1728 1632 1088 1669 1166 1499 1765 1798 1225 1677 1085 1191 1135 1030 1447 2000 1958 1546 1546 1379 1816 1673 1063 1762 1274 1944 1124 1265 1666 1742 1616 1288 1372 1619 1049 1630 1877 1444 1774 1228 1644 1408 1307 1026 1969 1086 1509 1157 1207 1799 1775 1121 1731 1591 1771 1552 1992 1182 1632 1271 1977 1184 1731 1367 1118 1194 1593 1545 1882 1828 1955 1066 1338 1243 1457 1571 1871 1920 1098 1540 1452 1110 1050 1370 1791 1584 1577 1691 1900 1887 1448 1791 1213 1921 1998 1529 1195 1496 1294 คดีมาตรา 112 ลงโทษหนักแค่ไหน? | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คดีมาตรา 112 ลงโทษหนักแค่ไหน?

 

1879
 
 
มาตรา 112 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ไม่มีโทษปรับและโทษอื่นๆ หมายความว่า สำหรับการกระทำ 1 ครั้ง หรือในทางกฎหมายเรียกว่า 1 กรรม เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นความผิด ศาลก็มีดุลพินิจที่จะกำหนดโทษจำคุกเท่าไรก็ได้ระหว่าง 3-15 ปี
 
การวางอัตราโทษเอาไว้กว้างๆ เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้เหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละคดีเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับการกระทำความผิดฐานอื่นๆ ในทางกฎหมาย ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีจะต้องดูความร้ายแรงของการกระทำ ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานะของจำเลย โอกาสที่จำเลยจะสำนึกผิดหรือกลับตัวกลับใจ แล้วค่อยกำหนดโทษให้แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละคดี
 
ในทางปฏิบัติ ผู้พิพากษาจะดูแนวทางที่ผู้พิพากษาคนอื่นเคยตัดสินเอาไว้ในคดีก่อนหน้าประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อไม่ให้ผลคำพิพากษาออกมาแตกต่างกันเกินไปสำหรับการกระทำที่คล้ายกัน ซึ่งการกำหนดโทษตามแนวทางเดียวกันนี้ เรียกกันว่า “ยี่ต๊อก”
 
 
ศาลปกติ 5 ปี
 
ผู้พิพากษาที่พิจารณา คดีม.112 ในศาลระบบปกติ ไม่ว่าจะเป็นศาลที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ หรือศาลอาญา ที่ทำหน้าที่คล้ายเป็น “สำนักงานใหญ่” ของการดำเนินคดีอาญา ส่วนใหญ่จะมองดู “ยี่ต๊อก” และวางแนวทางที่ใกล้เคียงกัน คือ เมื่อตัดสินว่าจำเลยมีความผิด ก็กำหนดบทลงโทษ จำคุก 5 ปี ต่อการกระทำ 1 ครั้ง
 
ทั้งการโพสข้อความบนเฟซบุ๊ก ไม่ว่าเพจนั้นๆ มีคนติดตามมากหรือน้อยเพียงใด หรือการนำข้อความขึ้นบนเว็บไซต์ หรือการส่งอีเมล์ หรือการปราศรัยในที่ชุมนุมทางการเมือง ศาลปกติก็วางโทษตาม “ยี่ต๊อก” ที่ 5 ปีเช่นเดียวกัน
 
ตัวอย่างเช่น
คดี “อากง SMS” หรือคดีที่อำพล อายุ 61 ปี ถูกฟ้องว่าส่งข้อความสั้น SMS ไปหาเลขานุการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งหมด 4 ครั้ง ศาลพิพากษาให้จำคุก การกระทำละ 5 ปี รวมโทษจำคุก 20 ปี
คดีของ “ดา ตอร์ปิโด” หรือคดีที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกฟ้องว่ากล่าวปราศรัยที่ท้องสนามหลวง 3 ครั้ง เมื่อปี 2551 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก การกระทำละ 5 ปี รวมโทษจำคุก 15 ปี 
คดีของ “ธเนศ” ซึ่งถูกฟ้องว่า ส่งอีเมล์ไปหาชาวต่างชาติเพื่อขอให้ช่วยเหลือคนเสื้อแดงโดยการช่วยส่งต่อเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี 
คดีของยุทธศักดิ์ คนขับรถแท็กซี่ที่ถูกฟ้องจากการพูดคุยกับผู้โดยสารขณะขับรถ และผู้โดยสารอัดเสียงไปเป็นหลักฐาน ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี 
 
 
ศาลทหาร 10 ปี
 
ระหว่างปี 2557-2559 ภายใต้ยุคการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 สั่งให้คดีม.112 ต้องพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ซึ่งผู้ตัดสินคดีเป็นทหารทั้งหมด อัยการผู้ฟ้องคดี และเจ้าหน้าที่ศาลก็เป็นทหารทั้งหมด
 
ตุลาการศาลทหารกำหนดโทษจำคุกในคดีม.112 สูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดย “ยี่ต๊อก” ของศาลทหารวางไว้ที่จำคุก 10 ปี ต่อการกระทำ 1 ครั้ง โดยไม่ได้มีคำอธิบายอะไรเป็นพิเศษ
 
ตัวอย่างเช่น
คดีของคฑาวุธ นักจัดรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ต ถูกฟ้องจากการทำคลิปเสียง 1 คลิป คฑาวุธเป็นคนแรกที่ถูกพิพากษาโดยศาลทหาร เขาถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี
คดีของสมัคร ชาวนาที่ถูกฟ้องจากการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ตั้งอยู่ริมถนนขณะมึนเมา เขาถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี
 
เท่าที่บันทึกข้อมูลมา ยังไม่เคยพบคดีที่ศาลตัดสินให้จำคุกด้วยอัตราสูงสุดเต็มที่ 15 ปี จากการกระทำครั้งเดียว
 
โทษจำคุกตาม “ยี่ต๊อก” นี้ยังไม่นับรวมการ “ลดโทษ” และ “บรรเทาโทษ” เพราะมีเหตุที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับโทษน้อยลง เช่น เมื่อจำเลยรับสารภาพ หรือกรณีที่การให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี หรือเพราะเหตุอื่นที่ศาลเห็นควรก็อาจปรับลดให้อีกได้
 
จำเลยส่วนใหญ่ได้รับการลดโทษลงจาก “ยี่ต๊อก” ที่ศาลวางไว้ เช่น ยุทธศักดิ์ คนขับแท็กซี่ รับสารภาพและได้ลดโทษจำคุกครึ่งหนึ่ง จาก 5 ปี เหลือ 2 ปี 6 เดือน สมัคร ก็รับสารภาพและได้ลดโทษจำคุกครึ่งหนึ่ง จาก 10 ปี เหลือ 5 ปี ส่วนกรณีของ “ธเนศ” ซึ่งยอมรับว่าเป็นคนส่งอีเมล์จริง แต่ต่อสู้คดีว่าขณะส่งอีเมล์มีอาการป่วยทางจิต ศาลเห็นว่าส่วนที่ยอมรับเป็นประโยชน์กับการพิจารณาคดี จึงลดโทษจำคุกลง 1 ใน 3 จาก 5 ปี เหลือ 3 ปี 4 เดือน เป็นต้น
 
 
กรณีพิเศษหนัก-เบา ต่างไปบ้าง
 
อย่างไรก็ดี คำพิพากษาของศาลไม่ได้เป็นไปตาม “ยี่ต๊อก” เสมอไป ในบางคดีที่มีพฤติกรรมแตกต่างไป ศาลก็อาจลงโทษน้อยกว่า หรือมากกว่าอัตราที่ใช้ในคดีอื่นๆ ก็ได้ แต่ยังไงก็ยังต้องอยู่ในอัตราระหว่าง 3-15 ปี
 
มีบางคดีที่ศาลเห็นว่าการกระทำมีลักษณะรุนแรง และประกอบกับสถานการณ์อื่นๆ ในขณะนั้นก็อาจกำหนดโทษสูงกว่า “ยี่ต๊อก” ได้
 
ตัวอย่างเช่น
คดีของปิยะ ซึ่งถูกฟ้องจากการส่งอีเมล์ที่มีข้อความหยาบคายต่อพระราชินี ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่มีข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพิพากษาให้จำคุก 9 ปี 
คดีของเอกฤทธิ์ ซึ่งถูกฟ้องจากการ โพสต์และแชร์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในอิริยาบถส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 โดยทำเป็นภาพประกอบข้อความที่เนื้อหาชัดแจ้ง การกระทำที่ถูกฟ้องเกิดขึ้นวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันจักรีครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก 8 ปี 
 
ขณะที่ บางคดีที่ศาลเห็นว่า การกระทำมีลักษณะไม่รุนแรง ประกอบกับสถานะของจำเลยที่ศาลเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องได้รับโทษหนักจนเกินไป ก็อาจกำหนดโทษต่ำกว่า “ยี่ต๊อก” ได้
ตัวอย่างเช่น
คดีของ “แม่ทิพย์” บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกฟ้องว่าโพสต์รูปตัวเองใส่ชุดสีดำพร้อมข้อความ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 ศาลทหารที่จังหวัดขอนแก่นพิพากษาให้จำคุก 3 ปี เนื่องจากเธอรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน 
คดีของ “พิภพ” คนขายหนังสือเร่ ที่ถูกฟ้องว่านำหนังสือกงจักรปีศาจ ที่วิเคราะห์กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ไปขายในการชุมนุมเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือ 2 ปี 
 
 
กรณีรอลงอาญา หายากมากๆ
 
สำหรับคดีที่ศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลได้คำนึงถึงสถานะของจำเลย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การกระทำที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นแล้ว ศาลอาจพิพากษาให้ลงโทษแต่ “รอลงอาญา” เอาไว้ก็ได้ หมายความว่า ให้โอกาสจำเลยยังไม่ต้องรับโทษจริงๆ ถ้าไม่ไปกระทำความผิดซ้ำอีก ซึ่งสำหรับคดีม.112 น้อยมากที่จะเห็นศาลใช้ดุลพินิจให้รอลงอาญา ในรอบกว่าสิบปีที่บันทึกข้อมูลพบอยู่สองกรณี
 
ได้แก่
คดีของบัณฑิต ซึ่งถูกฟ้องว่าไปแสดงความคิดเห็นและแจกเอกสารในงานเสวนาของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อปี 2546 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกรวม 4 ปี แต่เห็นว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิต สมควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และอายุมากแล้ว เห็นควรให้กลับตัว จึงให้รอลงอาญา
คดีของนิรันดร์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ข่าวผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมที่มีคนทำขึ้น และ “เนส” นักศึกษาซึ่งแชร์แถลงการณ์ดังกล่าวต่อ ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพให้ลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน และเห็นว่าพฤติการณ์จำเลย “รีบแก้ไขทันที” จึงให้รอลงอาญา 
 
 
สถิติคดีที่โทษหนัก ก็หนักมาก
 
ภายใต้อัตราโทษที่สูงของม.112 และ “ยี่ต๊อก” ที่มีอยู่ หลายคดีจำเลยคนเดียวถูกฟ้องจากการกระทำหลายครั้ง เมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้วต้องนับโทษจากการกระทำทุกครั้งรวมกัน ทำให้เมื่อรวมแล้วจำเลยถูกลงโทษหนักมาก โดยมีสถิติคดีที่ลงโทษหนัก 5 อันดับแรก ดังนี้

 
1. อัญชัญ ซึ่งถูกฟ้องว่า อัพโหลดและแชร์คลิปเสียงของรายการ “บรรพต” ทั้งหมด 29 ครั้ง ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกการกระทำละ 3 ปี รวม 29 กรรม จำคุก 87 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมต้องจำคุก 29 ปี 174 เดือน 
 
2. วิชัย ซึ่งถูกฟ้องว่า แอบอ้างสร้างชื่อบัญชีเฟซบุ๊กปลอม และโพสต์ข้อความและภาพถ่ายรวมทั้งแชร์ข้อมูล 10 ครั้ง ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 7 ปี รวมจำคุก 70 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุกกรรมละ 3 ปี 6 เดือน รวมต้องจำคุก 30 ปี 60 เดือน
 
3. พงษ์ศักดิ์ ถูกฟ้องว่า แพร่รูปภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กชื่อ "Sam parr" จำนวน 6 ข้อความ ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี รวมจำคุก 60 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 30 ปี 
 
4. ศศิวิมล ถูกฟ้องว่า ใช้เฟซบุ๊กชื่อของบุคคลอื่นโพสต์ข้อความ 7 ข้อความศาลทหารที่จังหวัดเชียงใหม่พิพากษาจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมจำคุก 56 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 28 ปี 
 
5. เธียรสุธรรม ถูกฟ้องว่า ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ใหญ่ แดงเดือด” โพสต์วิจารณ์ คสช.รวมถึงพาดพิงสถาบันกษัตริย์ฯ 5 ข้อความ ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกกรรมละ 10 ปี รวมจำคุก 50 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 25 ปี