1034 1054 1740 1413 1422 1021 1706 1189 1925 1068 1789 1689 1750 1307 1159 1382 1355 1434 1503 1414 1143 1884 1340 1453 1943 1581 1239 1277 1208 1354 1432 1562 1174 1883 1843 1603 1732 1835 1560 1337 1810 1233 1188 1037 1096 1765 1128 1316 1323 1981 1495 1151 1070 1299 1274 1133 1556 1132 1878 1141 1561 1503 1234 1994 1016 1723 1557 1738 1862 1258 1675 1219 1758 1975 1520 1610 1022 1771 1933 1813 1738 1460 1411 1923 1236 1408 1572 1141 1979 1966 1231 1580 1689 1509 1115 1570 1858 1148 1229 ศาลอาญากลับคำสั่ง ไม่ให้บล็อค คลิป "วัคซีนพระราชทาน" ของคณะก้าวหน้า | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ศาลอาญากลับคำสั่ง ไม่ให้บล็อค คลิป "วัคซีนพระราชทาน" ของคณะก้าวหน้า

 

8 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญามีคำสั่ง ตามที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยื่นคัดค้านคำสั่งที่ออกมาก่อนหน้านั้นให้ปิดกั้นการเข้าถึงคลิปวีดิโอ ที่พูดเรื่อง "วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย?" วิจารณ์กระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด19 ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ใช้อำนาจตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งปิดกั้นการเข้าถึง โดยอ้างว่า คลิปวีดิโอดังกล่าว มีเนื้อหาเข้าข่าวความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
 
หลังยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ศาลอาญาก็ไต่สวนและมีคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงคลิปวีดิโอ ทั้งบนเฟซบุ๊ก ยูทูป และเว็บไซต์ของคณะก้าวหน้าในวันเดียวกันทันที แต่หลังจากธนาธรยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่ง ศาลอาญาโดยผู้พิพากษาคนละองค์คณะกับที่ทำคำสั่งครั้งแรก ก็เรียกเจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาไต่สวนใหม่ โดยให้ธนาธรมีโอกาสเบิกความด้วย ก่อนที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งก่อนหน้านี้ โดยอ้างเหตุผลถึงหลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ และตามหลักสากล 
 
ศาลอาญาวางบรรทัดฐานไว้ด้วยว่า การพิจารณาเรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ ตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต้องให้โอกาสเจ้าของเว็บไซต์โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ เสมือนการพิจารณาคดีอาญาคดีหนึ่ง และยังระบุเหตุผลว่า การตีความคำว่า “อาจกระทบต่อความมั่นคง” ต้องตีความอย่างเคร่งครัดและเป็นภาวะวิสัย ข้อเท็จจริงเท่าที่ธนาธรพูดถึงเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด
 
 
 
1630
 
 
สรุปเหตุผลคำสั่งของศาล ได้ดังนี้
 
 
คำสั่งบล็อคเว็บ สั่งฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องให้โอกาสทุกฝ่ายต่อสู้คดี
 
คดีมีข้อพิจารณาประการแรกว่า มีเหตุให้รับคำคัดค้านไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรียื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้และมาตรา 20 วรรคสี่ ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้แก่การพิจารณาคำร้องโดยอนุโลม เมื่อไม่ได้มีถ้อยคำที่แสดงว่า จะต้องนำบทบัญญัติส่วนใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ การที่ศาลจะนำกระบวนการไต่สวนฝ่ายเดียวทำนองเดียวกับการพิจารณาคำขอหมายค้นและหมายจับมาใช้บังคับไม่สอดคล้องกับเรื่องนี้ เพราะกระบวนพิจารณาในชั้นขอหมายค้นและหมายจับให้อำนาจศาลเข้าไปควบคุมกระบวนการในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงาน คดีจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลอีกซึ่งศาลมีโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงต่อไป อีกทั้งโดยสภาพการค้นและจับเป็นงานที่จะต้องทำโดยฉับไวเพื่อให้บรรลุผลในการปราบปรามอาชญากรรม
 
แต่การออกคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยชัดแจ้งและถาวร เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วไม่มีโอกาสให้ผู้ใดได้โต้แย้งอีกต่อไป การอนุโลมใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกต้องแก่คำร้องเช่นนี้ สมควรที่จะรับพิจารณาเสมือนเป็นคดีอาญาคดีหนึ่งซึ่งต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ การให้โอกาสดังกล่าวยังเป็นหลักการสำคัญสำหรับการทำงานขององค์กรตุลาการตามหลักนิติธรรม
 
ดังนั้น การที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 29 มกราคม 2564 และศาลไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวแล้วมีคำสั่งในทันทีเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ จึงมีเหตุให้รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านไว้พิจารณา 
 
 
ยังไม่มีคดี บล็อคเว็บตามาตรา 20(1) ไม่ได้
 
ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เรื่องนี้หรือไม่ ผู้ร้องอ้างว่าเนื้อความที่เผยแพร่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เห็นว่าตามคำร้องนี้เป็นได้ทั้งกรณีตามมาตรา 20(1) หรือมาตรา 20(2) ซึ่งมีหลักการแตกต่างกัน
 
กรณีตามมาตรา 20(1) เชื่อมโยงไปยังมาตรา 14(3) ซึ่งกำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ถ้อยคำที่ว่า “อันเป็นความผิด” แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้นำข้อมูลซึ่งได้มีการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเมื่อยังไม่มีการฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องนี้ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายอาญาจึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยตามมาตรา 14(3) และไม่เข้าเหตุตามมาตรา 20(1) 
 
 
ตามหลักของรัฐธรรมนูญ เสรีภาพเป็นหลัก การบล็อคเว็บเป็นข้อยกเว้น
 
กรณีตามมาตรา 20(2) ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะ 1 และลักษณะ 1/1 คำว่า “อาจ” แสดงว่าการห้ามตามมาตรานี้ มีลักษณะคล้ายมาตรการเพื่อความปลอดภัย แม้ถ้อยคำจะอ้างอิงไปถึงประมวลกฎหมายอาญา แต่ในชั้นนี้กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะแยกเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาความรับผิดของบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา สำหรับการพิจารณาในชั้นนี้ ศาลพิจารณาเฉพาะตัวข้อมูลคอมพิวเตอร์ว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ การวินิจฉัยคดีนี้จึงไม่เป็นการวินิจฉัยว่าผู้ใดจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องและศาลที่มีเขตอำนาจจะได้พิจารณาต่างหากไป 
 
คดีมีข้อพิจารณาต่อไปว่า คำว่า “อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร” มีความหมายเพียงไร ซึ่งต้องแปลความโดยพิจารณากรอบของรัฐธรรมนูญด้วย
 
รัฐธรรมนูญมาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า 
 
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”
 
การที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ หมายความว่า การห้ามหรือระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลเป็นข้อยกเว้นในขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลโดยเสรีเป็นหลัก ในการนี้ควรพิจารณาว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสาระสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับความหลากหลายและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้จึงถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ตามหลักสากลของการปกครองในระบบประชาธิปไตยที่มีนิติรัฐและมีพันธกรณีในการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยรับรองและเป็นภาคี
 
ดังนั้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐและต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็นโดยต้องใช้มาตรการที่เป็นภาระน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การตีความคำว่า “อาจกระทบต่อความมั่นคง” ตามมาตรา 20(2) จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดและเป็นภาวะวิสัย 
 
 
"กระทบความมั่นคง" ต้องตีความโดยเคร่งครัด 
 
สำหรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคลิปวีดิโอผู้คัดค้านนำเสนอเรื่องการจัดการวัคซีน เนื้อความระบุว่า รัฐบาลประมาทไม่เร่งรีบจัดหาทำให้การจัดหาล่าช้า จัดหาน้อยเกินไป เพราะรัฐบาลมุ่งแสวงหาความนิยมมากเกินไป มีการกล่าวถึงบริษัทซิโนแวคและการถือหุ้นบางส่วนของบริษัทซีพี กล่าวถึงวัคซีนของ บริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งว่าจ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตระบุว่าบริษัทดังกล่าวมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดโดยระบุว่ารัฐบาลไม่พยายามจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 21.5 กล่าวหาว่ารัฐบาลมุ่งผลทางการเมืองมากกว่าดูแลประชาชน กล่าวหาว่าบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่อยู่ในแผนความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ และกล่าวถึงองค์กรที่มีศักยภาพ รัฐบาลฝากความหวังไว้กับบริษัท แอสตราเซเนกาและบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์มากเกินไปก่อนจะสรุปว่า หากเกิดความผิดพลาดนายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
 
การพิจารณาว่า ข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมดมิใช่เฉพาะข้อความตอนหนึ่งตอนใด ข้อความที่ผู้คัดค้านนำเสนอเนื้อหาทั้งหมดมุ่งเน้นที่การกล่าวหารัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีนข้อมูลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยและไม่ใช่ประเด็นหลักในการนำเสนอ เมื่อพิจารณาข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเจาะจง คือ ในนาทีที่ 15.05 และนาทีที่ 28.10 ในส่วนแรก เป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งความข้อนี้ผู้คัดค้านนำสืบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเอกสารราชการและผู้ร้องไม่คัดค้านจึงฟังว่าเป็นความจริง ข้อเท็จจริงเพียงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าวมิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด
 
ส่วนที่สอง ข้อความนี้ไม่อาจแปลความตามลำพังแยกขาดจากเนื้อความส่วนใหญ่ได้ เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว ไม่ได้มีลักษณะชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่โดยข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้คนฟังรู้สึกว่าความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรงไม่ได้มุ่งเน้นความรับผิดชอบของบริษัทแต่อย่างใด
 
การแปลข้อความที่กล่าวว่า “อาจกระทบต่อความมั่นคง” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จนเป็นเหตุให้ระงับการแพร่หลายระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นการแปลความในเชิงภาวะวิสัยกล่าวคือ ตามหมายความเท่าที่ปรากฎตามตัวอักษรทั้งหมด ไม่พึงนำข้อมูลเฉพาะตัวของผู้คัดค้านซึ่งรวมถึงประวัติและแนวทางทางการเมืองมาพิจารณา เพราะคดีนี้ไม่ใช่การพิจารณาความผิดของผู้คัดค้าน ซึ่งเมื่อพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำที่ผู้คัดค้านกล่าวสืบเนื่องมาทั้งหมดของเรื่องนี้ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่างชัดเจนว่าจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง องค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด 
 
 
ข้อความทั้งหมด ไม่ชัดเจนว่าอาจกระทบต่อความมั่นคง
 
ในส่วนการนำเสนอของผู้คัดค้านยังมีข้อความหัวเรื่องว่า “วัคซีนพระราชทานใครได้ใครเสีย” ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นคำพูดที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดทำนองนี้ และหน่วยงานของรัฐบาลเคยใช้คำนี้แม้ว่าถ้อยคำอาจไม่ตรงกันทั้งหมดแต่น่าจะแสดงว่าก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบการจัดหาวัคซีนแล้ว การที่ผู้คัดค้านนำข้อความดังกล่าวมานำเสนอจึงไม่ใช่ความเท็จและลำพังข้อความดังกล่าวก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์ 
 
เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้วแม้ผู้คัดค้านจะบรรยายว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ไม่ว่าในทางใดๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจนและเห็นได้ในทางภาวะวิสัยว่าข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงอันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อความคอมพิวเตอร์
 
อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาลซึ่งมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 มกราคม 2564 เป็นอันสิ้นผลผู้คัดค้านขอเรียนว่า เนื้อหาแห่งคลิปวีดิโอไม่ได้ต้องห้ามตามมาตรา 14(3) แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการจัดการผลิตและสนับสนุนการผลิตวัคซีนโควิดของรัฐบาล อันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยทั่วไป เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ การที่ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่วัดิโอจึงเป็นคำสั่งที่ผิดหลงสมควรจะเพิกถอนโดยเร็ว 
 
 
 
 
 
 
AttachmentSize
คำสั่งศาลอาญา ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณา และยกคำร้องขอระงับการเผยแพร่คลิปวีดิโอ.pdf598.74 KB
คำร้อง เจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอระงับการเผยแพร่คลิปวีดิโอ.pdf406.87 KB
Article type: