) ก็ทยอยเข้ามาจนพื้นที่หน้าหอศิลป์แคบไปถนัดตา กิจกรรมต่างๆ เช่น การถ่ายภาพกับอุปกรณ์ประกอบฉาก อย่างหีบบัตรเลือกตั้ง การมอบดอกกุหลาบให้กัน และการเสวนาเรื่องการเลือกตั้งในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ก็เริ่มขึ้น

162

บรรยากาศกิจกรรม เลือกตั้งที่(รัก)ลัก ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ

 

บรรยากาศในพื้นที่เริ่มคุกรุ่น เพราะเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าควบคุมตัว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “นิว” นักศึกษากลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าไปในบริเวณชั้น 1 ของหอศิลป์ ถึงตรงนี้ผู้ร่วมกิจกรรมต่างลุกฮือกันขึ้นมาด้วยความไม่พอใจ นิวหายเข้าไปด้านในไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็พาตัวเขาออกมาด้านนอกอีกครั้ง เพื่อส่งตัวเขาขึ้นรถตุ๊กตุ๊ก โดยมี สน.ปทุมวันเป็นจุดหมายปลายทาง 

ในระหว่างที่นิวถูกนำตัวไปขึ้นรถ เขาก็ตะโกนบอกผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นว่า “ผมไปไม่นาน” ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวต่างกรูเข้าไปถ่ายรูป ผู้ชุมนุมบางส่วนตะโกนบอกให้ทนายไปด้วย ทันทีก็มีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งขึ้นรถตุ๊กตุ๊กไปกับนิว รถตุ๊กตุ๊กค่อยๆ แล่นออกไป นิวโผล่หัวออกมาจากด้านหลังพร้อมกับชูสัญลักษณ์สามนิ้วคล้ายจะบอกกับผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นว่า เขายังมีกำลังใจดี เดี๋ยวเจอกัน

 

155

นิวหันมาชูสามนิ้วจากท้ายรถตุ๊กตุ๊ก [ภาพจากเพจ พลเมืองโต้กลับ]

 

สถานการณ์ดูจะตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อทหารนอกเครื่องแบบพยายามรวบตัว ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ นักศึกษาจากกลุ่มศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ที่มาร่วมกิจกรรมในเสื้อ No Coup สีดำ การจับกุมดูจะมีลักษณะรุนแรงถึงขนาดทำให้ทรงธรรมได้รับรอยแดงที่ต้นคอเป็นของฝากกลับบ้าน นอกจากนี้ยังมีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ร่วมกิจกรรมและเจ้าหน้าที่ในรูปแบบอื่น เช่น ตำรวจขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งแสดงบัตรประชาชน เธอจึงร้องเพลงชาติให้ตำรวจฟังเพื่อยืนยันว่า เธอเป็นคนไทย 

ประชาไท บันทึกเหตุการณ์ขณะที่ผู้ร่วมกิจกรรมกับเจ้าหน้าที่ยื้อยุดกันไว้ในคลิปวิดีโอความยาว 1 นาทีเศษ ในคลิปมีเสียงตะโกนว่าอย่าทำร้ายประชาชน, ทำไมไม่เชิญตัวกันดีดี รวมทั้งมีเสียงตะโกนบอกให้เจ้าหน้าที่แสดงบัตร ในคลิปยังปรากฏเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยึดเสื้อของผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งไป พร้อมกับมีเสียงคนพูดว่า "ขอเสื้อคืนด้วยครับ เอาไปทำไม มันลักขโมยนะครับ" มีคนตะโกนบอกให้ถ่ายรูปตำรวจไว้ด้วย 

โชคยังดีที่เหตุกระทบกระทั่งไม่ได้บานปลายออกไป หลังกิจกรรมดำเนินไปถึงประมาณ 5 โมงเย็น ผู้เข้าร่วมต่างรวมตัวกันร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ก่อนยุติกิจกรรม ด้วยการตะโกนว่า "เลือกตั้ง" และ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" อย่างละ 3 ครั้ง

161

กอดฟรี!

 

5 โมงเศษ แม้กิจกรรมจะจบลงแล้ว แต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนยังคงอยู่ที่หน้าหอศิลป์ บ้างจับกลุ่มพูดคุย บ้างถ่ายรูป มีชายคนหนึ่งยืนถือป้าย "กอดฟรี" อยู่ที่หน้าหอศิลป์ แต่คาดว่าไม่น่าจะเป็นผู้ร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก

ฟ้าเริ่มมืด เข็มนาฬิกาเดินมาถึงประมาณเลขหก ตำรวจนายหนึ่งเดินมาบอกกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ยังอยู่บริเวณหน้าหอศิลป์ว่า “เสร็จสิ้นกิจกรรมก็กลับเถอะครับ มันจะมืดค่ำแล้ว ผมรับรองความปลอดภัยของคุณไม่ได้” “หากว่ามีมือที่สามมาก่อเหตุความรุนแรงอีก จะเป็นอันตราย บรรลุวัตถุประสงค์แล้วก็กลับเถอะครับ” ผู้ชุมนุมบางส่วนจึงเริ่มทยอยกลับ เช่นเดียวกับ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" ที่เริ่มรวมแถวเพื่อสรุปการปฏิบัติงาน

160

เจ้าหน้าที่ตำรวจรวมแถวเพื่อสรุปการปฏิบัติการ

กิจกรรมคู่ขนานที่หน้า สน.ปทุมวัน  

ในขณะที่กิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ที่หน้าหอศิลป์กำลังดำเนินไป ที่หน้า สน.ปทุมวันก็เริ่มมีความเคลื่อนไหว นิว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกควบคุมตัวมาจากหน้าหอศิลป์ ทำให้นักศึกษาและประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมส่วนหนึ่งตามมาให้กำลังใจเขาที่หน้า สน. และมีสื่อตามมาจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน 

ประชาไท รายงานว่า ในช่วงแรกที่ถูกนำตัวมาที่ สน. นิวเปิดเผยสั้นๆว่า “เขาหาว่าผมใช้เครื่องขยายเสียง” และทำให้เขาถูกแจ้งข้อหา “ก่อความเดือดร้อนรำคาญ” และต้องจ่ายค่าปรับ 100 บาท เหตุการณ์ดูจะไม่เลวร้ายเกินไป แต่จนแล้วจนรอดนิวก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ในเวลาต่อมา สถานการณ์ดูจะแย่ลงไปอีก เมื่อ อานนท์ นำภา และ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ผู้ร่วมจัดการกิจกรรม รวมทั้ง วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ซึ่งเป็นอาสาสมัครในกิจกรรม ถูกนำตัวไปที่ สน.ปทุมวัน เช่นเดียวกับ นิว         

สถานการณ์ดูจะพัฒนาไปในทางที่ไม่ดี ทำให้มีคนเดินทางมาสมทบที่หน้า สน.ปทุมวันอย่างไม่ขาดสายไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมกิจกรรม ผู้สื่อข่าว ขณะที่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก็เดินทางมาเพื่อดูแลนิวซึ่งเป็นนักศึกษาในสังกัด ด้าน ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย หรือ ศนปท ก็โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มว่า  “เราจะมาเพิ่มอีกเรื่อยๆจนกว่าจะปล่อยเพื่อนเรา”  ลานจอดรถหน้า สน.แน่นขนัดไปด้วยฝูงชน ทั้งผู้ร่วมกิจกรรมที่ตามมาจากหน้าหอศิลป์ และนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบัน เมื่อมีคนมากันมากขึ้นพวกเขาก็เริ่มกอดคอกันร้องเพลง 

158

บรรยากาศการ "ปิกนิก" ที่หน้าสน.ปทุมวัน ในค่ำคืนแห่งความรัก [ภาพจากเพจ พลเมืองโต้กลับ]

 

ดวงตะวันลับขอบฟ้า เวลาก็ล่วงเลยไป แต่ไม่มีทีท่าว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 4 จะได้รับการปล่อยตัว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงเรื่องการตั้งข้อหาหรือชะตากรรมของทั้งสี่คนเลย สถานการณ์ที่หน้า สน.จึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความคลุมเครือ แต่ผู้ชุมนุมก็ยังปักหลักรอคอยเพื่อนของเขาต่อไป เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้พวกเขาจึงร่วมกันรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งตั้งวงเล่นดนตรี เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด บรรยากาศที่หน้า สน.ปทุมวันจึงคึกคัก ราวกับว่ากิจกรรมเลือกตั้งที่ถูก(รัก)ลัก ยังดำเนินต่อไป ภายใต้ชื่อใหม่ "ตามเพื่อนที่ถูกลัก"

 

สถานการณ์ "ร้อน" ใน "ห้องเย็น" 

พันธ์ศักดิ์ เล่าบรรยากาศในห้องสอบสวนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คหลายครั้ง เหมือนกับจะบอกคนที่อยู่ข้างนอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงพวกเขา เช่น "ตอนนี้ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสี่กระดี้กระด๊ากันดีที่ สน.ปทุมวัน รอกาแฟและโก้โก้ร้อนมาเสิร์ฟ" ดูจากสเตตัสของพันธ์ศักดิ์ พวกเขาดูจะยังมีกำลังใจดี หลังจากผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสี่คน กรอกประวัติเรียบร้อยก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะมาพูดคุยด้วย

ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เข้าไปนั่งอยู่ในห้องสอบสวนด้วย เปิดเผยภายหลังว่า ถึงตรงนี้ทุกคนเชื่อว่าคงจะถูก "ปรับทัศนคติ" เป็นแน่ หากไม่ใช่ที่ สน. ก็คงถูกส่งไปค่ายทหาร แต่ก็ไม่มีใครคิดว่า เรื่องจะเลยเถิดไปถึงการถูกตั้งข้อหา  

ทนายเล่าต่อไปว่า เมื่อนายทหารพระธรรมนูญมาถึงก็เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในห้องสารวัตรสืบสวน ถึงตรงนี้ทั้งทนายและผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้อีก นอกจากนายทหารพระธรรมนูญมาแล้ว ก็มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งตามมาด้วย นายตำรวจท่านนี้เป็นผู้แจ้งข่าวร้ายกับผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสี่ ว่า นายทหารพระธรรมนูญร้องทุกข์กล่าวโทษพวกเขาในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องห้ามชุมนุมเกิน 5 คน 

เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดก็เปลี่ยนสถานะเป็นผู้ต้องหา ซึ่งตำรวจมีอำนาจที่จะควบคุมตัวพวกเขาไว้เป็นเวลา 48 ชั่วโมงเพื่อทำการสอบสวน และสามารถขออำนาจฝากขังต่อได้ อิสรภาพของพวกเขาดูจะกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย สถานการณ์ในห้องสอบสวนที่แอร์เย็นเฉียบเริ่มร้อนมาเมื่อมีการพูดถึงเงื่อนไขการประกันตัว นักศึกษาคนหนึ่งที่สังเกตการณ์อยู่หน้า สน.โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของตัวเองในช่วงประมาณหนึ่งทุ่มว่า นิวอาจจะต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวสูงถึง 150,000 บาท โดยแบ่งเป็น 75,000 บาท สำหรับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุม และอีก 75,000 บาท สำหรับการทำผิดข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นิวเคยเซ็นไปก่อนหน้านี้ เขายังรายงานด้วยว่า อานนท์, พันธ์ศักดิ์ และ วรรณเกียรติ ยืนยันว่า การประกันตัวจะต้องเป็นไปโดยปราศจากเงื่อนไขและไม่ต้องวางเงินประกัน เมื่อการเจรจาเรื่องเงื่อนไขการประกันตัวไม่คืบหน้า ทั้งหมดก็ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ใน สน. จนกระทั่งข้ามเข้าสู่วันใหม่ เสรีภาพของพวกเขา ได้ถูกลักไปแล้วในค่ำคืนแห่งความรั

 

รับเพื่อน รับวันใหม่ ที่หน้าสน. 

แม้ว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสี่คน ที่กลายเป็น "ผู้ต้องหา" ในเวลาต่อมาจะหายเข้าไปใน สน.เป็นเวลานาน แต่ก็ไม่ได้ทำให้นักศึกษาและประชาชนที่รอพวกเขาหน้า สน.ท้อใจแต่อย่างใด พวกเขายังคงปักหลักพูดคุย และร้องรำทำเพลงกันอย่างต่อเนื่องเพื่อรอให้เพื่อร่วมอุดมการณ์ของพวกเขากลับออกมา หลายคนคิดหวังว่า การปักหลักอยู่ที่ สน.ของพวกเขา น่าจะมีส่วนช่วยให้เพื่อนของพวกเขาได้รับอิสรภาพบ้าง ไม่มากก็น้อย 

ประมาณหนึ่งนาฬิกาเศษ ประชาไท รายงานว่า  สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย (LACMUD) ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการควบคุมตัว พร้อมระบุข้อเสนอ  เช่น ให้ยกเลิกใช้การใช้กฎอัยการศึก และ ให้หยุดกระทำการที่เป็นการคุกคามนักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด ในเวลาไล่เลี่ยกันนักศึกษากลุ่มอื่น เช่น กลุ่มดาวดิน และกลุ่มลูกชาวบ้านจากมหาวิทยาลัยบูรพา ก็ออกแถลงการณ์ในลักษณะเดียวกัน

ขณะเดียวกันในเฟซบุ๊กของผู้ต้องหาทั้งสี่ ก็มีคนมาโพสต์ให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก เช่น เฟซบุ๊กของพันธ์ศักดิ์ มีคนโพสต์ข้อความว่า "เป็นกำลังใจให้นะคะ ศรัทธาและขอคารวะให้กับพี่ๆเพื่อนๆทุกคนที่ทำกิจกรรมวันนี้ค่ะ" และ "ถ้าแท็กซี่ไม่ทิ้งประชาชน ประชาชนก็ไม่ทิ้งแท็กซี่ ป.ล. ก๊อปมาจากคนอื่นอีกที" หรือ "ผมไม่แน่ใจว่าทุกคนที่ร่วมกิจกรรมนี้รู้รึป่าวว่า จะต้องเจอแบบนี้ เพราะเราก็เห็นกันมาตลอด ผมเดาว่า น่าจะรู้นะ แต่ไม่ว่าจะรู้หรือไม่ ก็ขอคาราวะในความกล้าหาญที่ทำกิจกรรมนี้ครับ ไม่รู้จะพูดยังไง ไม่อยากให้มีการสูญเสียอิสรภาพของใครเลย แต่ตัวเองก็ทำได้แค่ดูเองอ่ะ" ขณะเดียวกันก็มีคนโพสต์ข้อความ "ดาวยังพรายศรัทธา เย้ยฟ้าดิน" ให้กำลังใจอานนท์ นำพา ผู้ใช้ภาพของจิตร ภูมิศักดิ์เป็นภาพโปรไฟล์บนเฟซบุ๊ก

156

เฟซบุ๊กของทนาย อานนท์ นำภา ที่ใช้ภาพ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นภาพประจำตัว

 

อย่างไรก็ตาม โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย การแสดงความเห็นต่อการจัดกิจกรรม, การถูกควบคุมตัว การถูกดำเนินคดี ไม่ได้มีแต่การให้กำลังใจ หากแต่ยังมีการแสดงความเห็นแย้งหรือกระทั่งโจมตีด้วย บนเพจ ทหารปฏิรูปประเทศไทย มีชาวเน็ตจำนวนมากไปคอมเมนท์โจมตีกิจกรรม "เลือกตั้งที่(รัก)ลัก" เช่น "น่าพาไปให้คัดคำว่า "ประชาธิปไตย" สัก 500 หรือ 1000 หน้ากระดาษ... และเปิดทีวีให้ดูคำว่า "ประชาธิปไตย" ในจอทีวี ไปสัก 3-5 ชั่วโมง แล้วก็เปิดเสียง คำว่า "ประชาธิปไตย" ให้ฟังอีกสักสองชั่วโมง ตามที่พวกเขาปรารถนา ออกมาเรียกร้อง "ประชาธิปไตย" กันน่าจะดีนะ...." หรือ คอมเมนท์ว่า "หน้าเดิมๆทั้งนั้นเลย เขาได้ค่าจ้างเท่าไหร่กันนะ" 

 

ข่าวดีที่รอคอย

ใกล้ตีสาม มีข่าวว่าการเจรจาเรื่องการประกันใกล้ได้ข้อยุติแล้ว และผู้ต้องหาทั้งสี่กำลังจะได้รับการปล่อยตัว นักศึกษาและประชาชนที่มาให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้งหมดจึงร่วมกันร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาเพื่อต้อนรับการกลับมาของพวกเขา  

ในที่สุดเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง ตีสองห้าสิบนาที เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด การเจรจาต่อรองอย่างแข็งขันของเหล่าผู้ต้องหาและทนาย รวมทั้งแรงสนับสนุนที่หน้า สน. ทำให้มีการลดหลักทรัพย์ที่ต้องใช้ในการประกันตัว อานนท์ ใช้ตำแหน่งทนายความค้ำประกันตัวเอง พันธ์ศักดิ์ และ วรรณเกียรติ ใช้หลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท ทั้งสามได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนกรณีของนิวแตกต่างออกไป เพราะเขาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่ม จึงต้องใช้หลักทรัพย์ 40,000 บาท โดยทั้งหมดต้องไปรายงานตัวที่ สน.ปทุมวันในวันที่ 16 มีนาคม 2558 อีกครั้ง

157

ผู้ต้องหา "ป้ายแดง" แถลงข่าวที่หน้าสน.ปทุมวัน [ภาพจากเพจ พลเมืองโต้กลับ]

 

ก่อนที่เหล่า "พลเมืองโต้กลับ" จะสลายตัวไป พันธ์ศักดิ์ อานนท์ และ วรรณเกียรติ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อว่า พวกเขาจะยังทำกิจกรรมต่อไป ก่อนที่จะกลับพันธ์ศักดิ์ก็ อ่านบทกวีสั่งลา ตามเจตนารมณ์ที่เขาประกาศบนเฟซบุ๊ก "ว่าจะปิดด้วยการอ่านบทกวี" ช่วงประมาณเที่ยงคืน ภาพผู้ต้องหาทั้งสี่คนยืนเรียงกันอยู่ที่หน้า สน.ปทุมวัน และภาพ พันธ์ศักดิ์ อ่านบทกวีพร้อมชูดอกกุหลาบในมือ คือฉากสุดท้ายของกิจกรรม "เลือกตั้งที่(รัก)ลัก ในค่ำคืนแห่งความรักที่แสนยาวนาน ก่อนที่สี่ผู้ต้องหา จะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ ใน"ศาลทหาร"

 

 

thumb จากเพจ พลเมืองโต้กลับ