1040 1244 1981 1477 1826 1217 1424 1264 1635 1615 1648 1573 1493 1109 1559 1001 1070 1826 1702 1035 1782 1321 1739 1751 1206 1025 1737 1094 1466 1699 1495 1624 1948 1617 1753 1177 1905 1741 1084 1016 1858 1145 1641 1825 1444 1131 1224 1504 1206 1822 1773 1494 1498 1320 1727 1874 1379 1179 1260 1127 1528 1642 1015 1925 1266 1180 1745 1717 1910 1826 1374 1221 1720 1775 1404 1683 1161 1685 1470 1398 1355 1776 1253 1343 1530 1800 1869 1657 1420 1567 1333 1757 1574 1672 1049 1781 1649 1504 1049 รวม 10 ปัญหามาตรา 112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รวม 10 ปัญหามาตรา 112

 
 
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
 
มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถูกพูดถึงมานานแล้วภายใต้บริบทความขัดแย้งทางการเมือง และกำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการนำข้อหานี้กลับมาใช้กับผู้ชุมนุมระลอกใหม่อีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ปริมาณคดี และขอบเขตการกระทำที่ถูกดำเนินคดี สถานการณ์เช่นนี้เองทำให้กระแสการเรียกร้องให้ "ยกเลิกมาตรา 112" ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านการแสดงออกทางสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในการชุมนุมขนาดใหญ่ หรือการกระจายไปหลายๆพื้นที่ในรูปแบบของการติดป้ายผ้า การพ่นสีสเปรย์ หรือการฉายเลเซอร์บนอาคาร เป็นต้น
 
สาเหตุที่กฎหมาย "หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ" มีปัญหาและกลายเป็นประเด็นของความขัดแย้งอยู่หลายระลอก ไม่ใช่เพียงเพราะตัวบทกฎหมายหรือการบังคับใช้ที่มีปัญหาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาที่ส่งผลต่ออุดมการณ์และความคิดความเชื่อของคนในสังคมอีกด้วย 
 
๐ ปัญหาของ "มาตรา 112" อย่างน้อย 10 ข้อ ที่เป็นประเด็นในการถกเถียงมากที่สุด ; โดยแบ่งเป็น 4 ปัญหาตัวบท 4 ปัญหาการใช้ และ 2 ปัญหาโครงสร้าง
 
1. ปัญหาตัวบท : คนริเริ่มคดีเป็นใครก็ได้ 
 
ด้วยเหตุที่ มาตรา 112 เป็นความผิดในหมวด "ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" บุคคลทั่วไปสามารถเป็น "ผู้กล่าวโทษ" ได้ ทำให้คนที่เดินไปบอกกับตำรวจเพื่อให้ริเริ่มการดำเนินคดีนั้นจะเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องให้ผู้เสียหายเป็นคนเริ่มต้นคดีเอง ส่งผลให้คดีตามมาตรา 112 มีจำนวนมาก และเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่งขอเพียงแค่มีคนเดินไปกล่าวโทษกับตำรวจเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือกลั่นแกล้งคนที่มีความขัดแย้งกันในเรื่องส่วนตัว เช่น คดีของยุทธภูมิ เรื่องราวของพี่น้องที่อยู่บ้านเดียวกัน มีปัญหากัน และจุดยืนทางการเมืองไม่ตรงกัน พี่ชายจึงกล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีกับน้องชายตัวเองจากการสบถขณะดูทีวีภายในบ้าน 
 
2. ปัญหาตัวบท : โทษหนักเกินไป
 
มาตรา 112 กำหนดอัตราโทษจำคุกไว้ที่สามถึงสิบห้าปี ซึ่งหมายความว่า เมื่อศาลตัดสินว่ากระทำความผิดจริงหนึ่งครั้ง โทษอย่างน้อยที่สุดที่ศาลจะลงโทษได้ คือ สามปี แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่เล็กน้อยเพียงใดศาลก็ไม่อาจลงโทษต่ำกว่านั้นได้ ซึ่งเป็นอัตราโทษเดียวกับความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ หรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ถ้าหากเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคล จะพบว่ามีโทษจำคุกเพียงไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเทียบกับในประเทศอื่นที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการยกเลิกกฎหมายฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหราชอาณาจักรและนอร์เวย์ การหมิ่นประมาทกษัตริย์และบุคคลธรรมดา ต่างก็ไม่มีโทษทางอาญา หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและบรูไน ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี 
 
3. ปัญหาตัวบท : ไม่มีขอบเขตชัดเจน
 
ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดา มีบทนิยามที่ระบุองค์ประกอบชัดเจนในมาตรา 326 ซึ่งแยกต่างหากกับความผิดฐาน "ดูหมิ่น" และการ "แสดงความอาฆาตมาดร้าย" บุคคลธรรมดาก็ไม่เป็นความผิด แต่มาตรา 112 รวมทั้งการ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" เข้ามาเป็นความผิดในมาตราเดียวกันซึ่งกำหนดโทษเท่ากันทั้งหมด โดยประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ทันทีเมื่ออ่านตัวบทว่า การแสดงความคิดเห็นเช่นใดจะเป็นความผิดบ้าง
 
4. ปัญหาตัวบท : ไม่ยกเว้นให้การแสดงความเห็นโดยสุจริต
 
ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดามีข้อยกเว้นในมาตรา 329-330 สำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ให้ไม่เป็นความผิด และการพูดความจริงในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะไม่ต้องรับโทษ แต่มาตรา 112 ไม่ได้นำข้อยกเว้นเหล่านี้มาเขียนให้ชัดเจนด้วย ทำให้การแสดงความคิดเห็นที่แม้จะเป็นไปโดยสุจริต เป็นความจริง และเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง อย่างไรก็ดี กฎหมายลักษณะอาญาที่แก้ไขเมื่อปี 2477 เคยยกเว้นให้การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ก็ถูกตัดออกเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499 
   
5.ปัญหาการใช้ : ตีความกว้างขวางเกินไป 
 
มาตรา 112 ถูกตีความและบังคับใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำแบบใดผิดกฎหมายบ้าง ยกตัวอย่างกรณีที่ตีความกฎหมายกว้างขวางมาก เช่น การแต่งชุดไทยเดินแฟชั่น หรือการสวมเสื้อครอปท็อป ในอดีตศาลเคยตีความและตัดสินเอาผิดจำเลยเกินตัวบท เช่น คำพิพากษาที่วินิจฉัยให้มาตรา 112 ครอบคลุมถึง รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพฯ ทั้งที่สองพระองค์นี้ไม่ได้อยู่ในบุคคลที่มาตรา 112 บัญญัติคุ้มครองโดยตรงไว้
 
6. ปัญหาการใช้ : เจ้าหน้าที่ไม่ใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย
 
เมื่อประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องอ่อนไหว และมาตรา 112 กำหนดโทษไว้สูงในฐานะ "ข้อหาร้ายแรง" จึงส่งผลต่อดุลพินิจการตีความและบังคับใช้ของทั้งตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา แม้โดยหลักการแล้วการตีความและบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา แต่ในคดีลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่เองก็ได้รับแรงกดดันจนไม่กล้าใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์ต่อจำเลย เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดี หรือการให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิประกันตัว หรือการพิพากษายกฟ้อง เพราะกลัวจะถูกตำหนิจากสังคม หรือกลัวส่งผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของตัวเอง สถิติคดีมาตรา 112 ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีผู้ต้องหาหรือจำเลยเพียง 15 คนจากทั้งหมด 94 คนที่ได้ประกันตัว คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นเท่านั้น โดยศาลมักจะให้เหตุผลในการไม่อนุญาตว่า เป็นเรื่องที่มีความร้ายแรง กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความรู้สึกของประชาชน  
 
7. ปัญหาการใช้ : จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี 
 
นอกจากจำเลยคดีมาตรา 112 จำนวนมากจะไม่ได้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาแล้ว การแสวงหาพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมักเป็นไปได้ยาก พยานส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมักไม่กล้ามาเบิกความเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้จำเลยเนื่องจากกลัวว่าจะมีผลกระทบถึงตัวเอง การหาหลักฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ก็เป็นอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เท่านั้น จำเลยไม่อาจขอข้อมูลจากผู้ให้บริการหรือเข้าถึงข้อมูลในความครอบครองของคนอื่นได้ นอกจากนี้ จำเลยหลายคนเมื่อต้องเจออุปสรรคต่างๆ ในการต่อสู้คดีก็ตกอยู่ในสภาวะ "จำยอม" ให้ต้องรับสารภาพ เพื่อหวังให้ศาลพิพากษา "ลดโทษ" ลงครึ่งหนึ่ง และหวังได้สิทธิ "ลดหย่อน" ระหว่างอยู่ในเรือนจำ รวมถึงหวังกระบวนการ "ขอพระราชทานอภัยโทษ" เพื่อให้ได้กลับสู่อิสรภาพโดยเร็วที่สุด โดยไม่อาจมุ่งมั่นกับการพิสูจน์ความจริงที่อาจต้องแลกมากับการจำคุกที่ยาวนานขึ้น
 
8. ปัญหาการใช้ : มากน้อย-หนักเบา ตามบรรยากาศการเมือง 
 
การบังคับใช้มาตรา 112 ได้ทำลายหลักการปกครองด้วยกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม เพราะเป็นการใช้กฎหมายที่ปริมาณการดำเนินคดีจะมากหรือน้อย และการลงโทษจะหนักหรือเบา แปรผันตามบรรยากาศทางการเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ถูกกล่าวหาและตัวบทกฎหมายตามที่ควรจะเป็นเช่นเดียวกับคดีประเภทอื่น กล่าวคือ มาตรา 112 เป็นที่รู้จักในสถานการณ์การเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549 และเริ่มใช้กันมากท่ามกลางความขัดแย้ง "เสื้อเหลือง-เสื้อแดง" จนกระทั่งหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ก็มีการกวาดจับแนวร่วมผู้ชุมนุมดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน เมื่อเลือกตั้งและเปลี่ยนเป็นยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวนคดีก็ไม่เพิ่มขึ้นนัก แต่เมื่อการรัฐประหารโดย คสช. ช่วงปี 2557-2558 มีการจับกุมรายใหม่กว่า 60 คน คดีต้องขึ้นศาลทหารที่ตัดสินลงโทษอย่างรุนแรง ช่วงหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 9 ก็มีคดีเพิ่มขึ้นชุดใหญ่อีกครั้งก่อนที่นโยบายจะเปลี่ยน ทำให้ระหว่างเดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2563 ไม่มีการจับกุมรายใหม่เลย จนกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้กฎหมาย "ทุกบท ทุกมาตรา" ทำให้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 มีคดีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 42 คดี ผู้ต้องหาอย่างน้อย 55 คน
 
9. ปัญหาโครงสร้าง : สร้างผลกระทบต่อสังคม
 
การดำนินคดีมาตรา 112 สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวขึ้นอย่างกว้างขวาง สังคมตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่เชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น "แตะต้องไม่ได้" ประชาชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างสูงสุด และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นนี้ ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและในทางสาธารณะ สื่อมวลชนก็ไม่กล้ารายงานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาทั้งข้อเรียกร้องของการชุมนุมทางการเมือง หรือรายละเอียดการดำเนินคดีมาตรา 112 ภาวะเช่นนี้เอง ทำให้ข้อเท็จจริงหรือความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีอยู่อย่างจำกัดอันจะส่งผลต่อความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของประชาชน
 
10. ปัญหาโครงสร้าง : สร้างผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
เมื่อปรากฏข่าวในทางสาธารณะว่า มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนจำนวนมาก และมีการลงโทษหนัก ประชาชนจึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีภาพลักษณ์ที่ประกอบด้วยความหวาดกลัว ห่างไกลจากความรู้ความเข้าใจของสังคม ไม่อาจถูกตรวจสอบ และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ เมื่อมีข่าวการจับกุมดำเนินคดีสู่สายตาต่างประเทศ ชาวต่างชาติก็อาจเกิดความรู้สึกในแง่ลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัส ไว้ว่า "....ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรซักนิด ก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก..."
 
 
 
1619