1949 1184 1729 1611 1585 1939 1043 1761 1709 1561 1594 1320 1312 1013 1553 1299 1890 1572 1047 1612 1500 1134 1270 1563 1581 1266 1262 1921 1897 1174 1503 1952 1958 1010 1706 1638 1172 1750 1667 1421 1437 1421 1274 1273 1276 1622 1922 1170 1096 1885 1803 1009 1295 1417 1072 1208 1525 1208 1972 1971 1931 1025 1165 1732 1377 1064 1139 1155 1834 1396 1410 1416 1235 1735 1107 1455 1298 1891 1677 1726 1239 1235 1865 1814 1964 1605 1816 1308 1646 1258 1749 1792 1193 1510 1304 1925 1025 1922 1551 เก็บตก ‘ขบวนเสด็จ’ กับคณะราษฎรตลอดปี 2563 จากข้อหาหนักสู่การแบ่งครึ่งถนน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เก็บตก ‘ขบวนเสด็จ’ กับคณะราษฎรตลอดปี 2563 จากข้อหาหนักสู่การแบ่งครึ่งถนน

 
ขบวนเสด็จ  ไม่ได้เพิ่งมาเป็นประเด็นตอนมีม็อบชู 3 นิ้วและมีคนโดนแจ้งข้อหามาตรา 110 แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 แล้ว โดยครั้งนั้นการตั้งคำถามเป็นเรื่องความไม่สะดวกในชีวิตประจำวันของประชาชนและอยู่บนพื้นที่ออนไลน์อย่างทวิตเตอร์เป็นหลัก ในคลื่นการชุมนุมของคณะราษฎร ขบวนเสด็จ กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่นั่นยิ่งทำให้เกิดการชุมนุมไม่รู้จบ จนในที่สุดต้องนำไปสู่มาตรการที่ผ่อนคลายขึ้นของรัฐในหลายเรื่อง นี่อาจเป็นก้าวแรกๆ และชัยชนะเล็กๆ ของผู้เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ทุกส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเป็นธรรม
 
 
1613
 
 
ทวิตเตอร์เดือดมาก่อนใคร ซ้อมกระหน่ำคำถามหนัก 
 
 
เป็นที่ทราบกันดีว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จำเป็นจะต้องได้รับการถวายความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเสด็จพระราชดำเนินตามสถานที่ต่างๆ หากแต่กรณีของการเสด็จในพื้นที่เมืองที่มีการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครนั้นกลายเป็นเชื้อไฟแห่งคำถามในการปรับตัวของขบวนเสด็จ 
 
 
ย้อนกลับไปในปี 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชปรารภกับพระราชเลขาธิการเรื่องปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดที่มากขึ้น โดยเฉพาะหากต้องปิดการจราจรเวลานานเพราะมีขบวนเสด็จก็จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น จึงมีพระราชกระแสให้ราชเลขาธิการพิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไข ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดทำแนวทางและคู่มือปฏิบัติไว้แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเจ้าหน้าที่ภาคสนามเกรงกลัวจะถูกตำหนิและถูกลงโทษ
 
 
จนกระทั่งในปี 2553 ราชเลขาธิการได้น้อมพระราชกระแสในเรื่องดังกล่าวมาอีกครั้งหนึ่ง จึงจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน เป้าหมายหลักสำคัญ คือ ถวายความสะดวกการจราจรและถวายความปลอดภัย, อย่าให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หรือหากจะมีต้องให้น้อยที่สุด และสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  หนึ่งในแนวปฏิบัติคือ กรณีที่ขบวนเสด็จฯ ผ่านถนนที่มีช่องทางคู่ขนาน ให้รถวิ่งในช่องทางคู่ขนานได้ตามปกติ รวมทั้งให้อำนาจผู้ที่เกี่ยวข้องออกสืบสวนพฤติการณ์และสืบสวนหาข่าวที่อาจจะเป็นภัย หรือ ‘พฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม’ อื่นๆ ก่อนเวลาที่จะเสด็จพระราชดำเนินถึง โดยเปิดช่องว่า หากพบพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมให้ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ได้
 
 
ช่วงเดือนตุลาคม 2562 มีการถกเถียงเรื่องขบวนเสด็จอีกครั้งบนโลกทวิตเตอร์ผ่านแฮชเท็ค #ขบวนเสด็จ เหตุจากภาพที่อ้างว่า เป็นการปิดกั้นทางจราจรที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยมีรถฉุกเฉินที่กำลังเปิดสัญญาณฉุกเฉินอยู่ในเส้นทางดังกล่าวด้วย แต่หลังจากที่ตำรวจไปลงไปในบริเวณดังกล่าว รถฉุกเฉินกลับปิดสัญญาณฉุกเฉินทั้งไฟฉุกเฉินและเสียงไซเรน ขณะที่บางรายระบุว่า การปิดกั้นทางจราจรเนื่องจากขบวนเสด็จ เรื่องครั้งนั้นจบลงที่การกล่าวหาคดีมาตรา 14(3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมจากการโพสต์แสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวเนื่องกับขบวนเสด็จ มาตราดังกล่าวเป็นวิธีการใหม่ในการดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์แทนการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 โดยตรง
 
 
เชื้อไฟยังไม่ทันจะมอดดี ต้นปี 2563 เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องขบวนเสด็จอีกครั้งจากการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่จังหวัดภูเก็ตและกระบี่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาไทรายงานว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กปรากฏการเผยแพร่เอกสารที่อ้างว่าเป็นประกาศของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่บริเวณเกาะบิด๊ะนอกและเกาะบิด๊ะใน ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ในวันที่ 29 ธ.ค.62 โดยอ้างถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จะเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นการส่วนพระองค์ แต่จากการตรวจสอบเว็บไซต์ขององค์กรไม่ปรากฏประกาศดังกล่าวเผยแพร่
 
 
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การถกเถียงอย่างหนักในโลกทวิตเตอร์ภายใต้สองแฮชแท็คหลักคือ #ขบวนเสด็จ และ #ปิดเกาะ มีการกล่าวถึงความเดือดร้อนจากการปิดพื้นที่สาธารณะในกิจกรรมส่วนพระองค์ในช่วงที่ปีใหม่ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว
 
 
วันที่ 12 มกราคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้กำหนดแนวทางอำนวยความสะดวกด้านการจราจร โดยไม่ให้ปิดการจราจร ให้จัดช่องทางขบวนเสด็จส่วนพระองค์และช่องทางประชาชนโดยใช้อุปกรณ์เพื่อความสะดวก กรณีที่มีเกาะกลางถนน เส้นทางฝั่งตรงข้ามสามารถใช้ได้ตามปกติ กรณีไม่มีเกาะกลางถนนให้ใช้กรวยยางวาง สอดคล้องกับแนวปฏิบัติในปี 2553 สำหรับแฮชแท็คขบวนเสด็จทั้ง 2 ครั้งในช่วงปลายปี 2562 และต้นปี 2563 นั้นแพร่ขยายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่างทวิตเตอร์ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของคนรุ่นใหม่ โดยสะท้อนให้เห็นว่าการตั้งคำถามต่อเรื่องขบวนเสด็จของประชาชนนั้นขยายตัวอย่างมาก การเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ต้องการสิ่งใดไปมากกว่าการอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย
 
 
เมื่อ ‘ขบวนเสด็จ’ ถูกใช้เป็นเงื่อนไขวัดใจการเผชิญหน้า   
 
 
วันที่ 3 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา ปราศรัยเรื่องการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์ในยุค คสช. ไม่กี่วันหลังจากนั้นแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศข้อเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ดำเนินการปฏิรูป แม้ว่าข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อจะไม่มีข้อใดที่เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จโดยตรง แต่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ที่ใช้ปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ตลอดมาและหนักหน่วงขึ้นในยุครัฐประหารของคสช. นอกจากนี้ข้อเรียกร้องของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ผลักเพดานการเรียกร้องเดิมทีที่เนื้อหาเรียกร้องโดยตรงต่อรัฐบาลให้สูงขึ้นกลายเป็นการเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย
 
 
การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะที่ถูกเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์สู่สายตาคนจำนวนมากเป็นรอบแรกๆ  ตั้งแต่ถูกปิดกั้นอย่างหนักหน่วงในช่วง 6 ปีหลังรัฐประหาร การชุมนุมอีกหลายครั้งหลังจากนั้นเริ่มมีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่และพื้นที่ชุมนุมถูกขยายตามกลยุทธ์ของแกนนำคือการเคลื่อนขบวนเพื่อไปยังสถานที่อันเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เช่น ทำเนียบองคมนตรี แต่ไม่สามารถกระทำได้ ตำรวจมีการปิดกั้นเส้นทางไปถึงสถานที่ดังกล่าว
 
 
สถานการณ์แปลกประหลาดเริ่มขึ้นเมื่อคณะราษฎรนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ก่อนหน้าวันดังกล่าวมีการเผยแพร่ข่าวว่า จะมีการเสด็จพระราชดำเนินผ่านถนนราชดำเนิน แต่คณะราษฎรยังคงยืนยันว่าจะจัดการชุมนุมต่อไป หากขบวนเสด็จผ่านก็จะชู 3 นิ้วเท่านั้น ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้นเมื่อคณะราษฎรอีสาน นำโดยจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน เข้าเตรียมจัดสถานที่ชุมนุมก่อนล่วงหน้า 1 วันในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 บริเวณฟุตบาทหน้าแมคโดนัลด์ แต่ยังไม่ทันตระเตรียมอะไรได้เรียบร้อย ตำรวจนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมตั้งแต่บ่ายโดยละเลยขั้นตอนตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อมามีการชี้แจงว่าเป็นเพราะความผิดที่คณะราษฎรอีสานกระทำเป็นความผิดซึ่งหน้าในข้อหาอื่น  การสลายการชุมนุมครั้งนี้อ้างว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน ซึ่งมีการเสด็จพระราชดำเนินจริงในช่วงเย็นและตำรวจมีการแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นก่อนด้วย
 
 
ไม่มีการชูสามนิ้ว ไม่มีการเผชิญหน้า มีเพียงการสลายการชุมนุม
 
 
วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ภาพบนถนนราชดำเนินไม่คุ้นตาและเป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายกังวลใจ เนื่องจากฝั่งหนึ่งเป็นกลุ่มคณะราษฎร อีกฝั่งหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดเสื้อสีเหลือง จิตอาสา ประชาชนที่มารอรับเสด็จรวมถึงกลุ่มทางการเมืองขั้วตรงข้าม เช่น อดีตพุทธอิสระ นพ.เหรียญทอง ตำรวจที่ควบคุมเหตุการณ์บริเวณถนนราชดำเนินก็มีไม่มากนัก แต่แม้สองฝ่ายจะอยู่ใกล้กันมากเพียงคนละฝั่งถนนก็ไม่มีเหตุรุนแรงร้ายแรงใด
 
 
วันนั้นแกนนำคณะราษฎรตัดสินใจเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเร็วกว่ากำหนด ก่อนที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนิน แม้ไม่มีการแจ้งเหตุผลชัดเจนแต่คาดกันได้ว่าเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ตึงเครียด โดยมีการนัดหมายว่าจะเคลื่อนไปปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กระนั้น ในการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล ตำรวจมีการวางแนวกั้นไว้ 3 แนว ตั้งแต่แยกสะพานผ่านฟ้า แยกเทวกรรม และด้านหน้าพาณิชยการพระนครก่อนถึงแยกนางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ต่อรองให้ผู้ชุมนุมใช้ถนนนครสวรรค์ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เมื่อเดินทางกันไปถึงแนวกั้นสุดท้ายก่อนถึงแยกนางเลิ้งมีการปิดกั้นอยู่อย่างแน่นหนาด้วยรถบัสของตำรวจตระเวนชายแดนโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทำให้มวลชนหลายพันคนติดค้างอยู่บริเวณดังกล่าวเป็นเวลานาน
 
1614
 
 
1615
 
 
แนวดังกล่าวอยู่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลประมาณ 500 เมตร ระหว่างที่มวลชนก้อนใหญ่รอการต่อรองให้ด่านสุดท้ายเปิดทางอยู่นั้น ก็พบว่ามีประชาชนกลุ่มเล็กๆ และสื่อบางส่วนใช้ซอยเล็กซอยน้อยริมถนนนครสวรรค์เดินไปทะลุถนนพิษณุโลกบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาลได้ ต่อมาเวลา 17.30 น. ขบวนเสด็จของพระราชินีผ่านพื้นที่ดังกล่าว ท่ามกลางประชาชนที่ยืนอยู่ใกล้กับขบวนเสด็จ มีการปะทะคารมระหว่างประชาชนม็อบราษฎรส่วนหนึ่งและมวลชนเสื้อเหลือง แต่ขบวนเสด็จก็ผ่านไปได้ในที่สุด 
 
 
หลังขบวนเสด็จผ่านไปได้ เจ้าหน้าที่ก็ให้คณะราษฎรกลุ่มใหญ่ที่ถูกกั้นอยู่บริเวณพาณิชยพระนคร ถนนนครสวรรค์ ผ่านด่านเคลื่อนตัวมาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลตามประสงค์ เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงต่างประเทศได้ชี้แจงต่อทูตประเทศต่างๆ ว่า สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยของสาธารณะในภาพรวม ในบางช่วงยังมีการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อขบวนเสด็จ ประกอบกับสถานการณ์ของโรคโควิด19 จึงทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกประกาศดังกล่าว และการสลายการชุมนุมในเช้าตรู่ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563
 
 
มีการชูสามนิ้ว มีการเผชิญหน้า และการสลายการชุมนุม(อีกครั้ง)
 
 
ข้อกังขาต่อขบวนเสด็จ มาตรา 110 และความกราดเกรี้ยวของคนรุ่นใหม่
 
 
ขบวนเสด็จครั้งนั้นยังคงเป็นปริศนาจนบัดนี้ ปากคำของผู้อยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลตอนที่ขบวนเสด็จผ่าน ระบุว่า ไม่มีการประกาศเรื่องขบวนเสด็จที่จะผ่านถนนพิษณุโลกแต่อย่างใด ในขณะที่กลุ่มใหญ่ยังมาไม่สามารถฝ่าด่านสุดท้ายมาได้ บริเวณถนนพิษณุโลกใกล้ทำเนียบฯ ในเวลานั้นนอกจากผู้สื่อข่าว ประชาชนจากกลุ่มคณะราษฎรจำนวนไม่มากแล้ว ยังมีประชาชนคนเสื้อเหลืองอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย เมื่อตรวจสอบจากคลิปวิดีโอเหตุการณ์จำนวน 3 คลิป 
 
 
คลิปแรกจากผู้สังเกตการณ์พบว่า เวลาประมาณ 17.30 น.ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล มีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จหรือให้ประชาชนยืนอย่างเป็นระเบียบแต่อย่างใด มีเพียงความพยายามผลักดันให้ประชาชนออกไปจากสะพานชมัยมรุเชฐ มีการผลักดันกันช่วงหนึ่ง ระหว่างนั้นเองมีเสียงประชาชนช่วยกันตะโกนว่า “ให้ขบวนเสด็จผ่านไปๆ”  จากนั้นตำรวจเริ่มตั้งแนวล้อมประชาชนและสื่อมวลชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว ด้านหน้าเป็นรถยนต์พระที่นั่งที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ มีเสียงตะโกนว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และ “ทรงพระเจริญ” จากประชาชนเสื้อเหลือง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็มีบางส่วนที่ชู 3 นิ้วและตะโกนว่า “ชาติ ศาสนา ประชาชน” 
 
 
คลิปที่ 2 เป็นของ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารซึ่งอัพโหลดลงทวิตเตอร์เห็นว่า การถ่ายภาพมาจากบริเวณริมฟุตบาทถนนพิษณุโลก บริเวณแนวรั้วสำนักงาน ก.พ.ร. เยื้องกับประตูหนึ่งทำเนียบรัฐบาล รถยนต์พระที่นั่งสีงาช้าง ตามด้วยรถยนต์สีแดงเคลื่อนมาชะงักที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ด้านข้างมีตำรวจในชุดควบคุมฝูงชนคล้องแขนกั้นเป็นแนว แต่ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นระเบียบนัก มีคนสวมเสื้อเหลืองอยู่ด้านหลังตำรวจและสะบัดธงชาติ จากนั้นรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ มีเสียง “ทรงพระเจริญ” ด้านบนสะพานมีประชาชนชูสามนิ้ว
 
 
คลิปที่ 3 เป็นของ นพเก้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าวข่าวสดถ่ายมุมสูงที่บริเวณใกล้แยกนางเลิ้ง เห็นว่า ขบวนเสด็จค่อยๆ เคลื่อนผ่านไปและมีประชาชนตะโกนว่า “ประชาธิปไตยจงเจริญ” มีประชาชนหลายสิบคนชูสามนิ้วและมีคนยืนถือธงชาติอยู่ด้วย มีเสียงผู้ชายที่ประกาศคล้ายจากลำโพงขนาดเล็กว่า “อย่าเพิ่งเดินผ่านหน้ารถนะครับ ขอบคุณครับ ขอผ่านก่อนนะครับ ขอบคุณครับ” ท้ายที่สุดขบวนเสด็จสามารถผ่านไปได้ 
 
 
เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ข้อกังขาของประชาชนจำนวนไม่น้อย เพราะเป็นการจัดการถวายความปลอดภัยที่แตกต่างจากการเสด็จที่คุ้นชินกัน เห็นได้จากบรรยากาศความไม่เรียบร้อย การไม่จัดการเส้นทางล่วงหน้า ไม่มีการประกาศให้ประชาชนบริเวณนั้นทราบ สวนทางกับเมื่อ 13 ตุลาคมที่มีการเคลียร์เส้นทางและนำคณะราษฎรอีสานให้พ้นออกจากเส้นทางเรียบร้อยก่อนหน้าการเสด็จร่วม  2 ชั่วโมง รวมทั้งเส้นทางการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่ามีลักษณะอ้อม ทั้งที่สามารถใช้เส้นทางอื่นที่ใกล้มากกว่านี้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านบริเวณชุมนุม แต่ขบวนเสด็จกลับเลือกที่จะวิ่งผ่านเส้นทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะผ่านแม้ว่าผู้ชุมนุมจะเลี่ยงจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาลแล้วก็ตาม
 
 
ไม่ว่าอย่างไรเหตุการณ์ขบวนเสด็จผ่านคณะราษฎรและมวลชนเสื้อเหลืองครั้งนี้นำไปสู่การกล่าวหาคดีประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 คือ เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง,สุรนาถ แป้นประเสริฐและประชาชนอีก 2 คน รวม 5 คน
 
 
ก้อนเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นตัวแปรในสถานการณ์ทางการเมืองอันแหลมคมและเป็นเชื้อไฟคำถามรอบใหม่ต่อขบวนเสด็จที่หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับถูกรัฐฉกฉวยมาเป็นเงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและใช้ความรุนแรงต่อประชาชน การปราบปรามนักกิจกรรมด้วยคดีความและผู้ชุมนุมด้วยแก๊ซน้ำตา นำไปสู่ประสบการณ์ร่วมกันของคนจำนวนมากถึงความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ความรุนแรงนี้เป็นแรงขับดันสำคัญให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวหลังจากนั้น 
 
 
แม้ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีไทยในเรื่องขบวนเสด็จว่า ตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ แต่การกล่าวเช่นนั้นคงไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น เห็นได้จากการชุมนุมจำนวนมากทั่วประเทศหลังการสลายการชุมนุมในเดือนตุลาคม 2563 ที่กระจายตัวราวดอกเห็ดและประชาชนออกมาร่วมทั้งที่ไม่มีแกนนำและเวทีปราศรัย ซึ่งเราเรียกกันว่า organic mob นั่นอาจเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เพราะประกาศไปก็ไม่ได้ผล การชุมนุมทุกครั้งผู้คนยังเข้าร่วมจำนวนมากโดยเฉพาะเยาวชน การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ จากนั้นรัฐจึงตัดสินใจปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมที่ถูกฝากขังในเรือนจำทั้งหมดออกมา 
 
 
แนวโน้มการจัดการของตำรวจต่อผู้ชุมนุมในระยะต่อมาก็คือ ปล่อยให้จัดการชุมนุมได้และแจ้งดำเนินคดีในภายหลัง แนวทางการดำเนินการดังกล่าวอยู่บนฐานของการซื้อเวลาที่จะคลายอารมณ์และความสนใจของประชาชนลงไป ความรุนแรงไม่ได้หยุดยั้งเพียงแต่ซ่อนแอบในรูปแบบใหม่เท่านั้น
 
 
ขบวนเสด็จ การชุมนุมและสามนิ้วของเหล่าราษฎร
 
หลังจากนั้น แม้การชุมนุมเริ่มซาลงอันเป็นเรื่องธรรมชาติตามเงื่อนไขของเวลาและเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนการต่อสู้ของเหล่าราษฎรจะมีผลอยู่บ้างเห็นได้จากการชุมนุมของกลุ่มม็อบเฟสและเครือข่ายนักกิจกรรมหลายกลุ่มเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 
 
 
“...จะมีขบวนเสด็จขับผ่านแต่เราจะไม่ไปไหนเราจะอยู่ที่นี่ รอรับเสด็จร่วมกันแต่การรับเสด็จจะไม่เหมือนที่เคยผ่านมา เราจะหันหลังให้ขบวนเสด็จๆ ไม่พอจะชูสามนิ้วให้ดูด้วย และร้องเพลงชาติร่วมกัน...แสดงให้เขาเห็นว่า เราต้องการให้สถาบันกษัตริย์ปฏิรูป...”
 
 
คำกล่าวของแกนนำคนหนึ่งบนเวทีในวันนั้น นี่นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญยิ่งเพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน เพิ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 110 ซึ่งเป็นข้อหาอุจฉกรรจ์ มีโทษหนักถึงจำคุก 20 ปีหรือตลอดชีวิต แต่ประชาชนยังคงยืนยันที่จะมีปฏิบัติการเช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ คือ ชูสามนิ้วให้ขบวนเสด็จ  แม้จะเป็นภาพที่ไม่คุ้นชินอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย แต่ท้ายที่สุดก็พบว่าไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีจากกรณีนี้เพิ่มเติม 
 
 
1616
 
 
การจัดการเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 14.00 น. มีการวางกำลังตำรวจที่บริเวณแผงเหล็กเกาะกลางถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กั้นพื้นที่ชุมนุมฝั่งแมคโดนัลด์และพื้นที่ขบวนเสด็จฝั่งเมธาวลัย จากนั้นเริ่มวางกำลังหนาแน่นขึ้นในเวลาประมาณ 16.00 น. มีการนำแผงเหล็กมากั้นพื้นที่ชุมนุมม็อบเฟสและรัดด้วยลวดอีกชั้นไม่ให้เลื่อนออกได้ และให้ตำรวจตั้งแถวเป็นแนวกั้นอย่างหนาแน่น ระหว่างนั้นตำรวจมีการประกาศถึงแนวปฏิบัติเป็นระยะๆ ก่อนที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่านในเวลาประมาณ 17.30 น. ระหว่างที่ขบวนเคลื่อนราษฎรยืนหันหลัง ร้องเพลงชาติและชูสามนิ้ว ขณะที่ตำรวจตะโกนใส่เครื่องขยายเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” ตลอดเวลาที่ขบวนเคลื่อนผ่าน เป็นต้นเสียงเดียวท่ามกลางความเงียบของถนนฝั่งขบวนเสด็จ 
 
1617
 
 
กล่าวได้ว่า การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนในรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านมาสามารถยกระดับแนวปฏิบัติของตำรวจในการดูแลการชุมนุมและขบวนเสด็จร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังสื่อสารให้สาธารณชนเห็นด้วยว่า แม้ราษฎรจะเรียกร้องโดยตรงต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ราษฎรไม่ใช่ภัยต่อประมุขของรัฐและสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทั้งการอยู่ร่วมกันได้นี้หมายรวมถึงการอยู่ร่วมกันในชีวิตประจำวันที่สังคมเคยตั้งคำถามไว้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 
 
Article type: