- iLaw Website
- Documentation Center
ป้ายผ้าลำปาง กับความฝันที่อยากเห็นประเทศดีขึ้น
“งบสถาบันกษัตริย์ > วัคซีน COVID 19”
ปลายปี 2563 ปรากฏประโยคนี้บนป้ายผ้าดิบ ตัวอักษรเขียนด้วยสีดำและแดง แขวนบนสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง แต่ไม่นานหลังจากนั้น หมายเรียกตามกฎหมายอาญา มาตรา112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ก็ถูกส่งถึงกลุ่มนักกิจกรรมในจังหวัดลำปางทั้งห้าคน
ช่วงเช้าของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 อากาศที่ลำปางค่อนข้างเย็น ‘จอร์จ’ หรือพินิจ ทองคำ แกนนำกลุ่มพิราบขาว และ ‘โม’ หรือภัทรกันย์ แข็งขัน สองผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 มารับผู้เดินทางจากไอลอว์ เพื่อพาพักผ่อนยามเช้า ก่อนจะต้อนรับในฐานะเจ้าบ้านโดยการพาไปรู้จักกับเมืองลำปาง คดีมาตรา 112 และเรื่องราวของพวกเขากันมากขึ้น
นักกิจกรรมลำปางที่โดนคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นมีทั้งหมดห้าคน แต่หนึ่งในนั้นไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวตน เราจึงรวบรวมเรื่องราวการพูดคุยกับทั้งสี่คนเอาไว้ ก่อนวันที่ 21 เมษายน 2564 ทั้งห้าคนจะเดินทางเข้าพบอัยการที่จังหวัดลำปาง ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า คดีที่มีข้อหาเช่นนนี้จะเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการบ้าง
จอร์จ และโม นักศึกษาจากสองสถาบัน หัวใจเดียวกัน
จอร์จ เป็นเด็กหนุ่มผิวคล้ำ พื้นเทเป็นคนจากแดนใต้ที่มาเรียนในเมืองเหนือ เป็นนักศึกษาด้านปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จอร์จเป็นคนพูดเก่ง ชวนคุยได้ตลอดทั้งวัน และยิ้มกว้างสดใส การพูดเก่งของจอร์จไม่ได้มีแค่กับเพื่อนฝูงที่สนิทสนมกัน แต่ทักษะนี้ถูกนำมาใช้ในการคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
จอร์จ เล่าว่า เขามาจากครอบครัวข้าราชการ เห็นการทำงานในระบบราชการมาตลอดมันเลยทำให้ความฝันในตอนเด็กนั้นจำกัด ภาคใต้เป็นเมืองของฝ่ายขวา ฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่พอมาอยู่ภาคเหนือ ความคิดหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไป
โม วัยรุ่นอารมณ์ดีอีกคน เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเรียนราชภัฏลำปาง สาขาศิลปะและการออกแบบ เธอรวบผมเป็นหางม้าสีทองเด่น และสวมแว่นใบหน้ายิ้มแย้ม พื้นเพเป็นคนลำปางโดยกำเนิด มีความภาคภูมิใจในเมืองลำปางบ้านเกิดของเธอ
โม เล่าว่า ชีวิตที่ลำปางของเธอ ได้พบเห็นภาพที่คนที่อยู่บนดอยต้องลงจากบนเขามาในเมืองเพื่อมาโรงพยาบาล ใช้เวลาลงจากเขา 4 ชั่วโมง และต้องต่อเข้ามาในโรงพยาบาลอีกประมาณ 2 ชั่วโมง เธอรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ขณะที่คนที่อยู่อาศัยในเมืองเข้าถึงโรงพยาบาลได้ง่ายกว่า เธอจึงเกิดความสนใจประเด็นการจัดสวัสดิการของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมนี้
โม เล่าด้วยว่า เธอเป็นคนชอบศิลปะตั้งนานแล้ว ก็ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือมีทักษะทางด้านวาดรูปนิดนึงอยู่ติดตัว พ่อแม่ก็ไม่ได้ไม่สนับสนุนด้านนี้ ทุกวันนี้มีงานอดิเรกเป็นการทำกำไลลูกปัดขาย เป็นกำไลแฟชั่นสไตล์เกาหลี เพื่อจะได้ไม่ต้องขอเงินจากพ่อแม่เยอะจนเกินไป โดยเฉพาะเวลาที่มาทำกิจกรรมทางการเมือง
เหตุการณ์วันบุกค้นบ้าน
ในการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อการติดป้ายผ้า ตำรวจใช้วิธีการ “บุกค้น” ตามหมายของศาล เพื่อหาหลักฐานในการทำป้ายผ้าที่สำนักงานคณะก้าวหน้า จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 จอร์จเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ตำรวจมากันนอกเครื่องแบบประมาณ 14 นาย โดยไม่มีการแสดงบัตรแต่อยางใดว่าเป็นข้าราชการตำรวจ
“เขากล่าวหาว่าเราเข้าไปใช้ในพื้นที่ของสำนักงานคณะก้าวหน้า เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นการบ่งชี้ว่าตำรวจลุแก่อำนาจพอสมควร วันนั้นในหมายค้นระบุเลขที่อาคารผิด เขาแจ้งแค่ว่ามีหมายค้นว่า ‘พินิจ ทองคำ’ ก็คือชื่อของผม แต่เขาก็ใช้อภิสิทธิ์ในการเข้ามาเลย ก็อาคารมีสามชั้นนะตำรวจเดินขึ้นไปถึงชั้นสอง ทั้งที่เราพยายามตักเตือนเขาแล้ว บอกเขาแล้ว เขาก็ไม่ฟัง” จอร์จเล่าถึงเหตุการณ์ ที่ผ่านมาแล้วหนึ่งเดือนด้วยความรู้สึกโกรธที่ยังระอุอยู่ ไม่อาจจางหายไป
“ในวันนั้นค่อนข้างเซอร์ไพร์พอสมควรสำหรับการรับรู้ว่าเราโดน 112 นะ เพราะข้อมูลเหล่านี้มันหาได้ตามเว็ปไซด์ของทางรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังเหล่านี้มันมีข้อมูลโดยตรง เหมือนกรณีวัคซีนโควิด”
ด้านโม ก็อยู่ในเหตุการณ์การบุกค้นของตำรวจด้วย แต่เมื่อตำรวจตรวจค้นที่สำนักงานคณะก้าวหน้าแล้วก็ได้แสดงหมายค้นบ้านของโม และให้โมพาไปตรวจค้นที่บ้านด้วย
“ตอนแรกคือยังไม่ได้บอกว่าเราโดน 112 เรายังไม่โดนหมายเขาบอกว่าแค่จะไปค้นบ้านเฉยๆ ไม่มีอะไร เราก็ ‘ได้ค่ะ’ เราก็ไม่อะไรเพราะบ้านเราก็ไม่ได้มีอะไร สักประมาณ 15 นาทีก็ค้นบ้านเสร็จ พอเอกสารในค้นบ้านเรียบร้อยเขาก็เอาเอกสารเกี่ยวกับที่เราโดนหมายมายื่นกับพ่อกับแม่ นี่ก็อยู่ด้วยแต่เขายื่นให้พ่อ พ่อเลยเป็นคนรับหมายแล้วพอเห็นพ่อทำอย่างแรกก็คือพ่อหัวเราะ พ่อหัวเราะออกมาเลย หัวเราะใส่ตัวรวจด้วย ตำรวจเขาก็งงว่าพ่อหัวเราะทำไม หนูก็งงว่าพ่อหัวเราะทำไม” โมเล่าย้อนหลังด้วยความอารมณ์ดี
เมื่อถามว่า ตัวของเธอรู้สึกอย่างไรกับการได้รับหมายเรียกในคดีข้อหาร้ายแรงเช่นนี้ โมตอบว่า รู้สึกตลก คิดว่า แค่นี้จริงเหรอที่เราโดน คำว่างบสถาบันเนี่ย เป็นการหมิ่นหรอ? ก็ไม่ได้ด่าเขานี่ แค่พูดถึงเรื่องงบประมาณ
แอน และจูน ผู้ยิ้มสู้ให้กับคดีความ
หลังจากนั้นเราก็ได้พบแอน หรือยุพดี กูลกิจตานนท์ หญิงวัยกลางคนสวมเสื้อสีดำและรวบผมครึ่งศีรษะ สวมริสแบนด์คำว่า ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ และสวมสร้อย ‘หมุดคณะราษฎร 2563’ จากการพูดคุยแอนเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์บ้านเมืองมาหลายยุคที่สุด ทั้งช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 และเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ สลายการชุมนุมนปช.ในปี 2553 จนกระทั่งมาทำงานกับคณะก้าวหน้าในช่วงปี 2563
ผู้ต้องหาคนสุดท้ายในคดีนี้ที่เราได้เจอก็คือ จูน หรือวรรณพร หุตะโกวิท สมาชิกกลุ่มการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงภาคเหนือตอนล่าง (NU movement) อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร คณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ เธอมาในเสื้อโปโลสีขาวขลิบสีฟ้าอ่อน ไว้ผมบ็อบ และทาเล็บสีแดง บุคลิกมั่นใจ
จูนเล่าถึงคดีมาตรา 112 ที่เธอตกเป็นผู้ต้องหาว่า เขาบอกว่าหนูเป็นหนึ่งในคนที่เขียนป้ายแล้วไปติดป้าย วันนั้นตำรวจมาเซอร์ไพร์ตอนกำลังนอนเล่นกับเพื่อนอยู่ แล้วจู่ๆ เพื่อนก็วิ่งขึ้นมาบอกว่าตำรวจเต็มหน้าบ้านเลย
“มันเป็นเหตุผลที่ปัญญาอ่อนมากเพราะก่อนหน้านี้หนูเคยปราศรัยเรื่องสถาบันกษัตริย์ หนูคิดว่าอันนั้นน่าโดนกว่าอันนี้ ตอนแรกก็ตกใจ แต่ก็เตรียมใจมาแล้วในระดับหนึ่งว่ายังไงก็ต้องโดน พ่อแม่ก็ยังไม่ได้รับได้ 100% แต่หนูก็พูดกับเขาตลอด พยายามจูงใจเขาตลอดว่าสิ่งที่หนูโดนคือการที่หนูโดนใส่ร้าย หนูอะไม่ผิดแล้วหนูจะบอกกับอย่างนี้เขาตลอด สิ่งที่กลัวมากที่สุดไม่ได้กลัวโดนหมาย แต่กลัวที่บ้านไม่เข้าใจ พอวันนั้นแม่โทรมาว่าแม่เข้าใจนะ วันนั้นคือนั่งร้องไห้แบบแม่เข้าใจแล้ว” จูนเล่าด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
เมื่อโดนคดีแล้ว จูนมองว่าตัวเองยังโชคดีที่เพื่อนรอบตัวเข้าใจสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อโดนคดีแล้วก็มีน้องๆ จากมหาวิทยาลัย รวมทั้งอาจารย์ที่รู้จักกันรีบนั่งรถจากพิษณุโลกมาหาที่ลำปางในคืนนั้นเลย เพื่อไม่ให้เธอรู้สึกโดดเดี่ยว
ส่วนแอน ที่ไม่ได้อยู่ลำปางในวันที่ตำรวจเข้าตรวจค้น แต่ได้รับหมายเรียกภายหลัง เล่าเหตุการณ์ว่า วันนั้นมีตำรวจ 10 กว่าคนเอาหมายมาให้ที่บ้าน พี่ชายโทรมาบอกว่า ‘เขาเอาหมายมาให้นะ มึงโดน 112 นะ’ หลังจากนั้นเพื่อความสบายใจก็เลยออกมาอยู่เองไม่ได้อยู่บ้านหลังนั้นแล้ว ส่วนกระบวนการของตำรวจก็มีการซักประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจดีเอ็นเอ ถ่ายรูปให้ถือป้าย แล้วก็สอบสวน เขาบอกว่าถ้าเราไม่ให้เขาตรวจดีเอ็นเอก็เหมือนเราไม่บริสุทธิ์ใจ เขาจะเอาไปเทียบกับหลักฐานที่เขายึดไปได้ประมาณนั้น ก็เลยให้ตรวจ มีการเอาสำลีมาเก็บน้ำลายกระพุ้งแก้ม จริงๆมันก็ไม่น่าเจ็บนะ แต่เขา.. (ทำท่ากระทุ้งแก้มเหมือนเวลาแปรงฟัน)
“หัวเราะค่ะ ขำมาก การที่เราโดนหมายก็ดีใจนะ เหมือนเป็นประกาศนียบัตรว่าเราสู้มาสิบปีเราก็ได้ คือถามว่าเครียดไหม ก็ไม่เครียด แต่จะเป็นคนรอบข้างเรามากกว่าที่เครียดแทน เลวร้ายที่สุดก็คงติดคุก แต่บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ก็โอเค๊(ยิ้ม) ...ความศักดิ์สิทธิ์ของ 112 มันลดลงจากปี 53 และ 57 มันลดลงเยอะมาก มันเอามาใช้ฟุ่มเฟือยเกินไป” แอนเล่าด้วยรอยยิ้มอย่างไม่เกรงกลัวคดีความใดๆ
ในสนามกิจกรรมทางการเมือง
จูนซึ่งมีบุคลิกของความเป็นผู้นำนักกิจกรรม เล่าถึงสาเหตุที่เธอสนใจปัญหาทางสังคมการเมืองว่า เธอเริ่มทำงานจิตอาสาเหมือนเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่โรงพยาบาล ตั้งแต่ม.2 จนถึงม.6 ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการในโรงพยาบาลที่ไม่เท่าเทียมกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่กว่าจะมาโรงพยาบาลลำปางได้แต่ละครั้ง เขานั่งรถมาตั้งแต่ตีสี่ ตีห้า ต้องต่อรถกี่ต่อกว่าจะมาถึงโรงพยาบาลได้ การที่จะมาเขาต้องมั่นใจว่ามีเงินมากพอ เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่สาม อาจารย์ชวนไปทำค่ายเดินทางไปหาคนชายขอบชาติพันธุ์ ได้ไปเห็นความลำบาก ความเหลื่อมล้ำเยอะมากขึ้น
ระหว่างที่เรียนอยู่ มีเหตุการณ์พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เกิดแฟลชม็อบขึ้นทั่วทุกมหาลัยทั้งประเทศ แต่ของมน.กลับไม่มี ทำให้จูนและเพื่อนๆ ก็มาจัดตั้งกลุ่มแบบจริงๆจังๆ จัดกิจกรรมชุมนุมในมหาวิทยาลัย และขยายกลุ่มให้ใหญ่ขึ้น
ด้านโม เล่าว่า ตัวเธอสนใจในเรื่องการเมืองมากเลยนะ และอยู่ฝ่ายสนับสนุนอย่างเต็มที่ เมื่อเล่นทวิตแล้วมีกระแส Hashtag ยอดนิยม ก็เข้าไปช่วยดันให้อยู่ได้นานๆ ให้มีคนรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และเมื่อได้ลองมาทำกิจกรรมจริงๆ ก็รู้สึกว่า สนุกดี ได้รู้เรื่องอีกหลายๆเรื่องที่เราไม่ได้รู้แค่ในทวิตเตอร์ ได้มีเพื่อน
“เวลาเขาจัดม็อบเราก็ไปช่วยดู ช่วยเคลียร์พื้นที่เคลียร์สถานที่ เราชอบอยู่ด้านหลังเราชอบฟังผู้ปราศรัยไปเรื่อยๆ เราอายคอนแทคกับเขาตลอด เราอยากให้เขามีกำลังใจ เราอยากให้เขารู้ว่ามีเรานะที่ฟังเพราะว่าม็อบที่ลำปางเนี่ยคนน้อยมาก มีคนสนใจแต่ไม่กล้าเข้าร่วมมาก” โมเล่า
ด้านแอน ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด เล่าถึงบรรยากาศในอดีตว่า ช่วงปี 2535 มีเหตุการณ์นักศึกษารามคำแหงจุดไฟเผาตัวเอง แล้วก็ไม่มีใครห้ามมีแต่คนล้อมดู ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่สนใจการเมือง เริ่มหาความรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ เห็นว่า โทรทัศน์รายงานแบบหนึ่งแต่ตัวเองที่อยู่ในเหตุการณ์เห็นว่ามันไม่ใช่แบบที่เขารายงาน หลังจากนั้นแอนก็เป็นคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่การประท้วงในปี 2535 การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552, 2553 และในยุคปี 2563 เธอก็ไปร่วมชุมนุมทั้งที่ลำปางและกรุงเทพด้วย
เมื่อถามแอนว่าตั้งแต่อยู่ในเหตุการณ์ทางการเมืองมา ช่วงเวลาไหนที่เธอรู้สึกมีความหวังกับบ้านเมืองมากที่สุด เธอตอบทันทีว่า “63 เนี่ยค่ะ เพราะว่าพี่มองว่านักศึกษาเขาตื่นตัวจริง ส่วนใหญ่เขาตั้งใจมา เขามาด้วยความพร้อมที่จะมาจริงๆ”
ความใฝ่ฝันในชีวิต ถ้าหากการเมืองดีกว่านี้
โมเล่าว่า จริงๆ เธออยากเป็นครูสอนศิลปะ และจะสอนศิลปะในแบบของตัวเอง ไม่มีแบบของอาจารย์คนไหนทั้งนั้น เพราะแบบของอาจารย์ก็คือแบบของอาจารย์ แบบของเราก็คือแบบของเรา อาจารย์เขาอาจจะมีความคิดในอีกแบบหนึ่งแต่เราก็มีความคิดในอีกแบบหนึ่ง การสอนศิลปะที่โมอยากเห็น คือ การไม่ปิดกั้นความคิดเด็ก เด็กจะชอบงานอาร์ตแบบไหนก็ได้ ถ้าอยากได้ปลาเด็กจะวาดปลาแบบไหนมาส่งก็ได้ เพราะว่าเท่าที่เรียนศิลปะมาเราก็รู้ดีว่า การสอนศิลปะทำให้โดนกดยังไง เราโดนตัดทอนจากงานที่เรามาทำยังไง
“อยากเห็นลำปางพัฒนาขึ้นมากกว่านี้”
“ดูเป็นเมืองที่อบอุ่นนะแต่การพัฒนา หรือการคมนาคม การขนส่งอะไรมันยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร”
เมื่อถามถึงเส้นทางชีวิตของจูน เธอตอบว่า ถ้าหากการเมืองดี เธออาจจะไปทำงานเป็นสาว HR อยู่ตามบริษัท ไม่ต้องนั่งพะวักพะวงกับเหตุการณ์บ้านเมืองว่า วันนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะทุกวันนี้แม้จะเริ่มทำงานแล้วแต่ก็ยังต้องคอยแสตนบายรอน้องตลอดว่า น้องจะทำอะไรบ้าง อย่างเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม น้องก็ยังทักมาว่า ‘พี่อยากจัดม็อบด่วนคืนนี้’
“ถ้าให้เลือกระหว่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับ HR หนูก็ต้องเลือกงาน HR เพราะถ้าการเมืองดีหนูก็คงไม่ต้องมานั่งเคลื่อนไหวอะไรแบบนี้หรอก” จูนตอบ
“อยากเป็นคนขับรถ เพราะมันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมมีความสุข” เมื่อเขาได้เล่าถึงความฝัน ท่าทีของจอร์จนั้นยิ้มแย้มและผ่อนคลาย ตรงกันข้ามกับการพูดคุยเรื่องคดีความทีี่คำตอบของจอร์จจะเป็นเชิงวิชาการเสียหมด
“อาจจะเป็นรถโดยสารสาธารณะก็ได้ เพราะผมเชื่อมั่นว่าในอนาคตถ้าบ้านเมืองเราดี คนจำเป็นต้องพึ่งพาการขนส่งสาธารณะมากขึ้น”
“เราได้มองเห็นทัศนียภาพ เราได้มองเห็นการพัฒนาของเมือง เราได้มองเห็นธรรมชาติที่มันอยู่คู่กับเมืองที่พัฒนาแล้ว เราได้มองเห็นท้องฟ้าที่มันเปลี่ยนแปลงไป ผมว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นความสุขของผม การขับรถไปเรื่อยๆ บางทีเราก็เบื่อนะในสังคมที่มันมีการแข่งขันสูงมากๆ เราจำเป็นต้องหาสิ่งที่เป็นความสุขของเรา” จอร์จยิ้ม พร้อมกับส่งสายตาทอดมองออกไปบนท้องฟ้า
“ลำปางเป็นเมืองที่สวยงาม มีเพื่อนบอกว่าท้องฟ้าลำปางสวยที่สุดในประเทศไทย” โมบอก
เมื่อแหงนมองท้องฟ้าตามก็รู้สึกเช่นเดียวกับสิ่งที่โมบอก ท้องฟ้ากว้างใหญ่ของลำปางกำลังเปลี่ยนเป็นสีชมพู ความสวยงามที่ไม่มีตึกสูงบดบัง ประกอบกับเสียงนกร้องเจื้อแจ้วที่ดังมาจากทั่วสารทิศ และดังขึ้นเรื่อยๆ จนเราต้องเปลี่ยนที่นั่งพูดคุยกันเพราะไม่ได้ยินเสียงอะไรนอกจาก จิ๊บ จิ๊บ จิ๊บ…
Article type: