1977 1662 1104 1362 1596 1236 1019 1144 1451 1918 1587 1372 1422 1350 1507 1653 1251 1584 1312 1287 1445 1120 1128 1542 1926 1439 1030 1581 1419 1414 1053 1409 1381 1661 1940 1601 1471 1849 1986 1179 1850 1423 1429 1332 1937 1775 1814 1294 1177 1888 1904 1501 1209 1975 1741 1105 1771 1470 1533 1048 1550 1459 1005 1558 1710 1299 1934 1988 1150 1337 1115 1481 1972 1085 1755 1974 1957 1668 1186 1145 1671 1509 1244 1748 1457 1284 1528 1458 1717 1003 1678 1775 1409 1596 1668 1491 1185 1944 1496 สร้างข่าว สร้างความหวาดกลัว ได้ผลกว่ามาตรการทางกฎหมาย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สร้างข่าว สร้างความหวาดกลัว ได้ผลกว่ามาตรการทางกฎหมาย

 
นอกจากการใช้มาตรการทางกฎหมาย ในการจับกุมบุคคล และดำเนินคดี จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้ว รัฐบาล คสช. ยังใช้มาตรการทางสังคม หรือมาตรการทางจิตวิทยาในการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงเรื่องการเมืองขึ้นมาในสังคมไทย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือวางแผนการมาอย่างดีหรือไม่ แต่การสร้างความบรรยากาศความหวาดกลัว ส่งผลต่อบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า เมื่อคนเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจว่าสามารถแสดงความคิดเห็นได้เพียงใด ก็จะเซ็นเซอร์ตัวเอง จนทำให้เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงกันในที่สาธารณะ
 
โดยทั่วไป เมื่อรัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตามกฎหมายจับกุมบุคคลจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และตั้งข้อหาหนัก เช่น ข้อหายุยุงปลุกปั่น หรือข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จะมีการแถลงข่าวการจับกุมดำเนินคดี โดยทั่วไปรัฐบาลทหารไม่เคยห้ามปราม หรือปิดกั้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับการจับกุมดำเนินคดีต่อบุคคลที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อให้เรื่องราวของการลงโทษบุคคลถูกเผยแพร่ออกไป 
 
แต่ไม่เพียงแค่นั้น ตลอดเวลากว่า 3 ปี ในยุคของรัฐบาล คสช. เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่างผลัดเปลี่ยนกันออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงการขู่ว่าจะออกมาตรการต่างๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วหน่วยงานรัฐไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำเช่นนั้นเลย  ตัวอย่างเช่น 
 
1)  ช่วงบ่ายของวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 หลังการรัฐประหารได้ 6 วัน ระหว่างที่ยังมีการรวมตัวกันต่อต้านการรัฐประหารเป็นระยะๆ โดยการนัดหมายผ่านเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กดับไปเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ฝั่ง คสช. บอกว่า ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพให้ประชาชนรู้ว่า คสช. มีอำนาจทำเช่นนี้ได้ยังไม่อยากทำ (อ่านข่าวได้ที่นี่)
 
2) 6 มกราคม 2558 คณะรัฐมนตรีรับหลักการ ร่างกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล 10 ฉบับ ที่มีร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์รวมอยู่ด้วย ร่างกฎหมายนี้มีมาตรา 35 ให้อำนาจรัฐในการสอดส่องการสื่อสารทางออนไลน์ อีเมล์ จดหมาย โทรศัพท์ โทรสารได้ไม่จำกัด โดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งทำให้เกิดกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวาง สุดท้ายกฎหมายชุดนี้ 10 ฉบับ จึงถูกชะลอไว้ และค่อยๆ ดำเนินการพิจารณาผ่านไปแล้ว 8 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของหน่วยงานรัฐมากกว่า ส่วนพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย และยังไม่มีความเคลื่อนไหวว่า จะผ่านในเร็ววันนี้หรือไม่
 
3) กันยายน 2558 มีข่าวว่ารัฐพยายามจะสร้างระบบ Single Gateway เพื่อควบคุมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตไว้ในมือของรัฐ ทั้งที่ในความเป็นจริงทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะความสามารถทางเทโนโลยีและเงินลงทุนของประเทศไทยไม่ได้มีมากพอ และก็ต้องออกกฎหมายยึดคืนกิจการประตูผ่านของข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Gateway) ที่ปัจจุบันอยู่ในมือประชาชนอีกหลายแห่ง ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง หลังข่าวนี้เผยแพร่ออกไปเกิดกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวาง และประชาชนตื่นตัวมากว่า รัฐกำลังพยายามเข้ามาสอดส่องการสื่อสาร รวมทั้งปิดกั้นข้อมูลที่รัฐไม่ต้องการให้เผยแพร่
 
4) 8 มีนาคม 2560 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เสนอ กฎหมายจดทะเบียนสื่อ หรือ ชื่อเต็มว่า ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งกำหนดให้สื่อทุกสื่อต้องจดทะเบียนรวมทั้งสื่อออนไลน์และเฟซบุ๊กเพจ ซึ่งต้องขึ้นตรงต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ อยู่ภายใต้การกำกับทางด้านประมวลจริยธรรม หลังร่างกฎหมายนี้ออกมาก็เป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทย ต่อมามีการคัดค้านการองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และมีการแก้ไขร่างหลายครั้งให้ดีขึ้น โดยต้องพึงระลึกว่า สปท. เป็นองค์กรที่มีอำนาจเพียงการผลิตข้อเสนอแนะ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการออกกฎหมาย การจะออกเป็นกฎหมายมาบังคับใช้ได้จริง ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกหลายครั้ง ปัจจุบันร่างกฎหมายนี้ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณา 
 
5) 12 เมษายน 2560 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกประกาศกระทรวง ห้ามติดต่อกับบุคคลสามคนคือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ Andrew MacGregor Marshall โดยมีภาพประกาศเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ทำให้คนไม่กล้าเข้าไปดูข้อมูลที่บุคคลทั้งสามเผยแพร่ จนเกิดการตั้งคำถามว่าการเป็นเพื่อนกับบุคคลเหล่านี้ในเฟซบุ๊กผิดกฎหมายหรือไม่ ต่อมานาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงผู้ลงนามออกอากาศต้องออกมาชี้แจงด้วยตัวเองว่า ประกาศฉบับนี้ไม่มีผลทางกฎหมายใด 
 
6) พฤษภาคม 2560 มีตำรวจภาค1 ออกมาบอกว่า แม้จะจับกุมผู้โพสต์ข้อความผิดกฎหมายไม่ได้เพราะอยู่ต่างประเทศ แต่ต่อไปนี้จะจับตาคนที่เข้าไปดูโพสต์แทน ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า การเข้าไปอ่านข้อมูลไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด  
 
7) 8 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศระบบการจดทะเบียน OTT (Over the Top - บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต) เพื่อกำกับดูแลเนื้อหาออนไลน์ โดยสั่งให้ผู้ให้บริการ platform ออนไลน์ ทั้งยูทูป และเฟซบุ๊ก ต้องมาจดทะเบียนเพราะเห็นว่า การให้บริการเช่นนี้ถือเป็นกิจการกระจายเสียงแพร่ภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการตีความเองของ กสทช. จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์การจดทะเบียนและยังไม่มีการจดทะเบียน OTT เกิดขึ้นจริง ซึ่งเมื่อดูพ.ร.บ. ในส่วนที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกสทช. ก็ไม่มีเนื้อหามาตราใดให้อำนาจจัดสรรเนื้อหาในโลกออนไลน์ได้
 
8) 3 กรกฎาคม 2560 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ออกรายงานข้อเสนอ ให้จัดระบบการเข้าถึงสื่อออนไลน์ด้วยมาตรการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะระบบเติมเงินโดยให้ กสทช. ใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งข่าวนี้ก็โด่งดังเป็นที่พูดถึงกันทั่วไปในสังคมออนไลน์ ทั้งที่ เป็นเพียงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ สปท. เท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยที่ในทางปฏิบัติเครื่องมือทางเทคนิค และอำนาจตามกฎหมายก็ไม่มีมากเพียงพอที่จะทำได้
 
ผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพโดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้มีเวลามากพอที่จะติดตามทุกเรื่องที่เป็นข่าวไปจนสุดทาง ว่าสุดท้าย กฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพนั้นถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ และถูกนำไปบังคับใช้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่อย่างไร ผู้คนส่วนใหญ่เพียงสนใจติดตามข่าวสารเมื่อเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเท่านั้น และอาจจะไม่ได้มีเวลามากเพียงพอที่จะสำรวจลึกลงไปถึงอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกมาให้ข่าว หรือสำรวจตัวบทกฎหมายที่ให้อำนาจในการทำตามที่พูด
 
ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่ จึงจดจำได้เพียงว่า มีกฎหมายและมาตรการต่างๆ มากมาย ที่รัฐบาล คสช. พยายามจะนำมาบังคับใช้เพื่อควบคุมสื่อออนไลน์ ปิดกั้นความคิดเห็นแตกต่าง และเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของประชาชน โดยไม่ได้ติดตามอย่างถ่องแท้ว่า กฎหมายและมาตรการเหล่านั้นทำไม่ได้จริง
 
ความไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือความสับสนต่อมาตรการและอำนาจที่หน่วยงานรัฐกำลังใช้อยู่เช่นนี้ ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวขึ้นในสังคม เมื่อประชาชนไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า รัฐมีอำนาจทำอะไรได้บ้างหรือทำอะไรไม่ได้บ้าง ก็มีแนวโน้มที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อความปลอดภัยของตัวเองไว้ก่อนเป็นอันดับแรก และบรรยากาศเช่นนี้เองที่ทำให้การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ ในโลกออนไลน์ค่อยๆ หายไป ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลกว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและรุนแรง
 
หากรัฐบาล คสช. จงใจที่จะใช้วิธีการทางจิตวิทยา ให้ข่าวเพื่อสร้างกระแสข่มขู่ประชาชนเช่นนี้ ก็ต้องถื อว่า เป็นความสำเร็จในทางจิตวิทยา ที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ไม่ต้องจับกุมทุกคนที่แสดงความคิดเห็น และไม่ต้องเสียเวลาดำเนินคดี 
 
 
 
.....................
 
ขอบคุณภาพประกอบจาก ٭٭ NơƐണí ٭٭
 
ชนิดบทความ: