1634 1795 1813 1462 1803 1934 1458 1729 1474 1883 1877 1380 1848 1586 1085 1165 1472 1969 1294 1640 1197 1722 1036 1251 1173 1377 1090 1102 1139 1754 1421 1945 1879 1177 1343 1271 1390 1196 1443 1938 1581 1668 1071 1609 1459 1437 1281 1774 1294 1333 1769 1179 1597 1586 1823 1657 1838 1074 1095 1121 1045 1435 1940 1486 1160 1873 1423 1088 1426 1059 1196 1652 1042 1945 1410 1693 1623 1782 1337 1798 1086 1428 1722 1529 1189 1397 1306 1420 1776 1486 1429 1641 1307 1616 1690 1143 1083 1286 1086 "กัลยา" : หมายเรียกทางไกลจากสุไหงโก-ลก | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

"กัลยา" : หมายเรียกทางไกลจากสุไหงโก-ลก

ในช่วงปี 2563-2564 ระหว่างที่บรรยากาศการเมืองของประเทศไทยเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น และประเด็นในการเคลื่อนไหวก็ขยับขึ้นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน "กัลยา" (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชน เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวผ่านทั้งการไปเข้าร่วมการชุมนุม และการโพสต์ข้อความลงโซเชียลเหมือนเช่นคนอื่นๆ แต่รู้ตัวอีกทีก็มีหมายเรียกฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ไปถึงที่บ้านแล้ว
 
“กัลยา” อายุ 27 ปีในวันที่ได้รับหมายเรียก เป็นพนักงานบริษัทเอกชน อาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี "กัลยา"ชื่นชอบทั้งเรื่องการเมืองและประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยเด็ก ชอบอ่านหนังสือหาความรู้รอบตัว "กัลยา" สนใจในด้านการเมืองมากขึ้นเมื่ออยู่มัธยมและมีความฝันอยากจะเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ แต่ครอบครัวก็ยังมีความเชื่อที่ทำให้รู้สึกกังวลว่า หากเรียนด้านนิติศาสตร์แล้วว่าความชนะคดีแต่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามแพ้อาจจะทำให้โดนฆ่าได้ "กัลยา" จึงเลือกเรียนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เอกการเมืองการปกครองแทนเพื่อความสบายใจของครอบครัว
 
ในช่วงชั้นปีสามของการเรียนมหาวิทยาลัย "กัลยา" มีโอกาสได้เข้าเรียนวิชาการปกครองกับอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ทำให้ได้รับรู้ข้อดีข้อเสียของการเมืองไทยและมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยผ่านข้อสอบที่อาจารย์ให้ในห้องเรียน การเข้าเรียนวิชานี้จึงเปรียบเหมือนเป็นการเปิดมิติใหม่ให้เธอเข้าสู่โลกที่ติดตามการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น และติดตามเรื่อยมา
 
 
2090
 
 
ไม่ทันได้ตั้งตัว 
 
หมายเรียกจากตำรวจส่งไปถึงบ้านของ "กัลยา" ในวันที่ 6 มิถุนายน 2564 หมายเรียกออกโดยพ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวนสภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ซึ่งระบุให้ผู้ต้องหาต้องไปรายงานตัวยังสุไหงโก-ลกในวันรุ่งขึ้น (7 มิถุนายน 2564) ตั้งแต่เรียนจบเธอก็ทำงานและอยู่ที่นนทบุรีมาตลอด การเรียกให้ต้องเดินทางไกลไปรายงานตัวนั้นเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปริเริ่มแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี ไปเริ่มที่สภ.สุไหงโก-ลก คดีนี้สืบเนื่องมาจากการโพสต์รูปภาพหรือข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกษัตริย์สี่ข้อความ 
 
"กัลยา" กล่าวถึงความรู้สึกของตัวเองว่า ตอนที่รู้ว่าได้รับหมายเรียกในคดีนี้ก็เกิดความตกใจเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันรู้ตัว แต่ก็ยังคงคิดว่าทุกอย่างแก้ไขได้ไม่ได้เสียใจอะไร 
 
“ถามว่าทำใจได้ไหม มันทำใจไม่ได้หรอก แต่คือ ณ ตอนนั้นมันก็ต้องยอมรับให้ได้ เราจะมานั่งเครียดตลอดเวลามันก็ไม่ได้ เพราะชีวิตมันต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ มันต้องแก้ไขไปทีละอย่าง” เธอกล่าว
 
"กัลยา" ยังกล่าวต่อว่า ตัวเธอวางแผนว่าจะสอบเข้ารับราชการในอนาคต แต่ก็เกิดความกังวล ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าจะส่งผลต่อการสมัครเข้ารับราชการมากน้อยแค่ไหน ในตอนนี้มีสิทธิสอบแล้วแต่ถ้าสอบผ่านแล้วมีการเรียกบรรจุราชการขึ้นมา แล้วกรรมการตรวจสอบพบว่า คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด ก็อาจส่งผลกระทบให้ไม่สามารถรับราชการได้
 
เมื่อพ่อแม่ใจสลาย 
 
เนื่องจากทะเบียนบ้านของ "กัลยา" ยังอยู่ที่บ้านเกิดในต่างจังหวัด และหมายเรียกก็นำส่งจากสุไหงโก-ลก ไปยังบ้านตามทะเบียนบ้านของเธอ ผู้ที่ได้รับหมายฉบับนี้ คือ “พ่อกับแม่” แม้ทั้งพ่อกับแม่จะมีทัศนคติทางการเมืองที่ตรงกับลูก แต่หมายเรียกในคดีใหญ่และเป็นคำสั่งให้ต้องเดินทางไกลก็ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของครอบครัวเป็นธรรมดา
 
“ตำรวจมาที่บ้านสี่ถึงห้าคน เขาพูดดีหมดนะ เขาบอกให้ใจเย็นๆ มันเป็นหมายเรียกไม่ใช่หมายจับแต่เป็นข้อหาที่รุนแรงมาก เพราะในมาตรา 112 มันเขียนว่า อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี แม่เราก็ตกใจ เขาอายุ 60 กว่าแล้ว เขาก็ช็อค กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้ตลอด เราก็ต้องตั้งสติแล้วบอกให้แม่ใจเย็นๆ พ่อก็ไม่พูดอะไรเลย โทรมาให้กำลังใจเราแต่ ณ จุดๆ นั้นเรารู้ว่าเขาใจสลาย กลัวลูกติดคุก” ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เล่า
 
“นอกจากคนที่มาแจ้ง ก็มีพ่อแม่ เพื่อนที่สนิทกับแฟนที่รู้ว่าเราโดน มันเป็นคดีอาญายอมความไม่ได้ เราไม่อยากให้ใครมาเครียดกับเรา แค่พ่อแม่ก็มากพอแล้ว ตอนนี้ก็คือบอกพ่อแม่ว่าคดีจบแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่จบ เพราะอยากให้เขาสบายใจ”
 
4 ข้อความพาดพิงกษัตริย์ฯ 
 
ข้อความที่เป็นเหตุทำให้ "กัลยา" ต้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) มาจากการโพสเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ ซึ่งข้อความแรกมาจากการคอมเมนท์ในเพจแนะนำหนังเรื่อง The Treacherous ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลีที่มีพฤติกรรมไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนและหมกหมุ่นแต่เรื่องเพศ โดยเธอแสดงความคิดเห็นไปว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม ในเมื่อเป็นคนยังไม่ได้เลย” คอมเมนต์ของเธอมีคนกดถูกใจเป็นจำนวนมากและยังเป็นท็อปคอมเมนท์ของโพสต์นั้นอีกด้วย
 
หลังจากนั้นจึงมีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนอื่นมาคอมเมนต์กล่าวหาทำนองว่า เธอต่อว่าพระมหากษัตริย์ของไทย ทำให้รุ่นน้องของ "กัลยา" ไปรุมต่อว่าบุคคลนั้น จนเป็นเหตุความขัดแย้งขึ้น เธอคาดการณ์ว่า เหตุการณ์นั้นอาจทำให้คนที่มาคอมเม้นต์ต่อกันบนเฟซบุ๊กไม่พอใจ และเก็บรายละเอียดผ่านเฟซบุ๊กเรื่อยๆ จนกระทั่งไปแจ้งความกับตำรวจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ผู้กล่าวหาคดีนี้ ชื่อ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ซึ่งนอกจากคดีนี้แล้วยังเป็นผู้ริเริ่มกล่าวหาคดีมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจภูธรสุไงโก-ลก นี้ไปแล้วอย่างน้อย 5 ราย
 
อีกข้อความหนึ่ง เป็นรูปภาพที่ "กัลยา" โพสต์ลงเฟซบุ๊กตั้งแต่แบบสาธารณะจากการไปร่วมกิจกรรมชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เป็นภาพถ่ายที่มีข้อความสเปรย์พ่นไว้บนพื้นถนน ซึ่งมีคนกดถูกใจเป็นจำนวนมาก
 
นอกจากนี้ "กัลยา" ยังดูดำเนินคดีจากการแชร์อีกสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในวันที่เจ้าหน้าที่มีการยิงกระสุนยางครั้งแรก โดยใช้แคปชั่นว่า “กระสุนพระราชทานเข้าหนึ่ง” และอีกครั้งเป็นการแชร์โพสต์จากธนวัฒน์ วงค์ไชย แล้วบรรยายว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 สิแล้วจะเล่าให้ฟัง”
 
1,206 กม. จากกรุงเทพไปสุไหงโก-ลก 
 
เนื่องจาก "กัลยา" ได้รับหมายวันที่ 6 มิถุนายนแต่หมายให้ไปรายงานตัวในวันรุ่งขึ้นจึงทำให้เธอไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวได้ทันวันดังกล่าว ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงประสานงานขอเลื่อนนัดหมายไปเป็นวันที่ 22 มิถุนายน 2564 แทน "กัลยา" เล่าว่า ครั้งแรกที่เดินทางไปยังสุไหงโก-ลกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหานั้นกระทบต่อชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะช่วงนั้นโควิดยังระบาดหนักทำให้สนามบินนราธิวาสปิด เธอจึงต้องนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพไปลงสนามบินหาดใหญ่ไปกับเพื่อนและแฟนรวมสามคน แล้วเช่ารถขับไปสุไหง-โกลกตั้งแต่เวลาตีสามเพื่อไปให้ทันเวลานัดหมายในตอนเช้า ทำให้หมดค่าใช้จ่ายไปกว่าสองหมื่นบาท
 
แม้ในตอนนี้สนามบินนราธิวาสจะเปิดแล้ว แต่การเดินทางไปที่นั่นก็ยังส่งผลกระทบในด้านการทำงาน เพราะว่า "กัลยา" เองไม่ได้เปิดเผยถึงเรื่องการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กับที่ทำงาน ทำให้การไปรายงานตัวในคดีแต่ละครั้ง "กัลยา" ต้องลาป่วยหรือลาโดยไม่รับเงินเดือนเพื่อเดินทางไปรายงานตัว การเดินทางไปยังพื้นที่ทางใต้สุดของประเทศแต่ละครั้งก็ต้องลางานสามวันเพื่อเดินทางไปหนึ่งวัน และเดินทางกลับอีกหนึ่งวัน เพราะสนามบินนราธิวาสมีเที่ยวบินแค่ไฟลท์เดียวต่อวัน และปกติบินแค่วันจันทร์ พุธ ศุกร์ โดยนัดครั้งต่อไปคือวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เพื่อสืบพยาน
 
เมื่อสอบถามไปยังท่าทีของตำรวจ "กัลยา" ตอบกลับมาว่า “ตำรวจดีทุกคน เขาคิดเห็นเหมือนเรานะ เขามองว่าเด็กสมัยนี้หูตาสว่างแล้ว ไม่ได้เป็นเหมือนสมัยก่อน ตำรวจทุกคนพออ่านสำนวนอ่านข้อความของเรา ไม่ว่าจะเป็นที่โรงพักหรือที่ศาลนราธิวาส เขาส่ายหัวแบบเหมือนรู้ว่าเราโดนแกล้ง เขารู้สึกว่ามันไม่เข้าข่าย ตอนแรกเรามองว่าสามจังหวัดชายแดนใต้มันน่ากลัว เราไม่เคยไป แต่พอไปถึงตำรวจพูดดีหมดเลย ตำรวจที่ศาลเอาใจช่วยเป็นกำลังใจให้ เพราะว่าในขณะที่เขาทำหน้าที่เขาก็พูดไม่ได้ เขาก็ได้แต่เอาใจช่วยเป็นกำลังใจให้”
 
ครั้งแรกที่ไปรายงานตัว เป็นการไปตามหมายเรียกก็จริง แต่พอไปถึงตำรวจก็พาตัวไปเข้ากระบวนการฝากขังแล้ว หากตอนนั้นไม่มีทนายไปด้วยก็อาจไม่สามารถทำเรื่องประกันตัวได้ทัน ในขณะที่ไปรอกระบวนการในชั้นฝากขังก็ต้องไปนั่งรอตรงใต้ถุนศาล ซึ่งข้างๆ กับที่นั่งรอเป็น “ห้องขังที่ห่างแค่เพียงเอื้อมมือ” ที่มีคนอยู่เจ็ดถึงแปดคนเพื่อรอประกันตัว ระหว่างนั้นเธอกินอะไรไม่ลงเลย แม้ว่าจะได้รับกำลังใจดีๆ มาล้นหลามแต่พอเห็นห้องขังก็เกิดความกลัวและกังวลขึ้นมา
 
ความรู้สึกต่อ 112 
 
ในฐานะหนึ่งในผู้ที่โดนฟ้องด้วยมาตรา 112 "กัลยา" กล่าวว่า รู้สึกเหมือนมาตรานี้สามารถใช้กลั่นแกล้งได้ ใครจะเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ก็ได้ โดยมีโทษทางกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี หากคนที่โดนฟ้องด้วยมาตรานี้เกิดความรู้สึกรับไม่ได้อาจจะทำให้คิดสั้นได้ เพราะโทษแรงเท่ากับฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาทั้งที่เพียงแค่เห็นต่าง คิดต่าง รวมถึงยังแสดงความเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ในขณะนี้
 
นอกจากนี้ "กัลยา" ได้เปิดเผยว่า การโดนคดีมาตรา 112 ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้อุดมการณ์ของเธอเปลี่ยนไป ยังคงติดตามข่าวสารบ้านเมืองและข่าวการชุมนุมอยู่เสมอ เพียงแค่ไม่ได้มีการแชร์หรือไปเข้าร่วมชุมนุมแล้ว ซึ่งการต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้นยิ่งทำให้เธอรู้สึกเหมือนโดน “ปิดกั้น” การใช้เสียงของตัวเอง พร้อมทิ้งท้ายว่า “แค่ยกเลิก 112 เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับคนที่โดน ขอแค่นี้” 
Article type: