1224 1000 1706 1398 1149 1472 1213 1061 1876 1700 1798 1591 1047 1146 1447 1493 1851 1880 1816 1745 1481 1074 1666 1024 1707 1565 1199 1731 1387 1304 1558 1505 1291 1966 1661 1072 1928 1837 1282 1135 1586 1493 1857 1031 1101 1076 1133 1068 1966 1532 1745 1769 1752 1267 1466 1023 1102 1838 1740 1202 1205 1500 1861 1764 1603 1453 1901 1021 1828 1688 1690 1346 1227 1752 1052 1808 1233 1596 1878 1920 1656 1830 1595 1209 1138 1716 1609 1621 1245 1803 1327 1555 1920 1655 1511 1278 1948 1723 1958 แค่ 2 คนถูกปรับ 5,000 ฐานไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า จำเลยที่เหลือยกฟ้องทุกข้อหา คดีเดินคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

แค่ 2 คนถูกปรับ 5,000 ฐานไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า จำเลยที่เหลือยกฟ้องทุกข้อหา คดีเดินคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


วันที่ 27 ธันวาคม 2561 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสงขลานัดฟังคำพิพากษาคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ร.บ.จราจรฯ และข้อหาพกพาอาวุธและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาของชาวบ้านเทพาทั้ง 17 คน


เวลา 9.30 น. จำเลยทั้งหมดเดินทางมาถึงศาล พร้อมด้วยชาวบ้านเทพา นักวิชาการและสื่อมวลชนรวมกว่า 50 คนที่มาร่วมฟังคำพิพากษา วันนี้ศาลจังหวัดสงขลาจัดเตรียมห้องสำหรับนัดฟังคำพิพากษา 2 ห้อง คือ ห้อง 309 สำหรับจำเลยทั้ง 17 คนและทนายความและห้อง 209 ซึ่งจัดฉายวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้อง 309 ไว้สำหรับชาวบ้านเทพาและบุคคลทั่วไป


เวลา 10.10 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เรียกชื่อจำเลยทีละคน จากนั้นสอบถามเนติพงษ์ จำเลยที่ 8 ว่าถูกต้องโทษตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4762/ 2561 จำคุก 6 เดือนใช่หรือไม่ เนติพงษ์รับว่าใช่แต่เป็นโทษจำคุก 11 เดือน อัยการขอให้นับโทษเนติพงษ์ต่อจากโทษในคดีนี้ ในคำขอท้ายฟ้องอัยการระบุอีกว่า เนติพงษ์เคยต้องโทษในคดีอาญาที่ศาลจังหวัดนาทวี ต้องโทษจำคุก 6 เดือนโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี แต่ระหว่างการรอลงอาญา เนติพงษ์ได้ก่อเหตุในคดีนี้ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยประมาท จึงขอให้กำหนดโทษและปรับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4762 / 2561 และคดีนี้


จากนั้นศาลอธิบายว่าวันนี้คำพิพากษามีทั้งหมด 49 หน้าโดยจะเป็นส่วนคำฟ้อง คำให้การ เนื้อหาการสืบพยานของโจทก์และจำเลย และส่วนสุดท้ายคือส่วนที่ศาลพิเคราะห์ ศาลขออ่านในส่วนคำฟ้องและส่วนพิเคราะห์เท่านั้น


ในส่วนพิเคราะห์ระบุว่า วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เพจเฟซบุ๊ก “หยุดถ่านหินสงขลา” โพสต์ชักชวนให้ชาวบ้านเทพาร่วมเดินเท้าไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาในวันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน 2560 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ในช่วงเช้าชาวบ้านเทพาได้รวมตัวกันที่บ้านหลังหนึ่งในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ก่อนจะออกเดินทางมุ่งหน้ามาที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เวลา 18.00 ตำรวจได้แจ้งกับผู้ชุมนุมให้แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อมาผู้ชุมนุมได้เข้าพักค้างคืนที่มัสยิดซอลาฮุดดีน ขณะที่เอกชัย จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอการชุมนุมสาธารณะ และขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา แต่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาไม่อนุญาตให้ชุมนุมและสั่งยกเลิกการชุมนุม


ต่อมาชาวบ้านได้เดินเท้าต่อไปมุ่งหน้าไปที่อำเภอเมืองจังหวัดสงขลาเมื่อเดินเท้ามาถึงบริเวณประตูที่ 2 ของมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาพบกับเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชนตั้งแถวรออยู่โดยปิดกั้นการเดินรถที่ช่องทางซ้ายสุดติดกับฟุตปาธและเปิดการเดินรถที่ช่องทางขวาเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น จากนั้นผู้ชุมนุมได้ฝ่าแนวกั้นแล้วการไปรับประทานอาหารกลางวัน และถูกจับกุมที่บริเวณหาดสมิหลา โดยจับกุมจำเลยที่ 1-15 และ 17 ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 16 ในภายหลัง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีดังนี้

 

ประเด็นที่ 1 คือ เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก จำเลยที่ 1-4 ว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมและมีความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่ามีความผิดได้จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า การเดินเท้านี้ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ระบุว่า การชุมนุมสาธารณะหมายถึง การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถ ร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่ การเดินเท้าครั้งนี้มีการเรียกร้องและมีการเคลื่อนย้ายด้วยจึงถือว่าการเดินเท้านี้เป็นการชุมนุมสาธารณะ


เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก จำเลยที่ 1-4 เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ จากการนำสืบเห็นว่า เอกชัยจำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้พูดคุยและต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตลอดการเดินเท้า รวมทั้งเอกชัยยังเป็นผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะและขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะ
จึงถือว่า เอกชัยและปาฏิหาริย์เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ส่วนรุ่งเรือง จำเลยที่ 2 และดิเรก จำเลยที่ 4 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เข้าข่ายว่า จำเลยทั้ง 2 คนเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ แต่ถือเป็นผู้ชุมนุมตามคำนิยามของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ


พิเคราะห์แล้วเอกชัย จำเลยที่ 1 และ ปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 10 วรรค 1 และมาตรา 12 วรรค 1 ฐานไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและขอผ่อนผันตามระยะเวลาที่กำหนดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท

 


ประเด็นที่ 2 คือ จำเลยทั้ง 17 คนพกพาไม้ยาวประมาณ 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2 เซนติเมตรจำนวนหลายด้าม ซึ่งติดธงแผ่นผ้าและมีปลายแหลม ไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ซึ่งไม้ดังกล่าวจำเลยได้ใช้และเจตนาจะใช้ทำร้ายร่างกายให้เป็นอันตราย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ จำเลยทั้ง 17 คนพกพาไม้คันธง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการเดินเท้า โดยตำรวจได้รวบรวมไม้คันธงได้ 34 ด้าม พิจารณาแล้วไม่ได้เป็นอาวุธโดยสภาพ หากจะเป็นจะต้องมีเจตนาประทุษร้าย คำฟ้องข้อนี้ให้ยก


ประเด็นที่ 3 เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก จำเลยที่ 1-4 ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางอย่างเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ทางสาธารณะและดูแลรับผิดชอบผู้ร่วมชุมนุมให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และจำเลยทั้ง 17 คนได้ร่วมกันสร้างความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ช่องทางการจราจรบนถนนสายสงขลา-นาทวีและพกพาอาวุธตามคำฟ้องข้อสองเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งขัดขวางหรือกระทำการที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ


แต่การพิเคราะห์ในข้างต้นเอกชัยจำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะเท่านั้นจึงเหลือให้ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 2 คนมีความผิดตามคำฟ้องข้อดังกล่าวหรือไม่ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การเดินเท้าคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของจำเลยทั้ง 17 คนเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ถือเป็นการชุมนุมที่ชอบตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งที่ผ่านมายังมีการเรียกร้องหลายครั้งแล้ว ซึ่งต่อมาผู้ชุมนุมออกเดินอย่างสงบ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ให้ความร่วมมือจึงไม่มีความผิดตามคำฟ้องข้อนี้


ประเด็นที่ 4 จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันปิดถนนสายสงขลา-นาทวีด้วยการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมล้ำไปในช่องทางการจราจร มีการนั่ง นอนลงบนถนนสายดังกล่าวที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานการจราจร


ในทางนำสืบ อดิเรก จะโรจน์หวัง พยานโจทก์ให้การว่า ผู้ผู้ชุมนุมเดินเรียงแถวตอนหนึ่งริมถนน ขณะที่ พ.ต.อ. ประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา พ.ท.อุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ร.ต.อ. ธราพงษ์ เย็นใจ ส.ต.ต. ไกรสร้าง กาลลักษณ์ ด.ต.ศิริชัย นุ่มน่วม และด.ต.เดชา แก้วอัมภรณ์ ทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุล้วนให้การในทำนองเดียวกัน เมื่อผู้ชุมนุมเดินเท้าไปถึงบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาเจ้าหน้าที่ก็ได้ตั้งแถวปิดถนนช่องทางซ้ายสุด ติดกับฟุตบาทรออยู่ก่อนแล้ว และเปิดช่องทางขวาให้รถยนต์ผ่านไปได้ เมื่อมีการปิดกั้นทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านไปได้ จึงมีการนั่งและนอนลงกับพื้น นอกจากนี้ไม่มีพยานโจทก์ปากใดระบุว่า มีอันตรายต่อยานพาหนะ พิเคราะห์แล้วฟ้องข้อนี้ให้ยก


ประเด็นที่ 5 จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ จากข้อเท็จจริงของพยานโจทก์คือ เบิกความในทำนองว่า มีการผลักดันและใช้ไม้ตีไปที่เจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 4 คน แต่พยานทั้งหมดไม่ทราบว่า ผู้ชุมนุมที่ใช้ไม้ด้ามธงตีเป็นผู้ใด ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ในที่เกิดเหตุมีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน การที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งผลักดันและจะถือว่า ผู้ชุมนุมคนอื่นมีเจตนาด้วยจึงไม่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ก่อนเกิดเหตุผลักดัน ผู้ชุมนุมพยายามเจรจาให้เจ้าหน้าที่ปล่อยไปกินข้าวที่สถานที่ที่วางแผนไว้ในตอนแรก แต่ไม่เป็นผล จนล่วงเวลาเที่ยงไปนาน ทำให้เกิดความขุ่นเคืองเป็นเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่


แม้ว่า ก่อนเหตุผลักดันผู้ชุมนุมจะมีการใช้โทรโข่งพูดคุยกับผู้ชุมนุม แต่เป็นเพียงการสร้างขวัญกำลังใจเท่านั้น ไม่ใช่การยุยงให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงยังมีข้อสงสัยว่า จำเลยทำการขัดขวาง ใช้อาวุธ ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามมาตรา 127 วรรค 2 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา แต่ให้ริบไม้คันธงทั้ง 34 ด้าม


พิพากษาให้เอกชัย จำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 10 วรรค 1 และมาตรา 12 วรรค 1 ฐานไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและขอผ่อนผันตามระยะเวลาที่กำหนดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเอกชัย จำเลยที่ 1 และปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3 ได้ชำระค่าปรับต่อศาล โดยทั้ง 2 คนได้เงินคืนคนละ 1,000 บาท จากการถูกจำคุกในชั้นสอบสวน 2 วัน วันละ 500 บาท


เหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องจากชาวบ้านเทพากิจกรรมเดินเท้าเป็นเวลา 4 วัน จากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาไปที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะและยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 แต่เมื่อถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมตัวชาวบ้าน 16 คน ที่ร่วมในกิจกรรม หนึ่งในนั้นมีเยาวชนอายุ 16 ปี หลังจากนั้นจึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยเพิ่มอีกหนึ่งคน รวม 17 คน

 


////////////////////////////////////////////////////
๐ หมายเหตุ
จำเลย 17 คนประกอบด้วย เอกชัย จำเลยที่ 1 ,รุ่งเรือง จำเลยที่ 2 ,ปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 3, ดิเรก จำเลยที่ 4, อิสดาเรส จำเลยที่ 5, สมบูรณ์ จำเลยที่ 6, ยิ่งยศ จำเลยที่ 7, เนติพงษ์ จำเลยที่ 8, อามีน จำเลยที่ 9,วีระพงษ์ จำเลยที่ 10, เจะอาเเซ จำเลยที่ 11, สรวิชญ์ จำเลยที่ 12, สมาน จำเลยที่ 13,อัยโยบ จำเลยที่ 14, อานัส จำเลยที่ 15, มุสตารซีดีน จำเลยที่ 16 และฮานาฟี จำเลยที่ 17
๐ อ่านรายละเอียดคดีทั้งหมดที่นี่
๐ อ่านบทความเรือง 7 เรื่องต้องรู้ก่อนฟังคำพิพากษาคดีเทใจให้เทพา