1441 1793 1177 1671 1816 1781 1929 1498 1711 1221 1058 1430 1068 1284 1515 1935 1264 1620 1752 1585 1179 1282 1170 1379 1072 1427 1244 1877 1193 1256 1196 1665 1918 1902 1574 1236 1853 1863 1298 1905 1843 1502 1188 1399 1540 1089 1845 1196 1038 1431 1584 1366 1185 1460 1471 1856 1695 1400 1737 1264 1453 1012 1108 1060 1306 1759 1158 1327 1354 1828 1150 1138 1041 1729 1336 1055 1347 1088 1276 1602 1640 1473 1485 1141 1587 1664 1653 1583 1339 1472 1305 1466 1595 1107 1704 1454 1068 1141 1728 ตำรวจดุ ศาลเข้ม : รวมข้อมูลนักกิจกรรมที่ถูกส่งเข้าเรือนจำ ในเดือนสิงหาคม 2564 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ตำรวจดุ ศาลเข้ม : รวมข้อมูลนักกิจกรรมที่ถูกส่งเข้าเรือนจำ ในเดือนสิงหาคม 2564

ในเดือนสิงหาคม 2564 ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของโควิด19 และอุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองถูกส่งเข้าเรือนจำอย่างน้อย 11 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ที่ถูกยกเลิกสัญญาประกันในคดีมาตรา 112 หนึ่งคน เป็นผู้ถูกฝากขังในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์คดีใหม่หนึ่งคน ส่วนที่เหลืออีกเก้าคน ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยข้อกล่าวหาฐานชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ   
 
ทั้งนี้การเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายของกลไกตามกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจและศาลในเดือนสิงหาคม 2564 ดูจะเกิดขึ้นสอดคล้องกัน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึง 17 สิงหาคม 2564 ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่แยกดินแดงใกล้กรมทหารราบที่ 1 อย่างน้อย 8 ครั้ง การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และพื้นที่แยกนางเลิ้ง ใกล้ทำเนียบรัฐบาลก็ถูกใช้กำลังเข้าสลายอีกที่ละหนึ่งครั้ง ด้วยอุปกรณ์พิเศษทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยาง รถฉีดน้ำแรงดันสูงสลับกันไป รวมทั้งเครื่องขยายเสียงคลื่นความถี่สูง (LRAD) โดยอ้างเหตุว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงกับตำรวจ ทำลายทรัพย์สินราชการ รวมทั้งพยายามฝ่าแนวป้องกันที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้
 
ตำรวจยังคงเดินหน้าออกหมายเรียก และออกหมายจับผู้ต้องหาจากการชุมนุมให้ต้องมีภาระทางคดีความมากขึ้น ขณะที่ศาลเองก็เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมตัวผู้ต้องหาเช่นเดียวกับตำรวจ โดยเมื่อตำรวจนำตัวผู้ที่ถูกจับกุมจากการร่วมการชุมนุมไปขออำนาจศาลฝากขัง แนวโน้มการส่งตัวเข้าเรือนจำก็มีสูงขึ้น และขยายไปยังความผิดอื่นนอกจากคดี มาตรา112 ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาและจำเลยส่วนใหญ่จะได้ประกันตัว
 
 
1944
 
 
ศาลจังหวัดธัญบุรียกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้ากองบังคับการตชด. ภาค 1
 
ผู้ต้องหา 9 คน ถูกออกหมายจับจากการชุมนุมที่หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เรียกร้องให้ตำรวจปล่อยผู้ต้องหากลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนรวม 32 คน ที่ถูกจับระหว่างร่วมการชุมนุมที่หน้าสโมสรตำรวจในวันเดียวกัน ผู้ต้องหาแปดคนเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน ในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะที่ผู้ต้องหาอีกหนึ่งคนถูกจับกุมตัวตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม หลังเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกดินแดงกลับกลุ่ม Free Youth เยาวชนปลดแอก โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
 

พรหมศร วีระธรรมจารี (ฟ้า) เข้ามอบตัววันที่ 8 สิงหาคม 2564 พรหมศรเป็นสมาชิกกลุ่มราษฎรมูเตลู ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 4 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)


แซม สาแมท ถูกจับตัวหลังเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ7สิงหา ของ #เยาวชนปลดแอก แซมเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เคยถูกคุมขังชั้นสอบสวนในคดี #ม็อบ28กุมภา ของกลุ่ม REDEM

พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิ้น) เข้ามอบตัววันที่ 8 สิงหาคม 2564 พริษฐ์เป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 20 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)

ณัฐชนน ไพโรจน์ เข้ามอบตัววันที่ 8 สิงหาคม 2564 ณัฐชนนเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 2 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)
.
สิริชัย นาถึง (นิว) เข้ามอบตัววันที่ 8 สิงหาคม 2564 สิริชัยเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 1 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)
 
ชาติชาย แกดำ (บอย) เข้ามอบตัววันที่ 9 สิงหาคม 2564 ชาติชายเป็นอดีตสมาชิกกลุ่ม YPD เคยร่วมเคลื่อนไหวกับภาคีsaveบางกลอย และกลุ่มราษฎร
 
ภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) เข้ามอบตัววันที่ 9 สิงหาคม 2564 ภาณุพงศ์เป็นสมาชิกแนวร่วมภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 9 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)

ปนัดดา ศิริมาศกูล (ต๋ง) เข้ามอบตัววันที่ 9 สิงหาคม 2564 ปนัดดาเป็นสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า

นพัฒน์ กาเพ็ง (ปูน) เข้ามอบตัววันที่ 9 สิงหาคม 2564 เป็นสมาชิกกลุ่มราษฎรเอ้ย และกลุ่มทะลุฟ้า 

ผู้ต้องหาทั้งเก้าคนถูกตั้งข้อกล่าวหาหลัก 5 ข้อ ได้แก่

1. มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรค 1 และ 3 (ผู้ต้องหาที่สอง แซม สาแมทถูกตั้งข้อกล่าวหาเพียงวรรคหนึ่ง แต่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ)

2. ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดฯ ตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 8

3. ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงการแพร์โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 8

4. ร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ระบาดออกไปฯ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558มาตรา 35,51,52

5. ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดฯ ตามคำสั่งจังหวัดปทุมธานีที่ 7022/2564 เรื่องกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 
นอกจากนี้ก็มีข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตั้งตามพฤติการณ์เฉพาะของผู้ต้องหาบางคน ได้แก่
 
ข้อหาร่วมกันทำโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง (ผู้ต้องหาที่สอง แซม สาแมทและผู้ต้องหาที่ห้า สิริชัย ไม่ถูกตั้งข้อหานี้)

ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ประกอบมาตรา 289 (ผู้ต้องหาที่หนึ่ง พรหมศร ผู้ต้องหาที่สาม พริษฐ์ ผู้ต้องหาที่หกชาติชาย และผู้ต้องหาที่เก้า ธนพัฒน์ ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหานี้)
 
ทั้งหมดถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรีในวันที่ 9 สิงหาคม 2564   ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดปล่อยตัวชั่วคราวโดยอ้างเหตุ ดังนี้
 
"ผู้ต้องหาได้กระทำการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมในภาวะที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงกว้าง ทั้งที่ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอื่นอันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย หากปล่อยชั่วคราวไปเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงยกคำร้อง" 
 
ในส่วนของพริษฐ์ นอกจากจะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว ในวันเดียวกันศาลอาญายังมีคำสั่งให้ยกเลิกสัญญาประกันที่เขาทำไว้กับศาลอาญาในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยไม่ทำการไต่สวน
 
หลังศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งยกคำร้อง ปนัดดาซึ่งเป็นผู้ต้องหาหญิงเพียงคนเดียวถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานบําบัดพิเศษหญิง ซึ่งตั้งอยู่ที่คลองห้า ปทุมธานี โดยทนายที่เข้าเยี่ยมปนัดดาระบุว่าการกักตัวตามมาตรการป้องกันโควิด19 ของทัณฑสถานหญิงปทุมธานีจะให้ผู้ต้องขังแยกตัวอยู่คนเดียวในห้องขัง
 
สำหรับผู้ต้องหาชายอีก 8 คน ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต ซึ่งเป็นเรือนจำที่เพิ่งถูกจัดตั้งขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 สมศักดิ์ เทพสุธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงนามในประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กำหนดอาณาเขตชั่วคราวเรือนจำรังสิต มีสาระสำคัญว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 จึงจำเป็นต้องจัดหาผู้ต้องขังใหม่ จึงกำหนดให้พื้นที่บางส่วนของสถานกักขังกลางปทุมธานี เป็นเรือนจำชั่วคราวโดยให้สังกัดเรือนจำธัญบุรี 
 
หลังผู้ต้องหาชายทั้งแปดคนถูกควบคุมตัวที่เรือนจำนี้ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 พวกเขาได้รับการตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งผลของผู้ต้องหาทั้งแปดออกมาเป็นลบ ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2564 ธนพัฒน์ กาเพ็ง หนึ่งในผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทางเรือนจำจึงตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK อีกครั้งหนึ่ง พบว่าผลตรวจของธนพัฒน์เป็นบวก ทางเรือนจำจึงทำการตรวจหาเชื้อผู้ต้องขังที่อยู่ร่วมห้องกับธนพัฒน์ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เพจเฟซบุ๊กของพริษฐ์ซึ่งมีแอดมินเป็นผู้ดูแลโพสต์ข้อความว่า พริษฐ์คิดโควิด เช่นเดียวกับผู้ต้องขังคดีเดียวกันได้แก่พรหมศร ศิริชัย และธนพัฒน์ซึ่งได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านั้นแล้ว 
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเคยเดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีนี้เคยให้ข้อมูลไว้กับประชาไทว่า การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำนี้เป็นไปอย่างยากลำบากโดยเฉพาะปัญหาความไม่พร้อมของสถานที่อย่างระบบอินเทอร์เน็ตที่ช้าจนทำให้การพูดคุยกับผู้ต้องขังหลุดอยู่บ่อยๆ นอกจากนั้นก็มีการยืนยันด้วยว่าทนายศศินันท์ ทนายความอาสาของศูนย์ฯก็ติดเชื้อโควิดหลังเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่เรือนจำนี้ด้วยเช่นกัน โดยหลังเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทนายศศินันท์ป่วยเป็นหวัดและเมื่อทราบว่ามีเจ้าหน้าที่เรือนจำเจ็ดคนติดเชื้อ เธอจึงตรวจโควิดด้วยชุด ATK และพบว่าผลเป็นบวก  ต่อมาทางกรมราชทัณฑ์ก็ยืนยันข่าวนี้เช่นกัน 
 
 
ขังไผ่ ศาลเกรงจะไปก่อภยันตรายหากได้รับการปล่อยตัว
 
วันที่ 9 สิงหาคม 2564 จตุภัทร์หรือไผ่เดินทางเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง หลังทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับในข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ซึ่งทรัพย์สาธารณะ เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จตุภัทร์กับพวกนัดหมายประชาชนชุมนุมที่หน้าสน.ทุ่งสองห้อง ระหว่างการชุมนุมมีผู้ชุมนุมนำสีสเปรย์มาพ่นทับป้ายสถานีตำรวจทุ่งสองห้อง หลังเข้ารายงานตัว พนักงานสอบสวนทำการฝากขังจตุภัทร์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์โดยระบุเหตุผลว่า 
 
"ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีกจำนวนมาก ทั้งเมื่อได้รับการปล่อยชั่วคราวจากศาล โดยศาลได้กำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหาที่ 1 ไปทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ต้องหาที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข จนพนักงานสอบสวน ได้มีหนังสือเพื่อขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 ที่ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาลนี้ไป กรณีมีเหตุเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 จะมีเหตุหลบหนี หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 ให้ยกคำร้อง" 
 
จตุภัทร์ ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ซึ่งเป็นสถานที่กักตัวเพื่อดูอาการของโรคโควิด หากครบ 14 วันแล้วก็จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
ต่อมาทนายความยื่นขอประกันตัวจตุภัทร์ใหม่ ศาลมีคำสั่งในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ว่า "อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะแผนกคดีค้ามนุษย์ ได้ร่วมประชุมปรึกษาคดี แล้วมีมติเห็นว่า แม้จตุภัทร์จะไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขของศาล แต่หลังจากได้รับประกันตัวได้เข้าร่วมชุมนุมหลายครั้งจนถูกดำเนินคดีอาญาหลายคดี ในการชุมนุมบางครั้งมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม บางครั้งมีการสาดสีใส่สถานีตำรวจหรือที่ทำการพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการก่อให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย พอจะถือได้ว่าเป็นการก่อภยันตรายประการอื่นตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 (3) อันเป็นเหตุให้ศาลสามารถเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้ทราบล่วงหน้า" 
 
 
ทนายอานนท์ เข้าเรือนจำหลังปราศรัยในโอกาสครบรอบ 1 ปี ม็อบแฮรีพ็อตเตอร์
 
“เป็นปีสุดท้ายที่จะพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว หลังจากนี้อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด พวกคุณไม่มีทางห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้ขึ้นได้หรอก คุณห้ามความคิดคนไม่ได้ จะใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธมากแค่ไหน คุณก็ฆ่าพวกเราตายไม่ได้หมดหรอก การต่อสู้ต่อไปนี้มันจะมีความหมายมากๆ เพราะมันไม่ใช่อีเวนท์ ไม่ใช่กิจกรรมสัมมนาแล้วกลับ แต่ทุกการชุมนุม คือการเอาชีวิตเข้าแลก เอาความเจ็บปวดเข้าแลก ไปเสี่ยงกับกระสุน เสี่ยงโควิด ที่เรียกว่าสู้ตาย”
 
คือตอนหนึ่งจากการปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน ซึ่งเป็นการชุมนุมในโอกาสครบรอบ 1 ปี การชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ของวันเดียวกันเมื่อ 1 ปีก่อน ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งแรกที่มีการนำประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาปราศรัยในการชุมนุมอย่างเปิดเผย
 
หลังขึ้นปราศรัย ทนายอานนท์ถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ 13 ของเขา หลังทราบว่า ตัวเองถูกออกหมายจับ ทนายอานนท์เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนในช่วงค่ำวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ตามคำบอกเล่าของทนายความ กระบวนการสอบสวนทนายอานนท์แล้วเสร็จตั้งแต่คืนวันที่ 9 สิงหาคมแล้ว แต่ปรากฎว่าในวันที่ 10 สิงหาคม พนักงานสอบสวนก็ยังไม่นำตัวทนายอานนท์ไปส่งต่อศาล ทนายความได้ขอประกันตัวทนายอานนท์กับพนักงานสอบสวนในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า อานนท์เป็นแกนนำหลักในการชุมนุม และการชุมนุมหลายครั้งมีการกระทำความผิด อีกทั้งขณะนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด หากปล่อยตัวไปก็อาจมีการยุยงให้รวมกลุ่มหรือจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด นอกจากนี้ยังอาจไปยุยงให้เกิดความไม่สงบ
 
จากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม ทนายอานนท์ถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทนายอานนท์ คำสั่งซึ่งลงนามโดย อาคม รุ่งแจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงและพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก และมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลอาญาด้วย จึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว      
 
หลังจากนั้นทนายอานนท์จึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางเช่นเดียวกับไผ่จตุภัทร์

 

 

 

Article type: