1516 1847 1087 1124 1593 1828 1823 1072 1058 1028 1710 1652 1834 1482 1055 1740 1930 1469 1974 1012 1758 1234 1277 1478 1411 1384 1623 1285 1389 1668 1572 1016 1995 1519 1078 1534 1371 1417 1074 1985 1402 1607 1403 1481 1659 1237 1557 1733 1739 1519 1783 1655 1822 1802 1968 1382 1154 1394 1881 1349 1023 1770 1840 1130 1754 1397 1703 1690 1124 1421 1277 1461 1793 1989 1730 1213 1925 1333 1485 1344 1112 1776 1793 1340 1957 1008 1564 1667 1324 1030 1994 1806 1226 1684 1602 1952 1769 1531 1192 คุยกับประวิตร โรจนพฤกษ์ เรื่องเสรีภาพของการพูดคุย ในยุคที่ คสช. "อำพราง" การปิดกั้นด้วยกฎหมาย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คุยกับประวิตร โรจนพฤกษ์ เรื่องเสรีภาพของการพูดคุย ในยุคที่ คสช. "อำพราง" การปิดกั้นด้วยกฎหมาย

 

จะมีสักกี่คนที่ยอมเสียสละอะไรบางอย่างเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น?
 
คนหนึ่งที่จะ ตอบอย่างชัดเจนว่า "ยอม" คือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านการวิเคราะห์วิจารณ์ ประวิตรทำงานเป็นนักข่าวในประเทศไทยมาเกือบ 30 ปี ซึ่งลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของเขาก็ทำให้มีทั้งคนที่รักและคนที่ชัง ประวิตรทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษแถวหน้าอย่าง เดอะ เนชั่น (The Nation) กว่า 23 ปี แต่ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีแนวทางเสรีนิยม ประวิตรยังมีชื่อเสียงจากการใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองวิจารณ์รัฐบาลทหาร โดยเฉพาะบนทวิตเตอร์ ในยุคของ คสช. ประวิตรถูกเรียกเข้าไปกักตัวในค่ายทหาร ผ่านกระบวนการ "ปรับทัศนคติ" แล้ว 2 รอบ  และแรงกดดันจากการถูกควบคุมตัวก็ทำให้เขาลาออกจากเดอะ เนชั่น
 
แต่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องของประวิตรก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครเห็นคุณค่า เพราะเขาเพิ่งได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อสากล จากคณะกรรมการปกป้องนักข่าว ในปีนี้  (2017 International Press Freedom Award by the Committee to Protect Journalists) และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 เขาก็เพิ่งถูกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตั้งข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ตามมาตรา 116 และผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กจากการวิจารณ์คสช. บนเฟซบุ๊ก ทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการปิดกั้นผู้เห็นต่าง โดยก่อนหน้านี้ มีอย่างน้อย 65 คน ที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น แยกเป็น 25 คดี
 
ก่อนไปรับทราบข้อกล่าวหา ที่ ปอท. ไอลอว์ได้พูดคุยกับประวิตรแบบลึกๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวต่อสู้คดีของเขา และมุมมองต่อการปิดกั้นที่เขาและนักข่าวกำลังเผชิญอยู่ แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาต้องเล่นบทบาทเช่นนี้ และความเชื่ออย่างไม่สั่นคลอนของเขาต่อหลักเสรีภาพในการแสดงออก
 
 
730
 
 
ถูกตั้งข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 5 กรรม ช่วยอธิบายคดีนี้เพิ่มอีกหน่อย
 
หลังจากได้ประชุมร่วมกับททนายความจากศูนย์ทนายควาเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อเตรียมตัวไปพับกับ ปอท. เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ เป็นหัวหน้าทีมกฎหมายของผม ตอนแรกเราประเมินโทษสูงสุดที่ผมอาจจะได้รับ คือ จำคุก 60 ปี แต่เราก็มาสรุปตอนหลังว่า มันแค่ 20 ปี เท่านั้น เพราะว่า ข้อหายุยุงปลุกปั่นมีอัตราโทษสูงสุด 7 ปี เมื่อรวม 5 กรรม ก็เป็นโทษสูงสุด 35 ปี และตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อัตราโทษสูงสุด 5 ปี รวมเป็น 25 ปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) กำหนดว่า หากข้อหาที่มีโทษหนักสุดไม่เกิน 10 ปี เมื่อรวมทุกกรรมแล้วจะต้องรับโทษไม่เกิน 20 ปี
 
ผมจะไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สำนักงานของ ปอท. และจะให้การว่าผมไม่ได้กระทำความผิด หลังจากนั้นทีมกฎหมายจะมีเวลา 30 วันเพื่อยื่นคำให้การชี้แจงต่อตำรวจเป็นเอกสาร ตำรวจจะมีเวลา 2 สัปดาห์เพื่อตัดสินใจว่า จะส่งคดีนี้ต่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดหรือไม่ หลังจากนั้น อัยการมีเวลาอีกหนึ่งเดือนที่จะตัดสินใจว่าจะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ ซึ่งหากส่งฟ้อง ผมก็จะกลายเป็นจำเลย
 
ความรู้สึก และความคิด ตอนนี้เป็นอย่างไร?
 
ผมรู้สึกผ่อนคลายลงบ้างในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เพราะตอนแรกผมตื่นตกใจอยู่กับความเป็นไปได้ที่จะต้องไปใช้ชีวิตอยู่หลังลูกกรงเป็นเวลา 60 ปี ความผ่อนคลายอีกอย่างหนึ่งมาจาก การที่ได้รู้ว่า หากคดีขึ้นสู่ศาล ก็จะเป็นศาลอาญาของพลเรือน ไม่ใช่ศาลทหาร เพราะไม่นานมานี้ผมเห็นมาหลายคดีที่ต้องถูกพิจารณาที่ศาลทหาร
 
ผมถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งที่งานของผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับพวกเขาเลย 
 
ที่น่ากังวลใจคือ ไม่มีนักกฎหมายคนไหนรู้เลยว่า แนวทางคำพิพากษาในคดียุยงปลุกปั่นเป็นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่า มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะหาข้อมูลเรื่องนี้ เพราะจำเลยอีกหลายคนก็จะได้รับประโยชน์ด้วย มันเป็นไปได้อย่างไรที่สองปีที่่ผ่านมา มีคนหลายสิบถูกตั้งข้อหานี้ แต่เรากลับยังไม่รู้บรรทัดฐานของศาลที่ชัดเจน ยังมีคนบอกผมมาว่า มีคดีที่ใกล้เคียงกับผมที่ศาลตัดสินให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี จากการประกาศให้ภาคเหนือเป็นรัฐอิสระ นั่นก็อาจจะเป็นผลลัพธ์ในแง่ร้ายที่สุดที่ผมอาจจะได้รับ
 
อีกเหตุผลหนึ่งที่รู้สึกผ่อนคลายลง เพราะมาตรา 116 ไม่ได้กำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้ ซึ่งหมายความว่า ผมอาจจะถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนก็ได้ และภายใต้กฎหมายของไทย เมื่อรวมโทศจำคุกแล้วไม่เกิน 5 ปี ศาลก็อาจจะให้รอลงอาญาได้ ถ้าผมได้รอลงอาญา ก็ยังอาจจะเป็นผลลัพธ์ที่ดีสำหรับผม
 
 
รัฐบาลได้กล่าวอะไรเกี่ยวกับการตั้งข้อหาครั้งนี้หรือเปล่า แล้วคิดยังไงกับมัน?
 
สำนักข่าวรอยเตอร์ สัมภาษณ์ พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค โฆษกของ คสช. ซึ่งเขากล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่หากขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่ ก็ต้องถูกดำเนินการ
 
การกล่าวอย่างนี้ ผมคิดว่า มันเป็นการ "อำพราง" การปิดกั้นคนเห็นต่างด้วยกฎหมาย คสช. ถอยหลังมาก้าวหนึ่ง ไม่ใช้อำนาจทหารเข้ามาปิดกั้นโดยตรงแต่ใช้อำนาจผ่านตำรวจ ปอท. และอ้างอิงบทกฎหมายต่างๆ ในประมวลกฎหมายอาญา การปิดกั้นแบบนี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ และทหารก็อาจจะรู้สึกสบายตัวกว่าเมื่อต้องพูดว่า ไม่ได้กำลังปิดกั้นความเห็นต่าง วิธีการแบบนี้เหมือนกับที่ทหารเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ตัวเองยังคงรักษาฐานอำนาจไว้ได้ที่วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด
 
ค่อนข้างชัดเจนว่า สำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ทั่วๆ ไป ก็จะได้รับผลกระทบจากกระแสความหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีที่แผ่กว้างออกไป
 
 
วิจารณ์รัฐบาลทหารมาตลอด คิดทำไม คสช. ถึงเลือกมาตั้งข้อหาในช่วงเวลานี้?
 
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับผม ตอนที่ผมถูกควบคุมตัวครั้งที่สอง ทหารขู่ไว้ว่า จะตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นต่อผม และเอาผมขึ้นศาลทหาร แต่วันนั้น คสช. ก็ตัดสินใจวินาทีสุดท้ายที่จะยังไม่ดำเนินคดี พวกเขาใช้คำอธิบายเปรียบเทียบการขู่ผมกับการเล่นฟุตบอลว่า ตอนที่ผมถูกควบคุมตัวครั้งแรก เป็นการได้ "ใบเหลือง" ส่วนครั้งที่สองนั้นแปลกหน่อยเพราะพวกเขาเรียกมันว่า "ใบชมพู" ที่ถูกตั้งข้อหาครั้งนี้ก็คงเป็น "ใบแดง"
 
 
คิดว่า การถูกตั้งข้อหาครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลที่จะปรามการแสดงความคิดเห็นต่อคดีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือเปล่า?
 
จังหวะเวลาของคดีนี้มันเกิดขึ้นก่อนการอ่านคำพิพากษาในคดีของยิ่งลักษณ์พอดี จนถึงตอนนี้ ผมยังไม่อาจรู้ได้เลยว่า โพสต์ไหนของผมที่มีเนื้อหา "ยุยงปลุกปั่น" เท่าที่จะเดาได้ก็ คือ โพสต์ที่ผมเขียนเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของยิ่งลักษณ์ ผมเขียนเกี่ยวกับว่า เฟซบุ๊กของยิ่งลักษณ์มีคนติดตาม 6 ล้านคน และผมก็สงสัยว่า จะมีสักกี่คนที่จะมาร่วมในวันฟังคำพิพากษา 25 สิงหาคม ซึ่งผมก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่า มันเป็นการยุยงปลุกปั่นอย่างไร ไม่น่าเป็นไปได้เลยที่ผมจะถูกตั้งข้อหาว่า ปลุกระดมให้คนออกมาชุมนุมบนท้องถนน ผมไม่ใช่ผู้สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ด้วยซ้ำ ผมเลยยิ่งไม่รู้ว่า ทำไมผมถูกเหมารวมมาเกี่ยวข้องกับคดีของยิ่งลักษณ์ด้วย
 
 
คิดว่า การถูกดำเนินคดีจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนอย่างไรบ้าง? 
 
ก็ตอนนี้ เวลาที่ผมจะใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ต้องถูกแย่งเอามาสำหรับการไปเข้ากระบวนการของกฎหมาย และก็ไปคุยกับสื่อต่างๆ รวมถึงที่ให้สัมภาษณ์อยู่นี้ด้วย! ดังนั้น นี่เป็นสิ่งแรกเลยที่จะถูกพรากไปจากชีวิตผม แม้ว่าคดีจะไม่ต้องไปถึงศาล ผมก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนข้างหน้าไปกับการเตรียมต่อสู้คดีอยู่ดี
 
ข้อสอง เป็นเรื่องค่อนข้างส่วนตัว คือ คดีนี้จะทำให้ความตึงเครียดของผมกับพ่อของผมเพิ่มสูงขึ้น พ่อของผมเป็นนักการทูตเก่า เขาไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของผมเอามากๆ ที่ไปทำให้ตัวเองต้องเสี่ยงภัย มุมมองของเขา คือ ทำไมถึงต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย คนควรจะก้มหัวต่ำๆ ไว้จนกว่าพายุจะพัดผ่านไป ซึ่งนี่เป็นแนวคิดที่โดดเด่นที่สุดของกลุ่มชนชั้นกลางที่มมีการศึกษาของไทย ด้วยมุมมองแบบนี้ การเมืองก็เป็นแค่เกมส์ที่ผู้เล่นหลักๆ นักการเมืองเลือกตั้งเข้ามาคอร์รัปชั่น พูดตรงๆ ผมว่าจะไม่บอกพ่อว่าผมถูกตั้งข้อกล่าวหา เพราะเขาก็อายุมากแล้ว ผมเลยไม่อยากทำให้เขาตกใจ แต่สุดท้ายเขาก็คงรู้อยู่ดี
 
ผมยังรู้สึกเสียใจต่อข่าวสดภาคภาษาอังกฤษด้วย เพราะการวิจารณ์บนเฟซบุ๊กของผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานที่ทำ ผมไม่ต้องการให้พวกเขาต้องรู้สึกเครียดไปกว่าที่เป็นอยู่แล้ว สื่อใดก็ตามที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์อันดีกับ คสช. ต้องรู้สึกกดดันเป็นธรรมดา ดังนั้น ผมก็เลยพยายามจะก้มหัวต่ำๆ ไว้ ไม่ได้เขียนอะไรมากมาย ไม่ได้เขียนเกี่ยวกับข้อหาของตัวเองด้วย เป็นเรื่องโชคไม่ดีเท่าไร ถ้าเป็นคนอื่นถูกตั้งข้อกล่าวหาแบบนี้ไม่ใช่ตัวผมเอง ผมคงจะเขียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ตรงๆ ได้ 
 
ตอนนี้ผมยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับสถานภาพของตัวเองว่าจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อรับรางวัลเสรีภาพสื่อ จาก CPJ ได้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับว่าผมจะต้องตกเป็นจำเลยเมื่อไร และต้องถูกครอบงำโดยคำสั่งศาลหรือเปล่า ถ้าคดีถูกเร่งให้ไปเร็วๆ ผมก็อาจจะจกเป็นจำเลยในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 อย่างไรก็แล้วแต่ ผมก็ยังได้รับการสนับสนุนมากมายจากองค์กรต่างๆ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลที่เจนีวาติดตามผมมา องค์กรสื่อระดับโลกสองแห่ง ทั้ง CPJ และผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนก็ติดตามมาว่าจะออกแถลงการณ์เรื่องของผม สถานทูตหลายแห่งในยุโรปและแคนาดาก็ติดต่อมาพร้อมที่จะสนับสนุน
 
ุสุดท้ายที่อยากจะพูดตรงนี้ คือ เมื่อเราอยู่ในสถานที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการปิดกั้นผู้เห็นต่างได้ ก็ควรจะทำ ไม่ว่ามันจะทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ผมจะเชิญหน้ากับคดีของผมโดยไม่หนี เราไม่รู้สึกถึงคุณค่าของเสรีภาพได้จริงๆ หรอก ถ้าเราไม่พยายามจะปกป้องมัน
 
 
ช่วยเล่าที่มาของการเป็นประวิตร โรจนพฤกษ์ เพิ่มเติมหน่อย แง่มุมไหนของชีวิต ที่ทำให้ก้าวเข้ามาสู่อาชีพนักข่าว? 
 
ต้องขอเล่าถึงชีวิตของผมย้อนหลังไปถึงช่วงที่เติบโตที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ผมโตขึ้นในบ้านที่ได้รับการดูแลอย่างดีและอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรูหรา ผมเป็นลูกชายของเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศฟิลิปปินส์ บ้านของเราซึ่งเป็นบ้านโดยตำแหน่งของทูต เป็นหนึ่งในบ้านของทูตไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดประมาณเท่าๆ กับทำเนียบรัฐบาล มีสนามบาสเก็ตบอลครึ่งสนาม และมีสระว่ายน้ำ ผมเข้าเียนที่โรงเรียนคาทอลิกของสเปน ซึ่งมีน้องสาวของอดีตประธานาธิบดีเบนิกโน อควิโน เป็นศิษย์เก่า ประสบการณ์แบบนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับชีวิตของผมเพราะว่า ความหรูหราในชีวิตของผมมันขัดแย้งเอามากๆ กับความยากจนและชุมชนแออัดที่ตั้งอยู่รอบๆ ตัว ช่วงเวลานั้น ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการเฟอร์ดินาน มากอส ซึ่งช่องว่างของรายได้ระหว่างคนที่มี กับคนที่ไม่มีมันกว้างมาก ผมรู้สึกเป็นหนี้คนที่จ่ายภาษีให้เพื่อให้ผมมีชีวิตที่ดี ผมก็เลยรู้สึกว่า แทนที่จะใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ เหมือนคนอื่น ผมก็อยากจะให้อะไรกลับคืนสู่ประชาชนบ้าง
 
ความเป็นนักกิจกรรมของผมเริ่มขึ้นตอนเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ ผมอยู่ในวิทยาลัยที่เป็นฝ่ายซ้ายสุดของมหาวิทยาลัย คือ เรียนเรื่องการทำงานสังคมและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยเองก็มีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับเผด็จการมาอย่างยาวนาน เป็นช่วงเวลาที่สังคมการเมืองของฟิิลิปปินส์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ เกิดการปฏิวัติโดยพลังประชาชนเพื่อโค่นล้มเผด็จการมากอสได้สำเร็จ ผมยังได้มีประสบการณ์เดินขบวนต่อต้านการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกา และเห็นการสลายการชุมนุมที่โหดร้ายด้วยแก๊สน้ำตาและการฉีดน้ำ นั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เห็นการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยรัฐบาล
 
จิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จริงๆ แล้วไปเรียนสองครั้ง ครั้งแรกเป็นทุนของรอยเตอร์ ซึ่งเป็นทุนที่พิเศษมากๆ มีประมาณ 4 คนเท่านั้นที่ได้รับทุน และผมเป็นนักข่าวไทยคนที่ 3 ที่ได้รับทุนนี้ คนที่ได้รับทุนนี้ต้องเป็นนักข่าวที่เป็นสุดยอดในประเด็นที่ทำงานอยู่ การได้รับสิทธิพิเศษแบบนี้ทำให้ผมตระหนักดีว่า ตำแหน่งที่ผมอยู่ตรงได้เป็นเพราะการได้รับการศึกษาที่ดี และผมเลยต้องการจะใช้ความรู้ความสามารถของผมช่วยคนอื่นบ้าง
 
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่มีอิทธิพลกับผมมาก คือ ตอนยังเป็นนักข่าวมือใหม่ที่เดอะ เนชั่น ซึ่งพอดีกับช่วงที่ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 มันเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวมากๆ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสำหรับไฟที่ผมมีอยู่แล้วที่จะเป็นนักข่าว
 
 
จากความเป็นที่รู้จักในสังคม ก็ต้องเจอกับความเกลียดชังหลายๆ รูปแบบ เล่าให้ฟังหน่อยว่า เจออะไรมากบ้าง?
 
ผมเจอคำพูดที่เกลียดชัว (hate speeches) มาเยอะบนโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่บนทวิตเตอร์ เป็นภาษาที่ค่อนข้างรุนแรง มีคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Somchai F_ck Pravit’ คอยก่อกวนผมแทบทุกวันติดต่อกันสามปีแล้ว ตอนที่ผมโดนข้อหา เขาส่งข้อความมาบออกว่า ผมจะต้องอายุเกิน 70 แล้วตอนที่ได้ปล่อยตัวจากคุก โชคดีนะ ไม่ต้องห่วงเรื่องการฉลองล่ะ เราฉลองไปเรียบร้อยแล้ว 
 
ผมยังถูกข่มขู่ว่าจะถูกใช้กำลังหลายครั้ง ที่โดนบ่อยๆ ก็เช่น "เดี๋ยวเราจะไปจัดการคุณ" "เดี๋ยวจะไปหาที่...." "ระวังตัวให้ดีเถอะ ประวิตร ...." อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังคงเชื่อมั่นในเสรีภาพการแสดงออก ผมก็ไม่คิดจะบล็อกพวกเขา ผมยังคงอยากฟังและทำความเข้าใจคนที่วิจารณ์ผม ไม่ว่าเขาจะใช้ภาษาที่รุนแรงขนาดไหนก็ตาม