1010 1788 1112 1999 1516 1223 1614 1530 1172 1421 1481 1668 1902 1167 1302 1197 1251 1078 1752 1690 1548 1124 1815 1012 1335 1504 1882 1954 1923 1353 1356 1538 1535 1972 1693 1555 1574 1402 1334 1376 1848 1485 1052 1514 1560 1200 1416 1524 1355 1237 1156 1287 1471 1119 1104 1475 1376 1682 1399 1404 1062 1875 1343 1430 1894 1746 1460 1780 1723 1737 1395 1780 1171 1199 1657 1530 1208 1199 1803 1250 1297 1746 1029 1688 1425 1580 1636 1591 1821 1378 1395 1197 1313 1155 1025 1812 1401 1078 1082 วิวัฒนาการของการเรียกตัว และการเยี่ยมเยียน ภายใต้กฎอัยการศึก | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

วิวัฒนาการของการเรียกตัว และการเยี่ยมเยียน ภายใต้กฎอัยการศึก

 
ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลทหารใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือปกครองประชาชน นับตั้งแต่การรัฐประหาร จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวอย่างน้อย 690 คน และมีผู้ที่ถูกจับกุมอย่างน้อย 399 คน
 
จากคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัวฉบับที่ 1 อันประกอบด้วยนักการเมื่องฝั่งพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศแทบจะทันทีหลังการยึดอำนาจ และคำสั่งเรียกรายงานตัวเพิ่มเติมที่ตามมาอีกหลายฉบับ โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทางการเมือง เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มนปช. กลุ่มกปปส. รวมไปถึงนักกิจกรรม นักวิชาการ ที่มีบทบาททางสังคม ไปจนถึงการเรียกรายงานตัวทางโทรศัพท์เรียก การส่งจดหมายเชิญ หรือการไปตามหาตัวที่บ้านพัก คนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองต้องเดินเข้าไปหาทหารเพื่อถูก "ปรับทัศนคติ" หรือ ถูกขอให้ยุติความเคลื่อนไหว
 
 
เริ่มจากประกาศเรียกบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง
       
ตามที่ระบุไว้ในประกาศของ คสช. เหตุผลของการที่เรียกบุคคลมารายงานตัว คือ "เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย" โดยบุคคลที่มารายงานตัวจะต้องถูกปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับทัศนคติของคสช. หากไม่สามารถเห็นตรงกันได้ภายในวันแรก เจ้าหน้าที่ทหารก็อาจกักตัวบุคคลนั้นไว้ต่ออีกไม่เกิน 7 วัน โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกมาตรา 15 ทวิ โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาหรือเหตุผลในการกักตัว และไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว
 
และเมื่อครบ 7 วัน หรือหากฝ่ายทหารพอใจแล้ว ผู้ถูกเรียกตัวทุกคนต้องเซ็นเอกสารแสดงความยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนจะได้รับการปล่อยตัวจริงๆ โดยแบบฟอร์มจะมีข้อความว่า "ข้าพเจ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทำร้าย หรือมิได้ถูกใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือทรมาน ให้คำสัญญา หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ และทรัพย์สินต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้นำติดตัวมาในระหว่างถูกกักตัวไว้นั้น ข้าพเจ้าได้รับคืนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว"
 
นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขที่ต้องยินยอมเพื่อแลกกับการได้รับอิสรภาพคืนอีก 3 ประการคือ
1) จะไม่เดินทางออกนากราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับการอนุมัติจากหัวหน้า คสช.
2) จะละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดใด
3) หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวหรือช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีทันทีและยินยอมให้ระงับธุรกรรมทางการเงิน
 
การประกาศเรียกบุคคลให้มารายงานตัวโดยคำสั่ง คสช. ที่ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกช่องพร้อมทั่วประเทศ เริ่มจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนกระทั่งมีประกาศเรียกบุคคลให้มารายงานตัวฉบับสุดท้ายในวันที่ 7 กรกฎาคม  2557 รวมทั้งสิ้น คสช. ออกประกาศเรียกให้บุคคลมารายงานตัวด้วยวิธีการนี้ 36 ฉบับ เรียกบุคคลมารายงานตัวอย่างน้อย 480 คน  
 
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า หลังจากที่บางคนได้รับการปล่อยตัวแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยแวะเวียนมาพูดคุย โทรศัพท์มาพูดคุย หรือคอยสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำ อันนำมาซึ่งความหวาดกลัวและหวาดระแวง ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกด้วย
ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://ilaw.or.th/node/3209
 
 
การเรียกตัวในระดับท้องถิ่น ในประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง
 
ขณะที่ส่วนกลางออกประกาศเรียกบุคคลมารายงานตัวผ่านวิทยุและโทรทัศน์ หน่วยทหารในระดับท้องถิ่นก็เรียกบุคคลให้มารายงานตัวตามค่ายทหารต่างๆ ด้วยเช่นกัน แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตามจังหวัดต่างๆ แทบทุกจังหวัดต้องเข้ารายงานตัวตามค่ายทหารต่างๆ เพื่อปรับทัศนคติและลงชื่อในเอกสารเช่นเดียวกัน 
 
ขณะเดียวกันการเรียกพบบุคคลตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ที่ไม่ใช่การเมือง หรือไม่ใช่การต่อต้านอำนาจของคสช. ก็ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง  24 กรกรฎาคม 2557 ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ทหารเรียกแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด-นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน มาพบเพื่อชี้แจงและขอให้ยุติการเคลื่อนไหวในประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงสอบถามวัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่ของนักศึกษาพร้อมกับบันทึกวีดีโอ และเก็บบัตรประชาชนของนักศึกษาไว้ด้วย 
 
6 ตุลาคม 2557 ศรีไพร นนทรี แกนนำสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เปิดเผยว่า ช่วงเวลากลางคืนขณะที่ทางกลุ่มวางแผนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาคนงานที่กระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์เข้ามาขอนัดเจอตนเพียงคนเดียวเพื่อพูดคุยเรื่องดังกล่าว ก่อนที่เช้าวันถัดมาเธอและเพื่อนคนงานย่านรังสิตและนวนครรวม 5 คนเดินทางไปพบนายทหารคนดังกล่าว ที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี หลังการเข้าพบ ทหารขอให้เธอมาพบทุกเดือน เพื่อประชุมร่วมกัน  
 
16 ตุลาคม 2557  ทหารกองกำลังนเรศวร เชิญสุกิจ พูนศรีเกษม ทนายความ พร้อมแกนนำชาวเขาเผ่ามูเซอ จากอ.แม่สอด จ.ตาก กว่า 30 คนเข้าไปปรับความเข้าใจ ที่ห้องประชุมกองกำลังนเรศวร ค่ายวชิรปราการ จังหวัดทหารบกตาก หลังพยายามเดินทางเพื่อเข้าร้องเรียนต่อ คสช. ที่กรุงเทพฯ กรณีถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจยึดอาคารและสิ่งปลูกสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช
 
ขณะที่การออกแถลงการณ์ของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน “ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบูท คสช.”  เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 ก็เป็นเหตุให้ทหารเรียกนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในภาคอีสานที่ลงชื่อในแถลงการณ์รวม 17 คน เข้าไปซักถามถึงเหตุผลที่ลงชื่อ พร้อม "ขอความร่วมมือ" ให้โพสเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้แจงเรื่องที่ถูกเรียกตัว 
 
วิทูวัจน์ ทองบุ หนึ่งในผู้ถูกเรียกตัวเปิดเผยว่า มีจดหมายเรียกตัวและมีเจ้าหน้าได้โทรศัพท์ไปหาพ่อของเขาที่อยู่จังหวัดมหาสารคาม แจ้งให้เขาเข้ารายงานตัว ส่วนตัวเขากำลังอยู่ที่จังหวัดเลยเมื่อได้รับโทรศัพท์และได้รับการขอร้องจากครอบครัว จึงตัดสินใจเข้ารายงานตัว โดยในการรายงานตัวนั้นได้พบและพูดคุยกับ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ สันติบาล และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งถามถึงการมีส่วนร่วมในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว และขอให้เขายุติการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลและ คสช.หากมิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย 
 
 
16 ธันวาคม  2557  ไพโรจน์ ฤกษ์ดี ผู้ประสานงานและแกนนำแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับหนังสือจาก พล.ต.เกื้อกูล อินนาจักร ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานีให้ไปรายงานตัวที่กองบังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี หลังเรียกร้องให้รัฐบาลรับซื้อยางพาราในราคา 80 บาท เพื่อทำความเข้าใจถึงการดำเนินการของรัฐบาล และข้อเสนอแนะจากชาวสวนยางไปยังรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำต่อไป
 
1 กุมภาพันธ์ 2558 จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานีมีจดหมายเรียก เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และแกนนำร่วม อีก 2 คน  ผู้นำการเรียกร้องสิทธิในที่ดินสวนปาล์มหมดสัญญาเช่าให้กับชาวบ้าน ในจดหมายระบุว่าเพื่อความสงบสุข และความปรองดองในพื้นที่ ให้เข้ารายงานตัวที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อปรับทัศนคติเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2558 ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558
 
นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีผู้ถูกเรียกรายงานตัวโดยทหารในระดับท้องถิ่น ด้วยวิธีการส่งจดหมายเรียก โทรศัพท์เรียก หรือลงไปหาในพื้นที่ อย่างน้อย 175 คน ในจำนวนนี้ อย่างน้อย 106 คน ถูกเรียกไปพูดคุยให้ยุติการเคลื่อนไหวในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
 
ดูประเด็นการเรียกตัวอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/blog/Arrest2014
 
166 Get the report2014
 
 
 
การปรับท่าทีและกลวิธีเรียกตัวที่เปลี่ยนไป
 
นอกจากกลวิธีการเรียกตัวมาปรับทัศนคติที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหน้าที่ก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีการและท่าทีการเข้าหาบุคคลที่อยากติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรม เพื่อให้การทำงานของฝ่ายทหารมีภาพลักษณ์ที่อ่อนโยนลดแรงเสียดทานจากฝ่ายต่างๆ
 
7 พฤศจิกายน 2557  วาสนา นาน่วม  ผู้สื่อข่าวสายทหารหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า คสช. มีคำสั่งให้ผบ.หน่วยทหาร ที่ดูแลแต่ละพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เข้าไปทำความเข้าใจกับ แกนนำชุมชน แกนนำกลุ่มต่างๆ และนักการเมือง เพื่อขอความร่วมมือ ให้งดเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือให้สัมภาษณ์ โดยมีรูปแบบทั้งเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายเดินทางไปพบ และแบบเชิญตัวมาพบปะพูดคุย เพื่อตอกย้ำสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้ และขอความร่วมมืออีกครั้ง ถือเป็นขั้นแรก แต่หากไม่ยอมร่วมมือ ฝ่ายทหารก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายจากเบาไปหาหนัก
 
 
21 พฤศจิกายน 2557 ทหารเข้าพบ โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดี รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา เพื่อห้ามการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนไทยในยุคป-ะช-ธิ-ไ-ย” โดยงานเสวนาดังกล่าวจัดโดยชุมนุม Paradoxcracy ร่วมกับนิสิตรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งงานจะจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557
 
 
2 กุมภาพันธ์ 2558  วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้ข้อมูลกับเดลินิวส์ว่า คสช.ส่งนายทหารมาพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมง มีท่าทีสุภาพ ไม่ได้พูดจาข่มขู่  ทั้งนี้นายทหารคนดังกล่าวระบุว่า ทางผู้ใหญ่เป็นห่วงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้และขอให้รัฐบาลทหารได้ทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาก่อน และขอว่าอย่าให้มวลชนใน จ.สมุทรปราการออกมาเคลื่อนไหว
 
 
ช่วงต้นปี 2558 คสช.ยังปรับกลยุทธ์ด้วยการกลับมาเรียกบุคคลที่เคยถูกเรียกเข้ารายงานตัวก่อนหน้านี้หลายคนให้เข้ามาพูดคุยอีกครั้ง เช่น สิงห์ทอง บัวชุม นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์  พิชัย นริพทะพันธุ์  ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เนื่องจากการแสดงความเห็นต่อกรณีสนช.ลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และต่อกรณีการเดินทางเยือนประเทศไทยของตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ รวมไปถึงการไปพบแกนนำ นปช.ถึงที่บ้านในหลายพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน 
 
ต่อเนื่องกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คสช.ใช้กลวิธีใหม่ๆ เรียกบุคคลมาพูดคุย
เริ่มจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 ทหารค่ายกาวิละ เชิญชาวบ้านแกนนำ นปช. 10 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมวงรับประทานอาหารพร้อมพูดคุยปัญหาการเมืองในประเทศ  ขณะเดียวกันช่วงกลางเดือนที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เทหารพร้อมรถฮัมวี่ ขับเข้ามาป้วนเปี้ยนรอบๆมหาวิทยาลัย มีกระแสว่า ได้พยายามเข้าพบแกนนำกลุ่มกิจกรรมล้อการเมือง ที่งานฟุตบอลประเพณีจุฬา –ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 70
 
6 มีนาคม 2558 พันโทกิตติภพ เธียรสิริวงษ์ ชวนเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรมจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท บรรณาธิการนิตยสารการศึกษาปริทัศน์ และกรรมการผู้จัดการห้องสมุดสันติประชาธรรม ไปทานข้าวเที่ยงและพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองร่วมกัน
 
 
ตั้งแต่การรัฐประหารในเดือน พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา คสช.ได้พยายามใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติทางการเมือง เพื่อให้การเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามแบบฉบับของคสช. ทำได้สะดวกขึ้น แต่มีบ่อยครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานจากสังคมโดยเฉพาะจากสื่อภาคประชาสังคมที่นำเสนอภาพการทำงานของทหารออกไป ทำให้ฝ่ายทหารต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบท่าทีของการเรียกตัวบุคคลมาพูดคุยไปตามแต่ละจังหวะอารมณ์ของสังคม  
 
อย่างไรก็ตาม แม้การยึดอำนาจจะล่วงเลยมากว่า 9 เดือนแล้ว คสช.หรือรัฐบาลทหารเองก็ไม่มีทีท่าจะหยุดหรือผ่อนคลายสถานการณ์การเรียก การจับ และ "ปรับทัศนคติ" บุคคลที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อของรัฐ ในแบบฉบับของแขกที่มาอย่างไม่ได้คาดหมาย ภายใต้กฎอัยการศึก
 
 
ชนิดบทความ: