1220 1471 1809 1385 1604 1548 1881 1753 1907 1362 1532 1759 1166 1549 1325 1250 1779 1367 1173 1046 1916 1543 1787 1102 1134 1630 1014 1609 1336 1682 1510 1207 1654 1877 1326 1605 1517 1038 1444 1997 1606 1246 1013 1801 1013 1011 1416 1812 1793 1897 1611 1362 1650 1431 1542 1673 1053 1768 1774 1417 1052 1309 1647 1537 1809 1559 1937 1548 1322 1680 1406 1011 1271 1527 1348 1831 1372 1869 1261 1458 1841 1490 1939 1363 1016 1123 1396 1883 1915 1712 1354 1664 1683 1745 1939 1014 1220 1555 1543 "ธเนศ" : เสียงกระซิบที่ข้างหู | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

"ธเนศ" : เสียงกระซิบที่ข้างหู

คดีมาตรา 112 ของ "ธเนศ" (นามสมมติ) ไม่ใช่คดีการเมืองใหญ่โตและไม่เป็นที่รู้จักมากนัก "ธเนศ" เป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคม หรือมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์นัก
 
"ธเนศ" ถูกทหารและตำรวจบุกไปจับที่บ้านในเวลาเช้ามืด ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 เขาถูกกล่าวหาว่า เขาเป็นคนส่งอีเมลไปยังผู้รับ 1 คนในปี 2553 อีเมลนั้นมีลิงก์ไปยัง sanamluang.blogspot ซึ่งมีข้อความผิดมาตรา 112 (คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) อยู่ในลิงก์ 
 
"ธเนศ" ถูกจับอย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครรู้จัก ครอบครัวทราบว่าเขาถูกจับ แต่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายและคดีความ จึงไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร เมื่อ "ธเนศ" ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ นักโทษคดีมาตรา 112 ที่อยู่ในนั้นก่อนแล้วพบกับเขา และบอกเล่าเรื่องราวของเขาออกมาข้างนอกเพื่อให้มีคนเข้าไปช่วยเหลือ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ส่งทนายความเข้าไปเยี่ยม "ธเนศ" ในเรือนจำ และได้ฟังเรื่องราวจากปากของเจ้าตัว เขารับสารภาพว่าเป็นคนส่งอีเมลจริง แต่ที่ทำไปเพราะได้ยินเสียงแว่วอยู่ในหูตลอดว่าให้ส่งอีเมลเพื่อช่วยคนเสื้อแดง จนปัจจุบันนี้เสียงแว่วก็ยังคงดังอยู่ และ เขายังบอกกับทุกคนที่เขาคุยด้วยว่า ตลอดช่วงเวลา 20-30 ปีในชีวิตของเขา เขาถูกกลั่นแกล้งโดยข้าราชบริพารของราชสำนักมาโดยตลอด เช่น เมื่อขี่จักรยานไปที่ไหนก็จะมีคนเอาก้อนหินมาวางขวางทาง หรือเมื่อย้ายที่พักข้างห้องก็จะเคาะฝาห้องเสียงดัง หรือเมื่อย้ายที่ทำงานก็จะถูกยุแหย่ให้คนที่ทำงานไม่ชอบหน้า หรือเคยถูกคนขโมยของ และรู้สึกเหมือนถูกจับจ้องมอง ถูกคิดร้ายอยู่ตลอดเวลา
 
"ธเนศ" ไม่เคยเข้ารับการตรวจอาการทางจิต ไม่เคยยอมไปหาหมอ เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นกับเขาจริงๆ ทนายความและครอบครัวใช้เวลาเกลี้ยกล่อมอยู่นานกว่า "ธเนศ" จะยอมไปพบพยาบาลที่ห้องพยาบาลในเรือนจำ แต่ก็ตรวจไม่พบอาการ ทนายความจึงทำหนังสือขอให้เรือนจำส่งตัว "ธเนศ" ไปตรวจเป็นกรณีพิเศษ
 
144 Tanet
 
 
เป็นเวลากว่า 4 เดือนที่ "ธเนศ" ถูกคุมขังระหว่างเฝ้ารอแพทย์ที่จะมายืนยันว่าเขาป่วย และเฝ้ารอการประกันตัว เขาถูกส่งไปตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์หลายครั้ง แต่แพทย์ก็ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมาร่วมกันวินิจฉัย กว่าจะสรุปผลออกมาได้ จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 รายงานสรุปผลจึงออกมาว่า "ป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง (F20.0 Paranoid Schizophrenia) และมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย ปัจจุบันสามารถต่อสู้คดีได้"
 
วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ศาลนัดพร้อมคดีนี้ พ่อ แม่ และพี่สาว "ธเนศ" เดินทางมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อมาให้กำลังใจ แต่ศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับทำให้ทุกคนได้แต่นั่งรออยู่หน้าห้อง ทนายความยื่นผลการตรวจรักษาต่อศาล และแถลงขอให้ศาลยกฟ้อง เนื่องจากจำเลยมีอาการป่วย กระทำการไปโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ศาลทราบผลการตรวจแล้วแต่โจทก์คัดค้าน จึงต้องมีการนัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษา และพนักงานสอบสวนประกอบด้วย
 
ก่อนถูกจับ "ธเนศ" เปิดเว็บไซต์ขายของทางอินเทอร์เน็ต อยู่กับพี่สาวที่บ้านในจังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ถูกจับถูกเจ้าหน้าที่ยึดสมุดบัญชีธนาคารซึ่งมีเงินอยู่ 80,000 บาทไปด้วย หลังถูกจับกุมตัว ตั้งข้อกล่าวหา ก็ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาตลอด จนกระทั่งวันที่ไปขึ้นศาลแม้จะมีใบรับรองแพทย์ยืนยันอาการป่วยแล้ว แต่ "ธเนศ" ก็ยังไม่มีเงินพอสำหรับการยื่นประกันตัว ในวันนั้นครอบครัวมีเงินติดตัวรวมกันได้ 10,000 บาท "ธเนศ" ขอร้องให้พี่สาวใช้เงิน 10,000 บาทซื้อหลักทรัพย์สำหรับการยื่นประกันตัว แต่บริษัทประกันบอกว่าเงิน 10,000 บาทนั้นไม่พอ หากยื่นไปก็เสียเวลาเปล่าๆ จึงไม่ยอมรับดำเนินการให้
 
8 ธันวาคม 2557 พี่สาวของ "ธเนศ" ติดต่อขอสมุดบัญชีที่ถูกยึดไปคืนจากตำรวจเพื่อเบิกเงิน 80,000 บาทออกมา และทำสัญญายืมเงินจากผู้ใจบุญและต้องการช่วยเหลืออีก 120,000 บาท รวมได้ 200,000 บาท เพื่อยื่นประกันตัวต่อศาลอาญาพร้อมใบรับรองแพทย์
 
 
ในวันเดียวกันศาลอาญามีคำสั่ง ไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพ รายงานผลการตรวจรักษา พบว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง แต่สามารถต่อสู้คดีได้ หากการเจ็บป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงถึงขั้นที่สถานคุมขังจะดูแลความปลอดภัยแก่ชีวิตของจำเลยได้แล้ว ย่อมต้องดำเนินการส่งตัวจำเลยให้แพทย์ทำการรักษาในขั้นตอนตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ต่อไป 
 
ทั้งที่ก่อนหน้านี้คดีมาตรา 112 ที่จำเลยกระทำความผิดไปเพราะมีอาการทางจิต อย่างน้อยสองคดี คือคดีของบัณฑิต และคดีของฐิตินันท์
ศาลก็อนุญาตให้จำเลยได้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิต ก็พิพากษาให้ส่งตัวไปรักษา และรอการลงโทษจำคุกไว้
 
หลายวันต่อมาทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืน ไม่ให้ประกันตัว
 
"ธเนศ" ทราบข่าวผลคำสั่งเป็นคนสุดท้าย ความหวังว่าจะได้มีอิสรภาพตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมาสูญสลายไปโดยที่เขาไม่เข้าใจ เพื่อนนักโทษเล่าว่าหลังจากนั้น "ธเนศ" เลิกทานยารักษาอาการที่ได้รับจากสถาบันกัลยาณ์ฯ เพราะฤทธิ์ยาทำให้ง่วงซึมและทานอาหารไม่ได้ เขาเลือกที่จะทนฟังเสียงในหูที่คอยมาบอกให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเวลาได้ยินเสียงในหู "ธเนศ" มักจะใช้วิธีบ่นพึมพำเหมือนสวดมนต์กับพระเจ้าของเขาอยู่อย่างลำพัง 
 
พี่สาวของ "ธเนศ" กล่าวกับทนายความว่า ที่ผ่านมาได้พยายามกันเต็มที่แล้ว เมื่อไม่ได้ประกันตัวก็เข้าใจว่าคงจะทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว ต้องรอวันพิจารณาคดีที่จะถึงอย่างเดียว 
 
ปัจจุบัน "ธเนศ" ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ศาลนัดพร้อมวันที่ 23 มีนาคม 2558 และนัดสืบพยาน คือ ผู้กล่าวหา พนักงานสอบสวน และแพทย์ผู้ตรวจรักษา วันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีโดยลับ ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าฟังไม่ได้
 

หากเรื่องราวนี้ทำให้คุณอยากรู้รายละเอียดของคดี คลิกที่นี่ เพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูลของเรา

ชนิดบทความ: