1424 1674 1850 1933 1782 1637 1379 1049 1179 1612 1470 1826 1689 1049 1268 1646 1137 1219 1080 1606 1478 1828 1976 1638 1964 1569 1815 1533 1340 1031 1184 1301 1997 1309 1672 1939 1157 1007 1643 1288 1896 1040 1250 1214 1155 1199 1923 1661 1021 1997 1885 1844 1702 1175 1496 1953 1320 1102 1566 1162 1562 1061 1863 1405 1693 1577 1337 1620 1272 1385 1259 1160 1329 1151 1579 1617 1675 1627 1401 1421 1433 1671 1419 1810 1086 1459 1531 1926 1883 1756 1389 1604 1051 1601 1262 1546 1019 1465 1508 ศาลทหารบราซิล: ส่วนผสมระหว่างพลเรือนและกองทัพ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ศาลทหารบราซิล: ส่วนผสมระหว่างพลเรือนและกองทัพ

รวบรวมและเรียบเรียง โดย เจเชนดร้า คารุนาคาเรน
 
 
หลังการรัฐประหารปี 1964 ของบราซิล รัฐบาลทหารได้ผ่านกฎหมายลิดรอนสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ต่อต้านและวิจารณ์รัฐบาลถูกนำขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งประกอบด้วยบุคคลากรทั้งจากฝ่ายพลเรือนและกองทัพทำงานร่วมกัน กลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ ยังสามารถเข้าถึงและจับตากระบวนการพิจารณาคดีและรณรงค์เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
 
 
602
ที่มาภาพ George Vale
 
บริบทการรัฐประหาร ค.ศ. 1964: ความพยายามของทหารในการ“ปกป้องรัฐธรรมนูญ”
 
ในปี 1964 รัฐบาลของประธานาธิบดีโจเอา กูลาร์ด (Joao Goulart) ถูกกองทัพยึดอำนาจเพื่อตอบโต้การแผ่ขยายอภิสิทธิ์ของฝ่ายบริหารและการโอนย้ายอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมาเป็นของรัฐ การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการชิงโจมตีรัฐบาลเพื่อจำกัดนโยบายของกูลาร์ด กองทัพกล่าวหาว่าประธานาธิบดีพยายามที่จะล้มล้างรัฐบาลที่มาจากรัฐธรมนูญ
 
นายพลโอลิมโป มัวเรา ฟิลโล (General Olympio Mourao Filho) เป็นผู้นำการรัฐประหารในวันที่ 1 เมษายน 1964 และยึดอำนาจรัฐบาลอย่างรวดเร็ว กองทัพอธิบายว่า การยึดอำนาจเป็นมาตราการป้องกันแผนของกูลาร์ด ที่หวังจะล้มรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญของบราซิลและสถานปนาตนเป็นผู้นำเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ตามแอนโทนี่ เปไรร่า อธิบายในความ(อ)ยุติธรรมทางการเมือง: ระบบอำนาจเบ็ดเสร็จและหลักนิติธรรมในบราซิล, ชิลี และอาร์เจนติน่าว่า กูลาร์ด ไม่เคยแสดงทีท่าเป็นเผด็จการ การยึดอำนาจครั้งนี้สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพียงการชิงลงมือก่อนของทหาร มากกว่าเป็นรัฐประหารแบบถอยหลังลงคลอง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทหารยังอ้างว่าได้ค้นพบเอกสารในเมืองมินาส เจอเรส  ที่เปิดโปงแผนการเข้าควบคุมรัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์
 
รัฐบาลทหารออกกฎหมาย AI-1, AI-2, และ AI-5 เป็นเครื่องมือเพื่อนิยามคดี “ภัยความมั่นคง” และปราบปรามศัตรูทางการเมือง
 
รัฐบาลทหารได้ออก  “ปฏิบัติการกวาดล้าง”  (Operacao Limpeza หรือ Operation Clean-Up) เพื่อดำเนินคดีบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล ประชาชนหลายหมื่นคนโดนกักตัว (ส่วนใหญ่ถูกกักตัวเป็นว่าเวลาสั้นๆ) ในจำนวนนั้นรวมถึงผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิตส์และผู้ที่คล้อยตาม (communist sympathizers) ที่สังกัดตามหน่วยงานของรัฐ บริษัทของรัฐ สหภาพแรงงาน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทหารบังคับใช้พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบัน (First Institutional Act) ฉบับที่ 1 หรือ AI-1 ที่ทำให้การกักตัวประชาชนชอบด้วยกฎหมาย AI-1 ซึ่งถูกร่างขึ้นโดยรัฐมนตรีและรัฐบาลเผด็จการทหาร ให้อำนาจจำกัดสิทธิทางการเมืองใครก็ได้เป็นเวลา 10 ปี และไล่ข้าราชการออก กฎหมายจำกัดอายุ AI-1 ให้ใช้เพียง 6 เดือนเท่านั้น
 
ตามที่แอนโทนี่ เปไรร่า ได้ระบุไว้ ระหว่างปี 1964 – 1973 รัฐบาลทหารจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งของประชาชนทั้งสิ้น 517 คน เจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้งถูกพักงาน 541 คน ข้าราชการกว่า 4,000 คน ผู้นำสหภาพแรงงานและแกนนำนักศึกษาหลายร้อยคนโดนกำจัด (purged)
 
เดือนตุลาคม ค.ศ. 1965 ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งสถาบัน ฉบับที่ 2 หรือ AI-2 ให้อำนาจหัวหน้าคณะรัฐบาลทหารประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อยับยั้งการบ่อนทำลายทางการเมือง AI-2 เป็นกฎหมายที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาบังคับใช้แบบ AI-1 ในช่วงที่การกดขี่ของรัฐบาลพุ่งสูงที่สุด ประชาชนประมาณ 50,000 ถูกจำคุกเพราะต่อต้านรัฐบาล และในขณะเดียวกัน ประชาชนอีกกว่า 20,000 อาจถูกทรมาน
ต่อมา AI-5 ถูกบังคับใช้เนื่องจากการเติบโตของขบวนการกองกำลังติดอาวุธฝ่ายซ้าย กฎหมายฉบับนี้อนุญาติให้ใช้อำนาจของสถาบันตุลาการ จัดการการกระทำที่เป็นภัยคุกคามกับรัฐบาล AI-5 ยกเลิกสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบ (habeas corpus) ในคดีความมั่นคงแห่งชาติ และอนุญาตให้ใช้คำสารภาพที่มาจากการทรมานในการดำเนินคดีผู้เห็นต่างได้
 
 
601
ที่มาภาพ André Gustavo Stumpf
 
ในศาลทหาร อัยการและนักกฎหมายเป็นพลเรือน และศาลชั้นสูงสุด คือ ศาลฎีกาของพลเรือน
 
ระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมทหารในบราซิลประกอบด้วยบุคคลากรจากฝ่ายพลเรือนและกองทัพ กองกำลังความมั่นคงจากกองทัพและฝ่ายตำรวจมีหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัย อัยการและทนายความของจำเลยเป็นพลเรือน ส่วนอัยการที่ทำงานในหน่วยงานของทหารจะถูกคัดเลือกโดยการสอบกฎหมาย ทนายความจะถูกแต่งตั้งโดยศาล ส่วนผู้พิพากษาพลเรือนทำหน้าที่ควบคู่กับเจ้าหน้าที่ทหาร เนื่องจากผู้พิพากษาพลเรือนมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมากกว่าประกอบกับวาระการดำรงตำแหน่งที่สั้นของตุลาการทหาร (3 เดือน) ทำให้ผู้พิพากษาพลเรือนมีอิทธิพลสูงกว่าในการตัดสินคดี องค์คณะของศาลประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร 4 คนและผู้พิพากษาพลเรือน 1 คน
 
ระบบศาลทหารของบราซิลจะมีระบบศาลกลาง (federal system) ที่ศาลทหารจะตั้งอยู่ในแต่ละเขตการดูแล ศาลของระบบกลางจะมี 12 เขต ซึ่งเขตอำนาจของศาลจะขึ้นอยู่กับเขตแดนของทหารในเขตนั้น ๆ ศาลเหล่านี้เรียกว่า CJM (Circunscricoes Judiciarias Militares) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศาลชั้นต้น ส่วนศาลทหารชั้นสูง (Superior Military Court (STM)) จะเป็นศาลอุทธรณ์ที่รับคดีจาก CJM ส่วนคดีที่ผ่านชั้นอุทธรณ์มาแล้วสามารถยื่นคำฟ้องฎีกาได้ที่ศาลฎีกาของพลเรือน หรือ STF ซึ่งเป็นศาลพลเรือนระดับสูงที่สุดในโครงสร้างระบบยุติธรรม
 
ภาคประชาสังคม เช่น เนติบัณฑิตยสภาแห่งบราซิล (Brazilian Bar Association หรือ Ordem dos Advogados do Brasil) คณะกรรมการเพื่อสันติภาพ (CJP หรือ Cimssao de Justica e Paz) และคณะกรรมการเพื่อการนิรโทษกรรม (CBAs หรือ Comites Brasileiros pela Anistia) เป็นกลุ่มที่เฝ้าระวังและจับตาการตัดสินคดีของศาลและกดดันรัฐบาลทหารให้เกิดการปฏิรูป
ศาลทหารจะไม่สืบสวนหรือดำเนินคดีข้อหาการทรมานนักโทษ โดยเฉพาะช่วงปี 1968 - 1974 ผู้พิพากษาอาจจะถูกไล่ออกหากมีการสืบสวนเรื่องดังกล่าว 
 
Vannucchi Leme ศึกษาคดีจำนวน 202 คดีที่จำเลยมาจากกลุ่มกองโจร ที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติ (Acao Libertador Nacional หรือ National Liberation Action) จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 60.89 ของคดีทั้งหมด ศาลทหารตัดสินให้จำเลยมีความผิด อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีไปถึงศาลชั้นอุทธรณ์ (STM) ร้อยละ 88.48 ของคดีในชั้นนี้ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิด จะเห็นได้ว่าศาลทหารชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเสมอต้นเสมอปลายเป็นอย่างมากเพราะศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนมากยึดคำตัดสินตามศาลชั้นต้น 
 
ในศาลชั้นสูงสุดนั้น คดีจะไปอยู่ที่ศาลฎีกา ที่เป็นศาลสำหรับพลเรือนทั่วไปและดำเนินงานคดีโดยสำนักงานอัยการพลเรือน (Procurodoria Geral da Republica) จากกลุ่มตัวอย่างที่ระบุข้างต้น ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยมีความผิดเป็นร้อยละ 66.66 ของคดีทั้งหมด ศาลฎีกามีอัตราการตัดสินให้จำเลยมีความผิดต่ำกว่า ชี้ให้เห็นว่าศาลฎีกามีความเป็นอิสระในการทำงานมากกว่าศาลชั้นอุทธรณ์และศาลชั้นต้น
 
สิทธิขั้นพื้นฐานยังมีความหมาย ยิ่งศาลระดับสูง อัตรายกฟ้องก็ยิ่งมากขึ้น
 
จำเลย 7,367 รายยื่นอุทธรณ์กับ STM ร้อยละ 42 ของคดีในศาลทั้งหมดเป็นข้อหาการเป็นสมาชิกในองค์กรที่ผิดกฎหมาย นอกจากนั้น ร้อยละ 11.7 เป็นข้อหาการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ดังนั้น มากกว่าครึ่งของคดีที่อยู่ในศาลจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับการเป็นสมาชิกหรือการเข้าร่วมในกลุ่มที่ต้องการ“ล้ม”รัฐบาล ร้อยละ 12.7 เป็นคดีเกี่ยวกับการแสดงออกความคิดเชิง “บ่อนทำลาย” แต่คดีที่เกี่ยวกับการก่อความรุนแรงและการใช้อาวุธมีเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้น ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าศาลทหารถูกใช้เพื่อปราบปรามขบวนการฝั่งตรงข้ามและควบคุมเสียงวิพากษณ์วิจารณ์ทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
 
อย่างไรก็ตาม ศาลทหารในบราซิลก็มีอัตราการยกฟ้องสูง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าศาลยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนว่ามีคุณค่ากว่า การปิดกั้นจากรัฐบาล ข้อมูลจากแอโทนี่ เปไรร่า เผยว่าจากกลุ่มตัวอย่าง 257 คดี จำเลยรวมกัน 2,109 คน ศาลทหารชั้นต้นยกฟ้องร้อยละ 54 ของคดีทั้งหมด ในชั้นอุทธรณ์ กลุ่มตัวอย่าง 40 คดี มีอัตราการยกฟ้องสูงถึงประมาณร้อยละ 60 ในขณะเดียวกันคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในศาลชั้นต้น (ซึ่งเป็นคดีส่วนใหญ่) มีอัตราการยกฟ้องสูงถึงร้อยละ 57 คดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงมีอัตราการยกฟ้องร้อยละ 46 จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าศาลอะลุ่มอล่วยกับคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงออก นอกจากนั้น ในศาล STM อัตราการยกฟ้องคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงสูงถึงร้อยละ 73 คดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงมีอัตราการยกฟ้องร้อยละ 46 จากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว กลุ่มคดีที่ได้รับการยกฟ้องมากที่สุดคือคดีโฆษณาชวนเชื่อให้บ่อนทำลายรัฐบาล คดีเกี่ยวกับกิจกรรมของสหภาพแรงงาน และ ความผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งคดีเหล่านี้รวมกันนับเป็นสัดส่วนสามในสี่ของกลุ่มตัวอย่างคดีทั้งหมด สังเกตได้จากสถิติตามตาราง
 
600
 
จากกลุ่มตัวอย่างของ Perreira อัตราการยกฟ้องจะแตกต่างกันในแต่ละรัฐซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจเพราะบราซิลมีระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ (federal system) เมืองที่ใหญ่และมีประชากรมากอย่างเช่น ริโอเดอจาเนโร่ หรือ เซาเปาโล มีอัตราการยกฟ้องใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ส่วนศาลทหารในเมืองอื่น ๆ  เช่น ปารานา, บาเฮียม และ เปอร์นัมบูโช มีอัตราการยกฟ้องน้อยที่สุด ในขณะที่เมือง ปารา, เซียร่า และริโอแกรนโดซูล มีอัตราการยกฟ้องสูงที่สุด แต่ข้อยกเว้นเดียวคือความผิดฐานเป็นสมาชิกในองค์กรที่ “เป็นภัยคุกคาม” 
 
การพิพากษาจำคุกนักโทษการเมืองจากกลุ่มตัวอย่างของ Perreira 246 คดีจำเลย 1,830 คน พบว่าโทษจำคุกเฉลี่ยนั้นต่ำกว่า 4 ปี ในตารางที่ 4 ประมาณร้อยละ 63 ของจำเลยในศาลชั้นต้นได้รับโทษจำคุกสี่ปีหรือน้อยกว่านั้น ร้อยละ 12.48 ได้รับโทษจำคุกสิบปีหรือมากกว่า และถึงแม้ว่าศาลสามารถตัดสินประหารชีวิตได้ กลับไม่มีการตัดสินประหารชีวิตเกิดขึ้น
 
ระยะเวลาของโทษจำคุกที่ศาลทหารตัดสินก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาค โทษจำคุกโดยเฉลี่ยในเมืองมาโตกรอซโซ่ จะอยู่ที่ 8 ปี  เมืองเบโล ฮอริซอนเต้ อยู่ที่ 10 ปี เมืองปารา อยู่ที่ 6 เดือนและเมืองบราซิเลีย น้อยกว่า 1 ปี ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างคือในเมืองที่มีอัตราการยกฟ้องสูง อัตราโทษจำคุกจะต่ำ อย่างเช่นเมืองริโอแกรนโดซูล 
 
สิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับกฎหมายในยุคเผด็จการของบราซิล คือ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ยังคงมีให้เห็นได้บ้างในการพิจารณาคดีของศาลทหาร ประชาชนธรรมดาถูกนำขึ้นศาลนี้แต่ว่าสาธารณชนยังสามารถมีส่วนร่วมในการคัดค้านคำตัดสินได้ จะเห็นได้จากกรณีของ ทีโอโดมิโร โรเมโร่ ดอส ซานโต๊ส (Teodomiro Romeiro dos Santos) ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิวัติแห่งบราซิล (PCBR หรือ Partido Comunits Brasileiro Revolucionario) ซานโต๊สถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 1971 ฐานฆาตกรรมนายจ่าอากาศคนหนึ่ง คดีนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งสื่อมวลชนในบราซิล บุคคลทางสังคมต่างๆ เช่น นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อดีตประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงอาร์ชบิชอบแห่งซัลวาดอร์ (Salvador) และหนังสือพิมพ์จัวนัล โด บราซิล (Jornal do Brasil) เสียงวิพากษ์จากสาธารณชนก่อให้เกิดผลอย่างมากต่อคำตัดสินของคดีนี้เพราะเมื่อคดีไปถึงชั้นอุทธรณ์ ศาลได้ลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อศาลฎีกาของพลเรือนตัดสินคดี โทษของ ซานโต๊สลดเหลือเพียงจำคุก 30 ปี
 
 
 
............................................
หมายเหตุ ข้อมูล และ ตารางในบทความนี้นำมาจาก หนังสือ ความ(อ)ยุติธรรมทางการเมือง: ระบบอำนาจเบ็ดเสร็จและหลักนิติธรรมในบราซิล, ชิลี และอาร์เจนติน่า เขียนโดยแอนโทนี่ เปไรร่า
(N.B.: The information, data sets and tables are obtained from Anthony W. Pereira’s book Political (in) justice: authoritarianism and the rule of law in Brazil, Chile, and Argentina). 
 
 
 
ชนิดบทความ: