1373 1891 1690 1976 1401 1391 1269 1457 1199 1378 1226 1235 1255 1546 1346 1580 1928 1877 1169 1538 1373 1591 1154 1178 1646 1615 1554 1488 1060 1384 1686 1125 1435 1230 1854 1173 1698 1870 1813 1205 1604 1330 1670 1967 1852 1136 1315 1150 1263 1353 1150 1345 1292 1699 1262 1564 1724 1023 1713 1124 1341 1101 1522 1407 1633 1903 1288 1630 1462 1686 1233 1591 1144 1351 1605 1421 1736 1603 1773 1043 1770 1188 1193 1638 1147 1381 1573 1339 1586 1575 1165 1136 1517 1159 1749 1696 1148 1575 1703 บทบันทึกการชุมนุมภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

บทบันทึกการชุมนุมภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563  โดยอ้างความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพล.อ.ประยุทธ์อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกข้อกำหนตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 1 โดยมีข้อ 5 กำหนด "ห้ามมิให้มีการชุมนุม กำรทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำกำรดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานกรณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด"  โดยผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้จะมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
1417
 
แม้จะมีข้อจำกัดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังออกมาทำกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ครบรอบสิบปีในปีนี้ รวมถึงการรัฐประหาร 2557 ที่ครบรอบหกปีในปีนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มประชาชนที่รวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นทางเศรษฐกิจเรียกร้องให้ประกันสังคมจ่ายเงินสะสมวัยชราให้ผู้ประกันตนบางส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ต้องตกงานหรือขาดรายได้เพราะมาตรการรับมือกับโรคโควิด 19 ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ชุมนุมเองก็มีความพยายามปรับตัว ทั้งปรับรูปแบบกิจกรรมให้เป็นลักษณะของการรำลึกหรือไว้อาลัย บางกลุ่มหลีกเลี่ยงการประกาศเชิญชวนประชาชนใช้วิธีนัดกันเป็นการส่วนตัวเพื่อไปแสดงสัญลักษณ์เป็นเวลาสั้นๆ
 
หากนับตั้งแต่วันที่ 13-22 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบหกปี การรัฐประหาร มีการชุมนุมหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในที่สาธารณะเกิดขึ้นอย่างน้อยแปดครั้ง มีอย่างน้อยสามกรณีที่ผู้จัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมถูกดำเนินคดี โดยมีสองกรณีที่ตั้งข้อกล่าวหาด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
ตั้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' หลังจัดรำลึกเสธ.แดง
 
วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกศาลาแดงระหว่างร่วมการชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในโอกาสครบรอบ 10 ปี การเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ อนุรักษ์ เจนตะวณิชหรือ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' นักกิจกรรมทางสังคมประกาศจัดกิจกรรมรำลึกถึงเสธ.แดงบนเฟซบุ๊กของเขา โดยในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 อนุรักษ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
 
"ปีนี้ครบรอบ 10 ปีที่เสธแดงถูกลอบยิงเสียชีวิตในขณะที่ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ราชประสงค์ ทุกปีจะมีคนเสื้อแดงที่ไม่ลืมการเสียสละของเขานำดอกไม้ เทียนแดงไปวางตรงที่เขาถูกยิงบริเวณลานพระรูปร.6 จุดขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า BTR สีลมเพื่อรำลึกดวงวิญญาณของเขา ทว่าในวันนี้ีที่ยังมี พรก.ฉุกเฉินอยู่ การชุมนุมทางการเมืองยังเป็นสิ่งต้องห้าม แต่หากมีประชาชนต่างคนต่างไปนำดอกไม้และเทียนแดงไปจุด ยืนนิ่งอย่างสงบ 3 นาทีโดยไม่มีกิจกรรมทางการเมืองอย่างอื่น
 
ผมเชื่อว่าตำรวจ สน.ลุมพินีจะไปอำนวยความสะดวก จัดระเบียบให้ประชาชนเข้าออก ตลอดจนดูแลไม่ให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมือง รักษาระยะห่าง 1 เมตรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ขอขอบคุณทุกท่านมาณ.ที่นี้ #ที่เก่าเวลาเดิม"
 
1411
 
งานรำลึกสิบปีการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 13 พฤษภาคม 2563
 
เห็นได้ชัดว่า อนุรักษ์เองก็ทราบเรื่องข้อจำกัดการทำกิจกรรมภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและพยายามชี้แจงเรื่องการทำกิจกรรมในลักษณะที่น่าจะไม่ขัดต่อกฎหมาย หลังจากนั้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 อนุรักษ์ก็โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กตัวเองอีกครั้ง ทำนองเดียวกันว่า
 
"พรุ่งนี้ครบรอบ 10 ปีการจากไปของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล จุดที่เสธแดงถูกยิงคือบริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน BRT สถานี Silom ฝั่งตรงข้ามรร.ดุสิต วันพรุ่งนี้จะมีคนเสื้อแดงไปจุดเทียนแดง วางดอกไม้แดงเพื่อรำลึกถึงดวงวิญญาณของเขาที่เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องประชาชน ถึงแม้ในยามมีพรก.ฉุกเฉินแต่หากไปวางดอกไม้ด้วยความเป็นระเบียบ ใส่หน้ากากอนามัย ใช้เวลาคนละ 3 นาทีและไม่มีการจัดกิจกรรมการเมืองหรือการปราศรัยผมเชื่อว่าตำรวจสน.ลุมพินีจะไปอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเหมือนทุกปี #ที่เก่าเวลาเดิมทุกปี"
 
1412
 
งานรำลึกสิบปีการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 13 พฤษภาคม 2563
 
ในวันที่ 13 พฤษภาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบวางประมาณ 50 นาย วางกำลังที่สวนลุมพินีตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น.โดยที่สวนลุมพินียิงมีการนำไวนิลขนาดใหญ่พิมพ์ข้อกำหนดเรื่องห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินขนาดใหญ่มาติดไว้ด้วย ในเวลาประมาณ 16.50 น. อนุรักษ์และประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมทยอยกันมาถึงที่จุดทำกิจกรรม ระหว่างการทำกิจกรรมอนุรักษ์ประสานงานกับเจ้าหน้าที่และคอยสื่อสารกับผู้ชุมนุมในเรื่องต่างๆ เช่น ให้รักษาระยะห่างในการทำกิจกรรม และห้ามโพสต์รูปภาพระหว่างทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ยังมีการกั้นบริเวณจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมต้องผ่านจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายรวมทั้งมีการนำเจลแอลกอฮอลล์มาตั้งให้ผู้ร่วมการชุมนุมใช้ล้างมือก่อนเข้าไปวางดอกไม้ด้วย ในขณะที่กิจกรรมดำเนินไปอนุรักษ์ยังถ่ายทอดสดกิจกรรมบนเฟซบุ๊กเป็นเหตุการณ์ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่มาร่วมไว้อาลัยถือป้ายไวนิลที่มีภาพเสธ.แดงด้วยโดยประชาชนที่อยู่ในในภาพไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย 
 
1413

งานรำลึกสิบปีการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 13 พฤษภาคม 2563
 
ระหว่างการทำกิจกรรมมีประชาชนอย่างน้อยหนึ่งคนถือป้ายเขียนข้อความซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาเก็บโดยให้เหตุผลว่ากิจกรรมในวันนี้เป็นการไว้อาลัย หากถือป้ายข้อความแสดงออกอาจเข้าข่ายการชุมนุม กิจกรรมดำเนินไปอย่างเรียบร้อยจนถึงเวลาประมาณ 19.00 น. ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาวของพล.ต.ขัตติยะเดินทางมาไว้อาลัยให้พ่อของเธอ จากนั้นอีกไม่นานกิจกรรมก็ยุติลงด้วยความเรียบร้อย เวลา 19.30 น. อนุรักษ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่สน.ลุมพินี จากนั้นในเวลา 22.38 น. ในวันเดียวกัน อนุรักษ์โพสต์ภาพบันทึกการจับกุมบนเฟซบุ๊กพร้อมเขียนข้อความสรุปได้ว่า เขาประสานงานและให้ความร่วมมือกับตำรวจด้วยดี ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัย และจัดระเบียบเว้นระยะห่าง แต่น่าจะมาพลาดตรงที่เชิญผู้ร่วมกิจกรรมมาถ่ายภาพกับป้ายภาพพล.ต.ขัตติยะ โดยเอกสารบันทึกการจับกุมของสน.ลุมพินีระบุตอนหนึ่งว่า ในขณะที่มีการทำกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมหลายคนไม่สวมหน้ากากอนามัย ผู้ร่วมกิจกรรมหลายคนจับกลุ่มพูดคุยกัน ถ่ายภาพร่วมกัน จับกลุ่มกันอย่างแออัดโดยไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
 
ในทางคดีอนุรักษ์ให้การปฏิเสธและต้องวางเงิน 40,000 บาทกับตำรวจเพื่อประกันตัวในชั้นสอบสวน
 
ดูรายละเอียดคดีของอนุรักษ์
 
1414

ภาพถ่ายเหตุการณ์ที่อนุรักษ์ระบุว่าน่าเป็นหนึ่งในเหตุที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้ดำเนินคดีเขา (ภาพจากเฟซบุ๊กฟอร์ด เส้นทางสีแดง

รำลึกน้องเฌอและชุมนุมที่ประกันสังคมผ่านไปด้วยดีไม่มีคดีความ
 
วันที่ 15 พฤษภาคม มีการรวมตัวทำกิจกรรมเกิดขึ้นสองครั้ง ช่วงเช้ากลุ่มผู้ประกันตนรวมตัวกันที่สำนักงานประกันสังคมภายในกระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี เพื่อเรียกร้องให้ประกันสังคมจ่ายเงินสะสมของผู้ประกันตนบางส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ส่วนช่วงเย็นมีกิจกรรมรวมตัวรำลึกครบรอบสิบปีการเสียชีวิตของสมาพันธ์ ศรีเทพหรือ "เฌอ" เยาวชนวัย 17 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ที่ซอยรางน้ำ
 
กิจกรรมเริ่มในเวลาประมาณ 8.00 น.ผู้ร่วมการชุมนุมประมาณ 20 คนรวมตัวกันที่ป้ายรถประจำทางตรงข้ามสำนักงานประกันสังคม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากบางคนเตรียมป้ายเขียนข้อความทำด้วยกระดาษเอสี และกระดาษแข็งขนาดใหญ่มาด้วย ในเวลาประมาณ 9.30 น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่มแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามสำนักงานประกันสังคมด้วยการถือป้ายและตะโกนสโลแกน "ขอคืนไม่ได้ขอทาน" โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบสามนายและนอกเครื่องแบบอีกประมาณห้านายมาคอยบันทึกภาพการทำกิจกรรม หลังจากนั้นในเวลา 10.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมทั้ง 20 คน ก็เดินเท้าข้ามฝั่งไปถือป้ายเขียนข้อความให้สื่อมวลชนถ่ายภาพที่หน้าป้ายประกันสังคมก่อนที่จะเดินเข้าไปนั่งที่บริเวณทางเข้าสำนักงานประกันสังคม
 
1415
 
การชุมนุมเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินสะสมวัยเกษียณของผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคม 15 พฤษภาคม 2563  
 
ตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมทั้งการเดินและการนั่งสมาธิแผ่เมตตา ผู้ร่วมกิจกรรมจะเว้นระยะห่างกันและสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา กิจกรรมดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. จึงยุติโดยที่ทางสำนักงานประกันสังคมได้เตรียมข้าวและน้ำดื่มไว้ให้ผู้ร่วมกิจกรรมด้วย มีข้อสังเกตว่าแม้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกือบทุกคนจะถือป้ายเขียนข้อเรียกร้องแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มาแทรกแซงหรือสั่งให้เก็บป้ายแต่อย่างใด
 
1416

การชุมนุมเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินสะสมวัยเกษียณของผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคม 15 พฤษภาคม 2563  
 
วันเดียวกันในช่วงค่ำมีอีกกิจกรรมหนึ่งที่ซอยรางน้ำเป็นกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ซึ่งบริเวณนั้นมีผู้เสียชีวิตสามคนหนึ่งในนั้นคือสมาพันธ์ ศรีเทพหรือ "เฌอ" เด็กหนุ่มวัย 17 ปี รวมอยู่ด้วย โดยปกติงานรำลึกที่ "หมุดเฌอ" ซึ่งเป็นแผ่นเหล็กสลักรูปเฌอที่ถูกฝังทับกระเบื้องตรงจุดที่เฌอเสียชีวิตจะเป็นกิจกรรมที่มีคนมารวมตัวหลายคนแต่ในปีนี้มีผู้มาเข้าร่วมรำลึกไม่มากนักคาดว่าน่าจะเป็นเพราะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่มีการประกาศล่วงหน้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กิจกรรมในวันนั้นมีผู้มาร่วมรำลึกถึงเฌอประมาณ 20 คน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมอนามัยเกือบตลอดเวลาแม้แต่ช่วงที่พันธ์ศักดิ์กล่าวคำรำลึกถึงบุตรชายและช่วงที่ศิลปินคนหนึ่งอ่านบทกวีก็ไม่ได้ถอดหน้ากาก
 
1418
 
กิจกรรมรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมที่ซอยรางน้ำ 15 พฤษภาคม 2563
 
มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาคอยสังเกตการณ์และบันทึกภาพประมาณ 15 - 20 คน หลังกิจกรรมดำเนินไปได้ครู่ใหญ่ประกฎว่ามีเจ้าหน้าที่เทศกิจประมาณสามนายเดินมาที่บริเวณนั้นและฝากให้ประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนั้นเดินมาบอกกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมว่าให้จดชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนให้ด้วยและสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่เทศกิจคนหนึ่งเข้ามาถ่ายภาพกิจกรรมด้วยแต่เท่าที่ทราบสุดท้ายไม่มีใครจดชื่อหรือเบอร์โทรศัพท์ให้ทางเทศกิจ กิจกรรมยุติลงด้วยความเรียบร้อยในเวลาประมาณ 19.00 น.เท่าที่ทราบหลังกิจกรรมไม่ได้มีการดำเนินคดีกับบุคคลใด
 
1419
 
การชุมนุมเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินสะสมวัยเกษียณของผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคม 15 พฤษภาคม 2563  
 
วางดอกไม้ 10 ปี สลายชุมนุมราชประสงค์ เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองเข้มแต่ไม่กระทบกิจกรรม
 
9 พฤษภาคม 2563 เป็นวันครบรอบ 10 ปี เหตุการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ในวันนี้มีการจัดกิจกรรมแยกเป็นสอง สองจุด จุดแรกที่วัดปทุมวนาราม พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในวัดปทุมวนาราม พะเยาว์ไม่สามารถเข้าไปในวัดได้เนื่องจากที่หน้าวัดติดป้ายว่าปิดพ่นยาฆ่าเชื้อระหว่างวันที่ 18 - 20 พฤษภาคม 2563 พะเยาว์จึงทำได้เพียงนำรูปและดอกไม้วางและยืนไว้อาลัยที่หน้าประตูวัดแทน ระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไปมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณหกนายคอยถ่ายภาพและสังเกตการณ์ และเท่าที่สังเกตน่าจะมีเจ้าหน้าที่บางส่วนประจำการบนทางเดินสกายวอล์กเพื่อถ่ายภาพและสังเกตการณ์จากมุมสูงด้วย กิจกรรมที่หน้าวัดปทุมวนารามผ่านไปด้วยดีโดยไม่มีการแทรกแซงใดๆจากเจ้าหน้าที่
 
1420
 
กิจกรรมไว้อาลัยกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม 19 พฤษภาคม 2563
 
สำหรับกิจกรรมสี่แยกราชประสงค์ตั้งแต่ก่อนเวลา 17.30 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นแผงเหล็กที่บริเวณป้ายสี่แยกราชประสงค์ซึ่งเป็นจุดที่คาดว่าจะมีประชาชนมาทำกิจกรรมรำลึกและมีพยาบาลจากโรงพยาบาลมาปฏิบัติหน้าที่คัดกรองวัดอุณภูมิร่างกายของบุคคลที่จะเข้าไปทำกิจกรรมรำลึกและมีการตั้งเจลล้างมือให้ผู้มาร่วมกิจกรรมใช้ ไม่พบว่ามีการนำกระถางดอกไม้มาวางจนเต็มพื้นที่อย่างที่เคยทำในกิจกรรมชุมนุมครั้งก่อนๆ ขณะที่บนสกายวอล์กมีการกั้นพื้นที่บางส่วน มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยืนเฝ้าตามแต่ละจุดและมีการตั้งกล้องวงจรปิดถ่ายจากด้านบนสกายวอล์กลงมายังจุดที่มีการกิจกรรมรำลึก เวลา 17.30 น.เริ่มมีประชาชนที่บางส่วนสวมเสื้อสีแดงเข้ามายืนและนั่งบริเวณป้ายราชประสงค์ ประมาณ20-30คน ทุกคนต้องวัดอุณภูมิก่อนเข้าไปทำกิจกรรม โดยรอบๆพื้นที่จัดงานมีเจ้าหน้าที่ทั้งในเครื่องและนอกเครื่องแบบยืนสังเกตการณ์รวมกันประมาณ 50 นาย
 
1421
 
กิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิตที่สี่แยกราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2563
 
ตลอดกิจกรรมตำรวจในเครื่องแบบนายหนึ่งจะคอยพูดจากเครื่องขยายเสียงขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมรักษาระยะห่างในการทำกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และขอให้เว้นทางเพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้ทางสัญจรเดินผ่านไปมาได้  และแม้บางช่วงเวลาที่ผู้ร่วมกิจกรรมร่วมกันจัดเทียนและนักข่าวเข้าไปถ่ายภาพจนบางครั้งอาจเบียดกันบ้างเจ้าหน้าที่ก็จะคอยประกาศเตือนให้รักษาระยะห่าง แต่ไม่ได้มีการเข้ามาแทรกแซงหรือสั่งให้เลิกกิจกรรมขณะที่ผู้ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโดยเกือบทั้งหมดสวมหน้ากากตลอดเวลา  
 
1422
 
กิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิตที่สี่แยกราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2563
 
การทำกิจกรรมรำลึกดำเนินไปถึงเวลาประมาณ 18.50 น. ตำรวจที่รับหน้าที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเริ่มประกาศว่าขณะนี้กิจกรรมดำเนินมาพอสมควรแล้วขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมรำลึกทยอยกลับบ้านเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกทม.ได้เข้ามาทำความสะอาดและปรับพื้นที่ให้คืนสภาพเดิน ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ ก่อนที่กิจกรรมจะยุติลงในเวลาประมาณ 19.00 น.ด้วยความเรียบร้อย
 
1423
 
กิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิตที่สี่แยกราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2563
 
เท่าที่ทราบกิจกรรมรำลึกในครั้งนี้ไม่ได้มีการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นไปได้ว่าผู้ทำกิจกรรมอาจจะชักชวนกันเป็นการส่วนตัวหรือบางส่วนอาจตั้งใจมาเองโดยไม่ได้นัดหมายกับผู้อื่น นอกจากนั้นเท่าที่สังเกตก็พบว่าในวันนี้แทบไม่มีการแสดงออกในลักษณะของการชูป้ายเลย มีเพียงการนำป้ายเขียนข้อความ ที่นี่มีคนตาย และข้อความรำลึกประมาณสี่ถึงห้าแผ่นมาวางที่พื้นตรงจุดที่มีการวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึก และมีชายคนหนึ่งถือป้ายข้อความ Stay Safe และข้อความเกี่ยวกับโรคโควิด19  นอกจากนี้มีการชูสัญลักษณ์สามนิ้วและการร่วมร้องเพลงนักสู้ธุลีดินเท่านั้น
 
หกปีรัฐประหาร กับวันอลวนของสี่ผู้ต้องหา
 
22 พฤษภาคม 2563 ครบรอบหกปีการรัฐประหาร จากการเฝ้าติดตามสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊กของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาต่างๆไม่พบว่ามีกลุ่มใดที่ประกาศจัดการชุมนุมหรือทำกิจกรรมสาธารณะเนื่องในโอกาสครบรอบหกปี การรัฐประหาร มีเพียงเฟซบุ๊กของอนุรักษ์ เจนตวณิชย์ หรือ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' ที่โพสต์ข้อความในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เชิญชวนประชาชนไปร่วมกิจกรรมดนตรีระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่หน้าหอศิล์กรุงเทพฯระหว่างเวลา 17.00 น. ถึง 20.00 น.
 
เมื่อถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ปรากฎว่ามีการจัดกิจกรรามเกิดขึ้นในเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกันสามกิจกรรม ช่วงเช้า เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(คนป.) จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชูป้ายที่รัฐสภา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กองบัญชาการกองทัพบกและทำเนียบรัฐบาล เนื่องในโอกาสครบรอบหกปีการรัฐประหาร จากนั้นในช่วงบ่ายถึงเย็น สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย - สนท. ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ช่วงเย็นถึงค่ำก็มีกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มของอนุรักษ์ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ  โดยกิจกรรมของนักศึกษาทั้งสองกลุ่มไม่มีการประกาศเชิญชวนประชาชนเข้าร่วม
 
คนป.ตระเวนชูป้ายเจอถ่ายภาพเจาะหน้าและขอข้อมูลส่วนตัว 
 
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล สมาชิกคนป.คนหนึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต่อการทำกิจกรรมของพวกเธอว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เธอกับเพื่อนรวมสิบคนนัดกันไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้ารัฐสภาในเวลา 9.30 น. โดยชูป้าผ้าเขียนข้อความ ส.ว. ที่เครื่องหมายกากบาทขีดทับและข้อความสสร” ที่มีเครื่องหมายถูกเพื่อสื่อถึงการคัดค้านการทำงานของส”ว.และเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยกลไก สภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสสร.ที่มีที่มายึดโยงกับประชาชน  ภัสราวลี เล่าว่าทันทีที่เธอกับเพื่อนๆกางป้ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสภาก็เข้ามาสอบถามว่ามาทำอะไร และจะขอดูป้าย แต่รปภ.ก็ไม่ได้ห้ามปรามหรือขับไล่ ระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไปผู้สื่อข่าวประจำสภาก็เดินมาดูและถ่ายภาพ พวกเธอจึงแจ้งนักข่าวว่าจะไปทำกิจกรรมต่อที่กองทัพบก
 
1424
 
กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของคสช. ของเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ทำเนียบรัฐบาล (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของทางเครือข่าย)
 
เมื่อมาถึงที่กองบัญชาการกองทัพบกในเวลาประมาณ 10.00 น.มีทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบอย่างน้อยสิบนายมาประจำการรออยู่พร้อมกับผู้สื่อข่าว ทันทีที่เธอกับเพื่อนๆแสดงตัวว่าจะถือป้ายผ้าเขียนข้อความ “กองทัพสีเทา”และ “ตัดงบกองทัพแก้ covid19 “เจ้าหน้าที่ทหารรักษาการก็เดินเข้ามาแจ้งว่าห้ามถือป้ายบริเวณหน้าป้ายกองทัพบกและได้นำแผงเหล็กมากั้นบริเวณหน้าป้าย แต่เมื่อพวกเธอขยับไปทำถือป้ายพ้นจากป้ายกองทัพบกเจ้าหน้าที่ทหารคนดังกล่าวก็ปล่อยให้พวกเธอทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์กันต่อไป ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนำโทรศัพท์มาถ่ายภาพเธอและเพื่อนๆที่ถือป้ายแบบเก็บรายละเอียดใกล้ที่ใบหน้าและพยายามถามชื่อและสถาบันการศึกษาว่าแต่ละคนเรียนที่ไหน ซึ่งบางคนก็ตอบบางคนก็ไม่ตอบ พวกเธอใช้เวลาประมาณสิบนาทีก็เคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาลโดยนระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่นอกเคื่องแบบทั้งเดิมตามและขี่มอเตอร์ไซค์ตามคอยถ่ายภาพพวกเธอตลอดเวลา
 
1425

กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของคสช. ของเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กองบัญชาการกองทัพบก (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของทางเครือข่าย)
 
เมื่อถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล  ภัสราวลีระบุว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบวางกำลังตามประตูต่างทางเขาทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ประตูทำเนียบทุกบานถูกปิดและไม่น่าจะมีเจ้าหน้าที่ของทำเนียบอยู่ด้านนอก อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่คนไหนเข้ามาห้ามปรามพวกเขาทำเพียงอย่างเดียวคือติดตามถ่ายภาพพวกเธอตลอดเวลา  ภัสราวลีเล่าต่อว่าพวกเธอใช้เวลาถือป้ายผ้า 2191 วัน กับเผด็จการที่หน้าทำเนียบรัฐบาลประมาณสิบนาที จากนั้นจึงขับรถไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งจะเป็นจุดสุดท้ายของการทำกิจกรรม โดยเดินทางด้วยรถส่วนตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ติดตามพวกเธอไป  

1426
 
กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของคสช. ของเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของทางเครือข่าย)
 
เมื่อมาถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็มีทั้งผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 20 - 30 นาย วางกำลังรออยู่แล้ว ภัสราวลีระบุว่าพวกเธอไม่ได้ทำกิจกรรมในทันทีที่มาถึงเพราะต้องรอเพื่อนอีกกลุ่มมาสมทบ โดยแม้แต่ระหว่างที่พวกเธอนั่งรอเพื่อนเจ้าหน้าที่ก็ยังถ่ายภาพพวกเธอแทบทุกอิริยาบท จากนั้นสมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมตามมาจนครบ  ภัสราวลีและเพื่อนๆก็ท่าจะเดินขึ้นไปทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรย์ประชาธิปไตย ทว่ารอบอนุสาวรีย์ก็มีรั้วกั้น และตำรวจก็เข้ามาเจรจาว่าไม่ให้ทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์ ทางกลุ่มจึงต้องย้ายไปถือป้ายผ้าและพวงหรีดที่เกาะกลางถนนตรงข้ามอนุสาวรีย์แทนโดยใช้เวลาทำกิจกรรมประมาณ 15 นาทีก็ยุติและเตรียมแยกย้าย
 
ภัสราวลีเล่าต่อว่าหลังเลิกกิจกรรมมีตำรวจท้องที่นายหนึ่งเดินมาหาเธอมาแนะนำตัวและขอแลกเบอร์โทร์กับไลน์ เบื้องต้นเธอเห็นว่าเขามาแลกข้อมูลด้วยดีจึงให้เบอร์โทรและไลน์ไป แต่หลังจากนั่งรถออกมาแล้วเจ้าหน้าที่นายนั้นก็โทรมาหาเธออีกหลายครั้งเพื่อขอข้อมูล เช่น ขอให้บอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ และสถาบันการศึกษาซึ่งเธอก็ไม่ได้ให้ข้อมูล เมื่อเธอปฏิเสธเขาก็โทรกลับมาอีกและพูดทำนองว่า หากไม่ให้ความร่วมมือด้วยการให้ข้อมูลก็อาจจะไม่ให้เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ในอนาคตและบอกว่าจริงๆทางตำรวจก็มีข้อกฎหมายจะเอาผิดได้ แต่เห็นว่าทางกลุ่มทำกิจกรรมในเวลาอันสั้นจึงผ่อนปรนให้
 
สนท. แห่ป้าย “6 ปีแล้วนะไอสัส” สุดท้ายโดนปรับข้อหาแต่งท่อ - ไม่มีใบขับขี่ - จอดรถกีดขวาง
 
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โฆษกสนท.ให้ข้อมูลว่า พวกเธอเริ่มทำกิจกรรมในเวลาประมาณ 13.00 น. โดยเริ่มขับรถกระบะที่ดัดแปลงเป็นรถแห่ติดป้ายไวนิลที่มีรูปพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมข้อความ "6 ปีแล้วนะไอสัส" ขับไปบนถนนในกรุงเทพโดยเริ่มจากวนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสามรอบ ไปตามถนนพญาไทผ่านห้างเซนทรัลเวิล์ดก่อนจะไปเยาวราช โดยระหว่างทางหยุดที่หัวลำโพงเพื่อถ่ายภาพลงบนเพจเฟซบุ๊กของสนท.ก่อนเดินทางต่อ ซึ่งในช่วงนี้เท่าที่สังเกตพวกเธอยังไม่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม ในเวลาประมาณ 15.00 น. ปนัสยาเล่าว่าพวกเธอไปถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเมื่อไปถึงยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่มารอพวกเธอแต่ติดตามมาในบริเวณจัดกิจกรรมอย่างรวดเร็วคล้ายคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะมีคนมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
 
1427
 
กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 22 พฤษภาคม 2563 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของสหภาพ)
 
ปนัสยา เล่าต่อว่าทันทีที่เธอกับเพื่อนอีก 6 คนเดินเข้ามาในพื้นที่เจ้าหน้าที่นายหนึ่งเดินเข้ามาคุยด้วย อ้างว่าทำกิจกรรมไม่ได้เพราะมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาพริษฐ์หรือเพนกวิ้น เพื่อนนักกิจกรรมในกลุ่มทำหน้าที่เจรจากับตำรวจขณะทีคนอื่นๆช่วยกันมัดป้ายผ้าเขียนข้อความ 2563 เผด็จการครองเมือง เข้ากับแนวรั้วที่กั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยส่วนรถแห่ก็ยังขับวนไปเรื่อยๆ หลังพวกเธอผูกป้ายและทำกิจกรรมแล้วเสร็จก็เตรียมเดินทางออกจากพื้นที่แต่ระหว่างนั้นพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิ้นถูกพาตัวไปพูดคุยที่ร้านแม็คโดนัลด์ เพื่อนร่วมกลุ่มสองคนจึงติดตามพริษฐ์ไปส่วนตัวเธอกับเพื่อนอีกสามคนนั่งรถออกมาก่อน ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่นายหนึ่งทำท่าจะติดตามมาคุยกับพวกเธอแต่เมื่อปรึกษาทนายทางโทรศัพท์ได้ความว่าพวกเธอมีสิทธิเลือกที่จะไม่คุยกับตำรวจได้จึงได้ขับรถออกไป
 
1428
 
กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล 22 พฤษภาคม 2563 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของสหภาพ)
 
ปนัสยาเล่าต่อว่าหลังจากนั้นเธอกับเพื่อนอีกสามคนไปพักกินข้าวเพื่อรอทำกิจกรรมต่อในช่วงเย็นส่วนพริษฐ์กับเพื่อนอีกสองคนอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร้านแมคโดนัลด์ประมาณชั่วโมงเศษจากนั้นจึงถูกพาตัวไปที่สน.สำราญราษฎรเพื่อเปรียบเทียบปรับในข้อหาตามพ.ร.บ.จราจรฯ ซึ่งประชาไทรายงานว่าเวลาที่ทั้งสามถูกพาตัวไปคือ 17.30 น. ปนัสยาเล่าต่อว่าเธอกับเพื่อนอีกสามคนที่ไม่ถูกควบคุมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ตามมาสมทบเดินเท้าจากบริเวณกระทรวงศึกษาธิการไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์รอบที่สอง เมื่อพวกเธอเดินเท้าข้ามไปฝั่งทำเนียบรัฐบาลปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาประจำตามประตูของทำเนียบรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่นายหนึ่งเดินเข้ามาหาเธอซึ่งเดินมากับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง พร้อมถามว่า "จะไปไหนครับน้อง" เธอกับเพื่อนจึงสาวเท้าเร็วขึ้นแต่เจ้าหน้าที่คนเดิมตามมาดักหน้าทั้งสองคนทันและจับแขนเพื่อนของเธอซึ่งตอบโต้ด้วยการพูดว่า "คุณมีสิทธิอะไรมาแตะตัวฉัน"
 
1429
 
กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่หัวลำโพง 22 พฤษภาคม 2563 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของสหภาพ)
 
ปนัสยาเล่าต่อว่าเมื่อเพื่อนของเธอพูดไปแบบนั้นเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยมือเธอกับเพื่อนจึงเดินเลยไปถึงหน้าประตูใหญ่ของทำเนียบรัฐบาลและกางป้ายผ้าผืนเดียวกับที่ใช้แขวนที่อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยออก และยืนถ่ายภาพประมาณ 10 - 15 นาที หลังยุติกิจกรรม เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งเข้ามาพูดคุยกับปนัสยาว่า คนที่มาเรียนกันที่ไหน มาจากกลุ่มไหนแต่ไม่ได้ถามชื่อ หรือเบอร์โทรศัพท์ของผู้มาร่วมกิจกรรม หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งเดินมาพูดคุยด้วยว่าการทำกิจกรรมหากพ้นจากระยะ 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาลก็สามารถทำได้ ปนัสยาระบุด้วยว่าตอนที่พวกเธอเดินมาเจ้าหน้าที่มีความพยายามที่จะเอาป้ายผ้าไปเหมือนกันแต่เมื่อพวกเธอกางป้ายถ่ายภาพได้สำเร็จเจ้าหน้าที่ก็ยุติความพยายามดังกล่าวและปล่อยให้พวกเธอทำกิจกรรมตามที่ตั้งใจ
 
เมื่อพวกเธอจะเดินทางกลับด้วยรถแท็กซี่ก็มีเจ้าหน้าที่เดินตามมาสอบถามว่าจะไปไหนกันและได้ถ่ายภาพทะเบียนรถแท็กซี่ไปด้วยและขับรถติดตามพวกเธอด้วยโดยปนัสยาสังเกตว่ารถที่เจ้าหน้าที่ใช้ติดตามน่าจะเป็นรถของจราจรที่มีระบบค้นหาจีพีเอสติดตั้งไว้ด้วย อย่างไรก็ตามรถตำรวจติดตามมาครู่หนึ่งก็แยกไปส่วนพวกเธอห้าคนให้แท็กซี่มาส่งที่อนุสาวรีย์ชัยซึ่งมีคนพลุกพล่านจากนั้นจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน           
 
ทั้งนี้ประชาไทรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหาว่าในคดีตามพ.ร.บ.จราจรว่า เจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับกลุ่มของพริษฐ์รวมสามข้อกล่าวหาได้แก่ไม่พกใบอนุญาตขับขี่ จอดรถกีดขวางเส้นทาวจราจร และดัดแปลงท่อไอเสียรถยนต์ พริษฐ์ชี้แจงเกี่ยวกับข้อหาจอดรถกีดขวางเส้นทางจราจรว่าทางกลุ่มไม่ได้มีเจตนาที่จะจอดรถกีดขวางทางจราจร แต่เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมรถไว้ขณะติดไฟแดง จึงไม่สามารถขยับรถออกจากจุดที่จอดติดไฟแดงได้ จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมปนัสยาให้ข้อมูลว่าพริษฐ์ไม่ได้ถูกต้องข้อกล่าวหาใดๆเนื่องจากเขาไม่ใช่ผู้ขับขี่รถและไม่ใช่เจ้าของรถแต่เจ้าหน้าที่ก็เอาตัวเขาไว้ที่สถานีจนเวลาประมาณ 19.00 น. จึงปล่อยตัวไป 
 
ในภายหลัง พริษฐ์หรือเพนกวิ้น หนึ่งในสมาชิกสนท. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ช่วงที่เขาและเพื่อนอีกสองคนถูกพาตัวไปพูดคุยกับตำรวจที่ร้านแม็คโดนัลด์หลังเสร็จกิจกรรมในเวลา 15.30 น. จนถึงเวลาประมาณ 19.30 น. จนไม่ได้ไปร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์กับเพื่อนๆที่ทำเนียบรัฐบาลให้ข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังว่า ในช่วงที่พวกเขากำลังทำกิจกรรมผูกป้ายผ้าเจ้าหน้าที่ก็พูดเรื่องความเป็นไปได้ในการดำเนินคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้พูดถึงข้อหานี้อีก เมื่อเขาเสร็จกิจกรรมเจ้าหน้าที่เชิญเขาและเพื่อนอีกสองคนไปพูดคุยที่ร้านแม็คโดนัลด์ซึ่งที่นั่นเพื่อนของเขาถูกเปรียบเทียบปรับตามพ.ร.บ.จราจรฯ จากกรณีไม่พกพาใบขับขี่ และจอดรถกีดขวางทางจราจร
 
ระหว่างการพูดคุยพริษฐ์สังเกตว่าเจ้าหน้าที่คู่สนทนาของเขาจะรับและพูดคุยโทรศัพท์เป็นระยะคล้ายพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาว่าจะดำเนินคดีหรือดำเนินการอย่างไรกับพวกเขาดี ซึ่งเจ้าหน้าที่นายนั้นก็มีท่าทีเปลี่ยนไปมา ตอนแรกบอกว่าเดี๋ยวรับใบสั่งแล้วก็สามารถไปได้เลยมาจ่ายค่าปรับทีหลังแต่เมื่อพูดคุยโทรศัพท์ก็เปลี่ยนมาบอกว่ายังไปไหนไม่ได้เพราะอาจมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตัวของพริษฐ์เองไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจึงได้ปรึกษากับทนายซึ่งทนายก็บอกว่าเขาสามารถออกมาได้เลย แต่เนื่องจากตัวเขาเป็นห่วงเพื่อนประกอบกับไม่ต้องการจะออกมาให้มีปัญหากับเจ้าหน้าที่ก็เลยตัดสินใจอยู่กับเพื่อนอีกสองคน ในเวลาประมาณ 17.30 น. เจ้าหน้าที่พาเขากับเพื่อนไปที่สน.สำราญราษฎร์เพื่อเปรียบเทียบปรับปรากฎว่าเพื่อนของเขาถูกปรับเพิ่มเติมในข้อหาเกี่ยวกับทะเบียนรถส่วนเพื่อนอีกคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ก็ถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดเกี่ยวกับกระจกรถรวมถูกปรับตามกฎหมายจราจรเป็นเงิน 1900 บาท จาก 5 ข้อกล่าวหา
 
รวบฟอร์ด เส้นทางสีแดงและหมอทศพร หลังจัดกิจกรรมครบรอบหกปีคสช.
 
ตามที่อนุรักษ์ เจนตวนิชย์หรือ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' ประกาศว่า จะจัดแสดงดนตรีระดมทุนให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสครบรอบหกปีรัฐประหาร 2557 ในเวลา 17.00 น. พบว่าตั้งแต่ก่อนเวลา 16.30 น. มีกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 30 - 40 นาย วางกำลังรออยู่แล้ว ขณะที่ทางหอศิลป์กรุงเทพฯก็นำรั้วเหล็กมากั้นบริเวณลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯโดยรอบ และยังมีการพิมพ์ป้ายบนกระดาษเอสี่เขียนข้อความ"ห้ามทำกิจกรรมตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" มาติดไว้กับรั้วเหล็กโดยรอบด้วย
 
1430
 
กิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนในโอกาสครบรอบ 6 ปี รัฐประหารของคสช. 22 พฤษภาคม 2563
 
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัครส.ส.ของอดีตพรรคไทยรักษาชาตินำภาพวาดที่วาดเอง เป็นภาพพล.อ.ประยุทธ์และภาพผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ปรากฎตามหน้าสื่อ เช่น ปลายฝน หญิงที่วาดภาพพล.อ.ประยุทธ์ก่อนฆ่าตัวตายและภาพคนที่มาร้องขอเงินเยียวยาที่หน้ากระทรวงการคลังบางส่วนมาตั้งแสดงด้านนอกแนวรั้วกั้นของหอศิลป์กรุงเทพฯ
 
ขณะเดียวกันก็มีประชาชนที่คาดว่าจะมาร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 30 - 40 คนอยู่ในบริเวณด้วยโดยบางส่วนที่สวมเสื้อยืดเขียนข้อความหรือสัญลักษณ์ทางการเมืองแต่ไม่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับทศพร
 
ในเวลาประมาณ 16.45 น. นพ.ทศพรก็ทำท่าจะขยับรั้วเหล็กเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเดินเข้ามาก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่คาดว่าน่าจะเป็นคนของหอศิลป์กรุงเทพฯเข้ามาห้ามพร้อมแจ้งทำนองว่าเจ้าหน้าที่ห้ามจัดกิจกรรม ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งเดินเข้ามาโดยสังเกตเห็นว่าในมือถือเอกสารที่น่าจะเป็นพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมาด้วยแต่เจ้าหน้าที่นายนั้นก็ยังไม่ได้เข้ามาคุยกับทศพร
 
1431
 
กิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนในโอกาสครบรอบ 6 ปี รัฐประหารของคสช. 22 พฤษภาคม 2563
 
เมื่อเจ้าหน้าที่หอศิลป์กรุงเทพฯเดินจากไป ทศพรก็เดินมาพูดคุยกับผู้สื่อข่าวต่อโดยพูดถึงภาพวาดที่นำมาแสดงและความตั้งใจที่จะระดมทุนช่วยเหลือลูกของปลายฝนที่กำพร้าแม่รวมถึงพูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ความล้มเหลวในการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐ
 
ต่อมาในเวลาประมาณ 17.07 น. เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบหนึ่งนายและนอกเครื่องแบบอีกหนึ่งนายเดินมาพูดกับนพ.ทศพรทำนองว่าขณะนี้มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการทำกิจกรรมลักษณะนี้ทำให้คนมารวมตัวกันแออัดทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค นพ.ทศพรชี้แจงว่า ตัวเองเพียงมาทำกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนและที่นี่เป็นหอศิลป์กรุงเทพฯจึงนำภาพเขียนมาแสดง และตัวเองก็ไม่ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนบุคคลใดมาร่วมกิจกรรม
 
1432
 
กิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนในโอกาสครบรอบ 6 ปี รัฐประหารของคสช. 22 พฤษภาคม 2563
 
นพ.ทศพรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบพูดคุยไปครู่หนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่เทศกิจเดินมาพูดคุย ในที่สุดนพ.ทศพรก็ต่อรองว่าจะขอจุดเทียนรำลึกถึงปลายฝนและผู้ที่ฆ่าตัวตายเพราะปัญหาเศรษฐกิจเจ้าหน้าที่จึงยอมโดยกำชับว่าให้ทำและยุติกิจกรรมโดยเร็ว จากนั้นนพ.ทศพรนำเทียนมาเรียงเป็นคำว่า "รัดประหาร" โดยใช้เครื่องหมายหารแทนตัวหนังสือระหว่างที่ทศพรจุดเทียนก็มีชายสวมเสื้อแดงคนหนึ่งนำป้ายเขียนข้อความของตัวเองมาวางรวมกับรูปวาดของทศพรแล้วเดินออกไปยืนด้านข้าง เมื่อจุดเทียนเสร็จทศพรก็ร้องเพลงและพูดคุยกับผู้สื่อข่าวต่อไปอีกครู่หนึ่งโดยมีชายตัดผมสั้นเกรียนคอยถ่ายภาพนิ่งและภาพวิดีโอไว้ตลอด
 
ระหว่างที่นพ.ทศพรเตรียมประกาศยุติกิจกรรม อนุรักษ์ซึ่งเป็นผู้ประกาศว่าจะมีกิจกรรมดนตรีในวันนี้เดินมาอยู่ด้านข้างทศพรพร้อมแจ้งสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวเขากับทศพรไปที่สน.ปทุมวันและคาดว่าจะมีการตั้งข้อกล่าวหา
 
ในเวลาประมาณ 17.42 น.เมื่อนพ.ทศพรและอนุรักษ์ช่วยกันเก็บของแล้วเสร็จตำรวจเชิญตัวทั้งสองขึ้นรถกระบะของสน.ปทุมวัน ทำให้ประชาชนที่มาโห่ร้องด้วยความไม่พอใจ บางส่วนกระโดดขึ้นรถกระบะไปด้วย และแม้รถเคลื่อนออกไปแล้วก็ยังคงมีเสียงตะโกนด้วยความไม่พอใจ ชายสวมเสื้อแดงที่นำป้ายมาวางกับภาพของนพ.ทศพรก็นำป้ายดังกล่าวมาชูอีกครั้ง ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งก็ใช้ลำโพงประกาศว่าเนื่องจากในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 และมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจึงขอให้ประชาชนทยอยกลับบ้านเพื่อป้องการแพร่ระบาดของไวรัสและป้องกันการทำผิดกฎหมาย กิจกรรมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯยุติในเวลาประมาณ 18.00 น. เท่าที่ทราบไม่มีผู้ถูกควบคุมตัวเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้เมื่อผู้สังเกตการณ์ไอลอว์ตามมาที่สน.ปทุมวันในเวลาประมาณ 18.00 น. ก็ได้รับแจ้งจากตำรวจนอกเครื่องแบบที่อยู่หน้าประตูสน.ว่าไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไป แต่เห็นว่าประชาชนที่ไปร่วมกิจกรรมสามารถตามเข้าไปในสน.ได้ หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 19.30 น. ผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าไปพบกับอนุรักษ์ได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า ตอนนี้ขอให้พูดคุยกับอนุรักษ์ที่ด้านนอกห้องก่อน ไม่อนุญาตให้เข้าร่วมรับฟังเนื่องจากว่า กำลังทำบันทึกการจับกุมอยู่ แต่เมื่อเสร็จแล้วจึงจะทำการสอบสวน กระบวนการนี้จะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมรับฟังได้ ทั้งนี้มีรายงานในภายหลังว่าทั้งอนุรักษ์และทศพรถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตำรวจให้ทั้งสองวางเงินประกันในชั้นสอบสวนคนละ 30,000 บาท แต่อนุรักษ์ปฏิเสธที่จะประกันตัวในค่ำวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ของจึงถูกควบคุมตัวไว้ที่สน.ปทุมวันหนึ่งคืนก่อนจะประกันตัวออกไปช่วงเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2563
 
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และการปรับตัวของผู้ใช้เสรีภาพ
 
การปรับตัวของผู้ใช้เสรีภาพ

กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษา ทั้งสนท. และ คนป.ใช้วิธีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คล้ายกันคือการชูป้ายตามสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ คนป.ไปที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และกองบัญชาการกองทัพบก ส่วนสนท.ไปที่ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนั้นทั้งสองกลุ่มยังไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อสื่อว่าพวกเขาต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยและเพื่อสื่อว่าสิ่งที่เป็นอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตยด้วย คนป.ใช้ป้ายเขียนตัวเลข 2191 สื่อถึงจำนวนวันที่พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่อำนาจตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือวันรัฐประหาร จนถึง 22 พฤษภาคม 2563 ส่วนสนท.แสดงออกผ่านป้ายข้อความ 2563 เผด็จการครองเมือง   
 
อย่างไรก็ตามภายใต้ข้อจำกัดของการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นักกิจกรรมทั้งสองกลุ่มเลือกใช้วิธีจัดกิจกรรมโดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า และไม่เชิญประชาชนทั่วไปเข้าร่วมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้าม ขณะเดียวกันก็เพื่อจำกัดจำนวนผู้ร่วมแสดงออกให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของไวรัส ส่วนที่ไม่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้สื่อข่าวรับทราบทั้งสองกลุ่มให้ข้อมูลทำนองเดียวกันว่า "หากนักข่าวรู้ตำรวจก็จะรู้" พวกเขาจึงเลือกที่จะไปแสดงออกโดยไม่ติดต่อนักข่าวล่วงหน้าแล้วใช้เฟซบุ๊กเพจของทางกลุ่มเป็นช่องทางสื่อสารซึ่งแม้เบื้องต้นจะเข้าถึงผู้รับสารได้จำกัดกว่าการแจ้งข่าวสื่อมวลชนแต่อย่างน้อยพวกเขาก็สามารถดำเนินกิจกรรมให้ลุล่วงไปได้ ขณะเดียวกันสื่อเองก็ไม่มีปัญหาในการนำข่าวหรือภาพข่าวจากเฟซบุ๊กของบุคคลสาธารณะหรือหน่วยงานต่างๆมารายงานต่ออยู่แล้วการไม่ติดต่อสื่อมวลชนล่วงหน้าจึงอาจไม่ได้กระทบต่อการรายข่าวกิจกรรมมากนัก
 
กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาทั้งสองยังใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม เช่นพยายามรักษาระยะห่างในการเดินหรือการถือป้ายและสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันตัวเองแล้วทั้งสองกลุ่มน่าจะพยายามลดเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่จะใช้เป็นข้ออ้างมายุติหรือแทรกแซงการทำกิจกรรมของพวกเขาด้วย
 
ขณะที่กลุ่มกิจกรรมอื่นๆอย่างกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องให้ประกันสังคมจ่ายเงินชราภาพ ทางกลุ่มมีการนัดหมายกันล่วงหน้าผ่านกลุ่มบนเฟซบุ๊ก ตลอดการทำกิจกรรมผู้เข้าร่วมทุกคนมีการเว้นระยะอย่างชัดเจนและสวมหน้ากากตลอดเวลา
 
สำหรับกิจกรรมรำลึกเหตุสลายการชุมนุมทั้งที่สี่แยกราชประสงค์และซอยรางน้ำ เท่าที่ติดตามจากสื่อสังคมออนไลน์ ไม่พบว่ามีกลุ่มบุคคลใดโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนหรือแสดงตัวเป็นผู้จัดกิจกรรมรำลึกทั้งวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ซอยรางน้ำ และ วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ที่สี่แยกราชประสงค์ ขณะที่ตัวกิจกรรมเองก็มีผู้มาร่วมไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าปีนี้ครบรอบสิบปีของเหตุการณ์ กิจกรรมรำลึกที่ซอยรางน้ำซึ่งในปีที่แล้วน่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 คน ในปีนี้น่าจะมีคนมาร่วมไว้อาลัยระหว่าง 20-30 คน ขณะที่พันธ์ศักดิ์ซึ่งเป็นพ่อของผู้เสียชีวิตก็ทำกิจกรรมอย่างกระชับ ส่วนกิจกรรมที่สี่แยกราชประสงค์ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เขียนป้ายแสดงออก เท่าที่สังเกตทั้งพื้นที่จัดกิจกรรมน่าจะมีแผ่นป้ายไม่ถึงสิบแผ่นและแทบไม่มีการใช้เสียงนอกจากช่วงที่ผู้ร่วมกิจกรรมร้องเพลงนักสู้ธุลีดินร่วมกันเพื่อไว้อาลัยผู้เสียชีวิต และทั้งสองกิจกรรมผู้เข้าร่วมต่างสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า   
 
สำหรับกิจกรรมรำลึกในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และกิจกรรมรำลึกหกปี รัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม อาจจะมีความต่างออกไปเล็กน้อยตรงที่มีผู้ประกาศจัดกิจกรรมโดยเฉพาะในกรณีกิจกรรมวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 อนุรักษ์ผู้ประกาศจัดกิจกรรมยังประกาศว่าจะจัดทำป้ายไวนิลมาเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมด้วย อย่างไรก็ตามทั้งสองกิจกรรมอนุรักษ์พยายามประกาศว่ากิจกรรมที่จะจัดไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมแต่เป็นกิจกรรมไว้อาลัยและกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนตามลำดับ เท่ากับว่าตัวผู้ประกาศจัดกิจกรรมเองก็พอเข้าใจข้อจำกัดของกฎหมายว่ากิจกรรมประเภทใดพอจะทำได้แบบใดน่าจะทำไม่ได้
 
การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่
 
หนึ่ง การตั้งจุดคัดกรอง
 
การจัดกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่น่าจะทราบหรือพอจะคาดเดาสถานที่จัดได้ มีอยู่ห้าครั้ง คือการจัดกิจกรรมที่ซอยรางน้ำ ที่สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งจัดในสถานที่เดียวกันทุกครั้ง ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯและที่สวนลุมพินีที่มีการประกาศล่วงหน้า รวมถึงที่สำนักงานประกันสังคมที่ตามคำบอกเล่าของหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมอ้างว่ามีการประสานงานกับทางประกันสังคมมาก่อน ในจำนวนห้าครั้งนี้มีสองครั้งที่มีการตั้งจุดคัดกรองโรคคือการทำกิจกรรมที่สี่แยกราชประสงค์และที่สถานีรถไฟฟ้าสีลม ขณะที่กิจกรรมอีกสามครั้งที่สำนักงานประกันสังคม ที่ซอยรางน้ำ และที่หอศิลป์กรุงเทพฯไม่ได้มีการตั้งจุดคัดกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯซึ่งมีการตั้งรั้วกั้นพื้นที่บริเวณลานหน้าหอศิลป์แต่ไม่มีการตั้งจุดคัดกรองทางการแพทย์แต่อย่างใด ขณะที่กิจกรรมที่หน้าวัดปทุมวนาราม เป็นกิจกรรมที่ทางครอบครัวฮัคฮาดตั้งใจทำเป็นการส่วนแต่และไม่มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าแต่ทางวัดอยู่ระหว่าง "ปิดทำความสะอาด" พอดีจึงอาจเป็นการยากต่อเจ้าหน้าที่ที่จะตั้งจุดคัดกรองล่วงหน้าส่วนกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาทั้งสองกลุ่มก็มีลักษณะเป็นการเคลื่อนที่และเจ้าหน้าที่ไม่ทราบมาก่อนจึงไม่น่าจะเตรียมจุดคัดกรองได้ 
 
สอง การเลือกดำเนินคดี
 
ในบรรดากิจกรรมทั้งแปดครั้งเจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีผู้ต้องหาแยกเป็นสามกรณี แบ่งเป็นการดำเนินคดีในข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯสองกรณี ได้แก่คดีของอนุรักษ์จากการจัดกิจกรรมรำลึกสิบการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และการจัดคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ส่วนอีกกรณีเป็นกรณีของนักศึกษาสองคนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามพ.ร.บ.จราจรฯ ซึ่งอาจจะดูไม่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพโดยตรง แต่ก็มีความน่ากังขาว่าหากเป็นการดำเนินคดีตามพ.ร.บ.จราจรฯเพราะผู้ต้องหากระทำความผิดตามพ.ร.บ.จราจรฯจริง การเปรียบเทียบปรับก็ไม่น่าจะกินเวลามากนักหากผู้ต้องหารับสารภาพและยอมจ่ายค่าปรับและที่สำคัญพริษฐ์ก็ไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาแต่ก็ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเจ้าตัวจงใจไม่ไปเองหรือเจ้าหน้าที่ไม่ให้ไป หากเป็นกรณีหลังก็มีคำถามต่อไปว่าหากพริษฐ์ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจใดในการกักตัวเขา 
 
สาม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพื้นที่ต้องห้ามการชุมนุม?
 
ในอดีตการขึ้นไปทำกิจกรรมหรือการชุมนุมบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ทำได้และน่าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมทั้งด้วยชื่อและความเป็นมาของตัวอนุสาวรีย์ รวมถึงเหตุผลด้านพื้นที่ที่หากผู้ร่วมการชุมนุมหรือร่วมกิจกรรมมีไม่มาก การไปทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์ก็จะมีข้อดีตรงที่ผู้ชุมนุมไม่ต้องยืนออกันบนทางเท้าหรือผิวจราจรหากแต่ไปอยู่บนลานกว้างของอนุสาวรีย์ที่ไม่ใช่พื้นที่ที่คนทั่วไปใช้สัญจร แต่ในระยะหลังอนุสาวรีย์ดูจะกลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามไปบางช่วงเวลามีการนำกระถางดอกไม้ไปวางจนเต็มพื้นที่ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 แม้จะไม่มีการนำกระถางต้นไม้ไปวางแต่อนุสาวรีย์ก็ถูกล้อมรั้วและเจ้าหน้าที่ก็จะย้ำกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่มว่าห้ามทำกิจกรรมใดๆกับตัวอนุสาวรีย์ ห้ามแม้แต่การนำป้ายผ้าไปแขวนกับแผงเหล็กกั้นอนุสาวรีย์โดยที่ตัวผู้ชุมนุมไม่ได้ขึ้นไปบนพื้นที่ของอนุสาวรีย์
 
สี่ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ว่าด้วย "ดุลพินิจ" ในกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตพล.ต.ขัตติยะ เจ้าหน้าที่ขอเก็บป้ายของผู้ร่วมกิจกรรมสองคน อ้างว่าหากมีการถือป้ายจะกลายเป็นการชุมนุม ไม่ใช่การรำลึกซึ่งผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามในกิจกรรมที่ราชประสงค์ซึ่งมีชายคนหนึ่งถือป้ายเขียนข้อความเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มาเก็บแต่อย่างใด รวมทั้งการจัดกิจกรรมที่สำนักงานประกันสังคมซึ่งผู้เข้าร่วมแทบทุกคนถือป้าย เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เข้ามาเก็บหรือสั่งห้ามถือป้าย    

กิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิตที่สี่แยกราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2563

กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 22 พฤษภาคม 2563 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของสหภาพ)

กิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนในโอกาสครบรอบ 6 ปี รัฐประหารของคสช. 22 พฤษภาคม 2563

Article type: