1747 1785 1027 1494 1039 1545 1124 1362 1242 1639 1527 1219 1837 1755 1369 1501 1570 1509 1404 1055 1843 1041 1492 1292 1875 1189 1960 1457 1608 1354 1872 1094 1139 1039 1606 1987 1695 1415 1431 1921 1638 1709 1519 1394 1378 1104 1603 1691 1802 1285 1826 1857 1299 1707 1979 1036 1738 1213 1912 1384 1355 1539 1688 1700 1961 1898 1257 1306 1025 1286 1641 1620 1068 1636 1441 1270 1509 1754 1039 1687 1440 1786 1338 1252 1105 1367 1863 1124 1822 1912 1781 1058 1991 1487 1266 1030 1758 1402 1909 ความรู้สึกผู้ค้าขายในพื้นที่แยกดินแดง หลังการสลายการชุมนุมต่อเนื่องหลายวัน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ความรู้สึกผู้ค้าขายในพื้นที่แยกดินแดง หลังการสลายการชุมนุมต่อเนื่องหลายวัน

ตั้งแต่วันที่ 7-17 สิงหาคม 2564 เป็นจำนวนกว่า 6 ครั้งแล้วที่เกิดการปะทะกันด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ประทัดและพลุ ระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน กับผู้ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลจำนวนหนึ่ง และเหตุการณ์ก็มักเกิดขึ้นบริเวณแยกดินแดงทางที่จะออกสูาถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อไปยัง "ราบ1" ที่ตั้งของบ้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนกลายเป็น "สมรภูมิ" ที่เป็นภาพจำของจุดปะทะ 
 
ในช่วงครั้งแรกๆ ของเหตุปะทะ เราได้พูดคุยกับเจ้าของร้านค้าที่อยู่ตามทางถนนราชวิถี ใกล้แยกดินแดงถึงผลกระทบและความรู้สึกต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ พวกเขาเป็นประชาชนคนไทยที่มีสิทธิมีเสียง แม้ไม่ได้ร่วมการชุมนุมด้วย และไม่ได้มีส่วนร่วมกับการปะทะกับตำรวจด้วย แต่ก็เป็นคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องแบกรับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยไม่มีทางเลือก
 
1905 ภาพ : Thikamporn Tamtiang

 

๐ สมกิจ ร้านอาหารตามสั่ง วัย 55 ปี 

 
“ผมก็เปิดประตูเล็กไว้บานนึงแล้วออกมาดู เพราะว่าช่วงแรกเขายิงกันอยู่บริแยกดินแดง แต่วันที่ 7 เขายิงกันมาถึงบริเวณนี้[หน้าร้าน] เพราะเขายิงมาจากบนสะพาน แล้วมันมาไกล”
 
“ชุดแรกที่เขายิงมาเรายังไม่ทันรู้ เพราะรถมันก็ยังติดอยู่แต่เขาก็ยิงมาก่อน เราก็ล้างหน้า ไม่หายต้องรอสักพักหนึ่ง”
 
“ก็แสบตา ล้างหน้าล้างอะไร แล้วก็มีกลุ่มน้องๆที่เป็นอาสาพยาบาลเอาน้ำเกลือมาราดๆให้เรา เขาจะมีหน่วยของเขามาจอดตรงนี้พอดี เขาก็เดินไปเดินมา เดินกระจายตัวอยู่ คล้ายๆว่า จุดนี้เป็นจุดที่ใครโดนกระสุนยางก็จะมาปฐมพยาบาล”
 
“ที่ให้ได้ก็คือน้ำ เพราะเขาต้องการน้ำมาก พอดีเรามีก๊อกอยู่ตรงนี้[หน้าร้าน] เพราะเขาแสบตากันแล้วน้ำมันไม่พอ ก็ให้เขามารองเอา”
 
“ผมนึกถึงว่ามันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ก็คนเขาเดือดร้อน คนเขาแสบตาหิ้วปีกกันมา”
 
“เห็นเพื่อนอยู่ร้านทองบอกว่าอยู่ชั้นห้าก็ได้กลิ่น แต่ตอนนั้นเราอยู่ข้างล่างคอยดูเพราะเป็นห่วง กลัวว่าจะมีฟืนมีไฟ”
 
“เราก็ค้าขายไม่ได้ แล้วก็ต้องปิดร้านเร็วกว่าทั่วๆ ไปลูกค้าก็น้อยคนก็น้อย”
 
“ในส่วนของผู้ชุมนุมเขาประกาศให้ยุติแล้วก็ควรจะเลิก ในส่วนของตำรวจบางทีเขายังไม่ทำอะไรก็ยิงก่อนแล้ว ผมก็คิดว่าถ้าไม่ไปยุ่งกับเขาแล้วปล่อยเขาไปตามเรื่องตามราวเดี๋ยวเขาก็กลับ ความคิดส่วนตัวของผมอะนะเท่าที่เห็นจากเด็กๆ เมื่อปีก่อนเขาจะไปไหนก็ตาม พอเขาไปถึงที่ปุ๊บ สามทุ่มเขาก็กลับ พอคุณไปขวางเขามันก็จะเกิดการปะทะ”
 
“ไม่มีชุมนุมการค้ามันก็แย่อยู่แล้ว เพราะให้ห่ออย่างเดียวห้ามนั่ง แต่พอมีชุมนุมมันทำให้เราต้องรีบปิดร้าน และมันเสี่ยงต่ออันตราย”

 

๐ประยุทธ์ ร้านอุปกรณ์จักรยานยนต์ วัย 65 ปี

 
“ผลกระทบคือแก๊สน้ำตาเข้ามาในร้านเลย”
 
“ก็โดนแก๊สน้ำตา เอาน้ำล้างธรรมดา ผมไม่ได้โดนเต็มๆ ถ้าโดนเต็มๆก็อีกเรื่องหนึ่ง”
 
“ตั้งแต่ 5 โมงเลยจนถึงทุ่มหนึ่ง ไม่ได้ค้าขายเลย”
 
“เขาชุมนุมเพื่อประเทศชาติ แต่ตำรวจมาทำหน้าที่เพื่อเจ้านาย ถ้าเขาสั่งให้ทำผิดก็จะทำหรอ”
 
“ถ้าคิดว่าผู้ชุมนุมทำผิดกฏหมายเนี่ยนะ หัวหน้าเขาปฏิวัติขึ้นมาก็ผิดกฏหมายไหม ถ้าหัวหน้าเขาปฏิวัติมา แล้วยึดอำนาจมาแล้วผิดกฏหมาย ทำไมถึงไม่ไปจับเขาละ”
 
“ไม่ควรรุนแรงเพราะมันคุยกันได้ ขอให้เอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน ไม่ใช่ว่าคุณเป็นคนถือกฏหมายแล้วคุณไปยัดเยียดข้อหาให้ผู้ชุมนุมอันนี้มันไม่ถูกต้อง”
 
 

๐ พี ร้านผลไม้ วัย 70 ปี

“ขายตรงนี้มาสี่สิบสามปีแล้ว วันนั้นอยู่ทั้งวันจนเขา[ควบคุมฝูงชน] เลยไป”
 
“วันที่ 7 ผมก็เข้าไปเร็ว เพราะนั่งล้างหน้าตาให้เด็ก ผมเห็นเด็กมันเลยไปแล้วผมก็เก็บสายยาง ผมไม่ได้คิดอะไร สงสารมัน แสบตา แต่ผมไม่เป็นอะไร ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เป็นอะไร กระสุนเต็มหมด ตรงนี้ควันกลบหมดทั้งข้างหน้าข้างหลังผม ควันเข้าตาแสบกันเป็นแถวเลย”
 
“เราก็คิดว่าเขาก็เป็นคนไทยเหมือนกันทั้งหมด เราก็สงสารทั้งหมด ทั้งตำรวจด้วย เด็กด้วย”
 
“ทีแรกเขา [ควบคุมฝูงชน] ยิงมาตรงหน้าร้านเรา เราก็เอาตะกร้าผลไม้ไปวางไว้ว่าตรงนี้ร้านขายของ ไปวางข้างหน้าร้านเลย”
 
“โมโห ยิงอะไรนักหนา นักข่าวมันดึงผมบอกลุงๆ ไม่เอาๆ เดี๋ยวเขายิงมา มันยิงตลอดเวลา ยิงไม่รู้จักจบ ผมก็ยังเอาออกไปวาง โยนออกไปเลย เราต้องการสื่อให้เขารู้ว่าตรงนี้มันเป็นร้านค้าของเรา เราไม่มีเจตนาที่จะไปทำอะไรเลย เราค้าขายทำมาหากินของเรา แต่เด็กเขามาอาศัย คนเขามาอาศัยอยู่ตรงนี้ นักข่าวก็มาหลบตรงนี้จะให้ทำยังไง คุณจะมายิงใส่ร้านผมไม่ได้”
 
“ข้างหน้ามีแต่เด็กตีกันยาวไปถึงนู่น เด็กจริงๆ ตำรวจมองเห็นหน้าแล้วประมาณยี่สิบกว่า ยี่แปด ยี่เก้า สามสิบกว่านิดหน่อย เราคนแก่เนี่ยเสียใจไหม เสียใจนะ เพราะว่าพวกเราคนแก่จะไม่มีปัญญาห้ามเด็กได้ แต่คนที่จะห้ามเด็กได้คือผู้ใหญ่อย่างท่านนายกคนเดียว”
 
“เกิดมาอายุ 70 ปีแล้วผมไม่เคยพบเคยเห็นเลยผมสงสารเด็กมาก ผู้ใหญ่คิดยังไงให้เด็กตีกันได้ ผมพูดต่อหน้าตำรวจนั่นแหละ เขาไม่ตอบ เขาก็เฉยๆ”
 
“ผมไม่แสดงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ผมแสดงถึงคำพูดของเขาเองว่าไม่อยากเป็นนายก เมื่อพูดเองว่าไม่อยากเป็น เขามาไล่ ก็ไปซะก็ แค่นั้น ไม่อยู่คนอื่นเขาก็ทำได้ บ้านเมืองอะ ไม่ได้มีแต่เราคนเดียว”
 

๐ ป้าร้านขายของทอดวัย 67 ปี

 
“ป้าไม่โดนแก๊สน้ำตาเพราะมีรถเมล์มาจอดกันไว้ เลยไม่โดน ...ป้ากลับไม่ได้ ป้าอยู่ซอยนู้น [ชี้ไปทางป.ป.ส.] แล้วรถมันเต็มเลย คนก็เยอะกลับไม่ได้”
 
“บนสะพานลอยเต็มไปหมดคนน่ะ แล้วตำรวจก็อยู่ตรงนี้ [ซ้ายมือของร้าน] ถือปืนถืออะไร ยิงอย่าเดียว ยิงแก๊สน้ำตา ยิงปืนอย่างเดียว
 
“ได้ออกจากบริเวณทุ่มเกือบสองทุ่ม พอเขาไปหมดแล้วถนนว่างๆ ป้าก็รีบเข็นหนีไปก่อน”
 
“ขายไม่ได้แล้ว มันเละไปหมดแล้วถนนนะ”
 
“อยากบอกตำรวจนะว่าทำอะไรให้ทำให้เบาๆหน่อย คนเหมือนกัน คนไทยเหมือนกัน เขามาขอร้องแค่ว่าให้นายกลาออกแค่นั้น อย่าไปทำเขาร้ายแรง แล้วพอเขาโต้ตอบก็หาว่าเขาต่อสู้ พวกม็อบต่อสู้อะไรอย่างนี้ ตำรวจเอาแต่ตัวเองรอด ม็อบผิดหมด”
 
“ตั้งแต่ประยุทธ์เข้ามาอยู่เนี่ยบ้านเมืองไม่สงบเลย มีแต่โทรมลง โทรมลง ไม่มีอะไรเจริญเลย”
 
Article type: