- iLaw Website
- Documentation Center
Reflection from Prison: ห้วงคะนึงระหว่างทัณฑกาล ผู้ต้องหาการชุมนุมคณะราษฎรอีสาน 13 ตค 63
วันที่ 13 ตุลาคม นักกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า "คณะราษฎรอีสาน" เดินทางมาตั้งเต็นท์เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังพวกเขาตั้งเต็นท์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งแม็คโดนัลด์ราชดำเนินแล้วเสร็จและเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ารื้อเต็นท์และทำการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 21 คน ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี หนึ่งคืน
ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่
ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 358, 368, 385, 391 ตามลำดับ
ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)
ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114
ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี บนพื้นถนน, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, 19 ตามลำดับ
ขณะที่จตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง
ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ ผู้ต้องหา 19 คน ไม่รวมจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาและผู้ต้องหาเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชน ถูกนำตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์รุนแรงและต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกฝากขังเป็นเวลา 6 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ผู็ต้องหาทั้ง 19 คน ประกันตัว แต่ทั้งหมดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวันเดียวกัน
และนี่คือความในใจของผู้ต้องหาบางส่วนที่สะท้อนห้วงคะนึงระหว่างทัณฑกาลของพวกเขา
---------------------------
“วินาทีที่เข้าไปในเรือนจำ คือ มันแย่มาก เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแต่ต้องถูกส่งเข้ามาอยู่ในคุก ต้องมีคำนำหน้าว่า ข.ญ. ที่แปลว่า ขังหญิง คือการเป็นนักโทษ"
"มื้อแรกเข้าไป บอกว่าจะให้กินไข่พะโล้ ปรากฎว่า จริงๆแล้วได้กิน ไข่ต้มขาวๆกับน้ำพะโล้จืดๆที่แยกกันมา พอตื่นเช้ามาวันแรก ก็โดนจับโกนผม แล้วก็ปล่อยให้นอนอยู่ในห้องเฉยๆ”
“ตอนนั้นชุลมุนมาก รู้ตัวอีกทีคือเห็นเพื่อนโดนกระทืบอยู่ที่พื้น ส่วนเราพอล้มลง ก็โดนทั้งเท้า ทั้งหมัด แล้วก็ถูกอุ้มขึ้นรถ พอขึ้นไปบนรถ เขาก็เตะอีกทีหนึ่งแล้วก็โดนใส่กุญแจมือ”
"พอโดนล็อกคอผมก็โดนตำรวจกดลงพื้นไถผมไปกับพื้นและฉีกเสื้อผมถอดรองเท้าผม พอใกล้ถึงรถขังผู้ต้องหาตำรวจก็บอกกับผมว่าขึ้น ๆ ไปเถอะมันไม่มีอะไรหรอก แล้วก็ไม่แจ้งว่าพวกเราโดนข้อหาอะไร จับเพราะอะไร แล้วก็ไม่แจ้งว่าจะพาผมไปไหน "
"มันเป็นจุดตกต่ำที่สุดในชีวิตของหนูเลย ได้แต่ถามตัวเองว่าทำไมต้องเจออะไรแบบนี้ แค่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ตอนที่ปล่อยตัว ที่บ้านก็ไม่ได้มารอรับหนูนะ คุยกับแม่ทีหลังเขาบอกว่าอย่าไปทำอะไรแบบนี้ได้มั้ย หนูบอกว่าเรื่องอื่นหนูยินดีทำให้ เรื่องเรียนหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องอุดมการณ์มันคงไม่ได้จริงๆ และมันเป็นทางที่หนูเลือกเอง“
"ศาลบอกว่าพวกเราไม่ได้มีเหตุผลใหม่ในการคัดค้านฝากขัง หากไปดูตามกฎหมาย เหตุในการคัดค้านฝากขังมันก็มีอยู่แค่นั้น...ตอนที่ศาลให้ฝากขังต่อ เราคุยกันว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้ก็น่าจะอยู่กันยาว 5 ผลัด แต่อยู่ดีๆ ศาลอุทธรณ์ก็สั่งปล่อย ยอมรับว่าดีใจ แต่พี่ไผ่ (ดาวดิน) ยังอยู่ข้างใน มันสะเทือนใจ"
“มันกดดันกว่าครั้งแรก เราถูกกักตัวตามมาตรการควบคุมโควิด19 ต้องอยู่ในห้องขังเกือบตลอด 24 ชั่วโมง..ผมอยากตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุมโรคของเรือนจำว่ามีประโยชน์จริงหรือ มีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาทุกวัน เวลานอนก็นอนเบียดกัน ไม่มีรักษาระยะห่าง ในห้องมีเกือบ 30 คน มีช้อนกินข้าว 10 กว่าคัน ต้องเวียนใช้"
Article type: