- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
นัดฟังคำพิพากษา คดีม.112 เดือนพฤศจิกายน 2566
เข้าสู่ปลายปี 2566 คดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ทยอยพิจารณาเสร็จในชั้นศาลและมีผลคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวคำพิพากษาที่หลากหลายทั้ง ยกฟ้อง ลงโทษ และรอลงอาญา ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีคดี 112 ที่กำลังจะพิพากษาอย่างน้อย 7 คดี ดังนี้
6 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. ธนกร ณ ศาลเยาวชนกลาง (หมายเลขคดี ยชอ.109/2564)
ธนกร หรือ เพชร ถูกฟ้องจากกรณีเข้าร่วมการชุมนุมวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่ลานพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ซึ่งเพชรได้ร่วมกล่าวปราศรัยในการชุมนุมครั้งนั้นด้วย คดีนี้ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้อ่านคำพิพากษา ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ศาลได้ใช้เงื่อนไขของคดีเยาวชรสั่งให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติแทน และให้ประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์ โดยวางหลักทรัพย์ประกันตัวไว้ 30,000 บาท จนกระทั่งมีวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566
อ่านเรื่องราวคดีของธนกร ในศาลชั้นต้นได้ที่ : https://tlhr2014.com/archives/50825 หรือ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/964
7 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. “พอล” ศาลจังหวัดกำแพงเพชร (หมายเลขคดี อ.1605/2566)
“พอล” (นามสมมติ) ชายหนุ่มวัย 31 ปี จากจังหวัดลพบุรี ถูกกล่าวหาจากกรณีแชร์โพสต์บนเฟสบุ๊กเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 3 ข้อความในปี 2564 ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยคดีนี้มีนายฤทธิชัย คชฤทธิ์ ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน เป็นผู้ริเริ่มคดีโดยกล่าวโทษไว้ที่ สภ.ขาณุวรลักษณ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เขาต้องเดินทางไปฟังคำพิพากษาตามนัดที่ ศาลจังหวัดกำแพงเพชร
อ่านเรื่องราวของ “พอล” ได้ที่เพิ่มเติม : https://tlhr2014.com/archives/58637
8 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. ณัฐชนน ไพโรจน์ ศาลจังหวัดธัญบุรี (หมายเลขคดี อ.212/2565)
ณัฐชนน ไพโรจน์ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ จากกรณีที่ตำรวจตรวจค้นรถขนของและยึดหนังสือ "ปกแดง" ซึ่งมีเนื้อหาถอดจากการปราศรัยในการชุมนุมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเช้าวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าณัฐชนนเป็นผู้ครอบครองหนังสือปกแดง ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เขาต้องเดินทางเข้าฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี
อ่านเรื่องราวของ ณัฐชนน เพิ่มเติมได้ที่ : https://freedom.ilaw.or.th/th/case/920 หรือ https://tlhr2014.com/archives/39760
20 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. กิติวงค์ ศาลอาญารัชดา (หมายเลขคดีที่ อ.1853/2565)
กิติวงค์ เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คคดีของเขากำลังจะมีคำพิพากษาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลอาญารัชดา
21 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. “ปุญญพัฒน์” ศาลจังหวัดสมุทรปราการ (หมายเลขคดีที่ อ.803/2564)
“ปุญญพัฒน์” (นามสมมติ) ถูกกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากกรณีโพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊คลงกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส - ตลาดหลวง” จำนวน 4 ข้อความ ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ปี (จาก 4 กรรม กรรมละ 3 ปี) แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษเหลือโทษจำคุก 4 ปี 24 เดือน ศาลให้ประกันตัวเพื่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์รวม 225,000 บาท โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
อ่านเรื่องราวของ “ปุญญพัฒน์” เพิ่มเติมได้ที่ : https://tlhr2014.com/archives/44974
28 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. “นคร” ศาลจังหวัดสมุทรปราการ (คดีหมายเลขดำ อ.1114/2564)
“นคร” (นามสมมติ) ถูกกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์ข้อความทางเฟสบุ๊กจากเพจ “KonthaiUk” ขณะเป็นนักศึกษาอยู่ที่เชียงราย ซึ่งเขาต้องเดินทางมาที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดี
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ยกฟ้อง ในกรณีของ “นคร” ในวันที่ 25 มกราคม 2566 และในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เขาต้องเดินทางไปศาลจังหวัดสมุทรปราการอีกครั้งเพื่อฟังคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์
อ่านเรื่องราวของ “นคร” เพิ่มเติมได้ที่ : https://database.tlhr2014.com/public/case/1821/lawsuit/605/ หรือ https://freedom.ilaw.or.th/node/997
30 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. “โชติช่วง” ศาลจังหวัดนนทบุรี (หมายเลขคดีดำ อ.144/2565)
“โชติช่วง” (นามสมมติ) ชาวนนทบุรีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217 และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 จากกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 คดีของเขามีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี
อ่านเรื่องราวของ “โชติช่วง” เพิ่มเติมได้ที่ : https://tlhr2014.com/archives/40557
คดีมาตรา 112 จำนวนกว่า 200 คดีที่ถูกริเริ่มขึ้นจากกระแสข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2563-2564 กำลังทยอยเดินทางมาถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา ทุกคนสามารถร่วมกันแสดงออกถึงความเป็นส่วนหนึ่งกับจำเลยทุกคดีได้ด้วยการผูกโบว์ขาวเป็นสัญลักษณ์ในวันที่มีนัดอ่านคำพิพากษา และสามารถเข้าร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาได้ที่ศาลต่างๆ ตามวันและเวลาที่มีการนัดหมาย เพื่อให้คนที่กำลังเผชิญหน้ากับคำตัดสินอยู่ได้รู้ว่าในหนทางที่ยาวไกลของการต่อสู้ เขาไม่ได้เดินอยู่ลำพัง