1500 1439 1443 1707 1458 1631 1630 1934 1075 1457 1383 1855 1945 1065 1132 1705 1617 1858 1293 1458 1900 1398 1328 1094 1256 1827 1267 1197 1159 1806 1872 1923 1654 1549 1345 1698 1096 1775 1429 1828 1422 1324 1335 1903 1785 1785 1219 1145 1488 1820 1701 1079 1614 1221 1724 1728 1704 1836 1574 1533 1446 1015 1025 1539 1855 1347 1877 1352 1280 1534 1623 1150 1314 1366 1725 1247 1216 1837 1423 1755 1734 1833 1528 1100 1759 1813 1897 1709 1949 1099 1973 1845 1610 1430 1055 1310 1285 1399 1328 ครั้งหนึ่งในชีวิตของ “สหรัถ” ทนายสิทธิแรงงาน ที่ต้องถูกจำคุกฐาน "ละเมิดอำนาจศาล" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ครั้งหนึ่งในชีวิตของ “สหรัถ” ทนายสิทธิแรงงาน ที่ต้องถูกจำคุกฐาน "ละเมิดอำนาจศาล"

ปัจจุบัน “สหรัถ” ยังมีคดีที่ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นทนายประมาณ 3-4 คดี และมีภรรยาที่มีอายุครรภ์ประมาณ 5 เดือนต้องดูแล ทว่า “สหรัถ”กลับถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกสามเดือนไม่รอลงอาญาฐานละเมิดอำนาจศาล  เหตุจาก “สหรัถ”พร้อมแรงงานไม่พอใจศาลจำหน่ายคดีเพราะ"สหรัถ"ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีจากการสื่อสารที่เข้าใจผิดกับจนท.ศาลโทรแจ้งเลื่อนคดีของตน 

‘ผมจะร้องเรียนเจ้าหน้าที่ทุกคน’ คือเหตุดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาลของ “สหรัถ”

"สหรัถ" เป็นชื่อสมมติของ ทนายความด้านสิทธิแรงงานคนหนึ่ง ที่ กำลังถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระบุรีตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาล ตามกำหนดโทษจำคุก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 เมษายน 2560

“สหรัถ” เรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ปัจจุบัน อายุ 37 ปี ระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำ เขาไม่สามารถดูแลภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 เดือน ภรรยาของ ”สหรัถ” จึงต้องดูแลตัวเองและลูกในครรภ์เพียงลำพัง นอกจากนี้”สหรัถ”ยังมีคดีแรงงานที่ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นทนายความอยู่ด้วย ซึ่งต้องมีนัดพิจารณาคดีในระหว่างที่ “สหรัถ” ถูกจำคุกอยู่

ก่อนหน้านี้ "สหรัถ" เคยเป็นอาสานักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 3 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายให้กับกลุ่มแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ที่ จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายที่ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน ตามลำดับ

19 พฤษภาคม 2558 "สหรัถ" พร้อมผู้ใช้แรงงาน 51 คน รวมตัวกันแสดงความไม่พอใจที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีของพวกเขาออกจากสารบบความ เพราะ ฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดี โดย "สหรัถ" ให้เหตุผลว่า เจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์ไปแจ้งเลื่อนคดี แต่เจ้าหน้าที่ศาลปฏิเสธว่าไม่ได้โทรแจ้งเลื่อนนัดคดี เพียงแค่แจ้งให้นำคดีที่จะมาฟ้องใหม่มาฟ้องในวันอื่นแทน เมื่อ "สหรัถ" และแรงงาน 51 คนที่เป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวมาถึงศาลแล้วพบว่า คดีถูกจำหน่ายออกไปแล้ว จึงแสดงคงามไม่พอใจ โดยการพูดว่า “ต้องมีการเลื่อนคดี ท่านต้องรับผิดชอบ เรื่องนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องมีคนรับผิดชอบ ผมจะร้องเรียน เดี๋ยวผมจะร้องเรียนเจ้าหน้าที่ทุกคน พวกเราไม่ยอมใช่ไหม”

จากนั้น "สหรัถ" และพวกทั้ง 51 คนก็พูดว่า “เราไม่ยอม เราไม่ยอม”แล้ว “สหรัถ”ก็โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ประมาณว่า “วันนี้รู้แล้วว่าศาลแรงงานรับใช้นายทุน...”

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ ”สหรัถ” ถูกอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาฟ้องร้องการกระทำผิดดังกล่าวว่าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยวันที่ 16 มีนาคม 2560 ศาลชั้นต้น จังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษารอการกำหนดโทษไว้มีกำหนดสองปีและให้คุมประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุกสามเดือนเป็นเวลาสองปี ขณะเดียวกัน การกระทำผิดดังกล่าวยังถูกดำเนินคดีแยกต่างหากเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยวันที่ 20 เมษายน 2560 ศาลฎีกา พิพากษาลงโทษจำคุกสามเดือน

 

สหรัถเป็นคนนิ่ง ใจเย็น ตั้งแต่ใช้ชีวิตคู่มา สหรัภเป็นเหมือนน้ำเย็น ส่วนพี่นั้นเป็นคนใจร้อน ก็เหมือนน้ำร้อน แต่พี่กับสหรัถก็อยู่ด้วยกันได้ คนรอบตัวสหรัถจะรับรู้เองว่า สหรัภเป็นคนอย่างไร

ประโยคหนึ่งที่สะท้อนอุปนิสัยของ “สหรัถ” จากภรรยา

------------------------------------

จริงๆ แล้วสหรัถไม่ค่อยพูด ส่วนมากภรรยาสหรัถจะพูดแทนหมดแต่วันที่เกิดเหตุ พี่คิดว่า สหรัถคงอินกับคดีจริงๆ จึงใจร้อน

ประโยคหนึ่งที่สะท้อนอุปนิสัยของ “สหรัถ” จากทนายความที่เป็นเพื่อนของเขา

------------------------------------

 

จากการสังเกตการณ์ในคดีความผิดฐานดูหมิ่นศาล ของ “สหรัถ” ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยยอมรับว่า ได้กระทำการดังกล่าวรวมทั้งโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กจริง แต่ “สหรัถ” ต่อสู้คดีละเมิดอำนาจศาล ด้วยข้อต่อสู้อย่างน้อยสองประการสำคัญ คือ

1. การกระทำความผิดที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดกรรมเดียว ไม่ควรต้องรับโทษสองครั้ง อันเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไป “สหรัถ” ควรเลือกบทลงโทษที่หนักที่สุดให้แก่ผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่บัญญัติว่า “เมื่อการกระทําใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อ กฏหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทําความผิด

2. “สหรัถ”มีหน้าที่ต้องดูแลมารดาที่มีความพิการทางการได้ยิน มีภรรยาที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 5 เดือน และในฐานะทนายความ “สหรัถ” ยังมีคดีที่ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นทนายความประมาณ 3-4 คดี  ซึ่งต้องมีการดำเนินการต่อในระหว่างที่สหรัภถูกจำคุก และที่สำคัญ “สหรัถ” ไม่เคยต้องต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุให้ศาลกำหนดบทลงโทษสถานเบา หรือรอการลงโทษ

จากข้อต่อสู้ดังกล่าว ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคงเห็นด้วยกับข้อต่อสู้เพียงข้อที่ 2. และพิพากษาให้ “สหรัถ” มีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งในทางกลับกัน ก็เท่ากับศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เห็นว่า การกระทำ 1 ครั้งของ “สหรัถ” ที่ถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลไปแล้ว ก็อาจถูกลงโทษฐาน “ดูหมิ่นศาล” ซ้ำอีกก็ได้

 

ถ้าต่อสู้คดีละเมิดอำนาจศาล ก็ไม่มีทางชนะ อย่างเช่น เคสอาจารย์ตุ้มก็ยังถูกจำคุกมาเลย
ยังไงศาลก็ต้องคุ้มครองสถาบันศาลอยู่แล้ว

ทนายความของ “สหรัถ” กล่าว

------------------------------------

ข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพิจารณาของศาลแสดงออกที่บริเวณหน้าศาลจนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพของไอลอว์(iLaw) บันทึกข้อมูลพบอย่างน้อยสามคดีที่ศาลพิพากษาจำคุก รอการลงโทษ และอยู่ระหว่างการไต่สวนตามลำดับ ได้แก่ คดีสุดสงวน ประท้วงหน้าศาลแพ่ง หรือ "อาจารย์ตุ้ม" อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดชุมนุมวางพวงหรีดที่หน้าป้ายศาลแพ่ง หลังศาลมีคำสั่งห้ามรัฐบาลยิ่งลักษณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มกปปส. จนถูกพิพากษาจำคุกหนึ่งเดือนโดยไม่รอลงอาญา ถัดมาคดีณัฐพล พ่นสีป้ายศาลอาญา เป็นตัวอักษรเอในวงกลมรวมสองจุดบนป้ายศาลอาญา จนถูกพิพากษาว่ารอการลงโทษไว้มีกำหนดหนึ่งปี และล่าสุด คดีนักกิจกรรมเจ็ดคนละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น จากการทำกิจกรรม อ่านแถลงการณ์ แสดงท่าทาง ร้องเพลง พร้อมนำอุปกรณ์มาตั้งบริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น กรณีที่ศาลไม่ให้ประกัน 'ไผ่ดาวดิน'  จนถูกศาลเรียกไปไต่สวนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ปัจจุบันคดีมีนัดไต่ส่วนวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 

 

นักวิชาการชี้กฎหมายละเมิดอำนาจศาล ยังไม่ชัดเจน

โดยคดีทั้งสี่ (สหรัถ สุดสงวน ณัฐพล และนักกิจกรรมเจ็ดคน) ยังไม่มีคดีไหนที่ศาลพิพากษายกฟ้อง อีกทั้งศาลพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่คดีประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31 (1) ซึ่งคำว่า “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ยังไม่มีนิยามการกระทำความผิดที่ชัดเจน

ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อึ้งจะนิล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหนึ่งในผู้ทำงานวิจัยเรื่อง "หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล"กล่าวถึง ปัญหาการใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลวไว้อย่างน้อยสองประเด็นคือ

1.       การกำหนดขอบเขตการกระทำความผิด การละเมิดอำนาจศาล ไม่ชัดเจน

2.       ผู้พิพากษาหรือศาลมีอำนาจพิเศษตัดสินลงโทษผู้ที่ถูกกล่าวหาได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีกระบวนการสอบสวนโดยตำรวจ และอัยการเช่นเดียวกับความผิดอื่น

อีกทั้งกฎหมายละเมิดอำนาจศาลมีโทษทางอาญาคือ โทษปรับไม่เกิน 500 บาท โทษจำคุกไม่เกินหกเดือน แต่ถูกนำไปเขียนไว้ในกฎหมายแพ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการนำคดีเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายอาญา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความล่าช้าในการระงับเหตุและอำนวยความยุติธรรม ผศ.ดร.เอื้ออารีย์กล่าวเสริม

ตามความเข้าใจทั่วไปแล้ว หลักกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่มีความผิดและไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมาย เพราะโทษของกฎหมายอาญากระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนกฎหมายแพ่งไม่มีหลักต้องตีความโดยเคร่งครัด ตีความตามตัวอักษรหรือเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้ปรับใช้กับข้อเท็จจริงในแต่ละคนและไม่มีบทกำหนดโทษ เพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินเสียส่วนใหญ่

เมื่อกลับมาพิจารณาคดี “สหรัถ” และคดีอื่นที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นจะเห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมาตรา 31(1) และบทลงโทษบุคคลที่กระทำตวามผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมาตรา 33 ได้ปรากฎที่ประมวลกฎหมายพิจารณาความเพ่ง เท่ากับว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีความพิเศษ เพราะถูกบัญญัติที่กฎหมายแพ่งที่ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ทางทรัพย์สิน แต่ไม่ถูกบัญญัติที่กฎหมายอาญาที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับข้อห้ามและบทลงโทษของประชาชน

สำหรับ บทสรุป ครั้งหนึ่งในชีวิตของ “สหรัถ” ทนายความด้านสิทธิแรงงานที่ครั้งหนึ่งต้องเป็นจำเลยและติดคุกจากการแสดงความไม่พอใจต่อศาล ต้องรับโทษในเรือนจำเป็นเวลา 3 เดือนในฐานของคดีละเมิดอำนาจศาลซึ่งได้สิ้นสุดไปแล้ว เหลือเพียงแต่คดีความผิดฐานดูหมิ่นศาลที่ยังรอคำพิพากษาจากศาลอุทธรณ์อยู่

ด้านทนายความของ "สหรัถ" ก็มองว่า ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจิตใจที่จะช่วยจำเลยแล้ว เนื่องจากว่าเป็นคดีหมิ่นประมาทศาล โอกาสที่จะต่อสู้แล้วชนะคดีมีน้อยและรูปพยานแวดล้อมฝ่ายโจทก์มีน้ำหนักมาก

ในส่วนของคดีดูหมิ่นศาลของ “สหรัถ” จึงยังต้องรอลุ้นต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีอย่างไร เนื่องจากว่า ปากกาอยู่ที่มือศาลหรือผู้พิพากษา

ชนิดบทความ: