- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
จาก “ชุมนุม” สู่ “มั่วสุม- ก่อความวุ่นวาย-ใช้กำลังประทุษร้าย”
“การชุมนุม” เป็นสิทธิการแสดงออกที่รัฐธรรมนูญไทยรับรองไว้ และเป็นปฏิบัติการสำคัญของการเมืองภาคประชาชน เพื่อให้ข้อเรียกร้องของกลุ่มตนให้ได้รับความสนใจ ที่ผ่านมามีความพยายามจัดการดูแลการชุมนุมโดยเสนอให้ตรากฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะขึ้นมาเป็นการเฉพาะแต่ยังไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดี เวลานี้มีคดีอันสืบเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองหลายคดี และคำพิพากษาของศาลในคดีเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการชุมนุมเรียกร้องกันในอนาคต
การชุมนุมประท้วงการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 19 ธันวาคม 2550 (ที่มาภาพ ประชาไท)
เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นเพิ่งมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ออกมาชุมนุมในคดี “ปีนสภา” ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 จำเลยมีทั้งหมดสิบคน เป็นเอ็นจีโอและนักเคลื่อนไหวที่ทำงานมาอย่างยาวนาน การชุมนุมครั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ โดยผู้ชุมนุมปีนรั้วรัฐสภาแล้วเข้าไปนั่งที่โถงหน้าห้องประชุมใหญ่ของอาคารรัฐสภา คดีดังกล่าวอัยการกล่าวหาว่าจำเลยมั่วสุมก่อความวุ่นวาย บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย และยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 215 และ 365
ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ เจ็ดและแปด ศาลวินิจฉัยว่าเป็นหัวหน้าการชุมนุมมีความผิดให้ลงโทษจำคุกสองปี ปรับ9,000บาท และจำเลยที่ห้า หก เก้า และสิบ เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมให้ลงโทษจำคุกหนึ่งปี ปรับ 9,000บาท เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุกหนึ่งปี สี่เดือน ปรับ 6,000 บาท และจำคุกแปดเดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกและกระทำไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง จึงรอการลงโทษสองปี
คำพิพากษาในคดีนี้ ฝากข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ให้พิจารณาต่อ ดังนี้