1844 1559 1297 1452 1649 1161 1660 1487 1690 1637 1391 1741 1177 1543 1432 1809 1833 1590 1977 1013 1398 1360 1584 1312 1627 1063 1287 1133 1282 1622 1141 1991 1799 1103 1621 1401 1291 1076 1608 1149 1337 1253 1017 1089 1064 1014 1142 1179 1585 1717 1400 1225 1880 1567 1691 1723 1931 1653 1363 1248 1454 1634 1268 1539 1096 1060 1374 1188 1587 1742 1472 1306 1442 1350 1702 1233 1863 1753 1680 1985 1548 1273 1330 1176 1216 1195 1384 1091 1460 1631 1040 1317 1730 1034 1363 1186 1064 1833 1920 แก้กฎหมายยังไม่ใช่ทางออก ทนายวอนหากสังคมเข้าใจ คดีปิดปากจะลดลง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

แก้กฎหมายยังไม่ใช่ทางออก ทนายวอนหากสังคมเข้าใจ คดีปิดปากจะลดลง


912
 
30 มิถุนายน 2561 เวลา 13.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อประเด็นการฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชน ในเวทีเสวนา "เสรีภาพที่ถูกคุกคามด้วยการฟ้องคดีปิดปาก (SLAPP) ทางออกสำหรับประเทศไทย" ​​​เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์คดีปิดปากและมุมมองต่อคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
​​​ทนายขู่ ใครฟ้องคดีปิดปากอาจถูกฟ้องกลับได้

ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความ กล่าวว่า คดีหมิ่นประมาทมีมานานแล้วโดยใช้สำหรับการปกป้องสิทธิส่วนตัว แต่ปัจจุบันถูกนำมาใช้ต่อสู้เพื่อหวังผลกว้างกว่าสิทธิส่วนตัว ตามกฎหมายแล้วการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยสุจริต เพื่อปกป้องส่วนได้เสียของตนเองและเป็นประโยชน์สาธารณะ เข้าข่ายข้อยกเว้นไม่มีความผิด แต่ปัญหาคือ กระบวนการยุติธรรมกว่าจะพิสูจน์ได้ถึงจุดนั้น ต้องใช้เวลาและทรัพยากร รวมทั้งเงินประกันตัว ซึ่งละเมิดสิทธิเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้ที่ถูกแกล้งฟ้องมาก
ชำนาญ มองด้วยว่า การฟ้องคดีลักษณะนี้ไม่ได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรที่เป็นผู้แจ้งความเท่าไหร่นัก
 
คดีที่ชำนาญกำลังช่วยเหลือทางกฎหมายอยู่ มีกลุ่มประชาชนที่ต่อสู้เรื่องโรงงานไฟฟ้าที่จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 13 คดี ทั้งคดีทางแพ่งและทางอาญา เหตุแห่งการฟ้องคดีที่แย่ที่สุด คือ ชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการแต่กลับถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาทจากข้อความในหนังสือร้องเรียน ผลที่ตามมา คือ ชาวบ้านต้องใช้เงินประกันตัว เดินทางไปศาลทุกนัด ซึ่งไม่ควรจะต้องใช้จ่ายไปในระบบยุติธรรมเบื้องต้น โดยกรณีนี้เกิดจากการที่โรงไฟฟ้าไปฟ้องต่อศาลโดยตรง อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นยังมองว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดและยกฟ้องไป

ชำนาญ เห็นว่า การดำเนินคดีหมิ่นประมาทเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องรักษาสิทธิของโรงไฟฟ้า แต่เป็นการต่อรองด้วยการวางเงื่อนไขให้ชาวบ้านหยุดต่อสู้จึงจะถอนฟ้อง เงื่อนไขหนึ่งของการหยุดต่อสู้ของชาวบ้านครอบคลุมถึงการหยุดใช้สิทธิในชั้นศาลปกครองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรง

ชำนาญ ฝากไปยังผู้ที่ใช้วิธีการฟ้องคดีปิดปากเช่นนี้ว่า หากอีกฝ่ายต่อสู้คดีและสามารถชนะได้ พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่พูดเป็นประโยชน์สาธารณะ อาจนำไปสู่การฟ้องกลับได้

ชำนาญ เสนอว่า ปัจจุบันมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 กำหนดให้จำเลยสามารถเสนอให้ศาลเรียกพยานหลักฐานเข้ามาในคดีตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ แต่ในคดีอาญาทั่วไปชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยนำพยานหลักฐานเข้ามาในคดียังไม่ได้ จึงอยากให้กรณีการฟ้องปิดปาก ให้ประชาชนที่ถูกฟ้องสามารถนำเอกสารหลักฐานเสนอต่อศาลและนำสืบประเด็นไปได้เลย จะเป็นโอกาสที่ดีและเป็นประโยชน์ เพื่อลดขั้นตอนและเวลาที่จะคนถูกฟ้องจะต้องสูญเสียไปในการต่อสู้คดี
 
​​​การแก้กฎหมายอย่างเดียวไม่ใช่ทางออก หากสังคมเข้าใจ คดีปิดปากจะลดลง

ส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนคดีฟ้องปิดปากเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชาชนรู้สิทธิของตนเองมากขึ้นที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง เมื่อประชาชนออกมาเคลื่อนไหวคดีที่ตามมาก็มากขึ้นเพราะผู้ฟ้องคดีปิดปากมองว่า การที่ชาวบ้านคัดค้านก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีทั้งเอกชนและภาครัฐ คดีที่เกิดขึ้นโดยภาครัฐน่าเป็นห่วงมาก เพราะรัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิประชาชน กลับใช้กฎหมายคุกคามประชาชน

คดีหมิ่นประมาทถูกใช้ฟ้องคดีต่อการยื่นหนังสือร้องเรียน เช่น กรณีที่ประชาชนร้องเรียนถึงรัฐว่า เหมืองหินส่งผลกระทบต่อชุมชน มีการระเบิดหินเกินเวลา ทำให้บ้านเรือนเสียหาย ขอให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหา แต่บริษัทเหมืองหินกลับนำไปฟ้องว่า หนังสือร้องเรียนฉบับนี้ส่งผลให้บริษัทฯ ไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต และเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน 60 ล้านบาท สำหรับชาวบ้านหรือใครที่ไม่เคยจับเงินแสนเงินล้านเป็นเรื่องน่าตกใจ พอได้รับหมายเรียกชาวบ้านยืนนิ่งและหมดแรงตรงนั้น

กว่าที่ชาวบ้านจะรู้สึกว่า การฟ้องคดีเป็นเรื่องการคุกคาม ต้องพยายามอธิบายเยอะมากว่า ข้อมูลที่ร้องเรียนไปเป็นเรื่องจริงและชาวบ้านก็ไม่ได้ร้องเรียนเพื่อตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย พอคุยกันชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจ สิ่งที่ทำในฐานะทนายความไม่ได้เพียงแค่สู้ให้คดีชนะ แต่จะต้องทำให้กระบวนการฟ้องคดีกลั่นแกล้งแบบนี้หยุดลง

ส. รัตนมณี เล่าว่า ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลคดีหนึ่ง ฝ่ายจำเลยไม่รอให้คดีที่บริษัทฯ กล่าวหาพิจารณาเสร็จ และยื่นคำฟ้องแย้งเข้าไป ศาลรับคำฟ้องแย้ง กำหนดขั้นตอนการสืบพยานทุกอย่างแล้ว  บริษัทฯ ก็กลับมาถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ชาวบ้านและบริษัทเข้าใจกันแล้วจึงต้องการถอนฟ้อง ทั้งที่ชาวบ้านบอกว่า ไม่ได้คุยกันเลย จึงเห็นชัดว่า เป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง ชาวบ้านจึงฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายสองล้านด้วยเหตุผลคือ หนึ่ง การถูกฟ้องทำให้เสียชื่อเสียง สอง เสียเวลาในการต่อสู้คดี ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้ว นับแต่วันแรกที่ได้รับหมาย การเตรียมคดี และค่าใช้จ่ายในการหาพยานต่างๆ สุดท้ายศาลพิพากษาว่า เนื่องจากว่า การฟ้องของบริษัทฯ เป็นการมาศาลโดยไม่สุจริต พิพากษาให้บริษัทฯชดเชยค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้าน แต่ไม่ได้เป็นเงินสองล้านเต็มจำนวน ได้เพียงรายละ 60,000 บาท แต่จนถึงบัดนี้ชาวบ้านยังไม่ได้เงิน เพราะบริษัทฯไม่อยู่แล้ว
 
แต่ส. รัตนมณีก็ยังเห็นว่า การฟ้องแย้งหรือฟ้องกลับไม่เพียงพอ ทางที่ดี คือ ต้องป้องกันไม่ให้คดีเริ่มตั้งแต่แรกเลย
 
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการฟ้องร้องปิดปาก เช่น มาตรา 161/1 ของร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.วิอาญาฯ ว่า หากมีการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย หรือฟ้องโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้ตามปกติ เช่น การยื่นฟ้องต่อศาลในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้จำเลยเดินทางลำบากในการต่อสู้คดี หรือการฟ้องคดีในข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริงเพื่อให้จำเลยยอมอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะคดีที่ฟ้องเพื่อคุกคามการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานของจำเลยเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ ให้ศาลมีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้องคดีเหล่านั้นก็ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
 
“...ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง หากความปรากฏต่อศาลว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดอำนาจพันกงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่...” มาตรา 161/1 ของร่างพ.ร.บ.แก้ไขป.วิอาญาฯ

ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายเช่นนี้ ส.รัตนมณี มองว่า กระบวนการฟ้องคดีตามกฎหมายไทยสามารถทำได้สองทาง คือ แจ้งความต่อตำรวจและการยื่นฟ้องต่อศาลเองโดยตรง แม้ข้อเสนอนี้ผ่าน ก็ยังเหลือช่องทางแจ้งความต่อตำรวจอีกหนึ่งช่องทาง หากเอกชนไปแจ้งความกับตำรวจ การเสนอมาตรา 161/1 ก็ไม่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาคดีปิดปากได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แนวทางที่ทนายความทำได้ คือ การร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่กลายเป็นการผลักภาระให้แก่อัยการแทน
 
ในตอนท้าย ส. รัตนมณี ยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องปิดปากเป็นเรื่องยากพอสมควร ยกตัวอย่าง ที่ฟิลิปปินส์มีกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก แต่คดีก็ยังคงมีอยู่ สะท้อนให้เห็นว่า คงไม่ใช่แค่การแก้กฎหมายแล้วปัญหาการฟ้องร้องคดีปิดปากจะยุติ สิ่งที่สำคัญ คือ การทำความเข้าใจกับทุกคนทั้งเอกชนและรัฐว่า การที่ประชาชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ เป็นสิ่งที่กระทำได้และเป็นสิ่งที่จะต้องเปิดโอกาสให้กระทำ ถ้าหากว่า สังคมเข้าใจ การฟ้องร้องปิดปากจะน้อยลง
 
การแก้ไขปัญหาฟ้องคดีปิดปากมีมานานแล้ว มีทุกวงการ

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ​​​​เพื่อสิทธิมนุษยชน (UN-OHCHR) กล่าวว่า เวลาที่เราพูดถึงการฟ้องร้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation - SLAPP) มันเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในต่างประเทศมานานแล้ว คำนี้เกิดขึ้นในปี 1989 โดยจอร์จ พริง ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยเดนเวอร์  ใช้คำว่า SLAPP อธิบายปรากฏการณ์ เป็นการฟ้องร้องทั่วไป หลายครั้งเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ดิน เช่น การขยายห้างและอสังหาริมทรัพย์ไปทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อาศัยอยู่เดิม ประชาชนจึงร้องเรียนไปยังผู้ว่าการรัฐฯ แต่ปรากฏว่า ถูกฟ้องกลับ

ในประเทศไทยเวลาที่เราพูดถึงการฟ้องร้องปิดปาก มีความทับซ้อนกับคำว่า การคุกคามโดยกฎหมาย (Judicial harassment) ในบริบทสากลสองคำนี้แตกต่างกัน การคุกคามโดยกฎหมายเป็นการกระทำโดยรัฐ แต่ SLAPP เป็นการกระทำโดยหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐ เช่น บรรษัทข้ามชาติ, บริษัทเอกชน หรือ รัฐวิสาหกิจอย่าง กฟผ. จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ถูกฟ้องร้องมีตั้งแต่องค์กรพัฒนาเอกชน นักกิจกรรม ไปจนถึงชุมชน ทำให้ประเด็นที่มีความสำคัญทางสังคมกลายเป็นเพียงประเด็นความขัดแย้งสองส่วนระหว่างปัจเจกบุคคลในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และบริษัทเอกชนในฐานะผู้ฟ้อง

ในส่วนของประเทศไทย ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ในระยะเวลาสี่ถึงห้าปี มีการใช้กฎหมายโดยบริษัทเอกชนเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ข้อมูลจากกรรมการสิทธิมนุษยชนในช่วงแปดปีที่ผ่านมา กรรมการสิทธิฯ ได้รับคำร้อง 10,824 คำร้อง ในจำนวนนั้น 2,119 คำร้องเป็นคำร้องเกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชน การที่ชุมชน ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ เมื่อมีโครงการใหญ่ๆ แล้วประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมก็ย่อมจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การแกล้งฟ้องมีในทุกวงการ มีกรณีข้าราชการผู้ใหญ่ถูกแกล้งฟ้องจากนายทุน ข้าราชการจึงฟ้องกลับ ปรากฏว่า ศาลไปเข้าข้างตัวนายทุนและแสดงกิริยา คำพูดคำจาไม่เหมาะสมในศาล ข้าราชการรายนี้ไม่พอใจจึงจะไปร้องเรียนศาลที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม แต่กลับถูกศาลขู่กลับว่า จะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท สะท้อนให้เห็นว่า การฟ้องกลับเกิดในทุกๆ ระดับชั้นของบุคคล
 
ดร.น้ำแท้ มองว่า กระบวนการยุติธรรม ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยนั้นวิปลาส เพราะให้กระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลในกระบวนการพิจารณาคดีในขั้นต้นอยู่ที่มือตำรวจเพียงผู้เดียว กรณีที่เกิดอาชญากรรมขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ตำรวจดำเนินการเก็บหลักฐาน, ออกหมายเรียก, หมายจับและให้ข้อมูลต่อศาลเอง ทั้งที่จริงแล้วอาจเกิดความผิดพลาดในกระบวนการส่งหมายเรียกได้ จึงออกหมายจับ ซึ่งในไทยหมายจับ หมายขังโดนกันง่ายๆ ต่างกับกรณีต่างประเทศ เมื่อเกิดอาชญากรรมจะมีบุคคลจากหลายหน่วยงาน ฝ่ายปกครอง ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานที่ไม่ขึ้นกับตำรวจ ในกรณีของไทย ที่เกิดเหตุจะมีประจักษ์พยานกี่ปากนั้น หากตำรวจทำสำนวนมาปากเดียวก็ไม่มีทางทราบได้ เพราะตำรวจทำอยู่ฝ่ายเดียว

ในการรวบรวมพยานหลักฐาน หากจำเลยทราบว่า พยานปากใดตำรวจไม่รวบรวมให้ กรณีของต่างประเทศสามารถเดินไปหาอัยการ ฝ่ายปกครองได้ แต่บ้านเราไม่เปิดช่องทางให้ ประชาชนก็เลยต้องไปหามูลนิธิหรือสื่อ สะท้อนว่า ระบบมันห่วยจริงๆ